ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – มิถุนายน 2565

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และประกาศแผนขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งหน้า นอกจากนี้ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP และเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อในปีนี้ด้วย ECB ประกาศสิ้นสุดการเข้าซื้อสินทรัพย์ผ่าน APP ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ แต่จะยังคงลงทุนต่อ (Reinvest) ไปอีกสักระยะเพื่อช่วยสภาพคล่องในตลาด ในขณะที่จะลงทุนต่อในพันธบัตรจากมาตรการคิวอี Pandemic Emergency Purchase Program (PEPP) ที่ถือครองจากโครงการนี้ไปจนถึงอย่างน้อยสิ้นปี 2024 อย่างไรก็ดี ในอนาคตอาจจะมีการปรับพอร์ตโฟลิโอเพื่อไม่ให้ขัดกับการดำเนินนโยบาย ECB ประเมินว่าเศรษฐกิจยูโรโซนและเงินเฟ้อได้รับผลกระทบมากจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาพลังงานที่ขึ้นไปสูง และปัจจัยด้านปัญหาคอขวดที่ยืดเยื้อกว่าคาด สร้างผลกระทบกับเศรษฐกิจและการค้าของยูโรโซน จึงมีการปรับคาดการณ์ GDP ในกรณีฐานปี 2022 ลดลงเหลือ 2.8% จากเดิมที่ 3.7% และปี 2023 ลดลงเหลือ 2.1% จากเดิมที่ 2.8% และปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อจาก 5.1% เป็น 6.8% สำหรับปี 2022 และ จาก 2.1% เป็น 3.5% สำหรับปี 2023 จากสมมติฐานราคาพลังงานที่ปรับขึ้นสูง ความตึงเครียดของสงครามรัสเซีย-ยูเครนจะยืดเยื้อถึงปลายปี แต่ไม่เพิ่มระดับมากกว่านี้ ปัญหาคอขวดจะทยอยคลี่คลายในปลายปี 2023 ในกรณีที่แย่ที่สุดคาดการณ์ GDP ในปีนี้ขยายตัวที่ 1.3% และหดตัวในปี 2023 ด้านเงินเฟ้อจะขึ้นไปอยู่ที่ 8.0% สำหรับปี 2022 และ 6.4% สำหรับปี 2023 ด้วยสมมติฐานที่ราคาพลังงานจะขึ้นไปอยู่ในระดับสูงมากจากปัญหาด้านอุปสงค์พลังงานขัดข้องอย่างรุนแรงทำให้ขาดแคลนพลังงาน ECB มองความเสี่ยงของเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับสูงจากความไม่แน่นอนของสงครามรัสเซียและยูเครน

ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ประกาศเพิ่มอัตราดอกเบี้ย 0.75% เป็นการปรับขึ้นในอัตราที่สูงสุดนับตั้งแต่ปี 1994 และส่งสัญญาณพร้อมขึ้น 50-75 bps ในการประชุมครั้งถัดไป เพื่อสู้กับเงินเฟ้อที่ปรับขึ้นสู่จุดสูงสุดใหม่ในรอบ 40 ปี ให้กลับเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% ให้ได้ โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.5%-1.75% ในขณะที่ค่ากลางของ Dot Plot ล่าสุดระบุว่าสมาชิก FED ส่วนใหญ่มีมุมมองต่อการขึ้นดอกเบี้ยให้ถึง 3.5% ในปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้น 1.5% จากที่ระบุไว้รอบเดือนมีนาคม นอกจากนี้ ยังมีมุมมองดอกเบี้ยอยู่ที่ 3.75% ในปี 2023 ซึ่งเพิ่มขึ้น 1% จากที่คาดไว้ตอนเดือนมีนาคม ประเมินว่าเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงจากภาวะความไม่สมดุลระหว่างภาคอุปสงค์และอุปทาน ราคาพลังงานที่ปรับขึ้นสูง และความกดดันจากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างทั่วถึงมากขึ้น โดยสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนเพิ่มความกดดันให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก โดย FED ได้ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 5.2% จากเดิมที่ 4.3% สำหรับปีหน้าเงินเฟ้อปรับลดลงจากคาดการณ์เดิมเล็กน้อย จาก 2.7% ไปอยู่ที่ 2.6% ทั้งนี้ ยังได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในปีนี้ลงจาก 2.8% เป็น 1.7% และปีหน้าจาก 2.2% เป็น 1.7% ด้านตลาดแรงงานได้ปรับเพิ่มประมาณการอัตราการว่างงานจาก 3.5% ในปีนี้ ไปอยู่ที่ 3.7% และจะปรับขึ้นไปอยู่ที่ 3.9% ในปีหน้า

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 4-3 ให้คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีกว่าคาดจากทั้งอุปสงค์ภายในประเทศ และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากเงินเฟ้อเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ กนง. เตรียมพิจารณาสิ้นสุดนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย และเตรียมพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะถัดไป ธปท. คาดเศรษฐกิจไทยในปี 2022 และ 2023 ขยายตัวที่ 3.3% และ 4.2% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.2% และ 4.4% ตามลำดับ เนื่องจากการบริโภคเอกชนฟื้นตัวดีกว่าคาด โดยเฉพาะในหมวดบริการที่ได้รับผลบวกจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ภายหลังการเปิดประเทศ โดย ธปท. คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 6 ล้านคน จาก 5.6 ล้านคน ในขณะที่ประเมินว่าความเสี่ยงจากโควิด-19 และสงครามรัสเซียยูเครนมีผลต่อเศรษฐกิจไทยในวงจำกัด ด้านเงินเฟ้อได้คาดการณ์ในปี 2022 และ 2023 ที่ 6.2% และ 2.5% จาก 4.9% และ 1.7% ตามลำดับ เนื่องจากปรับเพิ่มคาดการณ์ราคาพลังงานโลกและเห็นการส่งผ่านต้นทุนไปในวงกว้างมากขึ้น โดยเงินเฟ้อมีความเสี่ยงจะเพิ่มสูงขึ้นจากแรงกดดันด้านอุปทานเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ธปท. ประเมินว่า เงินเฟ้อในระยะปานกลางไม่ได้ปรับเพิ่มสูงขึ้นมาก และจะติดตามเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิดต่อไป

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนมีความผันผวนและปรับขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะในพันธบัตรระยะยาวที่ในช่วงกลางเดือนได้ปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบปี หลังจากทราบผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ทำให้นักวิเคราะห์และนักลงทุนสถาบันต่างปรับเปลี่ยนมุมมองว่า กนง. มีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยเลยในปีนี้จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ว่าเป็นปีหน้า และอีกส่วนหนึ่งเป็นการปรับขึ้นตามทิศทางเดียวกับตลาดตราสารหนี้สหรัฐ อย่างไรก็ตามในช่วงสิ้นเดือนอัตราผลตอบแทนปรับลดลงมาบ้าง เนื่องจากเริ่มกังวลถึงสภาวะเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอหรือหดตัวจากภาวะเงินเฟ้อสูง ในขณะที่อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะสั้นที่อายุน้อยกว่า 3 เดือนในเดือนนี้กลับปรับลดลง โดยผลการประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยอายุ 3 เดือนในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนออกมาเฉลี่ยเพียง 0.2967% ส่วนทิศทางการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้เป็นการขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 4.5 พันล้านบาทและขายสุทธิพันธบัตรระยะยาว 9.3 พันล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว คงเหลือการถือครองลดลง 4.15 หมื่นล้านบาท ยอดการถือรองพันธบัตรรัฐบาลไทย ณ สิ้นเดือนมิถุนายนอยู่ที่ประมาณ 1.03 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนประมาณ 6.8 พันล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ