ภาวะตลาดหุ้นไทย – มิถุนายน 2563

SET Index ปรับตัวลดลง -0.3% สู่ระดับ 1,339.03 จุด โดยมีปัจจัยหลักที่กดดันตลาด คือ การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ยังคงลุกลาม และโอกาสของการแพร่ระบาดรอบที่ 2 หรือ Second Wave

หลังจากที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดลง หลายๆ ประเทศจึงมีการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown แต่ภายในระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ให้หลัง พบว่า ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ และจีน เริ่มพบกับการแพร่ระบาดอีกครั้ง โดยสหรัฐฯ พบผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 3-4 หมื่นราย โดยรัฐ California, Texas, Florida และ Arizona เผชิญยอดผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง ตอกย้ำผลกระทบเชิงลบจากการเร่งเปิดเมือง และการรวมกลุ่มประท้วงเรียกร้องความยุติธรรมในกรณีของ George Floyd เช่นเดียวกันกับที่จีน ปักกิ่งพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ หลังปลอดเชื้อมาเกือบ 2 เดือน และส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ โดยศูนย์กลางการแพร่ระบาดมาจากตลาดค้าส่งอาหารซินฟาตี้ ซึ่งเป็นตลาดค้าส่งอาหารที่ใหญ่ที่สุดของปักกิ่ง ทำให้รัฐบาลต้องประกาศ Lockdown ในหลายพื้นที่ในเมืองปักกิ่งเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด ทำให้เกิดความกังวลว่าจีนจะต้องกลับมาปิดเมืองเต็มรูปแบบอีกครั้ง หากการแพร่ระบาดรอบนี้รุนแรงมากขึ้น จะก่อให้เกิด Downside ต่อเศรษฐกิจ และทำให้เดิมที่คาดเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้ในช่วง 2H20 จะชะลอออกไป โดยการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่รุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ ทำให้ IMF ปรับลดคาดการณ์ GDP โลกปี 2020 ลงสู่ -4.9% จากเดิมคาด -3% และปรับลดคาดการณ์ GDP โลกปี 2021 ลงสู่ 5.4% จาก 5.8% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการปรับลด GDP ทางฝั่งยุโรป อินเดีย และละตินอเมริกา

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ แม้ประเทศไทยจะควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี จนในประเทศปลอดเชื้อมากว่า 30 วัน แต่เนื่องจากไทยพึ่งพิงภายนอกในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ทั้งการท่องเที่ยวและการส่งออก และในปัจจุบัน สถานการณ์ภายนอกยังไม่สู้ดี ซึ่งกระทบต่อ External Demand อย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้อัตราการส่งออกไทยเดือน พ.ค. หดตัวถึง -22.50% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี อีกทั้งล่าสุด กนง.ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2020 ลงสู่ -8.1% จากเดิม -5.3% และปรับลดคาดการณ์การส่งออกไทยในปีนี้ลงเหลือ -10.3% จากเดิมคาด -8.8% และมีมติคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50%

นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ในระยะที่ 2 ซึ่งได้แก่ การลดดอกเบี้ยบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 2-4% การขยายระยะเวลางดการผ่อนชำระต่ออีก 3 เดือน และการขยายระยะเวลาลดค่างวดลงอย่างน้อย 30% ไปอีก 6 เดือน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้ออกคำสั่งให้ธนาคารพาณิชย์งดการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในงวดปี 2563 และงดการซื้อหุ้นคืนหรือไถ่ถอนตราสารหนี้ที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 หรือชั้นที่ 2 ก่อนครบกำหนด รวมถึงให้จัดทำแผนการบริหารจัดการเงินกองทุนระยะเวลา 1-3 ปี สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นความกังวลของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่อาจเห็นสัญญาณการเพิ่มขึ้นของหนี้สงสัยจะสูญปริมาณมหาศาลในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ทำให้เกิดแรงกดดันต่อตลาดหุ้นไทย และทำให้ SET Index ปรับตัวลง

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ตลาดหุ้นปรับฐานลงมาจากระดับ 1,450 มาอยู่บริเวณ 1,350 ในปัจจุบัน ทำให้ระดับ Valuation เริ่มกลับมาน่าสนใจอีกครั้ง อีกทั้งในขณะนี้มีปริมาณเงินจำนวนมหาศาลถูกอัดฉีดเข้ามาในระบบเศรษฐกิจจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางทั่วโลก รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมาก ทำให้ค่า PER ที่เหมาะสมของตลาดถูกปรับขึ้นสูงกว่าในอดีต และการพัฒนาวัคซีนก็ยังดำเนินไปอย่างไปหยุดยั้ง ทำให้ภายในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า น่าจะมีการกระจายวัคซีนได้ในหลายประเทศ ทำให้แม้ตลาดหุ้นจะถูกกดดันจากปัจจัยลบระยะสั้น แต่ในระยะกลาง ตลาดหุ้นน่าจะมีแนวโน้มปรับขึ้นได้

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนมิถุนายน 2563 SET Index ปิดที่ 1,339.03จุด ปรับตัวลดลงจากระดับ 1,342.85 จุด หรือประมาณ -0.3% จากสิ้นเดือนพฤษภาคม 2563 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง +6.0% กลุ่มวัสดุก่อสร้าง +5.9% และกลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต +5.7% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มเงินทุนหลักทรัพย์ -8.9% กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ -3.4% และกลุ่ม ICT -3.3% ในเดือนมิถุนายนนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 22,717 ล้านบาท และนักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 6,576 ล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – พฤษภาคม 2563

ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติเป็นเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.1% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ แต่มีมติ 7-2 คงวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE) ทั้งพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้เอกชนรวมกันที่ GBP645bn และแถลงการณ์ระบุว่าอาจมีการเพิ่มวงเงิน QE ในการประชุมครั้งถัดไปในเดือน มิ.ย. ทางด้านเศรษฐกิจ BOE มองว่าประเมินได้ยาก เนื่องจากเป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งยังขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ วิวัฒนาการของ COVID-19 และการตอบสนองของภาครัฐ ครัวเรือน ธุรกิจ และตลาดการเงิน โดยในกรณีฐาน (Base Case) BOE มองว่าเศรษฐกิจจะหดตัวแรงในช่วงครึ่งแรกของปี แต่จะเริ่มฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีจากการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ที่เริ่มในวันที่ 10 พ.ค. นอกจากนี้ BOE คาดว่า GDP ไตรมาส 2 ปี 2020 จะหดตัวแรง -25.0% QoQ และทั้งปีนี้จะหดตัว -14% YoY แย่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 1706 อย่างไรก็ดี คาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นแรงเป็น 15% YoY ในปีหน้า ทางด้านเงินเฟ้อ คาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ยที่ 0.6% YoY ในปี 2020 ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% อย่างมาก จากการปรับลดลงแรงของราคาน้ำมันประกอบกับปริมาณความต้องการ (Demand) น้อย แต่คาดว่าจะทยอยฟื้นตัวขึ้นและเข้าใกล้เป้าหมายที่ 2% ได้ในปี 2022 ด้านอัตราการว่างงาน BOE คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นเป็น 8% ในปีนี้ แต่จะเป็นเพียงชั่วคราว จากนั้นอัตราการว่างงานจะทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 4% ในปี 2022

นาย Jerome Powell ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ระบุในการเสวนาซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบัน Peterson Institute for International Economics (PIIE) ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้เผชิญความเสี่ยงรุนแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนจากการระบาดของ COVID-19 และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมยังมีความจำเป็น แต่ยังไม่เห็นความเหมาะสมในการใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบ นอกจากนี้ ยังได้ให้ความเห็นว่า เศรษฐกิจจะใช้เวลาสักระยะในการฟื้นตัว ซึ่งอาจทำให้ปัญหาขาดแคลนสภาพคล่องในภาคธุรกิจลุกลามไปสู่การล้มละลายและการว่างงานถาวรจะเพิ่มขึ้นตามมา ดังนั้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจการคลังเพิ่มเติมแม้จะมีมูลค่าสูง กล่าวคือหนี้สาธารณะที่จะเพิ่มขึ้นและการขาดดุลการคลังที่สูง แต่ยังมีความจำเป็นในการลดทอนผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจในระยะยาวและหนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นได้อย่างแข็งแกร่ง ทางด้านตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ออกมาล่าสุด สะท้อนถึงผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ที่รุนแรงกว่าที่เคยประเมินกันไว้ โดยเฉพาะตลาดแรงงานที่กว่า 20 ล้านรายต้องกลายเป็นผู้ว่างงาน อัตราการว่างงานในเดือนเม.ย. พุ่งขึ้นเป็น 14.7% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายหลังการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ก็ดูจะเป็นไปอย่างช้า ๆ จากความกังวลต่อการกลับมาระบาดของไวรัส

ทางด้านตัวเลขเศรษฐกิจของไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รายงาน GDP ในไตรมาสที่ 1 ปี 2020 หดตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ปี 2014 ที่ -1.8% YoY จากที่ตลาดคาดว่า GDP จะหดตัวมากถึง -3.9% หากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดย GDP หดตัว -2.2% QoQ sa (Seasonally Adjusted) จาก +0.2%QoQ sa ในไตรมาสก่อน โดยถือว่าหดตัวน้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ -4.2%QoQ sa ทั้งปี 2020 สศช. คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวในช่วง -5.0% ถึง -6.0% จากประมาณการเดิมที่ +1.5 ถึง +2.5% โดยประเมินว่าภาครัฐจะมีเม็ดเงินสนับสนุนเศรษฐกิจถึง 15% ของ GDP

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยในเดือนนี้ มีมติ 4 ต่อ 3 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยลดลง 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 0.50% สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินไว้ ทำให้นับตั้งแต่ต้นปี กนง. ลดอัตราดอกเบี้ยลงไปแล้วทั้งสิ้น 0.75% สาระสำคัญจากการประชุมคือ (1) เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มหดตัวรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ (2) อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มติดลบกว่าที่คาด และ (3) เสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางมากขึ้น จึงจำเป็นต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม สอดคล้องกับมาตรการทางการคลัง และมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ออกมาก่อนหน้านี้ ส่วนคณะกรรมการ 3 ท่านที่เห็นค้าน สนับสนุนการคงดอกเบี้ย โดยมองว่าควรเร่งรัดประสิทธิภาพมาตรการทางการเงินและสินเชื่อที่บังคับใช้ไปแล้ว รวมทั้งเร่งปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ตรงจุดและทันการณ์

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลโดยส่วนใหญ่ปรับลดลง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นปรับลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าตามความคาดหวังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวในช่วงอายุ 10-20 ปีกลับเพิ่มขึ้น คาดว่าเป็นผลจากอุปทานที่เพิ่มขึ้นจากการจัดประมูลในเดือนนี้ การซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้เป็นการขายสุทธิต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ของปี แบ่งเป็นการขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 1.06 พันล้านบาท ขายสุทธิพันธบัตรระยะยาว 7.94 พันล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว การถือครองของนักลงทุนต่างชาติในเดือนพฤษภาคมลดลง 1.08 หมื่นล้านบาท คงเหลือการถือครองประมาณ 7.97 แสนล้านบาท หรือลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณ 1.2 แสนล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดหุ้นไทย – พฤษภาคม 2563

SET Index ปรับตัวขึ้น 3.2% สู่ระดับ 1,342.85 จุด เป็นการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากเดือนเมษายน บนความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีน การกระตุ้นเศรษฐกิจของเหล่าธนาคารกลางทั่วโลก และความคาดหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังจากหลาย ๆ ประเทศเริ่มการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown

ปัจจัยที่ทำให้ตลาดโลกฟื้นตัว มาจากความคืบหน้าของวัคซีนต้าน COVID-19 หลังบริษัท Moderna Inc แถลงผลการทดลองทางคลินิก ซึ่งทำให้ร่างกายผลิตแอนติบอดีที่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสในผู้ป่วย COVID-19 ได้ โดยเตรียมจะทดลองในขั้นต่อไปในเดือนกรกฎาคม เช่นเดียวกับบริษัท Novavax ที่เริ่มทดลองวัคซีนทางคลีนิกเฟส 1 แล้ว และคาดว่าจะรู้ผลในเดือนกรกฎาคมนี้ จึงเพิ่มความคาดหวังที่จะสามารถยับยั้งการแพร่ระบาดได้ ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในหลายประเทศที่ดีขึ้น หลังจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดลง ทำให้เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown เพิ่มความคาดหวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงถัดไป

อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีนกลับเพิ่มขึ้น หลังประธานาธิบดีทรัมป์ขู่จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนรอบใหม่ เนื่องจากจีนเป็นต้นตอของการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ประกอบกับการที่จีนผ่านร่างกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในฮ่องกง ทำให้สหรัฐฯไม่พอใจ และออกมาตรการตอบโต้ นอกจากนี้ วุฒิสภาสหรัฐฯมีมติผ่านร่างกฎหมาย "Holding Foreign Companies Accountable Act" ซึ่งอาจทำให้บริษัทจีนที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐฯมีโอกาสถูกถอดออกจากตลาด และอาจทำให้บริษัทจีนจำนวนมากไม่สามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯได้ หากไม่สามารถทำตามมาตรฐานบัญชีของสหรัฐฯ ส่งผลให้ความสัมพันธ์ของสองประเทศสั่นคลอน เพิ่มความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจโลก

สำหรับปัจจัยภายในประเทศไทยนั้น GDP ในไตรมาส 1 ประกาศออกมาที่ -1.8% เป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 6 ปี แม้ว่าจะดีกว่าตัวเลขที่คาดไว้ที่ -4% โดยที่การบริโภคภาคเอกชนยังเติบโต 3% yoy จากแรงกักตุนซื้อสินค้าก่อนการ Lockdown และการส่งออกเติบโต 2% yoy ซึ่งหลักๆ มาจากการส่งออกทองคำและอาวุธ ในขณะที่องค์ประกอบอื่น ๆ ติดลบค่อนข้างมาก การบริการซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากโรค COVID-19 -29.8% yoy การลงทุนของเอกชน -5.5% yoy จากการหดตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง การลงทุนของภาครัฐ -9.3% yoy จากความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณ ส่วนภาคการผลิตการเกษตร -5.7% yoy จากภาวะภัยแล้ง

ตัวเลขกำไรของบริษัทจดทะเบียนไทยในไตรมาสที่ 1 ออกมาเติบโต -52.8% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปีที่แล้ว และ -42.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยกลุ่มที่รายงานการขาดทุนสูงคือ กลุ่มพลังงาน ที่บันทึกขาดทุนจากมูลค่าสินค้าคงคลัง อันเนื่องมาจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลงแรงในเดือนมีนาคม กลุ่มที่กำไรหดตัวรุนแรงรองลงมาคือ กลุ่มธุรกิจในภาคบริการที่กำไร -46.0% yoy และ -45.5% qoq โดยกลุ่มท่องเที่ยวและสันทนาการ และกลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ (ไม่รวม THAI และ NOK ที่เลื่อนการประกาศงบการเงิน) พลิกเป็นขาดทุน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาส 1 ที่เหลือเพียง 6.7 ล้านคน คิดเป็น -38% yoy โดยนักท่องเที่ยวจีนลดลงประมาณ 60% yoy จากการปิดเมืองหลายเมืองในประเทศจีน และมาตรการ Lockdown ของไทยและประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ทำให้การเดินทางทั้งทางบกและทางอากาศหยุดชะงัก กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน กำไร -43.7% yoy และ -36.1% qoq จากผลกระทบต่อเนื่องของมาตรการควบคุม LTV ของธปท. ในปีที่แล้ว ผนวกกับกำลังซื้อในประเทศอ่อนตัว และผู้ประกอบการมีการออกโครงการใหม่ๆ น้อยลง ส่วนกลุ่มที่กำไรยังเติบโต ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เติบโต 8.7% yoy จากอานิสงส์ของเงินบาทอ่อนค่า และคำสั่งซื้อที่ยังไม่ได้รับผลกระทบมากนักในช่วงต้นปี กลุ่มอาหารกำไรยังเติบโตได้ดีจากราคาหมูและไก่ในต่างประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น และได้รับอานิสงส์จากเงินบาทอ่อนค่าเช่นกัน

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนพฤษภาคม 2563 SET Index ปิดที่ 1,342.85 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 1,301.66 จุด หรือประมาณ +3.2% จากสิ้นเดือนเมษายน 2563 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มธุรกิจการเกษตร +46.4% กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ +16.0% และกลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ +6.9% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง -2.1% กลุ่ม ICT -0.3% และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง -0.2% ในเดือนเมษายนนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 31,598 ล้านบาท และนักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 17,838 ล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย – เมษายน 2563

SET Index ปรับตัวขึ้น 15.6% สู่ระดับ 1,301.66 จุด เป็นการปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ตอบรับความคาดหวังว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในหลายๆ ประเทศเริ่มจะควบคุมได้ และการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของรัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลก

หลังจากที่ประเทศต่าง ๆ เริ่มมาตรการ Lockdown ในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสเพิ่มขึ้นรายวันเริ่มมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ หากเทียบระหว่างช่วงต้นเดือนกับปลายเดือนเมษายน พบว่า สหรัฐอเมริกาฯ มีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นลดลงจาก 13% เป็น 4% อิตาลีลดลงจาก 5% เป็น 1% สเปนและเยอรมนี จาก 8% เป็น 1% รวมถึงประเทศไทยเองที่ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเหลือเพียงหลักหน่วยต่อวัน สะท้อนให้เห็นว่าชาติต่าง ๆ เริ่มรู้วิธีการรับมือกับเชื้อโรค และควบคุมสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดี หลายๆ ประเทศเริ่มเตรียมการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown โดยทยอยให้ธุรกิจบางประเภทเริ่มกลับมาเปิดได้ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวอีกครั้ง

ในขณะเดียวกัน ปริมาณเงินมหาศาลถูกอัดฉีดเข้ามาในระบบเศรษฐกิจทั้งสู่ประชาชนโดยตรงและผ่านการซื้อตราสารในตลาดทุน FED มีการประกาศอัดฉีด QE เข้าซื้อตราสารหนี้แบบไม่จำกัดวงเงินและไม่จำกัดเรตติ้ง เมื่อรวมกับมาตรการการคลังที่แจกเงินเข้าสู่มือประชาชนที่ตกงานและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกว่าอีก 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ การอัดฉีดชุดนี้ถือว่าออกมาได้รวดเร็วและเป็นการปล่อยกระสุนลูกใหญ่มากของสหรัฐอเมริกา ทางฝั่งเอเชียก็ไม่ได้ด้อยไปกว่ากัน สิงคโปร์อัดฉีดเงิน 3.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 11% ของ GDP ญี่ปุ่นวางแผนกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 9.9 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเกือบ 20% ของ GDP เป็นต้น

ทางด้านประเทศไทยนั้น BOT มีการประกาศให้ความช่วยเหลือด้านเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) แก่ผู้ประกอบการธุรกิจวงเงิน 5 แสนล้านบาท อีกทั้งยังประกาศเข้าซื้อตราสารทางการเงินของบริษัทเอกชนโดยตรง ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2563 และ 2564 ที่ไม่มีวงเงินจากสถาบันการเงิน หรือไม่สามารถออกตราสารหนี้ใหม่เพื่อไถ่ถอนตราสารหนี้เดิมที่จะครบกำหนดได้ เป็นวงเงินกว่า 4 แสนล้านบาท เพื่อเป็นการป้องกันบริษัทล้มละลายจากการขาดสภาพคล่องอย่างกระทันหันในภาวะวิกฤตินี้ ส่วนในฝั่งนโยบายการคลัง รัฐบาลได้มีการแจกเงินเยียวยารายละ 5,000 บาทเป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือนให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการปิดกิจการบางประเภท และเริ่มทยอยออกมาตรการเยียวยาลูกจ้างประเภทอื่น ๆ รวมถึงภาคเกษตร ในวงเงินกว่า 1 ล้านล้านบาท การกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างพร้อมเพรียงกันทั่วโลกนี้ จึงส่งผลดีต่อบรรยากาศการลงทุน และทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกฟื้นตัวในลักษณะ V-shape

ส่วนสถานการณ์น้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบยังคงผันผวนรุนแรง แม้ว่ากลุ่ม OPEC+ สามารถบรรลุข้อตกลงในการปรับลดกำลังการผลิต 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวันซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม แต่ยังคงไม่เพียงพอกับอุปสงค์ของน้ำมันที่หายไป จากการลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเดินทางระหว่างประเทศ ประกอบกับคลังน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในเมือง Cushing ซึ่งเป็นจุดส่งมอบน้ำมันดิบ WTI จะเต็มความจุในไม่ช้า เนื่องจากน้ำมันในคลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในภาวะราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ราคาน้ำมันดิบ WTI สำหรับสัญญาเดือนพฤษภาคม ปรับตัวลงแรงและปิดที่ระดับ -37.63 เหรียญต่อบาร์เรลในวันก่อนวันซื้อขายวันสุดท้าย จากการเร่งปิด Position ของผู้ถือสัญญา เนื่องจากไม่สามารถรับมอบน้ำมันได้

สรุปภาวะตลาดหุ้นไทยช่วงเดือนเมษายน 2563 SET Index ปิดที่ 1,301.66 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 1,125.86จุด หรือประมาณ +15.6% จากสิ้นเดือนมีนาคม 2563 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ +35.6% กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ +26.7% และกลุ่มปิโตรเคมี +26.4% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ +2.5% กลุ่ม ICT +2.6% และกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ +7.6% ในเดือนเมษายนนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 46,976 ล้านบาท และนักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 23,675 ล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – เมษายน 2563

ในช่วงต้นเดือนธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ได้ประกาศมาตรการทางการเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบของไวรัสต่อเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีก 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเยียวยาธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมถึงรัฐบาลท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา หลังจากยอดขอรับสวัสดิการการว่างงานเพิ่มขึ้นถึง 6.6 ล้านคน ทำให้ยอดผู้ขอรับสวัสดิการสูงถึง 16.8 ล้านคนในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งรายละเอียดของมาตรการดังกล่าวเป็นไปในแนวทางเดียวกับธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ได้ผ่อนคลายเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อแก่สถาบันการเงิน โดยอนุญาตให้นำสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงและอันดับความน่าเชื่อถือต่ำ เช่น พันธบัตรรัฐบาลประเทศกรีซ สินเชื่อ SME และเงินกู้สกุลต่างประเทศมาค้ำประกันได้ ประเด็นดังกล่าวสะท้อนภาวะการเงินตึงตัวทั้งในตลาดการเงินและภาคธุรกิจที่รุนแรง ต่อมาในช่วงปลายเดือน คณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.00-0.25% และไม่ได้ประกาศมาตรการผ่อนคลายทางการเงินอื่น ๆ เพิ่มเติม ทั้งนี้ได้ให้คำมั่นว่าจะใช้เครื่องมือทางการเงินทุกอย่างที่มีเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงที่การระบาดของไวรัสโคโรนาทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจ้างงานในสหรัฐฯ รวมถึงทั่วโลกหดตัวรุนแรง และจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับปัจจุบันต่อไปจนกว่าความเชื่อมั่นของภาคเอกชนและประชาชนจะกลับมาในทิศทางที่เศรษฐกิจเริ่มกลับเข้าสู่เป้าหมายที่การจ้างงานเต็มที่และราคาสินค้าอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ ทางด้านธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ -0.1% และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีใกล้ 0% พร้อมทั้งขยายมาตรการซื้อสินทรัพย์เพิ่มเติมให้เป็นการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลได้ไม่จำกัด ขยายการเข้าซื้อตราสารหนี้เอกชนระยะยาวและระยะสั้น และพร้อมจะผ่อนคลายมาตรการเพิ่มเติมหากจำเป็น โดย BOJ ปรับประมาณการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจญี่ปุ่นลงมาอยู่ที่ -5.0% ถึง -3.0% และคาดเงินเฟ้ออยู่ที่ -0.7% ถึง -0.3%

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะถดถอยรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตช่วงปี 1930 โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัว 3% ในปี 2020 จากประมาณการเดิมในเดือนมกราคมที่มองว่าจะขยายตัว 3.3% และคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวในปีถัดไปโดยขยายตัว 5.8% ในปี 2021 (ในกรณีเลวร้ายเศรษฐกิจโลกอาจหดตัวเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าหากการปิดเมืองยืดเยื้อเกินกว่าไตรมาสที่ 2 และการระบาดของไวรัสโคโรนายังมีอยู่บ้างในปี 2021) สำหรับเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้ว มีแนวโน้มหดตัว 6.1% โดยคาดเศรษฐกิจสหรัฐจะหดตัว 5.9% จากคาดการณ์รอบก่อนที่ +2% โดยประเมินว่าอัตราการว่างงานสหรัฐจะเพิ่มขึ้นจาก 3.7% ในปี 2019 มาที่ 10.4% ในปี 2020 และยังอยู่ในระดับสูงที่ 9.1% ในปี 2021 ส่วนเศรษฐกิจยูโรโซนคาดว่าจะหดตัว 7.5% โดยเศรษฐกิจจะอ่อนแอมากที่สุดในไตรมาสที่ 2 ขณะที่อัตราการว่างงานอาจเพิ่มขึ้นจาก 7.6% ในปี 2019 มาอยู่ที่ 10.4% ในปีนี้และ 8.9% ในปีหน้า ด้านเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่เอเชียคาดว่าจะขยายตัว 1% โดยประเมินการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนที่ 1.2% ส่วนเศรษฐกิจไทยมีโอกาสหดตัว 6.7% ในปีนี้ และจะกลับมาขยายตัวได้ถึง 6.1% ในปีหน้า

ทางด้านมาตรการด้านการเงินและการคลังของไทยในเดือนนี้ ได้มีพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 จำนวน 3 ฉบับ เริ่มบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 เมษายน โดยแบ่งเป็น พ.ร.ก. ด้านการคลัง 1 ฉบับ และ พ.ร.ก. ด้านการเงิน 2 ฉบับ กล่าวคือ (1) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทภายในสิ้นปีงบประมาณ 2021 เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมเนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 และ (2) ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) มูลค่า 5 แสนล้านบาท และจัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ (BSF) มูลค่า 4 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลรับภาระชดเชยหนี้ส่วนหนึ่งหากเกิดการผิดนัดชำระหนี้

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ สะท้อนความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการช่วยเหลือตลาดตราสารหนี้ที่ภาครัฐประกาศออกมา และการคาดหวังว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมีโอกาสลดดอกเบี้ยนโยบายต่อในการประชุมครั้งหน้า ทำให้ไม่มีกระแสนักลงทุนสถาบันขายพันธบัตรรัฐบาลออกมามากเท่าเดือนก่อนหน้า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจึงปรับตัวลดลงตลอดทั้งเส้น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความกังวลถึงอันดับเครดิตตราสารหนี้ภาคเอกชน ตลอดจนความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกตราสารหนี้หลายราย จึงทำให้อัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้ภาคเอกชนในตลาดรองปรับขึ้น ด้วยปริมาณการซื้อขายเบาบาง และทำให้ Credit Spread ของหุ้นกู้ภาคเอกชนในตลาดแรกหลายตัวที่เสนอขายในช่วงนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามมาด้วย การซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้เป็นการขายสุทธิต่อเนื่องเป็นเดือนที่สามของปี แบ่งเป็นการขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 919 ล้านบาท ขายสุทธิพันธบัตรระยะยาว 1.7 หมื่นล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว การถือครองของนักลงทุนต่างชาติในเดือนเมษายนลดลง 1.9 หมื่นล้านบาท รวม 4 เดือนที่ผ่านมา ลดลงจากปีก่อนหน้าประมาณ 1.15 แสนล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – มีนาคม 2563

ในเดือนนี้เกิดภาวะการเงินตึงตัวทั่วโลกเนื่องจากตลาดกังวลการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกจากการระบาดของ Covid-19 ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกจากตลาดหุ้น ตราสารหนี้เอกชน และสินทรัพย์เสี่ยงอื่น ๆ มาถือเงินดอลลาร์จนเกิดสภาวะการขาดแคลนสภาพคล่องดอลลาร์ในตลาดการเงินโลกอย่างรุนแรง กระแสเงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่รวมถึงเอเชียและไทยมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นจากภาวะสภาพคล่องดอลลาร์ขาดแคลนและความกังวลความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำาระหนี้ ธนาคารกลางของประเทศหลักรวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทยต่างผ่อนคลายนโยบายการเงินและเข้ามาแทรกแซงตลาดดังนี้

วันที่ 3 มีนาคม ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีมติในการประชุมฉุกเฉินให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 50 bps มาอยู่ที่กรอบ 1.00-1.25% ต่อมาในวันที่ 15 มีนาคม ได้มีการประชุมฉุกเฉินอีกครั้ง และเป็นการนัดประชุมทดแทนกำหนดการประชุมที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 17-18 มีนาคม โดย Fed ได้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงถึง 100 bps มาอยู่ที่ระดับ 0-0.25% ซึ่งถือเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตปี 2008 พร้อมออกมาตรการผ่อนคลายการเงินอย่างเต็มอัตรา สาเหตุสำคัญคือเพื่อลดผลกระทบของโรค Covid-19 ต่อเศรษฐกิจ สนับสนุนสินเชื่อภาคครัวเรือนและธุรกิจ และลดภาวะตลาดการเงินตึงตัวและขาดแคลนเงินดอลลาร์ มาตรการผ่อนคลายการเงินดังกล่าวได้แก่

(1) การลดอัตราดอกเบี้ย ทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้ธนาคารพาณิชย์ อัตราการดำรงเงินสดสำรองต่อเงินฝาก

(2) ออกมาตรการซื้อสินทรัพย์ (QE) ไม่น้อยกว่า 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยค้ำประกัน

(3) สนับสนุนธุรกรรม Dollar roll และ Coupon swap หากจำเป็นเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในธุรกรรม MBS

(4) ทำข้อตกลงกับธนาคารกลางหลัก 5 แห่งในการรักษาสภาพคล่องของเงินดอลลาร์

ต่อมาในวันที่ 23 มีนาคม Fed ได้ผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมแบบเต็มอัตรา โดยเฉพาะการขยายวงเงินการซื้อสินทรัพย์เป็นไม่จำกัดและไม่กำหนดวันสิ้นสุด เพิ่มวงเงินปล่อยกู้ใหม่แก่ภาคธุรกิจและประชาชนอีก 3 แสนล้านดอลลาร์ ตั้งกองทุน 2 แห่งเพื่อปล่อยสินเชื่อแก่ธุรกิจรายใหญ่ คือ Primary Market Corporate Credit Facility (PMCCF) และ Secondary Market Corporate Credit Facility (SMCCF) และตั้งกองทุนอีกแห่งเพื่อช่วยเหลือธุรกิจและผู้บริโภค คือ Term Asset-Backed Securities Loan Facility (TALF) และยังขยายประเภทสินทรัพย์ใช้ค้ำประกันในมาตรการให้สภาพคล่องด้วยกองทุนทั้ง MMFF และ CPFF ที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ มาตรการดังกล่าวออกมาในช่วงที่วุฒิสภาสหรัฐฯ ยังไม่อนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ เนื่องจากพรรคฝ่ายค้านต้องการช่วยเหลือแรงงานและครัวเรือนมากขึ้น โดยเสนอเพิ่มวงเงินเป็น 2.5 ล้านล้านดอลลาร์

ทางด้านธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 50 bps มาอยู่ที่ 0.25% ซึ่งเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนอกรอบการประชุม เพื่อลดแรงกดดันของตลาดจากผลของการระบาดของเชื้อ Covid-19 ทั่วโลกและจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในสหราชอาณาจักรต่อเศรษฐกิจ นอกจากนี้ BOE ได้ประกาศมาตรการปล่อยกู้ (Term Funding Scheme) ที่มีแรงจูงใจเพิ่มเติมให้กับผู้ประกอบการ SMEs โดยเป็นการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำใกล้ดอกเบี้ยนโยบายระยะ 4 ปี และประกาศลดสัดส่วนเงินกันสำรองของธนาคารพาณิชย์สวนทางกับวัฏจักร (Counter Cyclical buffer) ลงมาอยู่ที่ 0% ส่วนธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ -0.5% ผิดจากที่ตลาดคาดว่าจะลดดอกเบี้ย 10 bps แต่ประกาศมาตรการผ่อนคลายทางการเงินชุดใหญ่เพื่อพยุงเศรษฐกิจและลดแรงกดดันในตลาดการเงิน ประกอบด้วย การซื้อสินทรัพย์ (QE) เม็ดเงิน 1.2 แสนล้านยูโรภายในปี 2020 และปล่อยกู้ให้กับธนาคารพาณิชย์ (LTROs) รอบใหม่ในอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ถูกลง ทั้งนี้ประธาน ECB สนับสนุนให้ภาครัฐร่วมมือกันออกมาตรการเยียวยาและป้องกันผลกระทบจากการระบาดของเชื้อ Covid-19 ในขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติเพิ่มสภาพคล่องให้ภาคธุรกิจ ในการประชุมฉุกเฉินวันที่ 16 มีนาคม ทั้งนี้ BOJ ตอบรับมติของธนาคารกลางหลักทั้ง 6 แห่งในการเพิ่มสภาพคล่องของเงินดอลลาร์ในตลาดโลกด้วยธุรกรรม Swap line

ในวันที่ 20 มีนาคม คณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยได้มีการประชุมนัดพิเศษ และมีมติให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 25 bps มาอยู่ที่ 0.75% ต่อมาในวันที่ 22 มีนาคม มีแถลงการณ์จากการประชุมร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และก.ล.ต. ประกาศมาตรการเสริมสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ 3 มาตรการ เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่องดังนี้

(1) มาตรการสำหรับกองทุนรวม โดยการเพิ่มสภาพคล่องกองทุนรวมผ่านธนาคาร ธนาคารพาณิชย์สามารถเข้าซื้อหน่วยลงทุนจากกองทุนรวมที่ถือสินทรัพย์คุณภาพดี และนำมาเป็นหลักประกันในการขอสภาพคล่อง (Repurchase agreement) จาก ธปท.

(2) มาตรการสำหรับหุ้นกู้ โดยการตั้งกองทุนรวมเสริมสภาพคล่อง (BSF) ร่วมกันระหว่างธนาคารพาณิชย์ ธนาคารออมสิน บริษัทประกัน และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) วงเงิน 70,000 –100,000 ล้านบาท เพื่อลดความเสี่ยงของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน โดย BSF จะเข้าซื้อหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือ Investment Grade โดยจะเป็นเงินลงทุนอายุไม่เกิน 270 วันและเข้าซื้อไม่เกิน 50% ของมูลค่าที่จะ Rollover

(3) มาตรการตราสารหนี้ภาครัฐ เป็นการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพื่อให้กลไกตลาดตราสารหนี้ภาครัฐทำงานอย่างราบรื่น นอกจากนี้ ธปท. ยังมีแผนลดวงเงินการประมูลพันธบัตร ธปท. เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องในตลาดพันธบัตรอีกทางหนึ่ง

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้มีความผันผวนมาก จากความกังวลการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ที่ส่งผลต่อการหดตัวของเศรษฐกิจและกระแสเงินทุนไหลออกจนนำมาสู่ภาวะขาดสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ ในช่วงต้นเดือนเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับลดลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดของปี ตามความคาดหวังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จากนั้นกลับปรับตัวขึ้นอย่างรุนแรงจากสาเหตุการขาดสภาพคล่องของการซื้อขายตราสารหนี้ จนธนาคารแห่งประเทศไทยต้องเข้ามาแทรกแซงโดยการรับซื้อพันธบัตรรัฐบาลหลายช่วงอายุผ่าน Primary Dealers ตลอดทั้งเดือนรวมเป็นวงเงินทั้งสิ้นเกือบ 1.5 แสนล้านบาท โดยสรุป ณ สิ้นเดือน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นปรับลดลง 16-23 bps ซึ่งเป็นผลจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับเพิ่มขึ้น 1-55 bps จากสาเหตุสภาพคล่องและกระแสเงินทุนไหลออก การซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้เป็นการขายสุทธิต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองของปี โดยแบ่งเป็นการขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 2.8 หมื่นล้านบาท และขายสุทธิพันธบัตรระยะยาว 6.4 หมื่นล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว ยอดการถือครองของนักลงทุนต่างชาติในเดือนมีนาคมจึงลดลงจากปีที่แล้วสูงถึง 8.9 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ