SET Index ปรับตัวลดลง -1.3% สู่ระดับ 1,310.66 จุด โดยมีปัจจัยหลักที่กดดันตลาด คือ การแพร่ระบาดของไวรัสที่ยังคงลุกลามจนเป็นการแพร่ระบาดรอบที่ 2 หรือ Second Wave ในหลายประเทศโดยเฉพาะในยุโรปและหลายประเทศในเอเชีย ปัญหาความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และปัญหาการชุมนุมทางการเมืองภายในประเทศ
การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ยังคงลุกลามอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศ แม้ยอดผู้ติดเชื้อรายวันในสหรัฐฯ จะเริ่มลดลง และทรงตัวที่ระดับ 3-4 หมื่นราย/วัน แต่ในยุโรปและหลายประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศเกาหลีใต้ ที่มียอดผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง ทำให้มีการใช้มาตรการป้องกันที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะเดียวกันได้มีการทดลองและพัฒนาวัคซีนต้านไวรัส COVID-19 อย่างต่อเนื่อง เช่น ประเทศรัสเซียได้ประกาศเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2563 ว่าวัคซีนต้านไวรัส COVID-19 ที่คิดค้นในประเทศรัสเซียได้ผ่านการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับด้านสาธารณสุขภายในประเทศแล้ว และคาดว่าจะเริ่มผลิตในเชิงอุตสาหกรรมได้ในเดือนกันยายน 2563
นอกจากประเด็นการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ยังมีประเด็นความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังจากที่ทั้งสองประเทศตอบโต้กันผ่านมาตรการทางกฎหมาย การคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่และบริษัทต่าง ๆ และการใช้วิธีการข่มขู่ทางทหาร ทั้งนี้ สหรัฐฯ ได้เลื่อนการทบทวนข้อตกลงการค้าเฟส 1 กับจีนออกไปอย่างไม่มีกำหนด โดยให้เหตุผลว่าสหรัฐฯ ให้เวลาจีนในการสั่งซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มเติม แม้จะเป็นปัจจัยบวกระยะสั้น แต่ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่กดดันตลาดในระยะกลางและระยะยาว เนื่องจากมีโอกาสสูงที่ประธานาธิบดี Trump จะกดดันจีนเพิ่มเติม เพื่อเรียกคะแนนความนิยมก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ดังนั้น การเลื่อนกำหนดการทบทวนข้อตกลงการค้าเฟส 1 เป็นเพียงการยื้อเวลาในระยะสั้นเท่านั้น ส่วนปัจจัยภายในประเทศ เริ่มมีความเสี่ยงที่จะเกิดความวุ่นวายมากขึ้นจากการชุมนุมทางการเมืองเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญและยุบสภา และตัวเลข GDP ในไตรมาส 2/2563 ที่ยังคงหดตัวลง 12.2% ต่อเนื่องจากการหดตัว 2% ในไตรมาส 1/2563 โดยมีสาเหตุมาจากการลดลงของการส่งออกสินค้าและบริการ (-28.3%) การลงทุนภาคเอกชน (-15%) และการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชน (-6.6%) ขณะที่การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของภาครัฐ (+1.4%) และการลงทุนของภาครัฐ (+12.5%) ขยายตัว โดยการหดตัวของ GDP ในไตรมาส 2/2563 ส่งผลให้สภาพัฒน์ปรับลดกรอบคาดการณ์ GDP 2020 ลงสู่ -7.6% ถึง -7.3% จากเดิม -6% ถึง -5% ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ GDP ไว้ที่ -8.1% โดยธนาคารแห่งประเทศไทยจะทบทวนประมาณการ GDP อีกครั้งในเดือนกันยายน โดยการปรับประมาณการครั้งใหม่อาจถูกกดดันจาก 3 ปัจจัยคือ 1) การเปิดการเดินทางระหว่างประเทศที่ล่าช้า 2) ความเสี่ยงการเมืองที่เพิ่มมากขึ้น 3) อัตราการว่างงานที่สูง
อย่างไรก็ตาม ด้วยปริมาณเงินจำนวนมหาศาลที่ถูกอัดฉีดเข้ามาในระบบเศรษฐกิจจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางทั่วโลก รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมาก ทำให้ค่า PER ที่เหมาะสมของตลาดถูกปรับขึ้นสูงกว่าในอดีต รวมทั้งการพัฒนาวัคซีนก็ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ที่ทำให้มีโอกาสจะเห็นการผลิตวัคซีนได้ในหลายประเทศในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า ทำให้แม้ตลาดหุ้นจะถูกกดดันจากปัจจัยลบระยะสั้น แต่ในระยะกลาง ตลาดหุ้นน่าจะมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นได้
สรุปภาวะตลาดหุ้นไทยช่วงเดือนสิงหาคม 2563 SET Index ปิดที่ 1,310.66 จุด ปรับตัวลดลง 17.87 จุด หรือประมาณ -1.3% จากสิ้นเดือนกรกฎาคม 2563 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ 8.3% กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ 5.0% และสื่อและสิ่งพิมพ์ 4.6% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค -5.3% กลุ่มวัสดุก่อสร้าง -4.2% และกลุ่มการแพทย์ -2.6% นอกจากนี้ ในเดือนสิงหาคม นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 11,574 ล้านบาทและ 17,122 ล้านบาทตามลำดับ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติและบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ขายหุ้นไทยสุทธิ 27,661 และ 1,035 ล้านบาทตามลำดับ