SET Index ปรับตัวขึ้น +2.9% สู่ระดับ 1,449.35 จุด เนื่องจากปัจจัยสนับสนุนหลักจากต่างประเทศ ประกอบด้วย การอนุมัติวัคซีนต้านไวรัส COVID-19 การลงนามของประธานาธิบดี Trump ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเฟส 4 วงเงิน 9 แสนล้านเหรียญฯ และการลงนามในงบประมาณรายจ่ายวงเงิน 1.4 ล้านล้านเหรียญฯ รวมถึงการบรรลุข้อตกลงทางการค้าระหว่าง EU และ UK กรณี Brexit แต่การระบาดของไวรัส COVID-19 รอบ 2 ในประเทศไทยยังคงเป็นปัจจัยที่น่ากังวล
การอนุมัติวัคซีนต้านไวรัส COVID-19 อย่างต่อเนื่องในหลายประเทศ โดยประเทศสหรัฐฯ ประเทศอังกฤษ ประเทศสิงคโปร์ ประเทศแคนาดา สหภาพยุโรป และประเทศบาห์เรน ได้ทำการอนุมัติให้สามารถใช้วัคซีนต้านไวรัส COVID-19 เป็นกรณีฉุกเฉินในประเทศแล้ว และหลายประเทศเริ่มกระบวนการแจกจ่าย โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐฯ ที่ได้มีการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนกว่า 1 ล้านคนแล้ว และตั้งเป้าจะฉีดอีก 2 ล้านคน/วัน เพื่อบรรลุเป้าหมาย 200 ล้านคนภายในปีนี้ นอกจากนี้การที่ประธานาธิบดี Trump ลงนามในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเฟส 4 วงเงิน 9 แสนล้านเหรียญฯ ทำให้มาตรการช่วยเหลือคนว่างงานดำเนินต่อไปได้ รวมถึงลงนามในงบประมาณรายจ่ายวงเงิน 1.4 ล้านล้านเหรียญฯ ทำให้หลีกเลี่ยงการเกิด Government Shutdown เป็นการปลดล๊อค Overhang 2 เรื่องใหญ่ นอกจากนี้ ประเทศอังกฤษและสหภาพยุโรปสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าระหว่างกันได้สำเร็จ โดยข้อตกลงนี้ถือว่าเป็นข้อตกลงที่สมดุลและเป็นธรรม จะทำให้ประเทศอังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปแบบมีข้อตกลงในวันที่ 1 มกราคม (Brexit with Deals) จากปัจจัยที่กล่าวข้างต้นสะท้อนปัจจัยภายนอกที่ค่อนข้างเป็นบวก แต่ปัจจัยภายในประเทศยังคงมีความน่ากังวล เนื่องจากเกิดการระบาดรอบ 2 ของ COVID-19 ในประเทศ ที่เริ่มจากตลาดกลางกุ้งที่จังหวัดสมุทรสาคร และปัจจุบันพบแหล่งแพร่ระบาดเพิ่มอีก 2 แห่ง ได้แก่ งานบิ๊กไบค์ที่จังหวัดกระบี่ และบ่อนที่จังหวัดระยอง ทำให้การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ลุกลามไปกว่า 48 จังหวัด และยอดผู้ติดเชื้อในประเทศยังเร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง ทำให้หลายจังหวัดดำเนินมาตรการป้องกันที่เข้มงวด แต่ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อตลาดค่อนข้างมาก คือ มาตรการต่อกรุงเทพมหานคร ซึ่งปัจจุบันมีคำสั่ง Partial Lockdown แล้ว จึงควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการออกมาตรการเพิ่มเติมของภาครัฐ ซึ่งหากกลับมา Lockdown เต็มรูปแบบจะทำให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลง ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยตามที่ตลาดคาดการณ์ แต่คณะกรรมการนโยบายการเงินยังคงส่งสัญญาณ Dovish อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งพร้อมที่จะออกมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติมหากจำเป็น ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินมีการปรับคาดการณ์ GDP ปี 2020 ขึ้นสู่ -6.6% จาก -7.8% จากการบริโภคภาคเอกชน และการส่งออกที่ฟื้นตัวดีกว่าคาด แต่ปรับคาดการณ์ GDP ปี 2021 ลงสู่ 3.2% จากเดิม 3.6% เนื่องจากเหตุผลหลักคือการปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2021 ลงเหลือ 5.5 ล้านคน จากการคาดการณ์เดิมที่ 9 ล้านคน และปรับลดคาดการณ์การลงทุนภาครัฐเหลือ 7.9% จากการคาดการณ์เดิมที่ 11.4% นอกจากนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงินยังมีการประเมินว่าอาจมี Downside ต่อประมาณการจากการเกิดการะบาดของไวรัส COVID-19 รอบใหม่ ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงินมีแนวโน้มจะปรับดอกเบี้ยลงได้อีกในปี 2021 ทำให้ดอกเบี้ยอาจจะลดลงไปสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0%
อย่างไรก็ตาม ด้วยปริมาณเงินจำนวนมหาศาลที่ถูกอัดฉีดเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ จากการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางทั่วโลก รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมาก ทำให้ค่า PER ที่เหมาะสมของตลาดถูกปรับขึ้นสูงกว่าในอดีต รวมทั้งการพัฒนาวัคซีนก็ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้แม้ตลาดหุ้นจะถูกกดดันจากปัจจัยลบระยะสั้น แต่ในระยะกลาง คาดว่าตลาดหุ้นน่าจะมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นได้
สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนธันวาคม 2563 SET Index ปิดที่ 1,449.35 จุด ปรับตัวขึ้น 41.04 จุด หรือ 2.9% จากสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2563 ตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นด้วยความคาดหวังที่ล่วงหน้าไปมาก ขณะที่ปัจจัยพื้นฐานและประมาณการกำไรตลาดยังไม่ได้มีพัฒนาการเชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญมากนัก ประกอบกับการเผชิญกับปัจจัยลบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 รอบใหม่ และการปรับตัวขึ้นอย่างมากของหุ้น DELTA ที่ทำให้กลายเป็นหุ้นที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของตลาดหุ้นไทย ส่งผลให้ SET Index เกิดความผันผวนอย่างรุนแรงในเดือนธันวาคมโดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 77.2% กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ 11.2% กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 7.7% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้างและกลุ่มพาณิชย์ -4.0% เท่ากัน กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม -3.7% นอกจากนี้ ในเดือนธันวาคม นักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 2,520.67 ล้านบาท และ 18,305.44 ล้านบาท ตามลำดับ โดยนักลงทุนต่างชาติมีการเพิ่มสัดส่วนการถือครองในหุ้นกลุ่มธนาคารและปิโตรเคมี แต่ลดการถือครองในกลุ่มพลังงาน อสังหาริมทรัพย์ และขนส่ง ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศและบัญชีหลักทรัพย์ขายหุ้นไทยสุทธิ 18,497.25 และ 2,328.85 ล้านบาท ตามลำดับ ทำให้ยอดการซื้อขายสะสมของปี 2563 นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 33,455.77 ล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ซื้อหุ้นไทยสุทธิ 14,221.33 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 264,385.79 ล้านบาท และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 216,708.69 ล้านบาท