ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (13 – 17 มีนาคม 2560 )

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ของสหรัฐฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนนเสียง 9-1 ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 0.75-1.00% ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้ และเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในปีนี้ โดย FOMC ระบุว่าตลาดแรงงานและตลาดอสังหาริมทรัพย์เติบโตได้ดี การขยายตัวของการจ้างงานแข็งแกร่ง นอกจากนี้ ยังคงประมาณการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ และปรับขึ้นอีก 3 ครั้งในปีหน้า

ทางด้านธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.25% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินตามที่คาดการณ์ และยังมีมติด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ให้คงวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรรัฐบาลตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ที่ระดับ 4.35 แสนล้านปอนด์ และคงวงเงินซื้อหุ้นกู้ภาคเอกชนที่ระดับ 1 หมื่นล้านปอนด์

จากผลการประชุมนโยบายการเงินของประเทศสำคัญ นักลงทุนต่างคลายความกังวลเนื่องจาก FED ส่งสัญญาณว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้มีแรงซื้อเข้ามายังตลาดตราสารหนี้ อัตราผลตอบแทนจึงปรับลดลง ซึ่งตลาดตราสารหนี้ไทยก็มีทิศทางเช่นเดียวกัน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับลดลง 0.01-0.06% โดยเฉพาะในรุ่น 2-15 ปี ที่มีการซื้อขายกันมาก และตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับมาซื้อสุทธิบ้าง โดยขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 944 ล้านบาท และซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาวประมาณ 4.66 พันล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย (6 – 10 มีนาคม 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์สองของเดือนมีนาคม SET Index ปรับตัวลดลงตลอดทั้งสัปดาห์ จากปัจจัยความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ที่จะมีการประชุมในวันที่ 14-15 มีนาคมนี้ ซึ่งจากการให้สัมภาษณ์ของสมาชิกและประธาน FOMC ที่ให้ความเห็นตรงกันว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตดีพอที่จะสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ ทำให้ Bloomberg Consensus ปรับประมาณการขึ้นเป็น 100% และปรับเป้าการขึ้นดอกเบี้นจากเดิมที่เคยตั้งไว้ 2 ครั้งเป็น 3 ครั้งในปี 2560 นี้ ทำให้นักลงทุนมีลดการลงทุนในตลาดหุ้นของตลาดเกิดใหม่ลง และส่งผลให้ในสัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติยังคงเป็น Net Sell ที่ 7 พันล้านบาท ขณะเดียวกัน นักลงทุนในประเทศก็ชะลอการลงทุนเพื่อรอดูผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยังได้รับผลกระทบจากการเทขายหุ้น GL เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับข้อสังเกตของผู้ตรวจสอบบัญชีว่ามีการปล่อยกู้ให้บริษัทในประเทศสิงคโปร์และไซปรัส โดยหลักประกันบางส่วนใช้หุ้น GL เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน และมีการ Rollover เงินกู้จากระยะสั้นเป็นระยะยาว ซึ่งทำให้เกิดข่าวลือเกี่ยวกับความโปร่งใสในการประกอบธุรกิจ และนักลงทุนไม่เชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจในต่างประเทศของ GL และมีการขายหุ้น GL ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงจาก 57 บาท เหลือ 25 บาท ในเวลาเพียง 1 สัปดาห์

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (6 – 10 มีนาคม 2560)

ตลาดการเงินในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังคงได้รับอิทธิพลจากกระแสคาดการณ์เพิ่มขึ้นในตลาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้ และยังได้รับปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนเดือนก.พ. โดย ADP ที่แตะระดับ 298,000 ราย ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 187,000 ราย และเป็นการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานภาคเอกชนที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. ปี 2014 ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐรุ่นอายุ 10 ปีเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปแตะระดับ 2.60% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา

ส่วนผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) เป็นไปตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ โดยมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0%, คงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB ที่ระดับ -0.4% และคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ระดับ 0.25% ขณะเดียวกัน ECB ได้ประกาศคงวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ที่ระดับ 8 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนจนถึงสิ้นเดือนมี.ค ก่อนที่จะปรับลดลงสู่ระดับ 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน ตั้งแต่เดือนเม.ย. – ธ.ค. โดยการปรับลดวงเงินการซื้อพันธบัตรในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น เป็นไปตามที่ ECB เคยประกาศไว้ในการประชุมเดือนธ.ค. ที่ผ่านมา พร้อมกันนี้นายมาริโอ ดรากี ประธาน ECB ยังส่งสัญญาณว่าจะเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป เนื่องจากแรงหนุนเงินเฟ้อในยูโรโซนยังคงอยู่ในระดับต่ำ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (27 กุมภาพันธ์ – 3 มีนาคม 2560 )

ในรอบสัปดาห์นี้ ตลาดเงินตลาดทุนของสหรัฐมีหลายเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดมุมมองในเชิงบวกต่อภาพรวมเศรษฐกิจและการเติบโต ซึ่งส่งผลกระทบต่อดัชนีตลาดหุ้น ค่าเงิน และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในหลายประเทศ กล่าวคือ กรรมการ FOMC หลายท่านออกมาให้ความเห็นในเชิงสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ย และประธานธนาคารกลางสหรัฐ เจเน็ต เยลเลน ออกมาย้ำว่าการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 14-15 มี.ค. นี้มีความเหมาะสม เหตุการณ์ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวสุนทรพจน์ต่อสภาคองเกรสเป็นครั้งแรก โดยประกาศแผนงบประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์ในการลงทุนโครงการสาธารณูปโภค แผนการปรับลดภาษีสำหรับชนชั้นกลางและปฏิรูประบบภาษีให้บริษัทสหรัฐสามารถแข่งขันทางการค้าในตลาดโลกได้มากขึ้น ตลอดจนตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่แสดงให้เห็นถึงการเติบโต เช่น ยอดผู้เข้ารับรัฐสวัสดิการการว่างงานใหม่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ / ตัวเลข GDP ในไตรมาสที่ 4 ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 1.9% แม้จะน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ในรายละเอียดประกอบไปด้วยการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการลงทุนจากภาคธุรกิจที่สูงขึ้นโดยเฉพาะการลงทุนด้านโครงสร้าง

เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นตลอดทั้งเส้นได้สะท้อนมุมมองดังกล่าว ซึ่งมีส่วนทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับเพิ่มขึ้นตาม ประกอบกับมีการประมูลพันธบัตรรุ่นอายุประมาณ 5 ปีในช่วงกลางสัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงอายุที่มีนักลงทุนถือครองมาก ทำให้มีแรงขายออกมาจากความกังวลถึงความเคลื่อนไหวในอัตราผลตอบแทนตามสหรัฐ โดยรวมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับเพิ่มขึ้น 0.01-0.08% โดยเฉพาะในช่วงกลางของเส้นอัตราผลตอบแทน และตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิทั้งพันธบัตรระยะสั้นและพันธบัตรระยะยาวประมาณ 8.3 พันล้านบาท และ 3.3 พันล้านบาท ตามลำดับ

ภาวะตลาดหุ้นไทย (27 – 3 มีนาคม 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคม SET Index แกว่งตัวในช่วงแคบในกรอบ 1,573 – 1,555 จุด หลังจากผลประกอบการในไตรมาส 4 ของบริษัทจดทะเบียนประกาศเสร็จสิ้นลงแล้ว โดยภาพรวมแล้วในไตรมาสที่ 4 กำไรเติบโต 20% และในปี 2559 มีการเติบโตสูงถึง 37% ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ และการแถลงนโยบายอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีทรัมป์ต่อสภาคองเกรสในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ยังคงให้ภาพรวมที่จะดำเนินการตามนโยบายที่หาเสียงไว้ ทั้งการลงทุนด้านสาธารณูปโภค การลดภาษี และการปฏิรูปกฎระเบียบเพื่อเอื้อต่อการประกอบธุรกิจของพลเมืองอเมริกา แม้ว่าจะยังไม่ให้รายละเอียดเพิ่มเติม ทำให้มีแรงซื้อหุ้นเข้ามาในช่วงต้นสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม การกล่าวสุนทรพจน์ของประธาน Fed หลายท่านในหลายวาระที่สนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้มีการคาดการณ์ว่า Fed จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมในวันที่ 14-15 มีนาคมนี้ โดย Bloomberg Consensus ให้ความน่าจะเป็นในการขึ้นดอกเบี้ยอยู่ที่ 94% ทำให้มีแรงขายกลับเข้ามาในช่วงปลายสัปดาห์ ทำให้ตลอดทั้งสัปดาห์ นักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิที่ 5.3 พันล้านบาท ในส่วนของราคาน้ำมันดิบ WTI ยังแกว่งตัวในกรอบ $53-54 ต่อบาร์เรล แม้ว่าราคาน้ำมันดิบจะถูกกดดันโดยสต๊อกน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นของสหรัฐฯ แต่การลดปริมาณการผลิตของกลุ่ม OPEC และ Non-OPEC ยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้ราคาแกว่งอยู่เหนือ $50ต่อบาร์เรลได้ โดยสิ้นสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบปิดที่ $53.33 ต่อบาร์เรล ปรับตัวลงเล็กน้อยจากสัปดาห์ที่ผ่านมา -1.22%

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,566.20 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.10%

มุมมองตลาดระยะสั้น SET Index มีแนวโน้มจะอ่อนตัวลง จากความกังวลเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed และอาจจะเห็น Fund Flow ไหลออกจากภูมิภาค

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (20 – 24 กุมภาพันธ์ 2560)

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง โดยรุ่นอายุประมาณ 10 ปีลดลงมาอยู่ที่ 2.31% จากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 2.41% ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น รายงานการประชุมล่าสุดของเฟดที่ไม่ได้ทำให้ตลาดเปลี่ยนการคาดการณ์เรื่องการขึ้นดอกเบี้ยครั้งถัดไป, ประเด็นการเมืองในฝรั่งเศส และสัญญาณล่าสุดจากรัฐบาลสหรัฐที่ว่าแผนกระตุ้นเศรษฐกิจอาจล่าช้าออกไป ในขณะที่ตลาดเฝ้ารอการแถลงนโยบายประจำปีต่อรัฐสภาของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 28 ก.พ. และสุนทรพจน์ของประธานเฟดในวันที่ 3 มี.ค.

สำหรับตลาดตราสารหนี้ไทย มีการประมูลพันธบัตรรัฐบาลตลาดแรกรุ่นอายุประมาณ 30 ปี จำนวน 12,000 ล้านบาท ซึ่งได้รับความสนใจพอสมควรจากนักลงทุน ส่วนตลาดรองอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุมากกว่า 3 ปีขึ้นไปปรับลดลง 0.01-0.05% ปริมาณการซื้อขายจากนักลงทุนต่างชาติยังคงเป็นการซื้อสุทธิ โดยซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้นและพันธบัตรระยะยาวประมาณ 1.66 พันล้านบาทและ 1.15 พันล้านบาทตามลำดับ

ภาวะตลาดหุ้นไทย (20 – 24 กุมภาพันธ์ 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สี่ของเดือนกุมภาพันธ์ SET Index มีการปรับตัวลดลงตลอดทั้งสัปดาห์ในกรอบ 1,581-1,561 จุด แม้ว่าข่าวเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ปี 2559 จะออกมาในทิศทางที่ค่อนข้างดี กล่าวคือการประกาศ GDP ของไทยสำหรับไตรมาสที่ 4 มีการเติบโตที่ 3% ทำให้โดยรวมทั้งปี GDP เพิ่มขึ้น 3.2% YoY และการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ของบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาประมาณ 70% แล้วนั้น ในภาพรวมมีอัตราการเติบโตที่ใกล้เคียงกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนได้ถือโอกาสขายในช่วงที่มีการประกาศตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจและผลประกอบการที่ใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้นั้น (Sell on Fact) หลังจากที่หุ้นหลายตัวมีการปรับตัวขึ้นรับข่าวการประกาศผลประกอบการไปก่อนหน้านี้แล้ว นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับผลกระทบจากการที่นายกรัฐมนตรีใช้คำสั่ง ม.44 สั่งปลดคณะกรรมการและผู้ว่าการ รฟท. และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการและผู้ว่าการ รฟม.ใหม่ รวมทั้งการตั้งคณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้างเข้ามากำกับดูแลการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐให้มีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น และทำให้กระบวนการประกวดราคาประมูลก่อสร้างรถไฟรางคู่ 5 เส้นทางล่าช้าออกไป และอาจส่งผลกระทบให้การประมูลก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่อื่น ๆ ล่าช้าออกไปด้วย ทำให้นักลงทุนมีการเทขายหุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้างออกมา ทั้งนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติกลับมาเป็น Net Buy เล็กน้อยที่ 329 ล้านบาท ในส่วนของราคาน้ำมันดิบยังคงแกว่งที่ $53-54 ต่อบาร์เรล และทำจุดสูงสุดในรอบ 19 เดือน จากการประชุม Technical Meeting ติดตามผลการลดกำลังการผลิต ซึ่งกลุ่ม OPEC และ Non-OPEC ทำได้ดีตามปริมาณที่ตกลง และเชื่อว่าจะสามารถลดกำลังการผลิตถึงจุดที่ตกลงกันไว้ได้ ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยที่คอยสนับสนุนหุ้นกลุ่มพลังงานได้

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,564.59 จุด ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว -0.84%

มุมมองตลาดระยะสั้น ปัจจัยภายนอกยังเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยได้ ตลาดยังคนให้ความสนใจกับนโยบายด้านภาษีของสหรัฐฯ ซึ่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะมีการแถลงนโยบายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ และการประชุม FOMC ที่จะมีในวันที่ 14-15 มีนาคม ซึ่งนักลงทุนยังคงให้ความสำคัญกับประเด็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Fund Rate แม้ว่าตลาดคาดการณ์โอกาสปรับขึ้นเพียง 34% สำหรับการประชุมในครั้งนี้

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (14 – 17 กุมภาพันธ์ 2560)

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา นางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐได้แถลงต่อสภาคองเกรส โดยแสดงมุมมองเป็นบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐ และยืนยันถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อในปีนี้แต่ไม่ได้บอกช่วงเวลาที่ชัดเจน ซึ่งคณะกรรมการ FOMC จะประเมินดูการจ้างงานและเงินเฟ้อว่าปรับตัวสอดคล้องกับระดับการคาดการณ์เป็นครั้งไป นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญที่ประกาศออกมาและส่งสัญญาณที่ดีขึ้น เช่น ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนมกราคมเพิ่มขึ้น 0.6% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 4 ปี / จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ที่ปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่คาด เป็นต้น ประกอบกับความเคลื่อนไหวในเชิงบวกจากประธานาธิบดีทรัมป์ที่ให้คำมั่นว่าจะดำเนินการปรับลดภาษีและลดกฏระเบียบในภาคอุตสาหกรรม เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ดัชนีราคาหุ้นปรับตัวขึ้นต่อ แต่ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (US Treasury Yield) ปรับตัวขึ้นมาจากสัปดาห์ก่อนหน้า

ส่วนตลาดตราสารหนี้ไทย มีการประมูลพันธบัตรรัฐบาลตลาดแรกรุ่นอายุประมาณ 15 ปี ซึ่งได้รับความสนใจมากจากนักลงทุน เนื่องจากอยู่ในช่วง Yield Curve ที่ชันมากและปริมาณที่มีน้อย อัตราผลตอบแทนโดยรวมไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงนัก นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้นและพันธบัตรระยะยาวประมาณ 139 ล้านบาทและ 4.83 พันล้านบาทตามลำดับ

ภาวะตลาดหุ้นไทย (14 – 17 กุมภาพันธ์ 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สามของเดือนกุมภาพันธ์ SET Index แกว่งตัวในกรอบ 1,586 – 1,561 จุด จากถ้อยแถลงของประธาน Fed ในช่วงต้นสัปดาห์ เรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ US ที่สามารถฟื้นตัวได้ดีจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรอในการขึ้นของดอกเบี้ย ทำให้นักวิเคราะห์คาดว่า Fed จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน ทำให้มีความผันผวนในตลาดหุ้นไทย และนักลงทุนต่างชาติยังคงเป็น Net Sell ที่ 1 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสนับสนุนหลักของตลาดหุ้นไทยคือการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 4/2559 ของบริษัทจดทะเบียน ที่ทยอยประกาศออกมา ซึ่งโดยภาพรวมจะเป็นไปตามคาดหรือดีกว่าคาด ในขณะที่กลุ่มพลังงานยังถูกกดันจากการที่ปริมาณ Rig Count ในสหรัฐฯยังคงเพิ่มขึ้น และ Inventory ของน้ำมันในสหรัฐฯยังคงเพิ่มขึ้น แม้ว่าราคาน้ำมันจะยังคงแกว่งตัวที่ระดับ $52-53 ต่อบาร์เรลก็ตาม

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,577.84 จุด ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว -0.47%

มุมมองตลาดระยะสั้น คาดว่าตลาดยังคงมีการแกว่งตัวในระดับ 1,570-1,600 จุด โดยนักลงทุนยังให้ความสำคัญกับการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ปีที่ผ่านมาของบริษัทจดทะเบียน ที่ทยอยประกาศออกมามากขึ้น และเชื่อว่าหากผลประกอบการออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ SET Index ปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 1,600 จุดได้ อย่างไรก็ตาม ในระยะถัดไป นักลงทุนควรให้ความสนใจกับประเด็นการเลือกตั้งที่ประเทศฝรั่งเศส ในวันที่ 23 เมษายน และวันที่ 7 พฤษภาคม 2560 ที่พรรค National Front ของ นาง Marine Le Pen ซึ่งมีนโยบายชาตินิยมและต้องการนำฝรั่งเศสถอนตัวออกจาก Euro Zone กำลังได้รับการสนับสนุนมากยิ่งขึ้น ซึ่งได้รับคะแนนความนิยมถึง 34% ตามหลัง นาย Emmanuel Macron เพียง 5%

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (6 – 10 กุมภาพันธ์ 2560 )

ตลาดต่างประเทศในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางการเมืองในยุโรป เนื่องจากจะมีการเลือกตั้งในหลายประเทศในปีนี้ทั้งฝรั่งเศส, เนเธอร์แลนด์, เยอรมนี และอิตาลี รวมถึงกังวลว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจปรับลดการซื้อพันธบัตรรายเดือนลงด้วย ทำให้ค่าเงินยูโรปรับตัวลงต่ำสุดในรอบเกือบ 2 สัปดาห์ ส่วนตลาดสหรัฐฯ ได้รับปัจจัยหนุนจากเรื่องดังกล่าว ประกอบกับตัวเลขทางเศรษฐกิจบางตัวที่ออกมาดี เช่น ยอดผู้รับเงินชดเชยการว่างงานในสหรัฐฯ ลดลงมากกว่าที่คาดไว้, การขาดดุลการค้าเดือนธ.ค. ปรับลดลงมากกว่าการคาดการณ์ ตลอดจนการแสดงความคิดเห็นของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ที่จะประกาศแผนภาษีครั้งใหญ่ในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ทำให้ดัชนีราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น และค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลต่าง ๆ

ทางด้านตลาดการเงินของไทย ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งแรกของปี มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี โดยคณะกรรมการฯ เห็นว่าแม้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเริ่มชัดเจนมากขึ้น แต่ยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนอยู่มากโดยเฉพาะจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง และความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ คณะกรรมการฯ จึงเห็นว่านโยบายการเงินยังควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อเนื่องและพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสม ส่วนการซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลไทยในตลาดรอง อัตราผลตอบแทนโดยรวมปรับลดลงเล็กน้อย นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิทั้งพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาวประมาณ 26.22 พันล้านบาท และ 1.98 พันล้านบาทตามลำดับ