ภาวะตลาดหุ้นไทย – กรกฎาคม 2564

SET Index ปรับตัวลง -4.1% สู่ระดับ 1,521.92 จุด โดยได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายในและภายนอก โดยปัจจัยภายในคือ ปัญหาการกระจายวัคซีนและจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายวันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังกระทบจากปัจจัยภายนอก ในเรื่องความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์เดลต้าในหลายประเทศ

ปัจจัยภายนอกที่กดดัน SET เกิดจากภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนสูงขึ้น หลังจากที่หลายประเทศเผชิญการแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์เดลต้า ทำให้สหรัฐฯ ประกาศให้ประชาชนกลับมาใส่หน้ากากอนามัยในบางรัฐฯ เช่นเดียวกับบางประเทศในยุโรป เช่น สเปน อิตาลี ฝรั่งเศส ที่ยอดผู้ติดเชื้อเริ่มเร่งตัวอีกครั้ง และหลายประเทศในเอเชียที่สถานการณ์การแพร่ระบาดย่ำแย่อย่างมาก เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ทำให้แต่ละประเทศมีการใช้มาตรการที่เข้มงวดขึ้นในการควบคุมการแพร่ระบาด นอกจากนี้ ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์มีความผันผวนจากราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงแรง หลังการประชุม OPEC+ ที่มีมติปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันรวม 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยปรับเพิ่มเฉลี่ยเดือนละ 400,000 บาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 ไปจนถึงเดือนธันวาคม 2564 รวมถึงเพิ่มโควตาการผลิตน้ำมันให้กับบางประเทศตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป ทำให้การผลิตน้ำมันขั้นต่ำของ OPEC+ เพิ่มขึ้นจาก 43.853 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็น 45.485 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ส่วนปัจจัยภายในประเทศ ถูกกดดันจากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อรวมทั่วประเทศพุ่งสูงกว่า 10,000 รายต่อวันตั้งแต่ช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสม (ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564) ณ วันที่ 31 กรกฎาคม อยู่ที่ 568,424 คน เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 230,438 คน ส่งผลให้ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ต้องประกาศมาตรการ Lockdown เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 เริ่มตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยมีการจำกัดการเคลื่อนย้ายและการดำเนินกิจกรรมของบุคคลที่อยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม ดังนี้ 1) ร้านสะดวกซื้อ ตลาด ห้าง (เปิดได้เพียงซุปเปอร์มาร์เก็ต ธนาคาร ร้านขายยา) สวนสาธารณะ ปิด 20.00 น. 2) ปิดร้านนวด คลินิก สปา 3) ห้ามรวมกลุ่มกันเกิน 5 คน 4) ห้ามออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 21.00 น. ถึง 04.00 น. 5) ห้ามการเดินทางข้ามจังหวัด พร้อมทั้งขยายระยะเวลาประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั่วราชอาณาจักรถึง 30 กันยายน ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักอีกครั้ง ก่อให้เกิด Downside ต่อประมาณการของเศรษฐกิจไทย ซึ่งคาดว่าการ Lockdown รอบนี้จะใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 1-2 เดือน ขณะที่การกระจายวัคซีนค่อนข้างล่าช้า โดย ณ วันที่ 25 กรกฎาคม ประชากรไทยได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกเพียง 17.63% ของประชากร ต่ำกว่าทวีปเอเชียที่ฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว 27.32% และทั่วโลกที่ 27.34% ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าที่สุดในรอบ 15 ปี มาอยู่ที่ระดับ 32.9 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้เงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติค่อนข้างจำกัด เป็นอีกปัจจัยที่กดดัน SET

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 SET Index ปิดที่ 1,521.92 จุด ปรับตัวลง 65.87 จุดหรือ -4.1% จากสิ้นเดือนที่แล้ว โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการ Lockdown ล้วนแต่ปรับตัวลงหนักในเดือนนี้ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 3.2% กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 1.9% กลุ่มการแพทย์ 1.0% ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง -9.9% กลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ -8.7% กลุ่มธนาคาร -8.3% ซึ่งในเดือนที่ผ่านมา บัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 2,912.09 ล้านบาท และ 17,663.85 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 3,555.86 ล้านบาท และ 17,020.08 ล้านบาท ตามลำดับ โดยตั้งแต่ต้นปี 2564 บัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 9,460.91 ล้านบาท และ 128,168.95 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 44,347.59 ล้านบาทและ 93,282.26 ล้านบาท ตามลำดับ จะเห็นว่านักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 โดยเพิ่มสัดส่วนการถือครองในหุ้นกลุ่ม ICT แต่ลดสัดส่วนการถือครองในกลุ่มธนาคาร วัสดุก่อสร้าง พลังงาน อสังหาริมทรัพย์และขนส่ง ขณะที่ Performance ของดัชนี MSCI Thailand ดีกว่า MSCI APAC ex.

ภาวะตลาดหุ้นไทย – มิถุนายน 2564

SET Index ปรับตัวลง -0.4% สู่ระดับ 1,587.79 จุด โดยได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก คือ การประชุมของ FED ซึ่งส่งสัญญาณในการลดมาตรการ QE และปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าการคาดการณ์เดิม นอกจากนี้ยังกระทบจากปัจจัยภายใน เรื่องปัญหาการกระจายวัคซีนและจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายวันที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน

ปัจจัยภายนอกที่กดดัน SET คือ การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่ส่งสัญญาณ Hawkish มากขึ้น โดย Dot Plots หรือ ประมาณการของการปรับอัตราดอกเบี้ยของ FED แสดงให้เห็นว่ากรรมการ FED ส่วนใหญ่สนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปี 2566 ซึ่งเร็วกว่าเดิมที่คาดการณ์ว่าจะยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยจนถึงปี 2567 โดยตลาดคาดการณ์ว่า FED จะขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งในปี 2566 ช่วงไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 4 ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ FED มีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากขึ้น จึงปรับคาดการณ์อัตราการเติบโตของ GDP สหรัฐฯ ปีนี้ขึ้นสู่ระดับ 7.0% จากเดิมคาดที่ระดับ 6.5% และคง GDP ปี 2565 ที่ 3.3% นอกจากนี้ ประธาน FED แถลงหลังการประชุม เผยว่า FED ได้เริ่มหารือกันในการปรับลดวงเงิน QE (QE Tapering) ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 1.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ/เดือน และจะชัดเจนมากขึ้นในการประชุมครั้งถัด ๆ ไป ซึ่งนักวิเคราะห์ในตลาดส่วนใหญ่คาดว่า FED จะเริ่ม Tapering ในเดือนมกราคม 2565 เนื่องจากในการขึ้นดอกเบี้ยในรอบที่ผ่านมา FED ได้ทำการ Tapering เป็นเวลา 1 ปีก่อนปรับขึ้นดอกเบี้ย

ส่วนปัจจัยภายในประเทศ ถูกกดดันจากปัญหาการจัดสรรวัคซีน โดยโครงการไทยร่วมใจของกรุงเทพมหานคร มีการหยุดฉีดวัคซีนเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน จากปัญหาด้านการจัดสรรวัคซีน ก่อนที่จะกลับมาฉีดอีกครั้งในวันที่ 22 มิถุนายน แต่ตัวเลขการฉีดวัคซีนรายวันยังต่ำ โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน ประชากรไทยได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกเพียง 9.9% ของประชากร ต่ำกว่าทวีปเอเชียที่ฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว 23.73% และทั่วโลกที่ 23.50% ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยเลวร้ายลง โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อรวมทั่วประเทศพุ่งสูงถึง 4-5 พันรายต่อวันในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสม (ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564) ณ วันที่ 30 มิถุนายน อยู่ที่ 230,438 คน เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 130,929 คน ส่งผลให้ภาครัฐฯ ประกาศมาตรการป้องกันเข้มงวด ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้ง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา รวมทั้งหมด 10 จังหวัด โดยสั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง ห้ามนั่งทานอาหารในร้าน ห้างสรรพสินค้าเปิดทำการได้ถึง 21:00 น. รวมถึงตั้งด่านคัดกรองผู้เดินทางข้ามจังหวัด มาตรการทั้งหมดมีผลตั้งแต่ 28 มิถุนายนถึง 27 กรกฎาคม 2564 ส่งผลกระทบทางลบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและทำให้แผนการเปิดประเทศภายใน 120 วันของนายกรัฐมนตรีเป็นไปได้ยาก นอกจากนี้ ยังกดดันกลุ่ม Reopening และทำให้ตลาดหุ้นไทยผันผวน ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบหนัก เนื่องจากการระบาดระลอกนี้เป็นการระบาดในวงกว้างและกินเวลานาน ทำให้การฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อน Covid-19 ต้องเลื่อนไปเป็นไตรมาส 1 ปี 2566 จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ไตรมาส 3 ปี 2565

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนมิถุนายน 2564 SET Index ปิดที่ 1,587.79 จุด ปรับตัวลง 5.8 จุดหรือ -0.4% จากสิ้นเดือนก่อนหน้า โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มการแพทย์ 5.3% กลุ่มยานยนต์ 4.0% กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ 2.1% ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง -8.7% กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -8.0% กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ -5.6% ซึ่งในเดือนที่ผ่านมา บัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 4,378.43 ล้านบาท และ 9,824.98 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 4,155.37 ล้านบาท และ 10,048.03 ล้านบาท ตามลำดับ โดยตั้งแต่ต้นปี 2564 บัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 6,548.82 ล้านบาท และ 110,505.11 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 40,792.74 ล้านบาทและ 76,262.18 ล้านบาท ตามลำดับ จะเห็นว่านักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 โดยเพิ่มสัดส่วนการถือครองในหุ้นกลุ่มพลังงาน อสังหาฯ ICT ขนส่ง แต่ลดสัดส่วนการถือครองในกลุ่มปิโตรเคมี ขณะที่ Performance ของดัชนี MSCI Thailand แย่กว่า MSCI APAC ex.

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – มิถุนายน 2564

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งสัญญาณเร่งขนาดการซื้อสินทรัพย์อย่างมีนัยสำคัญในระยะข้างหน้า จากเดิมที่ซื้อ 1.4 หมื่นล้านยูโรต่อสัปดาห์ เพื่อชะลอการเร่งตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ประธาน ECB ย้ำว่ายังเร็วเกินไปที่จะหยุดมาตรการช่วยเหลือ เนื่องจาก ECB ยังห่างจากเป้าหมายเงินเฟ้อ แม้ปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจจะลดลง ECB คงการผ่อนคลายทางการเงิน โดยคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Deposit Facility) ที่ 0.5% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Marginal Lending Facility) ที่ 0.25% และอัตราดอกเบี้ย Main Refinancing Operations ที่ 0.00% พร้อมทั้งคงวงเงินซื้อสินทรัพย์มาตรการ Asset Purchase Program (APP) ที่ 2 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน และมาตรการ Pandemic Emergency Purchase Program (PEPP) ที่ 1.85 ล้านล้านยูโร โดย ECB จะการคงซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการ PEPP ไปจนถึงมีนาคม 2022 ด้านประมาณการเศรษฐกิจ ECB ปรับขึ้นคาดการณ์ GDP โดยในปี 2021 คาดว่าจะขยายตัว 4.6%YoY จากเดิมที่คาด 4.0% ในปี 2022 คาดว่าจะขยายตัว 4.7%YoY จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 4.1%YoY และเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อในปีนี้เป็น 1.9% จาก 1.5% เนื่องจากประเมินว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบน้อยลงต่อเศรษฐกิจ ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจหลัก คือ (1) อัตราการฉีดวัคซีนที่เร่งเร็วขึ้น และจำนวนผู้ติดเชื้อที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (2) มาตรการกระตุ้นทางการคลัง และ (3) แรงหนุนการส่งออกจากการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ในตลาดโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุดของสหรัฐ รวมทั้งมาตรการทางการเงินจะช่วยจำกัดผลกระทบดังกล่าวได้

ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีมติเป็นเอกฉันท์ (11-0) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย Federal Funds Rate ไว้ที่ระดับต่ำ 0-0.25% ตามการคาดการณ์ของตลาด ด้านการเข้าซื้อสินทรัพย์ จะยังคงเข้าซื้อสินทรัพย์ที่อัตราปัจจุบัน USD120bn ต่อเดือนเป็นอย่างน้อย แบ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาล (Treasury) เดือนละ USD80bn และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน ซึ่งออกโดยหน่วยงานภาครัฐ (MBS) เดือนละ USD40bn โดย FED ระบุว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโดยหลักยังขึ้นอยู่กับการระบาดของไวรัส ซึ่งความคืบหน้าของวัคซีนจะช่วยลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากวิกฤตครั้งนี้ อย่างไรก็ดี FED มีท่าที Hawkish ขึ้นอย่างมาก สะท้อนผ่านแนวโน้มของดอกเบี้ยหรือ Dot plot ที่ชี้ว่าดอกเบี้ยจะปรับขึ้น 2 ครั้ง ภายในปี 2023 จากเดิมที่จะคงดอกเบี้ยตลอดจนสิ้นปี 2023 โดยคณะกรรมการ 13 จากทั้งหมด 18 ท่าน มองดอกเบี้ยจะปรับขึ้นอย่างน้อย 1 ครั้ง ภายในปี 2023 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ครั้งก่อนในเดือน มี.ค.ที่มี 7 ท่าน ซึ่งในจำนวนนั้นมีคณะกรรมการถึง 11 ท่านที่มองดอกเบี้ยจะปรับขึ้นอย่างน้อย 2 ครั้งในปี 2023 นอกจากนี้ มีคณะกรรมการถึง 7 ท่านที่มองดอกเบี้ยจะปรับขึ้นตั้งแต่ปี 2022 (เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ครั้งก่อนที่มี 4 ท่าน)

ในการประชุมวันที่ 23 มิ.ย. คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ตามคาดการณ์ โดย กนง. ยังคงหนุนการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายดังในปัจจุบัน และมุ่งเน้นไปยังการกระจายสภาพคล่องในวงกว้างมากขึ้น การประชุมมีประเด็นที่สำคัญคือ ด้านเศรษฐกิจ กนง.ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2021 และ 2022 ลงมาอยู่ที่ 1.8% และ 3.9% ตามลำดับ (vs.

ภาวะตลาดหุ้นไทย – พฤษภาคม 2564

SET Index ปรับตัวขึ้น +0.7% สู่ระดับ 1,593.59 จุด โดยในช่วงแรกของเดือนเกิดภาวะที่เรียกว่า Sell in May จากการที่ FED มีแนวโน้มจะปรับลดวงเงินในโครงการ QE ประกอบกับ GDP ของประเทศไทยถูกปรับลดการคาดการณ์ลง แต่พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อเยียวยาเศรษฐกิจของไทย งบการเงินไตรมาส 1 ปี 2564 ที่ดี และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เติบโตดี มีผลทำให้ SET ปรับตัวขึ้นได้ในช่วงครึ่งหลังของเดือน

ในช่วงครึ่งเดือนแรก SET เผชิญกับแรงเทขายหรือ Sell in May จากความเสี่ยงที่ FED จะปรับลดวงเงินในโครงการ QE (QE Tapering) หลังอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในเดือนเมษายนปรับตัวขึ้น 4.2%YoY ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 13 ปี ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นและ US Bond Yield 10 ปีปรับตัวขึ้นอย่างมาก ซึ่ง FOMC Minutes กล่าวว่า FED ได้มีการหารือเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ และกรรมการ FED ส่วนหนึ่งเสนอให้มีการเปิดอภิปรายเกี่ยวกับการปรับลดวงเงินในโครงการ QE หลังจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวดีขึ้น และประชาชนได้รับวัคซีนในสัดส่วนที่สูง (ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม สหรัฐฯฉีดวัคซีนเข็มแรกให้กับประชาชนไปแล้ว 51% ขณะที่ประชากร 41% ได้รับวัคซีนครบทั้ง 2 เข็ม) ขณะที่ในเอเชียเผชิญกับความไม่แน่นอนหลังจาก Covid-19 กลับมาระบาดหนักอีกครั้งในหลายประเทศ ประกอบด้วยญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย ทำให้ Fund Flows ในทวีปเอเชียมีความผันผวน โดยเฉพาะในไทยที่ MSCI ประกาศลดน้ำหนักการลงทุนลง -0.1% สู่ระดับ 1.73% คิดเป็นเงินทุนไหลออก 341 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 1.06 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากการที่สภาพัฒน์ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2564 ลงสู่ระดับ 1.5-2.5% จากเดิมคาดไว้ที่ 2.5-3.5% โดยเป็นการปรับลดเพื่อสะท้อนการระบาดรอบที่ 3 โดยประมาณการรอบนี้มีการปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้ลงเหลือ 5 แสนคน จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.2 ล้านคน ทำให้มี Downside Risk ต่อหุ้นในกลุ่มท่าอากาศยาน ท่องเที่ยว บริการ และการบริโภค แต่การโปรดเกล้าฯ พ.ร.ก.กู้เงินวงเงิน 5 แสนล้านบาท (คิดเป็น 3.21% ของ GDP) เพื่อเยียวยาเศรษฐกิจไทย ถือเป็น Positive Surprise โดยคาดว่าจะเริ่มใช้จ่ายได้ในปลายไตรมาส 2 ซึ่งจะช่วยเพิ่ม GDP ปี 2564 ได้ราว 0.71% แต่เมื่อรวมพ.ร.ก.กู้เงินนี้กับงบประมาณขาดดุลปี 2565 จะส่งผลให้หนี้สาธารณะเกินระดับ 60% ของ GDP สู่ระดับ 65.51% ของ GDP ณ สิ้น 2565 ทั้งนี้ แม้จะมีการออกพ.ร.ก.กู้เงินใหม่ แต่หากยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ได้และการกระจายฉีดวัคซีนที่ล่าช้า จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวกลับสู่ระดับ Pre-Covid ช้ากว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค โดย ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม ประชากรไทยได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกเพียง 3.6% ของประชากร ขณะที่ประชากรเพียง 1.6% ได้รับวัคซีนครบทั้ง 2 เข็ม ต่ำกว่าทวีปเอเชียที่ฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว 5.9% และทั่วโลกที่ 10.8% แม้ผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2564 ของบริษัทจดทะเบียนใน SET เพิ่มขึ้น 130%YoY และ 45%QoQ โดยมีกำไรสุทธิรวมกันที่ 2.66 แสนล้านบาท โดยกลุ่มที่มีกำไรสุทธิเติบโตทั้ง YoY และ QoQ คือ กลุ่มวัสดุก่อสร้าง ที่ปรับตัวขึ้นจากยอดขายที่ขยายตัวตามอุปสงค์ในประเทศ นอกจากนี้ ธุรกิจปิโตรเคมียังได้อานิสงส์จากส่วนต่างผลิตภัณฑ์ที่กว้างขึ้น กลุ่มประกันฯ ปรับตัวได้ดีจากเบี้ยประกันภัยที่ฟื้นตัว และอัตรากําไรจากการรับประกันภัยปรับตัวขึ้น กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และกลุ่มยานยนต์ปรับตัวขึ้นจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก และกระแส EV ขณะที่กลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีพลิกมามีกำไร YoY หลังจาก 1Q63 ขาดทุนสต็อก และราคาผลิตภัณฑ์รวมทั้งปริมาณขายลดลงเป็นอย่างมาก ในทางตรงข้าม กลุ่มที่มีกำไรสุทธิหดตัวทั้ง YoY และ QoQ เนื่องจากผลกระทบจากมาตรการ Lockdown บางส่วน คือ กลุ่มค้าปลีก จากยอดขายสาขาเดิมหดตัว กลุ่มการแพทย์ จากจำนวนผู้ป่วยที่ลดลง เช่นเดียวกับกลุ่ม ICT ที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน ขณะที่กลุ่มโรงแรมและกลุ่มขนส่ง มีผลขาดทุนในไตรมาสนี้ จากการแพร่ระบาดรอบใหม่ ทำให้การท่องเที่ยวและการเดินทางต้องถูกระงับชั่วคราว

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนเมษายน 2564 SET Index ปิดที่ 1,593.59 จุด ปรับตัวขึ้น 10.46 จุดหรือ 0.7% จากสิ้นเดือนเมษายน 2564 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 49.6% กลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง 16.4% กลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต 7.4% ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มธนาคาร -8.3% กลุ่มธุรกิจการเกษตร -6.7% กลุ่มวัสดุก่อสร้าง -4.5% ซึ่งในเดือนที่ผ่านมา นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 362.22 ล้านบาท และ 34,132.08 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่บัญชีหลักทรัพย์ และนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 1,308.68 ล้านบาท และ 33,185.62 ล้านบาท ตามลำดับ โดยตั้งแต่ต้นปี 2564 บัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 2,170.39 ล้านบาทและ 100,680.13 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 36,636.36 และ 66,214.15 ล้านบาท ตามลำดับ จะเห็นว่านักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 โดยลดสัดส่วนการถือครองในหุ้นกลุ่มหลักทั้งหมด ได้แก่ ธนาคาร พลังงาน อสังหาฯ ICT ค้าปลีก ขนส่ง วัสดุก่อสร้าง และปิโตรเคมี

ขณะที่ผลตอบแทนของดัชนี MSCI Thailand ดีกว่า MSCI APAC ex.

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – พฤษภาคม 2564

ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) คงนโยบายการเงินเดิมตามคาดการณ์ของตลาด โดยมีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตรา ดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.1% และมีมติ 8-1 คงวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ที่อัตรา GBP895bn อย่างไรก็ดี BOE จะลดอัตราการเข้าซื้อสินทรัพย์จาก GBP4.4bn/ สัปดาห์ เป็น GBP3.4bn/ สัปดาห์ โดยการปรับเปลี่ยนดังกล่าวไม่ได้สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงจุดยืนของนโยบายการเงิน และยังไม่ลดความผ่อนคลายของนโยบายการเงินจนกว่าจะมีเครื่องยืนยันชัดเจนว่าเศรษฐกิจกำลังกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพและเงินเฟ้อจะเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% ได้อย่างยั่งยืน BOE มองเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์ท่ามกลางการแจกจ่ายวัคซีนที่รวดเร็วหนุนให้เศรษฐกิจน่าจะกลับมาเปิดทำการตามปกติได้นับตั้งแต่เดือน มิ.ย.นี้ตามแผนการของรัฐบาล โดย BOE ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปีนี้ขึ้นอย่างมากเป็น 7.25% จากที่คาด 5.0% ในเดือน ก.พ. และระบุว่าเศรษฐกิจอังกฤษจะกลับเข้าสู่ระดับก่อน COVID-19 ได้ภายในสิ้นปีนี้ เร็วขึ้นจากเดิมที่คาดว่าจะเป็นไตรมาส 1/2022 ส่วนเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมาขยายตัวต่ำกว่าเป้าที่ 2.0% (0.7%YoY เดือน มี.ค.) จากผลกระทบของ COVID-19 แต่คาดจะเร่งตัวขึ้นในระยะใกล้หลังผลกระทบดังกล่าวทยอยหมดไป โดยคาดจะขยายตัวเกินเป้าหมายชั่วคราวในช่วงปลายปีจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเป็นสำคัญ และชะลอลงอยู่ใกล้เป้าหมายที่ 2.0% ในระยะกลาง

ทางด้านการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI) เดือน เม.ย. เพิ่มขึ้น 0.8% MoM มากที่สุดนับตั้งแต่กลางปี 2009 ต่อเนื่องจาก 0.6% ในเดือนก่อน สูงกว่าที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2% และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งตัวขึ้นเป็น 4.2% YoY (2.6% เดือนก่อน) สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2008 จากผลของฐานต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อนที่เกิดการระบาดรุนแรงของ COVID-19 และสูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 3.6% ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) เพิ่มขึ้น 0.9% MoM มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 1982 ต่อเนื่องจาก 0.3% ในเดือนก่อน สูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 0.3% และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งตัวขึ้นเป็น 3.0% YoY (1.6% เดือนก่อน) สูงสุดนับตั้งแต่ปี 1996 จากผลของฐานต่ำ และสูงกว่าที่ตลาดคาดที่ 2.3%

จำนวนผู้ว่างงานขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ลดลง 3.4 หมื่นราย เป็น 4.73 แสนราย ณ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 พ.ค. ต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดการระบาดรุนแรงของ COVID-19 ในกลางเดือน มี.ค. 2020 และดีกว่าคาดการณ์ของตลาดที่ 4.90 แสนราย สะท้อนตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวต่อเนื่องตามการเปิดทำการตามปกติ โดยเฉพาะธุรกิจบริการ รวมทั้งการฉีดวัคซีนและอุปสงค์ของผู้บริโภค ส่วนจำนวนผู้ว่างงานขอรับสวัสดิการต่อเนื่อง (Continuing Claims) ลดลง 4.5 หมื่นราย เป็น 3.66 ล้านราย ณ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 พ.ค. แย่กว่าคาดการณ์ของตลาดเล็กน้อยที่ 3.65 ล้านราย ด้านผู้ว่างงานขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกผ่านโครงการ Pandemic Unemployment Assistance (PUA) ที่ให้สวัสดิการพิเศษแก่ผู้ที่ไม่ได้รับสิทธิผ่านสวัสดิการแบบปกติ เช่น ผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระและผู้รับเหมาเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 2.0 พันราย เป็น 1.04 แสนราย ณ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 พ.ค.

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงาน GDP ไทยหดตัว 2.6%YoY ใน Q1/2021 หดตัวในอัตราที่น้อยกว่าตลาดคาด (-3.3%YoY) และหดตัวลดลงจากไตรมาสก่อน (-4.2%YoY) โดยยังคงมีปัจจัยฉุดหลักจากการท่องเที่ยว และการระบาดของไวรัสรอบใหม่กระทบการบริโภคในประเทศ สศช. ลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยทั้งปี 2021 ลงมาขยายตัวที่ 1.5-2.5% (ค่ากลางที่ 2.0%) จากประมาณการครั้งก่อนที่ 2.5-3.5% (ค่ากลางที่ 3.0%) เนื่องจากการระบาดของไวรัสที่รุนแรงขึ้นในไทย และการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส ทำให้มองนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยเพียง 5 แสนคนในปีนี้ และการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในอัตราชะลอตัวลง

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ทั้งนี้ กนง. ย้ำถึงการเร่งฉีดวัคซีนในประเทศและการให้ความช่วยเหลือที่ตรงจุดแก่กลุ่มเป้าหมาย เพื่อลดทอนผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในรอบที่สาม และหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การประชุมมีประเด็นที่สำคัญคือ ด้านเศรษฐกิจ เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในรอบที่สาม ซึ่งจะส่งผลให้การใช้จ่ายภาคเอกชนชะลอลง และการฟื้นตัวภาคการท่องเที่ยวล่าช้าออกไป ขณะที่การส่งออกและการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของภาครัฐถูกคาดหวังให้เป็นแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ในเอกสารแนบท้าย ธปท. เผยว่าเศรษฐกิจไทยอาจขยายตัว 2% ในปีนี้ (+4.7% ในปี 2022F) หากภาครัฐสามารถจัดหาวัคซีน 100 ล้านโดสได้ตามเป้าภายในสิ้นปี ด้านเงินเฟ้อ อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นชั่วคราวในไตรมาส 2 จากแรงหนุนของฐานที่ต่ำในปีก่อน ด้านการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังอยู่ในกรอบอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายของ ธปท. ด้านสภาพคล่อง สภาพคล่องโดยรวมยังอยู่ในระดับสูง แต่การกระจายตัวยังไม่ทั่วถึงตามความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับต่ำ ด้านอัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทเทียบกับสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่ากว่าภูมิภาค โดยจะติดตามพัฒนาการอย่างใกล้ชิด

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนโดยส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุไม่เกิน 6 เดือนปรับขึ้นเล็กน้อยจากการขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ โดยขายสุทธิประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท แต่ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาวประมาณ 1.18 หมื่นล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว คงเหลือการถือครองพันธบัตรรัฐบาลรวมประมาณ 8.83 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดหุ้นไทย – เมษายน 2564

SET Index ปรับตัวลง -0.3% สู่ระดับ 1,583.13 จุด เนื่องจากการแพร่ระบาดรอบใหม่ (Third Wave) ในประเทศไทย ขณะที่งบการเงินของหุ้นในกลุ่มธนาคารออกมาดีและปัจจัยภายนอกมีสัญญาณบวกจาก Global Indicators ที่ส่งผลดีต่อสินทรัพย์เสี่ยง

ปัจจัยภายนอกมีสัญญาณบวกจาก Global Indicators ที่ส่งผลดีต่อสินทรัพย์เสี่ยง ทั้ง US Bond Yield 10 ปี ที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.63% ณ วันที่ 30 เมษายน 2564 หลังจากปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 14 เดือนที่ระดับ 1.74% ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เช่นเดียวกับค่าเงินดอลลาร์ที่ปรับตัวอ่อนค่าที่สุดในรอบ 1 เดือน

ส่วนปัจจัยภายในประเทศไทยแม้ว่างบการเงินไตรมาส 1 ปี 2564 ของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มธนาคารจะออกมาดี จากการตั้งสํารองและงบลงทุนที่ลดลงช่วยชดเชยการชะลอการเติบโตของสินเชื่อ อย่างไรก็ตาม ประเด็นภายในประเทศที่กดดันให้ตลาดหุ้นปรับตัวลง คือ การแพร่ระบาดระลอกใหม่ (Third Wave) ของไวรัส COVID-19 ซึ่งเริ่มแพร่กระจายจากสถานบันเทิงในกรุงเทพฯ จากนั้นได้แพร่ระบาดไปทั่วประเทศ ทำให้รัฐบาลต้องออกคำสั่งปิดสถานบันเทิงทุกแห่ง และใช้มาตรการเข้มงวดเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่ประกาศปิด 31 สถานที่เสี่ยงเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อรายวันในการระบาดรอบนี้สูงกว่าการระบาดรอบแรกและรอบที่ 2 อย่างมีนัยสำคัญ โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันสูงสุดเกือบ 3,000 รายต่อวัน ทำให้เกิดความเสี่ยงที่โรงพยาบาลจะไม่สามารถรองรับผู้ป่วยเพิ่มได้ ขณะที่การฉีดวัคซีนในประเทศไทยค่อนข้างล่าช้า เนื่องจากวัคซีนที่ไทยจะได้รับส่วนใหญ่จะอยู่ในครึ่งหลังของปี โดย ณ สิ้นเดือนเมษายน ประชากรไทยได้รับการฉีดวัคซีนไปเพียง 1.6% ของประชากร ต่ำกว่าทวีปเอเชียที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว 4.3% และทั่วโลกที่ 7.7% โดยจะส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวได้ช้า นอกจากนี้ ความกังวลเกี่ยวกับประสิทธิภาพและผลข้างเคียงหลังการฉีดวัคซีน ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อความเร็วในการฉีดวัคซีนด้วย ทั้งนี้ จากการเกิด Third Wave ในประเทศไทยอาจส่งผลให้มีการปรับลดประมาณการณ์ GDP ลงจากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 3% เนื่องจากการฉีดวัคซีนที่ล่าช้าและการระบาดของโรคจะส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว โดยทำให้แผนในการเปิดรับนักท่องเที่ยวล่าช้าออกไป ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจล่าช้าลงไปอีก

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนเมษายน 2564 SET Index ปิดที่ 1,583.13 จุด ปรับตัวลง 4.08 จุดหรือ 0.3% จากสิ้นเดือนมีนาคม 2564 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มวัสดุก่อสร้าง 15.7% กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 15.6% กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 7.3% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ -7.8% กลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ -7.7% กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ -7.5% ซึ่งในเดือนเมษายนที่ผ่านมา นักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 17,987.86 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศ บัญชีหลักทรัพย์ และนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 14,232.63 ล้านบาท 396.08 ล้านบาท และ 3,359.14 ล้านบาท ตามลำดับ โดยตั้งแต่ต้นปี 2564 บัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 3,479.07 ล้านบาท และ 66,548.05 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 36,998.59 ล้านบาท และ 33,028.53 ล้านบาท ตามลำดับ จะเห็นว่านักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยมีการเพิ่มสัดส่วนการถือครองในหุ้นกลุ่มวัสดุก่อสร้างและกลุ่มปิโตรเคมีฯ แต่ลดการถือครองในหุ้นกลุ่มธนาคาร พลังงาน อสังหาฯ และขนส่ง

ขณะที่ผลตอบแทนของดัชนี MSCI Thailand ดีกว่า MSCI APAC ex.

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – เมษายน 2564

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) คงการผ่อนคลายทางการเงิน แต่ส่งสัญญาณเพิ่มการเข้าซื้อพันธบัตรเพื่อกดดันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล โดยคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Deposit Facility) ที่ -0.50% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Marginal Lending Facility) ที่ 0.25% และอัตราดอกเบี้ย Main Refinancing Operations ที่ 0.00% พร้อมทั้งคงวงเงินซื้อสินทรัพย์มาตรการ Asset Purchase Program (APP) ที่ 2 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน และมาตรการ Pandemic Emergency Purchase Program (PEPP) ที่ 1.85 ล้านล้านยูโร โดย ECB ยืนยันจะซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการ PEPP อย่างน้อยจนถึงมีนาคม 2022 ECB ส่งสัญญาณเพิ่มการเข้าซื้อพันธบัตรเพื่อกดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล เนื่องจากกังวลว่าอัตราผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นเร็วจะกระทบต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แถลงการณ์ระบุว่า ปริมาณซื้อสินทรัพย์ในมาตรการ PEPP น้อยกว่าปกติในไตรมาสที่ 1 แต่ ECB มีแผนจะเพิ่มขนาดการซื้อสินทรัพย์อย่างมีนัยสำคัญในระยะเวลาข้างหน้า นอกจากนี้ ประธาน ECB ได้กล่าวว่า เศรษฐกิจยูโรโซนเสี่ยงหดตัวในไตรมาสที่ 1/2021 จากผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ที่ส่งผลให้หลายประเทศในภูมิภาคกลับมาใช้มาตรการปิดเมืองอย่างเข้มข้น อย่างไรก็ตาม ECB ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า จากการกระจายวัคซีนของประเทศต่าง ๆ ซึ่งจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัว โดย ECB คาดเศรษฐกิจและเงินเฟ้อปีนี้ที่ 4.0% จาก 3.9% และ 1.5% จาก 1.0% ตามลำดับ

ภาวะตลาดหุ้นไทย – มีนาคม 2564

SET Index ปรับตัวขึ้น +6% สู่ระดับ 1,587.21 จุด เนื่องจากการที่ประธานาธิบดี Joe Biden ลงนามในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้ตลาดพันธบัตรผันผวนจาก US Bond Yield 10 ปีที่ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีความผันผวนของราคาน้ำมันดิบ ขณะที่ปัจจัยในประเทศเริ่มดีขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุม COVID-19

ประธานาธิบดี Joe Biden ได้ลงนามในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ วงเงินสูงถึง 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ US Bond Yield 10 ปี ปรับตัวอย่างรวดเร็วขึ้นสู่ระดับ 1.7% ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 10 เดือน ทำให้เกิด Sector Rotation ขึ้นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยมีการขายทำกำไรหุ้นในกลุ่ม High PER High Growth และเข้าซื้อหุ้นในกลุ่มที่อิงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และ Low PER นอกจากนี้การที่เงินเฟ้อปรับตัวขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนเกิดความกังวลว่า FED จะยุติการใช้มาตรการผ่อนคลาย แต่ FED ยังยืนยันว่าจะไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยจนถึงปี 2023 โดย FED ประเมินว่าเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเพียงการเร่งตัวชั่วคราวและ FED จะใช้มาตรการผ่อนคลายต่อไป และซื้อพันธบัตรตามมาตรการ QE อย่างน้อย 1.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ/เดือน เช่นเดียวกับแนวโน้มที่ Dovish จาก ECB ที่ส่งสัญญาณว่ามีความพร้อมในการเพิ่มวงเงินในการเข้าซื้อพันธบัตรรายสัปดาห์ (Weekly Purchase) ในกรณีที่ตลาดพันธบัตรมีความผันผวน ซึ่งการดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายของทั้ง FED และ ECB ยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนเชิงบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยง ในส่วนของราคาน้ำมัน จากการประชุม OPEC+ มีมติเพิ่มการผลิตน้ำมันดิบเพียง 150,000 บาร์เรลต่อวันในเดือนเมษายน ต่ำกว่าตลาดคาดการณ์ที่ 1.5 ล้านบาร์เรล/วัน ประกอบกับซาอุดิอาระเบียสมัครใจที่จะปรับลดกำลังการผลิตลง 1 ล้านบาร์เรล/วันต่อเนื่องอีก 1 เดือน ขณะที่ฝั่ง Demand มีสัญญาณฟื้นตัวได้ดี เห็นได้จากการที่จีนนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น +4.1%YoY ในช่วง 2 เดือนแรกของปี ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้น ก่อนที่จะปรับตัวลงหลังจากยุโรปประกาศใช้มาตรการ Lockdown อีกครั้ง หลังจากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วอีกครั้ง

ส่วนปัจจัยภายในประเทศไทย ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มีมติผ่อนคลายมาตรการ Lockdown อย่างต่อเนื่อง โดยมีการปรับให้จังหวัดสมุทรสาครเป็นพื้นที่สีส้ม จากเดิมเป็นพื้นที่สีแดง นอกจากนี้ยังมีมติลดเวลากักตัวสำหรับบุคคลที่เดินทางเข้ามาในประเทศ ทั้งในกรณีผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว และผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ลงเหลือ 10 วัน จากเดิม 14 วัน ยกเว้นผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีเชื้อ COVID-19 กลายพันธุ์ ยังคงต้องกักตัว 14 วันตามเดิม เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 นอกจากนี้ ยังมีการอนุมัติมาตรการเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ทั้งโครงการทัวร์เที่ยวไทยและโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 รวมถึงพิจารณาการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนแล้วสามารถเข้าประเทศไทยได้โดยไม่ต้องกักตัว โดยนำร่องที่จังหวัดภูเก็ต เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยโดยรวมมีสัญญาณที่ดีขึ้น

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนมีนาคม 2564 SET Index ปิดที่ 1,587.21 จุดปรับตัวขึ้น 90.43 จุดหรือ 6% จากสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง 24.0% กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ 18.7% กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ 13.3% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -18.7% กลุ่มธุรกิจการเกษตร -6.5% กลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต 3.3%  ซึ่งในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา  นักลงทุนสถาบันในประเทศและบัญชีหลักทรัพย์ซื้อหุ้นไทยสุทธิ 7,303.24 และ 2,373.88 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนทั่วไปในประเทศขายหุ้นไทยสุทธิ 68.37 ล้านบาท และ 9,608.74 ล้านบาท ตามลำดับ โดยตั้งแต่ต้นปี 2564 บัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 3,875.15 และ 48,560.19 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 22,765.95 ล้านบาท และ 29,669.39 ล้านบาท ตามลำดับ จะเห็นว่านักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยมีการเพิ่มสัดส่วนการถือครองในหุ้นกลุ่มธนาคาร วัสดุก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ ICT ค้าปลีก ปิโตรเคมี และขนส่ง ขณะที่ผลตอบแทนของดัชนี MSCI Thailand ดีกว่า MSCI APAC ex.

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – มีนาคม 2564

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) คงการผ่อนคลายทางการเงิน แต่ส่งสัญญาณเพิ่มการเข้าซื้อพันธบัตรเพื่อกดดันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล โดยคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Deposit Facility) ที่ -0.50% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Marginal Lending Facility) ที่ 0.25% และอัตราดอกเบี้ย Main Refinancing Operations ที่ 0.00% พร้อมทั้งคงวงเงินซื้อสินทรัพย์มาตรการ Asset Purchase Program (APP) ที่ 2 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน และมาตรการ Pandemic Emergency Purchase Program (PEPP) ที่ 1.85 ล้านล้านยูโร โดย ECB ยืนยันจะซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการ PEPP อย่างน้อยจนถึงมีนาคม 2022 ECB ส่งสัญญาณเพิ่มการเข้าซื้อพันธบัตรเพื่อกดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล เนื่องจากกังวลว่าอัตราผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นเร็วจะกระทบต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แถลงการณ์ระบุว่า ปริมาณซื้อสินทรัพย์ในมาตรการ PEPP น้อยกว่าปกติในไตรมาสที่ 1 แต่ ECB มีแผนจะเพิ่มขนาดการซื้อสินทรัพย์อย่างมีนัยสำคัญในระยะเวลาข้างหน้า นอกจากนี้ ประธาน ECB ได้กล่าวว่า เศรษฐกิจยูโรโซนเสี่ยงหดตัวในไตรมาสที่ 1/2021 จากผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ที่ส่งผลให้หลายประเทศในภูมิภาคกลับมาใช้มาตรการปิดเมืองอย่างเข้มข้น อย่างไรก็ตาม ECB ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า จากการกระจายวัคซีนของประเทศต่าง ๆ ซึ่งจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัว โดย ECB คาดเศรษฐกิจและเงินเฟ้อปีนี้ที่ 4.0% จาก 3.9% และ 1.5% จาก 1.0% ตามลำดับ

ภาวะตลาดหุ้นไทย – กุมภาพันธ์ 2564

SET Index ปรับตัวขึ้น +2% สู่ระดับ 1,496.78 จุด เนื่องจากการเร่งกระจายวัคซีน COVID-19 ในหลายประเทศทั่วโลก ความคาดหวังเชิงบวกต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ของสหรัฐฯ และการประกาศ GDP ไตรมาส 4 ปี 2563 ของประเทศไทยที่ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์

ในสหรัฐฯ และยุโรปมีการเร่งกระจายวัคซีนและฉีดให้แก่ประชาชนในวงกว้าง เช่น ในประเทศอังกฤษ ประชากร 20 ล้านคนหรือคิดเป็น 30% ของประชากรทั้งหมดได้รับการฉีดวัคซีนโดสแรก และประชากรกว่า 8 แสนคนได้รับการฉีดวัคซีนโดสที่สองเรียบร้อยแล้ว ถือว่าอังกฤษเป็นประเทศที่มีการกระจายวัคซีนได้ดีที่สุดในยุโรป นอกจากนี้ ในสหรัฐฯ ประชากรกว่า 50 ล้านคนหรือคิดเป็น 15% ของประชากรทั้งหมดได้รับการฉีดวัคซีนโดสแรก และประชากรกว่า 25 ล้านคนได้รับการฉีดวัคซีนโดสที่สองเรียบร้อยแล้ว โดยการเร่งฉีดวัคซีน COVID-19 ในหลายประเทศทั่วโลกเป็นการสร้างความคาดหวังเชิงบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากความคาดหวังเชิงบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ของสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น แต่ตลาดยังคงมีแรงกดดันจากค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่ารุนแรง และทำจุดสูงสุดที่ 91.6 จุด ทำให้ตลาดสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกเริ่มพักฐาน ก่อนปรับตัวลงหลังจาก US Bond Yield 10 ปี ดีดตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจากระดับ 1.07% ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์มาอยู่ที่ระดับ 1.41% ในช่วงสิ้นเดือน การปรับตัวของ Bond Yield อย่างรวดเร็วเกิดจากความคาดหวังเชิงบวกต่ออัตราเงินเฟ้อที่ถูกขับเคลื่อนด้วยราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ทำให้ตลาดมีความกังวลว่า FED จะยุติการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ส่งผลให้เกิด Sector Rotation โดยเงินลงทุนไหลออกจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มี PE สูงและการเติบโตสูง เข้าสู่กลุ่มพลังงาน ธนาคาร อุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนคลายความกังวลเรื่องการยุติการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของ FED หลังประธาน FED ยืนยันว่าจะตรึงดอกเบี้ยต่ำไปอีกเป็นเวลานาน

ส่วนปัจจัยภายในประเทศไทย ได้มีการรายงานตัวเลข GDP ไตรมาส 4 ที่ -4.2%YoY ซึ่งดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ส่งผลให้ GDP ของประเทศไทยปี 2563 หดตัว -6.1% โดยภาคอุตสาหกรรมและการเกษตร การส่งออกสามารถฟื้นตัวได้ดี และเห็นสัญญาณการบริโภคภาคเอกชนเริ่มฟื้นตัว แม้จะเกิดการระบาดของ COVID-19 รอบสองในเดือนธันวาคม 2563 แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ทำการปรับลดประมาณการคาดการณ์ GDP ปี 2564 ลงสู่ระดับ 2.5-3.5% จากการคาดการณ์ครั้งก่อนที่ระดับ 3.5-4.5% เพื่อสะท้อนผลกระทบของการระบาดรอบ 2 ของ COVID-19 แต่ประเมินผลกระทบไม่รุนแรงเท่าการระบาดในรอบแรก ขณะที่ประเด็นสำคัญของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอยู่ที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการกระจายวัคซีน โดยยังคงย้ำถึงความจำเป็นของมาตรการภาครัฐฯ ในส่วนของการควบคุมโรคระบาด COVID-19 ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ชุดใหญ่มีมติคลาย Lockdown ตามศบค.ชุดเล็ก โดย จังหวัดสมุทรสาครยังคงเป็นพื้นที่สีแดง ที่ยังคงเข้มงวดกับร้านอาหารและปิดสถานบันเทิง แต่สำหรับพื้นที่สีส้มลดลงเหลือ 8 จังหวัด จากเดิม 20 จังหวัด เหลือเพียง กทม. สมุทรปราการ สมุทรสงคราม นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี ตาก และราชบุรี โดยผ่อนคลายร้านอาหารให้ดื่มสุราในร้านได้ และเปิดสถานบันเทิง โดยดื่มสุราและแสดงดนตรีสดได้ไม่เกิน 5 ทุ่มและงดเต้นรำ ซึ่งจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยกลับมาดำเนินต่อได้ เพิ่มความคาดหวังเชิงบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 SET Index ปิดที่ 1,496.78 จุดปรับตัวขึ้น 29.82 จุดหรือ 2% จากสิ้นเดือนมกราคม 2564 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มธุรกิจการเกษตร 42.7% กลุ่มธุรกิจการการท่องเที่ยวและสันทนาการ 17.3% กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 9.7% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -20.4% กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร -1.3% กลุ่มการแพทย์ -1.2% ซึ่งในเดือนกุมภาพันธ์นี้  บัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 2,442.08 และ 30,300.43 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 14,044.44 ล้านบาท และ 18,698.06 ล้านบาท ตามลำดับ โดยตั้งแต่ต้นปี 2564 บัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 1,501.27 และ 58,168.93 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 30,069.19 ล้านบาท และ 29,601.02 ล้านบาท ตามลำดับ จะเห็นว่านักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง โดยมีการเพิ่มสัดส่วนการถือครองในหุ้นกลุ่มธนาคาร พลังงาน อสังหาฯ ค้าปลีก ปิโตรเคมีฯ และขนส่ง แต่ลดการถือครองในกลุ่ม ICT