ภาวะตลาดหุ้นต่างประเทศ
23 พฤษภาคม - 27 พฤษภาคม 2559
สหรัฐฯ
ตลาดหุ้นสหรัฐฯในอาทิตย์ที่สี่ของเดือนพฤษภาคมได้ปรับตัวขึ้น โดยดัชนี DJIA, S&P 500 และ NASDAQ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.17, 2.49 และ 3.52 ตามลำดับ ตลาดปรับตัวสูงขึ้นโดยได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น โดยราคาน้ำมัน WTI ในอาทิตย์ที่ผ่านมาได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3
ในวันศุกร์ที่ผ่านมานางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐได้กล่าวว่าธนาคารกลางพร้อมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหากเศรษฐกิจสหรัฐฯยังดีต่อเนื่อง ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2016 GDP ของสหรัฐฯเติบโตร้อยละ 0.8 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และอัตราการว่างงาน ณ ปลายเดือนเมษายนอยู่ที่ระดับร้อยละ 5 อีกทั้งนักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ว่า GDP ในไตรมาสที่ 2 ของสหรัฐฯ จะเติบโตร้อยละ 2.5 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งนี้ ผลการสำรวจของนักลงทุนมองว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ มีโอกาสถึงร้อยละ 30 ที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนมิถุนายน และมีโอกาสถึงร้อยละ 64 ที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนกรกฎาคม เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ อยากจะรอผลประชามติของสหราชอาณาจักรในวันที่ 23 มิถุนายนนี้ ในการที่จะตัดสินว่าสหราชอาณาจักรจะยังคงเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปต่อหรือไม่ เรามองว่าการที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้ปรับตัวขึ้นทั้งๆ ที่นักลงทุนมองเห็นโอกาสสูงที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายภายในไม่กี่เดือนข้างหน้าแสดงให้เห็นว่าราคาหุ้น ณ ปัจจุบันได้คำนึงถึงการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนี้แล้ว
ยุโรป
ตลาดหุ้นยุโรปในอาทิตย์ที่สี่ของเดือนพฤษภาคมได้ปรับตัวขึ้นกันถ้วนหน้าเช่นกัน โดยดัชนี EURO STOXX และ DAX ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.96 และ 4.51 ตามลำดับ ในวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปได้อนุมัติวงเงินกู้ให้กับประเทศกรีซเพิ่มอีกประมาณ 10.3 หมื่นล้านยูโร
ญี่ปุ่น
ตลาดหุ้นญี่ปุ่นในอาทิตย์ที่สี่ของเดือนพฤษภาคมปรับตัวขึ้นเล็กน้อย โดยดัชนี TOPIX และ NIKKEI ได้ขยับขึ้นร้อยละ 0.84 และ 1.08 ตามลำดับ ทั้งนี้ ดัชนีผู้บริโภค (CPI) ของญี่ปุ่นได้ปรับตัวลงร้อยละ 0.3 ในเดือนเมษายนเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ในอาทิตย์ที่ผ่านมาได้มีข่าวว่าทางการญี่ปุ่นมีโอกาสเลื่อนการขึ้นภาษีจากการขายจากเดือนเมษายนปี 2017 ออกไปเป็นเดือนตุลาคมปี 2019 โดยในวันที่ 26 – 27 พฤษภาคมที่ผ่านมาประเทศญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมกลุ่มประเทศ G7 โดยในที่ประชุม นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้เตือนผู้นำทั้งหลายถึงความเสี่ยงที่โลกจะประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจที่ใหญ่เท่ากับวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2008 ที่เริ่มขึ้นในสหรัฐอเมริกาและลามไปทั่วโลก