ภาวะตลาดหุ้นไทย (10-14 ตุลาคม 2559)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สองของเดือนตุลาคม SET Index มีความผันผวนสูงมาก โดยแกว่งตัวอยู่ในช่วง 1,343-1,480 จุด SET Index สามวันแรกตลาดปรับตัวลดลงกว่า 6% หรือ 130 จุด จากเหตุความกังวลของนักลงทุนภายในประเทศ ซึ่งทำให้มีแรงขายหุ้นออกมามาก และปริมาณการซื้อขายสูงขึ้นมากถึงระดับ 100,000 ล้านบาท ก่อนการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศในการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในวันที่ 13 ตุลาคม 2559 อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายสัปดาห์ ได้มีแรงซื้อหุ้นจากนักลงทุนสถาบันเข้ามามาก โดยมียอดซื้อสุทธิสูงถึง 13,525 ล้านบาท และทำให้ตลาด Rebound กลับขึ้นมากกว่า 60 จุดในวันสิ้นสัปดาห์ และทำให้ SET Index ปรับตัวลงไม่มากนักเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ทั้งนี้ หุ้นในกลุ่มสื่อสารและสิ่งพิมพ์ได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรง ซึ่งในสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ปรับตัวลดลงกว่า 6.38%

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,477.61 จุด ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา -1.78%

แนวโน้มตลาดหุ้นในระยะสั้น SET Index ยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้อีก แม้จะมีความผันผวนบ้างเนื่องจาก SET Index ปรับตัวขึ้นแรงในช่วงปลายสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม SET Index ยังน่าจะได้รับผลดีจากการเข้าสู่ช่วงการประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งมีแนวโน้มว่าผลประกอบการส่วนใหญ่ของบริษัทจดทะเบียนยังน่าจะมีการเติบโตที่ดี โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 ที่มีผลประกอบการต่ำมาก ในขณะที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯมีแนวโน้มที่นางฮิลลารี คลินตัน จะได้รับชัยชนะ ซึ่งจะเป็นผลดีกับตลาดหุ้นโลกมากกว่าการที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง และการประชุมของ EBC ที่จะมีขึ้นในกลางสัปดาห์ (20 ต.ค.) ไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายผ่อนคลายทางการเงินที่จะส่งผลลบต่อสภาพคล่องในระบบการเงิน อย่างไรก็ตาม ในระยะถัดไปนักลงทุนควรจับตามองการประชุม FOMC ในครั้งถัดไปในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 ที่เกี่ยวกับนโยบายดอกเบี้ยของธนาคารกลางของสหรัฐฯ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (3 – 7 ตุลาคม 2559 )

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการแสดงความคิดเห็นของสมาชิกในคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐ (FED) บางท่าน สนับสนุนให้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย และเน้นย้ำว่าการเมืองไม่ได้ส่งผลต่อการตัดสินใจของเฟด ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญบางอย่างแสดงถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เช่น ดัชนีภาคบริการของ ISM อยู่ที่ระดับ 57.1 ในเดือนกันยายน ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์และเพิ่มจากเดือนก่อนที่ระดับ 51.4 และ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานปรับตัวลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบหลายเดือน เป็นต้น ทำให้ตลาดเพิ่มการคาดการณ์ความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมอีก 2 ครั้งที่เหลือของปีนี้ นอกจากนี้ยังมีหลายเหตุการณ์จากกลุ่มประเทศยูโรโซน ที่ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงิน เช่น ความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อังกฤษเตรียมแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป ซึ่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่กล่าวว่าจะเริ่มดำเนินการในปีหน้า (Trigger Brexit Process) และการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะทยอยปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตร

จากหลายเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้อัตราผลตอบแทนปรับเพิ่มขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ เช่น US Treasury 10-Year ปรับขึ้นเป็น 1.73% ต่อปี จาก 1.60% ต่อปีในสัปดาห์ก่อนหน้า และปัจจัยภายนอกเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้ของไทยเช่นกัน อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาวปรับเพิ่มขึ้น 0.02-0.10% ในช่วงอายุ 3-15 ปี ส่วนอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรที่อายุไม่เกิน 1 ปีไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง ตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ ทั้งพันธบัตรที่อายุไม่เกิน 1 ปี และพันธบัตรระยะยาว จำนวนประมาณ 4.1 พันล้านบาท และ 4.7 พันล้านบาท ตามลำดับ

ภาวะตลาดหุ้นไทย (3-7 ตุลาคม 2559)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์แรกของเดือนตุลาคม SET Index ผันผวนในกรอบ 1,490-1,518 จุด SET Index ยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่องในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยบวกจากการ Preview ผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ปี 2559 ของหุ้นกลุ่มธนาคารที่มีแนวโน้มจะออกมาดี ประกอบกับราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังการประชุม OPEC ที่มีข้อตกลงจะควบคุมกำลังการผลิตของประเทศสมาชิก และการที่ Stock น้ำมันดิบของสหรัฐฯลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดสิ้นสัปดาห์ที่ 49.81 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 3.2% อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังมีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องปัญหาของ DB และ Well Fargo ที่ยังเป็นปัจจัยลบกดดันตลาดโลกอยู่พอสมควร

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,504.34 จุด ปรับตัวขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 1.42%

แนวโน้มตลาดหุ้นในระยะสั้น SET Index ยังคงมีความผันผวน โดยยังมีปัจจัยที่นักลงทุนให้ความสนใจและเป็นความเสี่ยงของตลาด เช่น เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปัญหา DB และ Well Fargo การประชุม Fed ที่คาดการณ์ว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงเดือน ธันวาคม เป็นต้น

บลจ.ทาลิส จัดเสวนา “ทิศทางเศรษฐกิจและการลงทุน ปี 2017 พร้อมเปิดตัวกองทุนรวม”

ดร.ทนง พิทยะ (กลาง) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้เกียรติถ่ายภาพร่วมกับ คุณฉัตรพี ตันติเฉลิม (ซ้าย) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร คุณประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ (ขวา) ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทาลิส จำกัด ในงานเสวนา “ทิศทางเศรษฐกิจและการลงทุน ปี 2017 พร้อมเปิดตัวกองทุนรวม” ณ โรงแรม Siam Kempinski Hotel Bangkok เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2559

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (26 – 30 กันยายน 2559 )

หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐ (FED) มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ นักลงทุนในตลาดต่างเพิ่มการคาดการณ์ว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในปีนี้ บนสมมติฐานว่าตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญต้องแสดงการฟื้นตัวต่อเนื่อง ซึ่งในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา รายงานผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศไตรมาสที่สอง (GDP 2Q16) เพิ่มขึ้น 1.4% และดีกว่าที่คาด ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก นอกจากนี้ ยังมีข่าวความกังวลเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของธนาคารดอยซ์แบงก์ที่ได้รับแรงกดดันมาก่อนหน้านี้ และล่าสุดกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐสั่งปรับเป็นเงินมูลค่าสูงถึง 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ในคดีการสร้างความเข้าใจผิดต่อลูกค้าในการขายตราสารหนี้ที่ได้รับการค้ำประกันจากสัญญาจำนอง (MBS)

ด้านตัวเลขเศรษฐกิจของไทยในสัปดาห์ที่แล้ว มีการประกาศตัวเลขการส่งออกเดือนสิงหาคมที่เพิ่มขึ้น 6.5% ดีกว่าที่คาดไว้ -1% yoy ซึ่งตัวเลขกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 5 เดือน และเร่งตัวที่สุดในรอบ 6 เดือน สาเหตุหลักมาจากการส่งออกรถยนต์และกลุ่มเหล็กที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ตลาดตราสารหนี้ไทยได้รับอิทธิพลจาก Global Yields มากกว่า อัตราผลตอบแทนโดยรวมจึงปรับลดลงต่อ โดยเฉพาะในช่วงอายุ 5-20 ปี ปรับลดลง 0.04-0.12% ส่วนการประมูลพันธบัตรระยะสั้น อัตราผลตอบแทนค่อนข้างคงที่และปรับลงเล็กน้อย ตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรอายุไม่เกิน 1 ปีประมาณ 27.7 พันล้านบาท และซื้อสุทธิพันธบัตรอายุมากกว่า 1 ปีประมาณ 11.5 พันล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย (26-30 กันยายน 2559)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สุดท้ายของเดือนกันยายน SET Index ผันผวนในกรอบ 1,477-1,498 จุด ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา SET Index ยังไม่สามารถกลับขึ้นไปยืนที่ 1,500 จุด แม้ว่าจะมีข่าวดีจากต่างประเทศเป็นปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ การโต้วาทีระหว่างนาย โดนัล ทรัมป์ และนาง ฮิลลารี คลินตัน ที่ผลโพลหลังจากการโต้วาทีนั้นเห็นว่านางคลินตันทำได้ดีกว่านายทรัมป์มาก และทำให้คะแนนเสียงของนางคลินตันดีขึ้น ขณะเดียวกัน ในการประชุม OPEC และรัสเซีย ก็ทำความประหลาดใจให้ตลาดเนื่องจากสามารถบรรลุข้อตกลงของการควบคุมกำลังผลิตน้ำมันดิบลงได้ แม้ว่ารายละเอียดของการควบคุมกำลังผลิตต้องมีการเจรจาอีกครั้งในการประชุม OPEC ในเดือนพฤศจิกายน แต่ข่าวนี้ก็สามารถทำให้ราคาน้ำมันดิบปิดที่ 48.24 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 4% และส่งผลให้ราคาหุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ประเด็นปัญหา Deutsche Bank (DB) ที่ถูกกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ เรียกค่าปรับสูงถึง 1.45 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ จากกรณีให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนในการเสนอขายตราสารอ้างอิงสินทรัพย์ Mortgage-back ในช่วงก่อนวิกฤตปี 2008 และทำให้มีการคาดการณ์ว่า DB อาจต้องมีการเพิ่มทุนหรือขายสินทรัพย์การลงทุนบางส่วนออกมา ได้กดดันทั้งตลาดไทยและตลาดหุ้นโลก ทำให้ตลาดมีความผันผวนมากขึ้น

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,483.21 จุด ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา -0.65%

แนวโน้มตลาดหุ้นในระยะสั้น SET Index ยังคงแกว่งตัวในทาง Sideway ถ้าหากยังไม่เจอผลกระทบในเชิงลบที่ทำให้ตลาดมีความกังวล ทั้งนี้ ปัจจัยการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ปัญหา DB และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ตลาดจับตามองในระยะ 1 เดือนข้างหน้านี้

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย 19 – 23 กันยายน 2559

ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น มีมติคงนโยบายดอกเบี้ยติดลบตามเดิม (-0.1%) และปรับแผนในการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลโดยมีเป้าหมายเพื่อพยุงให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีอยู่ที่ระดับ 0% พร้อมกับเพิ่มฐานเงินให้มากขึ้น เพื่อให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจนบรรลุเป้าหมายที่ 2% ในขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐอเมริกา มีมติ 7 ต่อ 3 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.25-0.50% โดยระบุถึงการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน การขยายตัวของเศรษฐกิจในระดับปานกลาง และความเสี่ยงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจอยู่ในภาวะสมดุล และคณะกรรมการส่วนใหญ่ปรับลดมุมมองอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมลง โดยคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในปีนี้ และให้มุมมองว่าปีหน้าอาจขึ้นดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้ง ลดลงจาก 3 ครั้ง

ในช่วงต้นสัปดาห์นักลงทุนต่างเฝ้ารอผลการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ปริมาณการซื้อขายจึงค่อนข้างน้อยและอัตราผลตอบแทนปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม จากการตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินที่ยังคงผ่อนคลายของญี่ปุ่นและไม่ผิดคาดมากนักของสหรัฐฯ ทำให้มีแรงซื้อกลับเข้ามาในช่วงปลายสัปดาห์ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวโดยรวมจึงค่อนข้างคงที่และปรับลดลงมากในรุ่นอายุประมาณ 10 ปี ส่วนการประมูลพันธบัตรระยะสั้น อัตราผลตอบแทนปรับขึ้นเล็กน้อย 0.005-0.01% ตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิพันธบัตรอายุไม่เกิน 1 ปีประมาณ 16.3 พันล้านบาท และซื้อสุทธิพันธบัตรอายุมากกว่า 1 ปีประมาณ 9.4 พันล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย 19-23 กันยายน 2559

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สามของเดือนกันยายน SET Index ผันผวนในกรอบ 1,467-1,506 จุด ในช่วงต้นสัปดาห์ ตลาดยังคงปรับตัวดีขึ้นจากการเก็งกำไรว่าในการประชุม FOMC Fed จะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิม และการประชุมของ BOJ จะยังคงมาตรการผ่อนคลายทางการเงินต่อไป อย่างไรก็ตาม หลังการประชุม Fed มีการส่งสัญญาณการปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยก่อนสิ้นปีนี้ และราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องตลอดทั้งสัปดาห์ เริ่มมีการปรับลดลงแรงในวันสุดท้ายของสัปดาห์กว่า 3.3% จากความไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการลดกำลังการผลิตระหว่างซาอุดิอาระเบียและอิหร่าน ก่อนการประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) และรัสเซีย ที่จะมีขึ้นในวันที่ 26-28 กันยายน เมื่อประกอบกับการที่ SET Index ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วกว่า 100 จุดในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ทำให้ SET Index ปรับตัวขึ้นถึงระดับ 1,500 จุด และอยู่ในภาวะ Overbought และการที่มีข่าวสร้างความสับสนภายในประเทศ ทำให้มีแรงขายค่อนข้างรุนแรงในวันศุกร์ และนักลงทุนต่างชาติกลับมามีสถานะ Net Sell

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,492.88 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.93% โดยหุ้นหลัก 3 กลุ่มที่ปรับตัวขึ้นสูงสุด ได้แก่ กลุ่มค้าปลีก กลุ่มอาหาร และกลุ่มพลังงาน

แนวโน้มตลาดหุ้นในระยะสั้นยังน่าจะมีความผันผวน โดยปัจจัยที่ได้รับความสนใจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) และรัสเซีย ที่จะมีขึ้นในวันที่ 26-28 กันยายนนี้ และการโต้วาทีของผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ระหว่างนางฮิลลารี คลินตัน และนายโดนัลด์ ทรัมป์ ในวันที่ 26 กันยายน

ภาวะตลาดหุ้นไทย 12-16 กันยายน 2559

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สองของเดือนกันยายน หลังจาก SET Index ปรับตัวลงแรงในวันจันทร์ต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน โดยปรับตัวลงไปถึงระดับ 1,411 จุด จากปัจจัยความวิตกกังวลภายในประเทศ ตลาดหุ้นก็เกิด Technical Rebound อย่างรวดเร็ว จากความผ่อนคลายของสถานการณ์ในประเทศ ที่ทำให้นักลงทุนเข้าซื้อกลับจากที่ Short หุ้นไปก่อนหน้า และนักลงทุนต่างชาติยังคงซื้ออย่างต่อเนื่องตลอดทั้งอาทิตย์ โดยหุ้นกลุ่ม Big Cap มีการปรับตัวขึ้นสูงจากปัจจัยการ Rebalance Port ของนักลงทุนตามการปรับน้ำหนักของ FTSE ที่เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากขึ้น เนื่องจากมีการรวมน้ำหนักหุ้น NVDR เข้าในการคำนวณดัชนีด้วย ซึ่งทำให้มีแรงซื้อในช่วงปิดตลาดในวันศุกร์ซึ่งเป็นวันเริ่มคำนวณดัชนีตามน้ำหนักใหม่ถึงเกือบ 30,000 ล้านบาท และทำให้ดัชนีมีการปรับตัวขึ้นกว่า 6 จุด ใน 30 นาทีสุดท้ายของสัปดาห์ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยังได้รับผลดีจากการปรับเพิ่มการคาดการณ์ GDP ปีนี้ว่าจะขยายตัวจาก 3.1% เป็น 3.2% ของกระทรวงการคลัง ทำให้คาดว่า GDP ในครึ่งปีหลังจะขยายตัวถึง 3.5% สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,479.07 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 2.34%

แนวโน้มตลาดหุ้นในระยะสั้นยังมีความผันผวน หลังจาก SET Index ปรับตัวขึ้นมากในระยะเวลาอันสั้น ตลาดอาจมีการชะลอการลงทุนเล็กน้อยเนื่องจากยังคงรอถ้อยแถลงของ Fed และ BOJ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 20-22 นี้

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย 12 – 16 กันยายน 2559

ตลาดตราสารหนี้ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีการซื้อขายค่อนข้างน้อย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุประมาณ 5-25 ปีปรับขึ้น 0.02-0.12% ซึ่งเป็นการปรับตัวตามตลาดต่างประเทศ เนื่องจากเข้าใกล้การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของประเทศสำคัญคือ สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ที่จะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า สำหรับผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยในวันพุธที่ 14 ที่ผ่านมาเป็นไปตามที่ตลาดคาด โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี ซึ่งคณะกรรมการประเมินว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปและยังเผชิญกับความไม่แน่นอนทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงครึ่งหลังของปี ภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ส่วนธนาคารกลางของประเทศอังกฤษ (BOE) ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.25% เท่าเดิม และคงปริมาณการซื้อพันธบัตรและสินทรัพย์ (QE) ที่ระดับ 4.35 แสนล้านปอนด์ตามที่ตลาดคาด โดยในแถลงการณ์ BOE ยังมองว่าเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรมีความเสี่ยงจากผลประชามติ Brexit ที่ผ่านมา แม้ว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี

ทางด้านการประมูลพันธบัตรระยะสั้น อัตราผลตอบแทนปรับขึ้น 0.005-0.03% จากความต้องการซื้อของนักลงทุนต่างชาติที่ลดลง พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยรุ่นอายุ 14 วันมีผู้สนใจน้อยกว่าจำนวนที่เสนอขาย โดยตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิพันธบัตรอายุไม่เกิน 1 ปีประมาณ 11.2 พันล้านบาท และขายสุทธิพันธบัตรอายุมากกว่า 1 ปีประมาณ 5.9 พันล้านบาท