ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – ธันวาคม 2565

FED มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ย 50bps ตามคาด เพื่อทำให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% ให้ได้ พร้อมดำเนินการลดงบดุลต่อเนื่องตามแผนเดิม ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 4.25%-4.50% สูงสุดในรอบ 15 ปี และยังคงประเมินการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเหมาะสมสำหรับการทำให้นโยบายการเงินตึงตัวพอที่จะทำให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้า 2% ทั้งนี้ประเมินว่าเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงจากภาวะความไม่สมดุลระหว่างภาคอุปสงค์และอุปทาน จากการระบาดของโควิด ราคาอาหารและพลังงานที่อยู่ในระดับสูง และความกดดันจากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างทั่วถึงมากขึ้น โดยสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนเพิ่มความกดดันให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นและกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก โดย FED คาดการณ์เงินเฟ้อปีหน้าปรับขึ้นจาก 2.8% ไปอยู่ที่ 3.1% ปัจจุบันมองว่านโยบายดอกเบี้ยยังไม่ตึงตัวพอ และจะทำต่อจนกว่าจะสำเร็จ โดยค่ากลาง dot plot ของสมาชิกเฟด ปรับมุมมองอัตราดอกเบี้ยปีหน้าเพิ่มขึ้นจาก 4.6% ในการประชุมเดือนกันยายนไปอยู่ที่ 5.1% โดยมีสมาชิก FED 7 คนจาก 19 คน ที่มีมุมมองว่าอัตราดอกเบี้ยควรขึ้นสูงกว่า 5.25% นอกจากนี้ ค่ากลาง dot plot ของอัตราดอกเบี้ยปี 2024 ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 4.1% จาก 3.9% ทางด้านเศรษฐกิจ ประเมินว่าปีนี้ชะลอลงมากจากปีที่แล้ว โดยถึงแม้ GDP จะขยายตัวในไตรมาสที่สาม แต่ระดับ GDP แทบไม่ต่างจากช่วงต้นปี เครื่องชี้เศรษฐกิจปัจจุบันแสดงถึงการขยายตัวได้บ้างของการใช้จ่ายและการผลิต กิจกรรมของตลาดบ้านปรับลดลงมาก จากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อซื้อบ้านที่ปรับขึ้นสูงมาก นอกจากนี้ดอกเบี้ยที่สูงและการชะลอของเศรษฐกิจ กระทบต่อภาคการลงทุน อย่างไรก็ดี ภาพรวมตลาดแรงงานยังคงตึงตัว การจ้างงานยังคงดี และอัตราการว่างงานจะยังอยู่ในระดับต่ำ FED ได้ปรับคาดการณ์ GDP ปี 2022 ขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 0.5% จาก 0.2% และปรับคาดการณ์ GDP ปี 2023 ลงไปอยู่ที่ 0.5% จาก 1.2% รวมถึงปรับคาดการณ์อัตราการว่างงานปีหน้าขึ้นจาก 4.4% ไปอยู่ที่ 4.6%

BOJ คงดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง แต่ปรับกรอบการเข้าซื้อพันธบัตร ด้วยมติเอกฉันท์ให้ คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ -0.1% คงควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (Yield curve control) อายุ 10 ปีที่ใกล้ 0% และปรับการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ไม่จำกัด ที่ -0.5% ถึง 0.5% จากเดิมที่ -0.25% ถึง 0.25% รวมถึงคงการซื้อ ETFs ไม่เกิน 12 ล้านล้านเยนและ J-REITs ไม่เกิน 1.8 แสนล้านเยนต่อปี และซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชนในปริมาณใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 รวมทั้งซื้อตราสารหนี้เอกชนระยะสั้น (Commercial paper) 2 ล้านล้านเยน และหุ้นกู้เอกชน (Corporate bond) 3 ล้านล้านเยน BOJ แสดงท่าทีเริ่มเปลี่ยนผ่านนโยบายการเงิน โดยการปรับกรอบการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี กว้างขึ้น แม้จะยังระบุอัดฉีดเงินเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจและเสถียรภาพในตลาดการเงินอย่างต่อเนื่อง จนกว่าเงินเฟ้อจะเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% อย่างมีเสถียรภาพ และพร้อมดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติมหากจำเป็น โดยในระยะข้างหน้าประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นและระยะยาวจะยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงหรือต่ำกว่าปัจจุบัน

ECB ปรับขึ้นดอกเบี้ย 50bps ตามตลาดคาด พร้อมทั้งส่งสัญญาณที่ชัดเจนในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงได้ช้ากว่าที่ประมาณการไว้เดิม ส่งผลให้ Deposit Facility Rate ขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2% พร้อมทั้งส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่าจะยังคงต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อให้มั่นใจว่านโยบายการเงินมีความเข้มงวดเพียงพอที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับมาสู่เป้าหมายในระยะปานกลางที่ 2% ได้ นอกจากนี้จะเริ่มปรับลดขนาดงบดุล ผ่านการลดการถือครองสินทรัพย์ภายใต้มาตรการ APP (Asset Purchase Program) ในเดือน มี.ค. 2023 เป็นต้นไป โดยจะเริ่มต้นปรับลดการถือครองสินทรัพย์เฉลี่ยต่อเดือนราว EUR15bn ในช่วงเดือน มี.ค.-มิ.ย. ขณะที่การลดปริมาณการถือครองสินทรัพย์หลังจากเดือน มิ.ย. นั้นจะมีการพิจารณาเมื่อเวลาผ่านไป อย่างไรก็ดี สำหรับการถือครองสินทรัพย์ภายใต้มาตรการ PEPP (Pandemic Purchase Program) จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ จนกระทั่งผ่านพ้นปี 2024 ไปเป็นอย่างน้อย ด้านตัวเลขเศรษฐกิจ ECB ได้มีการปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อขึ้น โดยคาดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 8.4% ในปี 2022, 6.3% ในปี 2023, 3.4% ในปี 2024 นอกจากนี้ ECB ยังประเมินว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 0.5% ในปี 2023 จากปี 2022 ที่คาดว่าจะขยายตัว 3.4%

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับลดลงทุกช่วงอายุ ประมาณ 4-40bps สวนทางกับตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ ที่อัตราผลตอบแทนส่วนใหญ่ยังคงปรับขึ้นตามการทิศทางการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีในเดือนนี้ ส่วนการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติเดือนธันวาคม เป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 3.3 หมื่นล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 2.2 หมื่นล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว นักลงทุนต่างชาติถือครองเพิ่มขึ้นประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาท โดยสรุปยอดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทย ณ สิ้นเดือนธันวาคมอยู่ที่ประมาณ 1.08 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ