ภาวะตลาดหุ้นไทย – มีนาคม 2563

ตลาดหุ้นยังคงปรับลดลงต่อเนื่อง SET Index ปรับตัวลดลง 16% มาสู่ระดับ 1,125.86 จุด โดยปัจจัยที่ยังกดดันยังคงเป็นการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่รุนแรงกว่าที่ตลาดประเมินไว้ โดยปัจจุบัน ยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกเร่งตัวถึงกว่า 7 แสนราย และมียอดผู้เสียชีวิตรวมกว่า 3 หมื่นราย โดยศูนย์กลางการแพร่ระบาดได้ย้ายมาอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ทำให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงรุนแรงและยาวนานกว่าที่คาด

ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ มีการชะลอตัวลงค่อนข้างรุนแรงในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ทำให้รัฐบาลและธนาคารกลางของหลายประเทศทั่วโลกออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาธุรกิจรวมถึงประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการปิดเมือง สหรัฐอเมริกามีการอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินกว่า 2 ล้านล้านเหรียญ และ FED ปรับลดดอกเบี้ยฉุกเฉิน 2 ครั้ง ครั้งแรก 50 bps ตามมาด้วยอีก 100 bps ทำให้ดอกเบี้ยปัจจุบันลงมาอยู่ที่ 0.0-0.25% พร้อมทั้งปล่อย QE แบบไม่จำกัดวงเงิน ฝั่งยุโรปเอง ทาง ECB ประกาศเพิ่มวงเงิน QE เป็น 1.2 แสนล้านยูโรไปจนถึงสิ้นปีนี้ และประกาศซื้อหลักทรัพย์ของภาคเอกชนและภาครัฐวงเงินรวม 7.5 แสนล้านยูโร ส่วนอังกฤษ BOE ปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉิน 2 ครั้ง ครั้งแรก 0.5% ตามมาด้วย 0.15% สู่ระดับ 0.10% และเพิ่มวงเงิน QE อีก 2 แสนล้านปอนด์ สู่ระดับ 6.45 แสนล้านปอนด์ ทางฝั่งเอเชีย ประเทศญี่ปุ่น ทาง BOJ เพิ่มวงเงินเข้าซื้อ ETF เป็น 12 ล้านเยนต่อปี และซื้อ JREIT เป็น 1.8 แสนล้านเยน รวมถึงเริ่มโครงการปล่อยเงินกู้ให้เอกชน ในอัตราดอกเบี้ย 0% อายุ 1 ปี ส่วนในประเทศจีน PBOC มีการปรับลด RRR ลด 0.5-1.0% เทียบเท่าการปล่อยสภาพคล่องกว่า 5.5 แสนล้านหยวนเข้าสู่ระบบการเงิน

สำหรับในไทยนั้น รัฐออกมาตรการปิดสถานที่ชุมนุมของคนจำนวนมากในกรุงเทพมหานครและบางจังหวัด อาทิ โรงเรียน โรงภาพยนตร์ สนามมวย ห้างสรรพสินค้า ไปจนถึง 30 เมษายน 2563 พร้อมกับออกมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรค COVID-19 ได้แก่ การให้เงินช่วยเหลือ 5,000 บาทเป็นระยะเวลา 3 เดือน การปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 2% ผ่านธนาคารออมสิน เป็นต้น ทั้ง กนง. ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉิน 0.25% สู่ระดับ 0.75% ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในประวัติการณ์ แต่ปรับลดการคาดการณ์ GDP ในปีนี้ลงสู่ระดับ -5.3%

ส่วนทางฝั่งน้ำมันดิบ กลุ่ม OPEC และ Non-OPEC ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการลดกำลังการผลิตร่วมกันได้ ทำให้ทางซาอุดิอาระเบียปรับลดราคา Premium น้ำมันดิบลง เพื่อชิงส่วนแบ่งการตลาด ก่อให้เกิดสงครามราคาน้ำมันขึ้น ราคาน้ำมันดิบ Brent จึงปรับลดลงแรงมาสู่ระดับ 22.7 เหรียญต่อบาร์เรล เป็นการปรับลดลง 52.9% ภายใน 1 เดือน และมีแนวโน้มที่จะลงต่อ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดยืดเยื้อ และทางฝั่งผู้ผลิตน้ำมันยังไม่สามารถเจรจากันได้

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนมีนาคม 2563 SET Index ปิดที่ 1,125.86 จุด ปรับตัวลงจากระดับ 1,340.52จุด หรือประมาณ -16.0% จากสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนติดลบน้อยที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่ม ICT -2.2% กลุ่มพาณิชย์ -8.0% และกลุ่มประกัน -9.2% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -30.8% กลุ่มเงินทุนหลักทรัพย์ -29.6% และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ -23.7% ในเดือนมีนาคมนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 78,404 ล้านบาท และนักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 42,335 ล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (กุมภาพันธ์ 2563)

ในเดือนนี้ไม่มีการประชุมนโยบายการเงินจากธนาคารกลางของประเทศหลัก มีเพียงรายงานการประชุมในเดือนมกราคมของ FOMC เปิดเผยว่า นโยบายการเงินในปัจจุบันยังมีความเหมาะสมที่จะหนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีในระดับปานกลางและหนุนเงินเฟ้อให้เร่งตัวขึ้นกลับเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% ตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง

ภาวะตลาดหุ้นไทย – กุมภาพันธ์ 2563

ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ได้สร้างความตื่นตระหนกต่อภาวะการลงทุนทั่วโลก โดยเฉพาะเมื่อการระบาดเริ่มมีการกระจายไปยังภูมิภาคอื่นนอกเหนือจากจีน ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลงแรงในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน โดยดัชนี Dow Jones ปรับตัวลง 9.1% และ MSCI Euro ปรับตัวลง 8.7% เป็นต้น สำหรับประเทศไทยเอง SET Index ปรับตัวลง 10.3% ซึ่งนอกเหนือจากการระบาดของ COVID-19 ในภูมิภาคอื่นแล้ว นักลงทุนยังกังวลเกี่ยวกับการการเกิด Super Spreaders ในไทย เหมือนในเกาหลีใต้ เมื่อมีกรณีที่ผู้ติดเชื้อ COVID-19 ไม่ยอมแจ้งแก่สถานพยาบาลว่าไปเที่ยวประเทศที่มีความเสี่ยงกลับมาแล้วมีอาการไข้ ทำให้ SET Index ในเดือนกุมภาพันธ์ ปรับตัวลง 174 จุด หรือปรับตัวลงถึง 11.5%

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 SET Index ปิดที่ 1,340.52 จุด ปรับตัวลงจากระดับ 1,514.14จุด หรือประมาณ -11.5% จากสิ้นเดือนมกราคม 2563 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนติดลบน้อยที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -3.3% กลุ่ม ICT -4.5% และกลุ่มยานยนต์ -6.2% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนติดลบมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ -18.3% กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ -15.0% และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง -13.7% ในเดือนมกราคมนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 19,649 ล้านบาท และนักลงทุนสถาบันในประเทศขายสุทธิ 3,921 ล้านบาท

หากเทียบเคียงเหตุการณ์ส่วนใหญ่ที่ตลาดหุ้นตกลงรุนแรงในเวลา 1 เดือนในอดีตที่ผ่านมานั้น พบว่ามาจากการเกิดความเสี่ยงในภาวะเศรษฐกิจใน 2 ลักษณะคือ 1) ภาวะเศรษฐกิจล่มสลาย ที่มีปัญหาเชื่อมต่อไปถึงการปิดสถาบันการเงิน เป็นเหตุการณ์ประเภท Demand Disruption หรือความต้องการหดหายยาวนานอันเนื่องมาจากการล่มสลายของภาวะเศรษฐกิจ และ 2) เหตุการณ์ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกระทันหันช่วงเวลาหนึ่ง (Event Risk) เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว หรือการเกิดโรคระบาด เป็นต้น ซึ่งเป็นเหตุการณ์ประเภท Supply Disruption หรือไม่สามารถผลิตสินค้าได้ตามความต้องการ หรือ Demand Disruption จะเกิดเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ เพราะการชะลอการใช้จ่าย ความแตกต่างของเหตุการณ์ใน 2 ลักษณะคือ ภาวะเศรษฐกิจล่มสลาย ตลาดหุ้นจะปรับตัวลงรุนแรงและยาวนาน ใช้เวลาฟื้นตัวช้าและต้องรอตัวเลขการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมาช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของตลาดหุ้น เนื่องจากการฟื้นฟูเศรษฐกิจกินเวลานาน ในขณะที่การเกิดเหตุการณ์ในลักษณะหลัง ตลาดหุ้นจะปรับตัวลงอย่างรุนแรงในช่วง 1-2 เดือนแรก และเมื่อเหตุการณ์มีแนวโน้มคลี่คลาย ตลาดหุ้นก็จะฟื้นตัวได้ค่อนข้างรวดเร็ว โดยไม่ต้องรอให้เศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว

ตารางตัวอย่างเหตุการณ์สำคัญที่หุ้นตกแรง

การระบาดของ COVID-19 ได้สร้างความตื่นตระหนกให้แก่ตลาดหุ้นมาเป็นระยะเวลาประมาณ 5 สัปดาห์แล้ว และในปัจจุบันปัญหาการระบาดในจีนเหมือนจะผ่านจุดที่ย่ำแย่ที่สุดไปแล้ว หลังจากที่รัฐบาลจีนออกมาตรการควบคุมการเดินทางประมาณ 3 สัปดาห์ (โดยทั่วไป COVID-19 ใช้เวลา 1-14 วันในการแสดงอาการ) ในญี่ปุ่น ตัวเลขผู้ติดเชื้อก็เริ่มทรงตัวหลังจากการเริ่มระบาดอย่างรุนแรงและรัฐบาลได้พยายามเข้าควบคุมปัญหาประมาณ 3 สัปดาห์เช่นกัน ในขณะที่การระบาดที่รุนแรงในอิตาลี เกาหลีใต้ และอิหร่าน เพิ่งเริ่มเกิดขึ้นและรัฐบาลเริ่มพยายามเข้าควบคุมปัญหาอย่างเต็มที่ประมาณ 1 สัปดาห์ ดังนั้น เรายังพอคาดหวังได้ว่าการระบาดที่เกิดขึ้นจะผ่านจุดสูงสุดใน 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า และเริ่มคลี่คลายมากขึ้นเมื่อเข้าช่วงหน้าร้อนของประเทศในเขตเหนือเส้นศูนย์สูตร ขณะเดียวกัน ทั่วโลกก็กำลังเร่งการวิจัยและทดลองยาต้าน/ยารักษาไวรัส COVID-19 ในขณะที่ Case การรักษาหายก็มีมากขึ้น ทำให้น่าจะเริ่มเห็นวิธีรักษา/ยารักษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในระยะ 2-3 เดือนข้างหน้า

ปัญหาความตกต่ำของเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากโรคระบาด จะมีความต่างจากเหตุการณ์ Supply Disruption ประเภทน้ำท่วม แผ่นดินไหว เพราะการเกิดโรคระบาดไม่มีการทำลายโครงสร้างพื้นฐานหรือโครงสร้างการผลิต แต่เป็นการชะงักงันจากการหยุดการผลิตชั่วคราว ดังนั้น เมื่อเหตุการณ์คลี่คลาย การฟื้นฟูเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นได้เร็วกว่า หากมีการช่วยเหลือทางการเงินให้ผู้ประกอบการสามารถกลับมาเริ่มการผลิตได้ และทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของปริมาณเงินในระบบ ซึ่งในภาวะปัจจุบัน รัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลกยังมีความพร้อมที่จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือผ่อนคลายสภาพคล่องทางการเงิน

สำหรับประเทศไทยเอง ในช่วงที่ผ่านมา เราประสบปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจจากหลายปัจจัย ได้แก่ ค่าเงินบาทแข็งค่าและปัญหาสงครามการค้า ที่ทำให้ภาคการส่งออกชะลอตัว ปัญหาภัยแล้ง ความล่าช้าในการอนุมัติงบประมาณปี 2563 และยังมาเจอปัญหาการระบาดของไวรัส COVID-19 ที่กระทบภาคการท่องเที่ยวอย่างแรง ทำให้เราคาดว่าประเทศไทยอาจจะเกิด Technical Recession หรืออัตราการเติบโตของ GDP ติดลบ 2 ไตรมาสได้ในครึ่งแรกของปี 2563 นี้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 เราคาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจจะดีขึ้นกว่าครึ่งแรกของปี 2563 มาก เนื่องจากปัญหาต่าง ๆ ที่กล่าวมามีการแนวโน้มคลี่คลายลง ไม่ว่าจะเป็นช่วงหลังการเกิดโรคระบาด ความต้องการสินค้าและบริการของโลกจะเพิ่มขึ้นมาก เพื่อชดเชยที่ขาดหายไปในช่วงการเกิดโรคระบาด เมื่อผนวกกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าในช่วงที่ผ่านมา ก็น่าจะทำให้การส่งออกของประเทศดีขึ้น ปัญหาภัยแล้งจะคลี่คลายลงเมื่อเข้าฤดูฝน และราคาสินค้าเกษตรไม่น่าจะตกต่ำเนื่องจากความต้องการที่มากขึ้นหลังโรคระบาด รัฐบาลสามารถใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้เต็มที่หลังการอนุมัติงบประมาณปี 2563 อัตราดอกเบี้ยต่ำลงและสภาพคล่องมากขึ้นจากการออกมาตรการยืดหยุ่นในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารแห่งประเทศไทย และภาคการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาหลังจากปัญหาโรคระบาดคลี่คลายลง

ในช่วงที่ SET Index ปรับตัวลงมาถึงระดับปัจจุบัน บลจ.ทาลิสมองว่าเป็นโอกาสในการลงทุนในตลาดหุ้นมากกว่าการถอดใจหนีออกจากตลาดหุ้น และเราสามาถเลือกลงทุนในหุ้นที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีในระดับราคาที่ถูกลงมากได้ ดังนั้น เราจึงใช้จังหวะนี้ในการปรับ Portfolio การลงทุน โดยย้ายการลงทุน (Switching) จากหุ้นที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้ากว่า ไปยังหุ้นที่ยังมีการเติบโตที่ดีและมีโอกาสที่ราคาหุ้นจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าหลังจากปัญหาการระบาดของไวรัส COVID-19 คลี่คลายลง

ภาวะตลาดหุ้นไทย – มกราคม 2563

ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา SET Index ปรับตัวลง -4.2% จากสิ้นเดือนธันวาคม 2562 เป็นการปรับตัวลงแรงจากปัจจัยความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ไวรัสโคโนน่าระบาด และการล่าช้าของงบประมาณภาครัฐ

ตลาดหุ้นไทยและต่างประเทศปรับตัวลงตั้งแต่ต้นเดือน หลังสหรัฐฯ ใช้โดรนโจมตีนายพลกัสซิม โซเลมานี ผู้บัญชาการกองกำลัง Quds Force ของอิหร่านเสียชีวิต ทางฝั่งอิหร่านจึงตอบโต้โดยการยิงขีปนาวุธหลายสิบลูกถล่มฐานทัพอากาศของสหรัฐฯ ในอิรัก ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามเพิ่มขึ้น นักลงทุนจึงเกิดความวิตกและเทขายหุ้นออกมา ก่อนที่ภายหลังสหรัฐฯ เลือกที่จะตอบโต้อิหร่านผ่านการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจแทนการใช้ความรุนแรง ความกังวลด้าน Geo-Political Risk จึงบรรเทาลงในระยะสั้น

หลังจากที่ตลาดปรับตัวลง นักลงทุนภายในประเทศให้ความหวังในการผ่านร่างงบประมาณของรัฐบาล ที่ล่าช้ามาตั้งแต่ปลายปี 2562 มาเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยมี สส. อนุมัติร่างงบประมาณวาระ 2 และ 3 แล้ว ทว่า กลับพบว่ามี สส.บางท่านเสียบบัตรแทนกันในการโหวตในสภา ทำให้ประธาน สส. นำคำร้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง โดยกระบวนการถัดไป สส. ที่ถูกกล่าวหาจะต้องไปให้ถ้อยคำในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ทำให้กระบวนการต่าง ๆ ของร่างงบประมาณล่าช้าออกไปอีก SET Index จึงปรับตัวลงตอบสนองเป็นลบต่อข่าวนี้

ถัดมาในช่วงปลายเดือน เกิดการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ค่อนข้างรุนแรงในประเทศจีน โดยภายในสิ้นเดือนมกราคม พบผู้ติดเชื้อไวรัสกว่า 9,814 ราย เสียชีวิตไปแล้ว 213 ราย ทำให้ WHO ประกาศให้เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของโลก ทำให้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกาศปิดเมืองอู่ฮั่นในมณฑลหูเป่ย และสั่งให้บริษัททัวร์ของจีนหยุดกิจกรรมท่องเที่ยวเป็นระยะเวลา 2 เดือน ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวชาวจีนจึงได้รับผลกระทบโดยตรง หุ้นในกลุ่มที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มโรงแรม กลุ่มสายการบิน กลุ่มพาณิชย์ รวมไปถึงกลุ่มพลังงาน ถูกเทขายอย่างรุนแรงจากความกังวลผลกระทบด้านลบจากการที่นักท่องเที่ยวจีนลดลง ซึ่งในเบื้องต้น ผลกระทบทางเศรษฐกิจในไตรมาส 1 ของปี 2563 น่าจะอยู่ในระดับสูง แต่หากตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มมีการเพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยลง หรือมีการค้นพบวิธีรักษาที่มีประสิทธิภาพ เศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวได้เร็ว และ SET index น่าจะกลับมาตอบสนองเป็นบวกเหมือนเช่นเหตุการณ์โรคระบาดในอดีต

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนมกราคม 2563 SET Index ปิดที่ 1,514.14 จุด ปรับตัวลงจากระดับ 1,579.84 จุด หรือประมาณ -4.2% จากสิ้นเดือนธันวาคม 2562 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มธุรกิจการเกษตร +7.8% กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ +2.7% และกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม +1.8% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มท่องเที่ยวและสันทนาการ -16.5% กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -14.4% และกลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ -10.8% ในเดือนมกราคมนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 17,302 ล้านบาท และนักลงทุนสถาบันในประเทศขายสุทธิ 12,341 ล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (มกราคม 2563)

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) มีมติเป็นเอกฉันท์ (10-0) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1.50%-1.75% ตามที่ตลาดคาด และยังคงมองว่าอัตราดอกเบี้ยในระดับดังกล่าวมีความเหมาะสมในการสนับสนุนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจขยายตัวอย่างยั่งยืน

ภาวะตลาดหุ้นไทย – ธันวาคม 2562

ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา SET Index ปรับตัวลง -0.68% จากสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2562 เป็นการแกว่งตัวในกรอบแคบด้วยปริมาณการซื้อขายเบาบาง โดยมีปัจจัยบวกส่วนใหญ่จากต่างประเทศ

ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงตั้งแต่ต้นเดือน จากความกังวลด้านปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะปัจจัยทางการเมือง หลังจากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องการพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ ที่ยื่นโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง จากกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคให้เงินยืมแก่พรรคอนาคตใหม่ และการจัดการชุมนุมแฟล็ชม็อบที่มีประชาชนเข้าร่วมเป็นจำนวนหลายพันคน ทำให้ความกังวลเรื่องความวุ่นวายทางการเมืองกลับมาอีกครั้ง

สำหรับในต่างประเทศ มีข่าวดีเรื่องการบรรลุข้อตกลงการค้าเฟสแรก ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ได้แก่ (1) สหรัฐฯ ยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าจีนที่กำหนดเก็บในวันที่ 15 ธันวาคม 2562 วงเงิน 1.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (2) สหรัฐฯ ตกลงที่จะลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจีนที่มีผลเมื่อเดือนกันยายน 2562 วงเงิน 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เหลืออัตรา 7.5% จากเดิม 15% มีผลบังคับใช้ภายใน 30 วันหลังการลงนาม และ (3) จีนตกลงที่จะนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ วงเงิน 4-5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนภาษีก้อนที่สหรัฐฯ เรียกเก็บไปแล้ว 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่อัตรา 25% จะยังคงเดิม แต่อาจทยอยลดลงในการเจรจาเฟสถัด ๆ ไป โดยผู้นำทั้งสองประเทศน่าจะลงนามข้อตกลงดังกล่าวนี้ได้ในวันที่ 15 มกราคม 2563 ข่าวนี้ส่งผลให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นทั่วโลก

ส่วนในฝั่งยุโรป ความเสี่ยง Brexit ของอังกฤษแบบไม่มีข้อตกลงก็ได้ลดลงไปเช่นกัน หลังผลการเลือกตั้งทั่วไปของอังกฤษ ปรากฏว่าพรรคอนุรักษ์นิยมชนะการเลือกตั้ง และได้รับเสียงข้างมากในสภาอย่างมีนัย อีกทั้งสภาล่างของอังกฤษได้ลงมติเห็นชอบในหลักการร่างกฏหมาย Brexit ของนาย Boris Johnson แล้ว และรอวุฒิสภาลงมติเป็นลำดับถัดไป ซึ่งมีแนวโน้มที่จะผ่านมติอย่างราบรื่น ทำให้ปัญหา Brexit ที่ยืดเยื้อมากว่า 3 ปี น่าจะมีทางออกได้ในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งเป็นผลดีต่อสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนธันวาคม 2562 SET Index ปิดที่ 1,579.84 จุด ปรับตัวลงจากระดับ 1,590.59 จุด หรือประมาณ -0.68% จากสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2562 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ +10.8% กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ +3.9% และกลุ่มโรงพยาบาล +3.7% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มโรงแรม -9.6% กลุ่มสื่อสาร -4.9% และกลุ่มธนาคารพาณิชย์ -2.5% ในเดือนธันวาคมนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 24,487 ล้านบาท และนักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 24,757 ล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (ธันวาคม 2562)

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) มีมติเป็นเอกฉันท์ (10-0) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Federal Funds Rate) ที่ 1.50%-1.75% ตามที่ตลาดคาด โดยมองอัตราดอกเบี้ยในระดับดังกล่าวมีความเหมาะสมในการสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างยั่งยืน