ภาวะตลาดหุ้นต่างประเทศ

4 กรกฎาคม – 8 กรกฎาคม 2559

สหรัฐ

ตลาดหุ้นสหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนี DJIA S&P 500 และ NASDAQ ขยับขึ้นร้อยละ 1.16 ร้อยละ 1.33 และร้อยละ 1.96 จากสัปดาห์ก่อนหน้าตามลำดับ ดัชนี S&P 500 และ DJIA นั้นได้ปิดตัวในระดับที่สูงที่สุดของปีในวันศุกร์ที่ผ่านมาที่ 2,129 จุดและ 18,146 จุดตามลำดับ ราคาหุ้นนั้นได้รับแรงหนุนจากการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐในเดือนมิถุนายนที่ได้ปรับตัวขึ้น 287,000 ตำแหน่ง ซึ่งสูงกว่าการคาดการเฉลี่ยของนักวิเคราะห์ที่ 175,000 ตำแหน่ง นอกจากนี้ ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐได้รับแรงหนุนจากการที่นักลงทุนส่วนใหญ่ได้คาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐนั้นจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพียงหนึ่งครั้งในปีนี้

ยุโรป

ตลาดหุ้นในทวีปยุโรปในอาทิตย์ที่ผ่านมานั้นส่วนใหญ่ปรับตัวในวงแคบหรือติดลบ โดยดัชนี EUROSTOXX และDAX ได้ปรับลดลงร้อยละ 1.46 และ ร้อยละ 1.88 จากสัปดาห์ก่อนหน้าตามลำดับ ในขณะที่ดัชนี FTSE 100 ได้ปรับตัวขึ้นร้อยละ 0.21 จากสัปดาห์ก่อนหน้า โดยนักลงทุนยังทยอยหันการลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ (safe-haven assets) ซึ่งเห็นได้จากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ อีกทั้งตลาดหุ้นในทวีปยุโรปยังได้รับปัจจัยในเชิงลบจากวิกฤติทางการเงินของประเทศอิตาลีด้วย

ญี่ปุ่น

ดัชนีตลาดหุ้นของญี่ปุ่นในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ขยับตัวลงเช่นกัน โดยดัชนี TOPIX และ NIKKEI 225 ได้ปรับตัวลงร้อยละ 3.55 และร้อยละ 3.67 จากสัปดาห์ก่อนหน้าตามลำดับ โดยนักลงทุนได้หันไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ ทำให้อัตราดอกเบี้ยนั้นปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเห็นได้จากดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล 20 ปีของญี่ปุ่นที่ได้ติดลบในวันพุธที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม พรรค LDP ของนายชินโซ อาเบะ และพรรคพันธมิตรนั้นได้ชนะการเลือกตั้งวุฒิสภาของญี่ปุ่นในวันอาทิตย์ที่ผ่านมาโดยกวาดที่นั่งไปกว่า 2 ใน 3 ของสภา ซึ่งน่าจะเอื้อต่อการผ่านมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล

global-4-8jul