SET Index ปรับตัวลง -3.37% สู่ระดับ 1,568.69 จุด จากประเด็นความกังวลว่า FED จะมีการเร่งลดระดับการซื้อสินทรัพย์ (QE Tapering) ในการประชุม FOMC เดือนธันวาคม 2564 และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ FED ที่เร็วกว่าการคาดการณ์เดิม รวมถึงประเด็นความกังวลของการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่เรียกว่า Omicron จึงทำให้ตลาดปรับตัวลงค่อนข้างมากในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน
ปัจจัยภายนอกที่สำคัญที่ส่งผลต่อตลาดคือ ความกังวลว่า FED จะมีการเร่งลดระดับการซื้อสินทรัพย์ (QE Tapering) ในการประชุม FOMC เดือนธันวาคมนี้ โดยก่อนหน้านี้ FED มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิม ขณะที่ประกาศจะปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE Tapering) เดือนละ 1.5 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 ซึ่งจะทำให้โครงการ QE สิ้นสุดลงในช่วงกลางปี 2565 และในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 จะมีการประเมินอัตราเงินเฟ้อและตลาดแรงงานก่อนที่จะมีการปรับอัตราดอกเบี้ย ซึ่งส่งผลให้ตลาดเริ่มมีภาพการปรับตัวที่ดีขึ้นจากการคลายความกังวลในช่วงเวลาในการทำ QE Tapering อย่างไรก็ตาม จากรายงานการประชุม FOMC ที่ออกมาในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2564 มีการส่งสัญญาณว่า FED พร้อมที่จะเร่งเวลาในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และปรับลดวงเงิน QE หากตัวเลขเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง ประกอบกับถ้อยแถลงที่ Hawkish ของเจ้าหน้าที่ FED หลายท่าน ทำให้ FED Fund Futures Rate สะท้อนมุมมองของนักลงทุนที่คาดว่า FED จะขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนมิถุนายน 2565 และคาดว่า FED จะประกาศเรื่องการเร่งการลดระดับการซื้อสินทรัพย์ (QE Tapering) ในการประชุมเดือนธันวาคม (15-16 ธันวาคม) นี้ โดยจะเริ่มทำตั้งแต่กลางเดือนมกราคม 2565 และจบการซื้อหลังกลางเดือนมีนาคม 2565 ซึ่งเร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยแนวโน้มที่ Hawkish มากขึ้น ทำให้ค่าเงินดอลล่าร์แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว และ US Bond Yield ปรับตัวสูงขึ้น กดดันสินทรัพย์เสี่ยง ขณะเดียวกัน ก็มีอีกหนึ่งประเด็นที่เข้ามากดดันคือ ความเสี่ยงของการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่พบในแอฟริกาใต้ ที่เรียกว่า Omicron ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์อย่างที่ไม่เคยพบมาก่อน และอาจจะแพร่ระบาดได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ ขณะที่หลายประเทศ อาทิเช่น ยุโรป อังกฤษ ออสเตรเลีย ฯลฯ พบผู้ติดเชื้อสายพันธ์ Omicron ในประเทศแล้ว และหลายประเทศเริ่มใช้มาตรการเข้มงวดอีกครั้ง ทำให้เกิดความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัวในขณะนี้ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว มีโอกาสที่จะเผชิญกับผลประกอบการที่ลดลงอีกครั้ง ก่อให้เกิดผลกระทบในทิศทางลบต่อตลาดสินทรัพย์เสี่ยง
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยภายในประเทศเองยังได้รับแรงสนับสนุนจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มมีการปรับตัวลดลงอย่างชัดเจนจาก 8,165 ราย เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ลงไปที่ 4,306 ราย เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 บวกกับจำนวนผู้หายป่วยในแต่ละวันที่มีจำนวนมากกว่าจำนวนผู้ที่ติดเชื้อรายวัน ซึ่งช่วยให้ความกังวลต่อภาพรวมของระบบสาธารณสุขในประเทศนั้นลดลง ส่งผลให้ SET Index ปรับขึ้นได้ในทิศทางบวกเกือบตลอดทั้งเดือน ก่อนที่ในช่วงปลายเดือนจะโดนผลกระทบในทิศทางลบจากปัจจัยภายนอกประเทศที่ได้กล่าวไปในข้างต้น
สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 SET Index ปิดที่ระดับ 1,568.69 จุด ลดลง 54.74 จุดหรือ 3.37% จากเดือนก่อน โดยในช่วงต้นถึงกลางเดือนนั้น SET Index ปรับตัวขึ้นได้ดีจากการประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสที่ 3 ปี 2564 ที่ออกมาดีกว่าคาด ภาพรวมกำไรสุทธิไตรมาสที่ 3 ปี 2564 ของบริษัทจดทะเบียนใน SET อยู่ที่ 2.11 แสนล้านบาท โดยกลุ่มที่ผลประกอบการเติบโตทั้ง YoY และ QoQ คือ กลุ่มการแพทย์ สื่อและสิ่งพิมพ์ ขณะที่กลุ่มที่ผลประกอบการลดลง ทั้ง YoY และ QoQ คือ ICT วัสดุก่อสร้าง ค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์ ในเดือนพฤศจิกายนนี้ หุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนการลงทุนมากที่สุด คือ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 9.4% กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 6.5% และกลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ 2.0% ในขณะที่กลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ -10.7% กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -7.6% กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ -7.4% ให้ผลตอบแทนการลงทุนลดลงมากที่สุด ซึ่งแรงกดดันจากความกังวลจากภายนอกประเทศในช่วงสิ้นเดือน เข้ามากดดัน SET Index ให้ปรับตัวลงแรงหลุดระดับ 1,600 จุดอีกครั้ง
ในเดือนที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติกลับมาขายสุทธิที่ 10,982 ล้านบาทอีกครั้ง เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ซื้อสุทธิเป็นเดือนที่ 3 ที่ 15,886 ล้านบาท นอกจากนี้ นักลงทุนสถาบันในประเทศและบัญชีหลักทรัพย์ขายสุทธิที่ 9,701 ล้านบาทและ 7,301 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่นักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิที่ 27,983 ล้านบาท โดยตั้งแต่ต้นปี 2564 บัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิที่ 11,282 ล้านบาทและ 129,225 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิที่ 68,706 ล้านบาทและ 71,801 ล้านบาท ตามลำดับ โดยมีการเพิ่มสัดส่วนการถือครองในหุ้นกลุ่มธนาคาร ICT แต่ลดการถือครองในกลุ่มพลังงาน อสังหาริมทรัพย์ ขนส่ง วัสดุก่อสร้าง ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ขณะที่ Performance ของดัชนี MSCI Thailand แย่กว่า MSCI APAC ex. Japan ในทุกช่วงทั้ง 1, 3, 6 และ 12 เดือนหลังสุด ทางด้าน Consensus ปรับประมาณการกำไรฯ ปี 2564 ของ SET ลง 2.09% เช่นเดียวกับจีน ฟิลิปปินส์ และฮ่องกง ที่ปรับประมาณการกำไรฯ ปีนี้ลง 0.82%, 0.46% และ 0.15% ตรงข้ามกับไต้หวัน เกาหลีใต้ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ที่ปรับประมาณการกำไรฯ ปีนี้ขึ้น 2.32%, 1.16%, 0.94%, 0.84% และ 0.76% ตามลำดับ