อัพเดทข่าวสาร

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – กุมภาพันธ์ 2567

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ต่อเนื่องเป็นครั้งที่สอง ตามที่ตลาดคาดการณ์ โดยมองระดับดอกเบี้ยในปัจจุบันยังคงมีความเหมาะสมกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการขยายตัวที่ยั่งยืนในระยะยาว และการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าจะขึ้นอยู่กับพัฒนาการของแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี มติออกมาไม่เป็นเอกฉันท์ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบเก้าการประชุมที่ผ่านมานับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2022 โดยมีคณะกรรมการ 2 ท่านเห็นควรให้ลดดอกเบี้ยลง -0.25% ธปท. มองเศรษฐกิจปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวลดลงอยู่ในช่วง 2.50-3.00% จากระดับ 3.2% ที่เคยประเมินไว้เดิมเมื่อเดือนพฤศจิกายน (ไม่รวมมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต) ส่วนหนึ่งจากเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ของปีก่อนที่มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ได้คาดไว้ท่ามกลาง (1) อุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวช้ากระทบส่งออกและการผลิต (2) สินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง (3) แม้จำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาใกล้เคียงกับที่ได้คาดการณ์ แต่การใช้จ่ายต่อหัวลดน้อยลงกว่าในอดีต และ (4) การลงทุนภาครัฐลดลงจากการออกงบประมาณประจำปีล่าช้า
การบริโภคเอกชนและการท่องเที่ยวจะยังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักในปีนี้โดย ธปท. ยังคงคาดจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 34.5 ล้านคน ขณะที่ส่งออกและการผลิตมีแนวโน้มขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยปัญหาเชิงโครงสร้างโดยเฉพาะด้านความสามารถในการแข่งขันของประเทศจะเป็นอุปสรรคมากขึ้น หากไม่มีการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่ง ธปท. ระบุว่านโยบายการเงินมีความสามารถจำกัดในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง ด้านเงินเฟ้อ กนง. คาดการณ์ว่ามีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำใกล้เคียง 1% ในปีนี้ ก่อนที่จะทยอยเพิ่มขึ้นในปีถัดไป โดยมีแนวโน้มเข้าสู่กรอบเป้าหมาย 1-3% ได้ช้ากว่าที่ประเมินไว้เดิม ทั้งนี้ ธปท. ระบุเงินเฟ้อที่ต่ำและติดลบต่อเนื่องมาสี่เดือนไม่ได้สะท้อนอุปสงค์ที่อ่อนแอและไม่ใช่การเข้าสู่ภาวะเงินฝืด โดยราคาสินค้าไม่ได้ปรับลดลงเป็นวงกว้าง (มีเพียง 25% ของตะกร้าเงินเฟ้อเท่านั้น) แต่สะท้อนปัจจัยเฉพาะในบางกลุ่มสินค้าและมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล โดยหากหักมาตรการลดค่าครองชีพออกไป เงินเฟ้อจะยังคงเป็นบวก
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานจีดีพีไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2023 ขยายตัว 1.7%YoY (-0.6%QoQ SA) ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 2.6%YoY จากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 1.5%YoY เนื่องจากการใช้จ่ายภาครัฐหดตัว -3.0% กระทบภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง แม้การส่งออกสินค้าและการบริการขยายตัว โดยรวมปี 2023 จีดีพีไทยขยายตัว 1.9%YoY น้อยกว่าคาดการณ์ที่ 2.2%YoY สศช. คาดการณ์จีดีพีไทยปี 2024 ที่ 2.2-3.2% ลดลงจากเดิมที่ 2.7-3.7% โดยคาดการณ์การส่งออกขยายตัว 2.9% การใช้จ่ายและการลงทุนเอกชนขยายตัวดีต่อเนื่องที่ 3.0% และ 3.5% ตามลำดับ จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้าไทย 35 ล้านคนในปีนี้ พร้อมคาดการณ์เงินเฟ้อที่ 0.9-1.9% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.4% ต่อจีดีพี คิดเป็น 7.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับลดลงตลอดทั้งเส้นจากเดือนก่อนหน้า โดยพันธบัตรระยะสั้นอายุไม่เกิน 1 ปีอัตราผลตอบแทนลดลง 1-11Bps ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุมากกว่า 1 ปี ลดลง 10-19Bps หลังผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินออกมาด้วยมติไม่เป็นเอกฉันท์ สะท้อนโอกาสการลดดอกเบี้ยภายในปีนี้ที่มีมากขึ้น นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในระดับต่ำ ท่ามกลางหลายปัจจัยเสี่ยงทั้งจากภายใน เช่น ปัญหาเชิงโครงสร้าง ความไม่แน่นอนทางการเมือง และความหวังมาตรการดิจิทัลวอลเล็ตที่ริบหรี่ และปัจจัยภายนอก เช่น อุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวช้าโดยเฉพาะจีน ซึ่งไทยพึ่งพาอย่างมากทั้งในแง่การส่งออกและการท่องเที่ยว และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ด้านการซื้อขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้ยังคงเป็นการขายสุทธิ โดยแบ่งเป็นขายพันธบัตรระยะสั้น 1.1 หมื่นล้านบาท ขายสุทธิพันธบัตรระยะยาว 5 พันล้านบาท และมีพันธบัตรครบกำหนด 2.8 พันล้านบาท คงเหลือนักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรประมาณ 9.1 แสนล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 2023 ประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดหุ้นไทย – กุมภาพันธ์ 2567

SET Index ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ปิดที่ระดับ 1,370.67 จุด เพิ่มขึ้น 0.45% จากเดือนก่อนหน้า ในช่วงต้นเดือนดัชนีมีการฟื้นตัว หลังจากปรับตัวลงต่อเนื่องในเดือนก่อนหน้า โดยทำจุดต่ำสุดวันแรกของเดือนกุมภาพันธ์ที่ระดับ 1,357 จุด ก่อนจะฟื้นตัวในสัปดาห์แรกหลังจากนั้นก็แกว่งตัวในลักษณะ Sideway จนถึงสิ้นเดือน โดยมีกรอบการเคลื่อนไหวในช่วง 1,357-1,405 หรือ 48 จุด มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในเดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ 44,922 ล้านบาท (-0.81% MoM)
ตลาดหุ้นไทยในเดือนกุมภาพันธ์ มีปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยกดดันเข้ามาตลอดทั้งเดือน ทำให้ดัชนี SET ปรับตัวอยู่ในกรอบ โดยเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.25-5.50% ซึ่งเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันครั้งที่ 4 และสอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด ขณะที่เฟดก็ส่งสัญญาณว่ายังไม่มีแผนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค.นี้ ซึ่งภายหลัง สหรัฐฯได้มีการรายงานอัตราเงินเฟ้อเดือนมกราคมออกมาสูงกว่าที่คาด ทําให้นักลงลงทุนคาดว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างน้อยจนถึงเดือนมิถุนายน กดดันบรรยากาศการลงทุนในภาพรวม อีกทั้งในประเทศ มีแรงกดดันจากตัวเลข GDP ไตรมาส 4 ปี 2566 เติบโต 1.7% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 2.6% และปี 2566 ขยายตัวเพียง 1.9% แต่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญกับตลาด เนื่องจากตัวเลขใกล้เคียงกับคาดการณ์ของกระทรวงการคลังที่ระบุเอาไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งนักลงทุนรับรู้ไปพอสมควรแล้ว ด้านนโยบายทางการเงินของไทยที่มีแนวโน้มผ่อนคลายลงกลับไม่ได้ส่งผลบวกต่อบรรยากาศการลงทุนในระยะสั้น นักเศรษฐศาสตร์ไทยและต่างประเทศเริ่มทยอยปรับมุมมองต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยของไทย มาเป็นคาดว่าจะลดดอกเบี้ยลง 1-3 ครั้ง หรือ 0.25-0.75% หลังการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ผลการประชุมมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ย โดยมีกรรมการ 2 เสียงเห็นว่าควรลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ส่งผลกดดันทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าและกดดันให้ตลาดหุ้นปรับตัวลง
ด้านปัจจัยบวกในเดือนกุมภาพันธ์ นักลงทุนเริ่มเห็นโมเมนตัมเศรษฐกิจไทยเริ่มดูดีขึ้น โดยเฉพาะจากภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตต่อเนื่อง อาจเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปีนี้ โดยเฉพาะจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน ประกอบกับความคาดหวังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะแถลงมาตรการการคุม “Short Selling และ Program Trading” ภาคเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวต่อเนื่อง จากภาคการค้า ยอดส่งออกเดือน มกราคม +10.0% YoY ดีกว่าคาด +7.9% YoY และเร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ระดับ 4.7% YoY อีกทั้งกระแสผ่อนคลายนโยบายการเงินของจีน สนับสนุนการฟื้นตัวของตลาดหุ้น China-linked รวมทั้งตลาดหุ้นไทย ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางการจีนได้เร่งการประกาศมาตรการด้านการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการประกาศลดเงินสำรองภาคธนาคาร การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิงอายุ 5 ปี รวมทั้งการออกมาตรการลดแรงขายในตลาดหุ้นจีน เช่น การควบคุมการขาย Short รวมทั้งการห้ามนักลงทุนบางกลุ่มทำการยืมหุ้นเพื่อทำธุรกิจ SBL อีกด้วย ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ ผนวกกับการที่มูลค่าหุ้น (valuation) ของตลาดหุ้นจีนปรับลดลงมามากแล้ว ได้กระตุ้นให้มีแรงซื้อกลับเข้าสู่ตลาดหุ้นจีนและตลาดหุ้นฮ่องกง และเป็นจิตวิทยาเชิงบวกให้กับภาพรวมตลาดหุ้นเอเชียและตลาดหุ้นไทยด้วย
นักลงทุนต่างชาติพลิกมาซื้อสุทธิเป็นครั้งแรกในรอบ 12 เดือน ที่ 2.86 พันล้านบาท จากเดือนก่อนหน้าที่ขายสุทธิ 3.09 หมื่นล้านบาท ขณะที่ภาพรวมกระแส Fund Flow เดือนนี้ไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกสูงถึง 10.6 พันล้านเหรียญ โดยหุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกมากที่สุด คือ กลุ่มพาณิชย์ +8.2% กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ +6.0% และกลุ่มธุรกิจการเกษตร +5.4% ในขณะที่กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -10.2% กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ -3.0% และกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร -2.7% ให้ผลตอบแทนติดลบมากที่สุดในช่วงเดียวกัน
สำหรับมุมมองในการลงทุนในช่วงต้นของปี 2567 เรายังคงมุมมองว่าพื้นฐานของเศรษฐกิจประเทศไทยยังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว นำโดยภาคการท่องเที่ยวและภาคการบริโภคภายในประเทศ โดยเราคาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ จากภาครัฐจะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น รวมถึงการฟื้นตัวของภาคการส่งออกและการออกมาตรการลดค่าครองชีพ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อไป ทั้งนี้ เรามองว่ามาตรการฟรีวีซ่า จะช่วยสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวได้ดีขึ้น ทั้งนี้ การฟื้นตัวของผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนฯ ในปี 2567 และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯและไทย จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นได้อย่างมั่นคง

ภาวะตลาดหุ้นไทย – มกราคม 2567

SET Index ในเดือนมกราคม 2567 ปิดที่ระดับ 1,364.52 จุด ลดลง 3.63% จากเดือนก่อนหน้า มีปัจจัยกดดันจากความคาดหวังที่เฟดจะดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลดลง โดยตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินดอลล่าร์ฯ แข็งค่าขึ้น ประกอบกับปัจจัยภายในประเทศจากตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2566 จากประมาณการของกระทรวงการคลังที่มีแนวโน้มจะออกมาต่ำกว่าเป้าเดิม โดยมองว่า GDP ประเทศไทยปี 2566 จะเติบโต 1.8% ลดลงจากประมาณการเดิมที่ 2.7% อีกทั้งมาตรการดิจิตัลวอลเล็ตอาจล่าช้าออกไปจากกำหนดการเดิม ทำให้มีกระแสกดดันให้ ธปท. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้คาดว่าจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติยังขายหุ้นไทยอย่างต่อเนื่องในเดือนมกราคม โดยตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 1,352 -1,438 จุด มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในเดือนมกราคม อยู่ที่ 45,289 ล้านบาท (+18.88% MoM)

January Effect สำหรับตลาดหุ้นไทยในปีนี้เกิดขึ้นไม่กี่วัน โดยตลอดทั้งเดือนมีการปรับตัวลงจากแรงขายในหุ้นขนาดใหญ่ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มธนาคารที่ได้แรงกดดันจากความกังวลดอกเบี้ยไทยเริ่มมี Downside ในการปรับลง และการทยอยปรับลด Target Price ลงจากโบรกเกอร์ต่างประเทศ รวมถึงผลกระทบจากกระแสความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ที่กลับเข้ามาในตลาด ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติยังมีการขายหุ้นอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่มีกระแสเงินไหลออก สะท้อนถึงปัจจัยกดดันเฉพาะตัวของตลาดหุ้นไทย อาทิเช่น ตัวเลขเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่าคาดการณ์ ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนฯ ที่อาจจะออกมาน่าผิดหวัง โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ส่อแววล่าช้า รวมถึงขนาดของวงเงินที่ใช้มีความเสี่ยงที่จะปรับลดลง ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยมีน้อยลง หลังรัฐบาลและ ธปท. มีมุมมองที่ต่างกันต่อเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลแสดงความกังวลต่อเงินฝืดรวมทั้งระดับอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินไป แต่ฝั่ง ธปท. แถลงว่าเศรษฐกิจไทยขณะนี้ไม่เกิดเงินฝืด และดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยที่ดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ในระดับต่ำที่สุดแห่งหนึ่งของโลก อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่จะเป็นแรงบวกให้กับตลาดหุ้นไทยคาดว่าจะมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนมีแนวโน้มสดใสมากขึ้น หลังมาตรการฟรีวีซ่าถาวร ไทย-จีน ที่จะเริ่ม 1 มีนาคม 2567 และทางการจีนได้ประกาศมาตรการสนับสนุนตลาดหุ้นภายในประเทศ รวมทั้งการปรับลดสัดส่วนเงินสำรองภาคธนาคาร (Reserve Requirement Ratio) ลง คาดว่าจะส่งผลให้ตลาดหุ้นจีนและตลาดหุ้นที่เชื่อมโยง สามารถฟื้นตัวในระดับหนึ่ง

ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิเป็นเดือนที่ 12 ที่ 30,874 ล้านบาท จากเดือนก่อนหน้าที่ขายสุทธิ 204 ล้านบาท โดยหุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกมากที่สุด คือ กลุ่มธุรกิจการเกษตร 5.7% กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 2.4% และกลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ 2.0% ในขณะที่กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (-11.3%) กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (-10.1%) และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง (-8.1%) ให้ผลตอบแทนติดลบมากที่สุดในช่วงเดียวกัน

สำหรับมุมมองในการลงทุนในช่วงต้นของปี 2567 เรายังคงมุมมองว่าพื้นฐานของเศรษฐกิจประเทศไทยยังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว นำโดยภาคการท่องเที่ยวและภาคการบริโภคภายในประเทศ โดยเราคาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ จากภาครัฐจะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น รวมถึงการฟื้นตัวของภาคการส่งออกและการออกมาตรการลดค่าครองชีพ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อไป ทั้งนี้ เรามองว่ามาตรการฟรีวีซ่า จะช่วยสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม เรายังคงติดตามผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนฯ ในไตรมาสที่ 4/2566 ที่อาจไม่เป็นไปตามที่คาดหวังและมีความเสี่ยงที่จะถูกปรับลดลง ส่งผลให้ EPS Growth 2567 ของตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจน้อยลง รวมถึงผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐฯ และของไทยที่อาจจะไม่ได้ทยอยปรับลดลงเร็วตามที่นักลงทุนส่วนใหญ่คาด ซึ่งในกรณีดังกล่าวจะเพิ่มแรงกดดันต่อต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจ รวมทั้งกดดันต่อ Valuations ของสินทรัพย์เสี่ยงในภาพรวม

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – มกราคม 2567

BOJ มีมติเอกฉันท์ให้คง (1) อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ -0.1% (2) ควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปีที่ใกล้ 0% โดยมีระดับอ้างอิงการเข้าซื้อที่ 1% (3) คงการเข้าซื้อ ETFs ไม่เกิน 12 ล้านล้านเยนและ J-REITs ไม่เกิน 1.8 แสนล้านเยนต่อปี และคงการเข้าซื้อตราสารหนี้เอกชนระยะสั้น (Commercial Paper) ที่ 2 ล้านล้านเยน และหุ้นกู้เอกชน (Corporate Bond) ที่ 3 ล้านล้านเยนต่อปี BOJ ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของ GDP ในปี 2024 ขึ้น แต่ประเมินว่าความเสี่ยงของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในต่างประเทศยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตามอง โดยปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ในปี 2024 ขึ้นมาอยู่ที่ 1.2% จาก 1.0% ที่เคยคาดไว้ในเดือนตุลาคม 2023 ขณะที่คงคาดการณ์ GDP ในปี 2025 ไว้ที่ 1.0% ด้านมุมมองต่อเงินเฟ้อ BOJ ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2024 ลง มาอยู่ที่ 2.4% จาก 2.8% ที่เคยคาดไว้ในเดือนตุลาคม 2023 จากปัจจัยด้านราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง โดยประเมินว่าความเสี่ยงของทิศทางเงินเฟ้อยังมีอยู่สูง จากความไม่แน่นอนของการกำหนดค่าจ้างและราคาของภาคธุรกิจ ซึ่งยากที่จะคาดเดาว่าจะทำให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นมากน้อยเพียงใด และพัฒนาการของอัตราแลกเปลี่ยนและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในต่างประเทศ ซึ่งจะกระทบต่อราคานำเข้าและเงินเฟ้อภายในประเทศ

ECB มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องเป็นครั้งที่สาม ตามที่ตลาดคาดการณ์เป็นวงกว้าง โดยอัตราดอกเบี้ย Deposit Facility อยู่ที่ 4.00%, อัตราดอกเบี้ย Main Refinancing อยู่ที่ 4.50% และอัตราดอกเบี้ย Marginal Lending Facility อยู่ที่ 4.75% ขณะที่ระบุเช่นเดิมว่าการตัดสินใจเรื่องระดับดอกเบี้ยที่เหมาะสมจะขึ้นอยู่กับตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมา (Data-dependent Approach) ECB มีท่าทีกังวลต่อเงินเฟ้อลดลง โดยแรงกดดันเงินเฟ้ออยู่ในทิศทางขาลงต่อเนื่องและข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาสอดคล้องกับแนวโน้มเงินเฟ้อระยะปานกลางที่ได้ประเมินเมื่อเดือนธันวาคม ขณะที่ได้นำประโยคที่ว่า “แรงกดดันด้านราคาจากปัจจัยในประเทศยังคงอยู่ในระดับสูง โดยหลักจากการเติบโตแข็งแกร่งของค่าจ้าง” ออกจากแถลงการณ์ ด้านการลดขนาดงบดุล เช่นเดียวกับในการประชุมครั้งก่อน ECB ระบุจะลดการถือครองพันธบัตรที่เข้าซื้อผ่านมาตรการพิเศษที่เริ่มช่วงวิกฤตโควิดหรือ Pandemic Emergency Purchase Program (PEPP) เร็วขึ้น โดยจะเริ่มลดการถือครองในอัตราเฉลี่ยเดือนละ 7.5 พันล้านยูโรในช่วงครึ่งหลังของปี และยุติการซื้อคืนพันธบัตรดังกล่าว ณ สิ้นปี ขณะที่ได้ยุติการซื้อคืนพันธบัตรที่เข้าซื้อผ่านมาตรการปกติหรือ Asset Purchase Program (APP) ไปแล้วก่อนหน้านี้

FED มีมติเป็นเอกฉันท์ (12-0) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม 5.25-5.50% ต่อเนื่องเป็นครั้งที่สี่ตามที่คาดการณ์เป็นวงกว้างในการประชุมวันที่ 30-31 มกราคม ท่ามกลางเงินเฟ้อที่มีพัฒนาการที่ดีแต่ยังคงสูง ขณะที่กิจกรรมเศรษฐกิจยังขยายตัวแข็งแกร่งและอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ แถลงการณ์ย้ำว่าการพิจารณาปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่กับตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมา แต่ได้นำประโยคที่บ่งชี้ถึงการขยับดอกเบี้ยขึ้นเพิ่มเติมออกไป ขณะที่เพิ่มประโยค “คณะกรรมการไม่คิดว่าการลดดอกเบี้ยจะมีความเหมาะสม จนกว่าจะมีความมั่นใจมากกว่านี้ว่าเงินเฟ้อเคลื่อนเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% ได้อย่างยั่งยืน”” เข้ามา ซึ่งนับเป็นการเปิดประตูสู่การลดอัตราดอกเบี้ยที่ชัดเจน แต่จะไม่รีบร้อน ด้านการลดขนาดงบดุล (Balance Sheet Run-offs) แถลงการณ์ยังระบุจะลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลและสินทรัพย์ที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน (MBS) ในอัตราเดือนละ 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับตามแผนที่ได้ระบุไว้เดิม

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุไม่เกิน 6 เดือนปรับขึ้น 7-16Bps ในขณะที่พันธบัตรระยะยาวอายุ 1 ปีขึ้นไปกลับลดลง 3-9Bps จากเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับการขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้ซึ่งขายพันธบัตรระยะสั้น 1.4 หมื่นล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 1 หมื่นล้านบาท และมีพันธบัตรครบกำหนด 1.8 พันล้านบาท คงเหลือนักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรประมาณ 9.3 แสนล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 2023ประมาณ 6.4 พันล้านบาท ท่ามกลางสถานการณ์ค่าเงินดอลลาร์ที่กลับมาอยู่ในทิศทางแข็งค่าในเดือนนี้ และค่าเงินบาทยังได้รับอิทธิพลไปในทางอ่อนค่าจากค่าเงินสกุลเอเชียสกุลหลักอย่างเงินเยนที่คงนโยบายการเงิน และเงินหยวนที่ตัวเลขเศรษฐกิจส่งสัญญาณน่ากังวลและกำลังพิจารณาออกพันธบัตร 1 ล้านล้านหยวนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเป็น 1 ใน 4 การออกพันธบัตรครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 26 ปี

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดหุ้นไทย – ธันวาคม 2566

SET Index ในเดือนธันวาคม 2566 ปิดที่ระดับ 1429.62 จุด เพิ่มขึ้น 0.97% จากเดือนก่อนหน้า มีปัจจัยสนับสนุนจากมุมมองเฟดในเรื่องนโยบายดอกเบี้ยสหรัฐฯที่ผ่อนคลายมากขึ้น เม็ดเงินใหม่จากกองทุน THAIESG อย่างไรก็ตาม ปัจจัยภายในประเทศยังกดดันดัชนีในช่วงต้นเดือนจากความไม่เชื่อมั่นของนักลงทุนต่อมาตรการภาครัฐ รวมทั้งเศรษฐกิจที่ยังเปราะบางและมีความเสี่ยงที่ปีนี้จะเติบโตต่ำกว่า และตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจของปี 2566 และ 2567 ที่ลดลง โดยตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไว้อยู่ในกรอบ 1358 -1416 จุด มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในเดือนธันวาคม อยู่ที่ 38,095 ล้านบาท (-14.44% MoM)

ตลาดหุ้นไทยในช่วงต้นเดือนมีการปรับตัวลงจากแรงขายในหุ้นขนาดใหญ่ ราคาหุ้นธุรกิจนํ้ามันและโรงกลั่นปรับลดลงมากกดดันดัชนีหลังราคานํ้ามันดิบ WTI ร่วงหลุดลงมาตํ่ากว่า 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับตํ่าสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม โดยภาพรวมตลาดหุ้นไทยยังขาดปัจจัยสนับสนุนใหม่ อีกทั้งยังมีความไม่แน่นอนของนโยบายภาครัฐกดดัน เช่น การปรับขึ้นค่าเอฟที (Ft) ที่ยังไม่มีความชัดเจน และราคาหุ้นธุรกิจเช่าซื้อและบัตรเครดิตที่ปรับตัวลงภายหลังนายกรัฐมนตรีแถลงจัดการหนี้ทั้งระบบ โดยจะออกมาตรการแก้ไขอย่างเหมาะสมแก่ลูกหนี้แต่ละประเภท ทำให้ตลาดคาดการณ์ผลกระทบได้ยาก โดยดัชนีลงไปทำจุดต่ำสุด 1354.73 จุด ทำระดับต่ำสุดใหม่ในรอบ 3 ปี

ดัชนีฟื้นตัวได้ดีขึ้นภายหลังการทำจุดต่ำสุดใหม่ เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.25-5.50% ตามคาด พร้อมกับมุมมองในเรื่องนโยบายดอกเบี้ยในเชิงที่ผ่อนคลายมากขึ้น โดยส่งสัญญาณลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2567 มากกว่า 3 ครั้ง และในปี 2568 จะปรับลดลงอัตราดอกเบี้ยอีก 4 ครั้ง เมื่อประกอบกับท่าทีของเจ้าหน้าที่ ธนาคารกลางยุโรปที่ไม่ได้ดูผ่อนคลายเท่ากับทางเฟด ส่งผลให้สกุลเงินดอลล่าร์ฯ อ่อนค่าลงค่อนข้างแรงเมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโร ทั้งนี้ ดัชนีค่าเงินดอลล่าร์ฯ (Trade-weighted US Dollar Index) ที่อ่อนค่าแรง ได้สนับสนุนให้ฟันด์โฟลว์ ต่างชาติกลับเข้าสู่สินทรัพย์เสี่ยง ประกอบกับเริ่มมีแรงซื้อเก็งกำไรหุ้นที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของกองทุน THAIESG ที่มีลักษณะเป็นกองทุนที่เน้นลงทุนหุ้น ESG หรือหุ้นยั่งยืน คือ คำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เป็นหลัก ทำให้ดัชนีสามารถปรับตัวขึ้นมายืนเหนือระดับ 1400 จุด
ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิเป็นเดือนที่ 11 ที่ 203 ล้านบาท จากเดือนก่อนหน้าที่ขายสุทธิ 1.94 หมื่นล้านบาท โดยหุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกมากที่สุด คือ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 13.0% กลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ 4.7% และกลุ่มธุรกิจการเกษตร 4.7% ในขณะที่กลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต -2.4% กลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง -1.7% และกลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ -1.64% ที่ให้ผลตอบแทนติดลบมากที่สุดในช่วงเดียวกัน

สำหรับมุมมองในการลงทุนในช่วงต้นของปี 2567 เรายังคงมุมมองว่าพื้นฐานของเศรษฐกิจประเทศไทยยังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว นำโดยภาคการท่องเที่ยวและภาคการบริโภคภายในประเทศ โดยเราคาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ จากภาครัฐจะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น รวมถึงการฟื้นตัวของภาคการส่งออกและการออกมาตรการลดค่าครองชีพ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อไป ทั้งนี้ เรามองว่ามาตรการฟรีวีซ่า จะช่วยสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวได้ อย่างไรก็ตาม เราก็ยังคงติดตามว่าผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐฯ และของไทยที่อาจจะทยอยปรับลดลง ซึ่งในกรณีดังกล่าวจะลดแรงกดดันต่อต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจ รวมทั้งลดแรงกดดันต่อ Valuations ของสินทรัพย์เสี่ยงในภาพรวม

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – ธันวาคม 2566

FED มีมติเอกฉันท์ (12-0 เสียง) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม 5.25-5.50% ตามที่ตลาดคาดการณ์ในการประชุมวันที่ 12–13 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นการคงดอกเบี้ยต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 โดยในแถลงการณ์ของคณะกรรมการฯ ยอมรับว่าเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อเห็นการชะลอลงชัดเจนขึ้นแล้ว อย่างไรก็ดี ยังคงมุมมองว่าอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่ประเมินระบบการเงินว่ายังมีเสถียรภาพ โดยมองว่าผลของภาวะการเงินและเงื่อนไขสินเชื่อที่ตึงตัวจะทยอยส่งผ่านไปยังเศรษฐกิจจริงมากขึ้น ในแง่ของคาดการณ์เศรษฐกิจ FED ประเมินว่าในปีนี้มีแนวโน้มเติบโตที่ 2.6% แข็งแกร่งกว่าที่เคยคาดไว้เดิมเมื่อเดือนกันยายนที่ 2.1% ขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจในปีหน้ามีแนวโน้มชะลอลงมาอยู่ที่ 1.4% ชะลอลงมากกว่าคาดการณ์เดิมที่ 1.5% ด้านอัตราการว่างงานยังคงคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.1% ในปีหน้าจาก 3.8% ในปีนี้ ส่วนอัตราเงินเฟ้อ คณะกรรมการปรับลดคาดการณ์ดัชนีราคารายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลสหรัฐฯ (PCE) ทั้งดัชนีทั่วไปและพื้นฐานลงตลอดช่วงเวลาที่มีการคาดการณ์ โดยคาดว่าดัชนีจะสามารถกลับเข้าสู่เป้าหมายของ FED ที่ 2% ได้ภายในปี 2026

ECB มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายตามที่ตลาดคาดการณ์เป็นวงกว้างต่อเนื่องเป็นครั้งที่สอง โดยอัตราดอกเบี้ย Deposit Facility อยู่ที่ 4.00%, อัตราดอกเบี้ย Main Refinancing อยู่ที่ 4.50% และอัตราดอกเบี้ย Marginal lending facility อยู่ที่ 4.75% และระบุเช่นเดิมว่าที่ระดับดอกเบี้ยดังกล่าวหากคงไว้เป็นระยะเวลานานเพียงพอ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการนำพาเงินเฟ้อกลับเข้าเป้าหมายที่ 2% ด้านการลดขนาดงบดุล ECB ระบุจะลดการถือครองพันธบัตรที่เข้าซื้อผ่านมาตรการพิเศษที่เริ่มช่วงวิกฤตโควิดหรือ Pandemic Emergency Purchase Program (PEPP) เร็วขึ้น โดยระบุจะทำการซื้อคืนพันธบัตรที่ครบกำหนดอายุจนถึงครึ่งแรกของปี 2024 ก่อนที่จะเริ่มทยอยลดการถือครองในอัตราเฉลี่ยเดือนละ 7.5 พันล้านยูโรในครึ่งหลังของปี และยุติการซื้อคืนพันธบัตรดังกล่าว ณ สิ้นปี จากเดิมที่ระบุว่าจะทำการซื้อคืนพันธบัตรดังกล่าวจนถึงสิ้นปี 2024 เป็นอย่างน้อย ขณะที่พันธบัตรที่เข้าซื้อผ่านมาตรการปกติหรือ Asset Purchase Program (APP) ได้ยุติการซื้อคืนไปแล้วก่อนหน้านี้ ทางด้านเงินเฟ้อ ECB มองว่ามีพัฒนาการที่ดีขึ้นและจะทยอยชะลอลงในปีหน้า ก่อนที่จะกลับเข้าเป้าหมาย 2% ได้ในปี 2025 โดยได้ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปลงเป็น 5.4% ในปีนี้และ 2.7% ในปีหน้า จากเมื่อเดือนกันยายนที่คาด 5.6% และ 3.2% ตามลำดับ โดยคาดเงินเฟ้อจะขยายตัว 2.1% ในปี 2025 และ 1.9% ในปี 2026 ในแง่ของเศรษฐกิจ ECB ปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้ลงเป็น 0.6% จากเดิมที่คาด 0.7% และคาดปีหน้าจะขยายตัวเพียง 0.8% จากเดิมที่คาด 1.0% ส่วนปี 2025-2026 คาด GDP จะขยายตัว 1.5%

BOJ มีมติเอกฉันท์ตามที่ตลาดคาดการณ์ โดยคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ -0.1% และคงกรอบการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี (Yield Curve Control: YCC) ไว้ที่ระดับอ้างอิง 1% นอกจากนี้ BOJ ได้คงแนวทางนโยบายการเงินไว้ไม่เปลี่ยนแปลง โดยระบุว่าการคาดการณ์เงินเฟ้อได้เพิ่มขึ้นในระดับปานกลางและจะยังคงนโยบายการเงินผ่อนคลายต่อไปก่อน แม้เศรษฐกิจญี่ปุ่นอยู่ในทิศทางฟื้นตัวและคาดการณ์เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในระดับปานกลาง แต่ความไม่แน่นอนยังมีอยู่สูง โดยประเมินว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการลงทุนทางธุรกิจมีสัญญาณที่ต้องระวังเพิ่มขึ้น ตลาดประเมินการสื่อสารของ BOJ บ่งชี้ว่าโอกาสในการปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมกราคมยังต่ำอยู่

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยโดยส่วนใหญ่ปรับลดลงทุกช่วงอายุ 1-29Bps โดยอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาวยังคงปรับลดลงต่อจากเดือนก่อนหน้า และอยู่ในทิศทางเดียวกับตลาดต่างประเทศ ในขณะที่การประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยอายุ 3 เดือนมีความผันผวน จากสภาพคล่องและปริมาณธุรกรรมที่ลดลงเนื่องจากอยู่ในช่วงเดือนสุดท้ายของปี ทำให้อัตราผลตอบแทนจากการประมูลอยู่ในช่วงกว้างระหว่าง 1.98-2.50% เทียบกับในเดือนพฤศจิกายนที่อยู่ในช่วงระหว่าง 1.90-2.13% ในเดือนนี้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการขายพันธบัตรระยะสั้นประมาณ 5.8 พันล้านบาท ขายสุทธิพันธบัตรระยะยาว 6 พันล้านบาท มีพันธบัตรครบกำหนด 7.4 พันล้านบาท คงเหลือนักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรประมาณ 9.4 แสนล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อนประมาณ 1.4 แสนล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดหุ้นไทย – พฤศจิกายน 2566

SET Index ในเดือนพฤศจิกายน 2566 ปิดที่ระดับ 1,380.18 จุด ลดลง 0.12% จากเดือนก่อนหน้า มีปัจจัยสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯที่คาดว่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว เม็ดเงินใหม่จากกองทุน TESG และมาตรการ E-Refund ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยภายในประเทศทั้งเรื่อง Short Sell จำนวนนักท่องเที่ยวที่อาจจะฟื้นตัวต่ำกว่าคาดการณ์ จากการยกเลิกเที่ยวบินเข้าไทย ความเสี่ยงภาครัฐเข้าแทรกแซงค่าไฟ และตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจของปี 2566 และ 2567 ที่ลดลง โดยตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 1,375 -1,430 จุด มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในเดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ 44,524 ล้านบาท (-2.32% MoM)

ตลาดหุ้นไทยมีการปรับตัวขึ้นสอดคล้องกับตลาดหุ้นต่างประเทศในช่วงต้นเดือน หลังจากคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.25-5.50% เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน โดย นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ส่งสัญญาณว่าเฟดอาจยุตินโยบายการเงินที่เข้มงวดนี้หลังจากที่คณะกรรมการเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุม 2 ครั้งติดต่อกัน หลังจากนั้นตลาดหุ้นไทยเริ่มแกว่งตัวออกข้าง โดยมีปัจจัยกดดันจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไทยในไตรมาส 3 ที่ออกมาผสมผสานกัน นำโดยกลุ่มค้าปลีกที่ปรับลงแรงหลังผลประกอบการออกมาต่ำกว่าที่คาด โดยหลังจากนั้นสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ร่วมแถลงถึงสภาวะการลงทุนหลังดัชนี SET Index ปรับตัวลงหลุด 1,400 จุด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลทุน โดยทั้ง ก.ล.ต. และ ตลท. ได้ให้ข้อมูลว่าการทำ Short Sell ยังอยู่ในระดับปกติ จึงไม่ได้เป็นต้นเหตุหลักที่ทำให้ตลาดปรับตัวลงแรง

ในช่วงครึ่งเดือนหลัง ตลาดหุ้นไทยเริ่มมีการฟื้นตัวได้เล็กน้อยในช่วงต้น หลังกระทรวงการคลังหารือกับสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนใหม่ TESG ซึ่งจะเป็นการเพิ่มเม็ดเงินใหม่เข้ามาลงทุนในตลาด โดยลักษณะจะเป็นกองทุนที่เน้นลงทุนหุ้น ESG หรือหุ้นยั่งยืน คือคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลเป็นหลัก สภาวะตลาดยังปรับตัวลงต่อหลังเงื่อนไขวงเงินลงทุนไม่เกิน 100,000 บาท/ราย น้อยกว่าที่คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 200,000-300,000 บาท/ราย และต้องลงทุนไม่ต่ำกว่า 8 ปี อีกทั้งยังโดนกดดันจากแรงเทขายของหุ้นขนาดใหญ่อย่าง AOT ที่กังวลว่าจะได้รับผลกระทบจากสายการบินจีนยกเลิกเที่ยวบินเข้าประเทศไทย อีกทั้งกลุ่มโรงไฟฟ้าที่ปรับตัวลงหลังภาครัฐอาจเข้าแทรกแซงค่าไฟฟ้า อีกทั้งคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับลดคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2566 และ 2567 กดดันบรรยากาศการลงทุน

ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิเป็นเดือนที่ 10 ที่ 1.94 หมื่นล้านบาท จากเดือนก่อนหน้าที่ขายสุทธิ 1.57 หมื่นล้านบาท โดยหุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกมากที่สุด คือ กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 8.4% กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ 6.4% และกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม 5.0% ในขณะที่กลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต -9.6% กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ -7.1% และกลุ่มการแพทย์ -4.9% ให้ผลตอบแทนติดลบมากที่สุดในช่วงเดียวกัน

สำหรับมุมมองในการลงทุนในช่วงสุดท้ายของปี 2566 เรายังคงมุมมองว่าพื้นฐานของเศรษฐกิจประเทศไทยยังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว นำโดยภาคการท่องเที่ยวและภาคการบริโภคภายในประเทศ โดยเราคาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ จากภาครัฐจะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น รวมถึงการฟื้นตัวของภาคการส่งออกและการออกมาตรการลดค่าครองชีพ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อไป ทั้งนี้ เรามองว่ามาตรการฟรีวีซ่า จะช่วยสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวได้ในช่วงฤดูการท่องเที่ยวของปีนี้ อย่างไรก็ตาม เราก็ยังคงติดตามว่าผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐฯ และของไทยที่อาจจะทยอยปรับลดลงในช่วงเดือนสุดท้ายของปี 2566 ซึ่งในกรณีดังกล่าวจะลดแรงกดดันต่อต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจ รวมทั้งลดแรงกดดันต่อ Valuations ของสินทรัพย์เสี่ยงในภาพรวม