ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – สิงหาคม 2565

ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติ 8-1 ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 50bps สู่ระดับ 1.75% ซึ่งนับเป็นการปรับขึ้นในอัตรามากที่สุดในรอบ 27 ปี ตามการคาดการณ์ของตลาด หลังอัตราเงินเฟ้อล่าสุดในเดือน มิ.ย. พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปีที่ระดับ 9.4% YoY โดย BOE มองเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นต่อทำจุดสูงสุดที่ระดับกว่า 13% ในไตรมาส 4 เพิ่มขึ้นจากที่คาดไว้เมื่อเดือน พ.ค. จากการปรับขึ้นราคาพลังงานของ Ofgem ซึ่งประเมินจะปรับขึ้นราว 75% ในเดือน ต.ค. นี้ ท่ามกลางราคาก๊าซที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (คาดจะทำให้รายจ่ายด้านพลังงานของครัวเรือนเพิ่มขึ้นจาก GBP2,000/ปี เป็น GBP3,500/ปี) ทั้งนี้ BOE คาดเงินเฟ้อจะยังขยายตัวในระดับสูงต่อในปีหน้าอยู่ที่ 9.5% ในไตรมาส 3/2023 ก่อนที่จะชะลอลงอย่างรวดเร็วกลับเข้าสู่เป้า 2% หลังจากนั้น ด้านเศรษฐกิจ BOE คาดว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะ Recession นับตั้งแต่ไตรมาส 4 โดยคาด GDP จะหดตัวต่อเนื่องยาวนาน 5 ไตรมาส และรุนแรงเทียบเท่ากับช่วงปี 1990s ซึ่งรุนแรงกว่าที่ได้ประเมินในเดือน พ.ค. โดยคาดเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัว 3.25% (เดิมคาด 3.75%) และจะหดตัว -1.25% ในปี 2023F (เดิมคาด -0.25%) และ -0.25% ในปี 2024F (เดิมคาด 0.25%) นอกจากนี้ BOE ได้ออกรายละเอียดแผนการขายสินทรัพย์ที่เข้าซื้อในมาตรการ QE หรือ Active QT ซึ่งคาดจะเริ่มต้นในเดือน ก.ย. โดยระบุจะขายไตรมาสละ GBP10bn (ปัจจุบันขนาดงบดุลอยู่ที่ GBP843.8bn)

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (MPC) มีมติ 6-1 ให้ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 25bps เป็น 0.75% เป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี 8 เดือน ตามคาด โดยคณะกรรมการ 1 เสียงเห็นควรให้ขึ้นดอกเบี้ย 50bps เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวชัดเจนขึ้น และคาดจะกลับสู่ระดับก่อนเกิดโควิดภายในปีนี้ ในขณะที่เงินเฟ้อมีแนวโน้มจะอยู่ในระดับสูงอีกระยะหนึ่ง ทำให้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษมีความจำเป็นลดลง ทางด้านเศรษฐกิจ ธปท. ประเมินการท่องเที่ยวฟื้นดีกว่าคาดเป็นแรงหนุนสำคัญ โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ตามการผ่อนคลายการเดินทางระหว่างประเทศ ในขณะที่การบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตลาดแรงงานและรายได้ครัวเรือนดีขึ้น นอกจากนี้ ธปท. ประเมินว่าความเสี่ยงในระยะถัดไปต่อเศรษฐกิจไทยมีจำกัด แม้เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงชะลอตัว โดย ธปท. คาดการณ์เงินเฟ้อในปีนี้อยู่ที่ระดับสูงใกล้เคียงประมาณการเดิมที่ 6.5% และคาดว่าเงินเฟ้อจะอยู่สูงอีกสักระยะก่อนปรับลดลงเข้าสู่เป้าหมายในปีหน้า เนื่องจากประเมินว่าแรงกดดันจากภาวะอุปทานขาดแคลนจะผ่อนคลายลง ในขณะที่เงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นมากในระยะที่ผ่านมา

ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) กล่าวย้ำในการประชุมประจำปี Jackson Hole Symposium เมื่อวันที่ 26 ส.ค. ที่ผ่านมา ถึงความจำเป็นในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องและการคงดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับสูงหรือระดับที่จำกัดการเติบโตของเศรษฐกิจเป็นระยะเวลาหนึ่งเพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดยนาย Powell ระบุว่าการชะลอเงินเฟ้อให้กลับเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% เป็นสิ่งที่ FED ให้ความสนใจมากที่สุดในขณะนี้ แม้จะส่งผลกระทบด้านลบต่อผู้บริโภคและภาคธุรกิจก็ตาม และย้ำเช่นเดียวกับในแถลงการณ์หลังการประชุม FED ครั้งล่าสุด (26-27 ก.ค.) ว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าปกติ (75bps เช่นเดียวกับการประชุมเดือน มิ.ย. และ ก.ค.) อาจมีความเหมาะสมในการประชุมเดือน ก.ย. ด้วย แต่ก็ขึ้นอยู่กับตัวเลขเศรษฐกิจที่จะรายงานออกมาและแนวโน้มเศรษฐกิจ ณ ขณะนั้น รวมถึงการย้ำว่า FED จะลดความรวดเร็วในการปรับขึ้นดอกเบี้ยเมื่อถึงจุดหนึ่ง นาย Powell กล่าวว่าการฟื้นคืนเสถียรภาพของราคาต้องใช้เวลาในการทำให้อุปสงค์และอุปทานมีความสมดุลมากขึ้น โดยการกดเงินเฟ้อมีความจำเป็นที่จะต้องอาศัยเศรษฐกิจที่โตต่ำกว่าระดับศักยภาพเป็นระยะเวลาสักพัก ในส่วนของเงินเฟ้อเดือน ก.ค. ที่ออกมาชะลอลง (เงินเฟ้อ PCE เดือน ก.ค. ชะลอลงเป็น 6.3% YoY จาก 6.8% เดือนก่อน และต่ำกว่าตลาดคาดที่ 6.4%) เป็นสัญญาณที่ดี แต่ตัวเลขเพียงเดือนเดียวคงไม่เพียงพอที่จะทำให้คณะกรรมการ FED มั่นใจว่าเงินเฟ้อกำลังชะลอลง และกล่าวเสริมว่า FED กำลังดำเนินนโยบายการเงินอย่างมุ่งมั่นไปสู่ระดับเข้มงวดเพียงพอต่อการนำเงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมาย 2% โดยแนวโน้มของดอกเบี้ย (Dot plot) ล่าสุดเดือน มิ.ย. ชี้ FED มองดอกเบี้ยจะแตะระดับ 3.25-3.50% ณ สิ้นปีนี้ และ 3.50-3.75% ณ สิ้นปี 2023 (vs. 2.25-2.50% ในปัจจุบัน)

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2-7 ปีปรับลดลงในขณะที่รุ่นอายุอื่น ๆ เปลี่ยนแปลงไม่มากนัก ซึ่งต่างจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าตลอดทั้งเส้น ผลจาก FED ขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในการประชุมปลายเดือนก่อนหน้า และตอกย้ำด้วยการให้สัมภาษณ์ของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ถึงความจำเป็นในการปรับขึ้นดอกเบี้ยและคงให้อยู่ในระดับสูง ส่วนทิศทางการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้เป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 12.2 พันล้านบาทและซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 8.7 พันล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว คงเหลือการถือครองเพิ่มขึ้น 3.2 พันล้านบาท ยอดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทย ณ สิ้นเดือนสิงหาคมอยู่ที่ประมาณ 1.02 ล้านล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อนประมาณ 3.2 พันล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ