ภาวะตลาดหุ้นไทย (4 – 6 มกราคม 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์แรกของปี 2560 ถึงแม้จะเปิดทำการเพียง 3 วันแต่ SET Index ปรับตัวขึ้นได้อย่างน่าพอใจ โดยปรับตัวขึ้นจากระดับ 1,542.94 จุด และปิดสิ้นสัปดาห์ที่ 1,571.48 จุด โดยปัจจัยหลักที่สนับสนุนการปรับตัวขึ้นของ SET Index ยังคงมาจากแรงซื้อของกองทุน LTF/RMF จากปลายปีที่แล้วที่ยังคงเหลืออยู่ และจาก Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติที่กลับมาเป็น Net Buy ตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่แล้ว และเริ่มสัปดาห์แรกของปี นักลงทุนต่างชาติ Net Buy ทั้งหมดกว่า 7 พันล้านบาท โดยรวมตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมามียอด Net Buy แล้วทั้งสิ้นกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ปัจจัยบวกภายในประเทศได้แก่รายงานความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนธันวาคมที่ดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน จากมาตรการ “ช็อปช่วยชาติ” ที่คาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปีของรัฐบาล ในส่วนของราคาน้ำมันดิบ สิ้นสัปดาห์ปิดที่ $53.90 ต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.37% WoW จากการรายงานตัวเลขของ EIA ว่า Inventory น้ำมันดิบของสหรัฐฯลดลงกว่า 7.4 ล้านบาร์เรล และประเทศซาอุฯ เริ่มลดกำลังการผลิตน้ำมันในเดือน มกราคม 4.86 แสนบาร์เรลต่อวัน หุ้นกลุ่มการเงินปรับตัวขึ้นสูงสุดในสัปดาห์ที่ผ่านมา 3.96% WoW

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,571.48 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 1.85%

ในส่วนของมุมมองตลาดระยะสั้น คาดว่าอาจจะมีแรงขาย LTF จากผู้ที่ถือครบกำหนด 5 ปี ที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคม ทำให้เป็นแรงกดดัน SET Index ได้ และการเข้ารับตำแหน่งของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ในวันที่ 20 มกราคม 2560 ที่อาจจะทำให้ตลาดหุ้นมีความผันผวนได้

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (4 – 6 มกราคม 2560 )

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐ (Fed) ที่ประชุมในเดือนธันวาคม เปิดเผยว่า คณะกรรมการยังคงเน้นว่าในปีนี้การขึ้นดอกเบี้ยจะค่อยเป็นค่อยไป และกังวลเรื่องค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ นอกจากนี้คณะกรรมการจะเฝ้าติดตามความคืบหน้าของเศรษฐกิจจากผลของการดำเนินนโยบายการคลัง ในขณะเดียวกันมีรายงานตัวเลขเศรษฐกิจออกมาซึ่งมีทั้งดีขึ้นและน้อยกว่าที่คาด เช่น ดัชนีภาคการผลิตของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ปรับตัวขึ้น 1.5% มาที่ระดับ 54.7 ในเดือนธ.ค. โดยเพิ่มขึ้นจากระดับ 53.2 ในเดือนพ.ย. และเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2558, ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 156,000 ตำแหน่งในเดือนธ.ค. ซึ่งน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้, อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น 4.7% สูงขึ้นเล็กน้อยจากในเดือนพ.ย. ที่ 4.6% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 9 ปี

ทางด้านตลาดพันธบัตรรัฐบาลของไทยในสัปดาห์แรกของปี การประมูลพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นอัตราผลตอบแทนไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ส่วนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวมีแรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามายังตัวกลาง ๆ บ้าง เช่น รุ่นอายุประมาณ 5 ปี โดยรวมตลอด 3 วันทำการ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้นจำนวน 1,693 ล้านบาท และขายสุทธิพันธบัตรระยะยาวจำนวน 196 ล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (26 – 30 ธันวาคม 2559 )

ตลาดต่างประเทศในสัปดาห์สุดท้ายของปี ช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นจากการที่สหรัฐฯ เปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธันวาคมที่เพิ่มขึ้นเป็น 113.7 จากระดับ 109.4 ในเดือนพฤศจิกายน สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงมีมุมมองที่เป็นบวกต่อภาวะเศรษฐกิจและการจ้างงาน นอกจากนี้ ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพของภาคธนาคารอิตาลี และการเจรจาเรื่องการถอนตัวของอังกฤษจากสหภาพยุโรป (Brexit) ในปี 2560 อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้ายสัปดาห์มีแรงขายดอลลาร์สหรัฐออกมาบ้างจากความต้องการทำกำไรก่อนช่วงหยุดเทศกาล

สำหรับตลาดตราสารหนี้ไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นปรับตัวลงมา 0.01-0.05% เนื่องจากปริมาณพันธบัตรในตลาดรองมีจำนวนน้อย ประกอบกับธนาคารแห่งประเทศไทยงดการประมูลพันธบัตรระยะสั้นรุ่นอายุ 14 วัน ถึง 6 เดือนที่ปกติจะจัดให้มีการประมูลสัปดาห์ละครั้ง สำหรับพันธบัตรระยะยาว อัตราผลตอบแทนปรับลดลงมาเช่นกันโดยเฉพาะรุ่นอายุประมาณ 10 ปี เนื่องจากมีแรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาในช่วงท้ายสัปดาห์ โดยการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติตลอดทั้งปี 2559 พบว่าซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้นและพันธบัตรระยะยาวประมาณ 289.24 พันล้านบาทและ 41.69 พันล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งสรุปเป็นยอดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทยประมาณ 638 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่ 571 พันล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย (26-30 ธันวาคม 2559)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สุดท้ายของปี SET Index มีการปรับตัวขึ้นตลอดทั้งสัปดาห์ โดยสิ้นปี Set Index ปิดที่ 1,542 จุด จาก 1,512 จุด ในสัปดาห์ก่อนหน้า ทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศมีปริมาณการซื้อขายที่เบาบางลง Fund Flow ต่างชาติพลิกกลับมาเป็น Ney Buy ในช่วงปลายสัปดาห์ โดยต่างชาติซื้อสุทธิ 7.1 พันล้านบาท โดยปัยจัยหลักของ SET Index ที่ปรับตัวขึ้นยังคงมาจากเม็ดเงิน LTF/RMF และการทำ Window Dressing ในส่วนของราคาน้ำมันดิบ WTI สิ้นปีราคาน้ำมันสามารถยืนเหนือ $50 ต่อบาร์เรลได้ โดย ปิดที่ $53.72 ต่อบาร์เรล ปรับตัวขึ้น 1.32% WoW

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,542.94 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 1.98%

ในภาพรวมของทั้งปี 2559 นั้น SET Index ปรับตัวขึ้นถึง 19.79% และเมื่อรวมผลตอบแทนจากเงินปันผล ผลตอบแทนทั้งหมดอยู่ที่ 23.90% ซึ่งทำผลตอบแทนได้ดีที่สุดในตลาดหุ้นเอเชีย โดยหุ้นกลุ่มหลักที่มีผลต่อดัชนี ได้แก่ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ กลุ่มพลังงาน และกลุ่มพาณิชย์ โดยผลตอบแทนอยู่ที่ 17.71%, 38.45% และ 40.98% ตามลำดับ ในส่วนของหุ้นที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ กลุ่มท่องเที่ยว และกลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ โดยปรับตัวลดลง -3.5% และ -7.93% ตามลำดับ โดยตลอดทั้งปี Fund Flow นักลงทุนต่างชาติ และ Proprietary Trade เป็นผู้ซื้อสุทธิที่ 7.8 หมื่นล้านบาท และ 2.5 หมื่นล้าน ตามลำดับ ในขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศ และรายย่อย ขายสุทธิ 8.6 พันล้านบาท และ 9.4 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ ราคาน้ำมันดิบปรับสูงขึ้น 45.03% ในรอบปีที่ผ่านมา โดยปิดที่ $53.72 ต่อบาร์เรล

ในส่วนของมุมมองปี 2560 จากปัจจัยความเสี่ยงต่าง ๆ ในปี 2560 โดยรวมแล้วเป็นความเสี่ยงจากต่างประเทศ ในมุมมองระยะสั้นนั้น คงเป็นการเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีคนใหม่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะรับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม 2560 จะเน้นนโยบาย American First ซึ่งนโยบายดังกล่าวจะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯในระยะสั้น เนื่องจากการลดอัตราภาษี การเพิ่มการจ้างงาน และการทุ่มลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และจะทำให้มีเงินทุนไหลเข้าลงทุนในสหรัฐฯมากขึ้น อันจะทำให้ค่าเงิน US$ แข็งค่าขึ้นได้ และอาจส่งผลให้เงินทุนไหลออกจากไทยได้ ส่วนในส่วนของระยะกลาง – ยาวนั้น จากการที่คณะกรรมการ FOMC ส่งสัญญาณว่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Fund Rate) ของสหรัฐฯ ประมาณ 3 ครั้งในปี 2560 เป็นประเด็นที่ต้องติดตามว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด และจะสามารถปรับอัตราดอกเบี้ยได้รวดเร็วแค่ไหน ซึ่งหากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป และการปรับส่วนใหญ่จะไปอยู่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 ก็จะส่งผลกระทบต่อภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไม่มากนัก แต่หากปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นไปอย่างรวดเร็ว จะส่งผลกระทบต่อภาวะการลงทุนทั้งตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ และตลาดอัตราแลกเปลี่ยนทั่วโลก ในส่วนของฝั่งยุโรปนั้น จะมีการเลือกตั้งใหญ่ในประเทศฝรั่งเศส (เดือนเมษายน-พฤษภาคม) และในประเทศเยอรมัน (เดือนตุลาคม) ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาพรรคการเมืองทางเลือกใหม่ฝ่ายขวาในยุโรป ที่ชูนโยบายแยกประเทศออกจากกลุ่มสหภาพยุโรปกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก ซึ่งหากพรรคการเมืองเหล่านี้ชนะการเลือกตั้งในฝรั่งเศสและเยอรมัน จะทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพของกลุ่มสหภาพยุโรปอย่างมาก ซึ่งผลกระทบจะมีมากกว่าเหตุการณ์ Brexit ทำให้นักลงทุนมีแนวโน้มจะชะลอการลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปและไปลงทุนในภูมิภาคอื่นแทน

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (19 – 23 ธันวาคม 2559 )

ความเคลื่อนไหวของตลาดต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายการเงินรวมถึงการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ -0.1% และคงอัตราการซื้อพันธบัตรและสินทรัพย์ (QQE) ที่ระดับ 80 ล้านล้านเยนต่อปี ส่วนทางตลาดสหรัฐฯ ประธานธนาคารกลาง (FED) ได้กล่าวสุนทรพจน์ที่ระบุว่า ตลาดแรงงานมีความแข็งแกร่งมากที่สุดในรอบเกือบ 10 ปี และกระทรวงพาณิชย์รายงานตัวเลข GDP ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้เพิ่มขึ้น 3.5% ซึ่งมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.3% และสูงกว่าตัวเลขประมาณการณ์ครั้งที่สองที่ 3.2% การขยายตัวดังกล่าวหนุนโดยการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้นและการลงทุนจากภาคธุรกิจที่สูงขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนด้านโครงสร้างและสินค้าเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา

ทางด้านคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ในอัตราใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังคงมีแนวโน้มทยอยปรับสูงขึ้นอย่างช้า ๆ ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการฟื้นต้วของเศรษฐกิจ สภาพคล่องในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง และอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับสูงขึ้นมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของปีก่อน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าในอัตราที่น้อยกว่าคู่ค้าคู่แข่งสำคัญโดยรวมซึ่งอาจไม่เป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเท่าที่ควร ทั้งนี้คณะกรรมการฯ เห็นว่าระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ สามารถรับมือกับความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจการเงินทั้งในและต่างประเทศได้ค่อนข้างดีแต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในบางจุด

ตลาดตราสารหนี้ไทยได้รับผลกระทบจากกระแสการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐอาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้าในอัตราที่รวดเร็วว่าที่คาดไว้ ประกอบกับการที่ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น นอกจากนี้ การซื้อขายยังมีปริมาณค่อนข้างน้อยเนื่องจากเข้าใกล้วันหยุดเทศกาล โดยรวมอัตราผลตอบแทนจึงปรับตัวขึ้นต่อ 0.01-0.09% และตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้นประมาณ 2.42 พันล้านบาท และขายสุทธิพันธบัตรระยะยาวประมาณ 2.41 พันล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย (19-23 ธันวาคม 2559)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สี่ของเดือนธันวาคม SET Index มีการแกว่งตัวลงจากระดับ 1,524 จุด ลงไปถึงระดับ 1,502 จุด โดยปัยจัยหลักยังคงเป็นแรงขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ ที่ตลอดสัปดาห์มีการขายสุทธิ 4.7 พันล้านบาท ทั้งนี้ การที่นักลงทุนต่างชาติยังคงมีการขายอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการขายทำกำไรในช่วงปลายปี การปรับสถานะการลงทุนก่อนเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ และความกังวลเกี่ยวกับค่าเงินดอลล่าร์จะแข็งค่าเมื่อทรัมป์เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี นอกจากนี้ นักลงทุนส่วนใหญ่เริ่มมีการชะลอการลงทุนเนื่องจากเทศกาลในช่วงสิ้นปี ทำให้มูลค่าการซื้อขายเริ่มเบาบางลง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกของ SET Index ยังคงมาจากเม็ดเงิน LTF/RMF และการทำ Window Dressing และจากผลการประชุมของ กนง. ที่มีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.5% ซึ่งเป็นไปตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ในส่วนของราคาน้ำมันดิบ WTI ตัวเลข Inventory ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยจากสัปดาห์ที่แล้ว แต่ปริมาณการซื้อขายเริ่มเบาบางลง สิ้นสัปดาห์ปิดที่ $52.95 ต่อบาร์เรล ราคาไม่เปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ที่แล้ว

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,509.98 จุด ปรับลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา -0.82%

ในส่วนของมุมมองระยะสั้นสำหรับช่วงเวลาสัปดาห์สุดท้ายของปี คาดว่า SET Index จะแกว่งตัวช่วงแคบๆ ด้วยปริมาณการซื้อขายที่เบาบาง เนื่องจากนักลงทุนชะลอการลงทุนและตลาดหุ้นในหลายประเทศหยุดทำการเนื่องในช่วงคริสต์มาส ส่งผลให้ในสัปดาห์สุดท้ายของปี Fund Flow อาจเห็นการชะลอตัวลง

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (13 – 16 ธันวาคม 2559 )

ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ของสหรัฐฯ มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% เป็นระดับ 0.50-0.75% และให้ความเห็นว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่ออีก 3 ครั้งในปีหน้า จากที่เคยคาดการณ์ไว้ 2 ครั้งในการประชุมเดือนกันยายน นอกจากนี้ยังแสดงความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจด้วยการปรับเพิ่มการคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ขึ้นเป็น 1.9% จาก 1.8% และปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2560 เป็น 2.1% จาก 2.0% เหตุการณ์สำคัญดังกล่าวส่งผลให้ค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก โดยดัชนีดอลลาร์ (US Dollar Index) แตะระดับ 103.11 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี และอัตราผลตอบแทน US Treasury ปรับตัวขึ้นต่อ โดย 10-Year และ 30-Year US Treasury Yield แตะระดับ 2.60% และ 3.19% ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา

สำหรับตลาดตราสารหนี้ไทย การซื้อขายค่อนข้างเบาบาง อัตราผลตอบแทนยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกช่วงอายุ โดยพันธบัตรระยะสั้น โดยเฉพาะรุ่นอายุน้อยกว่า 3 เดือนอัตราผลตอบแทนจากการประมูลปรับเพิ่มขึ้นมาจนเข้าใกล้ระดับดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนการประมูลพันธบัตรรุ่นอายุประมาณ 5.5 ปีให้อัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าตลาดรอง จึงมีส่วนผลักดันให้เส้นอัตราผลตอบแทนปรับตัวขึ้นต่อ ตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้นประมาณ 5.1 พันล้านบาท และขายสุทธิพันธบัตรระยะยาวประมาณ 3.01 พันล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย (13-16 ธันวาคม 2559)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สามของเดือนธันวาคม SET Index แกว่งตัวในกรอบ 1,514-1,531 Sideway Down จากปัจจัยหลักของการประชุม FOMC ที่ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% จาก 0.25-0.50% เป็น 0.50-0.75% และ Primary Credit Rate จาก 1% เป็น 1.25% นอกจากนี้ ในการประชุมนั้น Fed ส่งสัญญาณการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งในปี 2017 ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้ง จึงส่งผลกระทบต่อกระแส Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติ ทำให้นักลงทุนต่างชาติกลับมาขายสุทธิอีกครั้งหนึ่ง โดยขายสุทธิติดต่อกันตลอดทั้งสัปดาห์ยอดรวมทั้งสิ้น 6.4 พันล้านบาท และจากการส่งสัญญาณการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าที่คาดการณ์นั้น ทำให้ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ แข็งค่าจนทำสถิติสูงสุดใหม่ในรอบ 13 ปี ที่ 102.95 จุด เพิ่มขึ้น 1.34% WoW ซึ่งสวนทางกับราคาทองคำที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยราคาทองคำในตลาด COMEX ปิดที่ $1,133.3 ต่อ ทรอยออนซ์ ลดลง 2.17% WoW อย่างไรก็ตาม เม็ดเงินของกองทุน LTF/RMF ยังคงเป็นตัวหลักที่คอยหนุน SET Index ตามแรงซื้อของกลุ่มสถาบัน และจากที่การประชุม ครม. มีมติออกมาตรการ ”ช็อบช่วยชาติ” สามารถลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้อีก 15,000 บาท ในการใช้จ่ายในช่วงวันที่ 14-31 ธันวาคมนี้ ทำให้มีแรงซื้อหุ้นในกลุ่มที่เกี่ยวกับการบริโภคภายในประเทศเข้ามา และช่วยให้ SET Index ปรับตัวลงไม่มากนัก นอกจากนี้ ตลาดได้ยังได้รับผลดีจากการที่ศาลอนุมัติแผนฟื้นฟูกิจการของ SSI ที่ทำให้สถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ให้กับ SSI จะมีภาระในการตั้งสำรองฯน้อยลงในอนาคต และทำให้ NPL ของระบบธนาคารพาณิชย์ลดลง ในส่วนของราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ปรับตัวลดลงจากการที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่า

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,522.51 จุด ปรับลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา -0.25 %

ในส่วนของมุมมองระยะสั้นสำหรับช่วงเวลาที่เหลือของปี คาดว่า SET Index จะสามารถแกว่งตัวยืนเหนือระดับ 1,500 จุดได้ จากปัจจัยหลักมาจากเม็ดเงิน LTF/RMF ในช่วงปลายปี อย่างไรก็ตาม กระแส Fund Flow ไหลออกยังคงเป็นแรงกดหลักของ SET Index ในส่วนของปัจจัยที่น่าควรติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การประชุมนโยบายทางการเงินของ BOJ และ กนง. ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าจะคงดอกเบี้ยที่ระดับเดิม

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (6 – 9 ธันวาคม 2559 )

ตลาดต่างประเทศในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดเงินโดยเฉพาะค่าเงินยูโรมีความผันผวน หลังจากผลการลงประชามติของอิตาลีบ่งชี้ว่าประชาชนไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญของประเทศ ส่วนผลการประชุมคณะกรรมการธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรป (ECB) ตัดสินใจคงนโยบายการเงินตามที่นักวิเคราะห์คาด โดยคงอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อ Refinancing (MRO) ที่ 0% และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ -0.40% นอกจากนี้ยังขยายเวลาโปรแกรมการซื้อพันธบัตรและสินทรัพย์จากเดิมที่จะหมดอายุในเดือนมีนาคมปีหน้า ไปยังมีผลไปจนถึงเดือนธันวาคมปีหน้าหรือนานกว่านั้นหากมีความจำเป็น อย่างไรก็ตาม ECB ได้ปรับลดอัตราการซื้อพันธบัตรและสินทรัพย์ (QE) ลงเหลือ 60 พันล้านยูโรต่อเดือน จากเดิมที่ระดับ 80 พันล้านยูโรต่อเดือน ส่วนตลาดสหรัฐฯ นักลงทุนให้ความสนใจไปยังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ที่จะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า โดยเฉพาะมุมมองต่อประมาณการเศรษฐกิจและความเห็นต่อระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมในระยะข้างหน้า

US Treasury Yield ยังคงปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยรุ่น 2 ปีและ 10 ปีปิดที่ระดับ 1.15% และ 2.49% ตามลำดับ ส่วนตลาดตราสารหนี้ไทยค่อนข้างเงียบ การประมูลพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุประมาณ 15 ปี มีผู้สนใจเสนอซื้อประมาณ 8 พันล้านบาทจากจำนวนเสนอขาย 15 พันล้านบาท ตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้นประมาณ 1.79 พันล้านบาท และขายสุทธิพันธบัตรระยะยาว 823 ล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย (6-9 ธันวาคม 2559)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สองของเดือนธันวาคม SET Index มีการแกว่งตัวขึ้นตลอดทั้งสัปดาห์ และสามารถยืนเหนือระดับ 1,500 จุดได้ แม้ว่าในช่วงต้นสัปดาห์จะมีประเด็นการลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของอิตาลีที่ทำให้ความเสี่ยงในยุโรปเพิ่มขึ้น จากการที่นายกรัฐมนตรีของอิตาลีลาออก และมีความกังวลเกี่ยวกับการเลือกตั้งใหม่ ที่มีโอกาสที่พรรค Five Star Movement ซึ่งชูนโยบายนำอิตาลีออกจากสหภาพยูโร จะได้รับคะแนนเสียงมากขึ้น รวมถึงความล่าช้าในการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินของอิตาลี แต่นักลงทุนแทบจะไม่ให้ความสำคัญกับความเสี่ยงนี้ เพราะคาดว่าโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงยังต้องใช้เวลา แต่ผลการลงประชามติทำให้ความไม่แน่นอนหมดไป ตลาดหุ้นในต่างประเทศจึงปรับตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผล Sentiment เชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทยด้วย นอกจากนี้ ในช่วงกลางสัปดาห์ตลาดหุ้นยังได้รับผลดีจากผลการประชุมของ ECB ที่ได้ขยายเวลาการทำ QE ออกไปอีก 9 เดือน (จากสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2560 ไปเป็นสิ้นสุดเดือนธันวาคม 2560) แต่ในช่วงต่อขยายนั้นได้ลดวงเงินจาก 8 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนเหลือ 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน ทั้งนี้ ผลของการขยายเวลานั้น ทำให้สภาพคล่องในระบบการเงินยังคงอยู่สูง และมีโอกาสเข้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงได้มากขึ้นและนานขึ้น ตลาดทั้งสัปดาห์ นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิ 4 วันติดต่อกันรวม 2.9 พันล้านบาท ในส่วนของราคาน้ำมัน ปรับตัวลดลงเล็กน้อยหลังจากมีการชะลอการลงทุน เพื่อรอผลการประชุมระหว่างกลุ่ม OPEC และ Non-OPEC ที่จะมีในช่วงสุดสัปดาห์ ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง -0.3% ปิดที่ $51.5 ต่อบาร์เรล

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,526.32 จุด ปรับขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 1.64 %

ในส่วนของมุมมองระยะสั้นสำหรับช่วงเวลาที่เหลือของปี ตลาดยังมีแนวโน้มแกว่งขึ้นได้ เนื่องจากตลาดหุ้นยังน่าจะได้รับผลบวกจากแรงซื้อของกองทุน LTF/RMF ในช่วงปลายปี และการปรับหุ้นเข้าคำนวณ SET50 และ SET100 รอบใหม่ ที่จะประกาศในวันที่ 14-15 ธันวาคมนี้ ในขณะที่ความเสี่ยงของตลาดในช่วงที่เหลือของปี จะอยู่ที่ถ้อยแถลงเกี่ยวกับทิศทางดอกเบี้ยของ Fed ว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องและปรับขึ้นอย่างรวดเร็วหรือไม่