บลจ.ทาลิส ได้รับความวางใจบริหารกองทุนส่วนบุคคล มสธ.

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ลงนามในสัญญาแต่งตั้งให้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทาลิส จำกัด (บลจ.ทาลิส) เป็นผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคลเพื่อนำเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยไปหาผลประโยชน์

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – กุมภาพันธ์ 2562

ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) มีมติเป็นเอกฉันท์ (9-0) คงนโยบายการเงินเดิมและอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.75% ตามที่ตลาดคาด โดยแถลงการณ์หลังการประชุมระบุความเสี่ยงจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศได้เพิ่มสูงขึ้น ทั้งความไม่แน่นอนของ Brexit และเศรษฐกิจโลกที่ส่งสัญญาณชะลอลงมากกว่าที่คาดไว้ในตอนแรก โดยเฉพาะเศรษฐกิจยูโรโซน ส่งผลให้ BoE ปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้ลงมากเป็น 1.2% YoY จาก 1.7% YoY ในประมาณการครั้งก่อนในเดือน พ.ย. 2018 ทางด้านเงินเฟ้อ BoE ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อปีนี้ลงเล็กน้อย เป็น 2.0% YoY โดยมองว่าเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% ในระยะใกล้ตามการปรับลดลงของราคาน้ำมัน ก่อนที่จะทยอยปรับขึ้นเกินเป้าหมายในช่วงที่เหลือของปี ทั้งนี้ คณะกรรมการยังคงระบุว่าหากพัฒนาการทางเศรษฐกิจเป็นไปตามที่ประเมินไว้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็มีความจำเป็นเพื่อให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% นอกจากนี้ นาย Mark Carney ผู้ว่า BoE กล่าวว่าความไม่แน่นอนของ Brexit ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมาก ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และมองความเสี่ยงที่อังกฤษจะแยกตัวออกจาก EU ไปแบบไร้ข้อตกลงเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งนาย Carney ได้กล่าวเตือนว่า เศรษฐกิจอังกฤษยังไม่พร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวอันจะส่งผลให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession)

ด้านตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของไทย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงาน GDP 4Q18 ขยายตัว +3.7% YoY ใกล้เคียงกับที่ตลาดคาด (+3.6% ตลาด, +3.2% ไตรมาสก่อน) จากอุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัวได้ดี ในขณะที่การส่งออกสินค้าและบริการกลับมาขยายตัวเล็กน้อยหลังจากหดตัวในไตรมาสก่อน ส่งผลให้ทั้งปี 2018 GDP ขยายตัว +4.1% YoY (+4.0% ปี 2017) อุปสงค์ในประเทศขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งนำโดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัว +5.3% YoY (+5.2% ไตรมาสก่อน) และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องที่ +5.5% YoY (+3.8% ไตรมาสก่อน) การส่งออกสินค้าและบริการกลับมาขยายตัว +0.6% YoY หลังจากการหดตัวในไตรมาสก่อนที่หดตัว -0.9% YoY ตามการฟื้นตัวของภาคการส่งออกสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติของประเทศคู่ค้าในไตรมาสก่อน รวมทั้งการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ในขณะที่การนำเข้าสินค้าและบริการชะลอตัวลงที่ +5.6% YoY (+11.0% ไตรมาสก่อน) สศช. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2562 จะขยายตัวได้ 3.5%–4.5% โดยมีแรงสนับสนุนจากการบริโภคภายในประเทศ การปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของการลงทุนภาคเอกชน และการลงทุนภาครัฐ

ทางด้านคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย (กนง.) มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 4 ต่อ 2 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องตามแรงส่งของอุปสงค์ในประเทศ แม้อุปสงค์ต่างประเทศชะลอลง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มลดลงตามราคาน้ำมัน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทยอยปรับสูงขึ้นใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลงเป็นสำคัญ โดยค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในทิศทางเดียวกับสกุลเงินของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และสกุลเงินในภูมิภาค ในระยะข้างหน้า อัตราแลกเปลี่ยนยังมีแนวโน้มผันผวนจากความไม่แน่นอนในต่างประเทศ คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด

สำหรับตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้นเพียง 158 ล้านบาท แต่ขายสุทธิพันธบัตรระยะยาว 2.9 พันล้านบาท เมื่อรวมกับพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้วเป็นการถือครองลดลงประมาณ 14.33 พันล้านบาท ทางด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้น ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงนัก แต่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวโดยเฉพาะรุ่นอายุ 5-10 ปีขึ้นไปกลับปรับเพิ่มขึ้น 0.07-0.09% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรุ่นอายุยาวมาก เช่น รุ่นอายุ 48 ปีที่มีการประมูลในช่วงกลางเดือน ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเฉพาะกลุ่ม อัตราผลตอบแทนจากการประมูลจึงต่ำกว่า Indicative Yield ของวันก่อนหน้าการประมูล และทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรุ่นใกใล้เคียงปรับลดลงตามด้วย

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดหุ้นไทย – มกราคม 2562

ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา SET Index ปรับตัวขึ้น +4.39% จากสิ้นเดือนธันวาคม 2561 จากปัจจัยบวกภายในประเทศ ได้แก่ การเมืองไทยที่เริ่มมีความชัดเจนขึ้น และปัจจัยจากต่างประเทศ เช่น ราคาน้ำมันดิบฟื้นตัว สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น และการส่งสัญญาณการชะลอการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ FED

SET Index เคลื่อนไหวในทิศทางขาขึ้นตั้งแต่ต้นปี โดยได้รับแรงสนับสนุนจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นจากระดับประมาณ 45 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 52 - 54 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในช่วงเดือนมกราคม ส่งผลให้หุ้นในกลุ่มน้ำมันปรับตัวขึ้น ประกอบกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ โดยกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 24 มีนาคม 2562 ทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ผลักดันให้ดัชนีปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจนถึงช่วงปลายเดือน

สำหรับด้านต่างประเทศ ทางฝั่งของสหรัฐฯ ได้ยุติการปิดทำการชั่วคราวของหน่วยราชการบางส่วน หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยินยอมลงนามในร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราว เพื่อให้หน่วยงานของรัฐบาลกลับมาเปิดดำเนินงานและมีงบประมาณบริหารงานได้จนถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 นอกจากนี้ ในวันที่ 30 มกราคม 2562 ธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย พร้อมกับส่งสัญญาณชะลอขึ้นดอกเบี้ย และอาจจะยุติการลดขนาดของงบดุลในไม่ช้า ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณการใช้นโยบายการเงินในเชิงผ่อนคลายมากขึ้น ส่งผลให้การลงทุนทั่วโลกเข้าสู่ภาวะชอบความเสี่ยงมากขึ้น และส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกรวมทั้งตลาดไทยปรับตัวขึ้น กระแส Fund Flows เริ่มกลับเข้ามาลงทุนในตลาดไทยและดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังเกินดุล ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงปลายเดือน ซึ่งเป็นระดับที่แข็งค่าที่สุดในรอบ 9 เดือน

ความคืบหน้าของการเจรจาการค้าของสหรัฐฯ และจีน เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น โดยจีนเตรียมที่จะนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ จำนวน 5 ล้านตัน ซึ่งเป็น 2 เท่าของจำนวนที่นำเข้าในเดือนธันวาคม 2561 และทางผู้นำของจีนและสหรัฐฯ จะมีการเจรจากันเพิ่มเติมในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งตลาดเริ่มมีความหวังว่าทั้งสองประเทศนี้ จะสามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้ากันได้ภายในวันที่ 1 มีนาคม 2562 ซึ่งจะเป็นผลดีต่อตลาดหุ้นในระยะต่อไป

ส่วนในฝั่งยุโรป ผลการลงมติต่อร่าง Brexit ฉบับแก้ไข มีมติเห็นชอบไม่ให้สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีข้อตกลง (Hard Exit) และให้นางเทเรซ่า เมย์ เจรจากับสหภาพยุโรปเรื่องข้อตกลงพรมแดนไอร์แลนด์เหนือและไอร์แลนด์อีกครั้ง (Irish Backstop) ซึ่งกระบวนการหลังจากนี้ นางเมย์จะปรับปรุงร่างข้อตกลง Brexit ฉบับใหม่ และมีโอกาสสูงที่จะได้รับความเห็นชอบ เนื่องจากทราบความต้องการของรัฐสภาอย่างแน่ชัดแล้ว ทำให้ความกังวลเรื่องนี้ลดลงไป และการที่ประเด็น Brexit ยังอยู่ในกรอบเวลา ทำให้ค่อนข้างเป็นปัจจัยที่เป็นกลางต่อตลาด

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนมกราคม 2562 SET Index ได้ปิดที่ 1,641.73 จุด ปรับตัวขึ้นจากระดับ 1,563.88 จุด หรือประมาณ +4.39% จากสิ้นเดือนธันวาคม 2561 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด ได้แก่ กลุ่มธุรกิจการเกษตร +9.0% กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม +8.9% และกลุ่มพาณิชย์ +7.7% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -6.1% กลุ่มการแพทย์ -1.8% และกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ +1.2% ในเดือนมกราคมนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นไทยสุทธิ 6,722 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนสถาบันในประเทศมียอดซื้อสุทธิ 10,031 ล้านบาท

สำหรับแนวโน้มของ SET Index ในระยะต่อไปนั้น คาดว่ายังคงมีทิศทางค่อยๆ ปรับตัวขึ้น และอาจมีแรงขายทำกำไรบ้างหลังการประกาศผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน และช่วงใกล้วันเลือกตั้งในเดือนมีนาคม แม้ว่าตลาดจะปรับตัวขึ้นมาพอสมควร แต่หากดู Valuation แล้ว ณ ระดับปัจจุบัน ค่าพีอีของ SET Index ในปี 2019 ที่ระดับ 14.8 เท่า ยังอยู่ในกรอบค่าพีอีที่ทางบลจ.ทาลิส ประเมินไว้ในช่วง 13.5 – 16 เท่า หรือ SET Index มีโอกาสจะปรับตัวขึ้นได้ถึงบริเวณ 1,840 จุด โดยกองทุนยังคงเน้นการลงทุนระยะยาวในหุ้นที่มีผลประกอบการดี มีอัตราการเติบโตสูง และมีมูลค่าเหมาะสม

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – มกราคม 2562

ในเดือนนี้มีทั้งเหตุการณ์ทางการเมืองและการประชุมนโยบายการเงินที่ส่งผลกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุน เช่น ที่ประเทศอังกฤษ รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี Theresa May รอดพ้นมติไม่ไว้วางใจ หลังจากที่ในวันก่อนหน้า ข้อตกลง Brexit ของรัฐบาลโหวตไม่ผ่านความเห็นชอบในสภาด้วยเสียงต่างที่มากเป็นประวัติการณ์ (432-202 เสียง) ส่งผลให้แกนนำฝ่ายค้านเปิดมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยนายกฯ กล่าวว่าจะเร่งเดินหน้าหารือกับสภาเพื่อทำการแก้ไขข้อตกลง Brexit ให้เป็นไปตามความต้องการของเสียงส่วนใหญ่ ต่อมาในช่วงปลายเดือน สภาอังกฤษได้มีการอภิปรายและโหวตแนวทางการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป ซึ่งสภาได้โหวตไม่เห็นชอบการเลื่อนใช้มาตรา 50 (เพื่อออกจาก EU อย่างเป็นทางการ) ออกไปจากกำหนดวันที่ 29 มี.ค. นี้ แต่ได้โหวตเห็นชอบให้นายกฯ นำข้อตกลง Brexit เดิมกลับไปเจรจากับ EU อีกครั้ง เพื่อหามาตรการอื่นมาทดแทนมาตรการ “Backstop” ทั้งนี้ มาตรการ Backstop ได้กำหนดขึ้นมาในข้อตกลง Brexit เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงตามพรมแดนระหว่างประเทศสาธารณรัฐไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งเป็นประเทศสมาชิก EU และไอร์แลนด์เหนือซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร (UK) เพื่อสร้างความมั่นใจว่า แม้ในกรณีที่อังกฤษและ EU ไม่สามารถสรุปข้อตกลงทางการค้าได้ทันในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition period; 30 มี.ค. 2019-31 ธ.ค. 2020) บริเวณพรมแดนดังกล่าวจะไม่มีการตั้งด่านระหว่างกันขึ้น

ทางด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงนโยบายการเงินเดิมตามคาด และยังคงย้ำว่าอัตราดอกเบี้ย (Refinancing rate ที่ 0.0% และ Deposit facility rate ที่ -0.4%) จะคงอยู่ในระดับต่ำยาวไปจนถึงไตรมาส 3/2019 เป็นอย่างน้อย โดยประธาน ECB ได้กล่าวว่าตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมา ต่ำกว่าที่คาดค่อนข้างมาก อันเป็นผลจากทั้งอุปสงค์ภายนอกที่อ่อนแอลงและความเสี่ยงเฉพาะในบางประเทศและบางอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ความเสี่ยงจากนโยบายกีดกันการค้าได้ส่งผลกดดันความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี สภาวะทางการเงินที่ผ่อนคลาย ตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง และอัตราค่าจ้างที่เร่งตัว จะยังหนุนให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% ได้ในระยะกลาง

ที่ประเทศสหรัฐฯ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) มีมติเป็นเอกฉันท์ (10-0) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.25-2.50% ตามที่คาด และส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยชัดเจน โดยระบุว่าจะรอประเมินพัฒนาการทางเศรษฐกิจ ตลาดการเงิน รวมถึงเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าก่อนที่จะตัดสินใจปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนโยบายและนโยบายด้านงบดุล นอกจากนี้ Fed ยังระบุว่าพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนขนาดและสัดส่วนสินทรัพย์ต่างๆ ในงบดุล ในกรณีที่เศรษฐกิจชะลอลงมากกว่าที่คาดและส่งผลให้การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ นาย Jerome Powell ประธาน Fed กล่าวหลังการประชุมว่าแม้ตอนนี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะยังคงแข็งแกร่ง แต่เศรษฐกิจจีนและยุโรปที่ชะลอลง ความไม่แน่นอนของ Brexit การเจรจาการค้า รวมถึง Government Shutdown ที่กินระยะเวลา 5 สัปดาห์ ก็ได้ส่งผลให้สภาวะทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้ามีความไม่แน่นอน ซึ่งนาย Powell กล่าวว่า ควรรอให้สภาวะเศรษฐกิจในระยะข้างหน้ามีความชัดเจนมากขึ้นก่อน ด้านการปรับลดขนาดงบดุล นาย Powell กล่าวว่าการลดขนาดงบดุลอาจสิ้นสุดเร็วกว่าที่คาด โดยที่งบดุลจะมีขนาดใหญ่กว่าที่เคยประเมินไว้ในตอนแรก เพื่อหนุนสภาพคล่องในตลาดการเงิน

สำหรับตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 20.47 พันล้านบาท แต่ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 13.03 พันล้านบาท เมื่อรวมกับพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้วเป็นการถือครองลดลงประมาณ 7.88 พันล้านบาท ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปีมีทิศทางปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งเดือนหลัง ผลการประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย อัตราผลตอบแทนปรับขึ้นมาแตะระดับที่ใกล้เคียงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.75% โดยอัตราผลตอบแทนจากประมูลรุ่นอายุ 14 วันอยู่ระหว่าง 1.65-1.75% เฉลี่ย 1.71149%, รุ่นอายุ 91 วันอยู่ระหว่าง 1.72-1.74% เฉลี่ย 1.73557% และรุ่นอายุ 182 วันอยู่ระหว่าง 1.74-1.7760% เฉลี่ย 1.75736% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวกลับปรับลดลง 0.01-0.08% ตามทิศทางตลาดต่างประเทศที่มีการปรับเปลี่ยนมุมมองการขึ้นดอกเบี้ยว่ามีโอกาสลดลง ตลอดจนความกังวลว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะไม่เป็นไปตามคาด

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดหุ้นไทย – ธันวาคม 2561

ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา SET Index ปรับตัวลง -4.7% จากสิ้นเดือนพฤศจิกายน โดยได้รับแรงกดดันหลักจากปัจจัยลบจากต่างประเทศ ได้แก่ พัฒนาการด้านสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ราคาน้ำมันดิบตกต่ำ และการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ FED ส่วนปัจจัยภายในที่กดดันตลาดคือ การขึ้นดอกเบี้ยของกนง.

SET Index ปรับตัวขึ้นในช่วงต้นเดือนไปทดสอบแนวต้านที่ 1,680 จุด จากข่าวการเจรจาการค้าสหรัฐฯ และจีน ที่ประกาศสงบศึกการค้า 90 วันนับจากต้นเดือนธันวาคม 2561 ส่งผลให้เส้นตายการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนจาก 10% เป็น 25% มูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐถูกเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 1 มีนาคม 2562 และในช่วงตลอดเดือนธันวาคม ก็มีพัฒนาการเชิงบวก โดยเฉพาะจากทางฝั่งจีน ที่มีการส่งสัญญาณลดภาษีนำเข้ารถยนต์สหรัฐฯ และจะมีการนำเข้าถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมจากสหรัฐอีกครั้ง

หลังจากสัปดาห์แรกของเดือน SET Index ปรับตัวลงตลอดจนถึงสิ้นเดือน พร้อมกับการพักฐานของตลาดหุ้นทั่วโลก จากปัจจัยข่าวร้ายที่ถาโถมมาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การจับกุม CFO ของ Huawei ที่สร้างความกังวลให้กับตลาดหุ้น เนื่องจากเกรงว่าจะบานปลายไปกระทบการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน อีกทั้งยังมีความเสี่ยงด้านการเมืองในสหรัฐฯ ว่าจะเกิด Government Shutdown หลังจากสภาฯไม่อนุมัติร่างงบประมาณสร้างกำแพงกั้นชายแดนเม็กซิโกตามความต้องการของประธานาธิบดี Trump และในฝั่งยุโรปเอง ก็มีความเสี่ยงจากการเลื่อนการพิจารณาร่าง Brexit ของรัฐสภาอังกฤษ

นอกจากนี้ ในการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) เดือนธันวาคม มีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นตามคาด มาอยู่ที่ 2.5% แต่โทนการประชุมมีแนวโน้มที่จะชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยลง จากเดิม 3 ครั้งในปี 2019 เหลือเพียง 2 ครั้ง ถือเป็นปัจจัยบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยง ส่วนในฝั่งของไทย กนง. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 7 ปีสู่ระดับ 1.75% พร้อมกับปรับลดการคาดการณ์ GDP ปี 2018 ลงเหลือ 4.2% และปี 2019 ลงเหลือ 4% จากการชะลอตัวของภาคการส่งออก แต่ยังประเมินว่าเศรษฐกิจภายในประเทศยังแข็งแกร่ง รวมทั้งการบริโภคยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง

สำหรับปัจจัยด้านราคาน้ำมันนั้น ยังคงไม่ฟื้นตัวจากเดือนพฤศจิกายน เนื่องจากความกังวลเรื่องเศรษฐกิจโลกชะลอตัว กอปรกับปัญหาด้านอุปทานที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังกำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ แซงหน้ารัสเซียกลายเป็นอันดับหนึ่งของโลก ยิ่งไปกว่านั้น หลัง PTTEP ชนะการประมูลแหล่งบงกชและเอราวัณตามตลาดคาด แต่ราคาที่เสนอต่ำกว่าคาดมาก ทำให้ตลาดเชื่อว่าความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจะลดลง ทำให้ราคาหุ้นลดลงแรงและกดดัน SET Index มาอยู่ระดับต่ำกว่า 1,600 จุด และเคลื่อนไหวในกรอบ 1,550 – 1,600 จนสิ้นปี

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนธันวาคม 2561 SET Index ได้ปิดที่ 1,563.88 จุด ปรับตัวลงจากระดับ 1,641.08 จุด หรือประมาณ -4.7% จากสิ้นเดือนพฤศจิกายน โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด ได้แก่ กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ +1.1% กลุ่มพาณิชย์ -1.8% และกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -2.4% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มธุรกิจการเกษตร -12.5% กลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง -9.3% และกลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต -7.6% ในเดือนธันวาคมนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 293 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนสถาบันในประเทศมียอดซื้อสุทธิ 5,671 ล้านบาท

สำหรับการลงทุนในปี 2018 ที่ผ่านมา แม้ว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียนไทยจะยังเติบโตได้ดี โดยคาดว่าจะเติบโตสูงถึง 13% เมื่อเทียบกับปี 2017 ซึ่งน่าจะผลักดันให้ SET Index มีการปรับตัวขึ้นในทางเดียวกันกับกำไรของบริษัทจดทะเบียน อย่างไรก็ตาม ปัจจัยจากต่างประเทศกลับเข้ามามีบทบาทต่อการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยค่อนข้างมาก เช่น ประเด็นเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ FED ภาวะหนี้ของประเทศในกลุ่มอียู เงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ไปยังตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งทำให้สกุลเงินของประเทศเกิดใหม่อ่อนค่าลง และการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ทำให้ตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวผันผวนมากตามปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะราคาหุ้นในกลุ่มขนาดกลาง-เล็ก ที่หลาย ๆ บริษัทปรับลดลงกว่า 50% ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน

สำหรับทิศทางการเคลื่อนไหวของ SET Index ในปี 2019 นั้น ปัจจัยหลักภายในประเทศที่ต้องติดตามคือผลการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นในช่วงต้นปี ซึ่งในสถานการณ์ปรกติ ตลาดหุ้นมักจะปรับตัวขึ้นก่อนการเลือกตั้ง หรือที่เรียกกันว่า “Election Rally” แต่ในรอบนี้ นักลงทุนไทยและต่างชาติจะเฝ้ารอผลการเลือกตั้ง เพื่อพิจารณาถึงความมีสเถียรภาพของรัฐบาลชุดใหม่และความต่อเนื่องของนโยบายและแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ในขณะที่ปัจจัยต่างประเทศหลักที่ต้องติดตามคือสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน และการนโยบายการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและการบริหารสภาพคล่องของ FED ซึ่งหากปัจจัยต่าง ๆ มีการคลี่คลายไปในทิศทางที่ดี ก็เชื่อว่านักลงทุนจะกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นอีกครั้ง หลังจากการขายและถือเงินสดมากขึ้นในปี 2018 ทั้งนี้ บลจ.ทาลิสคาดว่า SET Index น่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบค่าพีอีประมาณ 13.5 – 16 เท่า หรือคิดเป็นดัชนีอยู่ในช่วง 1,550 – 1,840 จุด ซึ่ง ณ ระดับดัชนีที่ต่ำกว่า 1,600 จุด คิดเป็นค่าพีอีตลาดเพียง 13.9 เท่า จึงเป็นระดับที่น่าสนใจเข้าลงทุนในหุ้นสำหรับการลงทุนในระยะยาว

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – ธันวาคม 2561

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศจะยุติมาตรการ QE ภายในปี 2018 ตามที่ตลาดคาด หลังจากดำเนินมาตรการนี้มาเป็นระยะเวลาเกือบ 4 ปี คิดเป็นมูลค่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดย ECB จะยังทำการลงทุนต่อในพันธบัตรที่ครบกำหนดอายุ (Reinvestment) ยาวไปจนกว่าจะทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกเป็นอย่างน้อย (ประมาณ 12 เดือน) เพื่อรักษาสภาพคล่องในระบบและเพื่อให้นโยบายการเงินยังมีความผ่อนคลายช่วยหนุนเศรษฐกิจ ก่อนที่จะทำการลดขนาดงบดุลลง ด้านอัตราดอกเบี้ย ECB ยังคงย้ำอัตราดอกเบี้ย (Refinancing rate ที่ 0.0% และ Deposit facility rate ที่ -0.4%) จะคงอยู่ที่ระดับต่ำนี้ยาวไปจนถึงไตรมาส 3/2019 เป็นอย่างน้อย หรือจนกว่าจะมั่นใจว่าเงินเฟ้อจะขยายตัวใกล้เป้าหมายที่ 2% ได้อย่างยั่งยืนในระยะกลาง โดยขณะนี้ตลาดได้ชะลอคาดการณ์การปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกของ ECB ออกไปเป็นในไตรมาส 1 ปี 2020 ทางด้านเศรษฐกิจ ประธาน ECB กล่าวว่าความเสี่ยงมีเพิ่มมากขึ้นทั้งจากปัญหาการเมือง นโยบายกีดกันการค้า และความผันผวนในตลาดเงิน จึงปรับลดประมาณการ GDP ปีนี้และปีหน้าลง เป็น 1.9% และ 1.7% ตามลำดับ แต่มองว่าอุปสงค์ในประเทศยังแข็งแกร่ง โดยเฉพาะการบริโภคเอกชนที่ได้รับปัจจัยหนุนจากตลาดแรงงานที่ตึงตัวช่วยหนุนให้อัตราค่าจ้างเร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง

ทางด้านคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีมติ 8-0 ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 25bps เป็น 2.25-2.50% ตามที่ตลาดคาดการณ์ อย่างไรก็ดี FED ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้ลงเป็น 3.0% (จาก 3.1%) และปี 2019 ปรับลงเป็น 2.3% (จาก 2.5%) แต่คงคาดการณ์ปี 2020 ไว้ที่ 2.0% และปี 2021 ที่ 1.8% ทางด้านเงินเฟ้อ ได้ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อ Core PCE ปีนี้ลงเป็น 1.9% (จาก 2.0%) และปี 2019-2021 ลงเป็น 2.0% (จาก 2.1%) นอกจากนี้ FED ยังได้ปรับลดคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยระยะยาวลง 0.20% เป็น 2.8% ซึ่งสอดคล้องกับคำกล่าวของนาย Jerome Powell ประธาน FED ในช่วงปลายเดือน พ.ย. ที่ผ่านมาว่าอัตราดอกเบี้ยเริ่มเข้าใกล้ระดับปกติ การปรับลดประมาณการเศรษฐกิจของ FED ในครั้งนี้ เป็นเพียงการปรับลดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดย FED ยังคงมองภาพรวมเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง และย้ำว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยในระยะข้างหน้าจะดูจากตัวเลขเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

ในขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี เป็นร้อยละ 1.75% ต่อปี โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามแรงส่งของอุปสงค์ในประเทศ แม้ว่าภาคต่างประเทศจะชะลอลง กรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินและสร้างความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy space) กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2019 มีแนวโน้มชะลอลงเป็น +4.0% yoy จากที่คาดว่าจะขยายตัว +4.2% ในปีนี้ โดยมีปัจจัยฉุดที่สำคัญจากภาคต่างประเทศเป็นหลัก อย่างไรก็ดี อุปสงค์ในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ซึ่งจะมีส่วนช่วยชดเชยภาคต่างประเทศที่ชะลอลง ทางด้านการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อรายเดือน อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) เดือน พ.ย. ชะลอตัวลงเป็น +0.94% yoy จาก +1.23% yoy ในเดือนก่อน และต่ำกว่าตลาดคาดไว้ที่ +1.03% yoy ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ชะลอตัวลงเป็น +0.69% yoy จาก +0.95% yoy ในเดือนก่อน

ตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้มีทิศทางปรับตัวลงตลอดทุกช่วงอายุ ยกเว้นพันธบัตรระยะสั้นที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปีที่อัตราผลตอบแทนกลับปรับเพิ่มขึ้นหลังจากทราบผลการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบ 7 ปี โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของไทยปรับตัวลดลงตามทิศทางตลาดสหรัฐฯ ที่ในเดือนนี้มีความกังวลในหลายเรื่องทั้งปัญหาทางการเมืองภายในประเทศ ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศ มุมมองการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลง รวมถึงความเป็นไปได้ที่ FED จะปรับขึ้นดอกเบี้ยน้อยลงกว่าแผนเดิม ทำให้ 10-Year US Treasury Yield ปิดสิ้นปีที่ 2.72% เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 32 bps โดยสรุปตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ ในปีนี้ปรับเพิ่มขึ้น 30-111 bps ในขณะที่ตลาดพันธบัตรของไทยปรับเพิ่มขึ้น 16-42 bps ยกเว้นรุ่นอายุ 10 ปี เป็นช่วงอายุเดียวที่ปรับลดลงจากปีก่อนหน้า ปิดสิ้นปีที่ 2.51% ลดลง 3 bps ในเดือนธันวาคมนักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิ แบ่งเป็นการขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 1.11 หมื่นล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 1.58 หมื่นล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว นักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทยประมาณ 9.86 แสนล้าน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 1.34 แสนล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ