ภาวะตลาดหุ้นไทย – มกราคม 2565

SET Index ปรับตัวลดลง 0.53% สู่ระดับ 1,648.81 จุด สะท้อนภาพความกังวลจากปัจจัยภายนอกประเทศ อาทิเช่น นโยบายทางการเงินของสหรัฐฯที่มีแนวโน้ม Hawkish มากขึ้น และต้นทุนผลผลิตที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นส่งผลกระทบไปถึงอัตราเงินเฟ้อทั่วโลก แต่ทว่ายังมีปัจจัยบวกภายในประเทศที่คอยสนับสนุนตลาดฯ อยู่ อาทิเช่น การผ่อนคลายความกังวลการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ Omicron และการรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไตรมาสที่ 4/2564 ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีกว่าคาด

ปัจจัยภายนอกประเทศที่สำคัญที่ส่งผลต่อตลาดคือ การที่ Fed ได้ส่งสัญญาณที่ Hawkish มากขึ้นในการดำเนินนโยบายทางการเงินในปีนี้ ในช่วงต้นเดือนมกราคม 2565 ได้มีการเปิดเผยรายงานการประชุมเดือนธันวาคม 2564 ของ Fed ออกมา เนื้อหาในการประชุมนั้นได้มีการกล่าวถึงการทำ Quantitative Tightening หรือ นโยบายทางการเงินในการดึงสภาพคล่องออกจากระบบภายในปี 2565 หลังจากที่จะมีการเริ่มปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ซึ่งผิดจากที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่า Fed จะลงมือดำเนินนโยบายดึงสภาพคล่องออกจากระบบหลังจากที่ได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯไปสักระยะหนึ่งแล้ว โดยเหตุผลหลักในการตัดสินใจของ Fed คือตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯที่สูง ไปแตะระดับ 7% เมื่อเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบ 40 ปี สืบเนื่องมาจากปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทานที่ยังไม่มีท่าทีจะคลี่คลายลง เพราะระยะเวลาการส่งสินค้าของผู้ผลิตที่นานขึ้นส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น โดยในปัจจุบันสถานการณ์อุปสงค์ของสินค้าทั่วโลกที่มีมากกว่าอุปทานของสินค้า ผู้ผลิตจึงมีอำนาจต่อรองในการเพิ่มราคาสินค้าได้ ราคาสินค้าทั่วโลกจึงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น และกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วโลกให้คงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไป โดยหลังจากการเปิดเผยรายงานการประชุมของ Fed นั้น ตลาดคาดการณ์ว่า Fed จะดำเนินนโยบายทางการเงินในการดึงสภาพคล่องออกจากระบบตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วงเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา

ปัจจัยบวกภายในประเทศที่เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้ SET Index ไม่ปรับตัวลงแรงได้คือ การผ่อนคลายความกังวลการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ Omicron ที่ถึงแม้ว่าจะมีการระบาดที่รวดเร็วในช่วงเดือนธันวาคม 2564 และต้นเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา แต่ระดับตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันนั้นไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงครึ่งหลังของเดือนมกราคม 2565 โดยอยู่ที่ระดับ 7,000 – 9,000 รายต่อวัน ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ Best Case ที่ ศบค. ได้คาดการณ์ไว้ โดยจากการคาดการณ์ จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันมีแนวโน้มที่จะลดลงตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป ซึ่งส่งผลให้ ศบค. ผ่อนคลายมาตรการลง โดยปรับลดพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) จาก 69 จังหวัดเหลือเพียงแค่ 44 จังหวัด และเปิดลงทะเบียน Test&Go ได้อีกครั้งตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 อีกหนึ่งปัจจัยบวกที่คอยสนับสนุน SET Index คือการรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไตรมาสที่ 4/2564 ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีกว่าคาด โดยเริ่มจากการประกาศผลประกอบการของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาฟื้นตัวได้อย่างเด่นชัดในไตรมาสที่ 4/2564

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนมกราคม 2565 SET Index ปิดที่ระดับ 1,648.81 จุด ลดลง 8.81 จุดหรือ 0.53% จากเดือนก่อนที่ SET Index ได้ทำจุดสูงสุดในรอบ 29 เดือนนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 โดยขึ้นไปแตะจุดสูงสุดที่ระดับ 1682.93 จุด ขณะที่ภาพรวมการเคลื่อนไหวของดัชนีในเดือนมกราคม 2565 นั้น เป็นไปในทิศทางบวกในช่วงครึ่งเดือนแรก จากการผ่อนคลายความกังวลการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ Omicron และการคาดการณ์ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไตรมาสที่ 4/2564 ที่มีแนวโน้มฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม SET Index มีทิศทางปรับตัวลงในช่วงครึ่งหลังของเดือน ซึ่งแรงกดดันต่างๆ มาจากปัจจัยต่างประเทศ โดยเฉพาะการที่ Fed ส่งสัญญาณการดำเนินการนโยบายทางการเงินที่ Hawkish มากขึ้น โดยหุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุด คือ กลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ 5.9% กลุ่มธนาคาร 3.5% และกลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 2.9% ในขณะที่กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -15.9% กลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง -5.4% กลุ่มการแพทย์ -3.0% ให้ผลตอบติดลบมากที่สุดในช่วงเดียวกัน

ในเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิที่ 14,359 ล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ซื้อสุทธิที่ 3,501 ล้านบาท และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อสุทธิที่ 7,322 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศขายสุทธิ 25,183 ล้านบาท ขณะที่ Performance ของดัชนี MSCI Thailand ดีกว่า MSCI APAC ex. Japan ในทุกช่วงเวลาทั้ง 1, 3, 6 และ 12 เดือนหลังสุด