ภาวะตลาดหุ้นไทย (6 – 10 กุมภาพันธ์ 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สองของเดือนกุมภาพันธ์ SET Index มีการแกว่งตัวขึ้นเกือบตลอดสัปดาห์ แต่ยังไม่สามารถปรับตัวทะลุระดับ 1,600 จุดไปได้ โดยตลาดหุ้นไทยได้รับการสนับสนุนจากการที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯเตรียมลงนามประกาศการปรับลดภาษี Corporate Tax ในอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า การที่ TOT เปิดให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ร่วมเสนอตัวให้บริการไร้สายในคลื่นความถี่ 2,300 MHz และการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ของกลุ่ม INTUCH ที่ออกมาดีกว่านักวิเคราะห์คาดไว้ ที่ทำให้หุ้นกลุ่ม ICT ปรับตัวขึ้น ในขณะที่ผลการปรับน้ำหนักการคำนวน MSCI ไม่มีหุ้นที่ถูกเสนอเข้าและถอนออก มีการปรับน้ำหนักเพียงเล็กน้อยแต่ไม่มีนัยสำคัญต่อตลาด ทั้งนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติพลิกกลับมาเป็น Net Buy ที่ 1.5 พันล้านบาท ในส่วนของราคาน้ำมันดิบ WTI สิ้นสัปดาห์ปิดที่ $53.86 ต่อบาร์เรล ปรับเพิ่มเพียงเล็กน้อยจากสัปดาห์ที่ผ่านมา +0.06% WoW

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,585.24 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว +0.14%

มุมมองตลาดระยะสั้น คาดว่าตลาดยังคงมีการแกว่งตัวในระดับ 1,570-1,600 จุด โดยนักลงทุนยังให้ความสำคัญกับการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ของบริษัทจดทะเบียน ที่ทยอยประกาศออกมามากขึ้น และเชื่อว่าหากผลประกอบการออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ Set Index ปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 1,600 จุดได้ อย่างไรก็ตาม ในระยะถัดไป นักลงทุนควรให้ความสนใจกับประเด็นการเลือกตั้งที่ประเทศฝรั่งเศส ในวันที่ 23 เมษายน และวันที่ 7 พฤษภาคม 2560 ที่พรรค National Front ของ นาง Marine Le Pen ซึ่งมีนโยบายชาตินิยมและต้องการนำฝรั่งเศสถอนตัวออกจาก Euro Zone กำลังได้รับการสนับสนุนมากยิ่งขึ้น และการดำเนินนโยบายบริหารประเทศของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในประเด็นที่อาจเกิดความขัดแย้งทางสังคมหรือความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศ

บลจ.ทาลิส จัดสัมมนา “มุมมองเศรษฐกิจและการลงทุนปีไก่ทอง”

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาส (กลาง) ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) กระทรวงการคลัง ให้เกียรติถ่ายภาพร่วมกับ คุณฉัตรพี ตันติเฉลิม (ขวา) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร คุณประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ (ซ้าย) ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทาลิส จำกัด ในงานสัมมนา

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (30 มกราคม – 3 กุมภาพันธ์ 2560 )

ผลการประชุมนโยบายการเงินของประเทศสำคัญในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้แก่ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) คงนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบที่ -0.1% คงอัตราการซื้อพันธบัตรและสินทรัพย์ (QQE) ที่ระดับ 80 ล้านล้านเยนต่อปี และมีมุมมองว่าเศรษฐกิจมีการพัฒนาที่ดีเพิ่มขึ้น แต่ยังมีความเสี่ยงหลักจากนโยบายทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่เปลี่ยนแปลงไป คณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐ (FOMC) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50-0.75% โดยได้แสดงมุมมองในด้านบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน อัตราการว่างงานลดลงมาอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่เงินเฟ้อจะปรับตัวขึ้นในระยะกลางใกล้ระดับเป้าหมายที่ 2% และเศรษฐกิจจะขยายตัวในระดับปานกลาง และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) คงอัตราดอกเบี้ยและคงวงเงินซื้อพันธบัตรไว้เท่าเดิม มีกรรมการบางท่านกังวลถึงการเร่งตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อบ้าง และยังมองความเสี่ยงหลักเป็น Downside Risk จาก Brexit

ความกังวลถึงความไม่แน่นอนจากผลของนโยบายใหม่จากประธานาธิบดีทรัมป์ เช่น คำสั่งพิเศษเพื่อระงับการผ่านเข้าประเทศสหรัฐฯ ของพลเมืองจาก 7 ประเทศมุสลิมเป็นเวลา 90 วัน / ห้ามผู้ลี้ภัยจากทุกประเทศเข้าสหรัฐฯ เป็นเวลา 120 วัน / การประชุมกับตัวแทนระดับสูงของธนาคารในสหรัฐฯ เพื่อหารือเรื่องการผ่อนคลายกฏเกณฑ์ภาคการเงิน เป็นต้น ทำให้นักลงทุนในตลาดต่างประเทศหันมาถือทองและพันธบัตร อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยจึงปรับตัวลงบ้างตามตลาดต่างประเทศ ยกเว้นในรุ่นอายุประมาณ 10 ปีที่มีการประมูลในวันพุธและอัตราผลตอบแทนที่รับสูงกว่าตลาดรอง ส่วนมูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติตลอดทั้งสัปดาห์ เป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาวประมาณ 17.33 พันล้านบาทและ 6.55 พันล้านบาทตามลำดับ

ภาวะตลาดหุ้นไทย (30 มกราคม – 3 กุมภาพันธ์ 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ SET Index มีการแกว่งตัวลงเกือบตลอดสัปดาห์ ในขณะที่ปริมาณการซื้อขายก็เบาบางลง เนื่องจากเทศกาลวันหยุดตรุษจีนในหลายประเทศในเอเชีย ปัจจัยหลักที่ทำให้ตลาดปรับตัวลงมาจากการที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ มีการเซ็นคำสั่งประธานาธิบดีระงับการเข้าประเทศสหรัฐฯของพลเมือง 7 ประเทศมุสลิม ซึ่งทำให้มีความวิตกกังวลว่าอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ทำให้นักลงทุนมีการเทขายหุ้นออกมาเพื่อลดความเสี่ยง ในขณะที่การประชุม FOMC นั้น ที่ประชุม FOMC มีมติคงดอกเบี้ย Fed Fund Rate ไว้ที่ 0.75% ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ ในขณะที่ปัจจัยที่ยังสนับสนุนตลาดอยู่ยังคงเป็นราคาน้ำมันดิบที่ยังปรับตัวขึ้น ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมาปิดสิ้นสัปดาห์อยู่ที่ $53.83 ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 2.4% จากสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติยังคงเป็น Net Sell 4 พันล้านบาท

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,582.95 จุด ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว -0.15%

มุมมองตลาดระยะสั้น คาดว่าตลาดยังมีการแกว่งตัวในทิศทางขาขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนคือการเก็งกำไรการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ของบริษัทจดทะเบียน และการซื้อหุ้นเพื่อรอรับเงินปันผลจากผลประกอบการปี 2559 ในขณะที่ปัจจัยที่ต้องจับตามอง ยังคงเป็นการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการเมืองของประธานาธิบดีใหม่ของสหรัฐฯ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (23 – 27 มกราคม 2560 )

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความคืบหน้าของแผนการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษซึ่งรัฐบาลประกาศจะชี้แจงรายละเอียดของแผน หลังจากศาลฎีกามีคำวินิจฉัยว่า นายกรัฐมนตรีไม่สามารถประกาศใช้มาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอนของสหภาพยุโรปเพื่อเริ่มต้นกระบวนการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปได้ ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน ทางด้านตลาดเงินตลาดทุนของสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดี ทรัมป์ เริ่มพูดถึงรายละเอียดของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น เช่น อาจจะมีการผ่อนคลายกฎสำหรับผู้ผลิตรถยนต์และสิทธิพิเศษทางภาษี ในขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาในสัปดาห์นี้แย่กว่าที่คาด เช่น GDP ไตรมาสที่ 4 ขยายตัวที่ 1.9% ซึ่งน้อยกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดไว้ที่ 2.2%, จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกมากกว่าค่าเฉลี่ย และยอดขายบ้านใหม่เดือนธ.ค. 59 ลดลงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังต่อมาตรการของรัฐบาลที่จะเอื้ออำนวยต่อภาคธุรกิจและการจ้างงาน และรายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ของบริษัทใหญ่หลายแห่งออกมาดี ทำให้ตลาดหุ้นนิวยอร์กทำสถิติปิดที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจึงปรับตัวขึ้น และส่งผลกระทบต่อตลาดเงินของประเทศอื่นให้เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันด้วย

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวขึ้นตามตลาดต่างประเทศ 0.02-0.12% โดยเฉพาะในรุ่นอายุ 5 ปีขึ้นไป ในสัปดาห์นี้มีการประมูลพันธบัตรรัฐบาลตลาดแรกในรุ่นอายุประมาณ 20 ปี ซึ่งถูกรับประมาณ 31 พันล้านบาทจากจำนวนเสนอขาย 35 พันล้านบาท และอัตราผลตอบแทนปรับตัวขึ้นจากวันก่อนหน้าประมาณ 0.10% สำหรับตลาดรองตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาวประมาณ 25 ล้านบาทและ 5.5 พันล้านบาทตามลำดับ

ภาวะตลาดหุ้นไทย (23 – 27 มกราคม 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สี่ของเดือนมกราคม SET Index มีการแกว่งตัวขึ้นตลอดสัปดาห์ โดย SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 1.78% ขึ้นไปทดสอบที่ระดับ 1,600 จุดในช่วงกลางสัปดาห์เป็นครั้งแรกในรอบ 22 เดือน โดยตัวแปรหลักยังคงเป็นราคาน้ำมันดิบที่ยังคงสามารถยืนได้เหนือ $50 ต่อบาร์เรล โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบแกว่งตัวที่ $52 – $53 ต่อบาร์เรล จากการลดกำลังผลิตของกลุ่ม OPEC อย่างไรก็ตาม ในระยะถัดไปยังคงต้องติดตามเกี่ยวกับ Stock น้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นอย่าต่อเนื่องของสหรัฐฯที่อาจเป็นปัจจัยลบต่อตลาด ในส่วนของนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเริ่มมีการดำเนินการตามนโยบายที่หาเสียงมากขึ้น โดยประธานาธิบดีมีการลงนามการถอนตัวจาก TPP และให้สร้างกำแพงชายแดนเม็กซิโก เพื่อป้องกันแรงงานอพยพ ทั้งนี้ Fund Flow ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ต่างชาติยังคงเป็น Net Sell ที่ 500 ล้านบาท ผู้ซื้อหลักยังคงเป็นสถาบันในประเทศ

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,590.80 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 1.78%

ในส่วนของมุมมองตลาดระยะสั้น เริ่มเห็นทิศทางการอ่อนค่าของเงินดอลล่าร์ ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จากนโยบายการค้าของ Trump และจะมีการประชุม FOMC ในวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์ ทำให้เห็นต่างชาติเริ่มมีการชะลอการลงทุนอีกครั้ง

ภาวะตลาดหุ้นไทย (16 – 20 มกราคม 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สามของเดือนมกราคม SET Index มีการแกว่งลงเกือบตลอดสัปดาห์ โดยปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อตลาดยังคงมาจากปัจจัยต่างประเทศ โดยนักลงทุนมีการขายทำกำไรในตลาดหุ้นก่อนพิธีเข้ารับตำแหน่งประธานาธิปดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ โดยประธานาธิบดีคนใหม่มีการกล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าประชาชน ประเด็นหลัก ๆ ยังคงเป็นการสนับสนุนการจ้างงานในประเทศ การลดภาษีทั้งระบบ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการกีดกันแรงงานต่างชาติ ซึ่งเป็นนโนบายหลักตั้งแต่ตอนหาเสียง และจากการขายทำกำไรในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนสถาบันในประเทศมีการขายทำกำไรตามออกมาด้วย ซึ่งคาดว่าส่วนหนึ่งจะเป็นการขายของกองทุน LTF/RMF ที่ผู้ถือหน่วยไถ่ถอนเมื่อมีการลงทุนครบระยะเวลาเพื่อให้ได้สิทธิทางภาษี นอกจากนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการผลประกอบการไตรมาส 4 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งกำไรสุทธิเติบโตขึ้นตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ แต่ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ยังมีความกังวลเกี่ยวกับหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีการขายทำกำไรหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ออกมาด้วย อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายสัปดาห์ ในการประชุมของผู้ผลิตน้ำมันเกี่ยวกับความคืบหน้าการลดกำลังการผลิตนั้น จากรายงานพบว่าบรรดาประเทศผู้ผลิตน้ำมันสามารถลดกำลังการผลิตได้แล้ว 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเป้าหมายการลดกำลังการผลิตอยู่ที่ 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้สิ้นสัปดาห์ ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $53.22 ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.62% WoW ซึ่งช่วยให้หุ้นกลุ่มพลังงานฟื้นตัวขึ้นบ้าง

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,562.99 จุด ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว -0.78%

ในส่วนของมุมมองตลาดระยะสั้น ตลาดหุ้นไทยยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ จากปัจจัยการประกาศผลประกอบการไตรมาส 4 ซึ่งเชื่อว่าผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่จะมีการปรับตัวที่ดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา ในขณะที่ปัจจัยต่างประเทศ ยังต้องติดตามการปฏิบัติตามนโยบายที่เคยหาเสียงของประธานาธิปดีสหรัฐฯในช่วง 100 วันแรกหลังรับตำแหน่ง และความคืบหน้าของ Brexit ที่อังกฤษกำลังเริ่มกระบวนการ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (16 – 20 มกราคม 2560 )

ตลาดการเงินในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลของประเทศหลัก ๆ (Sovereign Bond Yield) เคลื่อนไหวขึ้นลงในกรอบแคบตามหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ได้แก่ นายกรัฐมนตรีของอังกฤษแถลงรายละเอียดของแผนการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) โดยระบุว่า อังกฤษจะหาทางทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับสหภาพยุโรป (EU) รวมทั้งยังระบุด้วยว่าจะทำให้อังกฤษกลับมามีอำนาจใช้กฏหมายของประเทศโดยการถอนตัวออกจากศาลยุติธรรมยุโรป (ECJ) และจะทำให้อังกฤษสามารถควบคุมการเข้าประเทศของชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากยุโรป ซึ่งจะใช้หลักการเจรจา 4 ข้อ ได้แก่ ความแน่นอนและความชัดเจน การทำให้อังกฤษมีความแข็งแกร่งขึ้น การทำให้อังกฤษมีสภาพที่ดีขึ้น และการทำให้อังกฤษมีความเป็นระดับโลกอย่างแท้จริง ส่วนการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่เปลี่ยนแปลงที่ 0.00% ตามความคาดหมาย พร้อมทั้งคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ นอกจากนี้ จะยังคงดำเนินโครงการซื้อสินทรัพย์วงเงิน 8 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนไปจนถึงสิ้นเดือน มี.ค. และหลังจากนั้นจะซื้อสินทรัพย์วงเงิน 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนไปจนถึงสิ้นปีนี้ และเหตุการณ์ที่ทั่วโลกต่างเฝ้ารอคือ การกล่าวสุนทรพจน์หลังการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 45 ซึ่งได้ย้ำจุดยืนที่จะปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐในด้านการค้า ภาษี ประเด็นคนเข้าเมือง และกิจการต่างประเทศ แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดใด ๆ มากขึ้น

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยเคลื่อนไหวขึ้นลง 0.01-0.03% โดยยังคงมีความต้องการซื้อพันธบัตรระยะสั้นไปจนถึงรุ่นอายุประมาณ 6 ปี ซึ่งการเปิดประมูลพันธบัตรรุ่นอายุ 5.5 ปี (Re-open) ในวันพุธได้รับความสนใจซื้อจากนักลงทุนเต็มจำนวน 25,000 ล้านบาท และใช้ Greenshoe Option ไปอีก 4,870 ล้านบาท โดยตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาวประมาณ 7.69 พันล้านบาทและ 16.31 พันล้านบาทตามลำดับ

ภาวะตลาดหุ้นไทย (9 – 13 มกราคม 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สองของเดือนมกราคม SET Index ผันผวนในกรอบ 1,563- 1,583 จุด โดยสิ้นสัปดาห์ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย +0.24% จากสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อภาวะการลงทุนหลัก ๆ ยังมาจากปัจจัยต่างประเทศ โดยว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ได้มีถ้อยแถลงในช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งยังคงย้ำนโยบายจากที่เคยหาเสียงหลายประการ โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับการกีดกันทางการค้า ทำให้นักลงทุนต่างชาติเริ่มมีการชะลอการลงทุนเพื่อรอแนวทางหลังจากการเข้ารับตำแหน่งของ นาย โดนัล ทรัมป์ โดยนักลงทุนต่างชาติเริ่มมีสถานะ Net Sell เป็นบางวัน อย่างไรก็ตาม สิ้นสัปดาห์ นักลงทุนต่างชาติยังคงเป็น Net Buy ประมาณ 1.5 พันล้านบาท ในส่วนของราคาน้ำมันดิบ มีความสับสนของกำลังการผลิต ทั้งสหรัฐฯและอิรัก มีตัวเลขการผลิตที่มากขึ้น ซึ่งสวนทางกับประเทศอื่น ๆ ในกลุ่ม OPEC ที่ได้เริ่มลดกำลังการผลิตตามที่ตกลงกันไว้กว่า 70% โดยตัวเลขจะถูกยืนยันในการประชุมครั้งถัดไป วันที่ 20-21 มกราคมนี้ สิ้นสัปดาห์ ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $52.37 ต่อบาร์เรล ลดลง 1.14% WoW

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,575.24 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.24%

ในส่วนของมุมมองตลาดระยะสั้น อาจมีการชะลอการลงทุนอย่างต่อเนื่องของนักลงทุนต่างชาติ เพื่อรอนโยบายหลังจากการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการของนาย โดนัล ทรัมป์ ในวันที่ 20 มกราคม และการแถลงแนวทาง Brexit ของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ในวันที่ 17 มกราคม

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (9 – 13 มกราคม 2560 )

ตลาดเงินของประเทศหลัก ๆ ค่อนข้างผันผวนและค่าเงินปรับตัวลดลง ในสัปดาห์ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีประเทศอังกฤษ ออกมาพูดในเชิงว่าจะเริ่มกระบวนการ Hard Brexit ทำให้ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าอย่างรวดเร็ว ส่วนตลาดสหรัฐฯ มีทั้งการออกมาให้สัมภาษณ์ของสมาชิกคณะกรรมการนโยบายการเงินหลายท่านที่ค่อนข้างเห็นไปในแนวทางเดียวกันในเรื่องความเป็นไปได้ในการขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ 2-3 ครั้ง รวมถึงความเห็นของประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่มองว่าเศรษฐกิจกำลังปรับตัวได้ดี ตลาดแรงงานดีขึ้นอย่างแข็งแกร่ง แต่ไม่ได้มีนัยยะใหม่ ๆ ให้กับตลาด นอกจากนี้ ตลาดค่อนข้างผิดหวังกับการแถลงข่าวครั้งแรกของว่าที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการใช้จ่ายด้านการคลังและนโยบายเศรษฐกิจอื่น ๆ ทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงมาสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 1 เดือน และ US Treasury Yield ปรับตัวลงมา

อัตราผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรรัฐบาลของไทยก็ปรับตัวลดลงตามตลาดต่างประเทศ การประมูลพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นโดยเฉพาะรุ่นอายุต่ำกว่า 3 เดือน อัตราผลตอบแทนปรับลดลง 0.03-0.04% เนื่องจากจำนวนพันธบัตรระยะสั้นในตลาดรองมีไม่เพียงพอต่อความต้องการนับตั้งแต่ปลายเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา ส่วนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวยังคงมีแรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติในรุ่นอายุประมาณ 5 ปี โดยรวมตลอดทั้งสัปดาห์ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้นจำนวน 1,421 ล้านบาท และซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาวจำนวน 5,248 ล้านบาท