จากรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐล่าสุด เปิดเผยว่ากรรมการบางท่านได้แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมาย แม้อัตราการว่างงานจะปรับลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 17 ปี โดยตัวเลขการใช้จ่ายส่วนบุคคลที่บ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อนั้นเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.6 ในเดือนกันยายน ซึ่งยังต่ำกว่าเป้าหมายของ FED ที่ร้อยละ 2 ดังนั้นจึงเห็นว่า FED ควรดำเนินนโยบายคุมเข้มทางการเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทางด้านตัวเลขเศรษฐกิจของไทยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 4.3 เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.8 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 18 ไตรมาส ในด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการส่งออกสินค้าและการขยายตัวต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐบาล และการลงทุนรวม นอกจากนี้ สศช. ยังคาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2560 จะขยายตัวร้อยละ 3.9 จากเดิมที่คาดไว้ที่ร้อยละ 3.7 และคาดการณ์ GDP ในปี 2561 ว่าจะเติบโตได้ร้อยละ 3.6-4.6
ทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย ในรอบสัปดาห์นี้นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิรวม 3.36 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการซื้อพันธบัตรอายุไม่เกิน 1 ปี แบ่งเป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 3.47 หมื่นล้านบาทและขายสุทธิพันธบัตรระยะยาว 1.09 พันล้านบาท อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับขึ้นมาบ้าง เนื่องจากในสัปดาห์หน้าจะมีการทำธุรกรรม Bond Switching ทำให้บางสถาบันการเงินมีการปรับสัดส่วนการถือครองพันธบัตรเพื่อรองรับธุรกรรมดังกล่าว ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นในบางรุ่นเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยจากการประมูลตลาดแรกรุ่นอายุ 14 วัน 3 เดือนและ 6 เดือนอยู่ที่ 1.2075%, 1.2640% และ 1.4079% ตามลำดับ