ภาวะตลาดหุ้นไทย – มิถุนายน 2564

SET Index ปรับตัวลง -0.4% สู่ระดับ 1,587.79 จุด โดยได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก คือ การประชุมของ FED ซึ่งส่งสัญญาณในการลดมาตรการ QE และปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าการคาดการณ์เดิม นอกจากนี้ยังกระทบจากปัจจัยภายใน เรื่องปัญหาการกระจายวัคซีนและจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายวันที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน

ปัจจัยภายนอกที่กดดัน SET คือ การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่ส่งสัญญาณ Hawkish มากขึ้น โดย Dot Plots หรือ ประมาณการของการปรับอัตราดอกเบี้ยของ FED แสดงให้เห็นว่ากรรมการ FED ส่วนใหญ่สนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปี 2566 ซึ่งเร็วกว่าเดิมที่คาดการณ์ว่าจะยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยจนถึงปี 2567 โดยตลาดคาดการณ์ว่า FED จะขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งในปี 2566 ช่วงไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 4 ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ FED มีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากขึ้น จึงปรับคาดการณ์อัตราการเติบโตของ GDP สหรัฐฯ ปีนี้ขึ้นสู่ระดับ 7.0% จากเดิมคาดที่ระดับ 6.5% และคง GDP ปี 2565 ที่ 3.3% นอกจากนี้ ประธาน FED แถลงหลังการประชุม เผยว่า FED ได้เริ่มหารือกันในการปรับลดวงเงิน QE (QE Tapering) ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 1.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ/เดือน และจะชัดเจนมากขึ้นในการประชุมครั้งถัด ๆ ไป ซึ่งนักวิเคราะห์ในตลาดส่วนใหญ่คาดว่า FED จะเริ่ม Tapering ในเดือนมกราคม 2565 เนื่องจากในการขึ้นดอกเบี้ยในรอบที่ผ่านมา FED ได้ทำการ Tapering เป็นเวลา 1 ปีก่อนปรับขึ้นดอกเบี้ย

ส่วนปัจจัยภายในประเทศ ถูกกดดันจากปัญหาการจัดสรรวัคซีน โดยโครงการไทยร่วมใจของกรุงเทพมหานคร มีการหยุดฉีดวัคซีนเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน จากปัญหาด้านการจัดสรรวัคซีน ก่อนที่จะกลับมาฉีดอีกครั้งในวันที่ 22 มิถุนายน แต่ตัวเลขการฉีดวัคซีนรายวันยังต่ำ โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน ประชากรไทยได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกเพียง 9.9% ของประชากร ต่ำกว่าทวีปเอเชียที่ฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว 23.73% และทั่วโลกที่ 23.50% ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยเลวร้ายลง โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อรวมทั่วประเทศพุ่งสูงถึง 4-5 พันรายต่อวันในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสม (ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564) ณ วันที่ 30 มิถุนายน อยู่ที่ 230,438 คน เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 130,929 คน ส่งผลให้ภาครัฐฯ ประกาศมาตรการป้องกันเข้มงวด ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้ง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา รวมทั้งหมด 10 จังหวัด โดยสั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง ห้ามนั่งทานอาหารในร้าน ห้างสรรพสินค้าเปิดทำการได้ถึง 21:00 น. รวมถึงตั้งด่านคัดกรองผู้เดินทางข้ามจังหวัด มาตรการทั้งหมดมีผลตั้งแต่ 28 มิถุนายนถึง 27 กรกฎาคม 2564 ส่งผลกระทบทางลบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและทำให้แผนการเปิดประเทศภายใน 120 วันของนายกรัฐมนตรีเป็นไปได้ยาก นอกจากนี้ ยังกดดันกลุ่ม Reopening และทำให้ตลาดหุ้นไทยผันผวน ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบหนัก เนื่องจากการระบาดระลอกนี้เป็นการระบาดในวงกว้างและกินเวลานาน ทำให้การฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อน Covid-19 ต้องเลื่อนไปเป็นไตรมาส 1 ปี 2566 จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ไตรมาส 3 ปี 2565

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนมิถุนายน 2564 SET Index ปิดที่ 1,587.79 จุด ปรับตัวลง 5.8 จุดหรือ -0.4% จากสิ้นเดือนก่อนหน้า โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มการแพทย์ 5.3% กลุ่มยานยนต์ 4.0% กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ 2.1% ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง -8.7% กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -8.0% กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ -5.6% ซึ่งในเดือนที่ผ่านมา บัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 4,378.43 ล้านบาท และ 9,824.98 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 4,155.37 ล้านบาท และ 10,048.03 ล้านบาท ตามลำดับ โดยตั้งแต่ต้นปี 2564 บัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 6,548.82 ล้านบาท และ 110,505.11 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 40,792.74 ล้านบาทและ 76,262.18 ล้านบาท ตามลำดับ จะเห็นว่านักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 โดยเพิ่มสัดส่วนการถือครองในหุ้นกลุ่มพลังงาน อสังหาฯ ICT ขนส่ง แต่ลดสัดส่วนการถือครองในกลุ่มปิโตรเคมี ขณะที่ Performance ของดัชนี MSCI Thailand แย่กว่า MSCI APAC ex. Japan ในทุกช่วงเวลา คือ 1, 3, 6 และ 12 เดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ในส่วนของประมาณการกำไรฯ ปี 64 ของ SET นั้น Consensus มีการปรับขึ้น 0.92% เช่นเดียวกับไต้หวัน เกาหลีใต้ อินเดีย และอินโดนีเซีย ปรับขึ้น 5.20%, 4.48%, 3.17% และ 2.27% ตามลำดับ ตรงข้ามกับฮ่องกง มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และจีน ที่ปรับประมาณการกำไรปีนี้ลง 7.65%, 7.33%, 1.64% และ 0.44% ตามลำดับ