ภาวะตลาดหุ้นไทย 5-9 กันยายน 2559

เริ่มต้นสัปดาห์แรกของเดือนกันยายน ตลาดหุ้นได้ปรับตัวลดลงตลอดทั้งสัปดาห์ โดยปรับตัวลดลงจาก 1,521.48 จุด ลงมาถึงระดับ 1,445.28 จุด ซึ่งต่ำสุดในรอบ 2 เดือน SET Index มีการปรับตัวลงแรงตั้งแต่ต้นสัปดาห์ต่อเนื่องจากที่เริ่มปรับตัวลงในวันศุกร์ก่อนหน้า จากปัจจัยข่าวความกังวลภายในประเทศ ทำให้มีแรงขายในลักษณะ Panic Sell ซึ่งแรงขายที่เกิดขึ้นมาจากนักลงทุนภายในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะจากนักลงทุนกลุ่มสถาบันในประเทศ แต่ในส่วนของนักลงทุนต่างชาติมียอด Fund Flow ไหลตลอดเข้ามาเกือบทั้งสัปดาห์ซึ่งบางส่วนมาจากการ Rebalance FTSE Index ที่มีการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากขึ้น นอกจากนี้ แรงขายที่เกิดขึ้นยังเกิดจากแรงขายจากบัญชี Margin ที่ลูกค้าต้องการลดความเสี่ยงอันเนื่องจากราคาหุ้นปรับตัวลง และการถูก Force Sell จากบัญชี Margin นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยังปรับตัวลงตาม Sentiment จากตลาดหุ้นต่างประเทศจากความผิดหวังผลประชุมของ ECB ที่ไม่มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม SET Index ยังได้รับแรงสนับสนุนเล็กน้อยจากการที่ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรและดัชนี ISM Non-Manufacturing Index ที่ออกมาต่ำกว่าคาด อันแสดงถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังไม่แข็งแรงนัก และทำให้ความกังวลเกี่ยวกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Fund Rate ลดลง ในส่วนของหุ้นกลุ่มพลังงานมีการปรับตัวลงสวนทางกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวขึ้น จากข่าวว่ารัสเซียกับ OPEC จะสามารถบรรลุข้อตกลงควบคุมกำลังการผลิตน้ำมันดิบได้

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,445.28 จุด ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา -5.01%

แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในระยะสั้น ตลาดหุ้นยังน่าจะมีความผันผวน เนื่องจากนักลงทุนยังระมัดระวังการลงทุน จากปัจจัยข่าวน่ากังวลในประเทศและการประชุม FOMC ในช่วงวันที่ 20-21 กันยายน ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Fund Rate หรือไม่ อย่างไรก็ตาม การที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงเร็วและแรงในสัปดาห์ที่ผ่านมา อาจจะทำให้เกิด Technical Rebound ในระยะสั้นได้

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย 5 – 9 กันยายน 2559

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดตราสารหนี้ไทยค่อนข้างผันผวน อัตราผลตอบแทนในช่วงต้นสัปดาห์ปรับขึ้นจากการเพิ่มมุมมองว่าธนาคารกลางสหรัฐมีแนวโน้มที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมที่จะมีขึ้นในเดือนนี้ อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลงมามาก จึงทำให้มีเงินบางส่วนไหลเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ อัตราผลตอบแทนจึงกลับมาลดลง เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้าอัตราผลตอบแทนปรับลดลง 0.02-0.11% นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยในเดือนนี้ ซึ่งความเห็นของนักลงทุนในตลาดส่วนใหญ่ต่างคาดการณ์ว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ สำหรับตลาดต่างประเทศ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) สร้างความผิดหวังให้ตลาด โดยมีมติคงนโยบายการเงินไว้ตามเดิม

ทางด้านการประมูลพันธบัตรระยะสั้น อัตราผลตอบแทนปรับขึ้น 0.02-0.04% ต่อปี จากความต้องการซื้อของนักลงทุนต่างชาติที่ลดลง โดยตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิพันธบัตรอายุไม่เกิน 1 ปีประมาณ 8.4 พันล้านบาท และซื้อสุทธิพันธบัตรอายุมากกว่า 1 ปีประมาณ 2.5 พันล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย 29 สิงหาคม – 2 กันยายน 2559

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา นักวิเคราะห์และนักลงทุนสถาบันในตลาดต่างปรับมุมมองการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ว่ามีโอกาสเพิ่มมากขึ้น โดยอาจเกิดขึ้น 1 ครั้งในปีนี้ หลังจากที่นางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ กล่าวในงานประชุมประจำปีว่า ปัจจัยต่าง ๆ ที่สนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ได้เพิ่มขึ้นมากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ประกาศในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ค่อนข้างดี แม้ว่าจะมีตัวเลขบางอย่าง ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์อยู่บ้าง เช่น การจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ส.ค. ที่ออกมาต่ำกว่าที่คาด หลังจากที่ใน 2 เดือนก่อนหน้าสูงเกินกว่าที่คาดการณ์

ทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย ได้รับอิทธิพลจากเหตุการณ์ดังกล่าว ประกอบกับผลของการทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตร (Bond Switching) นั้น ทางสำนักบริหารหนี้สาธารณะขายพันธบัตรตัวใหม่ให้ในอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าตลาดรองพอสมควร จึงทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวสูงขึ้นทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะช่วงอายุประมาณ 5-25 ปีปรับเพิ่มขึ้น 0.07-0.11% ส่วนพันธบัตรระยะสั้นก็ปรับตัวขึ้น 0.01-0.04% นอกจากนี้ การประมูลพันธบัตรระยะยาว รุ่นอายุ 20 ปีในวันพุธ มีคนสนใจเข้าร่วมประมูลน้อยกว่าจำนวนที่เสนอขาย อัตราผลตอบแทนอยู่ในช่วง 2.68-2.72%, เฉลี่ย 2.7048% และ Bid-coverage-ratio 0.88

ภาวะตลาดหุ้นไทย 29 สิงหาคม -2 กันยายน 2559

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนสิงหาคม ตลาดหุ้นมีความผันผวนมากขึ้น โดยแกว่งตัวในช่วง 1,516 – 1,553 จุด โดยในช่วงต้นสัปดาห์ ตลาดยังแกว่งตัวในกรอบแคบๆ เนื่องจากนักลงทุนยังรอตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯที่จะประกาศในวันศุกร์ และยังไม่มีปัจจัยใหม่เข้ามาสนับสนุน แต่ในช่วงท้ายสัปดาห์ นักลงทุนกลับมาเทขายหุ้นออกมามาก เมื่อเห็นว่า SET Index ไม่สามารถผ่านแนวต้านทางจิตวิทยาที่ 1,550 จุดขึ้นไปได้ และเป็นการลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากการประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ที่อาจจะส่งผลต่อการกำหนดทิศทางดอกเบี้ยของ FED ส่งผลให้ SET Index ปรับตัวลดลงถึง 28 จุด ขณะเดียวกันหุ้นกลุ่มพลังงานก็มีการปรับลงอย่างต่อเนื่อง จากการลดลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,521.48 จุด ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา -1.80%

แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นมีโอกาสผันผวนอย่างต่อเนื่อง จากการที่ยังไม่มีปัจจัยบวกที่ชัดเจนที่จะช่วยผลักดันใน SET Index ปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 1,550 จุดได้ ทำให้นักลงทุนเลือกที่จะถือเงินสด และรอดูแนวโน้มทิศทางที่ชัดเจนของตลาดอีกครั้ง

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย 22 – 26 สิงหาคม 2559

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินทั่วโลกต่างรอการแถลงมุมมองเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยจากประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ในการประชุมประจำปีของ FED ที่ Jackson Hole ที่มีขึ้นในวันศุกร์ที่ 26 ส.ค. ท่ามกลางข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ออกมาทรงตัวถึงค่อนข้างดี เช่น ยอดขายบ้านใหม่เดือน ก.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 12.4% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2550 / ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นต้นลดลงเป็น 50.9 ในเดือนส.ค. จากระดับ 51.4 ในเดือนก่อนหน้า และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า ทำให้อัตราผลตอบแทนของตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.05-0.09% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า

ตลาดตราสารหนี้ไทยได้รับอิทธิพลจากสถานการณ์ดังกล่าว ประกอบกับสำนักบริหารหนี้สาธารณะได้เปิดให้มีการทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตร (Bond Switching) สำหรับพันธบัตรรุ่น LB176A ในระหว่างวันที่ 25-26 สิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณการซื้อขายจากนักลงทุนสถาบันมีปริมาณค่อนข้างน้อย เนื่องจากรอฟังผลของการทำธุรกรรมนี้ ตลอดทั้งสัปดาห์อัตราผลตอบแทนปรับเพิ่มขึ้น 0.01-0.13% ต่อปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธบัตรรุ่นอายุมากกว่า 5 ปีขึ้นไป นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้นจำนวนประมาณ 2.54 พันล้านบาท และซื้อสุทธิพันธบัตรอายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไปประมาณ 3.97 พันล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย 22-26 สิงหาคม 2559

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สี่ของเดือนสิงหาคม ตลาดหุ้นแกว่งตัวในช่วงแคบระหว่าง 1,528 – 1,555 จุด นักลงทุนชะลอการลงทุนเมื่อ SET Index ถึงระดับ 1,550 จุดซึ่งเป็นแนวต้านทางจิตวิทยา และขายทำกำไรในระยะสั้นเป็นช่วง ๆ นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอถ้อยแถลงของประธาน Fed ในวันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม เกี่ยวกับท่าทีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ทำให้ปริมาณการซื้อขายค่อนข้างเบาบาง อย่างไรก็ตาม ตลาดได้รับแรงหนุนจากหุ้นในกลุ่มอาหารที่ปรับขึ้นต่อเนื่องตอบรับผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ที่ดี และการประกาศเข้าลงทุนในธุรกิจใหม่ รวมทั้งการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงานตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวขึ้น จากข่าวว่าอิหร่านมีท่าทีที่จะเข้าร่วมการประชุม OPEC ที่กำลังจะมีขึ้น ทำให้คาดการณ์ว่า OPEC จะสามารถบรรลุข้อตกลงในการควบคุมปริมาณการผลิตน้ำมันได้ นอกจากนี้ หุ้นกลุ่มขนส่งเริ่มมีการฟื้นตัวหลังจากปรับตัวลงจากเหตุการณ์ไม่สงบในภาคใต้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,549.41 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.69%

แนวโน้มตลาดหุ้นในระยะสั้นยังมีโอกาสแกว่งตัวในระดับ 1,520 – 1,550 จุด หลังจากที่ Janet Yellen ประธาน Fed แถลงว่ามีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากอัตราจ้างงานและอัตราเงินเฟ้อปรับขึ้นตามเป้าหมาย ทำให้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า Fed มีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1 ครั้งในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ในระยะถัดไป SET Index ยังมีโอกาสปรับตัวขึ้น จากแนวโน้มผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ดีขึ้น และนักลงทุนต่างชาติยังคงเข้ามาลงทุนเพิ่มในตลาดหุ้นเอเชียมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศไทย ที่ FTSE จะมีการปรับน้ำหนักตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้น เนื่องจากจะมีการรวมน้ำหนักของหุ้น NVDR เข้าในการคำนวนดัชนีของ FTSE ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายนนี้

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย 15 – 19 สิงหาคม 2559

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยแสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวได้ดี โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงาน GDP ในไตรมาสที่สองขยายตัว 3.5% โดยมาจากการบริโภคภาคเอกชน (+3.8%) การลงทุนภาครัฐ (+10.4%) และการท่องเที่ยว (+12.1%) แต่การลงทุนภาคเอกชนยังคงชะลอตัว (+0.1%) เนื่องจากการหดตัวในการก่อสร้างและการส่งออกสินค้าที่ยังคงอ่อนแอ (-3.1%) อย่างไรก็ดี สศช. คงประมาณการ GDP ในปีนี้ไว้ที่ 3.0-3.5% ทางด้านตลาดต่างประเทศ FOMC ได้เปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือนกรกฎาคม โดยมีความเห็นเชิงบวกเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และตลาดแรงงาน แต่กรรมการแต่ละรายยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับช่วงเวลาในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับความแข็งแกร่งของภาคธนาคารอิตาลี โดยประธานธนาคาร BMPS ของอิตาลีถูกสอบสวนในข้อหาแต่งบัญชีและปั่นตลาดในการธุรกรรมเกี่ยวกับตราสารอนุพันธ์และยังมีทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในระดับสูง ส่งผลให้ตลาดวิตกว่าจะส่งผลกระทบต่อธนาคารรายอื่นของอิตาลีหรืออาจส่งผลกระทบต่อสถานภาพสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ของอิตาลีด้วย

สำหรับตลาดพันธบัตรของไทย นักลงทุนสถาบันรอความชัดเจนของการทำ Bond Switching จากสำนักบริหารหนี้สาธารณะ มูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนต่างประเทศตลอดทั้งสัปดาห์ ซื้อสุทธิ 25.5 พันล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นพันธบัตรอายุไม่เกิน 1 ปีประมาณ 20.7 พันล้านบาท โดยรวมอัตราผลตอบแทนปรับเพิ่มขึ้น 0.01-0.05%

ภาวะตลาดหุ้นไทย 15-19 สิงหาคม 2559

ตลาดหุ้นไทยสัปดาห์ที่สามของเดือนสิงหาคม 2559 SET Index มีการแกว่งตัวลง และยังไม่สามารถยืนเหนือระดับ 1,550 จุดได้ นักลงทุนมีการขายทำกำไรในหุ้นหลาย ๆ กลุ่มอุตสาหกรรมหลังรับรู้ข่าวการประกาศผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2 เสร็จสิ้น แม้ว่าผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2 จะดีกว่าคาด และนักวิเคราะห์มีการปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2016 เพิ่มขึ้นก็ตาม นอกจากนี้ ราคาหุ้นยังได้รับผลกระทบจากการทยอย XD ของบริษัทจดทะเบียน สำหรับผลประกอบการครึ่งปีแรก รวมทั้งตลาดหุ้นไทยยังได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ก่อวินาศกรรมในช่วงวันแม่ในหลายจังหวัดในภาคใต้ ซึ่งทำให้มีการขายหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการท่องเที่ยวออกมา ขณะเดียวกัน ปัจจัยต่างประเทศก็ไม่สนับสนุนตลาดหุ้นมากนัก เมื่อคณะกรรมการ FOMC บางท่านออกมาให้ความเห็นว่า FOMC น่าจะมีการปรับขึ้น Fed Fund Rate บ้างในปี 2016 ซึ่งทำให้นักลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การที่ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นจากการที่นักลงทุนกลับเข้าเก็งกำไรในน้ำมัน เมื่อ OPEC มีท่าทีว่าจะไม่เพิ่มกำลังผลิตมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ช่วยให้หุ้นที่เกี่ยวข้องกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวขึ้น และช่วยให้ SET Index ปรับตัวลงไม่มากนัก

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,538.76 จุด ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.89%

แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นเริ่มมีความผันผวนมากขึ้น โดยนักลงทุนกลับไปให้ความสนใจกับสุนทรพจน์ของ Jenet Yellen ผู้ว่าการธนาคารกลางของสหรัฐฯ ในการประชุมผู้ว่าการธนาคารกลางทั่วโลกประจำปีที่ Jackson Hole ในระหว่างวันที่ 25-27 สิงหาคม ว่าจะมีการพูดถึงแนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Fund Rate ในลักษณะใด ประกอบการการทยอย XD จำนวนมากของบริษัทจดทะเบียนในเดือนสิงหาคม ที่มีผลกระทบราคาหุ้นด้วย

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย 8 – 11 สิงหาคม 2559

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีตัวเลขเศรษฐกิจจากทั้งฝั่งยุโรปและสหรัฐฯ ออกมา เช่น เศรษฐกิจเยอรมันที่เติบโตถึง 3.1% yoy ในขณะที่ทางสหรัฐฯ มีข้อมูลเศรษฐกิจทั้งที่ดีขึ้นและต่ำกว่าคาด เช่น ตัวเลขยอดค้าปลีกเดือน ก.ค. ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือน มิ.ย. ซึ่งผิดไปจากที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.4% หลังจากที่ปรับตัวขึ้นมา 3 เดือนติดต่อกัน แม้ว่ารายงานการจ้างงานเดือน ก.ค. ที่ออกมาเมื่อวันศุกร์ที่แล้วจะเพิ่มขึ้นกว่าที่คาด ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐลดลง นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังรอการแสดงความเห็นจากประธาน FED ในการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า

สำหรับตลาดพันธบัตรของไทย ตลาดค่อนข้างเงียบและมีปริมาณการซื้อขายน้อย ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เข้ามาแทรกแซง (OMO) โดยการเรียกซื้อพันธบัตรรุ่นอายุประมาณ 4 ปีและ 9 ปี วงเงินรวมประมาณ 5,000 ล้านบาท ส่วนผลการประมูลพันธบัตรระยะสั้น อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.01-0.03% และในวันพุธที่ผ่านมามีการประมูลพันธบัตรรุ่นอายุ 10 ปี (LB26DA, New On-the-run Bond) ซึ่งได้รับความสนใจจากตลาดพอสมควร อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 2.091% ต่อปี

ภาวะตลาดหุ้นไทย 8-11 สิงหาคม 2559

ตลาดหุ้นไทยสัปดาห์ที่สองของเดือนสิงหาคม 2559 SET Index สามารถปรับตัวขึ้นปิดเหนือระดับ 1,550 จุดได้ เนื่องจากตลาดหุ้นได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการที่ร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงได้รับประชามติเห็นด้วยอย่างท่วมท้น ทำให้นักลงทุนมีความั่นใจเกี่ยวกับเสถียรภาพของรัฐบาลปัจจุบัน และ Road Map การเลือกตั้งที่ชัดเจนว่าจะมีการเลือกตั้งราวปลายปี 2560 จึงมีแรงซื้อกลับเข้ามาในตลาดหุ้น โดยเฉพาะแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติที่ไล่ซื้อหุ้นที่มี Market Cap ขนาดใหญ่ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยังได้รับปัจจับสนับสนุนจากการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ของบริษัทจดทะเบียน ที่มีแนวโน้มดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะผลประกอบการของกลุ่มพาณิชย์ กลุ่มธุรกิจการเกษตร กลุ่มอาหาร กลุ่ม ICT และกลุ่มขนส่ง แม้ว่าราคาน้ำมันดิบในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจะค่อนข้างผันผวน และเป็นปัจจัยกดดันหุ้นกลุ่มพลังงานก็ตาม

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,552.64 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 2.24%

แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นยังมีแนวโน้มที่ดี แม้ว่าตลาดหุ้นจะได้รับผลกระทบบ้างจากการก่อวินาศกรรมในจังหวัดทางภาคใต้ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยวบ้าง แต่หากไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นอีก ตลาดหุ้นก็มีโอกาสฟื้นตัวได้เร็ว เนื่องจากยังมีเงินลงทุนไหลเข้าภูมิภาคเอเชีย และแนวโน้มการปรับประมาณการผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้น