SET Index ปรับตัวขึ้น +7.7% สู่ระดับ 1,638.75 จุด เป็นการปรับตัวลงแรงในช่วงต้นเดือน จากปัจจัยภายนอกเกี่ยวกับความกังวลเรื่องการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE Tapering) ของ FED และการระบาดของ COVID-19 ในประเทศ แต่ในช่วงครึ่งหลังของเดือน SET Index ปรับตัวขึ้นแรงจากการที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายวันที่ปรับตัวลดลงจากระดับสูงสุดต่อวัน ตัวเลขผู้หายป่วยรายวันที่เพิ่มมากกว่าผู้ติดเชื้อใหม่รายวัน และการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown
ในช่วงต้นเดือน SET Index ได้รับแรงกดดันจากการที่สหรัฐอเมริกาเปิดเผย FOMC Minutes สำหรับการประชุมเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งระบุว่ากรรมการ FED ส่วนใหญ่เห็นพ้องที่จะเริ่มปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE Tapering) ในปีนี้ ซึ่งบางส่วนสนับสนุนให้เกิดขึ้นในเดือนกันยายน 2564 สะท้อนมุมมองหลักของ FED ที่มีแผนจะประกาศ QE Tapering ในเดือนพฤศจิกายน 2564 เพื่อจะได้มีผลในปีนี้ เร็วกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าจะประกาศ QE Tapering เดือนธันวาคม 2564 และมีผลเดือนมกราคม 2565 จากมุมมองล่าสุดของ FED ส่งผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่าอย่างรวดเร็ว กดดันให้ Fund Flow ไหลออกจากทวีปเอเชีย รวมถึงประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ถ้อยแถลงของประธาน FED ที่การประชุม Jackson Hole ไม่ Hawkish มากนัก โดยเผยว่า FED มีแนวโน้มที่จะปรับลดวงเงิน QE ก่อนสิ้นปีนี้จริง แต่การที่ FED จะปรับลด QE นั้น ไม่ได้หมายความว่า FED จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จึงทำให้มีแรงซื้อกลับเข้ามาในสินทรัพย์เสี่ยงอีกครั้ง
การฟื้นตัวของ SET Index ในช่วงครึ่งหลังของเดือน เกิดจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในประเทศไทยที่เริ่มมีสัญญาณดีขึ้น หลังจากยอดผู้ติดเชื้อรายวันลดลงระดับลงสู่ 1.5 หมื่นราย/วัน ขณะที่ยอดผู้หายป่วยกลับบ้านสูงกว่ายอดผู้ติดเชื้อใหม่อย่างต่อเนื่อง ทำให้ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ประกาศผ่อนคลายมาตรการ Lockdown โดยอนุญาตให้เปิดกิจการ/กิจกรรมเพิ่มเติม ได้แก่ การเดินทางข้ามจังหวัด ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ร้านเสริมสวย ร้านนวด (เฉพาะนวดเท้า) การใช้อาคารสถานศึกษา และการเปิดใช้สนามกีฬา (ยกเว้นฟิตเนส) โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน เป็นต้นไป เป็นผลทำให้ SET Index และหุ้นกลุ่ม Re-opening ปรับตัวขึ้นได้ดี โดยประเทศไทยมียอดผู้ติดเชื้อสะสม (ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564) ณ วันที่ 31 สิงหาคม อยู่ที่ 1,161,200 คน เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 568,424 คน ขณะที่ผู้หายป่วยสะสมอยู่ที่ 974,418 คน มีผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัว 176,137 คน
สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนสิงหาคม 2564 SET Index ปิดที่ 1,638.75 จุด ปรับตัวขึ้น 116.83 จุด หรือ +7.7% จากสิ้นเดือนก่อนหน้า โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 14% กลุ่มธนาคาร 13% กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ 11% ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -0.8% กลุ่มการแพทย์ 1.8% กลุ่มยานยนต์ 2.8% ซึ่งในเดือนที่ผ่านมา นักลงทุนสถาบันในประเทศ บัญชีหลักทรัพย์ และนักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นไทยสุทธิ 18,730.28 ล้านบาท, 1,88.47 ล้านบาท และ 5,439.71 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่นักลงทุนทั่วไปในประเทศขายหุ้นไทยสุทธิ 26,058.45 ล้านบาท โดยตั้งแต่ต้นปี 2564 บัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 11,349.37 ล้านบาท และ 102,110.50 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 25,617.32 ล้านบาทและ 87,842.55 ล้านบาท ตามลำดับ จะเห็นว่านักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อหุ้นไทยสุทธิในเดือนนี้หลังจากขายสุทธิติดต่อกันมาเป็นเวลา 7 เดือน โดยนักลงทุนต่างชาติมีการเพิ่มสัดส่วนการถือครองในหุ้นกลุ่มธนาคาร พลังงาน ปิโตรเคมี และขนส่ง แต่ลดการถือครองในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง และ ICT ขณะที่ Performance ของดัชนี MSCI Thailand ดีกว่า MSCI APAC ex. Japan ทั้งในช่วง 1, 3 และ 6 เดือนหลังสุด มีเพียง 12 เดือนหลังสุดที่แย่กว่าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทั้งนี้ ในส่วนของประมาณการกำไรฯ ปี 2564 ของ SET นั้น Consensus มีการปรับขึ้น 0.28% เช่นเดียวกับไต้หวัน มาเลเซีย และฮ่องกงที่ปรับขึ้น 2.96%, 0.73% และ 0.62% ตามลำดับ ตรงข้ามกับอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ และจีน ที่ปรับประมาณการกำไรปีนี้ลง 4.50%, 1.65%, 0.67% และ 0.44% ตามลำดับ