ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (25 – 28 ตุลาคม 2559 )

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาพรวมเศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวที่ดีขึ้น โดยการขยายตัว GDP ของอังกฤษในไตรมาสที่ 3 เพิ่มขึ้น 0.5% ซึ่งดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ทางด้านตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐ ตัวเลขทั้งยอดขายและราคาบ้านส่งสัญญาณที่ดีขึ้น และเศรษฐกิจในไตรมาสที่ผ่านมาเติบโต 2.9% ดีกว่าการขยายตัวในไตรมาสที่ 2 ที่ 1.4% และดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ประมาณ 2.5% นอกจากนี้ยังมีการแสดงความคิดเห็นของกรรมการ FOMC บางรายว่าการประชุมในเดือนธันวาคมเหมาะสมที่จะมีการขึ้นดอกเบี้ย ทำให้อัตราผลตอบแทน US Treasury ปรับเพิ่มขึ้นทุกช่วงอายุ โดย 10-Year UST แตะระดับ 1.85% ในวันศุกร์ผ่านมา จากสัปดาห์ก่อนหน้าที่เคลื่อนไหวในช่วง 1.73-1.77%

ทางด้านตลาดพันธบัตรไทย การประมูลรุ่นอายุ 5 ปีจำนวน 30,000 ล้านบาท ในวันพุธได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี อัตราผลตอบแทนเฉลี่ย 1.9209%, Bid Coverage Ratio 1.67 เท่า ตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรอายุมากกว่า 1 ปีประมาณ 10.4 พันล้านบาท แต่ขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้นประมาณ 3.3 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้ายของสัปดาห์มีนักลงทุนสถาบันต้องการลดจำนวนการถือครองลง ตามกระแสการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของประเทศหลัก (Sovereign Bond Yield) เนื่องจาก เข้าใกล้วันประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของหลายประเทศในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับเพิ่มขึ้น 0.01-0.10% โดยเฉพาะในรุ่นอายุ 2-10 ปี

ภาวะตลาดหุ้นไทย (25-28 ตุลาคม 2559)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สี่ของเดือนตุลาคม SET Index มีการแกว่งตัวช่วงแคบในกรอบ 1,488- 1,508 จุด โดย SET Index ยังไม่สามารถยืนเหนือระดับ 1,500 จุดได้อย่างมั่นคง นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการขายต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 3 มียอดขายสุทธิรวมในเดือนตุลาคม (1-28 ตุลาคม) ถึง 1.56 หมื่นล้านบาท เนื่องจากการคาดการณ์ว่า Fed น่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Fund Rate ในการประชุมเดือนธันวาคม และค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ มีโอกาสที่จะแข็งค่าขึ้นได้ ทำให้นักลงทุนต่างชาติมีการขายเงินลงทุนในตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชีย และกลับไปถือครองเงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐฯ มากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงิน อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นยังได้รับผลดีจากการทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ของบริษัทจดทะเบียน ที่ส่วนใหญ่ยังออกมาดี ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลงไม่มากนัก

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,494.44 จุด ปรับลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา -0.40%

ในส่วนของมุมมองระยะสั้น ยังคงต้องติดตามการประชุมของ Fed, BOE, BOJ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 1-3 พฤศจิกายน และการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ของบริษัทจดทะเบียนที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ทั้งนี้ ตลาดมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากข่าวที่ FBI เตรียมรื้อคดีการใช้ E-mail ส่วนตัวของนาง Hillary Clinton ที่ทำให้ความนิยมของนาง Clinton ลดลงในช่วงที่จะมีการเลือกตั้งวันที่ 8 พฤศจิกายน

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (17 – 21 ตุลาคม 2559 )

ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในสัปดาห์ที่ผ่านมามีทั้งด้านบวกและลบ ทางด้านสหรัฐอเมริกา ยอดผู้ขอรับเงินชดเชยมากกว่าที่คาด ในขณะที่ยอดขายบ้านที่มีอยู่เดิมในเดือนกันยายนเพิ่มขึ้นดีกว่าคาด ส่วนตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในไตรมาสที่ 3 เพิ่มขึ้น 6.7% ตามความคาดหมาย ทางด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) ตัดสินใจคงนโยบายการเงินตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ โดยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับเดิม และคงปริมาณการซื้อพันธบัตรและสินทรัพย์ (QE) ไว้ที่ระดับ 80 พันล้านยูโรต่อเดือน

ทางด้านตลาดตราสารหนี้ของไทย อัตราผลตอบแทนปรับตัวลดลงมาเกือบทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะช่วงอายุ 5-20 ปี ปรับลง 3-13 bps ส่วนหนึ่งเกิดจากการคลายความกังวลจากสัปดาห์ก่อนหน้า จึงเริ่มกลับมาเพิ่มสถานะการถือครองมากขึ้น โดยนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิทั้งพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาวจำนวนประมาณ 4 พันล้านบาท และ 7.2 พันล้านบาทตามลำดับ นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยยังได้เข้ามาซื้อตราสารหนี้ภาครัฐในตลาดรอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการ Open Market Operations โดยซื้อคืนพันธบัตรอายุคงเหลือ 2-7 ปี จำนวน 7 พันล้านบาท จากจำนวนที่เสนอขายทั้งหมดประมาณ 22.4 พันล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย (17-21 ตุลาคม 2559)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สามของเดือนตุลาคม SET Index มีการแกว่งตัวขึ้นตลอดสัปดาห์ และปิดได้ที่จุดสูงสุดของสัปดาห์ที่ 1,500.37 จุด นักลงทุนสถาบันยังคงเข้าซื้อหุ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากปัจจัยที่วิตกกังวลในประเทศผ่านพ้นไป ทำให้ยอดซื้อสุทธิสะสมของนักลงทุนในประเทศในช่วงเวลาที่ผ่านมาของเดือนตุลาคมสูงถึง 21,435 ล้านบาท โดยการซื้อกระจายไปในเกือบทุกกลุ่ม โดยเฉพาะหุ้นขนาดกลาง-เล็กที่มีแนวโน้มเติบโตสูง อย่างไรก็ตาม นักลงทุนต่างชาติกลับมาเป็นฝ่ายขายสุทธิในเดือนตุลาคม โดยขายสุทธิ 11,620 ล้านบาท และคาดว่าส่วนใหญ่จะเป็นการขายหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่มีการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ออกมาแล้ว แม้ว่ากำไรสุทธิจากเติบโตถึง 16% YoY แต่ผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่บางแห่งได้ให้มุมมองว่าอาจจะมีการตั้งสำรองหนี้เสียเพิ่มมากขึ้นในปี 2017 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่มีโอกาสชะลอตัวลง ทำให้กลุ่มธนาคารพาณิชย์มีการปรับตัวลดลง นอกจากนี้ นักลงทุนยังมีการขายหุ้นกลุ่มอิเล็คทรอนิคส์ที่ประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ออกมาต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ SET Index ยังได้รับผลที่จากการที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังคงมีการปรับตัวขึ้น โดยเฉพาะถ่านหินที่ราคาปรับตัวขึ้นทะลุ $90/ตัน

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,500.37 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 1.55%

ในส่วนของมุมมองระยะสั้นนั้น SET Index ยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นยืนเหนือระดับ 1,500 จุดได้ จากแรงซื้อของนักลงทุนสถาบันในประเทศที่ยังคงกลับเข้าลงทุนในตลาดหุ้น โดยตลาดยังน่าจะได้รับผลดีจากการประกาศผลประกอบการของไตรมาสที่ 3 ของบริษัทจดทะเบียนที่เริ่มทยอยออกมาจนถึงกลางเดือนพฤศจิกายน ที่ยังคาดว่าส่วนใหญ่จะประกาศผลประกอบการออกมาดี

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (10 – 14 ตุลาคม 2559 )

ตลาดการเงินในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนในตลาดยังเชื่อมั่นว่าธนาคารกลางสหรัฐจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในปีนี้ แม้ว่าจะมีการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่ทั้งสร้างความผิดหวังหรือตัวเลขที่แสดงการเติบโต เช่น ตัวเลขการจ้างงานเพิ่มขึ้น 1.56 แสนตำแหน่งซึ่งน้อยกว่าที่คาด / อัตราการว่างงานขยับขึ้นเป็น 5%, ยอดผู้เข้ารับสวัสดิการการว่างงานใหม่เพิ่มขึ้นเพียง 246,000 คน ซึ่งดีกว่าที่ตลาดคาดไว้และถือเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดในรอบ 42 ปี เป็นต้น แต่การแสดงท่าทีของสมาชิกในคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐ (FED) ที่พร้อมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้ รวมถึงการเปิดเผยรายงานการประชุม FOMC ของเดือนก่อนหน้าที่ระบุว่าการขึ้นดอกเบี้ยที่ช้าเกินไปจะสร้างความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจสหรัฐในอนาคต กลับมีอิทธิพลต่อความรู้สึกของนักลงทุนในตลาดมากกว่า ดังนั้น US Treasury Yield จึงปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยรุ่น 10 ปีแตะที่ระดับ 1.81% ในวันศุกร์

จากปัจจัยภายนอกดังกล่าว ประกอบกับความผันผวนของตลาดหุ้นไทยอันเนื่องมาจากเหตุการณ์สำคัญภายในประเทศ ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่ขายทั้งหุ้นและพันธบัตร โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิพันธบัตรอายุสั้นกว่า 1 ปีต่อเนื่องทุกวันรวมเป็นจำนวนเกือบ 27 พันล้านบาท และขายสุทธิพันธบัตรอายุมากกว่า 1 ปีจำนวน 8.8 พันล้านบาท รวมขายสุทธิประมาณ 35.5 พันล้านบาท ส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าไปแตะระดับ 35.8 และทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยเปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ที่ผ่านตั้งแต่ -0.03% ถึง +0.11%

ภาวะตลาดหุ้นไทย (10-14 ตุลาคม 2559)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สองของเดือนตุลาคม SET Index มีความผันผวนสูงมาก โดยแกว่งตัวอยู่ในช่วง 1,343-1,480 จุด SET Index สามวันแรกตลาดปรับตัวลดลงกว่า 6% หรือ 130 จุด จากเหตุความกังวลของนักลงทุนภายในประเทศ ซึ่งทำให้มีแรงขายหุ้นออกมามาก และปริมาณการซื้อขายสูงขึ้นมากถึงระดับ 100,000 ล้านบาท ก่อนการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศในการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในวันที่ 13 ตุลาคม 2559 อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายสัปดาห์ ได้มีแรงซื้อหุ้นจากนักลงทุนสถาบันเข้ามามาก โดยมียอดซื้อสุทธิสูงถึง 13,525 ล้านบาท และทำให้ตลาด Rebound กลับขึ้นมากกว่า 60 จุดในวันสิ้นสัปดาห์ และทำให้ SET Index ปรับตัวลงไม่มากนักเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ทั้งนี้ หุ้นในกลุ่มสื่อสารและสิ่งพิมพ์ได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรง ซึ่งในสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ปรับตัวลดลงกว่า 6.38%

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,477.61 จุด ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา -1.78%

แนวโน้มตลาดหุ้นในระยะสั้น SET Index ยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้อีก แม้จะมีความผันผวนบ้างเนื่องจาก SET Index ปรับตัวขึ้นแรงในช่วงปลายสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม SET Index ยังน่าจะได้รับผลดีจากการเข้าสู่ช่วงการประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งมีแนวโน้มว่าผลประกอบการส่วนใหญ่ของบริษัทจดทะเบียนยังน่าจะมีการเติบโตที่ดี โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 ที่มีผลประกอบการต่ำมาก ในขณะที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯมีแนวโน้มที่นางฮิลลารี คลินตัน จะได้รับชัยชนะ ซึ่งจะเป็นผลดีกับตลาดหุ้นโลกมากกว่าการที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง และการประชุมของ EBC ที่จะมีขึ้นในกลางสัปดาห์ (20 ต.ค.) ไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายผ่อนคลายทางการเงินที่จะส่งผลลบต่อสภาพคล่องในระบบการเงิน อย่างไรก็ตาม ในระยะถัดไปนักลงทุนควรจับตามองการประชุม FOMC ในครั้งถัดไปในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 ที่เกี่ยวกับนโยบายดอกเบี้ยของธนาคารกลางของสหรัฐฯ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (3 – 7 ตุลาคม 2559 )

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการแสดงความคิดเห็นของสมาชิกในคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐ (FED) บางท่าน สนับสนุนให้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย และเน้นย้ำว่าการเมืองไม่ได้ส่งผลต่อการตัดสินใจของเฟด ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญบางอย่างแสดงถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เช่น ดัชนีภาคบริการของ ISM อยู่ที่ระดับ 57.1 ในเดือนกันยายน ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์และเพิ่มจากเดือนก่อนที่ระดับ 51.4 และ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานปรับตัวลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบหลายเดือน เป็นต้น ทำให้ตลาดเพิ่มการคาดการณ์ความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมอีก 2 ครั้งที่เหลือของปีนี้ นอกจากนี้ยังมีหลายเหตุการณ์จากกลุ่มประเทศยูโรโซน ที่ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงิน เช่น ความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อังกฤษเตรียมแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป ซึ่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่กล่าวว่าจะเริ่มดำเนินการในปีหน้า (Trigger Brexit Process) และการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะทยอยปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตร

จากหลายเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้อัตราผลตอบแทนปรับเพิ่มขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ เช่น US Treasury 10-Year ปรับขึ้นเป็น 1.73% ต่อปี จาก 1.60% ต่อปีในสัปดาห์ก่อนหน้า และปัจจัยภายนอกเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้ของไทยเช่นกัน อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาวปรับเพิ่มขึ้น 0.02-0.10% ในช่วงอายุ 3-15 ปี ส่วนอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรที่อายุไม่เกิน 1 ปีไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง ตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ ทั้งพันธบัตรที่อายุไม่เกิน 1 ปี และพันธบัตรระยะยาว จำนวนประมาณ 4.1 พันล้านบาท และ 4.7 พันล้านบาท ตามลำดับ

ภาวะตลาดหุ้นไทย (3-7 ตุลาคม 2559)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์แรกของเดือนตุลาคม SET Index ผันผวนในกรอบ 1,490-1,518 จุด SET Index ยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่องในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยบวกจากการ Preview ผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ปี 2559 ของหุ้นกลุ่มธนาคารที่มีแนวโน้มจะออกมาดี ประกอบกับราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังการประชุม OPEC ที่มีข้อตกลงจะควบคุมกำลังการผลิตของประเทศสมาชิก และการที่ Stock น้ำมันดิบของสหรัฐฯลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดสิ้นสัปดาห์ที่ 49.81 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 3.2% อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังมีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องปัญหาของ DB และ Well Fargo ที่ยังเป็นปัจจัยลบกดดันตลาดโลกอยู่พอสมควร

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,504.34 จุด ปรับตัวขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 1.42%

แนวโน้มตลาดหุ้นในระยะสั้น SET Index ยังคงมีความผันผวน โดยยังมีปัจจัยที่นักลงทุนให้ความสนใจและเป็นความเสี่ยงของตลาด เช่น เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปัญหา DB และ Well Fargo การประชุม Fed ที่คาดการณ์ว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงเดือน ธันวาคม เป็นต้น

บลจ.ทาลิส จัดเสวนา “ทิศทางเศรษฐกิจและการลงทุน ปี 2017 พร้อมเปิดตัวกองทุนรวม”

ดร.ทนง พิทยะ (กลาง) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้เกียรติถ่ายภาพร่วมกับ คุณฉัตรพี ตันติเฉลิม (ซ้าย) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร คุณประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ (ขวา) ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทาลิส จำกัด ในงานเสวนา “ทิศทางเศรษฐกิจและการลงทุน ปี 2017 พร้อมเปิดตัวกองทุนรวม” ณ โรงแรม Siam Kempinski Hotel Bangkok เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2559

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (26 – 30 กันยายน 2559 )

หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐ (FED) มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ นักลงทุนในตลาดต่างเพิ่มการคาดการณ์ว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในปีนี้ บนสมมติฐานว่าตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญต้องแสดงการฟื้นตัวต่อเนื่อง ซึ่งในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา รายงานผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศไตรมาสที่สอง (GDP 2Q16) เพิ่มขึ้น 1.4% และดีกว่าที่คาด ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก นอกจากนี้ ยังมีข่าวความกังวลเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของธนาคารดอยซ์แบงก์ที่ได้รับแรงกดดันมาก่อนหน้านี้ และล่าสุดกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐสั่งปรับเป็นเงินมูลค่าสูงถึง 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ในคดีการสร้างความเข้าใจผิดต่อลูกค้าในการขายตราสารหนี้ที่ได้รับการค้ำประกันจากสัญญาจำนอง (MBS)

ด้านตัวเลขเศรษฐกิจของไทยในสัปดาห์ที่แล้ว มีการประกาศตัวเลขการส่งออกเดือนสิงหาคมที่เพิ่มขึ้น 6.5% ดีกว่าที่คาดไว้ -1% yoy ซึ่งตัวเลขกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 5 เดือน และเร่งตัวที่สุดในรอบ 6 เดือน สาเหตุหลักมาจากการส่งออกรถยนต์และกลุ่มเหล็กที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ตลาดตราสารหนี้ไทยได้รับอิทธิพลจาก Global Yields มากกว่า อัตราผลตอบแทนโดยรวมจึงปรับลดลงต่อ โดยเฉพาะในช่วงอายุ 5-20 ปี ปรับลดลง 0.04-0.12% ส่วนการประมูลพันธบัตรระยะสั้น อัตราผลตอบแทนค่อนข้างคงที่และปรับลงเล็กน้อย ตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรอายุไม่เกิน 1 ปีประมาณ 27.7 พันล้านบาท และซื้อสุทธิพันธบัตรอายุมากกว่า 1 ปีประมาณ 11.5 พันล้านบาท