ภาวะตลาดหุ้นไทย (17 – 21 เมษายน 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สามของเดือนเมษายน หลังจากการหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ SET Index ปรับตัวลงตลอดทั้งสัปดาห์ โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น SET Index ถูกแรงกดดันจากทั้งในและต่างประเทศ โดยปัจจัยต่างประเทศมาจากปัญหาความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี ที่ทำให้นักลงทุนมีการขายหุ้นออกมาในสัปดาห์ก่อนหน้า แต่เป็นช่วงที่ตลาดหุ้นไทยปิดทำการเนื่องจากเทศกาลสงกรานต์ ทำให้นักลงทุนต่างชาติกลับมาขายหุ้นไทยในต้นสัปดาห์ นอกจากนี้ นักลงทุนยังชะลอการลงทุนเพื่อรอดูผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของฝรั่งเศส ซึ่งในช่วงกลางสัปดาห์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ นางเทเรซา เมย์ ประกาศยุบสภาฯ และกำหนดการเลือกตั้งในวันที่ 8 มิถุนายน โดยคาดหวังว่าหากเธอได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีและพรรคของเธอได้รับการเลือกตั้งเข้าสภามากขึ้น จะทำให้ได้รับแรงสนับสนุนจากสภามากกว่าที่ผ่านมาในการนำอังกฤษออกจาก EU ส่วนปัจจัยในประเทศนั้น ผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ของหุ้นกลุ่มธนาคารที่แม้ว่าจะประกาศออกมาใกล้เคียงกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ แต่จากการที่ธนาคารขนาดใหญ่ยังมีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญสูงกว่าที่นักวิเคราะห์ประมาณการไว้ ทำให้ความกังวลในเรื่องของ NPL ที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งมีการ Sell on fact ออกมาบางส่วนจากที่นักลงทุนได้เข้ามาซื้อหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์เพื่อเก็งกำไรผลประกอบการก่อนหน้านี้
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา Fund Flow ของนักลงทุนต่างประเทศได้ไหลกลับเข้ามาซื้อหุ้นในภูมิภาค แต่ตลาดหุ้นไทย Fund Flow ของนักลงทุนต่างประเทศเป็นยอดขายสุทธิที่ 4.2 พันล้านบาท

ราคาน้ำมันปรับตัวลดตลอดทั้งสัปดาห์ โดยแกว่งตัวอยู่ในระดับ $49 – $52 ต่อบาร์เรล หลังจากการประกาศตัวเลขสต๊อกน้ำมันเบนซินของสหรัฐที่ยังคงมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมทั้งความไม่มั่นใจใน OPEC ที่จะคงการลดกำลังผลิตหลังเดือนมิถุนายน ซึ่งในภาพระยะยาวแล้ว นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบ WTI จะแกว่งตัวในระดับ $50 – $55 ต่อบาร์เรล สิ้นสัปดาห์ ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $49.62 ต่อบาร์เรล ลดลง -4.64% WoW

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,570.02 จุด ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 19.48 จุด หรือ -1.23%

มุมมองตลาดระยะสั้น คาดว่า SET Index ยังคงมีโอกาสฟื้นตัวได้ จากการเก็งกำไรผลประกอบการไตรมาสที่ 1 และการที่เม็ดเงินลงทุนไหลกลับเข้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เมื่อปัจจัยกดดันจากต่างประเทศในประเด็นการเลือกตั้งในฝรั่งเศสเริ่มลดลง เนื่องจากมีแนวโน้มที่นาย Macron จะชนะนาง Le Pen ในการเลือกตั้งรอบ 2 ในวันที่ 7 พฤษภาคม ซึ่งจะทำให้ความกังวลเกี่ยวกับการที่ฝรั่งเศสจะออกจาก EU หายไป

ภาวะตลาดหุ้นไทย (10 – 12 เมษายน 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สองของเดือนเมษายน SET Index มีการแกว่งตัวขึ้นในกรอบ 1,577-1,589 จุด โดยตลาดหุ้นยังได้รับผลดีจากเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาลงทุน หลังจากความผิดหวังในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ทำให้มีการขายทำกำไรในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในขณะที่นักลงทุนในประเทศเริ่มมีการชะลอการลงทุน เนื่องจากอยู่ในช่วงหยุดยาวของเทศกาลสงกรานต์ ทำให้มูลค่าการซื้อขายในสัปดาห์ที่ผ่านมาค่อนข้างเบาบาง ทั้งนี้ เงินลงทุนส่วนใหญ่ไหลเข้าลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีสภาพคล่องสูงและการเก็งกำไรผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ที่คาดว่าจะออกมาดี โดยคาดว่ากลุ่มธนาคารพาณิชย์จะเริ่มประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 1 หลังเทศกาลสงกรานต์ ตลาดหุ้นไทยแทบจะไม่ได้รับผลกระทบจากข่าวความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี ระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือ และการเลือกตั้งในฝรั่งเศสที่จะมีขึ้นในวันที่ 23 เมษายนนี้ ซึ่งผลสำรวจยังพบว่าคะแนนเสียงของผู้สมัครลำดับ 1-4 ยังค่อนข้างใกล้เคียงกัน และมีผู้ยังไม่ตัดสินใจว่าจะลงคะแนนให้ใครมากถึง 50%

ราคาน้ำมันดิบ WTI ในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.8% ปิดที่ $53.18/บาร์เรล ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 3 หลังจากปริมาณสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯลดลง 2.2 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 533.4 ล้านบาร์เรล ซึ่งช่วยสนับสนุนให้มีแรงซื้อในหุ้นกลุ่มพลังงานทำให้ราคามีการปรับตัวเพิ่มขึ้น

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,589.50 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 5.97 จุด หรือ 0.37%

มุมมองตลาดระยะสั้น คาดว่า SET Index ยังคงมีโอกาสแกว่งตัวในกรอบแคบ โดยมีปัจจัยกดดันจากปัจจัยต่างประเทศ ทั้งเรื่องความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีและการเลือกตั้งในฝรั่งเศส รวมทั้งการที่ SET Index ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับแนวต้านจิตวิทยาที่ 1,600 จุด ทำให้นักลงทุนในประเทศชะลอการลงทุน อย่างไรก็ตาม หากปัจจัยต่างประเทศเริ่มคลี่คลาย คาดว่า SET Index ยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ จากเม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่คาดว่าจะไหลกลับเข้ามาลงทุนในตลาด Emerging Market ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย และแนวโน้มเศรษฐกิจที่เริ่มเติบโตสูงขึ้น ที่จะช่วยสนับสนุนให้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนยังมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นได้

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (10 – 12 เมษายน 2560 )

ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ได้กล่าวสุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนว่า เศรษฐกิจสหรัฐอยู่ในภาวะที่แข็งแกร่ง อัตราการว่างงานที่ต่ำกว่าร้อยละ 4.5 นั้นเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ถึงการจ้างงานเต็มที่ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเคลื่อนไหวเข้าใกล้เป้าหมายที่ร้อยละ 2 ดังนั้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจตกอยู่ในภาวะร้อนแรงเกินไป อย่างไรก็ตาม ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดเงินตลาดทุนมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศ หลังจากสหรัฐยิงขีปนาวุธไปยังซีเรีย เนื่องจากมีข้อมูลว่าประธานาธิบดีซีเรียได้ใช้อาวุธเคมีร้ายแรงโจมตีกลุ่มกบฏในจังหวัดทางตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรีย และมีสัญญาณว่าเกาหลีเหนืออาจโจมตีสหรัฐด้วยอาวุธนิวเคลียร์ ทำให้นักลงทุนชะลอการซื้อขายสินทรัพย์เสี่ยงและหันไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ปลอดภัยมากขึ้น

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ เช่น 10-Year US Treasury ปรับลดลงมาแตะระดับ 2.20% ต่อปี เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้าที่ซื้อขายระหว่าง 2.31-2.38% ต่อปี ในขณะที่ตลาดตราสารหนี้ไทย อัตราผลตอบแทนปรับลดลงมาบ้าง แต่โดยรวมค่อนข้างเงียบ เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดต่อเนื่อง นักลงทุนต่างชาติกลับมาขายพันธบัตรทั้งระยะสั้นและระยะยาวโดยรวม 3.7 พันล้านบาท เป็นพันธบัตรระยะสั้นประมาณ 3.5 พันล้านบาท และพันธบัตรระยะยาวประมาณ 194 ล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (3 – 7 เมษายน 2560 )

ในรอบสัปดาห์นี้ มีรายงานตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งมีทั้งที่ดีและแย่กว่าที่คาดการณ์ไว้ เช่น ดัชนีภาคการผลิตของ ISM ได้ปรับตัวลงสู่ระดับ 57.2 ในเดือนมี.ค. จากระดับ 57.7 ในเดือนก.พ. แต่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 57.0 และเป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 94 ทั้งนี้ดัชนีที่เหนือระดับ 50 แสดงให้เห็นถึงภาวะขยายตัวของภาคการผลิต/ ยอดผู้รับสวัสดิการว่างงานที่ 234,000 รายซึ่งน้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้/ ยอดการจ้างงานภาคเอกชนที่ระดับ 263,000 รายดีกว่าที่คาดไว้ที่ 187,000/ การจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้นเพียง 98,000 รายซึ่งน้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 180,000 ราย เนื่องจากพายุฤดูหนาวทำให้การจ้างงานภาคก่อสร้างและภาคบริการชะลอลง เป็นต้น ในระหว่างสัปดาห์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐปรับตัวลดลงต่อก่อนที่จะพลิกกลับมาปรับตัวขึ้นในช่วงท้ายสัปดาห์ หลังจากรายงานการประชุมของ FED ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า กรรมการบางท่านคิดว่าราคาของตลาดหุ้นอยู่ในระดับที่สูงเกินไป และส่งสัญญาณว่าอาจมีการปรับลดขนาดงบดุลลงก่อนสิ้นปี หากเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวต่อเนื่อง โดยถือเป็นการลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ที่เคยใช้ในช่วงวิกฤติการเงิน ในขณะเดียวกันธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้เปิดเผยรายงานการประชุมเดือนมี.ค. ในเชิงสนับสนุนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป โดยยังคงกังวลต่อการฟื้นตัวของเงินเฟ้อในยุโรป

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับลดลงต่อเนื่อง 0.01-0.05% ทั้งพันธบัตรระยะสั้นและพันธบัตรระยะยาว โดยเฉพาะในช่วงท้ายสัปดาห์การประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยรุ่นอายุ 14 วัน อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยปรับลดลงมา 0.10% มาอยู่ที่ 1.37% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 1.47% จากจำนวนพันธบัตรระยะสั้นในตลาดรองที่ลดลงมามาก และยังคงมีเงินจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อพันธบัตรทั้งระยะสั้นและระยะยาวต่อเนื่องจากช่วงปลายเดือนมี.ค. ตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิทั้งพันธบัตรระยะสั้นและพันธบัตรระยะยาวจำนวน 9.89 และ 10.36 พันล้านบาทตามลำดับ

ภาวะตลาดหุ้นไทย (3 – 7 เมษายน 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์แรกของเดือนเมษายน SET Index แกว่งในช่วงแคบ 1,575 – 1,586 จุด ด้วยปริมาณการซื้อขายที่เริ่มเบาบางลง เนื่องจากเริ่มเข้าสู่เทศกาลวันหยุดเดือนเมษายน SET Index ในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้แรงหนุนจากราคาน้ำมันที่ยังสามารถปรับตัวขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $52.24 ต่อบาร์เรล ปรับตัวขึ้น 3.24% WoW โดยได้อานิสงส์จากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่คาดการณ์การขยายเวลาการลดกำลังผลิตของกลุ่ม OPEC และ Non OPEC ถึงสิ้นปี 2560 และจากคาดการณ์การประกาศตัวเลขน้ำมันคงคลังในสหรัฐที่มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูกาล Driving Season ที่ความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐฯ เริ่มปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม แรงกดดันของ SET Index ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดาจากการขึ้น XD ของหุ้น Big Cap (SCC, INTUCH, ADVANC และ KBANK) และความกังวลเกี่ยวกับการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ โดยประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบในสินค้าที่ส่งออกแบ่งเป็น 3 จำพวก ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และอาหารแช่แข็ง แต่จากความเห็นของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคาดว่าผลกระทบจะค่อนข้างจำกัด เนื่องจากการผลิตสินค้าจากประเทศไทยนั้นเป็นส่วนของการผลิตขั้นต้นถึงขั้นกลาง

ในส่วนของ Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติยังคงเป็น Net Buy ตลอดทั้งสัปดาห์ ในสัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 2.1 พันล้านบาท

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,583.53 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.53%

มุมมองตลาดระยะสั้น SET Index มีแนวโน้มจะแกว่งตัวช่วงแคบ เนื่องจากเทศกาลหยุดยาวที่ทำให้นักลงทุนในประเทศส่วนใหญ่ชะลอการลงทุน อย่างไรก็ตาม SET Index ยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ หากมี Fund Flow ไหลกลับมายังตลาด Emerging Market จากความผิดหวังต่อความล่าช้าในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีทรัมป์ และการเก็งกำไรผลประกอบการไตรมาสที่ 1/2517 โดยเฉพาะกลุ่มสถาบันการเงินที่คาดว่าจะออกมาดี ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงของตลาดในระยะสั้นได้แก่ การเลือกตั้งในฝรั่งเศส และความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี จากการเคลื่อนกองเรือของสหรัฐฯเข้าสู่มหาสมุทรแปซิฟิคตะวันตกใกล้คาบสมุทรเกาหลี

ภาวะตลาดหุ้นไทย (27 – 30 มีนาคม 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีนาคม SET Index ยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 3 โดยปัจจัยที่สนับสนุนการปรับตัวขึ้นของ SET Index ยังคงเป็น Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติที่ยังคงไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังจากที่รัฐสภาไม่ผ่านร่างกฎหมายประกันสุขภาพฉบับใหม่ของประธานาธิบดีทรัมป์ (American Health Care Act) ที่ต้องการนำมาใช้แทนกฎหมาย Obama Care ซึ่งทำให้นักลงทุนเริ่มกังวลเกี่ยวกับความสามารถในการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจอื่น ๆ ของประธานาธิบดีทรัมป์ว่าจะสามารถทำได้ตามที่หาเสียงไว้ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่และมาตรการปฏิรูปภาษี ทำให้นักลงทุนมีการย้ายเงินลงทุนกลับเข้ามาลงทุนในตลาดเกิดใหม่ ซึ่งรวมถึงตลาดหุ้นไทยด้วย นอกจากนี้ ตลาดฯ ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการที่ที่ประชุม กนง. มีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.5% ตามที่ตลาดคาดการณ์ และจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับคาดการณ์การเติบโตของ GDP ขึ้นไปที่ 3.4% จาก 3.2% โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกที่เห็นการฟื้นตัวอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นได้รับผลกระทบเล็กน้อยจากความกังวลเกี่ยวกับการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติในร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฉบับใหม่ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อกลุ่ม PTT ที่เคยเป็นเครื่องมือหลักของรัฐบาลในการจัดการธุรกิจน้ำมันของชาติ

ราคาน้ำมันดิบ WTI สิ้นสัปดาห์สามารถกลับมายืนเหนือระดับ $50 ต่อบาร์เรลได้ หลังจากราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงไปแกว่งตัวที่ $47–$48 ต่อบาร์เรลในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งการปรับตัวขึ้นนั้นมาจากประเทศผู้ผลิตหลายรายได้ออกมาสนับสนุนการขยายระยะเวลาการลดกำลังการผลิต ทำให้สิ้นสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $50.60 ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 5.48% WoW

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,575.11 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.80%

มุมมองตลาดระยะสั้น SET Index มีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ จาก Fund Flow ที่มีโอกาสไหลกลับมายังตลาด Emerging Market จากการที่นักลงทุนเริ่มขาดความเชื่อมั่นต่อการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 1/2560 ที่จะเริ่มทยอยออกมาตั้งแต่กลางเดือนเมษายน ในขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ตลาดผันผวนยังเป็นปัจจัยจากต่างประเทศ โดยในสัปดาห์นี้ จะเริ่มมีการเจรจา Brexit ของอังกฤษและ EU และในปลายเดือนเมษายนจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในฝรั่งเศส

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (27 – 31 มีนาคม 2560 )

ในช่วงต้นสัปดาห์ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก เนื่องจากตลาดมีมุมมองว่า แรงกดดันเงินเฟ้อจากนโยบายทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดี ทรัมป์ ลดลง หลังจากที่ไม่สามารถผลักดันร่างกฎหมายประกันสุขภาพแบบใหม่ให้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรได้ นำไปสู่การคาดหวังว่าความถี่ของการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ FED อาจจะลดลงด้วย อย่างไรก็ตามในช่วงปลายสัปดาห์ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก จากการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีกว่าคาด ได้แก่ GDP ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2559 ขยายตัว 2.1% ซึ่งสูงกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 ที่ขยายตัวเพียง 1.9% และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 2% และจำนวนผู้ขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกที่ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า

ทางด้านการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปีซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ซึ่งคณะกรรมการฯ ประเมินว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยชัดเจนมากขึ้น แต่ยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนโดยเฉพาะจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ และมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2560 เป็นเติบโต 3.4% จากเดิม 3.2% ในขณะที่ปรับลดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมาอยู่ที่ 1.2% จากเดิม 1.5%

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับลดลงต่อเนื่อง 0.02-0.15% โดยเฉพาะรุ่นอายุ 3 ปีขึ้นไป เนื่องจากมีกระแสเงินทุนจากต่างชาติเข้ามาซื้อ และตารางปริมาณเสนอขายพันธบัตรระยะยาวในไตรมาสหน้าที่ลดลง รวมถึง ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศตารางการเสนอขายพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยในเดือนเมษายนที่มีจำนวนลดลง เนื่องจากต้องการสกัดเงินจากนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาพักเงินระยะสั้น ตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิทั้งพันธบัตรระยะสั้นและพันธบัตรระยะยาว จำนวน 5.98 และ 11.29 พันล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (20 – 24 มีนาคม 2560 )

ตลาดการเงินยังคงได้รับผลกระทบจากนโยบายการเงินของสหรัฐที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสัปดาห์ก่อนหน้า แต่ไม่ได้ส่งสัญญาณว่าจะคุมเข้มนโยบายในอัตราที่เร็วขึ้นในช่วง 2 ปีข้างหน้า แม้แต่การกล่าวแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐก็ไม่ได้มีการกล่าวถึงช่วงเวลาและความถี่ในการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ นอกจากนี้ตลาดยังกังวลกับแนวโน้มนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของทรัมป์ หลังจากพรรครีพับลิกันถอนร่างกฎหมายประกันสุขภาพออกจากการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากขาดเสียงสนับสนุน และกังวลต่อถึงอุปสรรคในมาตรการที่ตลาดฝากความหวังไว้สูง เช่น แผนปฏิรูปภาษีและโครงการลงทุนขนาดใหญ่ เหตุการณ์เหล่านี้ส่งผลให้อัตราผลตอบแทน US Treasury ปรับลดลงมา หลังจากขึ้นไปแตะระดับ 2.62% ในช่วงสัปดาห์ก่อนการประชุม FOMC โดย US Treasury 10-Year ปรับลดลงมาต่ำกว่า 2.40% สะท้อนความไม่เชื่อมั่นทางด้านเศรษฐกิจดังกล่าว

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับลดลงเล็กน้อย 0.01-0.02% เนื่องจากมีการประมูลพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ ประมาณ 10 ปี และนักลงทุนสถาบันรอตารางการเสนอขายพันธบัตรรัฐบาลสำหรับไตรมาสหน้า และตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 12.8 พันล้านบาท และขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้นประมาณ 877 ล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย 20 – 24 มีนาคม 2560

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์สี่ของเดือนมีนาคม SET Index ยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยในช่วงกลางสัปดาห์มีการประกาศยอดส่งออกลดลงในเดือนกุมภาพันธ์ที่ -2.8% โดยสาเหตุหลักนั้นมาจากการส่งออกทองคำที่สูงกว่าปกติในปีก่อน ซึ่งหากไม่รวมทองคำ ยอดส่งออกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้จะเติบโตขึ้น 8.5% โดยการเติบโตหลักมาจากกลุ่มสินค้ายางพารา เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป และแผงวงจรไฟฟ้า สำหรับปัจจัยของต่างประเทศนั้น ในสหรัฐฯ มีประเด็นเรื่องสภาฯ มีการพิจารณายกเลิกกฎหมาย Obamacare โดยจะเปลี่ยนเป็นกฎหมาย American Healthcare ซึ่งตามกำหนดการจะมีการลงมติเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในช่วงกลางสัปดาห์ แต่เนื่องจากความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันของพรรครีพับลิกันเอง ทำให้ต้องเลื่อนการลงมติออกไปโดยไม่มีกำหนด ซึ่งประเด็นดังกล่าวส่งผลถึงความเชื่อมั่นในนโยบายของประธานาธิปดีสหรัฐฯว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะสามารถทำให้สภาฯ เห็นชอบในนโยบายที่เคยหาเสียงไว้ได้ทั้งหมดหรือไม่ โดยเฉพาะนโยบายปฏิรูปภาษี ทำให้มีการคาดการณ์ว่านักลงทุนอาจจะย้ายการลงทุนจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ไปยังสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ หรือลงทุนในตลาดหุ้นในภูมิภาคอื่นแทน

ทิศทางของ Fund Flow ต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมากลับมาเป็น Net Buy 4.3 พันล้านบาท หลังจากหมดความกังวลเรื่องการปรับอัตราดอกเบี้ยของ Fed

ราคาน้ำมันดิบ WTI ยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ในสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบ WTI แกว่งตัวอยู่ในระดับ $47 – 48 ต่อบาร์เรล จากความกังวลเรื่องการเพิ่มขึ้นของตัวเลขสต๊อกน้ำมันดิบในสหรัฐฯ 533 ล้านบาร์เรล โดยเพิ่มขึ้น 11% YTD หรือ 53 ล้านบาร์เรล ทั้งนี้ ในช่วงสุดสัปดาห์จะมีการประชุมร่วมกันของกลุ่ม OPEC และ Non-OPEC ผ่าน Joint Ministerial Monitoring Committee เพื่อติดตามผลของการลดกำลังผลิต โดยคาดว่าผลของการประชุมนั้นจะเป็น Sentiment หลักของราคาน้ำมันในสัปดาห์หน้า โดยสิ้นสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $47.97 ต่อบาร์เรล ลดลง 1.66% WoW

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,573.51 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.80%

มุมมองตลาดระยะสั้น SET Index มีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ จาก Fund Flow ที่มีโอกาสไหลกลับมายังตลาด Emerging Market จากการที่นักลงทุนเริ่มขาดความเชื่อมั่นต่อการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในขณะเดียวกัน ปัจจัยต่างประเทศยังคงเป็นปัจจัยที่ทำให้ตลาดหุ้นมีความผันผวนได้ โดยในสัปดาห์นี้ จะเริ่มมีการเจรจา Brexit ของอังกฤษและ EU และในปลายเดือนเมษายนจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในฝรั่งเศส

ภาวะตลาดหุ้นไทย (13 – 17 มีนาคม 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์สามของเดือนมีนาคม SET Index ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ โดยวันแรกของสัปดาห์ยังคงมีแรงขายอย่างต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน และทำให้ดัชนีปรับตัวลงไปที่ 1,535 จุด แต่หลังจากนั้น ก็เริ่มมีแรงซื้อกลับเข้ามาหลัง Fed ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงกลางสัปดาห์ตามที่ตลาดคาดการณ์ โดยปรับดอกเบี้ยขึ้น 0.25% เป็น 0.75% – 1.00% และส่งสัญญาณว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะถัดไป Fed จะพิจารณาตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศว่ายังคงดีอย่างต่อเนื่องหรือไม่ ซึ่งทำให้นักวิเคราะห์คาดว่า Fed คงปรับอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ขึ้นอีกไม่เกิน 2 ครั้งและไม่รีบปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากที่เดิมกังวลว่าอาจจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก 3 ครั้ง และอาจจะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลังจากการประกาศขึ้นดอกเบี้ยนั้น Dollar Index ก็เริ่มมีการอ่อนค่าลง โดยสิ้นสัปดาห์ Dollar Index อ่อนค่าลงกว่า 0.94% โดยปิดที่ 100.3 จุด และทำให้ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นอีก โดยสิ้นสัปดาห์ ยูโรต่อดอลล่าร์ปิดที่ 1.07 แข็งค่าขึ้น 0.61% จากสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไทยยังได้รับผลดีจากการที่หุ้น GL มีการดีดตัวขึ้นภายหลังถูก Force Sell ลงมาถึง 3 Floor และมีการชี้แจงข้อมูลเรื่องการปล่อยกู้ในต่างประเทศเพิ่มเติมจากผู้บริหาร ซึ่งส่งผลให้หุ้นกลุ่ม Leasing และหุ้นขนาดกลาง/เล็กปรับตัวขึ้นด้วย ในส่วนของ Fund Flow นั้น นักลงทุนต่างชาติยังคงเป็น Net Sell ที่ 4 พันล้านบาท ส่วนปัจจัยเรื่องราคาน้ำมันดิบเริ่มมีความผ่อนคลายลง เมื่อตัวเลข Stock น้ำมันดิบในสหรัฐฯ ลดลง 237,000 บาร์เรลจากสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากกลุ่ม OPEC ลดการส่งน้ำมันดิบไปยังสหรัฐฯ ทำให้เป็นผลบวกต่อราคาน้ำมัน โดยสิ้นสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $48.42 ต่อบาร์เรล โดยปรับขึ้น 0.6% จากสัปดาห์ที่ผ่านมา

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,560.98 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 1.37%

มุมมองตลาดระยะสั้น SET Index มีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ หลังจากหมดข่าวการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ที่สร้างความกังวลให้แก่นักลงทุนว่าจะมี Fund Flow ไหลออกจากตลาด Emerging Market ในระยะถัดไป ความสนใจของตลาดคงกลับมาที่การเลือกตั้งในยุโรป ซึ่งในสัปดาห์ที่ผ่านมามีการเลือกตั้งในเนเธอร์แลนด์ พรรคการเมืองฝ่ายขวาจัดพรรค Party for Freedom ที่จะนำเนเธอร์แลนด์ออกจากสหภาพยุโรปมีคะแนนสูสีกับพรรคเสรีนิยม People’s Party for Freedom and Democracy ซึ่งเป็นรัฐบาลปัจจุบัน และจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสในเดือนปลายเมษายน