ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – มิถุนายน 2566

ในเดือนนี้ FED มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.00%-5.25% เพื่อให้เวลาในการพิจารณาความเหมาะสมของการเพิ่มการตึงตัวของนโยบายการเงิน ซึ่ง FED จะประเมินการขึ้นดอกเบี้ยในครั้งต่อไปจากผลของการขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ผ่าน ๆ มาที่มีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และตลาดการเงิน โดยค่ากลาง Dot Plot ได้ปรับมุมมองอัตราดอกเบี้ยปีนี้เพิ่มขึ้น จาก 5.1% ในการประชุมเดือนมีนาคม ไปอยู่ที่ 5.6% ซึ่งมีกรรมการ 12 ท่านจาก 18 ท่านที่มองดอกเบี้ยเท่ากับหรือสูงกว่า 5.5%-5.75% ในปีนี้ แถลงการณ์ของ FED กล่าวว่าระบบธนาคารสหรัฐฯ ยังคงมีความแข็งแกร่ง และมีความยืดหยุ่น ความตึงตัวด้านสินเชื่อของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนมีผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน และเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี ผลกระทบยังมีความไม่แน่นอนที่สูง ด้านเศรษฐกิจประเมินว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง เงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมาย และผลกระทบของดอกเบี้ยที่สูงส่งผลต่อกิจกรรมตลาดบ้านและการลงทุน ด้านตลาดแรงงาน อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ และการจ้างงานยังคงขยายตัวดี โดยมีสัญญาณบ่งชี้ว่าอุปสงค์และอุปทานในตลาดแรงงานกำลังกลับสู่สมดุลที่ดีขึ้น อย่างไรก็ดี อุปสงค์ยังคงมากกว่าอุปทานค่อนข้างมาก โดย FED คาดการณ์ปีนี้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นจากที่ประเมินไว้ในเดือนมีนาคมที่ 0.4% มาอยู่ที่ 1% และ อัตราการว่างงานปีนี้ลงจาก 4.5% ไปอยู่ที่ 4.1%

ด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับดอกเบี้ยขึ้น 25Bps ตามการคาด ทำให้อัตราดอกเบี้ย Deposit Rate ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.50% สูงสุดในรอบกว่า 20 ปี ส่วนอัตราดอกเบี้ย Marginal Lending Rate เพิ่มขึ้นเป็น 4.25% และอัตราดอกเบี้ย Main Refinancing Rate เพิ่มขึ้นเป็น 4.00% ท่ามกลางเงินเฟ้อที่แม้จะชะลอลง แต่ก็คาดว่าจะอยู่ในระดับสูงยาวนานเกินไป ประธาน ECB แถลงหลังการประชุมว่า การปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นต่อเนื่องในการประชุมเดือน ก.ค. นั้นมีความเป็นไปได้สูง สำหรับเศรษฐกิจ ECB ได้ปรับเพิ่มประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปขึ้น สำหรับปี 2023-2025 เป็น 5.4%, 3.0% และ 2.2% ตามลำดับ เกินเป้าหมายที่ 2% เล็กน้อย และได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อพื้นฐานขึ้น สำหรับปี 2023-2025 เป็น5.1%, 3.0% และ 2.3% ตามลำดับ ปัจจัยหลักมาจากค่าจ้างแรงงานที่ได้แรงหนุนจากตลาดแรงงานแข็งแกร่ง ด้าน GDP ได้ปรับลดประมาณการปี 2023-2024 ลงเล็กน้อย -0.1ppt เป็น 0.9% และ 1.5% ตามลำดับ โดยหลักจากสภาวะทางการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น รวมถึง GDP ไตรมาสแรกที่ออกมาติดลบ (-0.1% QoQ) และคาดปี 2025 ที่ 1.6% เช่นเดิม ด้านธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติ 7-2 ปรับขึ้นดอกเบี้ย 50bps สู่ระดับ 5.00% สูงสุดในรอบ 15 ปี โดยนับเป็นการปรับดอกเบี้ยขึ้นในอัตรามากสุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. และมากกว่าที่ตลาดคาดว่าจะปรับขึ้นในอัตรา 25bps เท่านั้น แถลงการณ์ได้ระบุเช่นเดียวกับในการประชุมครั้งก่อนว่า หากมีหลักฐานว่าแรงกดดันด้านราคาคงอยู่หรือเพิ่มขึ้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมก็มีความจำเป็น การตัดสินใจปรับดอกเบี้ยขึ้นในครั้งนี้ เป็นผลจากที่อัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ค. ซึ่งรายงานในวันก่อนหน้าการประชุม ออกมาสูงกว่าคาดการณ์ (8.7% YoY เท่าเดือนก่อน เทียบกับที่คาดไว้ 8.4%) โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ที่เร่งตัวขึ้นสวนการคาดการณ์ สู่ระดับสูงสุดในรอบ 31 ปี (7.1% YoY)

ในขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติเอกฉันท์คงนโยบายการเงินผ่อนคลายดังเดิมต่อไป โดยคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ -0.1% สำหรับเงินสำรองส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ (Excess Reserve) เเละคงเป้าหมายอัตราผลตอบเเทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี (Yield Curve Control: YCC) ไว้ที่ประมาณ “0%” เเละเคลื่อนไหวในกรอบ +/-0.5% รวมถึงคงเป้าการเข้าซื้อสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่ประกาศก่อนหน้านี้ แถลงการณ์ระบุ BOJ มองอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะชะลอตัวลงในช่วงกลางของปีงบประมาณ FY2023 จากผลของการส่งผ่านต้นทุนของผู้ผลิตไปสู่ผู้บริโภคที่จะลดลง ก่อนที่จะปรับขึ้นหลังจากนั้น จากแรงหนุนของค่าจ้าง การคาดการณ์เงินเฟ้อ และเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลโดยรวมปรับขึ้น 2-12ps ในขณะที่ตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ อัตราผลตอบแทนปรับขึ้นโดยเฉพาะในช่วงอายุ 1-10ปี เป็นผลมาจากนักลงทุนในตลาดได้ปรับเปลี่ยนมุมมองว่า FED ยังไม่หยุดรอบของการขึ้นดอกเบี้ยนี้ รวมถึงจะยังคงไม่เห็นการเริ่มปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้อีกด้วย แม้ว่าผลการประชุมของ FED ในเดือนนี้จะเป็นการคงระดับอัตราดอกเบี้ยไว้ เพื่อให้เวลาในการพิจารณาความเหมาะสมของการเพิ่มการตึงตัวของนโยบายการเงินที่ผ่านมา สำหรับการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติเดือนนี้ เป็นการขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 9.5 พันล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 2.3 พันล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว นักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรลดลงประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท โดยสรุปยอดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทย ณ สิ้นเดือนมิถุนายนอยู่ที่ประมาณ 1.01 ล้านล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อนประมาณ 7 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ