ภาวะตลาดหุ้นไทย – พฤษภาคม 2561

ในเดือนพฤษภาคม SET Index ปรับตัวลง 3.0% จากสิ้นเดือนเมษายน 2561 ซึ่งเป็นการปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยหลักมาจากการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ การปรับตัวลงของราคาน้ำมัน และการ Rebalance ดัชนี MSCI

โดยภาพรวมตลาดในเดือนพฤษภาคมมีการปรับตัวลงต่อเนื่องตลอดทั้งเดือน ในช่วงต้นเดือน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากเดือนเมษายน โดยปรับตัวขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 3.10% ซึ่งเป็นจุดสูงสุดในรอบ 7 ปี ตอบรับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ขยายตัวอย่างโดดเด่น ทำให้สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกถูกเทขายอย่างหนัก ส่วนในฝั่งยุโรป เริ่มมีความเสี่ยงทางการเมืองในอิตาลีและสเปนที่เพิ่มขึ้น จากการที่อิตาลีไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้หลังจากที่เลือกตั้งผ่านมา 2-3 เดือนแล้ว และนายกรัฐมนตรีสเปนถูกรัฐสภาลงมติไม่ไว้วางใจ ทำให้ต้องมีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยลบทั้งสิ้น กดดันดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกให้ปรับตัวลดลง

ปัจจัยภายในประเทศที่ส่งผลกระทบต่อ SET Index ได้แก่ การประกาศตัวเลข GDP ในไตรมาส 1 ของไทยออกมาสูงกว่าคาดอยู่ที่ 4.8% และเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบ 20 ไตรมาส เป็นตัวชี้ชัดว่าเศรษฐกิจไทยผ่านพ้นช่วงฟื้นตัวและกำลังเติบโตต่อเนื่อง สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนไทย อีกทั้งในปลายเดือน การเลือกตั้งของไทยที่มีพัฒนาการในเชิงบวก หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างกฎหมายที่มา สว. และร่างกฎหมายการเลือกตั้ง สส. ว่าไม่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้กระบวนการเลือกตั้งเป็นไปตาม Road Map ที่รัฐบาลวางไว้ ซึ่งคาดจะเกิดการเลือกตั้งช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน 2562 ปัจจัยเหล่านี้น่าจะหนุนให้ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวขึ้นได้

นอกจากนี้ ในเดือนพฤษภาคมยังเป็นช่วงการประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 1 ปี 2561 โดยผลกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดรวมกันอยู่ที่ 2.89 แสนล้านบาท เติบโต 15.9% เทียบกับไตรมาส 4 และ 0.6% เทียบกับไตรมาส 1 ปี 2560 โดยกลุ่มที่ผลประกอบการดีกว่าคาดมากที่สุดคือกลุ่มพลังงานทางเลือก และกลุ่มที่ผลประกอบการต่ำกว่าคาดมากที่สุดคือกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนกลุ่มที่กำไรสุทธิออกมาเติบโตสูงที่สุดเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ได้แก่ กลุ่มยานยนต์ กลุ่มพลังงานทางเลือก และกลุ่มการแพทย์ และกลุ่มที่กำไรสุทธิลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ได้แก่ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ส่วนในกลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ แม้ว่าผลประกอบการในไตรมาส 1 จะออกมาตามที่คาด แต่ราคาหุ้นมีการปรับตัวลงค่อนข้างแรง สาเหตุมาจากการที่กระทรวงการคลังจะออกร่างพ.ร.บ. กำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน (ยกเว้นสถาบันการเงิน) ซึ่งมีแนวโน้มที่จะมีการควบคุมอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อ ทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลในความสามารถในการทำกำไรของบริษัทต่าง ๆ หากอัตราดอกเบี้ยใหม่ถูกปรับลดลง สำหรับหุ้น SAWAD นั้น แม้ว่าจะไม่มีความเสี่ยงที่เกี่ยวเนื่องกับร่างพ.ร.บ. ใหม่นี้ เนื่องจากได้ปรับโครงสร้างองค์กรไปอยู่ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทยแล้วนั้น แต่ผลประกอบการในไตรมาส 1 กลับออกมาค่อนข้างน่าผิดหวัง ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงแรงเช่นกัน

ทั้งนี้ แม้ว่าปัจจัยภายในประเทศจะยังค่อนข้างเป็นบวกต่อภาวะการลงทุนในตลาดหุ้น แต่ปัจจัยภายนอกได้ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติมีการขายหุ้นไทยออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการที่ MSCI มีการเพิ่มน้ำหนักตลาดหุ้นจีน และลดน้ำหนักของตลาดหุ้นอื่น ๆ ในภูมิภาค และการที่คาดการณ์ว่า OPEC จะมีการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันในการประชุมเดือนมิถุนายน ทำให้มีแรงขายหุ้นไทยออกมามาก โดยเฉพาะหุ้น Market Cap ขนาดใหญ่ เช่น PTT, AOT, CPALL และ PTTEP เป็นต้น

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนพฤษภาคม 2561 SET Index ปิดที่ 1,726.97 จุด ปรับตัวลดลง 3.0% จากเดือนก่อนหน้า โดยหุ้นกลุ่มหลักที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุด ได้แก่ กลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง +13.5% กลุ่มการแพทย์ +10.2% และกลุ่มยานยนต์ +5.4% ในขณะที่หุ้นกลุ่มหลักที่ปรับตัวลดลงมากที่สุดในช่วงเวลาเดียวกัน ได้แก่ กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ -11.0% กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ -9.8% และกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร -7.4% ในเดือนพฤษภาคมนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิมากที่สุดมูลค่า 51,859 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิ 23,167 ล้านบาท

บลจ. ทาลิสคาดว่าหลังจากตลาดหุ้นปรับฐานในเดือนพฤษภาคม ช่วงครึ่งหลังของปี 2561 ตลาดหุ้นยังมีแนวโน้มแกว่งตัวในทิศทางขาขึ้น เนื่องจากตลาดได้ซึมซับปัจจัยลบทั้งในและต่างประเทศไปค่อนข้างมากแล้ว และพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังคงเติบโตได้ดี และเริ่มมีการกระจายไปยังทุกภาคส่วน ทั้งภาคการบริโภค การส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุน แม้ว่าการกระจายรายได้สู่ผู้มีรายได้น้อยยังเป็นปัญหาอยู่ก็ตาม รวมไปถึงโครงการ EEC ของรัฐบาลที่เริ่มเดินหน้าชัดเจนขึ้น ทำให้มีแนวโน้มสูงที่จะมีการปรับเพิ่มการคาดการณ์การเติบโตของ GDP ในปีนี้ อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ ปัจจัยเหล่านี้จะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนต่อเนื่อง หนุนการเติบโตของกำไรของบริษัทจดทะเบียน และผลักดันตลาดหุ้นให้มีแนวโน้มขึ้นต่อไปได้

สำหรับปัจจัยเสี่ยง ยังคงมีประเด็นการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด การเคลื่อนไหวของราคาน้ำมัน และการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ

บลจ.ทาลิส เสนอบริการซื้อขายกองทุนผ่านแอป Streaming for Fund

คุณฉัตรพี ตันติเฉลิม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ที่ 3 จากซ้าย) และคุณอมตี ประภาพันธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซ็ทเทรด ดอท คอม (ที่ 3 จากขวา) ร่วมเปิดตัวแอปพลิเคชั่นซื้อขายกองทุนรวม

บลจ.ทาลิส ตั้งเป้าเป็น Boutique Asset Management  เชี่ยวชาญการจัดการกองทุนหุ้นไทย

นางโชติกา สวนานนท์ (กลาง) ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทาลิส จำกัด พร้อมด้วยนายฉัตรพี  ตันติเฉลิม (ซ้าย) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และนายประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์  (ขวา) ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน ร่วมแถลงข่าวผลงาน 2 ปี ประสบความสำเร็จบริหารพอร์ตสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าเป้าหมาย พร้อมตั้งเป้าเป็น Boutique Asset Management ที่เชี่ยวชาญการจัดการกองทุนหุ้นไทย เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุนในการวางแผนการลงทุนในระยะยาว

ภาวะตลาดหุ้นไทย – เมษายน 2561

ในเดือนเมษายน SET Index ปรับตัวขึ้น (+0.24% MoM) จากสิ้นเดือนมีนาคม 2561 ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นเล็กน้อยจากปัญหาด้านสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ลดความรุนแรงลง และการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบ โดยมีปัจจัยการเมืองในประเทศและผลประกอบการกลุ่มธนาคารพาณิชย์เป็นปัจจัยกดดันเล็กน้อย

โดยภาพรวมตลาดในเดือนเมษายนมีความผันผวนสูง ในช่วงต้นเดือนตลาดได้รับแรงกดดันจากความเสี่ยงสงครามการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากจีนและสหรัฐฯ ออกมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าตอบโต้กันอย่างเข้มข้น แต่ในกลางเดือนก็เริ่มผ่อนคลายลงและพร้อมเข้าสู่การเจรจา ทางฝั่งยุโรป ที่ประชุมธนาคารกลางยุโรป ECB มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.0% และคงนโยบาย QE ที่ 3 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนไปจนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2561 ซึ่งไม่ได้ส่งสัญญาณถึงการยุติ QE ก่อนกำหนดแต่อย่างใด และในช่วงปลายเดือนเมษายน ราคาน้ำมันดิบมีการปรับตัวสูงขึ้น ทำให้เกิดความกังวลต่อการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ซึ่งอาจจะส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่คาด ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 3.0% เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี กดดันดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกให้ปรับตัวลดลง

ปัจจัยภายในประเทศที่ส่งผลกระทบต่อ SET Index ได้แก่ การเลือกตั้งของไทย หลังสนช.ยื่นร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความเมื่อวันที่ 2 เม.ย. ซึ่งคาดว่าศาลจะใช้เวลาพิจารณาราว 2 เดือน ทำให้นักลงทุนมีความกังวลว่าการเลือกตั้งอาจจะล่าช้าออกไป หุ้นกลุ่มธนาคารได้รับผลกระทบจากการประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียมของกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ และหุ้นกลุ่มโรงกลั่น ได้รับผลกระทบจากกระทรวงพลังงานจะปรับสูตรราคาหน้าโรงกลั่นใหม่ ส่งผลให้ตลาดปรับฐานแรงในช่วงต้นเดือน ประกอบกับการรายงานผลประกอบการในไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ของธนาคารพาณิชย์ที่เป็นไปตามคาดการณ์ของตลาด ด้วยระดับการกันสำรองหนี้สงสัยจะสูญลดลง แต่ส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานแย่กว่าที่คาด ต่อมาในช่วงปลายเดือน ความคืบหน้าด้านการประมูลแหล่งน้ำมันบงกช และเอราวัณ และราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น เป็นปัจจัยเข้ามาผลักดันราคาหุ้นในกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะ PTTEP การยืดอายุการชำระใบอนุญาตดิจิตอลทีวีของ คสช. ก็ผลักดันราคาหุ้นในกลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ขึ้นเช่นกัน ทำให้ SET Index สามารถฟื้นตัวและกลับมาปิดที่ระดับเป็นบวกได้ในเดือนเมษายน

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนเมษายน 2561 SET Index ปิดที่ 1,780.11 จุด ปรับตัวขึ้น +0.24% จากเดือนก่อนหน้า โดยหุ้นกลุ่มหลักที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุด ได้แก่ กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ +5.4% กลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ +3.3%และกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ +2.5% ในขณะที่หุ้นกลุ่มหลักที่ปรับตัวลดลงมากที่สุดในช่วงเวลาเดียวกัน ได้แก่ กลุ่มธุรกิจการเกษตร -5.8% กลุ่มการแพทย์ -4.9% และกลุ่มธนาคาร -3.4% ในเดือนเมษายนนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิมากที่สุดมูลค่า 21,450 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิ 15,552 ล้านบาท

บลจ. ทาลิสคาดว่าตลาดหุ้นจะแกว่งตัวแบบ Sideway ในช่วงสั้น แต่ในครึ่งหลังของปี 2561 ตลาดหุ้นยังมีแนวโน้มแกว่งตัวในทิศทางขึ้น เนื่องจากตลาดซึมซับกับปัจจัยลบทั้งในและต่างประเทศไปค่อนข้างมากแล้ว และพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังคงเติบโตได้ดี ทั้งภาคการส่งออกและท่องเที่ยว โดยธนาคารโลกได้ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2561 จะขยายตัวถึง 4.1% ระบบการเงินยังมีสภาพคล่องสูง อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ รวมไปถึงโครงการ EEC ของรัฐบาล ปัจจัยเหล่านี้จะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนต่อเนื่อง หนุนการเติบโตของกำไรของบริษัทจดทะเบียน และผลักดันตลาดหุ้นให้มีแนวโน้มขึ้นต่อไปได้

สำหรับปัจจัยเสี่ยง ยังคงมีประเด็นการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด รวมไปถึงการประกาศกำไรของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 1 และความเสี่ยงด้านการปรับลดประมาณการกำไรกลุ่มธนาคารพาณิชย์ลง

ภาวะตลาดหุ้นไทย – มีนาคม 2561

ในเดือนมีนาคม SET Index ปรับตัวลง (-2.94% MoM) จากสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งเป็นการปรับตัวลงตามการปรับฐานของดัชนีหุ้นทั่วโลก จากความกังวลต่อการเกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ และปัจจัยภายในประเทศ

โดยภาพรวมตลาดในเดือนมีนาคมมีการแกว่งตัว Sideway ในช่วงต้นเดือน หลังจากที่ประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ มีมติปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed funds rate) ขึ้น 25 bps ไปอยู่ที่ช่วง 1.50 – 1.75% และคงมุมมองที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก 2 ครั้งในปีนี้ ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาด ทำให้ตลาดหุ้นและตลาดการเงินไม่ได้เคลื่อนไหวมากนัก แต่ในช่วงปลายเดือน ประธานาธิบดี Donald Trump ได้ลงนามเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน เพื่อกดดันจีนที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐ ขณะที่จีนก็ออกมาตอบโต้ด้วยการจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าเนื้อหมู ท่อเหล็ก ผลไม้ และไวน์ จากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการเริ่มต้นของสงครามการค้าอย่างแท้จริง ทำให้เกิดความกังวลต่อความเสี่ยงต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ดัชนี S&P500 ปรับตัวลดลง -5.9% ภายใน 1 สัปดาห์ ส่วนตลาดหุ้นไทยได้รับผลกระทบจากข่าวกีดกันทางการค้านี้ไม่ชัดเจนนัก เนื่องจากยังไม่มีการระบุตัวสินค้าชัดเจน

ปัจจัยภายในประเทศที่ส่งผลกระทบต่อ SET Index ได้แก่ การประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียมธุรกรรมธนาคารทางอินเตอร์เน็ตของหลายธนาคารขนาดใหญ่ เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงเทพ เป็นต้น ทำให้เกิดความกังวลต่อผลประกอบการของกลุ่มธนาคาร โดยเฉพาะธนาคารทหารไทย ที่อาจเกิดผลกระทบเชิงลบมากที่สุด เนื่องจากเดิมเป็นธนาคารเดียวที่ไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมธุรกรรมจากลูกค้า ทำให้หุ้นในกลุ่มธนาคารปรับตัวลดลง / การหยุดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เนื่องจากรัฐบาลเห็นว่าประเทศไทยไม่ได้ขาดแคลนไฟฟ้า จึงสมควรหยุดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เป็นโครงการใหม่ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อกำไรของหุ้นกลุ่มพลังงานทดแทน / ข่าวเรื่องคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) อาจจะพิจารณาปรับสูตรคำนวณราคาค่าการกลั่น ซึ่งอาจจะส่งผลต่อกำไรของหุ้นกลุ่มโรงกลั่น รวมไปถึงการประกาศจ่ายปันผลของบริษัทจดทะเบียนหลายแห่ง ทำให้ SET Index ปรับตัวลดลงตามไปด้วย

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนมีนาคม 2561 SET Index ปิดที่ 1,776.26 จุด ปรับตัวลดลง -2.94% จากเดือนก่อนหน้า โดยหุ้นกลุ่มหลักที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุด ได้แก่ กลุ่มการแพทย์ +3.1% กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ +3.0% และกลุ่มพาณิชย์ +0.8% ในขณะที่หุ้นกลุ่มหลักที่ปรับตัวลดลงมากที่สุดในช่วงเวลาเดียวกัน ได้แก่ กลุ่มธนาคาร -7.1% กลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค -6.2% และกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -5.4% ในเดือนมีนาคมนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิมากที่สุดมูลค่า 11,219 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิ 9,484 ล้านบาท

บลจ. ทาลิสคาดว่าตลาดหุ้นจะยังอยู่ในช่วงปรับฐานในช่วงสั้น แต่ในครึ่งหลังของปี 2561 ตลาดหุ้นยังมีแนวโน้มแกว่งตัวในทิศทางขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะเติบโตดีขึ้น ค่าเงินบาทยังคงแข็งค่า ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างประเทศ ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไทยก็ยังมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น สภาพคล่องในระบบการเงินและอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ รวมไปถึงการกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป ล้วนเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุนในตลาดหุ้นทั้งสิ้น

สำหรับปัจจัยเสี่ยงหลักยังคงอยู่ที่ปัจจัยระหว่างประเทศ โดยเฉพาะประเด็นการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

ภาวะตลาดหุ้นไทย – กุมภาพันธ์ 2561

ในเดือนกุมภาพันธ์ SET Index ยังคงปรับตัวขึ้นเล็กน้อย (+0.18% MoM) จากสิ้นเดือนมกราคม 2561 ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงตามการปรับฐานของดัชนีหุ้นทั่วโลก จากความกังวลต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่มากกว่าที่คาดของธนาคารสหรัฐฯ

โดยภาพรวมตลาดในเดือนกุมภาพันธ์มีความผันผวนในช่วงต้นเดือนสูง จากมุมมองเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่เริ่มมีสัญญาณเร่งขึ้น เนื่องจากการบริโภคและค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้น และแรงผลักดันของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ไต่ระดับขึ้นตั้งแต่กลางปี 2560 ทำให้เกิดความกังวลต่อแนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ย FED Fund Rate ที่มากกว่าตลาดคาดไว้เดิมที่ 3 ครั้ง เป็น 3-4 ครั้งในปี 2018 นักลงทุนจึงลดความเสี่ยงในตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ หนุนให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯระยะ 10 ปีปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจาก 2.71% สู่ 2.96% จึงเกิดการขายทำกำไรในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทำให้ S&P500 ปรับตัวลงจากจุดสูงสุดสู่จุดต่ำสุดราว -10% และทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับฐานลงตามสู่ระดับ 1,758 จุด แต่จากภาพรวมของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตที่ดีในปี 2561 ทำให้การปรับตัวลงของตลาดหุ้นเป็นการปรับตัวลงในระยะสั้นเท่านั้น

พื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังคงแข็งแกรง และมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี แม้ว่า GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 2560 ของไทยเติบโต 0.5% QoQ และ 4.0% YoY ซึ่งต่ำกว่าคาดเล็กน้อย เนื่องจากการชะลอตัวของการลงทุนภาครัฐฯและการเพิ่มขึ้นของการนำเข้า อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยปี 2560 ยังเติบโตได้ 3.9% ซึ่งเป็นไปตามคาดและเป็นระดับการเติบโตที่สูงที่สุดตั้งแต่ปี 2555 เงินเฟ้อทั่วไปยังคงอยู่ที่ระดับต่ำเพียง 0.7% และส่งออกขยายตัวได้ดีที่ระดับ 9.7% สำหรับปี 2561 สภาพัฒน์ฯคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ 3.6% – 4.6% โดยคาดการเติบโตของการส่งออกที่ 6.8% การบริโภคภาคเอกชนที่ 3.2% และการลงทุนรวมที่ 5.5% ล่าสุดตัวเลขส่งออกของไทยในเดือนมกราคมเติบโต 17.6% YoY สูงสุดในรอบ 62 เดือน ในภาพรวม การส่งออกที่กลับมาเติบโตอย่างต่อเนื่อง การท่องเที่ยวที่แข็งแกร่ง การลงทุนภาครัฐฯที่จะทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงโครงการ EEC ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนตลาดหุ้น โดยล่าสุด ร่าง พ.ร.บ. เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือกฎหมาย EEC ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 PTT ได้ประกาศผลการดำเนินงานสำหรับปี 2560 ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์รวมถึงได้ประกาศแตกพาร์ โดยตั้งแต่สิ้นวันที่ 20 กุมภาพันธ์จนถึงสิ้นเดือน ราคาหุ้น PTT ได้ปรับตัวขึ้นเกือบ 16% และเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดัน SET Index โดยรวมให้ปรับตัวขึ้น

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2561 SET Index ปิดที่ 1,830.13 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 0.18% โดยหุ้นกลุ่มหลักที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุด ได้แก่ กลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค +5.1%, กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ +4.1% และกลุ่มพาณิชย์ +3.0% ในขณะที่หุ้นกลุ่มหลักที่ปรับตัวลงมากที่สุดในช่วงเวลาเดียวกัน ได้แก่ กลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง -13.4%, กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -8.4% และกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม -6.8% ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 41,382 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิ 834 ล้านบาท

บลจ.ทาลิส ยังคาดว่าในปี 2561 ตลาดหุ้นยังมีแนวโน้มแกว่งตัวในทิศทางขาขึ้นได้ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะเติบโตดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่ขยายตัวแต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการค้าการลงทุน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนมากขึ้น นอกจากนี้ ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนยังมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น ในขณะที่สภาพคล่องในระบบการเงินและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำยังเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้นักลงทุนยังคงสนใจเข้าลงทุนในตลาดหุ้น

ในด้านของความเสี่ยงนั้น การแข็งค่าของค่าเงินบาท การปรับตัวขึ้นของ bond yield และการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ต้องจับตามอง

บลจ.ทาลิส จัดสัมมนาให้ความรู้ลูกค้ากองทุนส่วนบุคคล

นายฉัตรพี ตันติเฉลิม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซ้าย) และนายประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน (ขวา) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทาลิส จำกัด จัดงานสัมมนาแนวโน้มเศรษฐกิจและโอกาสการลงทุนในอนาคต ในหัวข้อ “กลยุทธ์การจัดพอร์ตการลงทุนปี 2561” และ “ผลกระทบจากมาตรฐานบัญชีใหม่ปี 2562 กับการลงทุน” ให้กับลูกค้ากองทุนส่วนบุคคล