ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – มกราคม 2565

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง และปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจและเงินเฟ้อ โดยให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ -0.1% ควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีที่ใกล้ศูนย์ และคงมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อ โดยขยายระยะเวลาการเบิกจ่ายเงินกู้ในโครงการเพื่อเสริมสภาพคล่องให้ธนาคารพาณิชย์ไปอีก 1 ปี ในส่วนของมาตรการซื้อสินทรัพย์ ให้คงการซื้อ ETFs ไม่เกิน 12 ล้านล้านเยนและ J-REITs ไม่เกิน 1.8 แสนล้านเยนต่อปีและซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชนไม่เกิน 20 ล้านล้านเยน ถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2022 ทั้งนี้ BOJ ยืนยันการคงดอกเบี้ยนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง จนกว่าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับเป้าหมาย 2% อย่างมีเสถียรภาพ และจะติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างใกล้ชิด และพร้อมดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติมหากจำเป็น ทางด้านการคาดการณ์เศรษฐกิจ BOJ ประเมินว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยปรับคาดการณ์เศรษฐกิจในปีงบประมาณ 2022 เพิ่มขึ้นเป็น 3.8% จากประมาณการเดิมที่ 2.9% และปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในปีงบประมาณ 2023 ลงเป็น 1.1% จาก 1.3% ในประมาณการเดือนตุลาคม นอกจากนี้ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปในปีงบประมาณ 2022 เป็น 1.1% จากประมาณการเดิมที่ 0.9% และปรับเพิ่มเงินเฟ้อทั่วไปในปีงบประมาณ 2023 จาก 1.0% เป็น 1.1% เนื่องจากประเมินว่าเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นจากราคาน้ำมัน และต้นทุนวัตถุดิบที่แพงขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นมีแนวโน้มผ่อนคลายลงในระยะข้างหน้า

ผลการประชุม FOMC ในเดือนนี้ มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.00-0.25% หลังการประชุม ประธาน FED ส่งสัญญาณเตรียมขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมีนาคมนี้ โดยให้ความสำคัญกับการจัดการเงินเฟ้อที่สูงกว่าเป้าหมายที่ 2% ในปัจจุบัน และมีแนวโน้มคงอยู่ในระดับสูงยาวนานกว่าที่คาด จากภาวะตลาดแรงงานฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ท่ามกลางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวอย่างมาก การลดขนาดงบดุลจะเกิดขึ้นภายหลังจากการขึ้นดอกเบี้ยแล้วอย่างน้อย 1 การประชุม ซึ่ง FED จะหารือเรื่องนี้ในการประชุมเดือนมีนาคม ทั้งนี้ การลดขนาดงบดุลครั้งนี้มีแนวโน้มว่าจะลดในอัตราเร่งที่เร็วกว่าครั้งก่อน นอกจากนี้ FED ประกาศเร่งการลด QE เพิ่มขึ้น โดยจะดำเนินการซื้อสินทรัพย์ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ และจะสิ้นสุดการทำ QE ในช่วยต้นเดือนมีนาคมนี้ จากเดิมที่จะสิ้นสุดในช่วงกลางเดือนมีนาคม

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับเพิ่มขึ้นตามทิศทางพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ตลาดรับทราบข่าว FED ส่งสัญญาณเตรียมขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้และเตรียมลดขนาดงบดุลในระยะถัดไป โดยอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 4 ปีขึ้นไปปรับเพิ่มขึ้น 10-25bps ทางด้านทิศทางการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้ ยังคงเป็นการซื้อสุทธิทั้งพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นและระยะยาวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรรัฐบาลไทยรวม 6.9 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 3.7 หมื่นล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 4.1 หมื่นล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว คงเหลือการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทย ณ สิ้นเดือนมกราคม 1.09 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากการถือครอง ณ สิ้นปี 2021 ที่ 1.02 ล้านล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

thai-fixed-income-market-jan-2022