ภาวะตลาดหุ้นไทย (26-30 กันยายน 2559)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สุดท้ายของเดือนกันยายน SET Index ผันผวนในกรอบ 1,477-1,498 จุด ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา SET Index ยังไม่สามารถกลับขึ้นไปยืนที่ 1,500 จุด แม้ว่าจะมีข่าวดีจากต่างประเทศเป็นปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ การโต้วาทีระหว่างนาย โดนัล ทรัมป์ และนาง ฮิลลารี คลินตัน ที่ผลโพลหลังจากการโต้วาทีนั้นเห็นว่านางคลินตันทำได้ดีกว่านายทรัมป์มาก และทำให้คะแนนเสียงของนางคลินตันดีขึ้น ขณะเดียวกัน ในการประชุม OPEC และรัสเซีย ก็ทำความประหลาดใจให้ตลาดเนื่องจากสามารถบรรลุข้อตกลงของการควบคุมกำลังผลิตน้ำมันดิบลงได้ แม้ว่ารายละเอียดของการควบคุมกำลังผลิตต้องมีการเจรจาอีกครั้งในการประชุม OPEC ในเดือนพฤศจิกายน แต่ข่าวนี้ก็สามารถทำให้ราคาน้ำมันดิบปิดที่ 48.24 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 4% และส่งผลให้ราคาหุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ประเด็นปัญหา Deutsche Bank (DB) ที่ถูกกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ เรียกค่าปรับสูงถึง 1.45 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ จากกรณีให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนในการเสนอขายตราสารอ้างอิงสินทรัพย์ Mortgage-back ในช่วงก่อนวิกฤตปี 2008 และทำให้มีการคาดการณ์ว่า DB อาจต้องมีการเพิ่มทุนหรือขายสินทรัพย์การลงทุนบางส่วนออกมา ได้กดดันทั้งตลาดไทยและตลาดหุ้นโลก ทำให้ตลาดมีความผันผวนมากขึ้น

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,483.21 จุด ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา -0.65%

แนวโน้มตลาดหุ้นในระยะสั้น SET Index ยังคงแกว่งตัวในทาง Sideway ถ้าหากยังไม่เจอผลกระทบในเชิงลบที่ทำให้ตลาดมีความกังวล ทั้งนี้ ปัจจัยการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ปัญหา DB และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ตลาดจับตามองในระยะ 1 เดือนข้างหน้านี้

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย 19 – 23 กันยายน 2559

ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น มีมติคงนโยบายดอกเบี้ยติดลบตามเดิม (-0.1%) และปรับแผนในการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลโดยมีเป้าหมายเพื่อพยุงให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีอยู่ที่ระดับ 0% พร้อมกับเพิ่มฐานเงินให้มากขึ้น เพื่อให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจนบรรลุเป้าหมายที่ 2% ในขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐอเมริกา มีมติ 7 ต่อ 3 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.25-0.50% โดยระบุถึงการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน การขยายตัวของเศรษฐกิจในระดับปานกลาง และความเสี่ยงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจอยู่ในภาวะสมดุล และคณะกรรมการส่วนใหญ่ปรับลดมุมมองอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมลง โดยคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในปีนี้ และให้มุมมองว่าปีหน้าอาจขึ้นดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้ง ลดลงจาก 3 ครั้ง

ในช่วงต้นสัปดาห์นักลงทุนต่างเฝ้ารอผลการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ปริมาณการซื้อขายจึงค่อนข้างน้อยและอัตราผลตอบแทนปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม จากการตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินที่ยังคงผ่อนคลายของญี่ปุ่นและไม่ผิดคาดมากนักของสหรัฐฯ ทำให้มีแรงซื้อกลับเข้ามาในช่วงปลายสัปดาห์ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวโดยรวมจึงค่อนข้างคงที่และปรับลดลงมากในรุ่นอายุประมาณ 10 ปี ส่วนการประมูลพันธบัตรระยะสั้น อัตราผลตอบแทนปรับขึ้นเล็กน้อย 0.005-0.01% ตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิพันธบัตรอายุไม่เกิน 1 ปีประมาณ 16.3 พันล้านบาท และซื้อสุทธิพันธบัตรอายุมากกว่า 1 ปีประมาณ 9.4 พันล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย 19-23 กันยายน 2559

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สามของเดือนกันยายน SET Index ผันผวนในกรอบ 1,467-1,506 จุด ในช่วงต้นสัปดาห์ ตลาดยังคงปรับตัวดีขึ้นจากการเก็งกำไรว่าในการประชุม FOMC Fed จะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิม และการประชุมของ BOJ จะยังคงมาตรการผ่อนคลายทางการเงินต่อไป อย่างไรก็ตาม หลังการประชุม Fed มีการส่งสัญญาณการปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยก่อนสิ้นปีนี้ และราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องตลอดทั้งสัปดาห์ เริ่มมีการปรับลดลงแรงในวันสุดท้ายของสัปดาห์กว่า 3.3% จากความไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการลดกำลังการผลิตระหว่างซาอุดิอาระเบียและอิหร่าน ก่อนการประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) และรัสเซีย ที่จะมีขึ้นในวันที่ 26-28 กันยายน เมื่อประกอบกับการที่ SET Index ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วกว่า 100 จุดในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ทำให้ SET Index ปรับตัวขึ้นถึงระดับ 1,500 จุด และอยู่ในภาวะ Overbought และการที่มีข่าวสร้างความสับสนภายในประเทศ ทำให้มีแรงขายค่อนข้างรุนแรงในวันศุกร์ และนักลงทุนต่างชาติกลับมามีสถานะ Net Sell

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,492.88 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.93% โดยหุ้นหลัก 3 กลุ่มที่ปรับตัวขึ้นสูงสุด ได้แก่ กลุ่มค้าปลีก กลุ่มอาหาร และกลุ่มพลังงาน

แนวโน้มตลาดหุ้นในระยะสั้นยังน่าจะมีความผันผวน โดยปัจจัยที่ได้รับความสนใจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) และรัสเซีย ที่จะมีขึ้นในวันที่ 26-28 กันยายนนี้ และการโต้วาทีของผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ระหว่างนางฮิลลารี คลินตัน และนายโดนัลด์ ทรัมป์ ในวันที่ 26 กันยายน

ภาวะตลาดหุ้นไทย 12-16 กันยายน 2559

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สองของเดือนกันยายน หลังจาก SET Index ปรับตัวลงแรงในวันจันทร์ต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน โดยปรับตัวลงไปถึงระดับ 1,411 จุด จากปัจจัยความวิตกกังวลภายในประเทศ ตลาดหุ้นก็เกิด Technical Rebound อย่างรวดเร็ว จากความผ่อนคลายของสถานการณ์ในประเทศ ที่ทำให้นักลงทุนเข้าซื้อกลับจากที่ Short หุ้นไปก่อนหน้า และนักลงทุนต่างชาติยังคงซื้ออย่างต่อเนื่องตลอดทั้งอาทิตย์ โดยหุ้นกลุ่ม Big Cap มีการปรับตัวขึ้นสูงจากปัจจัยการ Rebalance Port ของนักลงทุนตามการปรับน้ำหนักของ FTSE ที่เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากขึ้น เนื่องจากมีการรวมน้ำหนักหุ้น NVDR เข้าในการคำนวณดัชนีด้วย ซึ่งทำให้มีแรงซื้อในช่วงปิดตลาดในวันศุกร์ซึ่งเป็นวันเริ่มคำนวณดัชนีตามน้ำหนักใหม่ถึงเกือบ 30,000 ล้านบาท และทำให้ดัชนีมีการปรับตัวขึ้นกว่า 6 จุด ใน 30 นาทีสุดท้ายของสัปดาห์ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยังได้รับผลดีจากการปรับเพิ่มการคาดการณ์ GDP ปีนี้ว่าจะขยายตัวจาก 3.1% เป็น 3.2% ของกระทรวงการคลัง ทำให้คาดว่า GDP ในครึ่งปีหลังจะขยายตัวถึง 3.5% สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,479.07 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 2.34%

แนวโน้มตลาดหุ้นในระยะสั้นยังมีความผันผวน หลังจาก SET Index ปรับตัวขึ้นมากในระยะเวลาอันสั้น ตลาดอาจมีการชะลอการลงทุนเล็กน้อยเนื่องจากยังคงรอถ้อยแถลงของ Fed และ BOJ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 20-22 นี้

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย 12 – 16 กันยายน 2559

ตลาดตราสารหนี้ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีการซื้อขายค่อนข้างน้อย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุประมาณ 5-25 ปีปรับขึ้น 0.02-0.12% ซึ่งเป็นการปรับตัวตามตลาดต่างประเทศ เนื่องจากเข้าใกล้การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของประเทศสำคัญคือ สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ที่จะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า สำหรับผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยในวันพุธที่ 14 ที่ผ่านมาเป็นไปตามที่ตลาดคาด โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี ซึ่งคณะกรรมการประเมินว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปและยังเผชิญกับความไม่แน่นอนทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงครึ่งหลังของปี ภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ส่วนธนาคารกลางของประเทศอังกฤษ (BOE) ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.25% เท่าเดิม และคงปริมาณการซื้อพันธบัตรและสินทรัพย์ (QE) ที่ระดับ 4.35 แสนล้านปอนด์ตามที่ตลาดคาด โดยในแถลงการณ์ BOE ยังมองว่าเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรมีความเสี่ยงจากผลประชามติ Brexit ที่ผ่านมา แม้ว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี

ทางด้านการประมูลพันธบัตรระยะสั้น อัตราผลตอบแทนปรับขึ้น 0.005-0.03% จากความต้องการซื้อของนักลงทุนต่างชาติที่ลดลง พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยรุ่นอายุ 14 วันมีผู้สนใจน้อยกว่าจำนวนที่เสนอขาย โดยตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิพันธบัตรอายุไม่เกิน 1 ปีประมาณ 11.2 พันล้านบาท และขายสุทธิพันธบัตรอายุมากกว่า 1 ปีประมาณ 5.9 พันล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย 5-9 กันยายน 2559

เริ่มต้นสัปดาห์แรกของเดือนกันยายน ตลาดหุ้นได้ปรับตัวลดลงตลอดทั้งสัปดาห์ โดยปรับตัวลดลงจาก 1,521.48 จุด ลงมาถึงระดับ 1,445.28 จุด ซึ่งต่ำสุดในรอบ 2 เดือน SET Index มีการปรับตัวลงแรงตั้งแต่ต้นสัปดาห์ต่อเนื่องจากที่เริ่มปรับตัวลงในวันศุกร์ก่อนหน้า จากปัจจัยข่าวความกังวลภายในประเทศ ทำให้มีแรงขายในลักษณะ Panic Sell ซึ่งแรงขายที่เกิดขึ้นมาจากนักลงทุนภายในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะจากนักลงทุนกลุ่มสถาบันในประเทศ แต่ในส่วนของนักลงทุนต่างชาติมียอด Fund Flow ไหลตลอดเข้ามาเกือบทั้งสัปดาห์ซึ่งบางส่วนมาจากการ Rebalance FTSE Index ที่มีการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากขึ้น นอกจากนี้ แรงขายที่เกิดขึ้นยังเกิดจากแรงขายจากบัญชี Margin ที่ลูกค้าต้องการลดความเสี่ยงอันเนื่องจากราคาหุ้นปรับตัวลง และการถูก Force Sell จากบัญชี Margin นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยังปรับตัวลงตาม Sentiment จากตลาดหุ้นต่างประเทศจากความผิดหวังผลประชุมของ ECB ที่ไม่มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม SET Index ยังได้รับแรงสนับสนุนเล็กน้อยจากการที่ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรและดัชนี ISM Non-Manufacturing Index ที่ออกมาต่ำกว่าคาด อันแสดงถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังไม่แข็งแรงนัก และทำให้ความกังวลเกี่ยวกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Fund Rate ลดลง ในส่วนของหุ้นกลุ่มพลังงานมีการปรับตัวลงสวนทางกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวขึ้น จากข่าวว่ารัสเซียกับ OPEC จะสามารถบรรลุข้อตกลงควบคุมกำลังการผลิตน้ำมันดิบได้

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,445.28 จุด ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา -5.01%

แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในระยะสั้น ตลาดหุ้นยังน่าจะมีความผันผวน เนื่องจากนักลงทุนยังระมัดระวังการลงทุน จากปัจจัยข่าวน่ากังวลในประเทศและการประชุม FOMC ในช่วงวันที่ 20-21 กันยายน ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Fund Rate หรือไม่ อย่างไรก็ตาม การที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงเร็วและแรงในสัปดาห์ที่ผ่านมา อาจจะทำให้เกิด Technical Rebound ในระยะสั้นได้

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย 5 – 9 กันยายน 2559

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดตราสารหนี้ไทยค่อนข้างผันผวน อัตราผลตอบแทนในช่วงต้นสัปดาห์ปรับขึ้นจากการเพิ่มมุมมองว่าธนาคารกลางสหรัฐมีแนวโน้มที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมที่จะมีขึ้นในเดือนนี้ อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลงมามาก จึงทำให้มีเงินบางส่วนไหลเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ อัตราผลตอบแทนจึงกลับมาลดลง เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้าอัตราผลตอบแทนปรับลดลง 0.02-0.11% นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยในเดือนนี้ ซึ่งความเห็นของนักลงทุนในตลาดส่วนใหญ่ต่างคาดการณ์ว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ สำหรับตลาดต่างประเทศ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) สร้างความผิดหวังให้ตลาด โดยมีมติคงนโยบายการเงินไว้ตามเดิม

ทางด้านการประมูลพันธบัตรระยะสั้น อัตราผลตอบแทนปรับขึ้น 0.02-0.04% ต่อปี จากความต้องการซื้อของนักลงทุนต่างชาติที่ลดลง โดยตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิพันธบัตรอายุไม่เกิน 1 ปีประมาณ 8.4 พันล้านบาท และซื้อสุทธิพันธบัตรอายุมากกว่า 1 ปีประมาณ 2.5 พันล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย 29 สิงหาคม – 2 กันยายน 2559

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา นักวิเคราะห์และนักลงทุนสถาบันในตลาดต่างปรับมุมมองการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ว่ามีโอกาสเพิ่มมากขึ้น โดยอาจเกิดขึ้น 1 ครั้งในปีนี้ หลังจากที่นางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ กล่าวในงานประชุมประจำปีว่า ปัจจัยต่าง ๆ ที่สนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ได้เพิ่มขึ้นมากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ประกาศในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ค่อนข้างดี แม้ว่าจะมีตัวเลขบางอย่าง ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์อยู่บ้าง เช่น การจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ส.ค. ที่ออกมาต่ำกว่าที่คาด หลังจากที่ใน 2 เดือนก่อนหน้าสูงเกินกว่าที่คาดการณ์

ทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย ได้รับอิทธิพลจากเหตุการณ์ดังกล่าว ประกอบกับผลของการทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตร (Bond Switching) นั้น ทางสำนักบริหารหนี้สาธารณะขายพันธบัตรตัวใหม่ให้ในอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าตลาดรองพอสมควร จึงทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวสูงขึ้นทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะช่วงอายุประมาณ 5-25 ปีปรับเพิ่มขึ้น 0.07-0.11% ส่วนพันธบัตรระยะสั้นก็ปรับตัวขึ้น 0.01-0.04% นอกจากนี้ การประมูลพันธบัตรระยะยาว รุ่นอายุ 20 ปีในวันพุธ มีคนสนใจเข้าร่วมประมูลน้อยกว่าจำนวนที่เสนอขาย อัตราผลตอบแทนอยู่ในช่วง 2.68-2.72%, เฉลี่ย 2.7048% และ Bid-coverage-ratio 0.88

ภาวะตลาดหุ้นไทย 29 สิงหาคม -2 กันยายน 2559

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนสิงหาคม ตลาดหุ้นมีความผันผวนมากขึ้น โดยแกว่งตัวในช่วง 1,516 – 1,553 จุด โดยในช่วงต้นสัปดาห์ ตลาดยังแกว่งตัวในกรอบแคบๆ เนื่องจากนักลงทุนยังรอตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯที่จะประกาศในวันศุกร์ และยังไม่มีปัจจัยใหม่เข้ามาสนับสนุน แต่ในช่วงท้ายสัปดาห์ นักลงทุนกลับมาเทขายหุ้นออกมามาก เมื่อเห็นว่า SET Index ไม่สามารถผ่านแนวต้านทางจิตวิทยาที่ 1,550 จุดขึ้นไปได้ และเป็นการลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากการประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ที่อาจจะส่งผลต่อการกำหนดทิศทางดอกเบี้ยของ FED ส่งผลให้ SET Index ปรับตัวลดลงถึง 28 จุด ขณะเดียวกันหุ้นกลุ่มพลังงานก็มีการปรับลงอย่างต่อเนื่อง จากการลดลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,521.48 จุด ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา -1.80%

แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นมีโอกาสผันผวนอย่างต่อเนื่อง จากการที่ยังไม่มีปัจจัยบวกที่ชัดเจนที่จะช่วยผลักดันใน SET Index ปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 1,550 จุดได้ ทำให้นักลงทุนเลือกที่จะถือเงินสด และรอดูแนวโน้มทิศทางที่ชัดเจนของตลาดอีกครั้ง

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย 22 – 26 สิงหาคม 2559

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินทั่วโลกต่างรอการแถลงมุมมองเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยจากประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ในการประชุมประจำปีของ FED ที่ Jackson Hole ที่มีขึ้นในวันศุกร์ที่ 26 ส.ค. ท่ามกลางข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ออกมาทรงตัวถึงค่อนข้างดี เช่น ยอดขายบ้านใหม่เดือน ก.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 12.4% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2550 / ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นต้นลดลงเป็น 50.9 ในเดือนส.ค. จากระดับ 51.4 ในเดือนก่อนหน้า และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า ทำให้อัตราผลตอบแทนของตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.05-0.09% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า

ตลาดตราสารหนี้ไทยได้รับอิทธิพลจากสถานการณ์ดังกล่าว ประกอบกับสำนักบริหารหนี้สาธารณะได้เปิดให้มีการทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตร (Bond Switching) สำหรับพันธบัตรรุ่น LB176A ในระหว่างวันที่ 25-26 สิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณการซื้อขายจากนักลงทุนสถาบันมีปริมาณค่อนข้างน้อย เนื่องจากรอฟังผลของการทำธุรกรรมนี้ ตลอดทั้งสัปดาห์อัตราผลตอบแทนปรับเพิ่มขึ้น 0.01-0.13% ต่อปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธบัตรรุ่นอายุมากกว่า 5 ปีขึ้นไป นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้นจำนวนประมาณ 2.54 พันล้านบาท และซื้อสุทธิพันธบัตรอายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไปประมาณ 3.97 พันล้านบาท