ภาวะตลาดหุ้นไทย – พฤศจิกายน 2562

ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา SET Index ปรับตัวลง -0.68% จากสิ้นเดือนตุลาคม 2562 เป็นการแกว่งตัวลงเล็กน้อย เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยบวกใหม่ ในขณะที่ประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนยังถูกปรับลดลง

ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นในช่วงต้นเดือน จากการที่นักลงทุนคาดหวังการลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งผลการประชุมในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 กนง. มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ 1.25% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ จากความกังวลด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ต่ำกว่าคาด SET Index มีการตอบรับในเชิงบวกระยะสั้น และเริ่มปรับลดลงเมื่อเข้าสู่ช่วงประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 3

กำไรของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 3 ที่ประกาศออกมานั้น มีกำไรสุทธิรวม 2.13 แสนล้านบาท ทรงตัวจากไตรมาส 2 แต่ลดลง 18% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ในปีที่แล้ว หากรวมกำไรสุทธิ 9 เดือนแรกของปีนี้ จะอยู่ที่ 6.83 แสนล้านบาท ลดลง 15% จากปี 2018 โดยกลุ่มที่กำไรเติบโตสูง ได้แก่ กลุ่มสื่อสาร อาหาร และเงินทุนหลักทรัพย์ ส่วนกำไรลดลงมาก ได้แก่ กลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี และรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ มีมูลค่าตลาดสูง จึงเป็นตัวฉุดกำไรของตลาด ทำให้ประมาณการกำไรสุทธิต่อหุ้นของตลาด (SET EPS) ในปี 2019 ลดลงมาอยู่ที่ 94.5 บาท และในปี 2020 อยู่ที่ 105.2 บาท คิดเป็นการติดลบจากปีที่แล้ว -3.2% และฟื้นตัว 11% ในปีหน้า นอกจากนี้ ทางสภาพัฒน์ได้ประกาศตัวเลขอัตราการเติบโตของ GDP ในไตรมาส 3 ของไทยออกมาอยู่ที่ 2.4% ดีขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาส 2 ที่ขยายตัว 2.3% แต่ต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 2.6% มีเพียงภาคบริการที่เติบโตค่อนข้างดี (+11%) ส่วนภาคการส่งออกและนำเข้ายังหดตัว การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวได้เล็กน้อย (+2.8%) ภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมหดตัว (-1.5%) ทำให้สภาพัฒน์มีการปรับลดการประมาณการการเติบโตของ GDP ทั้งปีนี้ลง จากเดิม 2.7-3.2% มาอยู่ที่ 2.6% อัตราการเติบโตชะลอตัวลงจากปี 2018 ที่ 4.1%

ทั้งตัวเลขกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนและตัวเลข GDP ที่ออกมานั้น เป็นสิ่งยืนยันการชะลอตัวเศรษฐกิจของไทย และเป็นปัจจัยกดดัน SET Index ตั้งแต่กลางปี โดยดัชนีปรับลดลงจากจุดสูงสุดบริเวณ 1,740 จุดในเดือนกรกฎาคม มาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 1,600 จุดในปัจจุบัน ซึ่งคิดเป็นการปรับลดลงถึง 8% ในเวลาเพียง 4 เดือน ปัจจัยเสี่ยงของตลาดหุ้นในเวลานี้ นอกจากจะมีปัจจัยต่างประเทศ ได้แก่ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ความขัดแย้งในฮ่องกง หรือการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษแล้ว ปัจจัยหลักคือ ความกังวลการปรับลดลงต่อเนื่องของ SET EPS นั่นเอง

สำหรับปัจจัยต่างประเทศ นักลงทุนจับตารอความชัดเจนประเด็นการค้า แม้สหรัฐฯ และจีนใกล้ที่จะบรรลุข้อตกลงการค้าในเฟสแรก แต่การที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ลงนามกฎหมายสนับสนุนประชาธิปไตยในฮ่องกง ทำให้อาจกระทบต่อการเจรจาการค้าได้ แต่ความกังวลด้านเศรษฐกิจโลกถดถอยเริ่มลดลง หลังตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ เช่น สหรัฐฯ ยูโรโซน สหราชอาณาจักร และ จีน เป็นต้น เริ่มมีสัญญาณของการฟื้นตัว

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนพฤศจิกายน 2562 SET Index ปิดที่ 1,590.59 จุด ปรับตัวลงจากระดับ 1,601.49 จุด หรือประมาณ -0.68% จากสิ้นเดือนตุลาคม 2562 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ +13.7% กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ +10.5% และกลุ่มธนาคารพาณิชย์ +5.0% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่ม ICT -8.6% กลุ่มเกษตรและอาหาร -5.0% และกลุ่มธุรกิจบันเทิง -3.3% ในเดือนพฤศจิกายนนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 7,683 ล้านบาท และนักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 2,585 ล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (พฤศจิกายน 2562)

ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติ 7 ต่อ 2 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.75% ตามที่ตลาดคาด และยังคงเป้าหมายการเข้าซื้อพันธบัตรไว้ที่ 4.35 แสนล้านปอนด์

ภาวะตลาดหุ้นไทย – ตุลาคม 2562

ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา SET Index ปรับตัว -2.2% จากสิ้นเดือนกันยายน 2562 จากการปรับลดกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียน และความกังวลเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว สวนทางกับตลาดต่างประเทศ

Set Index อ่อนตัวลงต่อเนื่องจากเดือนกันยายน แม้ว่าปัจจัยจากต่างประเทศค่อนข้างเป็นบวกในเดือนนี้ แต่ตลาดกลับให้น้ำหนักปัจจัยของการปรับลดกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนไทยมากกว่า โดยในช่วงต้นเดือนตุลาคม เป็นช่วงการเริ่มต้นประกาศผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 3 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ โดยกำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารเพิ่มขึ้น 2% YoY และ 5% QoQ การเติบโตส่วนใหญ่มาจากกำไรพิเศษจากการขายบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิต (SCB Life) ของธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งหากพิจารณาเพียงกำไรปกติของกลุ่มธนาคาร จะต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ค่อนข้างมาก จากการเพิ่มการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพสินทรัพย์และเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง สินเชื่อโดยรวมขยายตัวเพียงเล็กน้อย ในขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อยังหดตัว รายได้ค่าธรรมเนียมยังคงหดตัวจากการฟรีค่าธรรมเนียมการโอน ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยทรงตัวและมีแนวโน้มลดลงหากอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีการปรับลดลง ในขณะที่ฝั่งต้นทุนนั้น ยังไม่สามารถลดลงได้เร็วนัก ทำให้หุ้นในกลุ่มธนาคารฉุดให้ SET Index ปรับตัวลง

ถัดมา เป็นช่วงการประกาศผลการดำเนินงานในกลุ่มพลังงานและปิโตรเครมี โดยหลายบริษัทมีการประกาศกำไรสุทธิออกมาต่ำกว่าคาด เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากราคาปิโตรเคมีภัณฑ์ตกต่ำ และการบันทึกขาดทุนจากสินค้าคงคลัง ทำให้นักวิเคราะห์มีการปรับลดการคาดการณ์กำไรสุทธิของตลาดลดลง และยังมีแนวโน้มที่จะปรับลดลงต่อเนื่อง หากบริษัทในกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ทยอยประกาศผลการดำเนินงานต่ำกว่าเป้าหมาย

ประเด็น BREXIT เริ่มมีพัฒนาการทางบวกมากขึ้นหลังจากที่มีการยืดเยื้อมานาน หลังจากนายบอริส จอห์นสัน เสนอให้มีการลงมติเลือกตั้งใหม่ แล้วจึงค่อยนำร่าง BREXIT เข้าโหวตในสภา โดยสหภาพยุโรปมีมติยินยอมให้สหราชอาณาจักร (UK) ขยายเส้นตายออกไปจากเดิมวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ไปเป็น 31 มกราคม 2563 และหากทาง UK พร้อมก็สามารถถอนตัวได้ก่อนกำหนด ทำให้โอกาสที่จะเกิดการถอนตัวอย่างไม่มีข้อตกลง (Hard Brexit) ลดลง จึงส่งผลดีต่อตลาดหุ้นโดยรวม

นอกจากนี้ ประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีความคืบหน้าไปในทางที่ดีขึ้น โดยสหรัฐฯ และจีนมีแนวโน้มจะบรรลุข้อตกลงทางการค้าในเฟสแรกภายในกรอบเวลาที่กำหนด แม้ว่าผู้นำทั้งสองประเทศจะไม่ได้พบกัน หลังการยกเลิกการประชุม APEC ในวันที่ 16-17 พฤศจิกายนในประเทศชิลี อันเนื่องมาจากสาเหตุความไม่สงบภายในประเทศ

และในวันที่ 30 ตุลาคม 2562 ผลการประชุม FOMC มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 25 bps สู่ระดับ 1.50% - 1.75% ตามที่นักวิเคราะห์คาด ซึ่งถือเป็นการปรับลดลงติดต่อกันเป็นครั้งที่ 3 และส่งสัญญาณกระตุ้นสภาพคล่องในตลาดซื้อคืนพันธบัตร และเตรียมซื้อพันธบัตรระยะสั้นเพิ่มเติม นอกจากนี้ ประธาน FED ระบุว่าอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว และส่งสัญญาณพักการลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มากขึ้นในระยะถัดไป และเป็นสัญญาณบวกต่อตลาดอย่างมาก

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนตุลาคม 2562 SET Index ปิดที่ 1,601.49 จุด ปรับตัวลงจากระดับ 1,637.22 จุด หรือประมาณ -2.2% จากสิ้นเดือนกันยายน 2562 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ +3.8% กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ +2.3% และกลุ่ม ICT +1.5% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มเกษตรและอาหาร -11.6% กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ -9.3% และกลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -8.5% ในเดือนตุลาคมนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 7,845 ล้านบาท และนักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 409 ล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย – กันยายน 2562

ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา SET Index ปรับตัวลง -1.07% จากสิ้นเดือนสิงหาคม 2562 จากการปรับลดกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียน ภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศชะลอตัว และการขายหุ้นของกองทุนเพื่อเตรียมเงินไปจองซื้อหุ้น AWC

ในช่วงต้นเดือนกันยายน ตลาดหุ้นปรับขึ้นต่อเนื่องจากเดือนสิงหาคม จากการที่สหรัฐฯ และจีนมีการนัดหมายเจรจาเรื่องสงครามการค้ากันในต้นเดือนกันยายน ทำให้นักลงทุนเริ่มกลับมาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอีกครั้ง อีกทั้งยังได้แรงหนุนจากปัจจัยบวกในประเทศ เมื่อครม.เศรษฐกิจมีมติเห็นชอบ “ไทยแลนด์ พลัส แพคเกจ” ซึ่งเป็นแพคเกจเร่งรัดการลงทุน และรองรับการย้ายฐานการผลิตมาสู่ประเทศไทยเนื่องจากผลกระทบของสงครามการค้า เช่น การลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นเวลา 5 ปี สำหรับโครงการที่มีการลงทุนขั้นต่ำ 1,000 ล้านบาท เป็นต้น ซึ่งส่งผลบวกต่อตลาดหุ้น โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม

ต่อมา ในวันที่ 14 กันยายน เกิดเหตุโดรนโจมตีโรงงานน้ำมัน 2 แห่งของบริษัท อารัมโก ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของประเทศซาอุดิอาระเบีย ทำให้กำลังการผลิตหายไปกว่า 5.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือกว่า 50% ของกำลังการผลิตของประเทศ และคิดเป็น 5% ของการผลิตน้ำมันของโลก โดยมีกลุ่มกบฏในเยเมนเป็นผู้โจมตีและยังคงข่มขู่ที่จะโจมตีต่อ ในขณะที่สหรัฐฯ กล่าวหาว่าอิหร่านเป็นผู้อยู่เบื้องหลังและพร้อมใช้กำลังทหารตอบโต้ สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นสูงสุดใน 1 วันเป็นประวัติการณ์ โดยขึ้นไปทำจุดสูงสุดกว่า +19.5% จากนั้นราคาน้ำมันค่อย ๆ อ่อนตัวลงหลังจากที่ซาอุดิอาระเบียประกาศแผนซ่อมแซมโรงกลั่นและคาดว่ากำลังการผลิตส่วนใหญ่จะกลับมาดำเนินงานปรกติได้ในเวลา 10-15 วัน

ตลาดหุ้นในช่วงครึ่งแรกของเดือนยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการผ่อนคลายทางการเงินในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ได้แก่ Fed ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เป็น 1.75% - 2.00% ทาง ECB ได้ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.10% สู่ระดับ -0.50% และจะเริ่มการซื้อคืนพันธบัตรในวงเงิน 2 หมื่นล้านยูโร/เดือนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป รวมทั้ง ทางจีนก็ได้ลด RRR ลง 0.50% ด้วย นอกจากนี้ ทางรัฐสภาอังกฤษก็มีการผ่านร่างกฎหมายป้องกัน Hard Brexit ทำให้นายกฯต้องไปเจรจากับทาง EU ในการขยายเส้นตาย Brexit ออกไปจากเดิม 31 ตุลาคม 2562 เป็น 31 มกราคม 2563 ซึ่งทำให้ความเสี่ยงจากเหตุการณ์ Brexit ถูกเลื่อนออกไป

ทว่าในช่วงครึ่งเดือนหลัง SET Index ค่อย ๆ ปรับตัวลง สาเหตุหนึ่งมาจากการขายหุ้นของกองทุนเพื่อเตรียมเงินสำหรับการจองซื้อหุ้น IPO ของบริษัท แอสเสท เวิร์ด คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ “AWC” ในหมวดธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่ง AWC มีการระดมทุนสูงที่สุดในประวัติศาสตร์การระดมทุนในตลาดหุ้นไทย ด้วยมูลค่า IPO ประมาณ 48,000 ล้านบาท และมีมูลค่าตลาดประมาณ 192,000 ล้านบาท และคาดว่าจะได้เข้ามาอยู่ใน SET50 ทันที่หลังจากเข้าเทรดในวันแรก และทำให้หุ้นใน SET 50 บางตัวถูกขายเนื่องจากความกังวลว่าอาจจะถูกถอดออกจากอันดับ กดดันให้ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ในการประชุมคณะกนง. ประจำเดือนกันยายน ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ในการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% แต่ในขณะเดียวกัน ได้มีการปรับลดการคาดการณ์จีดีพีในปีนี้ลงจาก 3.3% เหลือ 2.8% และปรับลดจีดีพีในปี 2563 ลงจาก 3.7% เหลือ 3.3% ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกที่หดตัว ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้านั่นเอง

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนกันยายน 2562 SET Index ปิดที่ 1,637.22 จุด ปรับตัวลงจากระดับ 1,654.92 จุด หรือประมาณ -1.07% จากสิ้นเดือนสิงหาคม 2562 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มพลังงาน +2.2% กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ +1.4% และกลุ่มชิ้นส่วนอิเลคทรอนิคส์ +1.2%ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่ม ICT -4.9% กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ -4.3% และกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม -3.5% ในเดือนกันยายนนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 11,658 ล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิ 8,164 ล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (ตุลาคม 2562)

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงนโยบายการเงินเดิมตามการคาดการณ์ส่วนใหญ่ของตลาด หลังจากที่ในการประชุมรอบก่อน (12 ก.ย.) ECB ได้ลดดอกเบี้ย Deposit facility rate ลง 10bps