ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – ธันวาคม 2560

ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐรอบสุดท้ายของปีนี้ มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 1.25-1.50% ตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้ และส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องอีก 3 ครั้งในปี 2561 และ 3 ครั้งในปี 2562 ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากที่เคยแสดงความเห็นไว้ก่อนหน้านี้ ในขณะเดียวกันได้ปรับเพิ่มตัวเลขการคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐปี 2560 เป็น 2.5% จากเดิมที่ 2.4% ส่วนในปี 2561, 2562 และ 2563 อยู่ที่ระดับ 2.5%, 2.1% และ 2.0% ตามลำดับ และมองว่าอัตราการขยายตัวในระยะยาวจะอยู่ที่ระดับ 1.8% แม้เฟดจะมีมุมมองว่าเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ต่อเนื่องและอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ แต่อัตราเงินเฟ้อจะยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายต่อไป จึงเป็นไปได้ว่าเฟดอาจไม่มีความจำเป็นต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากนัก ทางด้านปัจจัยสำคัญทางเศรษฐกิจและการเมืองอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐและราคาสินทรัพย์ทางการเงิน เช่น ความวิตกเกี่ยวกับความไม่พอใจของชาวปาเลสไตน์และความไม่สงบในตะวันออกกลาง หลังประธานาธิบดีทรัมป์ยอมรับเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล, การอนุมัติกฎหมายปฏิรูปภาษีโดยการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงสู่ระดับ 21% จากระดับ 35% มีผลบังคับใช้ในปีหน้า, ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนพ.ย. เพิ่มขึ้น 0.4% สอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์, เศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาสที่ 3 ขยายตัว 3.2% จากไตรมาสก่อน ซึ่งน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์มองไว้ที่ 3.3% เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของประเทศสำคัญอื่นในเดือนนี้ ได้แก่ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ตามเดิม และยืนยันการอัดฉีดปริมาณเงินต่อเดือนที่ลดลงเหลือ 3 หมื่นล้านยูโร เริ่มเดือนม.ค.-ก.ย. ปีหน้า สำหรับเศรษฐกิจในปีนี้ปรับเพิ่มการเติบโตเป็น 2.4% จาก 2.2% คงอัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 1.5% และปรับคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2561 จาก 1.8% เป็น 2.3% และอัตราเงินเฟ้อจาก 1.2% เป็น 1.4%, ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง ทางด้านการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย (กนง.) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% โดยมองว่าในอนาคตการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะจากปัจจัยด้านต่างประเทศ และต้องติดตามความเข้มแข็งของการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศรวมถึงพัฒนาการเงินเฟ้อ นอกจากนี้ กนง. เห็นว่าค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวสอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาค

ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นเดือนธันวาคมอยู่ที่ 32.659 บาท (อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารจากธนาคารแห่งประเทศไทย) อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า แต่แข็งค่าขึ้นกว่า 8.8% ในปีนี้ จากพื้นฐานเศรษฐกิจของไทยที่มีแนวโน้มเติบโตดี อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ เงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นมาตลอดทั้งปี ในเดือนนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิพันธบัตรรัฐบาลรวม 17.7 พันล้านบาท แบ่งเป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น 3.7 หมื่นล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว 1.3 พันล้านบาท และหักพันธบัตรที่ครบกำหนดจำนวน 2.06 หมื่นล้านบาท ทางด้านความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นปรับตัวขึ้นเล็กน้อยในช่วงต้นเดือน แต่กลับลดลงมามากในช่วงปลายเดือนจากแรงซื้อนักลงทุนสถาบัน ประกอบกับสภาพตลาดที่ค่อนข้างเงียบเนื่องจากเข้าใกล้วันหยุดยาว ผลการประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยอายุ 14 วัน, 3 เดือน และ 6 เดือนในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ให้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 1.0881%, 1.1301% และ 1.3458% ตามลำดับ ส่วนอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวในระหว่างเดือนมีการปรับตัวขึ้นตามพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐซึ่งในเดือนนี้อัตราผลตอบแทนปรับขึ้น 0.02-0.14% อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพคล่องส่วนเกินในตลาดการเงินและมุมมองของตลาดตราสารหนี้ไทยที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวปรับลดลงมาในช่วงปลายเดือน สรุปการเปลี่ยนแปลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในปี 2560 ได้ดังตาราง ซึ่งพันธบัตรรัฐบาลไทยในช่วงอายุไม่เกิน 20 ปีปรับลดลงมา 0.11-0.42% ต่างจากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่อัตราผลตอบแทนในช่วงอายุไม่เกิน 7 ปีปรับเพิ่มขึ้น 0.03-0.92% อันเป็นผลจากการดำเนินนโยบายการเงินและความคาดหวังต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน

thai-fixed-income-market-dec-2017