ภาวะตลาดหุ้นไทย – กันยายน 2563

SET Index ปรับตัวลดลง -5.6% สู่ระดับ 1,237.04 จุด โดยมีปัจจัยหลักที่กดดันตลาด คือ การแพร่ระบาดของไวรัสที่ยังคงลุกลามจนเป็นการแพร่ระบาดรอบที่ 2 หรือ Second Wave ในหลายประเทศ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจสหรัฐ และปัญหาการเมืองภายในประเทศ

การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ยังคงลุกลามอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศ แม้ยอดผู้ติดเชื้อรายวันในสหรัฐฯจะเริ่มลดลง และทรงตัวที่ระดับ 3-4 หมื่นราย/วัน แต่ในยุโรป ละตินอเมริกา และหลายประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศอินเดีย พม่า อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง ทำให้ประเทศต่าง ๆ มีการใช้มาตรการป้องกันที่เข้มงวดขึ้น ทำให้ยังคงกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะเดียวกันวัคซีนต้านไวรัส COVID-19 อาจมีการล่าช้าออกไป เช่น บริษัทแอสตราเซเนกา ประกาศระงับการทดสอบวัคซีน COVID-19 ที่พัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดเป็นการชั่วคราว เนื่องจากหนึ่งในอาสาสมัครที่เข้ารับการทดสอบล้มป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ ขณะที่ผู้บริหารของบริษัทบีออนเทค เชื่อมั่นว่าวัคซีนที่บริษัทพัฒนาร่วมกับไฟเซอร์อาจจะได้รับการอนุมัติในช่วงกลางเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน 2563 เนื่องจากวัคซีนใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว นอกจากประเด็นการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ยังมีประเด็นความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดย FED คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะใช้เวลานานในการฟื้นตัวได้เต็มที่ ซึ่ง FED จะใช้เครื่องมือทั้งหมดที่มีเพื่อพยุงเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ขณะที่มาตรการทางการคลังยังมีความจำเป็นมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันรัฐสภาสหรัฐฯ ยังไม่สามารถตกลงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเฟส 4 ได้สำเร็จ นอกจากนี้ ผลสำรวจการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะเลือกตั้งในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 พบว่า นาย Joe Biden จากพรรค Democrat มีคะแนนนิยมนำประธานาธิบดี Donald Trump ทำให้เกิดความเสี่ยงด้านนโยบายหลายอย่างหากเกิดการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง ทำให้ตลาดมีการปรับพอร์ตสินทรัพย์เสี่ยงล่วงหน้า ส่วนปัจจัยภายในประเทศ แม้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับคาดการณ์ GDP ไทยปี 2563 ขึ้นสู่ -7.8% จาก -8.1% เพื่อสะท้อนผลกระทบจากการปิดเมืองที่น้อยกว่าที่ประเมินไว้ แต่ได้ปรับลด GDP ปี 2564 ลง โดยคาดเติบโตที่ +3.6% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 5% จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวช้า สอดคล้องกับมุมมองของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่ประเมินกรณี Best Case โดยคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้าประเทศไทยในปี 2564 ประมาณ 20.5 ล้านคน ลดลง -48% เทียบปี 2562 นอกจากนี้ กนง.ยังคงย้ำว่าไทยจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี จนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับมาจุดเดิมก่อนเกิด COVID-19 ส่วนอีกหนึ่งประเด็นที่เป็นแรงกดดัน คือความเสี่ยงทางการเมืองที่เพิ่มขึ้น หลังนายปรีดี ดาวฉาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังลาออกหลังจากเข้ารับตำแหน่งได้ไม่ถึง 1 เดือน โดยประเด็นนี้อาจก่อให้เกิดความไม่แน่นอนของมาตรการทางการคลังในช่วงถัดไป โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าจะสามารถแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ภายในเดือนตุลาคมนี้ นอกจากนี้ การชุมนุมของนักศึกษาเพื่อเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้ความไม่แน่นอนทางการเมืองเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ด้วยปริมาณเงินจำนวนมหาศาลที่ถูกอัดฉีดเข้ามาในระบบเศรษฐกิจจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางทั่วโลก รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมาก ทำให้ค่า PER ที่เหมาะสมของตลาดถูกปรับขึ้นสูงกว่าในอดีต รวมทั้งการพัฒนาวัคซีนก็ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ที่ทำให้มีโอกาสจะเห็นการผลิตวัคซีนได้ในหลายประเทศในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า ทำให้แม้ตลาดหุ้นจะถูกกดดันจากปัจจัยลบระยะสั้น แต่ในระยะกลาง ตลาดหุ้นน่าจะมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นได้

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนกันยายน 2563 SET Index ปิดที่ 1,237.04 ปรับตัวลดลง 73.62 จุด หรือประมาณ -5.6% จากสิ้นเดือนสิงหาคม 2563 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 24% กลุ่มยานยนต์ 3.5% และประกันภัยและประกันชีวิต 0.9% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -11.3% กลุ่มวัสดุก่อสร้าง -10.4% และกลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ -9.3% นอกจากนี้ ในเดือนกันยายน บัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 2,326.54 ล้านบาทและ 33,737.22 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 12,874.46 และ 23,189.30 ล้านบาทตามลำดับ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – กันยายน 2563

การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยต่อไป โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ระดับ -0.5% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ Marginal Lending Facility ที่ 0.25% และอัตราดอกเบี้ย Main Refinancing Operations ที่ 0.00% พร้อมทั้งคงวงเงินมาตรการซื้อสินทรัพย์ (PEPP) ที่ 1.35 ล้านล้านยูโร โดย ECB ยืนยันว่าจะเข้าซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการ PEPP เต็มจำนวนและชี้ว่ามาตรการที่ผ่านมานั้นมีประสิทธิภาพ สะท้อนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ลดลงและไปในทางเดียวกัน ตลอดจนภาวะการเงินมีเสถียรภาพมากขึ้น ทางด้านเศรษฐกิจ ECB ประเมินว่า GDP ในปีนี้จะหดตัว 8% ซึ่งน้อยกว่าที่คาดไว้ในเดือนมิถุนายนที่หดตัว 8.7% และจะกลับมาขยายตัว 5% ในปีหน้าตามประมาณการเดิม โดยประเมินว่าอุปสงค์ในประเทศฟื้นตัวขึ้นมาก แต่เน้นย้ำว่าความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจในระยะต่อไปยังคงสูง ส่วนเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นในปี 2021 ที่ 1.0% และปี 2022 ที่ 1.3% ซึ่งยังคงต่ำกว่าเป้าที่ 2% อยู่มาก

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FED) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0 – 0.25% ไปอย่างน้อยจนถึงปี 2023 เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเข้าสู่การจ้างงานระดับศักยภาพและอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยระยะยาวที่ 2% ซึ่งหมายถึงการปล่อยให้อัตราเงินเฟ้อสูงกว่า 2% ไประยะหนึ่ง นอกจากนี้ FED ยังให้คำมั่นที่จะเพิ่มการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน (MBS) อย่างน้อยเดือนละ 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้านมุมมองต่อเศรษฐกิจ FED ประเมินว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดไว้ และปรับประมาณการ GDP ปี 2020 เป็น -3.7% จากประมาณการเดิมเดือนมิถุนายนที่ -6.5% และคาดว่า GDP ปี 2021 จะขยายตัว 4% นอกจากนี้ ยังปรับลดคาดการณ์อัตราการว่างงานปี 2020 มาที่ 7.6% จากเดิมที่ 9.3% ส่วนอัตราเงินเฟ้อปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 1.2% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแตะระดับ 2% ในปี 2023 ทั้งนี้ FED ยังคงคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะยาวที่ 2.5%

ทางด้านการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ก็อยู่ในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ ให้คงนโยบายการเงินไว้ที่ระดับเดิม โดยคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ -0.1% และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีที่ใกล้ศูนย์ และย้ำว่าเงินเฟ้อคือเป้าหมายหลักของนโยบายการเงิน นอกจากนี้ BOJ จะคงปริมาณซื้อสินทรัพย์ทุกชนิด โดยซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (JGB) ไม่จำกัด ซื้อ ETFs 12 ล้านล้านเยน และซื้อ J-REITs ที่ 1.8 แสนล้านเยน ขณะที่คงปริมาณถือครองตราสารหนี้เอกชนระยะสั้นและยาวไว้ที่ 2 และ 3 ล้านล้านเยนตามลำดับ และกำหนดเพดานปริมาณการถือครองตราสารหนี้เอกชนจนถึงสิ้นมีนาคม 2021 ไว้ที่อย่างละ 7.5 ล้านล้านเยน BOJ มองว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะเริ่มค่อย ๆ ฟื้นตัวจากการส่งออกและการผลิตที่มีสัญญาณดีขึ้น แม้ว่าจะได้รับผลกระทบรุนแรงจาก COVID-19 ขณะที่ความเชื่อมั่นและกำไรภาคธุรกิจยังย่ำแย่ และการลงทุนภาคเอกชนลดลง ทั้งนี้ มองอัตราเงินเฟ้อจะติดลบในระยะนี้จากราคาน้ำมันที่กดดัน แต่เงินเฟ้อจะกลับมาเป็นบวกได้ในระยะต่อไป และจะติดตามการระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2020 ที่ผ่านมา

ทางด้านการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย (MPC) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.50% ตามที่ตลาดคาด และเห็นควรให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจมากขึ้น MPC มองว่า GDP ในปีนี้จะหดตัวอยู่ที่ -7.8% ดีขึ้นจากประมาณการในครั้งก่อนที่ -8.1% เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองที่ผ่านมา ทำให้การใช้จ่ายในประเทศมีสัญญาณดีขึ้น ประกอบกับมองว่าภาครัฐจะเร่งการลงทุนขึ้นมาก มาขยายตัวที่ 8.8% (จาก 5.8%) จึงช่วยชดเชยรายได้จากภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มหดตัวสูงขึ้นได้ ธปท. มองว่า รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติคือปัจจัยฉุดเศรษฐกิจในปีนี้และปีหน้า ประเมินว่าจะไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยมากนักในช่วงที่เหลือของปี ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี 2020 อยู่ที่ 6.7 ล้านคน (จาก 8.0 ล้านคน) และปี 2021 อยู่ที่ 9.0 ล้านคน (จาก 16.2 ล้านคน) มาตรการภาครัฐคือปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก โดยรัฐจำเป็นต้องมีมาตรการที่ตรงจุดและทันกาล เพื่อเน้นทั้งสนับสนุนการจ้างงานและสนับสนุนการปรับโครงสร้างอุปทานให้ทักษะแรงงานและรูปแบบธุรกิจสอดรับกับวิถีใหม่หลัง COVID-19 โดยสรุป ธปท. ประเมินว่าจะต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่า 2 ปีจึงจะทำให้เศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และคาดว่า GDP ในปี 2021 จะขยายตัวเพียง 3.6% (จาก 5.0%)

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นถึงกลาง (ไม่เกิน 3 ปี) ปรับขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวรุ่นอายุ 5 ปีขึ้นไปปรับลดลง 0.04%-0.11% จากการคลายกังวลถึงปริมาณพันธบัตรรัฐบาลที่จะเสนอขาย ซึ่งสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้เปิดเผยแผนการออกประมูลพันธบัตรรัฐบาลไตรมาส 1 ปีงบประมาณ 2021 ในเบื้องต้นในปริมาณที่น้อยกว่าที่ตลาดคาด ทางด้านการซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้เป็นการซื้อสุทธิรวมประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 2.5 พันล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 2.7 หมื่นล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว คงเหลือการถือครองพันธบัตรรัฐบาลรวมประมาณ 8.48 แสนล้านบาท หรือลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณ 6.8 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดหุ้นไทย – สิงหาคม 2563

SET Index ปรับตัวลดลง -1.3% สู่ระดับ 1,310.66 จุด โดยมีปัจจัยหลักที่กดดันตลาด คือ การแพร่ระบาดของไวรัสที่ยังคงลุกลามจนเป็นการแพร่ระบาดรอบที่ 2 หรือ Second Wave ในหลายประเทศโดยเฉพาะในยุโรปและหลายประเทศในเอเชีย ปัญหาความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และปัญหาการชุมนุมทางการเมืองภายในประเทศ

การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ยังคงลุกลามอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศ แม้ยอดผู้ติดเชื้อรายวันในสหรัฐฯ จะเริ่มลดลง และทรงตัวที่ระดับ 3-4 หมื่นราย/วัน แต่ในยุโรปและหลายประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศเกาหลีใต้ ที่มียอดผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง ทำให้มีการใช้มาตรการป้องกันที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะเดียวกันได้มีการทดลองและพัฒนาวัคซีนต้านไวรัส COVID-19 อย่างต่อเนื่อง เช่น ประเทศรัสเซียได้ประกาศเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2563 ว่าวัคซีนต้านไวรัส COVID-19 ที่คิดค้นในประเทศรัสเซียได้ผ่านการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับด้านสาธารณสุขภายในประเทศแล้ว และคาดว่าจะเริ่มผลิตในเชิงอุตสาหกรรมได้ในเดือนกันยายน 2563

นอกจากประเด็นการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ยังมีประเด็นความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังจากที่ทั้งสองประเทศตอบโต้กันผ่านมาตรการทางกฎหมาย การคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่และบริษัทต่าง ๆ และการใช้วิธีการข่มขู่ทางทหาร ทั้งนี้ สหรัฐฯ ได้เลื่อนการทบทวนข้อตกลงการค้าเฟส 1 กับจีนออกไปอย่างไม่มีกำหนด โดยให้เหตุผลว่าสหรัฐฯ ให้เวลาจีนในการสั่งซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มเติม แม้จะเป็นปัจจัยบวกระยะสั้น แต่ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่กดดันตลาดในระยะกลางและระยะยาว เนื่องจากมีโอกาสสูงที่ประธานาธิบดี Trump จะกดดันจีนเพิ่มเติม เพื่อเรียกคะแนนความนิยมก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ดังนั้น การเลื่อนกำหนดการทบทวนข้อตกลงการค้าเฟส 1 เป็นเพียงการยื้อเวลาในระยะสั้นเท่านั้น ส่วนปัจจัยภายในประเทศ เริ่มมีความเสี่ยงที่จะเกิดความวุ่นวายมากขึ้นจากการชุมนุมทางการเมืองเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญและยุบสภา และตัวเลข GDP ในไตรมาส 2/2563 ที่ยังคงหดตัวลง 12.2% ต่อเนื่องจากการหดตัว 2% ในไตรมาส 1/2563 โดยมีสาเหตุมาจากการลดลงของการส่งออกสินค้าและบริการ (-28.3%) การลงทุนภาคเอกชน (-15%) และการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชน (-6.6%) ขณะที่การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของภาครัฐ (+1.4%) และการลงทุนของภาครัฐ (+12.5%) ขยายตัว โดยการหดตัวของ GDP ในไตรมาส 2/2563 ส่งผลให้สภาพัฒน์ปรับลดกรอบคาดการณ์ GDP 2020 ลงสู่ -7.6% ถึง -7.3% จากเดิม -6% ถึง -5% ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ GDP ไว้ที่ -8.1% โดยธนาคารแห่งประเทศไทยจะทบทวนประมาณการ GDP อีกครั้งในเดือนกันยายน โดยการปรับประมาณการครั้งใหม่อาจถูกกดดันจาก 3 ปัจจัยคือ 1) การเปิดการเดินทางระหว่างประเทศที่ล่าช้า 2) ความเสี่ยงการเมืองที่เพิ่มมากขึ้น 3) อัตราการว่างงานที่สูง

อย่างไรก็ตาม ด้วยปริมาณเงินจำนวนมหาศาลที่ถูกอัดฉีดเข้ามาในระบบเศรษฐกิจจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางทั่วโลก รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมาก ทำให้ค่า PER ที่เหมาะสมของตลาดถูกปรับขึ้นสูงกว่าในอดีต รวมทั้งการพัฒนาวัคซีนก็ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ที่ทำให้มีโอกาสจะเห็นการผลิตวัคซีนได้ในหลายประเทศในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า ทำให้แม้ตลาดหุ้นจะถูกกดดันจากปัจจัยลบระยะสั้น แต่ในระยะกลาง ตลาดหุ้นน่าจะมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นได้

สรุปภาวะตลาดหุ้นไทยช่วงเดือนสิงหาคม 2563 SET Index ปิดที่ 1,310.66 จุด ปรับตัวลดลง 17.87 จุด หรือประมาณ -1.3% จากสิ้นเดือนกรกฎาคม 2563 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ 8.3% กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ 5.0% และสื่อและสิ่งพิมพ์ 4.6% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค -5.3% กลุ่มวัสดุก่อสร้าง -4.2% และกลุ่มการแพทย์ -2.6% นอกจากนี้ ในเดือนสิงหาคม นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 11,574 ล้านบาทและ 17,122 ล้านบาทตามลำดับ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติและบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ขายหุ้นไทยสุทธิ 27,661 และ 1,035 ล้านบาทตามลำดับ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – สิงหาคม 2563

คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.1% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และคงวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ที่ 745 พันล้านปอนด์ ตามการคาดการณ์ของตลาด BOE มองพัฒนาการเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาสะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดูดีขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนในเดือนพ.ค. โดยปรับเพิ่มประมาณการ GDP ปี 2020 ขึ้นเป็น -9.5% YoY จากประมาณการครั้งก่อนที่ -14.0% และคาดเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นเป็น 9% ในปี 2021 (ลดลงจากประมาณการครั้งก่อนที่คาด 15%) บนสมมติฐานว่าผลกระทบทางตรงจาก COVID-19 จะทยอยหายไป ส่วนเงินเฟ้อคาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ยที่ 0.25% ในปี 2020 ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% อย่างมาก จากราคาน้ำมันที่ลดลงและการลดภาษี VAT ให้กับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว และคาดเงินเฟ้อจะทยอยเร่งตัวขึ้นกลับเข้าสู่เป้าหมายได้ในปี 2022 ด้านตลาดแรงงาน คาดว่าอัตราการว่างงาน ณ สิ้นปี 2020 จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7.5% ท่ามกลางความไม่แน่นอนภายหลังมาตรการภาครัฐที่คอยพยุงการจ้างงานได้หมดอายุลง โดย BOE ยังย้ำถึงแนวโน้มเศรษฐกิจของทั้งอังกฤษและโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง ทิศทางเศรษฐกิจต่อจากนี้จะยังขึ้นอยู่กับพัฒนาการของ COVID-19 มาตรการทางด้านสุขภาพ และการตอบสนองของทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน ต่อปัจจัยดังกล่าว นอกจากนี้ BOE ระบุพร้อมปรับเปลี่ยนเครื่องมือทางการเงินที่มีให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และจะยังไม่กลับมาใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดจนกว่าเศรษฐกิจจะส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนและสามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% ได้อย่างยั่งยืน

นาย Jerome Powell ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ประกาศปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินครั้งสำคัญในการประชุมประจำปี Jackson Hole Symposium โดยระบุว่า FED จะปล่อยให้อัตราเงินเฟ้อและการจ้างงานปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าเดิม ก่อนที่จะตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ย สะท้อนถึงอัตราดอกเบี้ยที่จะคงอยู่ที่ระดับต่ำในปัจจุบัน (0-0.25%) เป็นระยะเวลานาน โดยจะกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อแบบเฉลี่ย (Average Inflation Targeting) การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะทำให้ FED สามารถปล่อยให้เงินเฟ้ออยู่สูงกว่าเป้าหมายที่ 2% ได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อชดเชยอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ต่ำกว่าเป้าหมายมาโดยตลอดหลายปีก่อนหน้านี้ ซึ่งหมายถึง FED จะยังไม่จำเป็นต้องลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินในทันทีที่เงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกิน 2% และสะท้อนนโยบายการเงินในอนาคตมีแนวโน้มผ่อนคลายมากขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้ FED ยังได้ปรับเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อการจ้างงานเต็มอัตรา (Full Employment) โดยจะตัดสินใจปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินจาก “การจ้างงานที่ขาดหายไป” จากระดับการจ้างงานเต็มอัตรา จากเดิมที่จะประเมินจาก “การจ้างงานที่เบี่ยงเบนไป” จากระดับการจ้างงานเต็มอัตรา

ทางด้านการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในเดือนนี้ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50% สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินไว้ ทำให้ไม่ได้ส่งผลต่อค่าเงินบาทมากนัก คณะกรรมการฯ มองว่าเศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัวสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของนานาประเทศ แต่จะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่าสองปีกว่าเศรษฐกิจโดยรวมจะกลับมาเป็นปกติ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2020 มีแนวโน้มติดลบ แต่จะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2021 จากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำ การผ่อนคลายนโยบายการเงินและนโยบายการคลังได้ช่วยบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจ นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ สนับสนุนให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกค้ารายย่อยและธุรกิจ รวมทั้งเร่งรัดให้สถาบันการเงินให้เสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้ตรงจุดผ่านโครงการต่าง ๆ

ทางด้านตัวเลขเศรษฐกิจของไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานว่า GDP ไทยไตรมาสที่ 2/2020 หดตัวสูงที่ -12.2%YoY (-9.7%QoQ) สะท้อนว่าไทยเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้ว เศรษฐกิจหดตัวน้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ -13.0%YoY ขณะที่ สศช. ปรับปรุงตัวเลข GDP ในไตรมาสที่ 1 เป็น -2.0%YoY (-2.5%QoQ) จากประกาศครั้งก่อนที่ -1.8%YoY (-2.2%QoQ) อีกทั้ง สศช. ยังลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงมาที่ค่ากลาง -7.5% จากประมาณการครั้งก่อน -5.5% โดยมีสมมติฐานว่าในปีนี้ นักท่องเที่ยวจากต่างชาติจะยังไม่กลับมา และไม่มีมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนเพิ่มเติม แต่มีความเสี่ยงจากประเด็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐ การระบาดของ COVID-19 ภัยแล้ง และการเมืองในประเทศ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับขึ้น 0.08%-0.24% โดยเฉพาะในรุ่นอายุมากกว่า 1 ปี เนื่องจากมีรายการพิเศษในตลาดแรกและธุรกรรมพิเศษที่กระทบต่อปริมาณพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว 2 รายการในเดือนนี้ ได้แก่ “พันธบัตรรัฐบาลเพื่อความยั่งยืนสำหรับบริหารหนี้ให้กู้ต่อ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ครั้งที่ 1” และ “พันธบัตรรัฐบาลเพื่อความยั่งยืน (พ.ร.ก. กู้เงินโควิด-19) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ครั้งที่ 1” จำนวนรวม 30,000 ล้านบาท และการทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตร (Bond Switching) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ครั้งที่ 3 ที่เป็นการเพิ่มปริมาณพันธบัตรอายุระหว่าง 4.3 - 46.8 ปี จำนวนรวม 100,000 ล้านบาท ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นปรับขึ้นเล็กน้อยจากการเสนอขายตั๋วสัญญาใช้เงินอายุ 6 เดือนถึง 1 ปีในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาตามพระราชกำหนดเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ทำให้ปริมาณพันธบัตรระยะสั้นมีมากขึ้นและกดดันให้อัตราผลตอบแทนเพิ่มขึ้น การซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้เป็นการขายสุทธิเล็กน้อย โดยแบ่งเป็นการขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 2.7 พันล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 4.7 พันล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว การถือครองของนักลงทุนต่างชาติในเดือนสิงหาคมลดลง 2.3 พันล้านบาท คงเหลือการถือครองประมาณ 8.23 แสนล้านบาท หรือลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณ 9.4 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดหุ้นไทย – กรกฎาคม 2563

SET Index ปรับตัวลดลง -0.8% สู่ระดับ 1,328.53 จุด โดยมีปัจจัยหลักที่กดดันตลาด คือ การแพร่ระบาดของไวรัสที่ยังคงลุกลามจนเป็นการแพร่ระบาดรอบที่ 2 หรือ Second Wave ในหลายประเทศ ปัญหาความตึงเครียดทางการฑูตระหว่างสหรัฐฯ-จีน และการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจและผลประกอบการไตรมาสที่ 2.

การแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ยังคงลุกลามอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐฯ บราซิล และอินเดีย ที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลก โดยในสหรัฐฯพบผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 6-7 หมื่นราย เช่นเดียวกับประเทศบราซิลและอินเดียซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น นอกจากนี้ ยังมีความกังวลของการแพร่ระบาดรอบที่ 2 ในประเทศออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และฮ่องกง ที่อาจนำไปสู่การ Lockdown ครั้งใหม่ ยังคงกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยปัจจัยหลักที่จะบ่งชี้ความเร่งในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ คือความคืบหน้าของยารักษาโรคและวัคซีนต้านโรค Covid-19 โดยในเดือนกรกฎาคม มีพัฒนาการของยารักษาโรคและวัคซีนดังนี้ 1) ยา Remdesivir ซึ่งเป็นยารักษาโรค Covid-19 ของบริษัท Gilead Sciences Inc สามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้ถึง 62% เมื่อเทียบกับการรักษาด้วยวิธีมาตรฐาน 2) วัคซีนที่ทดลองโดยบริษัท Pfizer ของสหรัฐ และบริษัท BioNTech ของเยอรมนี ได้รับสถานะ Fast Track จากสำนักงานอาหารและยาสหรัฐ (FDA) ซึ่งจะทำให้การพัฒนาวัคซีนเป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น จากการผ่อนคลายกฏระเบียบของ FDA 3) ผลการทดลองเฟส 1 ของวัคซีน mRNA-1273 ของบริษัท Moderna สามารถตอบสนองด้านภูมิคุ้มกันได้ดี และอาจป้องกันโรค Covid-19 ได้ระดับหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันกำลังทดลองเฟส 2 และเริ่มการทดลองเฟส 3 ควบคู่ไปด้วย 4) วัคซีน AZD1222 ที่พัฒนาโดยบริษัท Astrazeneca และมหาวิทยาลัย Oxford ซึ่งการทดลองอยู่ในเฟส 2/3 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพิ่มโอกาสที่วัคซีนจะถูกผลิตออกมาในสิ้นปีนี้ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยด้านความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังสหรัฐฯจำกัดการออกวีซ่าให้กับพนักงานบริษัทในกลุ่ม Technology ของจีน รวมถึงสั่งปิดสถานกงสุลจีนในเมือง Houston โดยกล่าวอ้างว่าจีนจารกรรมข้อมูลลับของสหรัฐฯ ทำให้จีนตอบโต้ด้วยการสั่งปิดสถานกงสุลสหรัฐฯในเมืองเฉิงตู ซึ่งข้อพิพาทต่าง ๆ ทำให้เกิดความกังวลว่าจะนำไปสู่การตอบโต้ทางเศรษฐกิจในที่สุด ส่วนอีกหนึ่งปัจจัยที่ตลาดรอความชัดเจน คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ของสหรัฐฯ หลังมาตรการช่วยเหลือคนว่างงานจะสิ้นสุดในวันที่ 31 กรกฎาคมนี้ ซึ่งพรรค Republican และ Democrat ยังคงเห็นต่างในหลายประเด็น

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ แม้ประเทศไทยจะควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี จนในประเทศปลอดเชื้อมากว่า 60 วัน แต่เนื่องจากไทยพึ่งพิงภายนอกในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ทั้งการท่องเที่ยวและการส่งออก และในปัจจุบัน สถานการณ์ภายนอกยังไม่สู้ดีนัก ซึ่งกระทบต่อ External Demand อย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้อัตราการส่งออกไทยเดือนมิถุนายนหดตัวถึง -24.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และหดตัวสูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่หากไม่รวมการส่งออกทองคำ มูลค่าการส่งออกหดตัว -18.4% น้อยลงมากเมื่อเทียบกับ 29.0% ในเดือนพฤษภาคม ตามการส่งออกที่ปรับดีขึ้นในเกือบทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้นจากการทยอยเปิดเมืองของประเทศคู่ค้า แต่การหดตัวของการส่งออกสินค้ายังอยู่ในระดับสูง เนื่องจากรายได้ของประเทศคู่ค้ายังคงอ่อนแอ

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ตลาดหุ้นปรับฐานลงมาจากระดับ 1,450 มาอยู่บริเวณ 1,330 ในปัจจุบัน ทำให้ระดับ Valuation เริ่มกลับมาน่าสนใจอีกครั้ง อีกทั้งยังมีปริมาณเงินจำนวนมหาศาลที่ถูกอัดฉีดเข้ามาในระบบเศรษฐกิจจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางทั่วโลก รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมาก ทำให้ค่า PER ที่เหมาะสมของตลาดถูกปรับขึ้นสูงกว่าในอดีต และการพัฒนาวัคซีนก็ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภายในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า น่าจะมีการเริ่มผลิตวัคซีนได้ในหลายประเทศ ทำให้แม้ตลาดหุ้นจะถูกกดดันจากปัจจัยลบระยะสั้น แต่ในระยะกลาง ตลาดหุ้นน่าจะมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นได้

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 SET Index ปิดที่ 1,328.53 จุด ปรับตัวลดลง 10.50 จุด หรือประมาณ -0.8% จากสิ้นเดือนมิถุนายน 2563 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ +68.3% กลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต +3.3% และกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม +3.2% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ -11.3% กลุ่มธนาคาร -7.8% และกลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ -7.6% ในเดือนกรกฎาคมนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 10,178 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันในประเทศขายสุทธิ 4,690 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนทั่วไปในประเทศและบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 14,375 และ 492 ล้านบาทตามลำดับ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – กรกฎาคม 2563

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ -0.1% และควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ใกล้ 0% รวมทั้งคงขนาดมาตรการซื้อสินทรัพย์ BOJ ลดคาดการณ์ GDP ปีงบประมาณ 2020 ลงมาที่ -5.7% ถึง -4.5% จากประมาณการเดิมในเดือนเมษายนที่ -5.0% ถึง -3.0% และประเมินว่าเศรษฐกิจปีงบประมาณ 2021 จะกลับมาขยายตัว 3.0% ถึง 4.0% ด้านอัตราเงินเฟ้อปีงบประมาณ 2020 มีแนวโน้มติดลบในกรอบ -0.6% ถึง -0.4% นอกจากนี้ยังส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินและสนับสนุนสภาพคล่องให้ธุรกิจและตลาดการเงิน ทั้งเงินเยนและเงินตราต่างประเทศให้เพียงพอผ่านมาตรการซื้อสินทรัพย์และ Dollar Funding Operations อย่างไม่จำกัด และส่งสัญญาณคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นและยาวที่ระดับปัจจุบันหรือต่ำกว่าในระยะข้างหน้า

ทางด้านการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย กล่าวคืออัตราเงินฝากที่ระดับ -0.50% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ Marginal Lending Facility ที่ 0.25% และอัตราดอกเบี้ย Main Refinancing Operations ที่ 0.00% พร้อมทั้งคงวงเงินมาตรการซื้อสินทรัพย์ PEPP ที่ 1.35 ล้านล้านยูโร และคงระยะเวลาของมาตรการถึงมิถุนายน 2021 โดย ECB มีมุมมองต่อเศรษฐกิจว่ายังมีความเสี่ยงสูง แม้เศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นชัดเจนในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน หลังจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ควยคุมได้และการกลับมาเปิดเมือง แต่เศรษฐกิจยังอ่อนแอกว่าก่อนการระบาดของโควิด-19 มาก การจ้างงานและรายได้ที่ลดลงคาดว่าจะยังฉุดการบริโภคอยู่ โดยยังมองถึงความไม่แน่นอนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังสูงมาก ทั้งนี้ ECB ประเมินว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะหดตัวถึง 8.7% ในปีนี้ และเงินเฟ้อจะอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% ไปถึงสิ้นปี 2022

ในช่วงปลายเดือน คณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.00-0.25% พร้อมส่งสัญญาณว่าจะผ่อนคลายมาตรการเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและจำกัดผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว และชี้ว่าจะยังคงเพิ่มการถือครองพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน (MBS) อย่างน้อยในระดับปัจจุบัน นอกจากนี้ยังขยายเวลาการทำธุรกรรม Swap Line และ Repo Facility ออกไปจนถึง 31 มีนาคม 2021 เพื่อรักษาสภาพคล่องเงินดอลลาร์ และขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องไปอีก 3 เดือนไปสิ้นสุด ณ สิ้นปี 2020 นายโพเวล ประธาน FED ประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะหดตัวรุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ในไตรมาสที่ 2 และจะเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อลดลงจากเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ทั้งนี้ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเริ่มชะลอลงเมื่อการระบาดรุนแรงขึ้นอีกครั้งในเดือนมิถุนายน แต่ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปความรุนแรงของผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

ทางด้านสภาพเศรษฐกิจของไทย ในช่วงปลายเดือนสำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้ปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ว่าจะหดตัวที่ 8.5% โดยมีกรอบคาดการณ์ที่ติดลบ 8-9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่ยังขยายตัวได้ 2.4% โดยมีสาเหตุมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหดตัวลง ในขณะที่การใช้จ่ายของภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ การโอนงบประมาณตามพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2563 และพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า พ.ศ. 2563 โดยมีกรอบวงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท
ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นช่วงอายุไม่เกิน 3 ปีปรับขึ้นเล็กน้อย 1-2 Bps จากการเสนอขายตั๋วสัญญาใช้เงินอายุ 6 เดือนถึง 1 ปีในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาตามพระราชกำหนดเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ทำให้ปริมาณพันธบัตรระยะสั้นมีมากขึ้นและกดดันให้อัตราผลตอบแทนเพิ่มขึ้น ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวเปลี่ยนแปลงไม่มาก การซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้เป็นการซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 หลังจากขายสุทธิ 4 เดือนติดต่อกันนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ โดยแบ่งเป็นการขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 4.5 พันล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 23.5 พันล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว การถือครองของนักลงทุนต่างชาติในเดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้น 1.8 หมื่นล้านบาท คงเหลือการถือครองประมาณ 8.3 แสนล้านบาท หรือลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณ 8.3 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – มิถุนายน 2563

ในช่วงต้นเดือน ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ประกาศผ่อนคลายเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อภายใต้มาตรการ Main Street Lending เพื่อให้ SMEs เข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำได้มากขึ้นและมีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินกิจการในช่วงที่สหรัฐฯ กลับมาเปิดเมืองอีกครั้ง โดย FED จะรับซื้อสินเชื่อดังกล่าวจากสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ ทางด้านการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ในเดือนนี้ มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ 0.00–0.25% และไม่ได้ประกาศมาตรการผ่อนคลายทางการเงินอื่น ๆ เพิ่มเติม ทั้งนี้ FED ให้คำมั่นว่าจะใช้เครื่องมือทางการเงินอย่างเต็มที่เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงที่การระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจ้างงานในสหรัฐฯ หดตัวรุนแรง FED พร้อมใช้เครื่องมือทางการเงินอย่างเต็มที่เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ จากประมาณการอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ชี้ว่า FED จะคงอัตราดอกเบี้ย ณ ระดับปัจจุบันอย่างน้อยจนถึงปี 2022 นอกจากนี้ FED จะรักษาระดับการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ณ ระดับปัจจุบันเพื่อสนับสนุนเสถียรภาพของตลาดการเงิน (พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 8.0 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ/เดือน และ MBS 4.0 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ/เดือน) FED ประเมินเศรษฐกิจหดตัวสูงสุดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 หรือหดตัว 6.5% ในปีนี้ ก่อนจะกลับมาขยายตัว +5.0% ในปี 2021 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ต่ำกว่าระดับเป้าหมายที่ 2.0% และคาดว่าอัตราการว่างงานจะลดลงมาที่ 9.3% ในไตรมาสสุดท้ายของปี FED จะหารือรายละเอียดมาตรการ Yield Curve Control รวมถึงการส่งสัญญาณเกี่ยวกับนโยบายการเงิน (Forward Guidance) ในการประชุมครั้งถัดไป (28-29 กรกฎาคม)

ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติเพิ่มวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE) อีก GBP100 พันล้าน เป็น GBP745 พันล้าน เพื่อหนุนให้เงินเฟ้อฟื้นตัวขึ้นสู่เป้าหมายที่ 2% ในระยะกลาง โดยคาดมาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในปีนี้ และคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.1% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ BOE มีมุมมองต่อเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากการประชุมรอบก่อน โดยระบุว่าราคาสินทรัพย์เสี่ยงได้ฟื้นตัวขึ้นจากจุดต่ำสุดในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แม้จะยังมีความอ่อนไหวต่อพัฒนาการของไวรัส COVID-19 ขณะที่ดัชนีวัดเศรษฐกิจล่าสุดบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจอังกฤษและโลกในไตรมาส 2 อาจหดตัวน้อยกว่าที่เคยประเมินไว้ นอกจากนี้ยังระบุว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคและภาคการบริการเริ่มฟื้นตัวภายหลังการผ่อนปรนมาตรการ Lockdown ซึ่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งการเงินและการคลังที่ออกมาแล้วจะคอยหนุนการฟื้นตัวต่อจากนี้ เศรษฐกิจของอังกฤษหดตัวประมาณ -20% ในเดือนเมษายน (ต่อเนื่องจาก -6% ในเดือนมีนาคม) แต่เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวสะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม (Composite PMI) เดือน พฤษภาคมที่ฟื้นตัวขึ้นดีกว่าที่ตลาดคาด (+16.2, 30.0 จุด) อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจของทั้งอังกฤษและโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยจะขึ้นอยู่กับพัฒนาการของไวรัส COVID-19 มาตรการทางด้านสุขภาพ และการตอบสนองของทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนต่อปัจจัยดังกล่าว

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (MPC) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50% สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินไว้ ทำให้มติดังกล่าวไม่ได้ส่งผลต่อเงินบาทมากนัก สาเหตุการคงอัตราดอกเบี้ยคือ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มอ่อนแอกว่าคาด แต่คาดว่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปีเช่นเดียวกับประเทศที่คุมการระบาดของไวรัสได้ดี อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มติดลบ แต่จะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2021 และคณะกรรมการมองว่าการผ่อนคลายนโยบายการเงินตั้งแต่ต้นปีและนโยบายการคลังปัจจุบันจะเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี นอกจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยลงมาที่ -8.1% จากประมาณการเดิม -5.3% โดยประเมินการบริโภคและลงทุนภาคเอกชนหดตัวมากกว่าเดิม รวมทั้งการระบาดไวรัสส่งผลกระทบรุนแรงต่อการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวของไทย ขณะที่ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้อยู่ที่ -1.7% จากเดิม -1.0% ในปีหน้าธปท. คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวที่ 5.0% และเงินเฟ้อมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายโดยเฉลี่ย โดยคาดว่าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 0.9%

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุไม่เกิน 3 ปีปรับลดลง ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุมากกว่า 10 ปีปรับขึ้น จากความกังวลปริมาณพันธบัตรรัฐบาสที่จะออกประมูลในไตรมาสที่ 4 ปีงบประมาณ 2020 (กรกฎาคม-กันยายน 2020) ที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน การซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้เริ่มกลับมาเป็นการซื้อสุทธิหลังจากการขายสุทธิ 4 เดือนติดต่อกันนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ โดยแบ่งเป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 6 พันล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 26 พันล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว การถือครองของนักลงทุนต่างชาติในเดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้น 2.2 หมื่นล้านบาท คงเหลือการถือครองประมาณ 8.2 แสนล้านบาท หรือลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณ 9.7 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ