ภาวะตลาดหุ้นไทย – พฤศจิกายน 2561

ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา SET Index ได้ปรับตัวลง -1.64% จากสิ้นเดือนตุลาคม ซึ่งมีหลายปัจจัยกดดันตลาดด้วยกัน ทั้งปัจจัยภายนอก ได้แก่ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงแรง ประเด็นการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน และสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยของ FED และปัจจัยภายใน ได้แก่ การประกาศตัวเลข GDP ไตรมาส 3 ของไทยที่ออกมาต่ำกว่าคาดมาก

SET Index แกว่งตัวอยู่บริเวณระดับ 1,650-1,670 จุดในช่วงสองสัปดาห์แรกของเดือน ซึ่งเป็นช่วงที่บริษัทจดทะเบียนประกาศผลประกอบการไตรมาส 3 โดยกำไรรวมของบริษัททั้งหมดอยู่ที่ 2.57 แสนล้านบาท (+21% YoY และ +2% QoQ) โดยกลุ่มธุรกิจที่มีกำไรจากการดำเนินงานปกติเติบโตจากปีที่แล้วค่อนข้างมาก ได้แก่ กลุ่มบันเทิง กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง และกลุ่มพลังงาน และกลุ่มปิโตรเคมีภัณฑ์ ส่วนกลุ่มที่มีการเติบโตต่ำหรือหดตัวแรง ได้แก่ กลุ่มขนส่งทางอากาศ กลุ่มพัฒนานิคมอุตสาหกรรม และกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กำไรบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดรวมกัน 9 เดือน คิดเป็น 73% ของประมาณการกำไรสุทธิของปี 2018 ทั้งปี ซึ่งยังอยู่ในกรอบที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ทำให้ตลาดหุ้นตอบสนองไม่มากนักกับผลประกอบการในไตรมาสนี้

ต่อมา วันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 มีการประกาศตัวเลข GDP ของไทยในไตรมาส 3 อยู่ที่ขยายตัว 3.3% YoY ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขที่คาดการณ์ไว้ที่ 4.2% และชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่เติบโต 4.6% YoY นับเป็นการขยายตัวต่ำที่สุดในรอบ 7 ไตรมาส โดยปัจจัยกดดันหลักมาจากภาคการส่งออกของสินค้าไทย ที่ได้รับผลกระทบบางส่วนจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน และการชะลอตัวลงของภาคการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวจีนที่มีจำนวนลดลงจากปีที่แล้วค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนยังเติบโตได้ดีจากยอดขายรถยนต์ และการลงทุนโดยรวมยังขยายตัว ซึ่งจากตัวเลขภาวะเศรษฐกิจไทยล่าสุดที่รายงานโดยธนาคารแห่งประเทศไทยในเดือนตุลาคม พบว่าการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนเริ่มกลับมาขยายตัวอีกครั้ง ในขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงหดตัว

ในด้านต่างประเทศ สหรัฐฯ มีการจัดการเลือกตั้งกลางเทอม ซึ่งผลการเลือกตั้งออกมาว่า พรรคเดโมแครตชนะและครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ส่วนพรรครีพับลีกันยังคงเสียงข้างมากในวุฒิสภา ทำให้แนวโน้มต่อจากนี้ไป การผ่านกฎหมายหรือนโยบายทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะทำได้ยากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาด ทำให้ส่งผล Sentiment เชิงบวกต่อตลาดหุ้นในเอเชียเล็กน้อย นอกจากนี้ ตลาดยังคงรอผลการเจรจาของสหรัฐฯ และจีนจากการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์และประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง จะพบกันในการประชุม G20 ในต้นเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ หากพบว่าสหรัฐฯ และจีนมีแนวโน้มเจรจากันได้และมีการผ่อนปรนการเก็บภาษี ข่าวนี้จะส่งบวกต่อตลาดหุ้นทั่วโลก

อีกปัจจัยหนึ่งที่กดดันตลาดคือ ราคาน้ำมันดิบ ที่ยังอ่อนตัวลงต่อเนื่องจากเดือนตุลาคม โดยราคาน้ำมันดิบ Brent ปรับตัวลดลงจากระดับกว่า 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในช่วงต้นเดือนมาสู่ระดับ 59 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในปลายเดือน ด้วยความกังวลต่อภาวะอุปทานน้ำมันดิบส่วนเกิน จากตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสหรัฐฯ มีการผ่อนปรนการคว่ำบาตรอิหร่าน โดยยังคงให้ 8 ประเทศสามารถนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านได้ นอกจากนี้ กำลังการผลิตของ OPEC ก็มีการปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 2 ปีเช่นกัน จากการเพิ่มการผลิตของซาอุดิอาระเบียและลิเบีย ราคาน้ำมันดิบจึงปรับตัวลงมาก กดดันตลาดหุ้นทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ทั้งนี้ ต้องติดตามความคืบหน้าในการหารือเรื่องการลดกำลังการผลิตในการประชุม OPEC ในเดือนธันวาคมนี้

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561 SET Index ได้ปิดที่ 1,641.80 จุด ปรับตัวลงจากระดับ 1,669.09 จุด หรือประมาณ -1.6% จากสิ้นเดือนตุลาคม โดยราคาหลักทรัพย์กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวขึ้นมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มธุรกิจการแพทย์ +2.42% กลุ่มขนส่ง +0.4% และกลุ่มธนาคารพาณิชย์ +0.0% ในขณะที่ราคาหลักทรัพย์กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลงแรงที่สุด ได้แก่ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ -7.4% กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสาร -5.1% และ กลุ่มธุรกิจการเกษตร -5.0% ในเดือนพฤศจิกายนนี้ นักลงทุนต่างชาติได้ขายหุ้นไทยสุทธิ 13,993 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศได้ทำการซื้อสุทธิ 14,677 ล้านบาท

บลจ. ทาลิสยังคงมุมมองแนวโน้มระยะกลางของตลาดหุ้นไทยว่ามีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบกว้างที่ 1,600-1,900 จุด โดยตลาดเริ่มซึมซับปัจจัยลบจากต่างประเทศไปมากแล้ว เช่น ข่าวสงครามการค้าและการลดลงของราคาน้ำมันดิบ เป็นต้น ในระยะต่อไป ปัจจัยภายในประเทศน่าจะเริ่มส่งผลต่อตลาดมากขึ้น ทั้งเรื่องผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไทยที่ยังเติบโตได้ดี ตัวเลข GDP ในไตรมาส 4 และแนวโน้มการเติบโตของ GDP ปีหน้า และเรื่องความคืบหน้าของการเลือกตั้ง ที่น่าจะเริ่มชัดเจนมากขึ้นในเดือนธันวาคม และหากการเลือกตั้งยังเป็นไปตามกำหนดการเดิม คือ 24 กุมภาพันธ์ 2562 น่าจะส่งผลบวกในแง่จิตวิทยาต่อตลาด และทำให้ SET Index ปรับตัวขึ้นได้อีกครั้ง

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – พฤศจิกายน 2561

ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.75% ตามที่ตลาดคาดการณ์ แถลงการณ์หลังการประชุมมีความกังวลถึงความเสี่ยงจากภายนอกที่เพิ่มขึ้นทั้งจากเศรษฐกิจยูโรโซนที่ชะลอลง สถานการณ์ทางการเงินของประเทศในกลุ่ม Emerging Market ที่ตึงตัวขึ้น และความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่จะกระทบเศรษฐกิจโลกในระยะสั้น ทั้งนี้ BOE ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ในปีนี้ลงเป็น 1.3% yoy (จากเดิม 1.4%) และปีหน้าลงเป็น 1.7% yoy (จากเดิม 1.8%) จากการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มอ่อนแอ ส่วนเงินเฟ้อได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ปีนี้ขึ้นเป็น 2.5% yoy (จากเดิม 2.3%) จากอัตราค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาด และปรับลดคาดการณ์ปีหน้าลงเป็น 2.1% yoy (จากเดิม 2.2%) จากการเสนอให้มีการตั้งเพดานราคากลุ่มพลังงานของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ส่วนกรณี Brexit ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ และมองว่าการแยกตัวออกจาก EU อย่างเป็นทางการของอังกฤษ สามารถส่งผลต่อแนวทางการเปลี่่ยนแปลงของดอกเบี้ยนโยบายได้ทั้งสองทาง ซึ่งจะขึ้นอยู่กับผลของการเจรจา Brexit และการตอบสนองของภาคเอกชน

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.00-2.25% ตามที่ตลาดคาด โดยยังคงมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะจากตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง ซึ่ง FED กล่าวถึงอัตราการว่างงานว่าได้ “ลดลง” จากเดิมที่กล่าวว่า “อยู่ในระดับต่ำ” (อัตราการว่างงานอยู่ที่ 3.7% ในเดือน ต.ค. ต่ำสุดในรอบ 49 ปี) อย่างไรก็ดี FED มองว่าการลงทุนเอกชนมีแนวโน้มชะลอตัวลง จากที่ขยายตัวแรงไปแล้วในช่วงครึ่งแรกของปี ในเดือนนี้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะสั้นปรับขึ้นเล็กน้อย ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 2 ปีขึ้นไปกลับลดลง จากความกังวลในหลายปัจจัย เช่น จากผลการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ที่พรรคเดโมแครตสามารถครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร จะทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์มีอุปสรรคในการผ่านนโยบายต่าง ๆ, ในช่วงปลายเดือนราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงแรงกว่า 6% สู่ระดับ 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งต่ำที่สุดในรอบปี จากความกังวลว่าตลาดน้ำมันดิบโลกจะเผชิญภาวะอุปทานส่วนเกินในปีหน้าเนื่องจากแนวโน้มการเติบโตของความต้องการบริโภคน้ำมันที่ลดลง ขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และการประชุม G20 ซึ่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ และจีนจะหารือเรื่องการค้าร่วมกัน ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าสหรัฐฯ จะยังเดินหน้าปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนกลุ่ม 2 แสนล้านดอลลาร์จาก 10% ขึ้นเป็น 25% ในปีหน้า

ในขณะที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย (กนง.) มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 4 ต่อ 3 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% เป็นครั้งที่ 28 ติดต่อกัน โดยกรรมการ 3 ท่านเห็นว่าควรขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากเศรษฐกิจมีความชัดเจนเพียงพอ และการใช้ดอกเบี้ยต่ำกว่าที่ควรเป็นเวลานานจะส่งผลให้ประชาชนและภาคธุรกิจประเมินความเสี่ยงของภาคการเงินต่ำไป นอกจากนี้ กนง. ยังคงมุมมองเชิงบวกกับเศรษฐกิจไทย คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับผ่อนคลายเพียงพอต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ทางด้านการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รายงาน GDP 3Q18 ขยายตัว +3.3% yoy ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาด (เทียบกับ +4.6% ไตรมาสก่อน) จากการส่งออกสินค้าและบริการที่หดตัว -0.1% yoy (เทียบกับ +6.8% ไตรมาสก่อน) ขณะที่การนำเข้าสินค้าและบริการขยายตัว +10.7% yoy (เทียบกับ +8.3% ไตรมาสก่อน) การส่งออกสินค้าหดตัว -0.2% yoy (เทียบกับ +7.4% ไตรมาสก่อน) จากผลกระทบจากสงครามการค้า ขณะที่การส่งออกบริการขยายตัว +0.2% yoy (เทียบกับ +4.9% ไตรมาสก่อน) จากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงจากเหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ตและนักท่องเที่ยวยุโรปที่ลดลงในช่วงเทศกาลฟุตบอลโลก

ทางด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย โดยรวมปรับลดลงในทุกช่วงอายุทั้งจากตลาดแรกและการซื้อขายในตลาดรอง การประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยในสัปดาห์สุดท้ายให้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยแต่ละประเภทดังนี้ 14 วัน ที่อัตรา 1.3035%, 3 เดือนที่อัตรา 1.4025% และ 6 เดือนที่อัตรา 1.5635% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับลดลงตามตลาดต่างประเทศ ในเดือนนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิต่อเนื่อง แบ่งเป็นการขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 3.6 พันล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 2.6 หมื่นล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว นักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทยประมาณ 9.86 แสนล้าน ซึ่งเป็นยอดถือครองสูงสุดในรอบปีนี้ หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 1.3 แสนล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดหุ้นไทย – ตุลาคม 2561

ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา SET Index ได้ปรับตัวลง 5.0% จากสิ้นเดือนกันยายน โดยตลาดหุ้นไทยได้รับแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกประเทศเป็นหลัก เช่น ความกังวลต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และประเด็นเรื่องสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบที่ได้อ่อนตัวลงในช่วงเดือนที่ผ่านมาก็ได้เป็นปัจจัยลบต่อบริษัทในกลุ่มพลังงาน ในขณะที่บริษัทในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ก็ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากมาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้วย

SET Index ได้เริ่มอ่อนตัวลงตั้งแต่สัปดาห์แรกของเดือนตุลาคม โดยปัจจัยหลักที่ได้กดดันตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นทั่วโลก ได้แก่ ความกังวลต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ภายหลังที่นาย Jerome Powell ประธาน Fed ได้ออกมากล่าวถึงแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่จะยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง ความกังวลต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ได้ถูกสะท้อนอยู่ในอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ขึ้นไปแตะระดับสูงสุดที่ 3.26% ในช่วงตันเดือนตุลาคม

นอกจากความกังวลต่อการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นของ Fed แล้ว ปัญหาสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ก็ได้เพิ่มความผันผวนต่อตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึง SET Index ด้วย โดยเกือบทุกข่าวและความเคลื่อนไหว รวมไปถึงข้อความจาก Twitter ของประธานาธิบดี Donald Trump ที่มีความเกี่ยวโยงกับการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ นั้นได้มีผลกระทบต่อตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยในวันที่ 30 ตุลาคม ทางการสหรัฐฯ ได้ออกมาประกาศว่าทางรัฐบาลอยู่ในกระบวนการร่างนโยบายภาษีที่จะมีผลใช้กับสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มเติมหากการหารือระหว่างประธานาธิบดี Donald Trump และประธานาธิบดี Xi Jingping ในการประชุม G20 ในวันที่ 30 พฤศจิกายนถึงวันที่ 1 ธันวาคมนี้ไม่ได้ข้อสรุปอะไร โดยนโยบายดังกล่าวอาจจะคลอบคลุมสินค้าจากจีนอีกมูลค่าประมาณ 257,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งหากรวมกับนโยบายภาษีที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้นำออกมาใช้แล้ว จะเท่ากับว่ามูลค่าสินค้าที่สหรัฐฯ นำเข้าจากจีนในปี 2017 จะถูกขึ้นภาษีทั้งหมด

อีกปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยได้แก่ราคาน้ำมันดิบ ซึ่งได้อ่อนตัวลงค่อนข้างมากในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยราคาน้ำมัน Brent และ WTI ได้ปรับตัวลง 8.8% และ 10.8% ตามลำดับ เนื่องจากปริมาณน้ำมันคงคลังของสหรัฐฯ มีจำนวนเพิ่มขึ้น บวกกับความไม่แน่นอนของมาตรการคว่ำบาตรที่สหรัฐฯ จะนำออกมาใช้กับอิหร่าน การอ่อนตัวลงของราคาน้ำมันดิบส่งผลให้ราคาหุ้นกลุ่มพลังงานอ่อนตัวลงกันส่วนใหญ่ โดยราคาหุ้นของกลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภคได้ร่วงลงถึง 6.2%

นอกเหนือจากปัจจัยภายนอกที่ได้กล่าวไปแล้ว SET Index ยังได้ถูกกดดันจากการอ่อนตัวของราคาหุ้นของบริษัทในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ โดยธุรกิจในกลุ่มนี้ได้รับปัจจัยลบจากความกังวลที่ ธปท. จะมีการปรับเกณฑ์ในการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยมาตรการหลัก ๆ ที่ได้มีการเสนอออกมาได้แก่ การรวมสินเชื่อ Top-Up ทุกประเภทในการคำนวณอัตราส่วนมูลค่าสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) และการปรับ LTV Limit สำหรับการกู้สัญญาที่ 2 ขึ้นไปหรืออสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่า 10 ล้านบาทขึ้นไป ให้เหลือ 80% โดยการเสนอมาตรการชุดนี้สร้างความกังวลต่อแนวโน้มของอุปสงค์อสังหาริมทรัพย์ที่อาจจะอ่อนตัวลงและส่งผลให้ราคาหุ้นของบริษัทในกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวลงถึง 6.7% ในเดือนตุลาคม

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนตุลาคม 2561 SET Index ได้ปิดที่ 1,669.09 จุด ปรับตัวลงจากระดับ 1,756.41 จุด หรือประมาณ 5.0% จากสิ้นเดือนกันยายน ราคาหลักทรัพย์ของทุกกลุ่มอุตสาหกรรมได้ปิดตัวต่ำกว่าเดือนก่อนหน้า โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลงน้อยที่สุดได้แก่ กลุ่มธุรกิจการเกษตร -0.2% กลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต -2.2% และกลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ -2.5% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลงแรงที่สุด ได้แก่ กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ -9.2% กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ -6.7% และ กลุ่มยานยนต์ -6.6% ในเดือนตุลาคมนี้ นักลงทุนต่างชาติได้ขายหุ้นไทยสุทธิ 64,200 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศได้ทำการซื้อสุทธิ 23,284 ล้านบาท

บลจ. ทาลิสมีมุมมองต่อตลาดหุ้นไทยในระยะกลางว่ามีแนวโน้มจะแกว่งตัวในกรอบกว้าง 1,600-1,900 จุด จากปัจจัยความเสี่ยงต่างประเทศและแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของไทย แต่ตลาดหุ้นก็ยังได้รับผลดีจากการเติบโตของเศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน ทั้งนี้ ในระยะสั้น ตลาดทุนไทยยังมีโอกาสเกิดความผันผวนจากผลกระทบจากปัจจัยภายนอกอย่างที่ได้เผชิญในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ภายหลังการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ได้ผ่านพ้นไป และหากสหรัฐฯ กับจีนได้ทำการเจรจาข้อตกลงทางการค้าได้ในการประชุม G20 นี้ เราน่าจะเห็นความชัดเจนต่อปัจจัยภายนอกดังกล่าวมากขึ้น และจะเป็นตัวผลักดันให้ตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวขึ้นเพื่อตอบรับกับผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่ยังคงเติบโตอยู่ และการเลือกตั้งทั่วไปของไทยในต้นปี 2562 ได้

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – ตุลาคม 2561

การประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในเดือนนี้ มีมติคงนโยบายการเงิน และคาดว่าจะยุติมาตรการ QE ในสิ้นปีนี้ โดยประธาน ECB แถลงว่าจะใช้เครื่องมือทางการเงินอื่น ๆ เพื่อให้นโยบายการเงินยังคงมีความผ่อนคลายต่อไปแม้มาตรการ QE จะสิ้นสุด และอัตราดอกเบี้ย (Refinancing rate ที่ 0.0% และ Deposit facility rate ที่ -0.4%) จะคงอยู่ในระดับต่ำ ยาวไปจนถึงไตรมาส 3/2019 เป็นอย่างน้อย ส่วนประเด็นร่างงบประมาณของอิตาลี ประธาน ECB ได้กล่าวแสดงความเชื่อมั่นว่า EU และอิตาลีจะหาทางแก้ไขปัญหาด้านงบประมาณร่วมกันได้ แต่มองอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีที่อยู่ในระดับสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังได้ย้ำว่า ECB จะไม่ให้ความช่วยเหลือประเทศที่ไม่ปฎิบัติตามกฎของ EU เด็ดขาด ทางด้านเงินเฟ้อ ECB ยังคงมุมมองว่าเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% ได้ในระยะกลาง จากสภาพตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวต่อเนื่องซึ่งจะสนับสนุนให้อัตราค่าจ้างเร่งตัวขึ้น

ในเดือนนี้ไม่มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ มีเพียงการเปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือนก.ย. ที่ยืนยันสิ่งที่ตลาดคาดไว้ว่า เฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ และต่อเนื่องในปี 2019 นอกจากนี้ผลจากตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ประจำเดือนก.ย. ที่เปิดเผยออกมา ส่วนใหญ่ส่งสัญญาณดีต่อเนื่อง เช่น การจ้างงานภาคเอกชนสำรวจโดย ADP เพิ่มขึ้น 2.3 แสนราย จาก 1.68 แสนรายในเดือนก่อน โดยนับเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 7 เดือนและมากกว่าที่ตลาดคาดไว้, อัตราการว่างงาน ลดลงเป็น 3.7% จาก 3.9% ในเดือนก่อน นับเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 50 ปี แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนก.ย. จะทรงตัวที่ +0.1% mom เท่ากับเดือนก่อนหน้า ซึ่งนักลงทุนในตลาดก็ยังคงมีมุมมองในเชิงบวกต่อภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐ นำมาซึ่งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลโดยเฉพาะรุ่น 10 ปี ปรับตัวสูงขึ้นมาแตะระดับ 3.23% สูงสุดในรอบกว่า 7 ปี อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้านต่างประเทศ เช่น ข้อขัดแย้งระหว่างอิตาลีและสหภาพยุโรป, ประเด็นการค้าระหว่างประเทศของจีนและสหรัฐ ได้กดดันให้ตลาดพันธบัตรมีความผันผวน อัตราผลตอบแทนของ 10-Year US Treasury ในเดือนนี้จึงเคลื่อนไหวขึ้นลงอยู่ระหว่าง 3.08-3.23%

ทางด้านอัตราเงินเฟ้อของไทย ในเดือนก.ย. อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงเป็น +1.33% yoy (เทียบกับ +1.62% เดือนก่อน, +1.23% ตลาดคาด) จากราคาพลังงานเริ่มชะลอลง และราคาอาหารสดที่กลับมาหดตัว ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวที่ +0.8% yoy (เทียบกับ +0.75% เดือนก่อน, +0.71% ตลาดคาด) ด้านความเคลื่อนไหวของพันธบัตรรัฐบาลไทยในเดือนนี้มีทิศทางปรับตัวขึ้นชัดเจน สาเหตุจากนักลงทุนบางส่วนคาดการณ์ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยอาจพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นในเร็ว ๆ นี้ ตามทิศทางของประเทศสำคัญคือสหรัฐฯ รวมถึงประเทศอุตสาหกรรมหลักที่ยืนยันการผ่อนคลาย QE และ/หรือกำลังพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเช่นกัน ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นปรับตัวขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยอายุ 14 วัน, 3 เดือน, 6 เดือน และประมาณ 1 ปี อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมาแตะระดับสูงสุดของเดือนที่ 1.3150%, 1.5830%, 1.7465% และ 1.8059% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับสิ้นเดือนก.ย. ที่ 1.1118%, 1.4000%, 1.5902% และ 1.7833% ตามลำดับ ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวก็มีทิศทางปรับขึ้นตามตลาดต่างประเทศเช่นกัน แต่เนื่องจากยังคงมีความต้องการจากผู้เล่นในตลาดอยู่มาก จึงทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับขึ้นไม่มากนัก ในเดือนนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิ แบ่งเป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 7.7 พันล้านบาท และพันธบัตรระยะยาว 3.2 หมื่นล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว นักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 3 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดหุ้นไทย – กันยายน 2561

ในเดือนกันยายน SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.0% จากปลายเดือนสิงหาคม 2561 ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นเล็กน้อย โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากการเลือกตั้งที่เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น และราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น แม้ว่าประเด็นวิกฤติในตลาดเกิดใหม่และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังคงเป็นปัจจัยกดดันตลาด

ในช่วงต้นเดือนกันยายน ตลาดหุ้นปรับตัวลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากความกังวลเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจและค่าเงินในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ที่เข้ามากดดันภาวะการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก ได้แก่ ประเทศอาร์เจนตินาประกาศเพิ่มวินัยทางการคลังและขอความช่วยเหลือจาก IMF ประเทศตุรกีประกาศอัตราเงินเฟ้อสูงที่ 17.9% หลังจากที่ค่าเงินอ่อนค่ากว่า 10% ภายใน 1 เดือน ประเทศอินโดนีเซียเผชิญกับค่าเงินที่อ่อนค่าขึ้น 11% ตั้งแต่ต้นปี และมีแนวโน้มอ่อนค่าขึ้นเรื่อยๆ เป็นต้น ทำให้ตลาดหุ้นในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงน้อยกว่าตลาดอื่น ๆ ในกลุ่ม เนื่องจากประเทศไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง และมีปริมาณเงินสำรองระหว่างประเทศสูง จึงมีพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งกว่า

ต่อมาในช่วงกลางเดือน ตลาดหุ้นได้รับปัจจัยบวกจากเรื่องการเลือกตั้งภายในประเทศที่มีความคืบหน้ามากขึ้น หลังจากที่พ.ร.บ. ที่มา ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. ผ่านการโปรดเกล้าฯ และได้เผยแพร่ลงในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 13 กันยายน 2561 และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 18 กันยายน 2561 ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นแรงจากจุดต่ำสุดที่ 1,666 จุด ไปสู่ 1,720 จุด ในเวลาอันรวดเร็ว

นอกจากปัจจัยภายในประเทศที่เอื้อให้ SET Index ปรับตัวขึ้นแล้ว ราคาน้ำมันยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนตลาดหุ้น หลังจากสหรัฐฯ เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ระงับการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านภายในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2561 มิฉะนั้นสหรัฐฯ จะทำการคว่ำบาตรประเทศนั้น ๆ ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกน้ำมันโดยรวมปรับตัวลดลง นอกจากนี้ การประชุมโอเปกรอบล่าสุดมีมติให้คงปริมาณการผลิตไว้ที่ระดับปัจจุบัน ในขณะที่อุปสงค์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาว ทำให้เกิดภาวะอุปทานค่อนข้างตึงตัวในตลาดน้ำมัน ราคาน้ำมันดิบเบรนท์จึงพุ่งขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบเกือบ 4 ปีที่ราคาสูงกว่าระดับ 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หุ้นในกลุ่มพลังงานจึงปรับตัวขึ้น และช่วยผลักดันให้ SET Index ปรับตัวขึ้นเช่นกัน

ประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังคงมีพัฒนาการต่อเนื่อง โดยในเดือนกันยายน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในอัตรา 10% มีผลบังคับใช้วันที่ 24 กันยายน 2561 ส่วนจีนก็ดำเนินมาตรการตอบโต้โดยเก็บภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐในมูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และทรัมป์ยังวางแผนที่จะขึ้นภาษีจาก 10% เป็น 25% ภายในเดือนมกราคม 2562 อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไม่ได้ตอบสนองเชิงลบกับข่าวนี้ แต่กลับตอบสนองในเชิงบวกว่าการเก็บภาษีรอบนี้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ และยังมีเวลาในการเจรจากันได้อีก และทำให้มีแรงซื้อผลักดันให้ SET Index ปรับตัวขึ้นถึงระดับ 1,760 จุด

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนกันยายน 2561 SET Index ปิดที่ 1,756.41 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.0% จากเดือนก่อนหน้า โดยหุ้นกลุ่มหลักที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุด ได้แก่ กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ +10.9% กลุ่มธุรกิจการเกษตร +10.0% และกลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง +7.3% ในขณะที่หุ้นกลุ่มหลักที่ปรับขึ้นน้อยที่สุดหรือปรับตัวลดลงมากที่สุดในช่วงเวลาเดียวกัน ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร -2.6% กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -1.6% และกลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -1.6% ในเดือนกันยายนนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 7,756 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิ 16,955 ล้านบาท

บลจ. ทาลิสยังคงมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทยในระยะยาว และมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อตลาดหุ้นไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ทั้งจาก Election Rally และปัจจัยพื้นฐานของประเทศไทยเอง โดยภาพรวมของผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนทั้งปี ยังมีแนวโน้มเติบโตในระดับ 10–12% แม้ว่าตลาดจะยังมีความเสี่ยงจากประเด็นสงครามการค้า ทว่า ตราบใดที่ผลกระทบยังไม่ชัดเจนและส่งผลรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก การตอบสนองของตลาดในเชิงลบน่าจะอยู่ในระดับที่รุนแรงน้อยกว่าที่คาด ทำให้ SET Index มีทิศทางที่ค่อนข้างดูดี และมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นต่อได้

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – กันยายน 2561

การประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในเดือนนี้ มีมติให้ปรับลดอัตราการเข้าซื้อต่อเดือนลงเป็น 1.5 หมื่นล้านยูโรในไตรมาสสุดท้ายของปี จากปัจจุบันที่เข้าซื้อ 3 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน และคาดว่ามาตรการ QE จะยุติหลังจากนั้น โดย ECB จะกลับมาพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวขึ้นอยู่กับพัฒนาการของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า ด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Refinancing rate ที่ 0.0% และ Deposit facility rate ที่ -0.4%) ECB ยังคงย้ำว่าจะคงอยู่ในระดับต่ำนี้ ยาวไปจนถึงไตรมาส 3/2019 เป็นอย่างน้อย ในการประชุมรอบนี้ ECB ได้ปรับลดประมาณการ GDP ปี 2018-2019 ลง -0.1pp เป็น +2.0% YoY และ +1.8% YoY ตามลำดับ และปรับลดประมาณการเงินเฟ้อพื้นฐานปี 2019-2020 ลง -0.1pp เป็น +1.5% YoY และ +1.8% YoY ตามลำดับ ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ECB คงประมาณการปี 2018-2020 ไว้ที่ +1.7% YoY โดยนาย Mario Draghi ประธาน ECB กล่าวว่าเศรษฐกิจยุโรปยังคงแข็งแกร่งเพียงพอที่จะเผชิญกับความเสี่ยงจากภายนอก ทั้งนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐฯ และความไม่แน่นอนของ Brexit เนื่องจากตลาดแรงงานได้ฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่องและอัตราค่าจ้างได้เร่งตัวขึ้น ทางด้านธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติเป็นเอกฉันท์ 9-0 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.75% ตามที่ตลาดคาด หลังจากที่ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งก่อน แถลงการณ์หลังการประชุมระบุถึงความเสี่ยงจากภายนอกที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และความผันผวนในประเทศตลาดเกิดใหม่ นอกจากนี้ Brexit ยังคงเป็นความเสี่ยงที่สำคัญซึ่งได้ส่งผลกดดันการลงทุนของภาคธุรกิจ ทางด้านเงินเฟ้อ ผลจากราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นและอัตราค่าจ้างที่เร่งตัว (ค่าจ้างเดือน ก.ค. เพิ่มขึ้น 2.9% YoY สูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี) จะส่งผลให้เงินเฟ้อปีนี้ขยายตัวสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ (ที่ 2.3% YoY)

ต่อมาช่วงปลายเดือนคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีมติ 8-0 ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 25bps เป็น 2.00-2.25% ตามคาด โดยประเมินว่าเศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งต่อเนื่อง และปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปีนี้ขึ้นเป็น 3.1% (จาก 2.8%) และปี 2019 ปรับขึ้นเป็น 2.5% (จาก 2.4%) และคงคาดการณ์ปี 2020 ไว้ที่ 2.0% ส่วนปี 2021 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเป็น 1.8% ทางด้านอัตราเงินเฟ้อ Fed คงคาดการณ์เงินเฟ้อ Core PCE ปีนี้ไว้ที่ 2.0% และคงคาดการณ์เงินเฟ้อปี 2019 และ 2020 ไว้ที่ 2.1% ส่วนค่ากลางของ Dot Plot ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากการประชุมครั้งก่อน โดยคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 5 ครั้ง ไปจนสิ้นสุดที่ 3.4% ณ สิ้นปี 2020 (ปีนี้อีก 1 ครั้ง; ปี 2019, 3 ครั้ง; ปี 2020, 1 ครั้ง) และจะคงดอกเบี้ยที่ระดับ 3.4% ไปจนถึงปี 2021 โดยในการประชุมรอบนี้ จำนวนกรรมการที่คาดว่าดอกเบี้ยจะปรับขึ้นได้ทั้งหมด 4 ครั้งในปีนี้ ได้เพิ่มขึ้นเป็น 12 ท่าน จากการประชุมครั้งก่อนที่ 8 ท่าน (ออกเสียงทั้งหมด 16 ท่าน) สะท้อนโอกาสในการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกหนึ่งครั้งในการประชุมเดือน ธ.ค.ที่ค่อนข้างแน่นอน