อัพเดทข่าวสาร

ภาวะตลาดหุ้นไทย (28 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม 2559 )

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์แรกของเดือนธันวาคม SET Index มีการแกว่งตัวขึ้นเกือบตลอดทั้งสัปดาห์ก่อนที่จะถูกขายทำกำไรในวันสุดท้ายของสัปดาห์ เพื่อลดความเสี่ยงในช่วงวันหยุดยาวและความกังวลเกี่ยวกับการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญของอิตาลี ในวันที่ 4 ธันวาคม 2559 ที่มีแนวโน้มว่าจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญและทำให้นายกรัฐมนตรีของอิตาลีต้องลาออก ทั้งนี้ แรงขับเคลื่อนหลักที่ทำให้ SET Index ปรับตัวขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้แก่ การ Rebalance Portfolio ของนักลงทุนต่างชาติจากการปรับน้ำหนักการลงทุนใหม่ของดัชนี MSCI ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2559 ที่ทำให้มีเงินไหลเข้ามาลงทุนในหุ้นไทยเป็นรายตัวมากขึ้น และการประชุม OPEC ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2559 ที่มีมติลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มลง 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้กำลังการผลิตเหลือ 32.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นมติข้อตกลงที่ตกลงกันได้ในรอบ 8 ปี และนอกเหนือจากการคาดการณ์ของนักลงทุนที่เชื่อว่าจะไม่สามารถตกลงกันได้ โดยสิ้นสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $51.79 ต่อบาร์เรล ปรับตัวขึ้น 12.44% WoW สำหรับประเด็นการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed นั้น Bloomberg Consensus ได้ปรับประมาณการขึ้นเป็น 100% แล้ว ซึ่งคาดว่าประเด็นดังกล่าวตลาดได้รับรู้ข่าวไปพอสมควรแล้ว อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังเฝ้าติดตามถ้อยแถลงของ Fed ว่าจะให้แนวโน้มทิศทางดอกเบี้ยอย่างไร จะมีการปรับดอกเบี้ยขึ้นอีกในระยะเวลาอันสั้นอีกหรือไม่ และหากปรับขึ้นจะรวดเร็วเพียงใด

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,501.66 จุด ปรับขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.08 %

ในส่วนของมุมมองระยะสั้นสำหรับช่วงเวลาที่เหลือของปี ตลาดมีแนวโน้มแกว่งขึ้นได้ เนื่องจากตลาดหุ้นยังน่าจะได้รับผลบวกจากแรงซื้อของกองทุน LTF/RMF ในช่วงปลายปี ในขณะที่ความเสี่ยงของตลาดในช่วงที่เหลือของปี จะอยู่ที่ถ้อยแถลงเกี่ยวกับทิศทางดอกเบี้ยของ Fed ว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องและปรับขึ้นอย่างรวดเร็วหรือไม่

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (28 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม 2559 )

ในสัปดาห์ที่ผ่านมารายงานตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หลายตัวแสดงถึงมุมมองเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ได้แก่ การประมาณการครั้งที่ 2 สำหรับการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศประจำไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ระดับ 3.2% ซึ่งสูงกว่าตัวเลขประมาณการณ์ครั้งแรกที่ระดับ 2.9% จากแรงหนุนของการส่งออกและการใช้จ่ายของผู้บริโภค, สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐรายงานผลการสำรวจธุรกรรมการจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมการผลิต (ISM Manufacturing PMI) ในเดือนพ.ย. ที่ระดับ 53.2 ดีกว่าในเดือนต.ค. ที่ 51.9 และตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนพ.ย. ที่เพิ่มขึ้น 178,000 ตำแหน่ง ซึ่งดีกว่าที่ตลาดคาดและมากกว่าเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ การที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) บรรลุข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตครั้งแรกในรอบ 8 ปี ทำให้ราคาน้ำมันกลับมาปรับตัวสูงขึ้น ก็เป็นปัจจัยที่สร้างความกังวลในเรื่องเงินเฟ้อ

US Treasury Yield จึงปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยและทรงตัวในระดับสูง โดยรุ่น 10Y ขึ้นมาแตะที่ 2.39% และรุ่น 30Y ปิดที่ระดับ 3.06% ทางด้านตลาดพันธบัตรรัฐบาลของไทยก็อยู่ในทิศทางเดียวกัน โดยตลอดทั้งสัปดาห์อัตราผลตอบแทนปรับเพิ่มขึ้น 0.01-0.15% โดยเฉพาะในรุ่นอายุ 5 ปีขึ้นไป ส่วนการประมูลพันธบัตรตลาดแรกในรุ่นอายุประมาณ 30 ปี อัตราผลตอบแทนปรับเพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้าประมาณ 0.14% และ Accepted Amount เพียง 4.6 พันล้านบาทจากจำนวนที่เสนอขาย 14 พันล้านบาท ตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 766 ล้านบาทและขายสุทธิพันธบัตรระยะยาว 2,081 ล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย (21-25 พฤศจิกายน 2559)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์สี่ของเดือนพฤศจิกายน SET Index มีการแกว่งตัวขึ้น และสามารถกลับขึ้นมาปิดที่ 1,500 จุดได้ในวันสิ้นสัปดาห์ จากแรงซื้อของนักลงทุนสถาบันภายในประเทศที่มียอดซื้อสุทธิ 5,305 ล้านบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าส่วนหนึ่งจะมาจากแรงซื้อของเม็ดเงิน LTF/RMF ในช่วงปลายปี และการเข้ามาเก็งกำไรระยะสั้นจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายด้วยการลดภาษี “ช้อปช่วยชาติ” ซึ่งเป็นมาตรการเดียวกันกับที่ใช้ในปีที่แล้ว แม้ว่าสภาพัฒน์ฯ จะรายงาน GDP Growth ในไตรมาส 3 ที่ 3.2% ซึ่งต่ำกว่านักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดเล็กน้อย เนื่องจากผลกระทบของการปราบทัวร์ศูนย์เหรียญของภาครัฐที่กระทบต่อภาคการท่องเที่ยวก็ตาม นอกจากนี้ SET Index ยังได้รับผลดีจากการที่ Fund flow ของนักลงทุนต่างชาติที่ไหลออกในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีความเบาบางลง โดยมียอดขายสุทธิในระดับประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อวัน จากที่เคยสูงถึง 2,000-3,000 ล้านบาทต่อวัน ในส่วนของราคาน้ำมัน WTI ยังคงความผันผวน จากข่าวการเจรจาเรื่องกำลังการผลิตของแต่ละประเทศในกลุ่ม OPEC ก่อนการประชุมในวันที่ 30 พฤศจิกายน อย่างไรก็ตาม ตลอดสัปดาห์ราคาน้ำมัน WTI ยังปรับขึ้น 0.81% WoW ปิดที่ $46.06 ต่อบาร์เรล

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,500.41 จุด ปรับเพิ่มจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 1.80%

ในส่วนของมุมมองระยะสั้น ตลาดหุ้นมีแนวโน้มจะยังคงผันผวน จากเรื่องการประชุม OPEC ที่จะมีขึ้นในวันที่ 30 พฤศจิกายน การลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญของอิตาลีในวันที่ 4 ธันวาคม และการประชุม FOMC ในวันที่ 13-14 ธันวาคม อย่างไรก็ตาม ตลาดยังได้รับแรงสนับสนุนจากแรงซื้อของกองทุน LTF/RMF ซึ่งจะทำให้ตลาดมีความเสี่ยงที่จะปรับตัวลงรุนแรงไม่มากนัก

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (21 – 25 พฤศจิกายน 2559 )

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2559 ว่าขยายตัวร้อยละ 3.2 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 3.5 ในไตรมาสก่อนหน้า และประเมินว่าในปี 2559 จะขยายตัวร้อยละ 3.2 โดยการบริโภคของครัวเรือนและการลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 3.0 และร้อยละ 10.0 ตามลำดับ ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งที่ 7/2559 ให้ความเห็นว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มฟื้นตัวในอัตราที่ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน แต่มีความเสี่ยงเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้นซึ่งอาจมีผลต่อการส่งออกสินค้าของไทย และจากปัจจัยภายในประเทศ โดยเฉพาะผลกระทบของการจัดระเบียบทัวร์ศูนย์เหรียญซึ่งอาจทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนน้อยกว่าประมาณการเดิม

ทางด้านค่าเงินดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมายังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง จากตัวเลขเศรษฐกิจประจำเดือนตุลาคมที่ฟื้นตัว เช่น ตัวเลขการขายบ้านที่เพิ่มขึ้นหมดในทุกภูมิภาคของสหรัฐฯ / ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ / จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานที่ต่ำกว่า 300,000 รายเป็นเวลา 90 สัปดาห์ติดต่อกัน เป็นต้น ทำให้นักลงทุนในตลาดมองว่ามีแนวโน้มสูงที่อัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ จะปรับตัวขึ้น พร้อมกับคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนหน้าและต่อเนื่องในปีหน้า อัตราผลตอบแทน 30Y US Treasury จึงขึ้นมาแตะระดับ 3% อีกครั้งนับตั้งแต่ต้นปี ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนตลาดพันธบัตรของไทยยังปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในรุ่นอายุ 5 ปีขึ้นไป ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิในพันธบัตรระยะยาว แต่ยอดการขายพันธบัตรระยะสั้นเริ่มชะลอลง

ภาวะตลาดหุ้นไทย (14-18 พฤศจิกายน 2559)

ในสัปดาห์ที่สามของเดือนพฤศจิกายน SET Index ได้ขยับตัวในกรอบ 1,463 – 1,486 จุด ปัจจัยหลักที่ทำให้ SET Index ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องยังเป็นเงินทุนต่างชาติที่ยังคงไหลออกจากประเทศ ณ วันสิ้นสุดสัปดาห์สถาบันต่างชาติได้ขายสุทธิรวมถึง 10,470 ล้านบาท ทำให้ยอดการขายสุทธิตั้งแต่เดือนตุลาคมเพิ่มขึ้นเป็น 4.3 หมื่นล้านบาท อีกปัจจัยลบต่อตลาดหุ้นไทยคือการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้ส่งสัญญาณว่าจะขึ้นดอกเบี้ยในเดือนธันวาคมนี้ เห็นได้จากผลสำรวจมุมมองนักลงทุนถึงโอกาสการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ของ Bloomberg ที่สูงถึงร้อยละ 96 การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่อาจจะทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร 30 ปีของรัฐบาลสหรัฐฯ ขึ้นไปแตะที่ระดับร้อยละ 3.0 ได้ ซึ่งเป็นปัจจัยลบต่อตลาดหุ้นไทย อย่างไรก็ตามตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้รับปัจจัยหนุนจากการปรับขึ้นของราคาน้ำมันดิบ WTI ที่สิ้นสัปดาห์ปิดที่ 46.36 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 จากสัปดาห์ก่อนหน้า บวกกับแรงซื้อของหุ้นที่ได้เข้าคำนวณในดัชนี MSCI ในรอบใหม่

ณ สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดตัวที่ 1,473.86 จุด ปรับลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าร้อยละ 1.38 ในระยะสั้นคาดว่าตลาดหุ้นจะมีความผันผวนจากความไม่แน่นอนของนโยบายของว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ นาย Donald Trump ซึ่งเป็นความเสี่ยงอีกอย่างหนึ่งต่อตลาดทุนที่ต้องคอยจับตามอง

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (14 – 18 พฤศจิกายน 2559 )

จากตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐไม่ว่าจะเป็น ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านในเดือนตุลาคมที่แตะระดับสูงสุดในรอบ 9 ปี และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานรายสัปดาห์ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 43 ปี และประธานธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ได้กล่าวต่อคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจร่วมของสภาครองเกรสว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยมีแนวโน้มเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่า FED จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ อัตราผลตอบแทนของ US Treasury 10-Year จึงขึ้นไปแตะระดับ 2.34% หรือเพิ่มขึ้นจากระดับ 1.83% ณ สิ้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

ผลกระทบจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั่วโลกที่ปรับตัวขึ้นอย่างมากหลังทราบผลว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนที่ 45 พร้อมกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงิน (US Dollar Index) ปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 13 ปี ทำให้เกิดแรงขายพันธบัตรในกลุ่มประเทศเอเชีย สำหรับพันธบัตรรัฐบาลไทย นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิตั้งแต่วันที่ 10-18 พ.ย. ประมาณ 80.6 พันล้านบาท โดยเป็นการขายทั้งพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาว และอัตราผลตอบแทนในช่วงอายุ 5 ปีขึ้นไปปรับตัวขึ้น 0.12-0.47%

ภาวะตลาดหุ้นไทย (7-11 พฤศจิกายน 2559)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สองของเดือนพฤศจิกายน SET Index ผันผวนในกรอบ 1,486- 1,522 จุด โดยในช่วงต้นสัปดาห์ SET Index สามารถกลับมายืนเหนือ 1,500 จุดได้อีกครั้ง เมื่อปรากฏข่าวว่า FBI ได้หยุดการพิจารณาในประเด็นการใช้ E-mail ส่วนตัวของนางฮิลลารี่ คลินตัน ทำให้มีการคาดการณ์ว่านางคลินตันจะได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนกลับมา และจะทำให้นางคลินตันได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ออกมา ปรากฏว่าเป็นนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนที่ 45 ซึ่งผิดจากที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ประกอบกับการที่พรรครีพับบลิกันได้รับชัยชนะครองเสียงข้างมากในการเลือกตั้งทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ทำให้ในช่วงแรกมีแรงซื้อกลับเข้ามาในตลาดหุ้น จากการคาดการณ์ว่ารัฐบาลใหม่จะสามารถดำเนินนโยบายเศรษฐกิจได้ราบรื่นขึ้น เนื่องจากครองเสียงข้างมากทั้งในด้านนิติบัญญัติและด้านบริหาร อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา ได้เกิดแรงเทขายหุ้นในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) มากขึ้น เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่านโยบายทางเศรษฐกิจของนายทรัมป์ ที่จะเร่งการลงทุนภาครัฐ จะทำให้สหรัฐฯขาดดุลงบประมาณมากขึ้น อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯจะปรับตัวสูงขึ้น และค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯจะแข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ นักลงทุนยังกังวลว่านายทรัมป์อาจจะออกมาตรการกีดกันทางการค้ามากขึ้นด้วย ทำให้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิเพิ่มขึ้นอีก 9,273 ล้านบาท แม้ว่าผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ของบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ออกมาดีตามที่นักวิเคราะห์คาดก็ตาม นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไทยยังถูกกดดันจากการที่ราคาน้ำมันดิบยังคงลงต่อเนื่อง โดยสิ้นสัปดาห์ปิดที่ $43.41 ต่อบาร์เรล จากการที่กลุ่ม OPEC มีการผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้น ทำให้มีความกังวลว่าการประชุมเพื่อควบคุมกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC ในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้จะล้มเหลว

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,494.53 จุด ปรับเพิ่มจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.59%

ในส่วนของมุมมองระยะสั้น ตลาดยังคงมีความผันผวน เนื่องจากยังมีแนวโน้มที่ Flow ต่างชาติยังคงไหลออกจากไทยและภูมิภาคอีกระยะหนึ่ง ตลาดยังคงให้ความสนใจเกี่ยวกับนโยบายของนายทรัมป์ ช่วงก่อนรับตำแหน่งประธานาธิปดี ในวันที่ 20 มกราคม 2560 ที่ประกาศจะดำเนินนโยบายเร่งด่วนในช่วง 100 วันแรกหลังจากการเข้ารับตำแหน่ง

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (7 – 11 พฤศจิกายน 2559 )

คณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปีในวันพุธที่ผ่านมา โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ต่อเนื่องในอัตราที่ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ก่อนหน้าแม้มีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นจากปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นแต่อาจกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายช้ากว่าคาดจากปัจจัยด้านอุปทาน สำหรับภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ทางด้านเหตุการณ์สำคัญคือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 8 พ.ย. นับตั้งแต่ผลโพลที่มีคะแนนสูสีกันจนกระทั่งเมื่อผลการเลือกตั้งจริงออกมา ได้ส่งผลกระทบต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐซึ่งนำไปสู่ความผันผวนในสกุลเงินอื่น ราคาของสินทรัพย์เสี่ยงและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นอีกด้วย ภายหลังผลการเลือกตั้งออกมาพลิกความคาดหมายของนักวิเคราะห์ โดยนายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนที่ 45 และพรรครีพับลิกันได้รับเสียงข้างมากในสภาครองเกรส ทำให้ตลาดทุนทั่วโลกต่างกังวลกับนโยบายสุดโต่งของนายทรัมป์ แต่หลังจากการกล่าวสุนทรพจน์ตอบรับชัยชนะ ตลาดกลับคลายกังวลส่งผลให้มีแรงเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยง ทำให้ตลาดหุ้นกลับมาบวกและพันธบัตรสหรัฐเผชิญแรงขายอย่างรุนแรง โดยล่าสุด US Treasury 10-Yr ขึ้นไปแตะระดับ 2.20% เมื่อสิ้นสัปดาห์ที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากการเพิ่มการคาดการณ์ว่าเฟดน่าจะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคมและอาจขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องในปีหน้า

เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลต่อตลาดตราสารหนี้ไทย ทั้งค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ปรับตัวขึ้น โดยตลอดทั้งสัปดาห์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุประมาณ 3 ปีขึ้นไปปรับตัวขึ้น 0.05-0.17% นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิทั้งพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาวประมาณ 22.07 พันล้านบาท และ 5.14 พันล้านบาท ตามลำดับ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (31 ตุลาคม – 4 พฤศจิกายน 2559 )

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีการประชุมนโยบายการเงินของหลายประเทศสำคัญ เช่น ช่วงต้นสัปดาห์ BOJ มีมติคงเครื่องมือทางการเงินไว้ดังเดิม และไม่เปลี่ยนแปลงการคาดการณ์ GDP Growth แต่ปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อลดลง ซึ่งคาดว่าเงินเฟ้อเป้าหมายจะถึง 2% ภายในครึ่งหลังของปีงบประมาณ 2018 ทางด้านการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐ (FOMC) ก็มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ดังเดิม และให้ความเห็นว่าตลาดแรงงานและตลาดอสังหาริมทรัพย์มีการพัฒนาที่ดีขึ้น ขณะที่ความเสี่ยงต่อภาพรวมเศรษฐกิจดูลดน้อยลง ส่วนการประชุมนโยบายการเงินของประเทศอังกฤษ (BOE) มีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยในระดับเดิมและคงวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรรัฐบาลตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) หลังจากภาพรวมเศรษฐกิจยังดีอยู่เนื่องจากยังไม่ได้รับผลกระทบจาก Brexit นอกจากนี้ ตลาดการเงินตลาดทุนโดยรวมวิตกผลการเลือกตั้งในสหรัฐที่จะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า จึงทำให้ราคาสินทรัพย์เสี่ยงในตลาดสำคัญ ๆ ปรับตัวลง

ทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทยได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างประเทศดังกล่าวบ้าง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นปรับลดลงเล็กน้อย แต่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลการประมูลพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุประมาณ 20 ปี ได้รับการตอบรับไม่ดี ทั้งอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าวันก่อนประมาณ 0.10% และปริมาณผู้เสนอซื้อมีน้อยกว่าปริมาณขาย

ภาวะตลาดหุ้นไทย (31 ตุลาคม – 4 พฤศจิกายน 2559)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์แรกของเดือนพฤศจิกายน SET Index แกว่งตัวช่วงแคบในกรอบ 1,478- 1507 จุด โดย SET Index อ่อนตัวลงในวันสุดท้ายของสัปดาห์ ทำให้ยังไม่สามารถยืนเหนือระดับ 1,500 จุดได้ ทั้งนี้ ในช่วงกลางสัปดาห์เป็นต้นมา นักลงทุนได้มีการขายหุ้นขนาดใหญ่ ทั้งกลุ่มพลังงาน กลุ่มธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มสื่อสาร จากปัจจัยความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิปดีสหรัฐฯ ในวันที่ 8 พ.ย. ที่เดิมนักลงทุนคาดหวังว่านางฮิลลารี คลินตัน จะชนะการเลือกตั้ง แต่การที่ FBI รื้อคดี E-mail ของนางฮิลลารี ทำให้นางฮิลลารีเสียคะแนนเสียงไปมาก และคะแนนเสียงของนายโดนัลด์ ทรัมป์ตีตื้นขึ้นจนใกล้เคียงกันมาก นอกจากนี้ ความกังวลจากภาวะน้ำมันล้นตลาดเนื่องจากกลุ่ม OPEC ยังไม่สามารถตกลงเรื่องการควบคุมกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC ได้ ทำให้ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลดลงติดต่อกัน 5 วัน หรือลดลง 6.2% WoW และเป็นปัจจัยกดดันกลุ่มพลังงานที่เกี่ยวกับราคาน้ำมัน อย่างไรก็ตาม การที่ราคาถ่านหินได้ทำราคาสูงสุดในรอบ 5 ปี โดยสิ้นสับดาห์ปิดที่ 108.25$/ตัน และการประชุมของ BoE, BoJ และ FOMC ยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิม (0.25%, -0.1% และ 0.25-0.5% ตามลำดับ) ก็เป็นปัจจัยสนับสนุนตลาดได้ระดับหนึ่ง ในสัปดาห์ที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้างมีการปรับตัวขึ้นค่อนข้างโดดเด่น โดยปรับตัวขึ้น 4.42% เนื่องจากเป็นช่วงการเปิดประมูลก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม สีชมพู และสีเหลือง รวมมูลค่าเกือบ 2 แสนล้านบาท

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,485.70 จุด ปรับลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา -0.58 %

ในส่วนของมุมมองระยะสั้น ตลาดมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นสูงได้ เนื่องจากนางฮิลลารีมีโอกาสได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯมากขึ้น เนื่องจากผลสรุปจาก FBI ไม่พบสิ่งผิดปกติใน E-Mail ของนางฮิลลารี และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไตรมาสที่ 3 ที่กำลังจะประกาศออกมา ยังคาดว่าส่วนใหญ่ยังมีแนวโน้มที่ดีอยู่ อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์นี้จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี สหรัฐฯ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ตลาดทั่วโลกให้ความสนใจ