รายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐประจำเดือนพ.ค. มีเนื้อหาโดยรวมไม่ต่างจากที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยระบุถึงแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปหากเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญคือการขยายตัวของ GDP ในไตรมาสแรก เพิ่มขึ้น 1.2% ซึ่งสูงกว่าตัวเลขประมาณการในครั้งแรก สภาวะตลาดโดยรวมยังคงกังวลว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจไม่สามารถผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้สำเร็จ เนื่องจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในสหรัฐฯ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จึงเคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำสุดของปี ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี (10-Year US Treasury) ปรับลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 2.2465% จากสิ้นสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 2.2346%
ทางด้านผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยครั้งที่ 3 ของปี มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี โดยประเมินว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชัดเจนมากขึ้น แม้ว่ายังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนจากปัจจัยด้านต่างประเทศ ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ จึงเห็นว่านโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อไป และพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ
ส่วนตลาดตราสารหนี้ไทยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนปรับลดลงในรุ่น 5-10 ปี ส่วนหนึ่งเกิดจากการแทรกแซงของธนาคารแห่งประเทศไทยที่เข้ามาซื้อพันธบัตรจากตลาดรองในรุ่นอายุ 5-12 ปี โดยรับซื้อไปจำนวน 7.81 พันล้านบาทจากจำนวนเสนอขาย 15.12 พันล้านบาท และการเข้ามาซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในรอบสัปดาห์นี้จำนวน 14.18 พันล้านบาท โดยเป็นพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาวประมาณ 3.18 พันล้านบาทและ 11 พันล้านบาท ตามลำดับ