ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – กุมภาพันธ์ 2567

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ต่อเนื่องเป็นครั้งที่สอง ตามที่ตลาดคาดการณ์ โดยมองระดับดอกเบี้ยในปัจจุบันยังคงมีความเหมาะสมกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการขยายตัวที่ยั่งยืนในระยะยาว และการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าจะขึ้นอยู่กับพัฒนาการของแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี มติออกมาไม่เป็นเอกฉันท์ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบเก้าการประชุมที่ผ่านมานับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2022 โดยมีคณะกรรมการ 2 ท่านเห็นควรให้ลดดอกเบี้ยลง -0.25% ธปท. มองเศรษฐกิจปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวลดลงอยู่ในช่วง 2.50-3.00% จากระดับ 3.2% ที่เคยประเมินไว้เดิมเมื่อเดือนพฤศจิกายน (ไม่รวมมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต) ส่วนหนึ่งจากเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ของปีก่อนที่มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ได้คาดไว้ท่ามกลาง (1) อุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวช้ากระทบส่งออกและการผลิต (2) สินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง (3) แม้จำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาใกล้เคียงกับที่ได้คาดการณ์ แต่การใช้จ่ายต่อหัวลดน้อยลงกว่าในอดีต และ (4) การลงทุนภาครัฐลดลงจากการออกงบประมาณประจำปีล่าช้า
การบริโภคเอกชนและการท่องเที่ยวจะยังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักในปีนี้โดย ธปท. ยังคงคาดจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 34.5 ล้านคน ขณะที่ส่งออกและการผลิตมีแนวโน้มขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยปัญหาเชิงโครงสร้างโดยเฉพาะด้านความสามารถในการแข่งขันของประเทศจะเป็นอุปสรรคมากขึ้น หากไม่มีการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่ง ธปท. ระบุว่านโยบายการเงินมีความสามารถจำกัดในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง ด้านเงินเฟ้อ กนง. คาดการณ์ว่ามีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำใกล้เคียง 1% ในปีนี้ ก่อนที่จะทยอยเพิ่มขึ้นในปีถัดไป โดยมีแนวโน้มเข้าสู่กรอบเป้าหมาย 1-3% ได้ช้ากว่าที่ประเมินไว้เดิม ทั้งนี้ ธปท. ระบุเงินเฟ้อที่ต่ำและติดลบต่อเนื่องมาสี่เดือนไม่ได้สะท้อนอุปสงค์ที่อ่อนแอและไม่ใช่การเข้าสู่ภาวะเงินฝืด โดยราคาสินค้าไม่ได้ปรับลดลงเป็นวงกว้าง (มีเพียง 25% ของตะกร้าเงินเฟ้อเท่านั้น) แต่สะท้อนปัจจัยเฉพาะในบางกลุ่มสินค้าและมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล โดยหากหักมาตรการลดค่าครองชีพออกไป เงินเฟ้อจะยังคงเป็นบวก
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานจีดีพีไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2023 ขยายตัว 1.7%YoY (-0.6%QoQ SA) ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 2.6%YoY จากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 1.5%YoY เนื่องจากการใช้จ่ายภาครัฐหดตัว -3.0% กระทบภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง แม้การส่งออกสินค้าและการบริการขยายตัว โดยรวมปี 2023 จีดีพีไทยขยายตัว 1.9%YoY น้อยกว่าคาดการณ์ที่ 2.2%YoY สศช. คาดการณ์จีดีพีไทยปี 2024 ที่ 2.2-3.2% ลดลงจากเดิมที่ 2.7-3.7% โดยคาดการณ์การส่งออกขยายตัว 2.9% การใช้จ่ายและการลงทุนเอกชนขยายตัวดีต่อเนื่องที่ 3.0% และ 3.5% ตามลำดับ จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้าไทย 35 ล้านคนในปีนี้ พร้อมคาดการณ์เงินเฟ้อที่ 0.9-1.9% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.4% ต่อจีดีพี คิดเป็น 7.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับลดลงตลอดทั้งเส้นจากเดือนก่อนหน้า โดยพันธบัตรระยะสั้นอายุไม่เกิน 1 ปีอัตราผลตอบแทนลดลง 1-11Bps ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุมากกว่า 1 ปี ลดลง 10-19Bps หลังผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินออกมาด้วยมติไม่เป็นเอกฉันท์ สะท้อนโอกาสการลดดอกเบี้ยภายในปีนี้ที่มีมากขึ้น นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในระดับต่ำ ท่ามกลางหลายปัจจัยเสี่ยงทั้งจากภายใน เช่น ปัญหาเชิงโครงสร้าง ความไม่แน่นอนทางการเมือง และความหวังมาตรการดิจิทัลวอลเล็ตที่ริบหรี่ และปัจจัยภายนอก เช่น อุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวช้าโดยเฉพาะจีน ซึ่งไทยพึ่งพาอย่างมากทั้งในแง่การส่งออกและการท่องเที่ยว และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ด้านการซื้อขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้ยังคงเป็นการขายสุทธิ โดยแบ่งเป็นขายพันธบัตรระยะสั้น 1.1 หมื่นล้านบาท ขายสุทธิพันธบัตรระยะยาว 5 พันล้านบาท และมีพันธบัตรครบกำหนด 2.8 พันล้านบาท คงเหลือนักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรประมาณ 9.1 แสนล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 2023 ประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ