ตลาดหุ้นไทยเดือนกันยายน SET Index ปิดที่ระดับ 1,589.51 จุด ลดลง 3.02% จากเดือนก่อน แม้จะมีปัจจัยสนับสนุนภายในประเทศจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว แต่ความกังวลเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกาที่มากกว่าคาด กลายเป็นปัจจัยกดดันสำคัญที่ทำให้ SET Index ปรับตัวลดลงในเดือนนี้
สำหรับสถานการณ์ในต่างประเทศนั้น ล่าสุดสหรัฐอเมริกาได้ประกาศตัวเลขเงินเฟ้อที่ 8.3% แม้ว่าจะน้อยกว่าเดือนก่อนที่ 8.5% แต่ยังเป็นตัวเลขที่มากกว่าตลาดที่ 8.1% นอกจากนี้ ตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐานยังไม่ปรับลดลงและคงระดับอยู่ที่ 6.3% โดยมีสาเหตุมาจากตลาดแรงงานที่ยังแข็งแกร่งประกอบกับค่าเช่าบ้านที่ปรับตัวขึ้นตามราคาที่อยู่อาศัย จึงสร้างความกังวลว่า FED จะยังคงนโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่รุนแรงเพื่อสร้างเสถียรภาพให้เศรษฐกิจ แม้จะต้องแลกมาด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงก็ตาม โดยการประชุมล่าสุด FED ยังคงประกาศการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ 75 bps และจากสถานการณ์ข้างต้น ทำให้นักลงทุนคาดว่ายังมีโอกาสที่ FED จะเพิ่มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ 75 bps ได้อีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน โดยรายงาน Dot Plot ชี้ว่า FED คาดอัตราดอกเบี้ยปี 2022 และ 2023 จะอยู่ที่ 4.375% และ 4.625% ตามลำดับ ทิศทางดังกล่าวสร้างความกังวลต่อโอกาสในการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย นำไปสู่ความผันผวนต่อตลาดพันธบัตรและสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก โดยอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐอเมริกาได้ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐได้เข้าสู่ระดับ 3.57% สูงที่สุดในรอบ 12 ปี ผลักดันให้เงินดอลล่าสหรัฐฯ แข็งค่าจนกดค่าเงินบาททะลุ 38 บาท
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยรัฐบาลไทยได้ตั้งเป้าหมายการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2565 ที่ 10 ล้านคนหรือประมาณ 25% ของจำนวนนักท่องเที่ยวในระดับก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ในปี 2019 ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ยังคงอยู่ในทิศทางสนับสนุนการฟื้นตัว ทางธนาคารแห่งประเทศไทยปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก 25 bps โดยให้ความสำคัญกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากกว่าการพยุงค่าเงินบาท โดยธนาคารแห่งประเทศไทยให้เหตุผลว่าสาเหตุการอ่อนค่าของเงินบาทนั้นเกิดจากการแข็งค่าผิดปกติของเงินดอลล่าสหรัฐฯ โดยจะสังเกตได้จากการอ่อนค่าของเงินเกือบทุกสกุล ทำให้การขึ้นดอกเบี้ยตาม FED อาจจะไม่ได้ช่วยบรรเทาปัญหาเงินบาทอ่อนลงมากนัก ในทางกลับกันเศรษฐกิจประเทศไทยยังอยู่ในช่วงการฟื้นตัว การขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากเกินไปอาจกลายเป็นการสร้างภาระให้แทน ส่วนในเรื่องความกังวลว่าค่าเงินบาทอ่อนค่านั้นจะส่งผลกระทบทางอ้อมต่อการนำเข้าที่จะต้องซื้อสินค้าจากต่างประเทศในราคาที่สูงขึ้น ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ให้เหตุผลว่าการส่งผ่านต้นทุนการนำเข้าสู่ผู้บริโภคนั้นอยู่ในระดับที่จำกัด นอกจากนี้ ประเทศจีนที่เป็นผู้ส่งออกสินค้าหลักมายังประเทศไทยก็มีค่าเงินที่อ่อนค่าใกล้เคียงกับประเทศไทย ทำให้ผลกระทบในส่วนนี้ยังคงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ จากปัจจัยเฉพาะตัวของประเทศไทยข้างต้น ส่งผลให้ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลงที่ 3.02% น้อยกว่าตลาดหุ้นในประเทศอื่น ๆ
สรุปในเดือนกันยายน หุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุด คือ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 17.1% กลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ 6.4% และกลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง 4.1% ในขณะที่กลุ่มที่ให้ผลตอบแทนเป็นลบมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มธุรกิจการเกษตร -11.6% กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -9.5% และกลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ -6.1% โดยนักลงทุนต่างชาติพลิกกลับมาขายที่ 2.4 หมื่นล้านบาท หลังจากซื้อสุทธิที่ 5.7 หมื่นล้านบาทในเดือนก่อน นักลงทุนทั่วไปภายในประเทศซื้อสุทธิ 2.6 หมื่นล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 0.3 หมื่นล้านบาท และนักลงทุนสถาบันภายในประเทศขายสุทธิ 0.5 หมื่นล้านบาท