อัพเดทข่าวสาร

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – ธันวาคม 2566

FED มีมติเอกฉันท์ (12-0 เสียง) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม 5.25-5.50% ตามที่ตลาดคาดการณ์ในการประชุมวันที่ 12–13 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นการคงดอกเบี้ยต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 โดยในแถลงการณ์ของคณะกรรมการฯ ยอมรับว่าเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อเห็นการชะลอลงชัดเจนขึ้นแล้ว อย่างไรก็ดี ยังคงมุมมองว่าอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่ประเมินระบบการเงินว่ายังมีเสถียรภาพ โดยมองว่าผลของภาวะการเงินและเงื่อนไขสินเชื่อที่ตึงตัวจะทยอยส่งผ่านไปยังเศรษฐกิจจริงมากขึ้น ในแง่ของคาดการณ์เศรษฐกิจ FED ประเมินว่าในปีนี้มีแนวโน้มเติบโตที่ 2.6% แข็งแกร่งกว่าที่เคยคาดไว้เดิมเมื่อเดือนกันยายนที่ 2.1% ขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจในปีหน้ามีแนวโน้มชะลอลงมาอยู่ที่ 1.4% ชะลอลงมากกว่าคาดการณ์เดิมที่ 1.5% ด้านอัตราการว่างงานยังคงคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.1% ในปีหน้าจาก 3.8% ในปีนี้ ส่วนอัตราเงินเฟ้อ คณะกรรมการปรับลดคาดการณ์ดัชนีราคารายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลสหรัฐฯ (PCE) ทั้งดัชนีทั่วไปและพื้นฐานลงตลอดช่วงเวลาที่มีการคาดการณ์ โดยคาดว่าดัชนีจะสามารถกลับเข้าสู่เป้าหมายของ FED ที่ 2% ได้ภายในปี 2026

ECB มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายตามที่ตลาดคาดการณ์เป็นวงกว้างต่อเนื่องเป็นครั้งที่สอง โดยอัตราดอกเบี้ย Deposit Facility อยู่ที่ 4.00%, อัตราดอกเบี้ย Main Refinancing อยู่ที่ 4.50% และอัตราดอกเบี้ย Marginal lending facility อยู่ที่ 4.75% และระบุเช่นเดิมว่าที่ระดับดอกเบี้ยดังกล่าวหากคงไว้เป็นระยะเวลานานเพียงพอ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการนำพาเงินเฟ้อกลับเข้าเป้าหมายที่ 2% ด้านการลดขนาดงบดุล ECB ระบุจะลดการถือครองพันธบัตรที่เข้าซื้อผ่านมาตรการพิเศษที่เริ่มช่วงวิกฤตโควิดหรือ Pandemic Emergency Purchase Program (PEPP) เร็วขึ้น โดยระบุจะทำการซื้อคืนพันธบัตรที่ครบกำหนดอายุจนถึงครึ่งแรกของปี 2024 ก่อนที่จะเริ่มทยอยลดการถือครองในอัตราเฉลี่ยเดือนละ 7.5 พันล้านยูโรในครึ่งหลังของปี และยุติการซื้อคืนพันธบัตรดังกล่าว ณ สิ้นปี จากเดิมที่ระบุว่าจะทำการซื้อคืนพันธบัตรดังกล่าวจนถึงสิ้นปี 2024 เป็นอย่างน้อย ขณะที่พันธบัตรที่เข้าซื้อผ่านมาตรการปกติหรือ Asset Purchase Program (APP) ได้ยุติการซื้อคืนไปแล้วก่อนหน้านี้ ทางด้านเงินเฟ้อ ECB มองว่ามีพัฒนาการที่ดีขึ้นและจะทยอยชะลอลงในปีหน้า ก่อนที่จะกลับเข้าเป้าหมาย 2% ได้ในปี 2025 โดยได้ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปลงเป็น 5.4% ในปีนี้และ 2.7% ในปีหน้า จากเมื่อเดือนกันยายนที่คาด 5.6% และ 3.2% ตามลำดับ โดยคาดเงินเฟ้อจะขยายตัว 2.1% ในปี 2025 และ 1.9% ในปี 2026 ในแง่ของเศรษฐกิจ ECB ปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้ลงเป็น 0.6% จากเดิมที่คาด 0.7% และคาดปีหน้าจะขยายตัวเพียง 0.8% จากเดิมที่คาด 1.0% ส่วนปี 2025-2026 คาด GDP จะขยายตัว 1.5%

BOJ มีมติเอกฉันท์ตามที่ตลาดคาดการณ์ โดยคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ -0.1% และคงกรอบการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี (Yield Curve Control: YCC) ไว้ที่ระดับอ้างอิง 1% นอกจากนี้ BOJ ได้คงแนวทางนโยบายการเงินไว้ไม่เปลี่ยนแปลง โดยระบุว่าการคาดการณ์เงินเฟ้อได้เพิ่มขึ้นในระดับปานกลางและจะยังคงนโยบายการเงินผ่อนคลายต่อไปก่อน แม้เศรษฐกิจญี่ปุ่นอยู่ในทิศทางฟื้นตัวและคาดการณ์เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในระดับปานกลาง แต่ความไม่แน่นอนยังมีอยู่สูง โดยประเมินว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการลงทุนทางธุรกิจมีสัญญาณที่ต้องระวังเพิ่มขึ้น ตลาดประเมินการสื่อสารของ BOJ บ่งชี้ว่าโอกาสในการปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมกราคมยังต่ำอยู่

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยโดยส่วนใหญ่ปรับลดลงทุกช่วงอายุ 1-29Bps โดยอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาวยังคงปรับลดลงต่อจากเดือนก่อนหน้า และอยู่ในทิศทางเดียวกับตลาดต่างประเทศ ในขณะที่การประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยอายุ 3 เดือนมีความผันผวน จากสภาพคล่องและปริมาณธุรกรรมที่ลดลงเนื่องจากอยู่ในช่วงเดือนสุดท้ายของปี ทำให้อัตราผลตอบแทนจากการประมูลอยู่ในช่วงกว้างระหว่าง 1.98-2.50% เทียบกับในเดือนพฤศจิกายนที่อยู่ในช่วงระหว่าง 1.90-2.13% ในเดือนนี้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการขายพันธบัตรระยะสั้นประมาณ 5.8 พันล้านบาท ขายสุทธิพันธบัตรระยะยาว 6 พันล้านบาท มีพันธบัตรครบกำหนด 7.4 พันล้านบาท คงเหลือนักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรประมาณ 9.4 แสนล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อนประมาณ 1.4 แสนล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดหุ้นไทย – พฤศจิกายน 2566

SET Index ในเดือนพฤศจิกายน 2566 ปิดที่ระดับ 1,380.18 จุด ลดลง 0.12% จากเดือนก่อนหน้า มีปัจจัยสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯที่คาดว่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว เม็ดเงินใหม่จากกองทุน TESG และมาตรการ E-Refund ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยภายในประเทศทั้งเรื่อง Short Sell จำนวนนักท่องเที่ยวที่อาจจะฟื้นตัวต่ำกว่าคาดการณ์ จากการยกเลิกเที่ยวบินเข้าไทย ความเสี่ยงภาครัฐเข้าแทรกแซงค่าไฟ และตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจของปี 2566 และ 2567 ที่ลดลง โดยตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 1,375 -1,430 จุด มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในเดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ 44,524 ล้านบาท (-2.32% MoM)

ตลาดหุ้นไทยมีการปรับตัวขึ้นสอดคล้องกับตลาดหุ้นต่างประเทศในช่วงต้นเดือน หลังจากคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.25-5.50% เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน โดย นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ส่งสัญญาณว่าเฟดอาจยุตินโยบายการเงินที่เข้มงวดนี้หลังจากที่คณะกรรมการเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุม 2 ครั้งติดต่อกัน หลังจากนั้นตลาดหุ้นไทยเริ่มแกว่งตัวออกข้าง โดยมีปัจจัยกดดันจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไทยในไตรมาส 3 ที่ออกมาผสมผสานกัน นำโดยกลุ่มค้าปลีกที่ปรับลงแรงหลังผลประกอบการออกมาต่ำกว่าที่คาด โดยหลังจากนั้นสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ร่วมแถลงถึงสภาวะการลงทุนหลังดัชนี SET Index ปรับตัวลงหลุด 1,400 จุด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลทุน โดยทั้ง ก.ล.ต. และ ตลท. ได้ให้ข้อมูลว่าการทำ Short Sell ยังอยู่ในระดับปกติ จึงไม่ได้เป็นต้นเหตุหลักที่ทำให้ตลาดปรับตัวลงแรง

ในช่วงครึ่งเดือนหลัง ตลาดหุ้นไทยเริ่มมีการฟื้นตัวได้เล็กน้อยในช่วงต้น หลังกระทรวงการคลังหารือกับสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนใหม่ TESG ซึ่งจะเป็นการเพิ่มเม็ดเงินใหม่เข้ามาลงทุนในตลาด โดยลักษณะจะเป็นกองทุนที่เน้นลงทุนหุ้น ESG หรือหุ้นยั่งยืน คือคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลเป็นหลัก สภาวะตลาดยังปรับตัวลงต่อหลังเงื่อนไขวงเงินลงทุนไม่เกิน 100,000 บาท/ราย น้อยกว่าที่คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 200,000-300,000 บาท/ราย และต้องลงทุนไม่ต่ำกว่า 8 ปี อีกทั้งยังโดนกดดันจากแรงเทขายของหุ้นขนาดใหญ่อย่าง AOT ที่กังวลว่าจะได้รับผลกระทบจากสายการบินจีนยกเลิกเที่ยวบินเข้าประเทศไทย อีกทั้งกลุ่มโรงไฟฟ้าที่ปรับตัวลงหลังภาครัฐอาจเข้าแทรกแซงค่าไฟฟ้า อีกทั้งคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับลดคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2566 และ 2567 กดดันบรรยากาศการลงทุน

ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิเป็นเดือนที่ 10 ที่ 1.94 หมื่นล้านบาท จากเดือนก่อนหน้าที่ขายสุทธิ 1.57 หมื่นล้านบาท โดยหุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกมากที่สุด คือ กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 8.4% กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ 6.4% และกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม 5.0% ในขณะที่กลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต -9.6% กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ -7.1% และกลุ่มการแพทย์ -4.9% ให้ผลตอบแทนติดลบมากที่สุดในช่วงเดียวกัน

สำหรับมุมมองในการลงทุนในช่วงสุดท้ายของปี 2566 เรายังคงมุมมองว่าพื้นฐานของเศรษฐกิจประเทศไทยยังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว นำโดยภาคการท่องเที่ยวและภาคการบริโภคภายในประเทศ โดยเราคาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ จากภาครัฐจะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น รวมถึงการฟื้นตัวของภาคการส่งออกและการออกมาตรการลดค่าครองชีพ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อไป ทั้งนี้ เรามองว่ามาตรการฟรีวีซ่า จะช่วยสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวได้ในช่วงฤดูการท่องเที่ยวของปีนี้ อย่างไรก็ตาม เราก็ยังคงติดตามว่าผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐฯ และของไทยที่อาจจะทยอยปรับลดลงในช่วงเดือนสุดท้ายของปี 2566 ซึ่งในกรณีดังกล่าวจะลดแรงกดดันต่อต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจ รวมทั้งลดแรงกดดันต่อ Valuations ของสินทรัพย์เสี่ยงในภาพรวม

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – พฤศจิกายน 2566

FED มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม 5.25-5.50% ตามที่คาดการณ์กันเป็นวงกว้างในการประชุมวันที่ 31 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นการคงดอกเบี้ยต่อเนื่องเป็นครั้งที่สองอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี โดยชี้ว่าการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวในช่วงที่ผ่านมาได้ช่วยลดความจำเป็นในการขยับดอกเบี้ยขึ้นเพิ่มเติม ซึ่งเป็นไปตามที่คณะกรรมการ FED หลายท่านได้ออกมาส่งสัญญาณก่อนหน้านี้ แถลงการณ์ระบุว่า สภาวะการเงินและการปล่อยสินเชื่อสู่ครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ตึงตัวจะกดดันกิจกรรมเศรษฐกิจ การจ้างงาน และเงินเฟ้อ ซึ่งผลกระทบดังกล่าวมีความไม่แน่นอนอยู่มากและจะยังคงเฝ้าระวังต่อความเสี่ยงด้านเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด ในแง่ของเศรษฐกิจ FED ระบุว่าการจ้างงานในไตรมาส 3 ยังคงแข็งแกร่ง แม้ว่าจะชะลอลงนับตั้งแต่ช่วงต้นปี ทั้งนี้ FED ยังคงเปิดประตูการขยับดอกเบี้ยขึ้นเพิ่มเติมเอาไว้ก่อน และจะยังคงดำเนินการลดขนาดงบดุล (QT) ในอัตราเดือนละ 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐตามที่ได้ระบุไว้เช่นเดิม

BOE มีมติ 6-3 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.25% ตามที่ตลาดคาด ขณะที่คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงอย่างน้อยจนกระทั่งช่วงครึ่งแรกของปีหน้า โดยการประชุมรอบนี้มีคณะกรรมการ 3 ท่าน ที่สนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก +25Bps สู่ระดับ 5.50% ในถ้อยแถลงมีการระบุถึงการปรับขึ้นของ Bond Yield ที่สูงขึ้นในประเทศหลัก ซึ่งคล้ายคลึงกับผลประชุม FED ก่อนหน้าที่มองว่า ภาวะการเงินที่ตึงตัวจะเสมือนเป็นการกดดันกิจกรรมเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ แม้ว่าจะไม่ได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม ด้านเศรษฐกิจ BOE คาดว่า GDP จะไม่ขยายตัวในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ซึ่งอ่อนแอกว่าที่คาดไว้ในการประชุมครั้งก่อน และคาดว่า GDP จะขยายตัว 0.1% ในไตรมาสที่ 4 ซึ่งอ่อนแอกว่าการคาดการณ์ครั้งก่อนเช่นเดียวกัน สะท้อนผ่านเครื่องบ่งชี้ของผลสำรวจภาคธุรกิจบางตัว ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ก.ย. ไม่เป็นแปลงจากเดือนก่อน อยู่ที่ระดับ 6.7% YoY ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2022 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอตัวลงเล็กน้อยเป็น 6.1% YoY ทั้งนี้ BOE คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะชะลอลงมากอย่างต่อเนื่อง มาอยู่ที่ระดับ 4.75% ในไตรมาส 4 ปีนี้ และจะปรับลดลงสู่ระดับ 4.50% และ 3.75% ในไตรมาส 1 และ 2 ปีหน้า แม้ว่าเงินเฟ้อจะยังคงขยายตัวสูงกว่าระดับเป้าหมายที่ 2% อยู่มาก

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% สอดคล้องกับคาดการณ์ของตลาด พร้อมระบุว่าการตัดสินใจด้านนโยบายการเงินในระยะถัดไปขึ้นอยู่กับภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ การทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันอยู่ในระดับเหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว ธปท. ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยลงจาก 2.8% เป็น 2.4% ในปี 2023 และลดลงจาก 4.4% เป็น 3.8% ในปี 2024 และคาดการณ์เงินเฟ้อที่ 1.3% และ 2.2% ในปีนี้ และปีหน้าตามลำดับ ทั้งนี้ หากไม่รวมมาตรการดิจิทัลวอลเล็ตจากภาครัฐ ธปท. คาดการณ์ GDP ปีหน้าเติบโตที่ 3.2% และเงินเฟ้อที่ 2.0% โดย คาดการณ์เศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้แรงขับเคลื่อนยังมาไม่ครบ โดยแรงหนุนหลักมาจากภาคบริการ ธปท. คาดการณ์นักท่องเที่ยวเข้าไทย 28.3 ล้านคนในปีนี้ และ 34.5 ล้านคนในปีหน้า จากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไม่ใช่ชาวจีน แต่คาดการณ์ว่าในระยะข้างหน้าการส่งออกจะกลับมาเป็นแรงหนุนเพิ่มขึ้น และประเมินว่าเงินเฟ้อไทยจะทรงตัวในกรอบเป้าหมาย ในขณะที่ผลของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะเห็นผลทันทีหลังเริ่มดำเนินการ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับลดลงทุกช่วงอายุ 2-39Bps ตามทิศทางตลาดประเทศเศรษฐกิจหลัก หลังผลการประชุมนโยบายการเงินต่างมีข้อสรุปในแนวทางเดียวกันว่า มีความเป็นไปได้สูงที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงินจะหยุดที่ระดับนี้หรือไม่มีการขึ้นดอกเบี้ยอีก จากเงินเฟ้อที่ชะลอลงและมีแนวโน้มเข้าใกล้เป้าหมาย ตลอดจนผลของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่อยู่ในระดับสูงในช่วงที่ผ่านมาช่วยกดดันภาวะตลาดการเงินอีกด้วย และยังคาดการณ์ว่ามีโอกาสเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีหน้า ด้านการประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยรุ่นอายุ 3 เดือน ในเดือนนี้ให้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยลดลงมาอยู่ในระดับ 1.97-2.11% เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่อยู่ในระดับ 2.19-2.28% ในเดือนนี้นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิประมาณ 1 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการซื้อพันธบัตรระยะสั้นประมาณ 6.5 พันล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 1 หมื่นล้านบาท มีพันธบัตรครบกำหนด 6.4 พันล้านบาท คงเหลือนักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรประมาณ 9.6 แสนล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อนประมาณ 1.2 แสนล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดหุ้นไทย – ตุลาคม 2566

SET Index ในเดือนตุลาคม 2566 ปิดที่ระดับ 1,381.83 จุด ลดลง 6.09% จากเดือนก่อนหน้า มีปัจจัยกดดันมาจากผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐฯที่ปรับตัวขึ้นและดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น กดดันบรรยากาศการลงทุน ผนวกกับแรงกดดันด้านภูมิรัฐศาสตร์สูงขึ้น หลังจากอิสราเอลและกลุ่มฮามาสเข้าสู่ภาวะสงคราม ส่วนด้านปัจจัยภายในประเทศนั้นก็อยู่ในภาวะซบเซา โดยทิศทางการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวดูอ่อนแอกว่าที่คาด จากเหตุกราดยิงที่ห้างฯสยามพารากอนกระทบความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และความไม่ชัดเจนของแนวทางมาตรการดิจิตอลวอลเล็ต มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในเดือนตุลาคม อยู่ที่ 45,582 ล้านบาท (-4.84% MoM)

ตลาดหุ้นไทยมีปัจจัยกดดันเพิ่มมากขึ้น และยังไม่มีปัจจัยบวกที่ชัดเจนมาหักล้าง เป็นเหตุให้หุ้นหลายตัวปรับตัวลง ซึ่งนักลงทุนยังคงกังวลต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯที่ปรับตัวสูงขึ้น เป็นแรงกดดันต่อสินทรัพย์เสี่ยง เนื่องจากส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนในหุ้นกับผลตอบแทนในพันธบัตรรัฐบาลที่แคบลง โดยเฉพาะเมื่อนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ กล่าวในการประชุมที่สมาคมเศรษฐกิจแห่งนิวยอร์กว่า ตัวเลขเศรษฐกิจที่ยังแข็งแกร่งยังเป็นปัจจัยที่ทำให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อให้อัตราเงินเฟ้อเป็นไปตามเป้าหมายเงินเฟ้อระยาวที่ 2% ซึ่งหากเป็นแบบนั้นจริง บริษัทต่าง ๆ จะต้องเผชิญกับต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นและยาวนานขึ้นไปอีก ส่งผลต่อภาวะการลงทุน การจ้างงาน กำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง ซึ่งทำให้ความกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอยเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งราคาพลังงานและอัตราเงินเฟ้อที่อาจจะได้รับผลกระทบหากสงครามระหว่างกลุ่มฮามาสและอิสราเอลยืดเยื้อ นอกจากนี้ บรรยากาศการท่องเที่ยวในประเทศไทย หลังเหตุการณ์ที่ห้างฯสยามพารากอนกระทบความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ การฉีดยากระตุ้นเศรษฐกิจของไทยผ่านมาตรการดิจิตอลวอลเล็ตของรัฐบาลที่อาจจะเห็นผลดีในระยะสั้น แต่อาจจะทำให้มีผลข้างเคียงในระยะยาว ทำให้นโยบายการคลังของประเทศไทยเป็นสิ่งที่ยังต้องจับตามอง โดยมีข่าวลบทยอยออกมาทั้งเดือน ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาตัดคนรวยหรือผู้มีรายได้เกินเกณฑ์ เพื่อลดงบประมาณของโครงการ และเลื่อนกำหนดเวลาออกมาตรการเป็นช่วงเมษายน-พฤษภาคม ปี 2567 จากเดิมช่วงเดือนมกราคม รวมถึงความเสี่ยงที่ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนฯ ในไตรมาสที่ 3/2566 จะออกมาต่ำกว่าที่คาด

ในเดือนที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิเป็นเดือนที่ 9 ที่ 1.57 หมื่นล้านบาท จากเดือนก่อนหน้าที่ขายสุทธิ 2.20 หมื่นล้านบาท โดยไม่มีหุ้นกลุ่มไหนที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวก ในขณะที่กลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต -11.7% กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ -11.3% และกลุ่มยานยนต์ -11.1% ให้ผลตอบแทนติดลบมากที่สุดในช่วงเดียวกัน

สำหรับมุมมองในการลงทุนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 เรายังคงมุมมองว่าพื้นฐานของเศรษฐกิจประเทศไทยยังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว นำโดยภาคการท่องเที่ยวและภาคการบริโภคภายในประเทศ โดยเราคาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ จากภาครัฐจะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น รวมถึงการฟื้นตัวของภาคการส่งออกและการออกมาตรการลดค่าครองชีพ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อไป ทั้งนี้ เรามองว่ามาตรการฟรีวีซ่า จะช่วยสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวได้ในช่วงฤดูการท่องเที่ยวของปีนี้ อย่างไรก็ตาม เราก็ยังคงติดตามว่าผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐฯ และของไทยที่อาจจะทยอยปรับลดลงในช่วงสองเดือนสุดท้ายของปี 2566 ซึ่งในกรณีดังกล่าวจะลดแรงกดดันต่อต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจ รวมทั้งลดแรงกดดันต่อ Valuations ของสินทรัพย์เสี่ยงในภาพรวม

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – ตุลาคม 2566

FED เปิดเผยรายงานการประชุมนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) ในวันที่ 19-20 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25%-5.50% และลดขนาดงบดุลตามแผนต่อเนื่อง คณะกรรมการฯ เห็นว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 3 ขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง สะท้อนจากการใช้จ่ายของภาคเอกชนในประเทศที่ยังเพิ่มขึ้นอย่างเข้มแข็ง ด้านตลาดแรงงานยังคงตึงตัว แต่ความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานเริ่มผ่อนคลายลง คณะกรรมการฯ มองว่าอัตราเงินเฟ้อแม้ยังอยู่สูงแต่เห็นการชะลอลง โดยมองว่าความเสี่ยงเงินเฟ้อยังโน้มไปทางด้านสูง และคณะกรรมการฯ พร้อมที่จะดำเนินการอย่างระมัดระวังในการปรับดอกเบี้ยตามข้อมูลเศรษฐกิจใหม่ ๆ ที่จะเข้ามา รายงานระบุว่าสมาชิก FED ส่วนใหญ่เห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งมีความเหมาะสม ในขณะที่สมาชิกเพียงบางส่วนไม่ยืนยันว่าจะขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ อย่างไรก็ตามสมาชิกเห็นตรงกันว่ายังมีความจำเป็นที่ FED จะต้องคงดอกเบี้ยสูงไว้อีกระยะหนึ่ง เพื่อช่วยลดอุปสงค์และให้แน่ใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับเข้าใกล้เป้าหมายที่ 2% ภายในสองปีข้างหน้า

ECB มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายตามที่ตลาดคาดการณ์เป็นวงกว้างโดยนับเป็นครั้งแรกที่คงดอกเบี้ยหลังปรับดอกเบี้ยขึ้นอย่างต่อเนื่อง +450bps ตั้งแต่การประชุมเดือนกรกฎาคม 2022 ซึ่งทำให้อัตราดอกเบี้ย Deposit Facility อยู่ที่ 4.00%, อัตราดอกเบี้ย Main refinancing อยู่ที่ 4.50% และอัตรา Marginal lending facility อยู่ที่ 4.75% นอกจากนี้ จะยังทำตามแผนการลดขนาดงบดุลที่ได้เคยประกาศไว้เดิม โดยจะไม่ทำการซื้อคืนพันธบัตรครบกำหนดอายุที่เข้าซื้อผ่านมาตรการปกติหรือ Asset Purchase Program (APP) ขณะที่จะยังไม่แตะต้องพันธบัตรที่เข้าซื้อผ่านมาตรการพิเศษที่เริ่มช่วงวิกฤตหรือ Pandemic Emergency Purchase Program (PEPP) ซึ่งแถลงการณ์ยังระบุเช่นเดิมว่าจะทำการซื้อคืนพันธบัตรครบกำหนดอายุที่เข้าซื้อผ่านมาตรการ PEPP ไปจนถึงสิ้นปี 2024 เป็นอย่างน้อย อย่างไรก็ดี ประธาน ECB เปิดเผยว่า การตัดสินใจคงดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ ไม่ได้ชี้ชัดว่า ECB จะไม่ปรับดอกเบี้ยขึ้นอีกแล้ว ขณะที่ยังเร็วเกินไปอย่างมากที่จะพิจารณาถึงการปรับลดดอกเบี้ยลงตอนนี้ ซึ่งนับเป็นการส่งสัญญาณในลักษณะเดียวกับธนาคารกลางหลักอื่น ๆ ท่ามกลางเงินเฟ้อที่ยังขยายตัวเหนือเป้าหมายและยังมีความเสี่ยงโน้มไปทางด้านสูงจากสงครามทั้งที่ยูเครนและอิสราเอล รวมถึงปรากฎการณ์เอลนีโญที่อาจหนุนราคาอาหารพุ่งขึ้น

ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีมติเอกฉันท์ (9-0 เสียง) ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ -0.1%, ควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปีที่ใกล้ 0% นอกจากนี้ได้คงการซื้อ ETFs ไม่เกิน 12 ล้านล้านเยนและ J-REITs ไม่เกิน 1.8 แสนล้านเยนต่อปี และคงการเข้าซื้อตราสารหนี้เอกชนระยะสั้น (Commercial Paper) ที่ 2 ล้านล้านเยน และหุ้นกู้เอกชน (Corporate Bond) ที่ 3 ล้านล้านเยนต่อปี และ BOJ มีมติไม่เอกฉันท์ (8-1 เสียง) ให้ปรับการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี (Yield Curve Control: YCC) เป็นการยึดระดับที่ 1% จากเดิมที่กำหนดกรอบ ที่-1.0% ถึง 1.0% ด้านเศรษฐกิจญี่ปุ่น BOJ ประเมินว่ามีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นในปีนี้ แม้จะมีความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้าทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ด้านเงินเฟ้อญี่ปุ่น เร่งตัวขึ้นมาทั้งในปีนี้และปีหน้า จาก 2.5% เป็น 2.8% ในปีนี้ และจาก 1.9% เป็น 2.8% ในปีหน้า ผลจากราคาน้ำมันและราคาสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้น โดยรวมมองว่าเงินเฟ้อขยับเข้าใกล้เป้าหมายที่ 2% มากยิ่งขึ้น

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลช่วงอายุไม่เกิน 1 ปี ปรับลดลง 3-10 bps แม้ว่ากนง. จะเพิ่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปในช่วงปลายเดือนกันยายนเป็น 2.50% แต่ผลการประมูลตลาดแรกของพันธบัตรอายุประมาณ 3 เดือนในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคมให้อัตราผลตอบแทนเพียง 2.18% - 2.21% สาเหตุหนึ่งคาดว่าเกิดจากการปรับลดปริมาณการเสนอขายพันธบัตรอายุ 3 เดือนในตลาดแรกลงจากสัปดาห์ละ 6 หมื่นล้านบาท เป็น 5 หมื่นล้านบาท ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับขึ้นเล็กน้อยตามทิศทางตลาดพันธบัตรต่างประเทศ ในเดือนนี้นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิรวม 1.2 หมื่นล้านบาท โดยขายพันธบัตรระยะสั้นประมาณ 394 ล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 1.6 หมื่นล้านบาท มีพันธบัตรครบกำหนด 3.4 พันล้านบาท คงเหลือนักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรประมาณ 9.5 แสนล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อนประมาณ 1.3 แสนล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดหุ้นไทย – กันยายน 2566

SET Index ในเดือนกันยายน 2566 ปิดที่ระดับ 1,471.43 จุด ลดลง 6.04% จากเดือนก่อนหน้า จากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ ผลกระทบนโยบายภาครัฐ และ Bond Yield ที่ปรับตัวสูงขึ้น มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในเดือนกันยายน อยู่ที่ 47,907 ล้านบาท (-15.73% MoM)

ตลาดกังวลนโยบายเศรษฐกิจซึ่งจะกระทบต่อบางอุตสาหกรรม เช่น นโยบายลดค่าไฟฟ้า การตรึงราคาขายปลีกน้ำมัน และราคาน้ำมัน WTI ที่ปรับตัวขึ้นตามแนวโน้มอุปทานตึงตัวจากการลดกำลังการผลิต 1 ล้านบาร์เรล/วันของซาอุฯ โดยในช่วงต้นเดือน กกพ. มีมติปรับลดค่าไฟ Ft งวดเดือนกันยายน - ธันวาคม 2566 จากมติเดิม 4.45 บาท/kWh เหลือ 4.10 บาท/kWh เป็น Sentiment เชิงลบต่อหุ้นโรงไฟฟ้า ต่อมารัฐบาลได้ประกาศลดค่าไฟ Ft ลงอีกจาก 4.10 บาท เหลือ 3.99 บาท ทำให้กลุ่มโรงไฟฟ้ามีแรงขายต่อเนื่อง ซึ่งดัชนีอุตสาหกรรมพลังงานคิดเป็นสัดส่วน 20% ของมูลค่าตลาดรวมของ SET Index จึงมีอิทธิพลต่อการปรับลดลงของภาพรวมตลาดหุ้นไทย อีกทั้งผลกระทบจากการดำเนินการนโยบาย Digital Wallet ในเรื่องการจัดหาเงินทุน ที่ยังไม่มีความชัดเจนจะมาจากทางใด ประกอบกับประเด็นความกังวลเกี่ยวกับการปรับลด Credit Rating ของไทย หลังจากสถาบัน Moody’s ออกมาเตือน เป็นปัจจัยที่กระทบต่อบรรยากาศการลงทุนในเดือนที่ผ่านมา

ด้านผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และไทย 10 ปีปรับตัวสูงขึ้นทำจุดสูงสุดในรอบ 16 ปี และ 11 เดือน ตามลำดับ ในขณะที่ผลตอบแทน (Bond Yield) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.6% และ 3.23% ตามลำดับ ทั้งนี้ กนง. ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็น 2.50% ในการประชุมครั้งล่าสุดช่วงปลายเดือนกันยายน ส่งผลให้ความน่าสนใจตลาดหุ้นโดยรวมลดลงโดย Forward Earning Yield Gap ของ SET ปรับตัวลดลงเหลือ 2.92% ต่ำสุดในรอบ 11 เดือน ซึ่งผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระดับสูงจะเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นไทยและโลกในช่วงนี้

สำหรับปัจจัยสนับสนุน คือ นโยบายฟรีวีซ่าจีน-คาซัคสถาน มีผลตั้งแต่ 25 กันยายน 2566 - 29 กุมภาพันธ์ 2567 โดยททท. คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนทั้งปี 2566 ได้ 4-4.4 ล้านคน เป็นปัจจัยบวกกับกลุ่มท่องเที่ยวในระยะกลาง

ในเดือนที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิเป็นเดือนที่ 8 ที่ 2.20 หมื่นล้านบาท จากเดือนก่อนหน้าที่ขายสุทธิ 1.54 หมื่นล้านบาท โดยหุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุด คือ กลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต +5.0% ในขณะที่กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -21.4% กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ -13.9% และกลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง -12.1% ให้ผลตอบติดลบมากที่สุดในช่วงเดียวกัน

สำหรับมุมมองในการลงทุนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 เรายังคงมุมมองว่าพื้นฐานของเศรษฐกิจประเทศไทยยังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว นำโดยภาคการท่องเที่ยวและภาคการบริโภคภาคเอกชน โดยเราคาดว่าหลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ จากภาครัฐ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อไป โดยเรามองว่ามาตรการฟรีวีซ่า ที่จะช่วยลดความยุ่งยากให้แก่นักท่องเที่ยวจีน จะช่วยสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวได้ในช่วงฤดูการท่องเที่ยวของปีนี้ อย่างไรก็ตาม เราก็ยังคงติดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะปัญหาของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อาจจะลุกลามไปยังภาคส่วนอื่น ๆ นอกจากนี้ หากมาตรการแจกเงินดิจิตอล 10,000 บาทมีความชัดเจนมากขึ้น ก็จะเป็นปัจจัยสนันสนุนสำคัญในการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศได้