อัพเดทข่าวสาร

ภาวะตลาดหุ้นไทย – เมษายน 2566

SET Index เดือนเมษายน ปิดที่ระดับ 1,529.12 จุด (-4.97% จากเดือนมีนาคม) ปัจจัยภายในหลักมาจากการปรับตัวลดลงของราคาหุ้น DELTA หลังจากบริษัทรายงานผลกำไรต่ำกว่าที่ตลาดคาด การรอดูผลการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง การลดการลงทุนของนักลงทุนในประเทศเนื่องจากเทศกาลวันหยุดยาว และปัญหาผลกระทบจากหุ้น STARK ที่ทำให้นักลงทุนขาดความมั่นใจในหุ้นขนาดกลาง ขนาดเล็ก ส่วนปัจจัยภายนอกก็ยังคงเป็นเรื่องความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอเมริกาที่ยังคงเป็นปัจจัยกดดันนักลงทุน

สำหรับปัจจัยกดดันภายนอกนั้นประกอบไปด้วย ความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจถดถอยของอเมริกา หลังจากรายงานตัวเลขภาคการบริโภคออกมาอ่อนตัว โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค CCI เดือนเมษายนพลิกกลับมาลดลง -2.6% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน สะท้อนถึงสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ความกังวลเกี่ยวกับภาคธนาคารในอเมริกายังกลับมาอีกครั้ง หลังจาก First Republic Bank รายงานฐานเงินฝากช่วง 1Q23 ลดลงกว่า 40% สะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่ลดลงในธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็ก

สำหรับภายในประเทศ ปัจจัยลบเริ่มจากการประกาศผลการดำเนินงานของ DELTA ที่รายงานผลกำไรต่ำกว่าที่ตลาดคาด ที่ถึงแม้จะเห็นกำไรสุทธิเติบโตถึง 30% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่เริ่มเห็นการหดตัวที่ 14% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า สะท้อนให้เห็นการชะลอตัวของกลุ่มธุรกิจ Data Center โดยผลการดำเนินงานที่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดที่ประมาณ 10% ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวลงกว่า 36% ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ปัจจัยลบถัดมาคือเรื่องของการเลือกตั้ง หลังจากผลสำรวจชี้ให้เห็นถึงโอกาสที่รัฐบาลใหม่จะเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค ซึ่งอาจจะส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลและความต่อเนื่องในการบริหารงาน ประกอบกับเป็นช่วงเทศกาลหยุดยาวของไทยในช่วงกลางเดือนเมษายนและต้นเดือนพฤษภาคม ส่งผลให้นักลงทุนบางส่วนยังเลี่ยงการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ออกไปก่อน นอกจากนี้ ยังมีปัญหาของ STARK ที่คณะกรรมการบริษัทลาออกทั้งหมดและมีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัทชุดใหม่เข้ามาแทน ในขณะที่บริษัทยังไม่สามารถส่งงบการเงินประจำปี 2565 ได้เนื่องจากการสอบทานของผู้สอบบัญชียังไม่แล้วเสร็จ ทำให้นักลงทุนบางส่วนมากังวลกับหุ้นขนาดกลางขนาดเล็กที่ราคาปรับตัวลงมากว่าจะมีปัญหาเหมือน STARK หรือไม่ จึงมีการขายหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กออกมา ทั้งนี้ ตลาดหุ้นไทยยังคงมีปัจจัยบวกจากผลประกอบการไตรมาสแรกของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ จาก NIM ที่ขยายตัว และมีกำไรจากเครื่องมือทางการเงินและรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิที่ดีขึ้น นอกจากนี้ กลุ่มการแพทย์เป็นอีกกลุ่มที่มีปัจจัยบวกเข้ามา จากการที่คณะกรรมการสำนักงานประกันสังคมมีมติเห็นชอบขึ้นอัตราค่าบริการเหมาจ่ายแก่สถานพยาบาลคู่สัญญา

สรุปในเดือนที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุด คือ กลุ่มธนาคาร +3.6% และกลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ +0.6% ในขณะที่กลุ่มที่ให้ผลตอบแทนน้อยที่สุด คือกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -34.1% กลุ่มธุรกิจการเกษตร -9.3% และกลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ -8.4% โดยปริมาณการซื้อขายในเดือนเมษายนนั้นค่อนข้างเบาบาง นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิที่ 7.9 พันล้านบาท นักลงทุนทั่วไปภายในประเทศซื้อสุทธิ 7.6 พันล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ขายสุทธิ 0.5 พันล้านบาท และนักลงทุนสถาบันภายในประเทศซื้อสุทธิ 0.8 พันล้านบาท

สำหรับมุมมองในการลงทุนในไตรมาสสองของปี 2566 เราคงมุมมองว่าพื้นฐานของเศรษฐกิจประเทศไทยนั้นยังมีแนวโน้มที่ดีจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและเม็ดเงินจากการเลือกตั้ง เราคาดว่าหลังจากเห็นความชัดเจนจากการเลือกตั้งแล้ว หากประเทศไทยได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพ ตลาดหุ้นไทยจะมีการปรับตัวดีขึ้นได้

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – เมษายน 2566

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) คงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่องตามคาด ในการประชุมครั้งแรกของอูเอดะ ผู้ว่า BOJ คนใหม่ ด้วยมติเอกฉันท์ให้ (1) คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ -0.1% (2) ควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve Control) อายุ 10 ปีที่ใกล้ศูนย์ และ (3) คงการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ไม่จำกัดที่ 0.5% โดย BOJ ส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายต่อเนื่องแต่ไม่ระบุถึงโอกาสการคงดอกเบี้ยหรือลดดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำกว่าปัจจุบันอย่างที่ระบุไว้ในการประชุมครั้งก่อน ๆ และส่งสัญญาณถึงการพิจารณานโยบายการเงินในระยะยาว นอกจากนี้ยังได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ในปี 2023 ลงเป็น 1.4% จากคาดการณ์เดิมที่ 1.7% พร้อมเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อเป็น 1.8% จากคาดการณ์เดิมที่ 1.6% ท่ามกลางความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นรอบด้าน

ด้านข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เดือนมีนาคมออกมาดีกว่าคาด โดยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรอยู่ที่ 2.36 แสนตำแหน่ง ดีกว่าคาดการณ์ที่ 2.30 แสนตำแหน่ง แม้ชะลอลงจากระดับ 3.26 แสนตำแหน่งในเดือนก่อนหน้า ด้านอัตราการว่างงานปรับลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 3.5% จาก 3.6% ในขณะที่อัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานเพิ่มขึ้นเป็น 62.6% จาก 62.5% ทางด้านเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในเดือนมีนาคมชะลอลงมาอยู่ที่ 5.0% YoY น้อยกว่าคาดการณ์ที่ 5.1% YoY และชะลอจาก 6.0% YoY ในเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ทั้งตัวเลขตลาดแรงงานและเงินเฟ้อของสหรัฐฯ แม้จะชะลอลง แต่ยังไม่พอที่จะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ หยุดการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพฤษภาคม ซึ่งสมาชิกเฟดหลายท่านได้ออกมาแสดงถึงความกังวลเรื่องเงินเฟ้อที่ยังสูงเกินไปแม้จะชะลอลง รวมถึงจากค่ากลาง Dot plot ที่สมาชิกเฟดคาดไว้ในการประชุมครั้งที่แล้วแสดงถึงการขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งหนึ่ง ทำให้ตลาดคาดการณ์ FED จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% อีกครั้ง ในการประชุมเดือนพฤษภาคม และมีแนวโน้มสูงที่จะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายในรอบนี้ ซึ่งจะทำให้จุดสูงสุดของดอกเบี้ย FED ในรอบนี้อยู่ที่ 5.00-5.25% โดย FED มีแนวโน้มส่งสัญญาณการใกล้ถึงจุดสูงสุดของการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ด้วย

ทางด้านตัวเลขเศรษฐกิจของไทยในเดือนมีนาคม อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 2.83% YoY (-0.27% MoM) ต่ำสุดในรอบ 15 เดือน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 3.79% YoY และต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 3.25% YoY เนื่องจากการชะลอลงของราคาพลังงานและอาหารเป็นหลัก ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.75% YoY ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 1.93% YoY และต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 1.80% YoY สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อในปีนี้เป็น 1.7-2.7% (ค่ากลาง 2.2%) ลดลงจากคาดการณ์เดิมในเดือนพฤศจิกายนที่ 2.0-3.0% (ค่ากลาง 2.5%) และคาดการณ์เงินเฟ้อจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวต่อเนื่องจากราคาน้ำมันและการส่งออกของไทยมีแนวโน้มชะลอตัว มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธปท. และฐานที่สูงจากปีก่อน ในขณะที่ค่าไฟฟ้าและก๊าซหุงต้มยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว และการเลือกตั้งอาจส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้น

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในแต่ละช่วงอายุปรับขึ้น 3-18bps โดยส่วนใหญ่เป็นการปรับเพิ่มขึ้นในรุ่นอายุ 3-10 ปี (11-18bps) ส่วนตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐมีความผันผวนมาก ในช่วงครึ่งเดือนแรกอัตราผลตอบแทนปรับลดลงจากความกังวลว่าวิกฤตการเงินจะส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจและคาดการณ์ว่า FED จะไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้มากไปกว่านี้ หลังจากนั้นในครึ่งเดือนหลัง จากการที่สมาชิกเฟดหลายท่านได้ออกมาแสดงถึงความกังวลเรื่องเงินเฟ้อที่ยังสูงเกินไป ก็ทำให้อัตราผลตอบแทนกลับมาปรับเพิ่มอีกครั้ง โดยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ รุ่นอายุ 1 เดือนเคลื่อนไหวระหว่าง 3.40-4.70%, รุ่นอายุ 2 ปีเคลื่อนไหวระหว่าง 3.82-4.19% และรุ่นอายุ 10 ปีเคลื่อนไหวระหว่าง 3.30-3.60% สำหรับการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติเดือนนี้ เป็นการขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 2.3 หมื่นล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 2.4 พันล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว นักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรลดลงประมาณ 3.8 หมื่นล้านบาท โดยสรุปยอดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทย ณ สิ้นเดือนเมษายนอยู่ที่ประมาณ 1.02 ล้านล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อนประมาณ 5.7 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – มีนาคม 2566

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 50bps ต่อเนื่อง จากเงินเฟ้อที่สูงเกินไปในระยะเวลาที่นานเกินไป โดยขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Deposit facility) จาก 2.50% ไปอยู่ที่ 3.00% อัตราดอกเบี้ย (Main refinancing operations) จาก 3.00% ไปอยู่ที่ 3.50% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Marginal lending facility) จาก 3.25% ไปอยู่ที่ 3.75% พร้อมยังทำตามแผนเดิมของการประกาศลดขนาดงบดุลตามที่เคยประกาศไว้ในเดือนธันวาคม 2022 ซึ่งเริ่มต้นในเดือนมีนาคม นอกจากนี้ ECB กล่าวพร้อมเข้าดูแลและมีเครื่องมือเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาและระบบการเงินของยุโรป อย่างไรก็ดีระบบธนาคารของยุโรปยังคงมีทุนและสภาพคล่องเพียงพอ ECB คาดเงินเฟ้อลดลงมาอยู่ที่ 5.3% จากที่คาดไว้เดิมที่ 6.3% สำหรับปี 2023 จากการลดลงของราคาพลังงาน และการคลี่คลายของปัญหาคอขวดด้านอุปทาน อย่างไรก็ดี ECB ปรับขึ้นคาดการณ์เงินเฟ้อพื้นฐานปีนี้ไปอยู่ที่ 4.6% จากที่คาด 4.2% ในเดือนธันวาคม เนื่องจากผลของการส่งผ่านราคาพลังงานที่สูงในอดีต นอกจากนี้ ECB ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปี 2023 ไปอยู่ที่ 1.0% จาก 0.5%

การประชุมนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ในเดือนนี้มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ย 25bps ตามคาด เพื่อทำให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% ให้ได้ พร้อมดำเนินการลดงบดุลต่อเนื่องตามแผนเดิม โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 4.75%-5.00% โดย FED ได้ส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยใกล้จบสิ้นลง สะท้อนจากค่ากลางของ Dot plot ที่อยู่ที่ 5.1% สำหรับปี 2023 ซึ่งหมายถึงการขึ้นดอกเบี้ยอีกแค่ครั้งเดียว ซึ่ง FED จะประเมินการขึ้นดอกเบี้ยในครั้งต่อไปจากผลของการขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ผ่าน ๆ มาที่มีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และตลาดการเงิน และประเมินในระยะข้างหน้าการขึ้นดอกเบี้ยอาจจะเหมาะสมเพื่อทำให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% แถลงการณ์ของ FED กล่าวว่าระบบธนาคารสหรัฐฯ ยังคงมีความแข็งแกร่ง และมีความยืดหยุ่น และการล่มสลายของบางธนาคารในสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นในเดือนนี้มีแนวโน้มทำให้เกิดความตึงตัวด้านสินเชื่อของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน และกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งผลกระทบมีความไม่แน่นอนสูง และเร็วเกินไปที่จะบอกว่านโยบายการเงินควรตอบสนองอย่างไร คณะกรรมการฯ ยังคงเฝ้าระวังต่อความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ ทางด้านเศรษฐกิจสหรัฐฯ FED ปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้เติบโตได้น้อย โดยปรับลดเป็น 0.4% จากที่คาดการณ์ที่ 0.5% และปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อขึ้น โดยดัชนีราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลไปอยู่ที่ 3.3% จาก 3.1% และดัชนีราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐานอยู่ที่ 3.6% จาก 3.5%

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 25bps เป็น 1.75% ตามคาด โดย กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก ขณะที่การส่งออกจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ด้านเงินเฟ้อยังคงมองมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในกลางปีนี้ โดย ธปท. พร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้ ธปท. ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.6% ในปีนี้ และ 3.8% ในปีหน้า จากเดิมที่คาด 3.7% และ 3.9% ตามลำดับ จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปรับขึ้นคาดการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้เป็น 28 ล้านคน จากที่คาดไว้เดิม 22 ล้านคน และปรับเพิ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็น 35 ล้านคนในปีหน้า ทางด้านเงินเฟ้อ ธปท. ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อลงเล็กน้อย จาก 3.0% ในปีนี้ เป็น 2.9% และปรับเพิ่มเงินเฟ้อปีหน้าเป็น 2.4% จาก 2.1%

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในแต่ละช่วงอายุโดยส่วนใหญ่ปรับลดลง 1-28bps ยกเว้นพันธบัตรรัฐบาลอายุไม่เกิน 3 เดือนที่ปรับขึ้นไปเล็กน้อยซึ่งเป็นผลจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เปลี่ยนทิศทางเป็นการปรับลดลงอย่างมากจากปัญหาการล่มสลายของธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ ทำให้นักลงทุนในตลาดเกิดความกังวลว่าวิกฤตการเงินจะส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจอย่างไร และคาดการณ์ว่า FED จะไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้มากไปกว่านี้ โดยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 1 ปีได้ลดลงจากช่วงต้นเดือนที่ 5.25% มาอยู่ที่ 4.06% ณ สิ้นเดือน ส่วนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีได้ลดลงจากช่วงต้นเดือนที่ 4.01% มาอยู่ที่ 3.48% ตอนสิ้นเดือน สำหรับการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติเดือนนี้ เป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 1.2 หมื่นล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 2 หมื่นล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว นักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรเพิ่มขึ้นประมาณ 1.66 หมื่นล้านบาท โดยสรุปยอดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทย ณ สิ้นเดือนมีนาคมอยู่ที่ประมาณ 1.06 ล้านล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อนประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดหุ้นไทย – มีนาคม 2566

SET Index เดือนมีนาคม ปิดที่ระดับ 1,609.17 จุด (-0.81% จากเดือนกุมภาพันธ์) เป็นการปรับลงแรงในช่วงครึ่งเดือนแรกจากความกังวลต่อวิกฤตภาคธนาคารในสหรัฐและยุโรป ก่อนจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของเดือนเมื่อสถานการณ์ต่าง ๆค่อย ๆ คลี่คลายลง หลังจากทางการได้ออกมาตรการช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ การเลือกตั้งในประเทศมีความชัดเจนมากขึ้นหลัง กกต.ประกาศให้วันที่ 14 พ.ค. เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป เป็นแรงสนับสนุนบรรยากาศการลงทุนให้ดีขึ้น

สำหรับปัจจัยกดดันภายนอก เริ่มจากความกังวลในช่วงต้นเดือนว่า FED อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากกว่าที่เคยคาดการณ์เอาไว้ก่อนหน้า หลังจากตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐเดือนกุมภาพันธ์ออกมาค่อนข้างแข็งแกร่ง และตลาดได้มีการปรับตัวลงต่อเนื่องในช่วงกลางเดือนจากความตื่นตระหนกต่อข่าวธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) ถูกสถาบันคุ้มครองเงินฝากสหรัฐ (FDIC) สั่งปิดกิจการเนื่องจากขาดสภาพคล่องทางการเงิน อันเป็นผลมาจากการแห่ถอนเงินฝากของกลุ่มบริษัท Start-up จนทำให้ทาง SVB ต้องทำการขายขาดทุนพันธบัตรระยะยาวมาคืนผู้ฝาก นอกจากนี้ ตลาดยังโดนกดดันจากปัญหาในภาคธนาคารของยุโรป โดยธนาคาร Credit Suisse ซึ่งเป็นธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 17 ของโลกประสบปัญหาสภาพคล่องหลังมีข่าวว่า Credit Suisse อาจจะมีปัญหาในการเพิ่มทุนเนื่องจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ติด Limit ในการถือหุ้น และทำให้มีการแห่ถอนเงินจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ตลาดมีการปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายเดือนหลังจากทางการสหรัฐฯ และสวิตเซอร์แลนด์ ออกมาให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องอย่างรวดเร็ว โดยในกรณีของ SVB ทาง FED ได้ประกาศการจัดตั้งโครงการ Bank Term Fund Programing โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องสถาบันการเงินต่าง ๆ ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการล้มละลายของ SVB ส่วนทางธนาคาร Credit Suisse ทางการสวิตเซอร์แลนด์เสนอให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องให้แก่ธนาคาร UBS เป็นมูลค่า 100,000 ล้านฟรังก์ เพื่อให้ทางธนาคาร UBS เข้ามาซื้อกิจการของธนาคาร Credit Suisse นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้หลักประกัน 9,000 ล้านฟรังก์สำหรับคุ้มครองความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากสินทรัพย์ที่ UBS เข้าครอบครอง

สำหรับปัจจัยสนับสนุนภายในประเทศ ปัจจัยแรกคือรัฐบาลได้ประกาศยุบสภาและ กกต.ได้ประกาศให้วันที่ 14 พ.ค. เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป โดยมีการคาดการณ์ว่าจะมีเม็ดเงินที่ใช้สำหรับการหาเสียงออกมาช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของภาคครัวเรือน ส่วนปัจจัยถัดมาจะเป็นในเรื่องค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่ามากขึ้นในเดือนที่ผ่านมาและทำให้กระแสเงินลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดทุนน้อยลง โดยมีสาเหตุจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มลดลง จากทั้งการคาดการณ์ว่า FED จะไม่เพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรุนแรงเหมือนในช่วงก่อนหน้า เนื่องจากต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา และการที่ประเทศไทยก็มีการทยอยเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

สรุปในเดือนที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุดคือ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 20.8% จากแรงเก็งกำไรในหุ้น DELTA และกลุ่มการแพทย์ 3.7% ในขณะที่กลุ่มที่ให้ผลตอบแทนน้อยที่สุด ได้แก่ กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ -9.8% กลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต -7.4% และธุรกิจการเกษตร -6.7% โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิที่ 3.2 หมื่นล้านบาทน้อยกว่าเดือนที่แล้วที่ขาย 4.4 หมื่นล้านบาท นักลงทุนทั่วไปภายในประเทศซื้อสุทธิ 1.6 หมื่นล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ขายสุทธิ 1 หมื่นล้านบาท และนักลงทุนสถาบันภายในประเทศซื้อสุทธิ 2.6 หมื่นล้านบาท

สำหรับมุมมองในการลงทุนในไตรมาสสองของปี 2566 เรามองว่าพื้นฐานของเศรษฐกิจประเทศไทยนั้นยังมีแนวโน้มที่ดีจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและเม็ดเงินจากการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามอาจจะเห็นการอ่อนตัวของผลประกอบการภาคท่องเที่ยวบ้างในไตรมาสนี้เนื่องจากได้รับผลจากฤดูกาล แต่หากมองข้ามไปยังครึ่งปีหลัง เรายังคงมั่นใจว่าการท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะพยุงเศรษฐกิจประเทศไทยในปี 2566

ภาวะตลาดหุ้นไทย – กุมภาพันธ์ 2566

SET Index เดือนกุมภาพันธ์ ปิดระดับ 1,622.35 จุด (-2.9% จากเดือนมกราคม) เป็นการแกว่งตัวลงตลอดทั้งเดือน โดยรับแรงกดดันจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอก โดยปัจจัยภายนอกยังเป็นความกังวลเกี่ยวกับปัญหาเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ที่ทำให้นักลงทุนเริ่มกังวลว่า FED จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากกว่าที่คาดไว้ และส่งผลให้ดึงเม็ดเงินออกจากตลาดหุ้น Emerging Market ส่วนปัจจัยภายในเป็นเรื่องของผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่อ่อนแอกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ นำไปสู่โอกาสในการปรับประมาณการของปี 2566 ลง

สำหรับปัจจัยกดดันจากภายนอก เริ่มจากตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานของสหรัฐฯ ประจำเดือนมกราคมอยู่ที่ 6.4% และ 5.6% ตามลำดับ ลดลงจาก 6.5% และ 5.7% อย่างไรก็ตาม ก็ยังเป็นระดับเงินเฟ้อที่สูงกว่ากรอบที่ทาง FED กำหนดไว้ที่ 2% ทำให้ตลาดมีการปรับการคาดการณ์ว่า FED มีโอกาสปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีกมากกว่าที่เคยคาดการณ์ว่าจะปรับขึ้นอีกไม่เกิน 50 bps และอาจจะไม่มีการลดดอกเบี้ยในปีนี้ เนื่องจากรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯ ประจำเดือนมกราคมเพิ่มถึง 5.17 แสนตำแหน่ง ในขณะที่อัตราว่างงานปรับลดลงสู่ 3.4% จาก 3.5% ในเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ ค่าแรงเฉลี่ยรายชั่วโมงยังปรับตัวขึ้น 4.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน ตัวเลขทั้งหมดสนับสนุนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯยังมีแนวโน้มที่แข็งแกร่ง เมื่อประกอบกับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯและประเทศไทยที่ปรับขึ้นมาถึง 3% ทำให้เงินบาทมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่า ส่งผลให้กระแสเงินทุนต่างชาตินั้นพลิกไหลออกจากตลาดหุ้นประเทศไทย

สำหรับปัจจัยภายในที่แม้ว่าจะมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว และเม็ดเงินที่จะไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงการเลือกตั้ง แต่ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไตรมาสที่ 4 ที่ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยกำไรสุทธิไตรมาสที่ 4/2565 ลดลงถึง 40% YoY และทำให้กำไรสุทธิของปี 2565 เติบโตเพียง 2% โดยมีปัจจัยในเรื่องของต้นทุนการผลิตและดำเนินงานที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อในช่วงก่อนหน้า การจ่ายผลตอบแทนพิเศษให้พนักงานในช่วงปลายปี รวมไปถึงการตั้งสำรองสินทรัพย์ด้อยค่าของหลายบริษัท นอกจากนี้ GDP ในไตรมาสที่ 4 ของไทยยังขยายตัวต่ำกว่าคาด คือขยายตัวเพียง 1.4% YoY จากการหดตัวของภาคการส่งออก และการลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ทั้งหมดทำให้ตลาดต้องมีการทบทวนประมาณการการเติบโตของ GDP และกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนสำหรับปี 2566 ใหม่

สรุปในเดือนที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุดคือ กลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ +5.7% กลุ่มธุรกิจการเกษตร +2.7% และกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ +0.1% ในขณะที่กลุ่มที่ให้ผลตอบแทนน้อยที่สุด ได้แก่ กลุ่มวัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร -15.1% กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ -6.9% และกลุ่มกลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -6.7% โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิที่ 43.5 หมื่นล้านบาท นักลงทุนทั่วไปภายในประเทศซื้อสุทธิ 28.6 หมื่นล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 0.1 หมื่นล้านบาท และนักลงทุนสถาบันภายในประเทศซื้อสุทธิ 13.8 หมื่นล้านบาท

สำหรับมุมมองในการลงทุนในไตรมาสแรกของปี 2566 เรามองว่าพื้นฐานของเศรษฐกิจประเทศไทยนั้นยังมีแนวโน้มฟื้นตัว โดยได้รับการสนับสนุนจากการเติบโตของภาคท่องเที่ยว การใช้จ่ายในช่วงการเลือกตั้ง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ในขณะที่นักลงทุนน่าจะเริ่มลดความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED เมื่อคณะกรรมการ FED บางท่านเริ่มส่งสัญญาณว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป เมื่อประกอบกับแนวโน้มค่าเงินบาทที่จะมีเสถียรภาพมากขึ้นหลังจากอ่อนตัวอย่างรุนแรงในช่วงต้นปี ทำให้มีโอกาสที่ตลาดหุ้นประเทศไทยจะได้รับอานิสงค์จากกระแสเงินลงทุนที่ไหลกลับเข้าสู่ประเทศได้อีกครั้ง

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – กุมภาพันธ์ 2566

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 50bps ต่อเนื่องตามคาด พร้อมยืนยันการลดขนาดงบดุลเริ่มต้นในเดือนมีนาคม 2023 และระบุว่าแรงกดดันจากราคาพลังงานเริ่มชะลอลงบางส่วน มติในครั้งนี้เป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง โดยขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Deposit facility) จาก 2.00% ไปอยู่ที่ 2.50% อัตราดอกเบี้ย Main refinancing operations จาก 2.50% ไปอยู่ที่ 3.00% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Marginal lending facility) จาก 2.75% ไปอยู่ที่ 3.25% ในถ้อยแถลงหลังผลการประชุม ประธาน ECB ระบุว่าจะยังคงขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องด้วยขนาดการขึ้นดอกเบี้ยที่คงที่ จนกว่าเงินเฟ้อจะเข้าใกล้ระดับเป้าหมายที่ 2% จากการพิจารณาทั้งปัจจัยเงินเฟ้อและสภาวะทางการเงิน ในขณะที่เศรษฐกิจยุโรปในไตรมาสที่ 4 เบื้องต้นเติบโต 0.1% แรงกดดันจากราคาพลังงานเริ่มชะลอลงบางส่วน ความเชื่อมั่นดีขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ อัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 6.6% ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ECB มีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในการประชุมครั้งหน้า เนื่องจากเงินเฟ้อยุโรปยังอยู่ในระดับสูงที่ 8.5% ในเดือนมกราคม 2023 แม้เงินเฟ้อดังกล่าวจะชะลอลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 จากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 10.7% ในเดือนตุลาคม 2022 และภาพรวมเงินเฟ้อโดยรวมของยุโรปยังคงอยู่สูงกว่าประเทศอื่น ๆ โดยเปรียบเทียบ แรงกดดันจากราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูงจากการตรึงกำลังลดการผลิตของโอเปกพลัส ประกอบกับการเรียกร้องขึ้นค่าแรงของสหภาพแรงงานในหลายประเทศทั่วยุโรป อาจเป็นปัจจัยเร่งต่อเงินเฟ้อ (Wage price spiral) นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากท่าทีเข้มแข็งต่อการขึ้นดอกเบี้ย (Hawkish tone) โอกาสที่ ECB จะขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องอีก 50bps ในครั้งหน้า จึงมีความเป็นไปได้สูง โดยปัจจุบันตลาดคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยสูงสุดในรอบนี้ที่ราว 3.30% ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2023

รายงานการประชุมนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) ที่ประชุมเมื่อวันที่ 31 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่ง FED ชะลอการขึ้นดอกเบี้ยเป็น 25bps และตอกย้ำว่าการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเป็นสิ่งเหมาะสม จนกว่าเงินเฟ้อจะกลับสู่เป้าหมาย พร้อมยอมรับว่าการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2022 ต่ำกว่าแนวโน้มในระยะยาว และคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2023 ชะลอลงต่อเนื่อง ในขณะที่ตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง สะท้อนจากการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวปานกลาง ดังนั้น FED จึงประเมินว่าการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในระยะข้างหน้าจนกว่าเงินเฟ้อจะกลับสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% เป็นสิ่งที่เหมาะสม ทั้งนี้ ยังคงการลดขนาดงบดุลต่อเนื่องในอัตราเท่าเดิม และมีสมาชิกบางท่านที่ไม่ได้มีสิทธิลงมติในการประชุมครั้งนี้ให้ความเห็นว่า FED ควรขึ้นดอกเบี้ย 50bps คณะกรรมการฯ ระบุว่าเงินเฟ้อปัจจุบันสูงกว่าเป้าหมายที่ 2% และสูงเกินกว่าจะรับได้ พร้อมระบุว่าต้นทุนการดำรงชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะกับครัวเรือนที่มีรายได้น้อย แม้เงินเฟ้อในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาจะชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่เงินเฟ้อในวงกว้างยังไม่ได้ส่งสัญญาณมีความคืบหน้ามากนัก โดยเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงจากการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานโลกที่ผ่อนคลายมากขึ้น ในขณะที่เงินเฟ้อในตลาดบ้านอาจจะเริ่มชะลอลงในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ คณะกรรมการบางส่วนประเมินว่าค่าจ้างมีแนวโน้มปรับตัวช้ากว่าเงินเฟ้อ และอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงาน GDP ไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2022 ขยายตัว 1.4%YoY (-1.5%QoQ SA) ต่ำกว่าที่ตลาดคาดว่าจะขยายตัว 3.6%YoY และจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 4.6%YoY โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 5.7% การลงทุนรวมขยายตัว 3.9% และการส่งออกบริการขยายตัว 94.6% อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าหดตัว 10.5% และ การบริโภครัฐบาลหดตัว 8.0% โดยรวมปี 2022 GDP ไทยขยายตัว 2.6%YoY ดีขึ้นจากที่ขยายตัว 1.5%YoY ในปี 2021 สศช. คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2023 ขยายตัว 2.7-3.7% (ค่ากลาง 3.2%) โดยคาดการณ์ส่งออกหดตัว 1.6% และคาดการณ์นักท่องเที่ยวในปีนี้ที่ 28 ล้านคน พร้อมคาดการณ์ค่าเงินบาทปีหน้าที่ 32.3-33.3 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และคาดเงินเฟ้อชะลอลงเป็น 2.5-3.5%

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ โดยรวมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับเพิ่มขึ้น 1-16bps ยกเว้นพันธบัตรอายุยาวกว่า 30 ปีขึ้นไปกลับปรับลดลง ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐยังคงปรับขึ้นต่อเนื่อง โดยพันธบัตรอายุ 6 เดือนและ 1 ปีได้แตะระดับ 5% ในเดือนนี้ สูงสุดในรอบกว่า 20 ปี เนื่องจากเริ่มมีนักวิเคราะห์และนักลงทุนปรับเพิ่มระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายว่าอาจจะไปแตะ 5.00-5.25% ตลอดจนลดความกังวลลงในเรื่องที่ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเผชิญกับภาวะถดถอย การซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติเดือนนี้ เป็นการขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 2.5 หมื่นล้านบาท ขายสุทธิพันธบัตรระยะยาว 1.2 หมื่นล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว นักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรลดลงประมาณ 6.5 หมื่นล้านบาท โดยสรุปยอดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทย ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ประมาณ 1.05 ล้านล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อนประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

รายการส่งเสริมการขายสำหรับลูกค้าที่เปิดบัญชีผ่าน TalisAM E-Account Opening และสมัครหักบัญชีอัตโนมัติสำเร็จ

ระยะเวลาส่งเสริมการขาย ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2566 – 30 มิถุนายน 2566 รับบัตรกำนัล Starbucks มูลค่า 100 บาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – มกราคม 2566

BOJ คงการควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสวนทางการคาดการณ์ของตลาด ด้วยมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ -0.1%, คงควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (Yield curve control) อายุ 10 ปีที่ใกล้ 0% และการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ไม่จำกัด ที่ -0.5% ถึง 0.5%, คงการซื้อ ETFs ไม่เกิน 12 ล้านล้านเยนและ J-REITs ไม่เกิน 1.8 แสนล้านเยนต่อปี และซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชนในปริมาณใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 รวมทั้งซื้อตราสารหนี้เอกชนระยะสั้น (Commercial paper) 2 ล้านล้านเยนและหุ้นกู้เอกชน (Corporate bond) 3 ล้านล้านเยน ด้านตัวเลขเศรษฐกิจ ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ในปีงบประมาณ 2023 ลงเล็กน้อยเป็น 1.7% จากคาดการณ์เดิมในเดือนตุลาคมที่ 1.9% พร้อมคงคาดการณ์เงินเฟ้อที่ 1.6% เนื่องจากคาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้จะเผชิญการแพร่ระบาดของโควิด-19 และข้อจำกัดด้านอุปทาน อย่างไรก็ตาม แรงกดดันจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มชะลอลง ซึ่งมีแนวโน้มส่งผลให้เงินเฟ้อในปีงบประมาณ 2023 ชะลอลงด้วย จากคาดการณ์เงินเฟ้อ 3.0% ในปีงบประมาณ 2022

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 25bps เป็น 1.50% ตามคาด โดย กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศ จากการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน แม้การส่งออกจะมีแนวโน้มชะลอลง และอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ธปท. พร้อมปรับเปลี่ยนท่าทีนโยบายการเงิน หากภาพรวมเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเปลี่ยนแปลงไปจากที่ประเมินไว้ ธปท. ปรับเพิ่มคาดการณ์นักท่องเที่ยวที่ 25.5 ล้านคน ในปี 2023 และ 34.0 ล้านคน ในปี 2024 จากประมาณการเดิมในเดือนพฤศจิกายนที่ 22.0 ล้านคน และ 31.5 ล้านคน ตามลำดับ โดย ธปท. ประเมินว่าจะเป็นปัจจัยหลักสนุนเศรษฐกิจไทยและการบริโภคภายในประเทศ แม้จะทำให้เงินเฟ้ออาจจะยังคงทรงตัวในระดับสูงและมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของภาคอุปสงค์ แต่โดยรวม ธปท. คาดเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายในปีนี้ ด้านการส่งออกมีแนวโน้มชะลอลงในปีนี้ ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง