ภาวะตลาดหุ้นไทย – ธันวาคม 2564

SET Index ปรับตัวขึ้น +5.7% สู่ระดับ 1,657.62 จุด แม้จะมีปัจจัยลบเข้ามากระทบหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเงินเฟ้อ การระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron และตัวเลขเศรษฐกิจที่ค่อนข้างย่ำแย่ในไตรมาสที่ 3 แต่ปัจจัยลบเหล่านี้ดูเหมือนจะมีหนทางคลี่คลาย ประกอบกับช่วงเดือนธันวาคมเป็นเทศกาลหยุดยาว ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่ที่อยากขายหุ้นจะปรับ Portfolio ไปตั้งแต่เดือนก่อนหน้าแล้ว ทำให้แรงซื้อที่เพื่อรอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจข้ามปีผลักดันใน SET Index ค่อย ๆ ปรับตัวขึ้น ด้วยปริมาณการซื้อขายที่เบาบาง

ปัจจัยภายนอกที่สำคัญที่ส่งผลต่อตลาดคือ ความกังวลในเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นมา โดยอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในรอบ 39 ปี ทำให้การประชุม FOMC ในวันที่ 14-15 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา FED มีมติเร่งปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE Tapering) จากเดือนละ 1.5 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นเดือนละ 3 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 ซึ่งจะทำให้ FED ยุติโครงการ QE ในเดือนมีนาคม 2565 และจะมีการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ เป็นลำดับถัดไป โดยอ้างอิงจาก Dot Plot ของ FED นั้น เจ้าหน้าที่ FED ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ จำนวน 3 ครั้งในปี 2565 และจำนวน 3 ครั้งในปี 2566 และอีกจำนวน 2 ครั้งในปี 2567 รวมทั้งหมด 8 ครั้ง โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ จะไปสิ้นสุดที่ 2.5% ในปี 2567 ซึ่งหลังจากที่มีการแถลงแนวโน้มที่ Hawkish มากขึ้นของ FED เนื่องจากเห็นว่า FED มีการดำเนินนโยบายนำหน้าปัญหา และคลายความกังวลของตลาดจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ตลาดหุ้นทั่วโลกมีการตอบรับที่ดีขึ้น และส่งผลให้เงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติไหลกลับเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น โดยนักลงทุนต่างชาติกลับมาเป็นซื้อสุทธิมากขึ้นตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2564 เป็นต้นมา ขณะเดียวกัน ตลาดก็มีการคลายความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron ที่ถึงแม้ว่าจะมีความสามารถในการแพร่กระจายที่มากกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ อาทิเช่น Delta หรือ Alpha แต่ทว่ามีความรุนแรงที่เบากว่า โดยหน่วยงานหลักประกันสุขภาพของอังกฤษได้ออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อโควิดสายพันธุ์ Omicron ว่า โอกาสที่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ Omicron ต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลนั้นน้อยกว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ Delta ถึง 50-70% ซึ่งจะช่วยบรรเทาความกดดันในระบบสาธารณสุขของแต่ละประเทศไปได้ส่วนหนึ่ง และคลายความกังวลของนักลงทุนว่าประเทศต่าง ๆ จะไม่ออกมาตรการ Lockdown ที่รุนแรงและยาวนานเหมือนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ปัจจัยภายในประเทศเองยังเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุน SET Index ปรับตัวขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม 2564 แม้ตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 จะชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Delta ทำให้มีการ Lockdown ในหลายจังหวัดที่มีการระบาดรุนแรง แต่ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยก็เหมือนผ่านจุดที่ต่ำที่สุดไปแล้วในไตรมาสที่ 3/2564 และมีแนวโน้มฟื้นตัวในไตรมาสที่ 4/2564 และต่อเนื่องในปี 2565 จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เริ่มกลับมาเป็นปกติ ทั้งนี้ จากการเปิดเผยของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 4/2564 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ภาคการผลิตอุตสาหกรรมไทยได้รับอานิสงส์ในเชิงบวกจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว และค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ความต้องการซื้อในประเทศเริ่มขยายตัวในหลายกลุ่มสินค้า และเริ่มมีคำสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าเพื่อใช้ในเทศกาลปีใหม่ ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ต่อศักยภาพในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนธันวาคม 2564 SET Index ปิดที่ระดับ 1,657.62 จุด เพิ่มขึ้น 88.93 จุดหรือ 5.67% จากเดือนก่อน โดยตลอดทั้งเดือนนั้น SET Index ปรับตัวขึ้นได้ดีจากการที่ตลาดคลายความกังวลในเรื่องอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯที่เพิ่มสูงขึ้น สืบเนื่องจากท่าทีของ FED ที่ Hawkish มากขึ้น และการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron ที่แม้จะมีความสามารถในการระบาดได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์อื่นๆ แต่ทว่ามีความรุนแรงที่น้อยกว่า รวมไปถึงภาพของเศรษฐกิจไทยที่ได้ผ่านจุดที่ต่ำที่สุดไปแล้วในไตรมาสที่ 3/2564 และมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในไตรมาสที่ 4/2564 เนื่องด้วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาเป็นปกติอีกครั้งหนึ่ง โดยหุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนการลงทุนมากที่สุด คือ กลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต +15.0% กลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง +10.5% และกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร +10.4% ในขณะที่กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -5.1% กลุ่มพาณิชย์ +0.7% กลุ่มธุรกิจการเกษตร +1.2% ให้ผลตอบแทนการลงทุนน้อยที่สุดในช่วงเดียวกัน

ในเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิที่ 23,223 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ขายสุทธิที่ 10,982 ล้านบาท นอกจากนี้ บัญชีหลักทรัพย์ซื้อสุทธิที่ 2,391 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนทั่วไปในประเทศขายหุ้นไทยสุทธิที่ 8,630 ล้านบาทและ 16,984 ล้านบาท ตามลำดับ โดยตลอดทั้งปี 2564 บัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิที่ 13,672 ล้านบาทและ 112,241 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิที่ 77,336 ล้านบาทและ 48,578 ล้านบาท ตามลำดับ โดยมีการเพิ่มสัดส่วนการถือครองในหุ้นกลุ่มธนาคาร พลังงาน เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ แต่ลดการถือครองในกลุ่มค้าปลีก ขนส่ง วัสดุก่อสร้าง ขณะที่ Performance ของดัชนี MSCI Thailand ดีกว่า MSCI APAC ex. Japan ในทุกช่วงทั้ง 1, 3, 6 และ 12 เดือนหลังสุด ทางด้าน Consensus ปรับประมาณการกำไรฯ ปี 2565 ของ SET ขึ้น 0.65% เช่นเดียวกับจีน เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ที่ปรับประมาณการกำไรฯ ปี 2565 ขึ้น 15.58%, 1.40%, 0.25% และ 0.14% ตรงข้ามกับฮ่องกง มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไต้หวัน ที่ปรับประมาณการกำไรฯ ปี 2565 ลง 3.25%, 2.93%, 2.51% และ 0.59% ตามลำดับ