ตลาดต่างประเทศในรอบสัปดาห์นี้ ทางด้านสหรัฐฯ ตัวเลขเศรษฐกิจส่วนใหญ่จะออกมาดีและยังสนับสนุนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยและลดขนาดงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในขณะที่ทางฝั่งยุโรป ดัชนีราคาผู้บริโภคล่าสุดของเยอรมนีปรับตัวลงต่ำกว่าระดับเป้าหมายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ระดับใกล้ 2% ซึ่งจะช่วยคลายแรงกดดันต่อ ECB ในการลดการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากที่นายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป ยังส่งสัญญาณกระตุ้นเศรษฐกิจยูโรโซนต่อไป
ทางด้านตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของไทย กระทรวงพาณิชย์รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI) ในเดือนพ.ค. หดตัวลง 0.04% (yoy) จากที่ขยายตัว 0.38% ในเดือนเม.ย. อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.15% (mom) ส่งผลให้ Headline CPI เฉลี่ย 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.81% ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมราคาสินค้าในหมวดอาหารสดและพลังงาน (Core CPI) ในเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 0.46% (yoy) ต่อเนื่องจากที่เพิ่มขึ้น 0.50% ในเดือนเม.ย. และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.01% (mom) ส่งผลให้ Core CPI เฉลี่ย 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) ขยายตัว 0.58%
ส่วนตลาดตราสารหนี้ไทยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนยังปรับลดลงต่อเนื่อง ตามทิศทางตลาดตราสารหนี้ต่างประเทศ โดย 10-Year US Treasury Yield ในวันศุกร์ปรับลดลงมาต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 2.25% มาอยู่ที่ 2.16% สำหรับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยโดยเฉพาะในรุ่น 3 ปีขึ้นไปปรับลดลงมา 0.01-0.05% ส่วนมูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติ ขายสุทธิพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นประมาณ 7.14 พันล้านบาท และซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาวประมาณ 5.25 พันล้านบาท