อัพเดทข่าวสาร

ภาวะตลาดหุ้นไทย – กรกฎาคม 2566

SET Index ในเดือนกรกฎาคม 2566 ปิดที่ระดับ 1,556.06 จุด เพิ่มขึ้น 3.5% จากเดือนก่อน โดยดัชนีได้ฟื้นตัวขึ้นหลังจากมีการปรับตัวลงแรงในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 ของ SET Index อยู่ที่ -6.7%

สำหรับปัจจัยหลักภายนอก ได้แก่ การกลับมาเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน ทั้งจากการที่ซาอุดีอาระเบียประกาศขยายเวลาการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันและรัสเซียประกาศลดการส่งออกน้ำมันในช่วงต้นเดือน การที่นักลงทุนคาดหวังว่าอุปสงค์น้ำมันโลกในช่วงครึ่งปีหลังจะเพิ่มขึ้นหลังทางการจีนประกาศเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการคาดหวังว่า FED จะหยุดวงจรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ส่งผลให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ซึ่งการที่ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นได้ผลักดันให้ราคาหุ้นกลุ่มธุรกิจน้ำมันปรับขึ้นตามด้วย ส่วนราคาหุ้นกลุ่มโรงกลั่นได้แรงหนุนจากส่วนต่างค่าการกลั่นในตลาดโลกที่ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ คือ การที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และประกาศส่งไม้ต่อให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ทำให้แม้ว่าจะยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ความกังวลต่อนโยบายของพรรคก้าวไกลที่ไม่เอื้อต่อบริษัทจดทะเบียนในตลาดฯก็เบาบางลง ทำให้ราคาหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้ามีการปรับตัวขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาเป็นกลุ่มที่ได้รับแรงกดดันจากนโยบายพรรคก้าวไกลมากที่สุด

สรุปในเดือนที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุด คือ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 21.2% จากการปรับตัวขึ้นของราคาหุ้น DELTA ซึ่งรายงานกำไรสุทธิในไตรมาสที่ 2 ดีกว่าที่ตลาดคาดเอาไว้มาก กลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง 7.5% และกลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค 5.2% ในขณะที่กลุ่มที่ให้ผลตอบแทนติดลบมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต -4.2% กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ -3.3% และกลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ -3.3% สำหรับปริมาณการซื้อขายตามกลุ่มนักลงทุนในเดือนมิถุนายนนั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิที่ 1.3 หมื่นล้านบาท นักลงทุนทั่วไปภายในประเทศซื้อสุทธิ 0.4 หมื่นล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 0.3 หมื่นล้านบาท และนักลงทุนสถาบันภายในประเทศซื้อสุทธิ 0.6 หมื่นล้านบาท

สำหรับมุมมองในการลงทุนในช่วงครึ่งหลังปี 2566 เรายังคงมุมมองว่าพื้นฐานของเศรษฐกิจประเทศไทยยังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว นำโดยภาคการท่องเที่ยวและภาคการบริโภคภาคเอกชน ในขณะที่การส่งออกก็มีแนวโน้มฟื้นตัวดีกว่าครึ่งปีแรก โดยเราได้เห็นสัญญาณบวกจากการที่การส่งออกพลิกกลับเติบโตในเดือนกรกฎาคม เมื่อเทียบกับปีก่อน อย่างไรก็ตาม เรามีมุมมองที่ระมัดระวังมากขึ้นกับการท่องเที่ยวที่แม้ว่าจำนวนตัวเลขนักท่องเที่ยวจะมีแนวโน้มฟื้นตัวที่ดี แต่สัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนยังช้าตามเศรษฐกิจประเทศจีนที่ยังไม่ฟื้นตัวดี ซึ่งที่ผ่านมานักท่องเที่ยวจีนถือว่าเป็นกลุ่มที่มีอัตราใช้จ่ายสูงเมื่อเทียบกับนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่น ทำให้เมื่อสัดส่วนนักท่องเที่ยวจีนลดลง รายได้จากการท่องเที่ยวอาจจะต่ำกว่าในอดีตที่ผ่านมาแม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะฟื้นตัวก็ตาม

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – กรกฎาคม 2566

FED มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Federal Funds Rate) อีก 25Bps สู่ระดับ 5.25-5.50% และยังคงแผนลดการถือครองตราสารหนี้ อันได้แก่ พันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนองหรือ MBS เช่นเดิม โดยภาพรวมถ้อยแถลงหลังการประชุมแทบไม่แตกต่างจากการประชุมเมื่อครั้งก่อนในเดือนมิ.ย. กล่าวคือยังมองภาพการจ้างงานที่แข็งแกร่งและอัตราการว่างงานในระดับต่ำ ขณะที่ยังมองกิจกรรมเศรษฐกิจขยายตัว ด้านเงินเฟ้อมองว่าเติบโตในระดับสูง สำหรับระบบธนาคารสหรัฐฯ มีความแข็งแกร่งและมีความยืดหยุ่น ทั้งนี้ นโยบายการเงินในระยะข้างหน้านั้น FED ยังคงเน้นย้ำว่าขึ้นอยู่กับ 1) การดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาแล้ว 2) ความล่าช้าของระยะเวลาที่นโยบายการเงินจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมเศรษฐกิจและเงินเฟ้อและ 3) พัฒนาการเศรษฐกิจและการเงิน

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับดอกเบี้ยขึ้น 25Bps ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ย Main Refinancing Operations, Marginal Lending Facility และ Deposit Facility Rates สู่ระดับ 4.25%, 4.50% และ 3.75% ตามลำดับ จากความกังวลที่มีต่อเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงเกินไปและยาวนานเกินไป ECB มองว่าแม้เงินเฟ้อได้ชะลอตัวลงต่อเนื่องแต่ยังถูกคาดการณ์ว่าจะยังคงอยู่เหนือเป้าหมายกินระยะเวลานาน โดย ECB ยังคงยึดหลักของการพิจารณาข้อมูลในอนาคตที่จะเข้ามา เพื่อกำหนดระดับและระยะเวลาความเข้มงวดของนโยบายที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะประเมินจากแนวโน้มเงินเฟ้อที่ขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจและการเงิน พลวัตรของพื้นฐานเงินเฟ้อที่แท้จริง และความแข็งแรงในการส่งผ่านของนโยบายการเงิน ทั้งนี้ประธาน ECB ได้กล่าวถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยว่า ความเป็นไปได้ที่จะปรับเพิ่มขึ้นหรือหยุด จะขึ้นอยู่กับการประเมินข้อมูลเศรษฐกิจที่เข้ามา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2%

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติเอกฉันท์ในการคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ -0.1% สำหรับเงินสำรองส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ เเละมีมติด้วยคะเเนนเสียงข้างมากให้คงเป้าหมายอัตราผลตอบเเทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี (Yield Curve Control: YCC) ไว้ที่ประมาณ “0%” เเละเคลื่อนไหวในกรอบอ้างอิง +/-0.5% โดยมิใช่เป็นเป้าหมายที่เข้มงวด เเละเปลี่ยนกรอบการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีที่อัตราผลตอบเเทน 1.0% จากเดิมที่ 0.5% ในขณะที่ BOJ มีมติเอกฉันท์ในการคงเป้าการเข้าซื้อสินทรัพย์ต่าง ๆ ในส่วนของประมาณการเศรษฐกิจ คาด GDP ปีงบประมาณ FY2023F จะขยายตัว 1.3% ลดลงเล็กน้อยจากประมาณการครั้งก่อนเดือนเม.ย. ที่คาดว่าจะขยายตัว 1.4% ขณะที่คงคาดการณ์ GDP ปีงบประมาณ FY2024F ไว้ระดับเดิมที่ 1.2% ทางด้านเงินเฟ้อ คาดการณ์ Core CPI ปีงบประมาณ FY2023F จะขยายตัว 2.5% เพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัว 1.8% จากผลของต้นทุนการนำเข้าที่สูงขึ้นเเละส่งผ่านไปยังผู้บริโภคสูงกว่าที่เคยประเมินไว้ ส่วนเงินเฟ้อ Core CPI ในปีงบประมาณ FY2024F คาดจะอยู่ที่ 1.9% ลดลงจาก 2.0% ในประมาณการครั้งก่อน ภายหลังการประชุม ผู้ว่าฯ BOJ ได้ออกมาระบุว่า กรรมการหลายคนเล็งเห็นถึงเเนวโน้มเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าว่ามีความเสี่ยงไปทางด้านสูงมากขึ้น ในขณะที่ผ่านมาได้ประเมินเเรงกดดันจากเงินเฟ้อตํ่าเกินไป ทาง BOJ จึงตัดสินใจปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินผ่านการเปลี่ยนกรอบการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลในการประชุมครั้งนี้ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้มาตรการ YCC

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยไม่ได้มีการเคลื่อนไหวในทิศทางที่ชัดเจน โดยสรุป ณ สิ้นเดือน พันธบัตรรุ่นอายุต่ำกว่า 10 ปีปรับขึ้น 1-10Bps ส่วนอายุ 11 ปีขึ้นไปกลับปรับลดลง 2-8Bps ในขณะที่ตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรโดยภาพรวมปรับขึ้นตลอดทั้งเส้น ตามการคาดการณ์ของนักลงทุนในตลาดว่า การประชุม FED ในช่วงปลายเดือนจะยังคงขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไป สำหรับการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติเดือนนี้ เป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 2.5 หมื่นล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 7.8 พันล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว นักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรเพิ่มขึ้นประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท โดยสรุปยอดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทย ณ สิ้นเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ประมาณ 1.03 ล้านล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อนประมาณ 5.3 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดหุ้นไทย – มิถุนายน 2566

SET Index ปิดที่ระดับ 1,503.10 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 1.98% โดยดัชนีขยับขึ้นมาในช่วงครึ่งเดือนแรก ก่อนจะปรับตัวลงมาแรงในช่วงครึ่งหลังของเดือน โดยมีปัจจัยกดดันทั้งจากภายนอกและภายในอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2566 ของ SET Index อยู่ที่ -9.92% ให้ผลตอบแทนรั้งท้ายในตลาดภูมิภาคเอเชีย

สำหรับปัจจัยกดดันภายนอกปัจจัยแรก ได้แก่ การที่ FED ยังส่งสัญญาณเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อในการประชุมช่วงที่เหลือของปีนี้ หลังตัวเลขเศรษฐกิจทั้งการบริโภค ตลาดแรงงาน และราคาบ้าน ในเดือนล่าสุดยังออกมาแข็งแกร่งปัจจัยกดดันถัดมาคือ ความกังวลต่อเศรษฐกิจจีนที่ยังไม่ฟื้นตัว สะท้อนผ่านรายงานยอดส่งออกจีนเดือนพฤษภาคม ที่ปรับตัวลดลง 7.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน นอกจากนี้ อัตราการว่างงานของผู้เรียนจบใหม่ก็ยังสูง ทำให้มีการทยอยปรับลดคาดการณ์การเติบโตของ GPD ประเทศจีนลง อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นประเทศไทยยังได้รับอานิสงส์จากข่าวรัฐบาลจีนกำลังพิจารณาที่จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาพยุงตลาดไว้

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ปัจจัยกดดันหลักนั้นหนีไม่พ้นเรื่องความไม่ชัดเจนทางการเมือง หลังมีข่าวว่าพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลยังไม่สามารถตกลงเรื่องตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรกันได้ และยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการที่นายพิธาจะขึ้นเป็นนายกฯ เนื่องจากอาจจะได้รับเสียงสนับสนุนจากรัฐสภาไม่เพียงพอ นอกจากประเด็นทางการเมืองแล้ว ยังมีปัจจัยลบจากหลายบริษัทในตลาด ได้แก่ (1) DELTA ที่ราคาหุ้นมีการปรับตัวลงแรงหลังจากถูกมาตรการกำกับซื้อขาย (2) TRUE และ DIF ที่นักลงทุนกังวลเรื่องการเพิ่มทุนและ TRUE อาจยกเลิกการใช้เสาของ DIF (3) JMART และ JMT ที่ถูกเทขายเนื่องจากถูกถอดออกจากดัชนี SET50 รอบครึ่งปีหลัง (4) EA, NEX และ BYD ที่ราคาหุ้นปรับตัวลงหลังมีข่าวรถบัสไฟฟ้าไฟไหม้ และท้ายที่สุด (5) STARK ที่มีข่าวการทุจริตและพยายามตกแต่งบัญชี ทำให้กระทบต่อความเชื่อมั่นต่อบริษัทในตลาดโดยรวม

สรุปในเดือนที่ผ่านมา กลุ่มที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุด คือ กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 4.2% กลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค 2.1% และกลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ 1.5% ในขณะที่กลุ่มที่ให้ผลตอบแทนติดลบมากที่สุดในช่วงเดียวกัน ได้แก่ กลุ่มยานยนต์ -10.0% กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ -9.9% และกลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ -9.7% สำหรับปริมาณการซื้อขายตามกลุ่มนักลงทุนในเดือนมิถุนายนนั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิที่ 9.1 พันล้าน โดยเป็นการขายสุทธิห้าเดือนติดต่อกัน นักลงทุนทั่วไปภายในประเทศซื้อสุทธิ 2.9 พันล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ขายสุทธิ 1.9 พันล้านบาท และนักลงทุนสถาบันภายในประเทศซื้อสุทธิ 8.1 พันล้านบาท

สำหรับมุมมองในการลงทุนในช่วงครึ่งหลังปี 2566 เรายังคงมุมมองว่าพื้นฐานของเศรษฐกิจประเทศไทยนั้นยังมีโอกาสในการฟื้นตัว นำโดยการท่องเที่ยวและการส่งออกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีกว่าครึ่งปีแรก และไม่ว่าฝ่ายไหนจะได้เป็นรัฐบาล แต่เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ ปัจจัยกดดันตลาดจากความไม่แน่นอนทางการเมืองก็จะลดลง อย่างไรก็ตาม เรายังคงมีมุมมองที่ระมัดระวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่อาจฟื้นตัวช้ากว่าคาด รวมไปถึงนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่อาจจะกดดันบริษัทจดทะเบียนบางกลุ่มได้

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – มิถุนายน 2566

ในเดือนนี้ FED มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.00%-5.25% เพื่อให้เวลาในการพิจารณาความเหมาะสมของการเพิ่มการตึงตัวของนโยบายการเงิน ซึ่ง FED จะประเมินการขึ้นดอกเบี้ยในครั้งต่อไปจากผลของการขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ผ่าน ๆ มาที่มีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และตลาดการเงิน โดยค่ากลาง Dot Plot ได้ปรับมุมมองอัตราดอกเบี้ยปีนี้เพิ่มขึ้น จาก 5.1% ในการประชุมเดือนมีนาคม ไปอยู่ที่ 5.6% ซึ่งมีกรรมการ 12 ท่านจาก 18 ท่านที่มองดอกเบี้ยเท่ากับหรือสูงกว่า 5.5%-5.75% ในปีนี้ แถลงการณ์ของ FED กล่าวว่าระบบธนาคารสหรัฐฯ ยังคงมีความแข็งแกร่ง และมีความยืดหยุ่น ความตึงตัวด้านสินเชื่อของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนมีผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน และเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี ผลกระทบยังมีความไม่แน่นอนที่สูง ด้านเศรษฐกิจประเมินว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง เงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมาย และผลกระทบของดอกเบี้ยที่สูงส่งผลต่อกิจกรรมตลาดบ้านและการลงทุน ด้านตลาดแรงงาน อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ และการจ้างงานยังคงขยายตัวดี โดยมีสัญญาณบ่งชี้ว่าอุปสงค์และอุปทานในตลาดแรงงานกำลังกลับสู่สมดุลที่ดีขึ้น อย่างไรก็ดี อุปสงค์ยังคงมากกว่าอุปทานค่อนข้างมาก โดย FED คาดการณ์ปีนี้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นจากที่ประเมินไว้ในเดือนมีนาคมที่ 0.4% มาอยู่ที่ 1% และ อัตราการว่างงานปีนี้ลงจาก 4.5% ไปอยู่ที่ 4.1%

ด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับดอกเบี้ยขึ้น 25Bps ตามการคาด ทำให้อัตราดอกเบี้ย Deposit Rate ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.50% สูงสุดในรอบกว่า 20 ปี ส่วนอัตราดอกเบี้ย Marginal Lending Rate เพิ่มขึ้นเป็น 4.25% และอัตราดอกเบี้ย Main Refinancing Rate เพิ่มขึ้นเป็น 4.00% ท่ามกลางเงินเฟ้อที่แม้จะชะลอลง แต่ก็คาดว่าจะอยู่ในระดับสูงยาวนานเกินไป ประธาน ECB แถลงหลังการประชุมว่า การปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นต่อเนื่องในการประชุมเดือน ก.ค. นั้นมีความเป็นไปได้สูง สำหรับเศรษฐกิจ ECB ได้ปรับเพิ่มประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปขึ้น สำหรับปี 2023-2025 เป็น 5.4%, 3.0% และ 2.2% ตามลำดับ เกินเป้าหมายที่ 2% เล็กน้อย และได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อพื้นฐานขึ้น สำหรับปี 2023-2025 เป็น5.1%, 3.0% และ 2.3% ตามลำดับ ปัจจัยหลักมาจากค่าจ้างแรงงานที่ได้แรงหนุนจากตลาดแรงงานแข็งแกร่ง ด้าน GDP ได้ปรับลดประมาณการปี 2023-2024 ลงเล็กน้อย -0.1ppt เป็น 0.9% และ 1.5% ตามลำดับ โดยหลักจากสภาวะทางการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น รวมถึง GDP ไตรมาสแรกที่ออกมาติดลบ (-0.1% QoQ) และคาดปี 2025 ที่ 1.6% เช่นเดิม ด้านธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติ 7-2 ปรับขึ้นดอกเบี้ย 50bps สู่ระดับ 5.00% สูงสุดในรอบ 15 ปี โดยนับเป็นการปรับดอกเบี้ยขึ้นในอัตรามากสุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. และมากกว่าที่ตลาดคาดว่าจะปรับขึ้นในอัตรา 25bps เท่านั้น แถลงการณ์ได้ระบุเช่นเดียวกับในการประชุมครั้งก่อนว่า หากมีหลักฐานว่าแรงกดดันด้านราคาคงอยู่หรือเพิ่มขึ้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมก็มีความจำเป็น การตัดสินใจปรับดอกเบี้ยขึ้นในครั้งนี้ เป็นผลจากที่อัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ค. ซึ่งรายงานในวันก่อนหน้าการประชุม ออกมาสูงกว่าคาดการณ์ (8.7% YoY เท่าเดือนก่อน เทียบกับที่คาดไว้ 8.4%) โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ที่เร่งตัวขึ้นสวนการคาดการณ์ สู่ระดับสูงสุดในรอบ 31 ปี (7.1% YoY)

ในขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติเอกฉันท์คงนโยบายการเงินผ่อนคลายดังเดิมต่อไป โดยคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ -0.1% สำหรับเงินสำรองส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ (Excess Reserve) เเละคงเป้าหมายอัตราผลตอบเเทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี (Yield Curve Control: YCC) ไว้ที่ประมาณ “0%” เเละเคลื่อนไหวในกรอบ +/-0.5% รวมถึงคงเป้าการเข้าซื้อสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่ประกาศก่อนหน้านี้ แถลงการณ์ระบุ BOJ มองอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะชะลอตัวลงในช่วงกลางของปีงบประมาณ FY2023 จากผลของการส่งผ่านต้นทุนของผู้ผลิตไปสู่ผู้บริโภคที่จะลดลง ก่อนที่จะปรับขึ้นหลังจากนั้น จากแรงหนุนของค่าจ้าง การคาดการณ์เงินเฟ้อ และเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลโดยรวมปรับขึ้น 2-12ps ในขณะที่ตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ อัตราผลตอบแทนปรับขึ้นโดยเฉพาะในช่วงอายุ 1-10ปี เป็นผลมาจากนักลงทุนในตลาดได้ปรับเปลี่ยนมุมมองว่า FED ยังไม่หยุดรอบของการขึ้นดอกเบี้ยนี้ รวมถึงจะยังคงไม่เห็นการเริ่มปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้อีกด้วย แม้ว่าผลการประชุมของ FED ในเดือนนี้จะเป็นการคงระดับอัตราดอกเบี้ยไว้ เพื่อให้เวลาในการพิจารณาความเหมาะสมของการเพิ่มการตึงตัวของนโยบายการเงินที่ผ่านมา สำหรับการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติเดือนนี้ เป็นการขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 9.5 พันล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 2.3 พันล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว นักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรลดลงประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท โดยสรุปยอดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทย ณ สิ้นเดือนมิถุนายนอยู่ที่ประมาณ 1.01 ล้านล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อนประมาณ 7 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – พฤษภาคม 2566

FED มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ย 25bps ตามคาด เพื่อทำให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% พร้อมดำเนินการลดงบดุลต่อเนื่องตามแผนเดิม โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 5.00%-5.25% สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2007 ซึ่ง FED จะประเมินการขึ้นดอกเบี้ยในครั้งต่อไปจากผลของการขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ผ่านมาที่มีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และตลาดการเงิน แถลงการณ์ของ FED กล่าวว่าระบบธนาคารสหรัฐฯ ยังคงมีความแข็งแกร่ง และมีความยืดหยุ่น ความตึงตัวด้านสินเชื่อของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนมีผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน และเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี ผลกระทบยังมีความไม่แน่นอนสูง นอกจากนี้ แถลงการณ์ในครั้งนี้ได้ละเว้นประโยคที่ส่งสัญญาณถึงความจำเป็นในการขึ้นดอกเบี้ยในครั้งต่อไป โดยเปลี่ยนเป็นการประเมินจากปัจจัยต่าง ๆ เพื่อพิจารณาความเหมาะสมของการเพิ่มการตึงตัวของนโยบายการเงิน ทางด้านเศรษฐกิจ ประเมินว่าเศรษฐกิจขยายตัวขึ้นเล็กน้อยในไตรมาสแรก แต่ยังต่ำกว่าเทรนด์ จากผลกระทบของดอกเบี้ยสูงที่ส่งผลต่อตลาดบ้าน และการลงทุน เงินเฟ้อยังคงอยู่สูงกว่าเป้าหมายมาก อย่างไรก็ตาม คาดการณ์เงินเฟ้อในระยะข้างหน้ายังคงอยู่ในระดับเดิม ตลาดแรงงานยังคงตึงตัว อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ และการจ้างงานยังคงขยายตัวดี อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณบ่งชี้ว่าอุปสงค์และอุปทานในตลาดแรงงานกำลังกลับสู่สมดุลที่ดีขึ้น แม้อุปสงค์ยังคงมากกว่าอุปทานค่อนข้างมาก

ECB มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 25bps ตามคาด โดยขึ้นอัตราดอกเบี้ย Main refinancing operations จาก 3.50% ไปอยู่ที่ 3.75% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Marginal lending facility) จาก 3.75% ไปอยู่ที่ 4.00% และอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Deposit facility) จาก 3.00% ไปอยู่ที่ 3.25% โดยเป็นการขึ้นดอกเบี้ยในอัตราเร่งที่ชะลอลงจาก 50bps ในครั้งก่อนหน้า พร้อมประกาศสิ้นสุดการลงทุนต่อ (Reinvestment) โครงการ Asset Purchase Programme (APP) จนถึงกรกฎาคม 2023 และจะลงทุนต่อในโครงการ Pandemic Emergency Purchase Programme (PEPP) จนถึงสิ้นปี 2024 เป็นอย่างน้อย ในถ้อยแถลงหลังผลการประชุม คริสตีน ลาการ์ด ระบุว่า ECB จะยังคงขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง และยังไม่หยุดขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมากเกินไป และ ECB ยังคงยึดมั่นกับการจัดการเงินเฟ้อให้กลับสู่เป้าหมายที่ 2% สำหรับการตัดสินใจของ ECB ในระยะข้างหน้าจะขึ้นอยู่กับข้อมูลเป็นสำคัญ โดยเฉพาะข้อมูลเงินเฟ้อ เศรษฐกิจ และสภาวะการเงิน ปัจจุบันเศรษฐกิจยุโรปในไตรมาสที่ 1 ยังคงขยายตัว แม้ภาคการผลิตจะมีแนวโน้มแย่ลง แต่ภาคการบริการมีแนวโน้มแข็งแกร่งขึ้น จากผลของการเปิดประเทศ อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงจากสงครามรัสเซียยูเครน และการส่งผ่านของการขึ้นดอกเบี้ยไปสู่เศรษฐกิจจริงที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง

ธนาคารอังกฤษมีมติ 7-2 ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 25bps สู่ระดับ 4.5% ตามคาด โดยมีคณะกรรมการ 2 ท่านที่มองว่าควรคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม 4.25% โดยระบุถึงการส่งผ่านของนโยบายการเงินที่มีระยะเวลานานซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอลงต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% ในระยะกลาง ในแถลงการณ์ระบุเช่นเดียวกับในการประชุมครั้งก่อนว่า หากมีหลักฐานว่าแรงกดดันด้านราคาคงอยู่หรือเพิ่มขึ้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมก็มีความจำเป็น ซึ่งในการประชุมครั้งนี้น่าจะเป็นการส่งสัญญาณว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะยังเกิดขึ้นต่อ ด้านมุมมองต่อเศรษฐกิจ มองเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัว 0.25% (เดิมคาด -0.5%), ปี 2024 ขยายตัว 0.75% (เดิมคาด -0.25%) และปี 2025 คาดจะขยายตัว 0.75% (เดิมคาด 0.25%) จากอุปสงค์โลกที่แข็งแกร่งขึ้น ราคาพลังงานที่ปรับลดลง และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจการคลัง รวมถึงตลาดแรงงานที่ตึงตัวกว่าคาด ซึ่งทำให้การเก็บออมเผื่อฉุกเฉินของภาคครัวเรือนลดลง

กนง. มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 25bps สู่ระดับ 2% ตามคาดการณ์ และมีการกล่าวถึงภาวะทางการเงินที่ผ่อนคลายน้อยลงตามทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จากการเเถลงผลการประชุม กนง. คงประมาณการการเติบโตของ GDP ไทยที่ระดับ 3.6% และ 3.8% ในปี 2023-24 ตามลำดับ โดยได้ปัจจัยหนุนหลักจากภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวเป็นวงกว้างและการบริโภคภาคครัวเรือนที่ดีขึ้น อีกทั้งยังเชื่อว่านโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่อาจเป็นปัจจัยหนุนให้เศรษฐกิจเติบโตดีกว่าที่ประเมินไว้ ด้านเงินเฟ้อ ได้มีการปรับลดประมาณการทั้งเงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานลง โดยล่าสุดคาดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ระดับ 2.5% ในปี 2023 (2.9% ครั้งก่อน) และ 2.4% ในปี 2024 (2.4% ครั้งก่อน) ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานถูกปรับลดประมาณการลงมาอยู่ที่ระดับ 2.0% ในปีนี้ (2.4% ครั้งก่อน) และจะเติบโตอยู่ในระดับดังกล่าวในปีหน้าด้วย (2.0% ไม่มีการเปลี่ยนเเปลง) นอกจากนี้ กนง. ยังคงกล่าวถึงการที่ภาวะทางการเงินโดยรวมที่ผ่อนคลายลดลง โดยมาจากต้นทุนการระดมทุนของภาคเอกชนที่สูงขึ้นตามทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลโดยรวมปรับขึ้น 1-25bps ในขณะที่ตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับขึ้นตลอดทั้งเส้น 18-93bps โดยพันธบัตรอายุที่สั้นกว่า 1 ปีปรับขึ้นมากกว่ารุ่นอื่น แม้ว่าช่วงกลางเดือนจะมีการตีความบทสัมภาษณ์กรรมการ FED บางท่านว่า อาจไม่มีการลดดอกเบี้ยต่อในปีนี้แล้ว จึงทำในอัตราผลตอบแทนที่ซื้อขายในตลาดปรับลดลงมาบ้าง ในขณะที่รายงานการประชุมที่เปิดเผยออกมาช่วงปลายเดือนมีทั้งความเห็นในฝั่งที่สนับสนุนให้ขึ้นดอกเบี้ยต่อและเสนอให้หยุดขึ้นดอกเบี้ย โดยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ รุ่นอายุ 1 เดือนเคลื่อนไหวระหว่าง 4.49-6.02%, รุ่นอายุ 2 ปีเคลื่อนไหวระหว่าง 3.89-4.54% และรุ่นอายุ 10 ปีเคลื่อนไหวระหว่าง 3.38-3.83% สำหรับการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติเดือนนี้ เป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 2 หมื่นล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 1.8 พันล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว นักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรเพิ่มขึ้นประมาณ 1.25 หมื่นล้านบาท โดยสรุปยอดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทย ณ สิ้นเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ประมาณ 1.04 ล้านล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อนประมาณ 4.3 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดหุ้นไทย – พฤษภาคม 2566

SET Index แกว่งตัวขึ้นเล็กน้อย โดยปรับตัวปิดที่ระดับ 1,533 จุด (+0.29% จากเดือนเมษายน) โดยมีปัจจัยบวกและลบสลับเข้ามากระทบตลาดตลอดทั้งเดือน สำหรับปัจจัยภายนอกคือ เรื่องความยืดเยื้อของการเจรจาขยายเพดานหนี้สหรัฐฯหลังจากสภาบนและสภาล่างของสหรัฐฯมีความเห็นไม่ตรงกัน ก่อนที่จะมีข้อตกลงเชิงบวกช่วงท้ายเดือน ส่วนปัจจัยภายในจะเป็นในเรื่องของผลของการเลือกตั้งที่ผลลัพธ์นั้นออกมาผิดไปจากที่ตลาดคาด โดยพรรคก้าวไกลเป็นพรรคที่ได้คะแนนสูงสุด และได้สิทธิเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก่อน สร้างความกังวลให้กับตลาดทุนจากนโยบายของพรรคที่มีโอกาสสร้างผลกระทบให้แก่ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาด

สำหรับปัจจัยกดดันภายนอกนั้นนอกเหนือจากเรื่องการบรรลุข้อตกลงการขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ ที่ทำให้ความกังวลต่อการผิดชำระหนี้ของสหรัฐฯได้คลี่คลายออกไป ยังมีเรื่องโอกาสที่ FED จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 25 bps จากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ยังออกมาแข็งแกร่ง และยังคงมองว่าปัญหาเงินเฟ้อของสหรัฐฯยังไม่สิ้นสุดลง

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ จะมีเรื่องผลของการเลือกตั้งที่พรรคก้าวไกลได้คะแนนสูงสุดและมีสิทธิในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก่อน แต่ด้วยจำนวนสมาชิกผู้แทนราษฎรที่ใกล้เคียงกับพรรคเพื่อไทย ประกอบกับสมาชิกวุฒิสภาที่ยังคงมีสิทธิในการออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี ทำให้ยังมีความไม่ชัดเจนต่อการจัดตั้งรัฐบาลว่าจะออกมาในรูปแบบไหน นอกจากนี้ จากนโยบายของพรรคก้าวไกลที่ให้ความสำคัญกับการกระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ทำให้นโยบายหลายนโยบายส่งผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนในตลาด อาทิ นโยบายลดค่าไฟที่สร้างความกังวลต่อโอกาสในการเติบโตในประเทศของโรงไฟฟ้าในกลุ่มใช้ก๊าซ การเพิ่มภาษีบริษัทจดทะเบียนที่มีกำไรเกิน 300 ล้านบาทจาก 20% เป็น 23% การเก็บภาษีผู้มีสินทรัพย์เกิน 300 ล้านบาท การเก็บภาษีที่ดินรายแปลงและรวมแปลง และเรื่องของ Capital Gain Tax ที่สร้างความกังวลว่าจะทำให้ปริมาณการซื้อขายในตลาดลดลง นโยบายทั้งหมดได้สร้างความกังวลต่อนักลงทุนอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนที่ผ่านมา

สรุปในเดือนที่ผ่านมา กลุ่มที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุด คือ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 31.7% กลุ่มยานยนต์ 5.8% และกลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต 4.0% ในขณะที่กลุ่มที่ให้ผลตอบแทนติดลบมากที่สุดในช่วงเดียวกัน ได้แก่ กลุ่มปิโตรเคมี
-8.3% กลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ -6.5% และกลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง -6.2% โดยปริมาณการซื้อขายในเดือนพฤษภาคมนั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิที่ 3.3 หมื่นล้านโดยเป็นการขายสี่เดือนติดต่อกัน นักลงทุนทั่วไปภายในประเทศซื้อสุทธิ 0.5 หมื่นล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ขายสุทธิ 0.2 หมื่นล้านบาท และนักลงทุนสถาบันภายในประเทศซื้อสุทธิ 3 หมื่นล้านบาท

สำหรับมุมมองในการลงทุนในไตรมาสสองของปี 2566 เราคงมุมมองว่าพื้นฐานของเศรษฐกิจประเทศไทยนั้นยังมีโอกาสในการฟื้นตัว นำโดยภาคการท่องเที่ยว เราคาดว่าหลังจากเห็นความชัดเจนจากการเลือกตั้งแล้ว หากประเทศไทยได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพ มีการฟังความเห็นของภาคเศรษฐกิจมาปรับนโยบายให้สอดคล้องกับการฟื้นตัวของประเทศ ตลาดหุ้นไทยจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นได้

ภาวะตลาดหุ้นไทย – เมษายน 2566

SET Index เดือนเมษายน ปิดที่ระดับ 1,529.12 จุด (-4.97% จากเดือนมีนาคม) ปัจจัยภายในหลักมาจากการปรับตัวลดลงของราคาหุ้น DELTA หลังจากบริษัทรายงานผลกำไรต่ำกว่าที่ตลาดคาด การรอดูผลการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง การลดการลงทุนของนักลงทุนในประเทศเนื่องจากเทศกาลวันหยุดยาว และปัญหาผลกระทบจากหุ้น STARK ที่ทำให้นักลงทุนขาดความมั่นใจในหุ้นขนาดกลาง ขนาดเล็ก ส่วนปัจจัยภายนอกก็ยังคงเป็นเรื่องความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอเมริกาที่ยังคงเป็นปัจจัยกดดันนักลงทุน

สำหรับปัจจัยกดดันภายนอกนั้นประกอบไปด้วย ความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจถดถอยของอเมริกา หลังจากรายงานตัวเลขภาคการบริโภคออกมาอ่อนตัว โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค CCI เดือนเมษายนพลิกกลับมาลดลง -2.6% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน สะท้อนถึงสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ความกังวลเกี่ยวกับภาคธนาคารในอเมริกายังกลับมาอีกครั้ง หลังจาก First Republic Bank รายงานฐานเงินฝากช่วง 1Q23 ลดลงกว่า 40% สะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่ลดลงในธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็ก

สำหรับภายในประเทศ ปัจจัยลบเริ่มจากการประกาศผลการดำเนินงานของ DELTA ที่รายงานผลกำไรต่ำกว่าที่ตลาดคาด ที่ถึงแม้จะเห็นกำไรสุทธิเติบโตถึง 30% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่เริ่มเห็นการหดตัวที่ 14% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า สะท้อนให้เห็นการชะลอตัวของกลุ่มธุรกิจ Data Center โดยผลการดำเนินงานที่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดที่ประมาณ 10% ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวลงกว่า 36% ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ปัจจัยลบถัดมาคือเรื่องของการเลือกตั้ง หลังจากผลสำรวจชี้ให้เห็นถึงโอกาสที่รัฐบาลใหม่จะเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค ซึ่งอาจจะส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลและความต่อเนื่องในการบริหารงาน ประกอบกับเป็นช่วงเทศกาลหยุดยาวของไทยในช่วงกลางเดือนเมษายนและต้นเดือนพฤษภาคม ส่งผลให้นักลงทุนบางส่วนยังเลี่ยงการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ออกไปก่อน นอกจากนี้ ยังมีปัญหาของ STARK ที่คณะกรรมการบริษัทลาออกทั้งหมดและมีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัทชุดใหม่เข้ามาแทน ในขณะที่บริษัทยังไม่สามารถส่งงบการเงินประจำปี 2565 ได้เนื่องจากการสอบทานของผู้สอบบัญชียังไม่แล้วเสร็จ ทำให้นักลงทุนบางส่วนมากังวลกับหุ้นขนาดกลางขนาดเล็กที่ราคาปรับตัวลงมากว่าจะมีปัญหาเหมือน STARK หรือไม่ จึงมีการขายหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กออกมา ทั้งนี้ ตลาดหุ้นไทยยังคงมีปัจจัยบวกจากผลประกอบการไตรมาสแรกของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ จาก NIM ที่ขยายตัว และมีกำไรจากเครื่องมือทางการเงินและรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิที่ดีขึ้น นอกจากนี้ กลุ่มการแพทย์เป็นอีกกลุ่มที่มีปัจจัยบวกเข้ามา จากการที่คณะกรรมการสำนักงานประกันสังคมมีมติเห็นชอบขึ้นอัตราค่าบริการเหมาจ่ายแก่สถานพยาบาลคู่สัญญา

สรุปในเดือนที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุด คือ กลุ่มธนาคาร +3.6% และกลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ +0.6% ในขณะที่กลุ่มที่ให้ผลตอบแทนน้อยที่สุด คือกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -34.1% กลุ่มธุรกิจการเกษตร -9.3% และกลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ -8.4% โดยปริมาณการซื้อขายในเดือนเมษายนนั้นค่อนข้างเบาบาง นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิที่ 7.9 พันล้านบาท นักลงทุนทั่วไปภายในประเทศซื้อสุทธิ 7.6 พันล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ขายสุทธิ 0.5 พันล้านบาท และนักลงทุนสถาบันภายในประเทศซื้อสุทธิ 0.8 พันล้านบาท

สำหรับมุมมองในการลงทุนในไตรมาสสองของปี 2566 เราคงมุมมองว่าพื้นฐานของเศรษฐกิจประเทศไทยนั้นยังมีแนวโน้มที่ดีจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและเม็ดเงินจากการเลือกตั้ง เราคาดว่าหลังจากเห็นความชัดเจนจากการเลือกตั้งแล้ว หากประเทศไทยได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพ ตลาดหุ้นไทยจะมีการปรับตัวดีขึ้นได้

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – เมษายน 2566

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) คงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่องตามคาด ในการประชุมครั้งแรกของอูเอดะ ผู้ว่า BOJ คนใหม่ ด้วยมติเอกฉันท์ให้ (1) คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ -0.1% (2) ควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve Control) อายุ 10 ปีที่ใกล้ศูนย์ และ (3) คงการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ไม่จำกัดที่ 0.5% โดย BOJ ส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายต่อเนื่องแต่ไม่ระบุถึงโอกาสการคงดอกเบี้ยหรือลดดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำกว่าปัจจุบันอย่างที่ระบุไว้ในการประชุมครั้งก่อน ๆ และส่งสัญญาณถึงการพิจารณานโยบายการเงินในระยะยาว นอกจากนี้ยังได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ในปี 2023 ลงเป็น 1.4% จากคาดการณ์เดิมที่ 1.7% พร้อมเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อเป็น 1.8% จากคาดการณ์เดิมที่ 1.6% ท่ามกลางความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นรอบด้าน

ด้านข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เดือนมีนาคมออกมาดีกว่าคาด โดยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรอยู่ที่ 2.36 แสนตำแหน่ง ดีกว่าคาดการณ์ที่ 2.30 แสนตำแหน่ง แม้ชะลอลงจากระดับ 3.26 แสนตำแหน่งในเดือนก่อนหน้า ด้านอัตราการว่างงานปรับลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 3.5% จาก 3.6% ในขณะที่อัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานเพิ่มขึ้นเป็น 62.6% จาก 62.5% ทางด้านเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในเดือนมีนาคมชะลอลงมาอยู่ที่ 5.0% YoY น้อยกว่าคาดการณ์ที่ 5.1% YoY และชะลอจาก 6.0% YoY ในเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ทั้งตัวเลขตลาดแรงงานและเงินเฟ้อของสหรัฐฯ แม้จะชะลอลง แต่ยังไม่พอที่จะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ หยุดการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพฤษภาคม ซึ่งสมาชิกเฟดหลายท่านได้ออกมาแสดงถึงความกังวลเรื่องเงินเฟ้อที่ยังสูงเกินไปแม้จะชะลอลง รวมถึงจากค่ากลาง Dot plot ที่สมาชิกเฟดคาดไว้ในการประชุมครั้งที่แล้วแสดงถึงการขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งหนึ่ง ทำให้ตลาดคาดการณ์ FED จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% อีกครั้ง ในการประชุมเดือนพฤษภาคม และมีแนวโน้มสูงที่จะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายในรอบนี้ ซึ่งจะทำให้จุดสูงสุดของดอกเบี้ย FED ในรอบนี้อยู่ที่ 5.00-5.25% โดย FED มีแนวโน้มส่งสัญญาณการใกล้ถึงจุดสูงสุดของการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ด้วย

ทางด้านตัวเลขเศรษฐกิจของไทยในเดือนมีนาคม อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 2.83% YoY (-0.27% MoM) ต่ำสุดในรอบ 15 เดือน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 3.79% YoY และต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 3.25% YoY เนื่องจากการชะลอลงของราคาพลังงานและอาหารเป็นหลัก ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.75% YoY ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 1.93% YoY และต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 1.80% YoY สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อในปีนี้เป็น 1.7-2.7% (ค่ากลาง 2.2%) ลดลงจากคาดการณ์เดิมในเดือนพฤศจิกายนที่ 2.0-3.0% (ค่ากลาง 2.5%) และคาดการณ์เงินเฟ้อจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวต่อเนื่องจากราคาน้ำมันและการส่งออกของไทยมีแนวโน้มชะลอตัว มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธปท. และฐานที่สูงจากปีก่อน ในขณะที่ค่าไฟฟ้าและก๊าซหุงต้มยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว และการเลือกตั้งอาจส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้น

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในแต่ละช่วงอายุปรับขึ้น 3-18bps โดยส่วนใหญ่เป็นการปรับเพิ่มขึ้นในรุ่นอายุ 3-10 ปี (11-18bps) ส่วนตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐมีความผันผวนมาก ในช่วงครึ่งเดือนแรกอัตราผลตอบแทนปรับลดลงจากความกังวลว่าวิกฤตการเงินจะส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจและคาดการณ์ว่า FED จะไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้มากไปกว่านี้ หลังจากนั้นในครึ่งเดือนหลัง จากการที่สมาชิกเฟดหลายท่านได้ออกมาแสดงถึงความกังวลเรื่องเงินเฟ้อที่ยังสูงเกินไป ก็ทำให้อัตราผลตอบแทนกลับมาปรับเพิ่มอีกครั้ง โดยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ รุ่นอายุ 1 เดือนเคลื่อนไหวระหว่าง 3.40-4.70%, รุ่นอายุ 2 ปีเคลื่อนไหวระหว่าง 3.82-4.19% และรุ่นอายุ 10 ปีเคลื่อนไหวระหว่าง 3.30-3.60% สำหรับการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติเดือนนี้ เป็นการขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 2.3 หมื่นล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 2.4 พันล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว นักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรลดลงประมาณ 3.8 หมื่นล้านบาท โดยสรุปยอดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทย ณ สิ้นเดือนเมษายนอยู่ที่ประมาณ 1.02 ล้านล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อนประมาณ 5.7 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – มีนาคม 2566

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 50bps ต่อเนื่อง จากเงินเฟ้อที่สูงเกินไปในระยะเวลาที่นานเกินไป โดยขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Deposit facility) จาก 2.50% ไปอยู่ที่ 3.00% อัตราดอกเบี้ย (Main refinancing operations) จาก 3.00% ไปอยู่ที่ 3.50% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Marginal lending facility) จาก 3.25% ไปอยู่ที่ 3.75% พร้อมยังทำตามแผนเดิมของการประกาศลดขนาดงบดุลตามที่เคยประกาศไว้ในเดือนธันวาคม 2022 ซึ่งเริ่มต้นในเดือนมีนาคม นอกจากนี้ ECB กล่าวพร้อมเข้าดูแลและมีเครื่องมือเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาและระบบการเงินของยุโรป อย่างไรก็ดีระบบธนาคารของยุโรปยังคงมีทุนและสภาพคล่องเพียงพอ ECB คาดเงินเฟ้อลดลงมาอยู่ที่ 5.3% จากที่คาดไว้เดิมที่ 6.3% สำหรับปี 2023 จากการลดลงของราคาพลังงาน และการคลี่คลายของปัญหาคอขวดด้านอุปทาน อย่างไรก็ดี ECB ปรับขึ้นคาดการณ์เงินเฟ้อพื้นฐานปีนี้ไปอยู่ที่ 4.6% จากที่คาด 4.2% ในเดือนธันวาคม เนื่องจากผลของการส่งผ่านราคาพลังงานที่สูงในอดีต นอกจากนี้ ECB ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปี 2023 ไปอยู่ที่ 1.0% จาก 0.5%

การประชุมนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ในเดือนนี้มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ย 25bps ตามคาด เพื่อทำให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% ให้ได้ พร้อมดำเนินการลดงบดุลต่อเนื่องตามแผนเดิม โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 4.75%-5.00% โดย FED ได้ส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยใกล้จบสิ้นลง สะท้อนจากค่ากลางของ Dot plot ที่อยู่ที่ 5.1% สำหรับปี 2023 ซึ่งหมายถึงการขึ้นดอกเบี้ยอีกแค่ครั้งเดียว ซึ่ง FED จะประเมินการขึ้นดอกเบี้ยในครั้งต่อไปจากผลของการขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ผ่าน ๆ มาที่มีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และตลาดการเงิน และประเมินในระยะข้างหน้าการขึ้นดอกเบี้ยอาจจะเหมาะสมเพื่อทำให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% แถลงการณ์ของ FED กล่าวว่าระบบธนาคารสหรัฐฯ ยังคงมีความแข็งแกร่ง และมีความยืดหยุ่น และการล่มสลายของบางธนาคารในสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นในเดือนนี้มีแนวโน้มทำให้เกิดความตึงตัวด้านสินเชื่อของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน และกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งผลกระทบมีความไม่แน่นอนสูง และเร็วเกินไปที่จะบอกว่านโยบายการเงินควรตอบสนองอย่างไร คณะกรรมการฯ ยังคงเฝ้าระวังต่อความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ ทางด้านเศรษฐกิจสหรัฐฯ FED ปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้เติบโตได้น้อย โดยปรับลดเป็น 0.4% จากที่คาดการณ์ที่ 0.5% และปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อขึ้น โดยดัชนีราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลไปอยู่ที่ 3.3% จาก 3.1% และดัชนีราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐานอยู่ที่ 3.6% จาก 3.5%

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 25bps เป็น 1.75% ตามคาด โดย กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก ขณะที่การส่งออกจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ด้านเงินเฟ้อยังคงมองมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในกลางปีนี้ โดย ธปท. พร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้ ธปท. ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.6% ในปีนี้ และ 3.8% ในปีหน้า จากเดิมที่คาด 3.7% และ 3.9% ตามลำดับ จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปรับขึ้นคาดการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้เป็น 28 ล้านคน จากที่คาดไว้เดิม 22 ล้านคน และปรับเพิ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็น 35 ล้านคนในปีหน้า ทางด้านเงินเฟ้อ ธปท. ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อลงเล็กน้อย จาก 3.0% ในปีนี้ เป็น 2.9% และปรับเพิ่มเงินเฟ้อปีหน้าเป็น 2.4% จาก 2.1%

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในแต่ละช่วงอายุโดยส่วนใหญ่ปรับลดลง 1-28bps ยกเว้นพันธบัตรรัฐบาลอายุไม่เกิน 3 เดือนที่ปรับขึ้นไปเล็กน้อยซึ่งเป็นผลจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เปลี่ยนทิศทางเป็นการปรับลดลงอย่างมากจากปัญหาการล่มสลายของธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ ทำให้นักลงทุนในตลาดเกิดความกังวลว่าวิกฤตการเงินจะส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจอย่างไร และคาดการณ์ว่า FED จะไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้มากไปกว่านี้ โดยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 1 ปีได้ลดลงจากช่วงต้นเดือนที่ 5.25% มาอยู่ที่ 4.06% ณ สิ้นเดือน ส่วนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีได้ลดลงจากช่วงต้นเดือนที่ 4.01% มาอยู่ที่ 3.48% ตอนสิ้นเดือน สำหรับการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติเดือนนี้ เป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 1.2 หมื่นล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 2 หมื่นล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว นักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรเพิ่มขึ้นประมาณ 1.66 หมื่นล้านบาท โดยสรุปยอดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทย ณ สิ้นเดือนมีนาคมอยู่ที่ประมาณ 1.06 ล้านล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อนประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดหุ้นไทย – มีนาคม 2566

SET Index เดือนมีนาคม ปิดที่ระดับ 1,609.17 จุด (-0.81% จากเดือนกุมภาพันธ์) เป็นการปรับลงแรงในช่วงครึ่งเดือนแรกจากความกังวลต่อวิกฤตภาคธนาคารในสหรัฐและยุโรป ก่อนจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของเดือนเมื่อสถานการณ์ต่าง ๆค่อย ๆ คลี่คลายลง หลังจากทางการได้ออกมาตรการช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ การเลือกตั้งในประเทศมีความชัดเจนมากขึ้นหลัง กกต.ประกาศให้วันที่ 14 พ.ค. เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป เป็นแรงสนับสนุนบรรยากาศการลงทุนให้ดีขึ้น

สำหรับปัจจัยกดดันภายนอก เริ่มจากความกังวลในช่วงต้นเดือนว่า FED อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากกว่าที่เคยคาดการณ์เอาไว้ก่อนหน้า หลังจากตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐเดือนกุมภาพันธ์ออกมาค่อนข้างแข็งแกร่ง และตลาดได้มีการปรับตัวลงต่อเนื่องในช่วงกลางเดือนจากความตื่นตระหนกต่อข่าวธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) ถูกสถาบันคุ้มครองเงินฝากสหรัฐ (FDIC) สั่งปิดกิจการเนื่องจากขาดสภาพคล่องทางการเงิน อันเป็นผลมาจากการแห่ถอนเงินฝากของกลุ่มบริษัท Start-up จนทำให้ทาง SVB ต้องทำการขายขาดทุนพันธบัตรระยะยาวมาคืนผู้ฝาก นอกจากนี้ ตลาดยังโดนกดดันจากปัญหาในภาคธนาคารของยุโรป โดยธนาคาร Credit Suisse ซึ่งเป็นธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 17 ของโลกประสบปัญหาสภาพคล่องหลังมีข่าวว่า Credit Suisse อาจจะมีปัญหาในการเพิ่มทุนเนื่องจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ติด Limit ในการถือหุ้น และทำให้มีการแห่ถอนเงินจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ตลาดมีการปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายเดือนหลังจากทางการสหรัฐฯ และสวิตเซอร์แลนด์ ออกมาให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องอย่างรวดเร็ว โดยในกรณีของ SVB ทาง FED ได้ประกาศการจัดตั้งโครงการ Bank Term Fund Programing โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องสถาบันการเงินต่าง ๆ ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการล้มละลายของ SVB ส่วนทางธนาคาร Credit Suisse ทางการสวิตเซอร์แลนด์เสนอให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องให้แก่ธนาคาร UBS เป็นมูลค่า 100,000 ล้านฟรังก์ เพื่อให้ทางธนาคาร UBS เข้ามาซื้อกิจการของธนาคาร Credit Suisse นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้หลักประกัน 9,000 ล้านฟรังก์สำหรับคุ้มครองความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากสินทรัพย์ที่ UBS เข้าครอบครอง

สำหรับปัจจัยสนับสนุนภายในประเทศ ปัจจัยแรกคือรัฐบาลได้ประกาศยุบสภาและ กกต.ได้ประกาศให้วันที่ 14 พ.ค. เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป โดยมีการคาดการณ์ว่าจะมีเม็ดเงินที่ใช้สำหรับการหาเสียงออกมาช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของภาคครัวเรือน ส่วนปัจจัยถัดมาจะเป็นในเรื่องค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่ามากขึ้นในเดือนที่ผ่านมาและทำให้กระแสเงินลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดทุนน้อยลง โดยมีสาเหตุจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มลดลง จากทั้งการคาดการณ์ว่า FED จะไม่เพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรุนแรงเหมือนในช่วงก่อนหน้า เนื่องจากต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา และการที่ประเทศไทยก็มีการทยอยเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

สรุปในเดือนที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุดคือ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 20.8% จากแรงเก็งกำไรในหุ้น DELTA และกลุ่มการแพทย์ 3.7% ในขณะที่กลุ่มที่ให้ผลตอบแทนน้อยที่สุด ได้แก่ กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ -9.8% กลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต -7.4% และธุรกิจการเกษตร -6.7% โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิที่ 3.2 หมื่นล้านบาทน้อยกว่าเดือนที่แล้วที่ขาย 4.4 หมื่นล้านบาท นักลงทุนทั่วไปภายในประเทศซื้อสุทธิ 1.6 หมื่นล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ขายสุทธิ 1 หมื่นล้านบาท และนักลงทุนสถาบันภายในประเทศซื้อสุทธิ 2.6 หมื่นล้านบาท

สำหรับมุมมองในการลงทุนในไตรมาสสองของปี 2566 เรามองว่าพื้นฐานของเศรษฐกิจประเทศไทยนั้นยังมีแนวโน้มที่ดีจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและเม็ดเงินจากการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามอาจจะเห็นการอ่อนตัวของผลประกอบการภาคท่องเที่ยวบ้างในไตรมาสนี้เนื่องจากได้รับผลจากฤดูกาล แต่หากมองข้ามไปยังครึ่งปีหลัง เรายังคงมั่นใจว่าการท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะพยุงเศรษฐกิจประเทศไทยในปี 2566