ภาวะตลาดหุ้นไทย – พฤษภาคม 2564

SET Index ปรับตัวขึ้น +0.7% สู่ระดับ 1,593.59 จุด โดยในช่วงแรกของเดือนเกิดภาวะที่เรียกว่า Sell in May จากการที่ FED มีแนวโน้มจะปรับลดวงเงินในโครงการ QE ประกอบกับ GDP ของประเทศไทยถูกปรับลดการคาดการณ์ลง แต่พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อเยียวยาเศรษฐกิจของไทย งบการเงินไตรมาส 1 ปี 2564 ที่ดี และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เติบโตดี มีผลทำให้ SET ปรับตัวขึ้นได้ในช่วงครึ่งหลังของเดือน

ในช่วงครึ่งเดือนแรก SET เผชิญกับแรงเทขายหรือ Sell in May จากความเสี่ยงที่ FED จะปรับลดวงเงินในโครงการ QE (QE Tapering) หลังอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในเดือนเมษายนปรับตัวขึ้น 4.2%YoY ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 13 ปี ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นและ US Bond Yield 10 ปีปรับตัวขึ้นอย่างมาก ซึ่ง FOMC Minutes กล่าวว่า FED ได้มีการหารือเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ และกรรมการ FED ส่วนหนึ่งเสนอให้มีการเปิดอภิปรายเกี่ยวกับการปรับลดวงเงินในโครงการ QE หลังจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวดีขึ้น และประชาชนได้รับวัคซีนในสัดส่วนที่สูง (ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม สหรัฐฯฉีดวัคซีนเข็มแรกให้กับประชาชนไปแล้ว 51% ขณะที่ประชากร 41% ได้รับวัคซีนครบทั้ง 2 เข็ม) ขณะที่ในเอเชียเผชิญกับความไม่แน่นอนหลังจาก Covid-19 กลับมาระบาดหนักอีกครั้งในหลายประเทศ ประกอบด้วยญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย ทำให้ Fund Flows ในทวีปเอเชียมีความผันผวน โดยเฉพาะในไทยที่ MSCI ประกาศลดน้ำหนักการลงทุนลง -0.1% สู่ระดับ 1.73% คิดเป็นเงินทุนไหลออก 341 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 1.06 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากการที่สภาพัฒน์ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2564 ลงสู่ระดับ 1.5-2.5% จากเดิมคาดไว้ที่ 2.5-3.5% โดยเป็นการปรับลดเพื่อสะท้อนการระบาดรอบที่ 3 โดยประมาณการรอบนี้มีการปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้ลงเหลือ 5 แสนคน จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.2 ล้านคน ทำให้มี Downside Risk ต่อหุ้นในกลุ่มท่าอากาศยาน ท่องเที่ยว บริการ และการบริโภค แต่การโปรดเกล้าฯ พ.ร.ก.กู้เงินวงเงิน 5 แสนล้านบาท (คิดเป็น 3.21% ของ GDP) เพื่อเยียวยาเศรษฐกิจไทย ถือเป็น Positive Surprise โดยคาดว่าจะเริ่มใช้จ่ายได้ในปลายไตรมาส 2 ซึ่งจะช่วยเพิ่ม GDP ปี 2564 ได้ราว 0.71% แต่เมื่อรวมพ.ร.ก.กู้เงินนี้กับงบประมาณขาดดุลปี 2565 จะส่งผลให้หนี้สาธารณะเกินระดับ 60% ของ GDP สู่ระดับ 65.51% ของ GDP ณ สิ้น 2565 ทั้งนี้ แม้จะมีการออกพ.ร.ก.กู้เงินใหม่ แต่หากยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ได้และการกระจายฉีดวัคซีนที่ล่าช้า จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวกลับสู่ระดับ Pre-Covid ช้ากว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค โดย ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม ประชากรไทยได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกเพียง 3.6% ของประชากร ขณะที่ประชากรเพียง 1.6% ได้รับวัคซีนครบทั้ง 2 เข็ม ต่ำกว่าทวีปเอเชียที่ฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว 5.9% และทั่วโลกที่ 10.8% แม้ผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2564 ของบริษัทจดทะเบียนใน SET เพิ่มขึ้น 130%YoY และ 45%QoQ โดยมีกำไรสุทธิรวมกันที่ 2.66 แสนล้านบาท โดยกลุ่มที่มีกำไรสุทธิเติบโตทั้ง YoY และ QoQ คือ กลุ่มวัสดุก่อสร้าง ที่ปรับตัวขึ้นจากยอดขายที่ขยายตัวตามอุปสงค์ในประเทศ นอกจากนี้ ธุรกิจปิโตรเคมียังได้อานิสงส์จากส่วนต่างผลิตภัณฑ์ที่กว้างขึ้น กลุ่มประกันฯ ปรับตัวได้ดีจากเบี้ยประกันภัยที่ฟื้นตัว และอัตรากําไรจากการรับประกันภัยปรับตัวขึ้น กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และกลุ่มยานยนต์ปรับตัวขึ้นจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก และกระแส EV ขณะที่กลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีพลิกมามีกำไร YoY หลังจาก 1Q63 ขาดทุนสต็อก และราคาผลิตภัณฑ์รวมทั้งปริมาณขายลดลงเป็นอย่างมาก ในทางตรงข้าม กลุ่มที่มีกำไรสุทธิหดตัวทั้ง YoY และ QoQ เนื่องจากผลกระทบจากมาตรการ Lockdown บางส่วน คือ กลุ่มค้าปลีก จากยอดขายสาขาเดิมหดตัว กลุ่มการแพทย์ จากจำนวนผู้ป่วยที่ลดลง เช่นเดียวกับกลุ่ม ICT ที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน ขณะที่กลุ่มโรงแรมและกลุ่มขนส่ง มีผลขาดทุนในไตรมาสนี้ จากการแพร่ระบาดรอบใหม่ ทำให้การท่องเที่ยวและการเดินทางต้องถูกระงับชั่วคราว

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนเมษายน 2564 SET Index ปิดที่ 1,593.59 จุด ปรับตัวขึ้น 10.46 จุดหรือ 0.7% จากสิ้นเดือนเมษายน 2564 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 49.6% กลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง 16.4% กลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต 7.4% ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มธนาคาร -8.3% กลุ่มธุรกิจการเกษตร -6.7% กลุ่มวัสดุก่อสร้าง -4.5% ซึ่งในเดือนที่ผ่านมา นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 362.22 ล้านบาท และ 34,132.08 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่บัญชีหลักทรัพย์ และนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 1,308.68 ล้านบาท และ 33,185.62 ล้านบาท ตามลำดับ โดยตั้งแต่ต้นปี 2564 บัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 2,170.39 ล้านบาทและ 100,680.13 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 36,636.36 และ 66,214.15 ล้านบาท ตามลำดับ จะเห็นว่านักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 โดยลดสัดส่วนการถือครองในหุ้นกลุ่มหลักทั้งหมด ได้แก่ ธนาคาร พลังงาน อสังหาฯ ICT ค้าปลีก ขนส่ง วัสดุก่อสร้าง และปิโตรเคมี

ขณะที่ผลตอบแทนของดัชนี MSCI Thailand ดีกว่า MSCI APAC ex. Japan ในช่วง 1 เดือนล่าสุด แต่ 3, 6 และ 12 เดือนหลังสุดผลตอบแทนของดัชนี MSCI Thailand ยังคงแย่กว่า ทั้งนี้ ในส่วนของประมาณการกำไรฯ ปี 64 ของ SET นั้น ความคิดเห็นส่วนใหญ่มองว่าจะมีการปรับขึ้น 1.52% เช่นเดียวกับไต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และฮ่องกง ที่คาดว่าจะปรับขึ้น 6.96%, 6.32%, 3.13%, และ 1.04% ตามลำดับ ตรงข้ามกับอินโดนีเซีย อินเดีย ฟิลิปปินส์ และจีน ที่ปรับประมาณการกำไรปีนี้ลง 12.87%, 1.74%, 1.55% และ 0.79% ตามลำดับ