ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – ธันวาคม 2564

ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) มีมติเป็นเอกฉันท์ 11-0 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย Federal Funds Rate ไว้ที่ 0-0.25% ตามการคาดการณ์ของตลาด หลังการประชุมประธาน FED ได้ประกาศเร่งการลด QE เป็น 2 เท่า โดยจะลดวงเงินซื้อพันธบัตรรัฐบาล และวงเงินซื้อสินทรัพย์ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยค้ำประกันไปพร้อมกันตามสัดส่วน 2 และ 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน รวม 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนมกราคม 2022 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากอัตราเดิมที่ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ทำให้ QE สำหรับในช่วงการแพร่ระบาดนี้จะสิ้นสุดเร็วขึ้นเป็นในช่วงปลายเดือนมีนาคม จากเดิมที่จะสิ้นสุดในเดือนมิถุนายน เนื่องจากประเมินว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มพุ่งขึ้น ในขณะที่ตลาดแรงงานฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ FED ได้ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีหน้า โดย Dot Plot ล่าสุดระบุว่าสมาชิก FED ส่วนใหญ่มีมุมมองต่อการขึ้นดอกเบี้ยถึง 3 ครั้งในปี 2022 ซึ่งเร็วกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่ 2 ครั้ง นอกจากนี้ สมาชิก FED ยังมีมุมมองต่อการขึ้นดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งในปี 2023 ด้วย อย่างไรก็ตาม โพเวลระบุว่า FED จะยังไม่ปรับดอกเบี้ยขึ้นจนกว่าการลด QE จะสิ้นสุดลง ในขณะที่การแพร่ระบาดของโอไมครอนไม่ใช่ประเด็นหลักที่น่ากังวล โดยโพเวลคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะสามารถรับมือกับการแพร่ระบาดในครั้งนี้ได้ ทางด้านเงินเฟ้อ FED ประเมินว่ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากภาวะความไม่สมดุลระหว่างภาคอุปสงค์และอุปทาน โดยประเมินว่าเงินเฟ้อไม่ใช่ปัจจัยชั่วคราวอีกต่อไป และปรับคาดการณ์เงินเฟ้อในปีนี้และปีหน้าเพิ่มขึ้นเป็น 5.3% และ 2.6% จากเดิมที่ 4.2% และ 2.2% ตามลำดับ รวมถึงมีมุมมองว่าเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับเหนือเป้าหมายที่ 2.0% ไปจนถึงปี 2024 ทั้งนี้ FED ยังได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในปีนี้ลงจาก 5.9% เป็น 5.5% เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 และการชะงักงันภาคอุปทาน และปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจในปีหน้าเป็น 4.0% จากเดิมที่ 3.8% ด้านตลาดแรงงานฟื้นตัวเร็วกว่าคาด ทำให้ FED ปรับลดคาดการณ์การว่างงานในปีนี้และปีหน้าลงเหลือ 4.3% และ 3.5% จากเดิมที่ 4.8% และ 3.8% ตามลำดับ

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การระบาดของโอไมครอนยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญในระยะข้างหน้า รวมทั้งมาตรการภาครัฐในการควบคุมการแพร่ระบาดควรเอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยรวม กนง. ยังให้น้ำหนักกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ และพร้อมใช้นโยบายที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น ธปท. คาดเศรษฐกิจไทยในปี 2021-2023 ขยายตัวที่ 0.9%, 3.4% และ 4.7% ตามลำดับ จากเดิมที่คาดว่าเศรษฐกิจในปีนี้และปีหน้าจะขยายตัว 0.7% และ 3.9% ตามลำดับ เนื่องจากการฟื้นตัวของการบริโภคภายในประเทศและภาคการท่องเที่ยวจากการทยอยกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ อย่างไรก็ตาม ธปท. คาดการณ์ว่าโอไมครอนจะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2565

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับเพิ่มขึ้นตามทิศทางพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ตลาดรับทราบข่าวการลดการผ่อนคลายทางการเงินในไม่ช้า ยกเว้นอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะสั้นที่ปรับลงมามากจากความต้องการพักเงินในช่วงข้ามปี โดยผลการประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยรุ่นอายุประมาณ 3 เดือนในสัปดาห์สุดท้ายของปีเฉลี่ยอยู่ที่ 0.3906% ทิศทางการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้เป็นการซื้อสุทธิทั้งพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นและระยะยาว นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรรัฐบาลไทยรวม 5.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 3.3 หมื่นล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 2.2 หมื่นล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว คงเหลือการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 1.02 ล้านล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ 1.66 แสนล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

thai-fixed-income-market-dec-2021