ภาวะตลาดหุ้นไทย – มิถุนายน 2565

ในเดือนมิถุนายน 2565 SET Index ปรับตัวลดลง 5.7% สู่ระดับ 1,568.33 จุด โดยเป็นการปรับตัวลงแรงช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือนจากปัจจัยกดดันจากภายนอก คือ ปัญหาเงินเฟ้อ จากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่ยังออกมาร้อนแรงและราคาน้ำมันกลับมาเร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ $120 ต่อบาร์เรล ซึ่งท้ายที่สุดรายงานเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกาประจำเดือน พฤษภาคม 2565 ออกมาสูงถึง 8.6% YoY สูงสุดในรอบ 40 ปี และมากกว่าตลาดคาดไว้ที่ 8.3%

นอกจากแรงกดดันในเรื่องของการลดงบดุลของ Fed ที่เริ่มต้นในเดือนมิถุนายนในวงเงิน 4.75 หมื่นล้านเหรียญฯ/เดือน และจะเพิ่มเป็น 9.5 หมื่นล้านเหรียญฯ/เดือน ตั้งแต่เดือนกันยายน เป็นต้นไป ตลาดยังปรับมุมมองคาดการณ์การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ที่เร่งตัวขึ้นอย่างมากในรอบการประชุมที่เหลือของปี และจะสร้างแรงกดดันเพิ่มเติมในด้านสภาพคล่องที่ถูกดึงออกเร็วขึ้น โดย Fed มีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 75 bps ในรอบประชุมมิถุนายน และคาดว่าจะปรับเพิ่มอีก 75 bps ในรอบประชุมกรกฎาคม โดยปรับจากเดิมที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มครั้งละ 50 bps

ส่วนปัจจัยกดดันภายใน ได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมของไทยอยู่ที่ 7.1% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2552 เป็นประเด็นที่นักลงทุนเชื่อว่าจะกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่เหลือของปีนี้อีกอย่างน้อย 25 bps โดยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งล่าสุด มีคณะกรรมการ 3 คน จากทั้งหมด 7 คน มีความเห็นให้ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 25 bps นอกจากนี้ กลุ่มพลังงานซึ่งเป็นกลุ่มที่มีมูลค่าตลาดสูงสุดยังเผชิญกับความกังวลต่ออุปสงค์ที่อาจจะชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจ และเรื่องที่รัฐบาลขอความร่วมมือให้โรงกลั่นนำส่งกำไรส่วนเกินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน เพื่อนำเงินดังกล่าวอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงในประเทศ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน SET Index มีการฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย หลังจากไม่มีประเด็นสร้างความเสี่ยงตลาดเพิ่มเติม และเริ่มมีปัจจัยบวกเข้ามา ได้แก่ จีนเริ่มผ่อนคลายนโยบาย Zero Covid Strategy ลดจำนวนวันกักตัวของผู้ที่เดินทางเข้าประเทศจีน ขณะที่ปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวดีกว่าที่คาดไว้ ส่งผลให้หุ้นกลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการปรับตัวขึ้น โดยเฉพาะเมื่อได้ประเด็นสนับสนุนจากเรื่อง ครม.อนุมัติให้ยกเว้นการลงทะเบียน Thailand Pass ของชาวต่างชาติ และอนุมัติมาตรการภาษีแก่บริษัทเอกชน โดยให้นำค่าใช้จ่ายท่องเที่ยว อบรม สัมมนา จัดงาน ในเมืองหลักมาหักภาษี โดยหุ้นกลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกที่ 4.3% ในขณะที่หุ้นกลุ่มอื่น ๆ ให้ผลตอบแทนติดลบ นำโดยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร -12.99% กลุ่มพาณิชย์ -10.2% และกลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ -9.9% ในเดือนนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 29,378 ล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ขายสุทธิ 3 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนสถาบันภายในประเทศซื้อสุทธิ 1,878 ล้านบาท และนักลงทุนทั่วไปภายในประเทศซื้อสุทธิ 27,513 ล้านบาท

ทำความรู้จักกับเครื่องมือบริหารสภาพคล่องของกองทุนรวม

กองทุนรวมในประเทศไทยมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นมากปัจจุบันมีมูลค่าทั้งสิ้น ประมาณ 5 ล้านล้านบาท ข้อมูล ณ วันที่ 29 เมษายน 2565 ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 30 ของ GDP กองทุนรวมจึงมีบทบาทสำคัญต่อสภาพคล่องในระบบการเงินในประเทศรองจากเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ ดังนั้น สำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลด้านการลงทุนจึงได้ออกมาตรการเพื่อยกระดับการบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของกองทุนรวมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ใน ปี 2565 นี้

ภาวะตลาดหุ้นไทย – พฤษภาคม 2565

ในเดือนพฤษภาคม 2565 SET Index ปรับตัวลดลง 0.24% สู่ระดับ 1,663.41 จุด โดยปรับตัวลงมากในช่วงครึ่งเดือนแรก จากความกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงมาก และกังวลว่า Fed จะเร่งใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งเดือนหลัง SET Index มีการปรับตัวขึ้น จากการที่ Fed ประกาศจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% ตามที่เคยประกาศไว้ การที่จีนมีแนวโน้มจะคลายการ Lockdown การประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 1/2565 ของบริษัทจดทะเบียนที่ดีกว่าคาด และการที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศมากขึ้น

ในเดือนพฤษภาคม 2565 ตลาดหุ้นไทยยังถูกกดดันจากปัจจัยภายนอกในประเด็นอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงเพิ่มขึ้นมากในสหรัฐฯ และทำให้มีความกังวลว่า Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากขึ้นกว่าที่คาดการณ์เดิม เป็น 0.75% ประกอบกับประเทศไทยมีวันหยุดหลายวันในช่วงครึ่งแรกของเดือน ทำให้นักลงทุนมีการขายหุ้นเพื่อถือเงินสดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อ Fed ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียง 0.50% และมีโอกาสขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งละ 0.50% อีก 1-2 ครั้ง โดยไม่มีความตั้งใจจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งละ 0.75% รวมถึงการประกาศลดงบดุล (Quantitative Tightening) ลงเดือนละ $4.75 หมื่นล้านตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 และจะเพิ่มเป็นเดือนละ $9.5 หมื่นล้านตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 ทำให้นักลงทุนคลายความกังวลว่า Fed จะเร่งนโยบายตึงตัวมากขึ้น และอาจจะทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอตัวลงแรงได้

อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งเดือนหลัง ตลาดหุ้นมีการฟื้นตัวขึ้น จากการลดความกังวลเกี่ยวกับการที่ Fed จะเร่งการทำนโยบายการเงินตึงตัว รวมถึงการที่จีนมีแนวโน้มจะเริ่มควบคุมการระบาดของ COVID-19 ในเมืองใหญ่ ๆ ที่ถูก Lockdown ก่อนหน้าได้ และมีโอกาสจะเริ่มคลายการ Lockdown ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 นอกจากนี้ ปัจจัยภายในประเทศก็มีส่วนสนับสนุนการฟื้นตัวของตลาดหุ้น เมื่อการระบาดของ COVID-19 ลดความรุนแรงลงมาก ทำให้รัฐบาลมีการผ่อนคลายมาตรการด้านการท่องเที่ยวมากขึ้น ทำให้มีความคาดหวังกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากขึ้นในครึ่งหลังของปี รวมถึงการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 1/2565 ของบริษัทจดทะเบียนที่ดีกว่าคาด โดยกำไรสุทธิมีการเติบโต 6% YoY และ 10% QoQ ทำให้นักลงทุนเริ่มกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้น โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติที่ยังเพิ่มการลงทุนในตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เดือนพฤษภาคม ราคาน้ำมันดิบ (Brent) ยังปรับตัวขึ้น 12.7% ซึ่งมีส่วนสนับสนุนให้ราคาหุ้นกลุ่มพลังงานกลับตัวขึ้น

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนพฤษภาคม 2565 SET Index ปิดที่ระดับ 1,663.41 จุด ลดลง 4.03 จุด หรือ -0.24% จากเดือนก่อนหน้า มูลค่าการซื้อขายต่อวันยังคงอยู่ในระดับที่เบาบางที่ 73,281 ล้านบาท โดยหุ้นกลุ่มหลักที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุด คือ กลุ่มปิโตรเคมี +3.2% กลุ่มพลังงาน +3.0% และกลุ่มธุรกิจการเกษตร +2.7% ในขณะที่หุ้นกลุ่มหลักที่ให้ผลตอบแทนติดลบมากที่สุด คือ กลุ่ม ICT -9.9% กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -4.4% และกลุ่มประกันภัยฯ -3.8% ในเดือนนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 20,284 ล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 1,745 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันภายในประเทศซื้อสุทธิ 4,466 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนทั่วไปภายในประเทศขายสุทธิ 26,495 ล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – พฤษภาคม 2565

การประชุมนโยบายการงินของสหรัฐฯ (FOMC) ในเดือนนี้ คณะกรรมการได้พิจารณาปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย 0.50% ทำให้อัตราดอกเบี้ยมาอยู่ที่ 0.75%-1.00% และส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ต่อเนื่องในอีกสองการประชุมข้างหน้า รวมถึงมองว่าเป็นความสำคัญที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยไปที่จุดสมดุล และอาจจำเป็นที่จะปรับขึ้นจนถึงจุดที่ตึงตัวได้ตามสถานการณ์ของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี คณะกรรมการมีความกังวลต่อความเสี่ยงของระบบการเงินและสภาพคล่องในตลาด สุดท้ายแล้ว คณะกรรมการยังได้ให้คำมั่นถึงความพยายามในการปรับลดเงินเฟ้อเข้าสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% อย่างมีเสถียรภาพ ในด้านกระบวนการลดขนาดงบดุล หรือ QT คณะกรรมการระบุจะเริ่มต้นในวันที่ 1 มิ.ย. ในอัตราเดือนละ USD47.5bn (แบ่งเป็น Treasury เดือนละ USD30bn และ MBS เดือนละ USD17.5bn) และจะทยอยปรับขึ้นในเวลา 3 เดือน สู่ระดับ USD95bn (แบ่งเป็น Treasury เดือนละ USD60bn และ MBS เดือนละ USD35bn) ตามแผนเดิมที่ได้ส่งสัญญาณไว้ โดยแถลงการณ์ระบุว่า FED ตั้งใจที่จะชะลอและยุติการลดขนาดงบดุลเมื่อดุลเงินสำรอง (Reserve Balance) อยู่เหนือระดับที่ FED มองว่าเป็นระดับที่เพียงพอ ทางด้านการประเมินเศรษฐกิจ คณะกรรมการมองว่า แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะติดลบในไตรมาสที่ 1 แต่อุปสงค์ภายในประเทศดีกว่าในไตรมาสก่อนหน้า การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวดีในไตรมาสแรก การลงทุนสินค้าคงคลังปรับลดลงหลังจากเพิ่มขึ้นสูงในไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว คณะกรรมการคาดการณ์เศรษฐกิจจะขยายตัวในไตรมาสที่ 2 รวมถึงโตต่อเนื่องสำหรับช่วงที่เหลือของปี และชะลอลงในปี 2023 และ 2024 ตามการเริ่มถอนนโยบายช่วยเหลือต่างๆ และการตึงตัวของภาคการเงิน

ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติ 6-3 ปรับดอกเบี้ยขึ้น 25bps สู่ระดับ 1% ตามคาดการณ์ของตลาด ซึ่งนับเป็นการปรับขึ้นต่อเนื่อง 4 รอบการประชุมสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2009 โดยคณะกรรมการ 3 ท่านที่เห็นต่างมองว่าควรปรับขึ้นไป 50bps สู่ระดับ 1.25% นอกจากนี้ คณะกรรมการระบุจะเริ่มพิจารณาการขายสินทรัพย์ที่เข้าซื้อในมาตรการ QE โดยคาดจะมีรายละเอียดมากขึ้นในเดือน ส.ค. BOE มีมุมมองต่อเศรษฐกิจแย่ลงอย่างมาก ท่ามกลางการเพิ่มขึ้นมากของราคาพลังงานที่หนุนเงินเฟ้อและกดดันความสามารถในการใช้จ่ายของผู้บริโภค โดยคาดเศรษฐกิจอังกฤษจะหดตัวราว -1.0% ในไตรมาส 4/2022 และคาดเศรษฐกิจปี 2023 จะหดตัว -0.25% (ลดลงจากที่คาดขยายตัว 1.25% ในเดือน ก.พ.) และจะขยายตัวเพียง 0.25% ในปี 2024 (ลดลงจากที่คาดขยายตัว 1.0% ในเดือน ก.พ.) ทางด้านเงินเฟ้อ BOE คาดจะขยายตัวทำจุดสูงสุดเหนือระดับ 10% เล็กน้อยในไตรมาส 4 สูงสุดนับตั้งแต่ปี 1982 เพิ่มขึ้นจากที่คาดไว้เมื่อเดือน ก.พ. ว่าจะขยายตัวทำจุดสูงสุดที่ 7.25% ในไตรมาส 2 โดยเงินเฟ้อเดือน มี.ค. ขยายตัว 7.0% ซึ่ง BOE คาดจะเร่งตัวขึ้นเป็น 9.1% ในเดือน เม.ย. อย่างไรก็ดี BOE คาดเงินเฟ้อจะชะลอลงอย่างรวดเร็วหลังทำจุดสูงสุด โดยคาดจะขยายตัวลดลงเป็น 2.1% ในช่วง 2 ปีข้างหน้า (ปี 2024) และลดลงเป็น 1.3% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า (ปี 2025) ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% ทั้งนี้ คณะกรรมการ BOE มีความเห็นต่างมากขึ้นในแนวโน้มของดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า โดยแถลงการณ์ระบุคณะกรรมการ ‘บางท่าน’ ตัดสินว่าการเพิ่มความเข้มงวดในนโยบายการเงินเพิ่มเติมอาจยังมีความเหมาะสมในเดือนข้างหน้า ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อเดือน มี.ค. ที่ระบุคณะกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าการเพิ่มความเข้มงวดในนโยบายการเงินเพิ่มเติมอาจมีความเหมาะสม

Promotion LTF/SSF/RMF 2565

ลูกค้าโอน LTF/SSF/RMF และ/หรือลงทุน SSF RMF ระหว่างวันที่ 1 ก.พ. – 30 ธ.ค. 2565 ทุกยอดการลงทุน 25,000 บาท รับหน่วยลงทุน TLMMF 50 บาท สูงสุดไม่เกิน 2,000 บาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย – เมษายน 2565

ในเดือนเมษายน 2565 SET Index ปรับตัวลดลง 1.64% สู่ระดับ 1,667.44 จุด จากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างยูเครน-รัสเซียที่ยังไม่มีแนวโน้มคลี่คลาย อัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงมาก ทำให้ Fed มีแนวโน้มที่จะเร่งใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น และการระบาดของ Covid-19 ในจีน ที่ทำให้จีนต้อง Lockdown เมืองเศรษฐกิจที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม การประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 1/2565 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ดีกว่าคาด และการที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศมากขึ้น ช่วยทำให้ SET Index ลดลงน้อยกว่าตลาดหุ้นอื่น ๆ

ปัจจัยภายนอกประเทศที่ส่งผลกระทบต่อ SET Index ในช่วงเดือนเมษายน 2565 ยังคงเป็นความเสี่ยงจากสงครามยูเครน-รัสเซียยังไม่มีแนวโน้มที่จะเจรจากันได้ และทางกลุ่มประเทศตะวันตกพยายามจะเพิ่มความกดดันด้วยการออกมาตรการ Sanction มากขึ้น ในขณะที่รัสเซียก็พยายามกดดันด้วยการจำกัดการส่งออกกาซธรรมชาติให้แก่กลุ่มประเทศยุโรปที่ไม่ยอมรับการซื้อกาซด้วยเงินรูเบิล ทำให้ราคาพลังงานยังคงเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในระดับที่สูงมาก ทำให้หลาย ๆ ประเทศทั่วโลกต้องพิจารณานโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ Fed มีแนวโน้มจะเร่งการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายควบคู่กับการดึงสภาพคล่องออกจากระบบการเงิน โดยมีการคาดการณ์ว่า Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือนพฤษภาคม และอาจจะขึ้นอีกครั้งละ 0.50% ต่อเนื่องอีก 2-3 ครั้งด้วย ทำให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐฯปรับตัวขึ้นอย่างมาก และมีความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ในอนาคต ในขณะที่การระบาดของ Covid-19 ในจีนมีการขยายวงมากขึ้นจากเซี่ยงไฮ้ไปยังปักกิ่ง ซึ่งทำให้มีความกังวลว่าจีนจะขยายมาตรการ Lockdown จากเซียงไฮ้ไปยังปักกิ่งด้วย ส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกปรับตัวลงในเดือนเมษายน โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกภายในประเทศของไทยก็ยังช่วยประคองให้ SET Index ปรับตัวลดลงน้อยกว่าประเทศอื่นๆ จากการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 1/2565 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ และการที่การระบาดของ Covid-19 ในประเทศมีแนวโน้มลดลง ทั้ง ๆ ที่เพิ่งผ่านเทศกาลสงกรานต์ที่คาดว่าการระบาดจะเร่งตัวขึ้นมาก ทำให้รัฐบาลเริ่มประกาศผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประทศมากขึ้น ทั้งการยกเลิกการตรวจ RT-PCR มาเป็นการตรวจ ATK และการยกเลิก Test & Go ซึ่งทำให้มีความคาดหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากภาคการท่องเที่ยวมากขึ้น แม้ว่าประเทศไทยก็เผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น จากราคาพลังงานที่ปรับตัวขึ้นเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก นอกจากนี้ การที่ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้นค่อนข้างรวดเร็ว ทำให้ยังมีเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สภาวะการลงทุนในเดือนเมษายนค่อนข้างซบเซา เนื่องจากมีเทศกาลหยุดยาวประจำปี นักลงทุนยังกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกและเงินเฟ้อ และความกังวลเกี่ยวกับการปรับตัวลงของตลาดหุ้นในเดือนพฤษภาคม ที่ทำให้นักลงทุนระมัดระวังการลงทุนมากขึ้น

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนเมษายน 2565 SET Index ปิดที่ระดับ 1,667.44 จุด ลดลง 27.80 จุดหรือ -1.64% จากเดือนก่อนหน้า มูลค่าการซื้อขายต่อวันลดลงจาก 89,195 ล้านบาทในเดือนมีนาคม เหลือ 71,959 ล้านบาทในเดือนเมษายน โดยหุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุด คือ กลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ +11.1% กลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต +4.7% และกลุ่มการแพทย์ +2.0% ในขณะที่หุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนติดลบมากที่สุด คือ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ -9.5% กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -6.3% และกลุ่มบันเทิงและสันทนาการ -2.9%

ในเดือนที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 10,869 ล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ขายสุทธิ 1,350 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันภายในประเทศขายสุทธิ 13,152 ล้านบาท และนักลงทุนทั่วไปภายในประเทศซื้อสุทธิ 3,634 ล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – เมษายน 2565

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) คงอัตราดอกเบี้ย โดยคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Deposit Facility) ที่ -0.5% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Marginal Lending Facility) ที่ 0.25% และอัตราดอกเบี้ย Main Refinancing Operations ที่ 0.00% โดย ยังคงแผนการลด QE และจะจบการเข้าซื้อในไตรมาสที่ 3 กล่าวคือ คงแผนเดิมที่ประกาศการซื้อสินทรัพย์ผ่านมาตรการ Asset Purchase Program (APP) ซึ่งเป็นมาตรการ QE ปกติ 4 หมื่นล้านยูโรในเดือนเมษายน 3 หมื่นล้านยูโรในเดือนพฤษภาคม และ 2 หมื่นล้านยูโรในเดือนมิถุนายน และประเมินว่าการเข้าซื้อสินทรัพย์ผ่าน APP จะจบในไตรมาสที่ 3 นี้ โดยวันที่แน่นอนขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจและภาพรวมเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ในขณะที่จะลงทุนต่อ (Reinvest) ในพันธบัตรจากมาตรการ QE : Pandemic Emergency Purchase Program (PEPP) ที่ถือครองจากโครงการนี้ไปจนถึงอย่างน้อยสิ้นปี 2024 ทั้งนี้ ประธาน ECB กล่าวถึงการขึ้นดอกเบี้ยว่าอาจเกิดขึ้นภายในไม่กี่อาทิตย์หรือในไม่กี่เดือนหลังจากจบ QE ทางด้านเศรษฐกิจ ECB ประเมินว่าเศรษฐกิจยูโรโซนและเงินเฟ้อได้รับผลกระทบมากจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่สร้างผลกระทบกับเศรษฐกิจและการค้าของยูโรโซน และทำให้ราคาพลังงานพุ่งสูง มีความเสี่ยงด้านสูงของเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมากโดยเฉพาะในระยะสั้น และความเสี่ยงด้านต่ำต่อเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน โดย ECB พร้อมใช้เครื่องมือใหม่เมื่อจำเป็นหากเกิดสถานการณ์ที่น่ากังวลจากการยกเลิกการทำ QE

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่องด้วยมติ 8-1 คะแนน ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ -0.1%, ควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีที่ใกล้ศูนย์ และคงมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการ 1 ท่านลงมติให้ลดอัตราดอกเบี้ยทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจลงทุนสินทรัพย์คงทนในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้ BOJ จะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล อายุ 10 ปี ที่อัตราผลตอบแทน 0.25% ทุกวันทำการ ในส่วนของมาตรการซื้อสินทรัพย์ คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงการซื้อ ETFs ไม่เกิน 12 ล้านล้านเยนและ J-REITs ไม่เกิน 1.8 แสนล้านเยนต่อปี และซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชนในปริมาณใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 โดย BOJ ยืนยันคงดอกเบี้ยนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง จนกว่าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับเป้าหมาย 2% อย่างมีเสถียรภาพ และจะติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างใกล้ชิด และพร้อมดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติมหากจำเป็น ทางด้านคาดการณ์เศรษฐกิจ ได้ปรับลด GDP ในปีนี้เป็น +2.9%YoY จากประมาณการในเดือนมกราคมที่ +3.8%YoY และปรับเพิ่ม GDP 2023 +1.1%YoY ไปอยู่ที่ +1.9%YoY ด้านเงินเฟ้อได้ปรับเพิ่มเป็น 1.9%YoY จากประมาณการในเดือนมกราคมที่ 1.1%YoY ผลจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นสูงเป็นสำคัญ BOJ ประเมินความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในระยะสั้นจากการระบาดของโควิด-19 และสถานการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครน แต่จะกลับมาสมดุลในระยะถัดไป ด้านความเสี่ยงของเงินเฟ้อประเมินว่าความเสี่ยงสูงขึ้นจากความผันผวนของราคาพลังงาน แต่จะกลับมาสมดุลในระยะถัดไป

ภาวะตลาดหุ้นไทย – มีนาคม

SET Index ปรับตัวขึ้น 0.6% สู่ระดับ 1,695.24 จุด จากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างยูเครน-รัสเซียที่เริ่มเบาบางลงในช่วงสิ้นเดือนมีนาคม 2565 เนื่องด้วยความคืบหน้าในการเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่าย หลังจากที่มีการปรับตัวลงไปตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม 2565 เนื่องด้วยความกังวลถึงผลกระทบจาก Geopolitical Risks ระหว่างยูเครน-รัสเซีย ประกอบกับการส่งสัญญาณในการใช้นโยบายการเงินตึงตัวของหลายๆ ประเทศทั่วโลก

ปัจจัยภายนอกประเทศที่ส่งผลต่อ SET Index ในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2565 คือ ความเสี่ยงจากสงครามยูเครน-รัสเซียที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 โดยทั้งสองประเทศยังคงสู้รบกันอย่างต่อเนื่องและหลังจากการเจรจาข้อตกลงต่างๆ ไม่มีความคืบหน้าเป็นรอบที่ 3 ส่งผลให้ตลาดหุ้นปรับตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ ก่อนที่ตลาดจะเริ่มรับรู้ และฟื้นตัวขึ้นมาในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมีนาคม 2565 อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากสงครามต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังเป็นความเสี่ยงที่สำคัญที่คอยกดดันตลาดหุ้นตลอดทั้งเดือนมีนาคม 2565 โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อในระดับสูงจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการส่งสัญญาณในการใช้นโยบายการเงินตึงตัวของหลายๆ ประเทศทั่วโลกจากการฟื้นตัวที่ดีของเศรษฐกิจในประเทศที่พัฒนาแล้วและปัญหาเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น รวมไปถึงถ้อยแถลงของนาย Jerome Powell ที่จะมีการหารือกับสมาชิก Fed ถึงความเป็นไปได้ในการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายถึง 50 bps ในเดือนพฤษภาคม 2565 นี้ ทำให้ความกังวลเกี่ยวกับนโยบายทางการเงินตึงตัวยังคงเป็นปัจจัยกดดันต่อภาวะการลงทุนในเดือนมีนาคม 2565 อยู่ อีกทั้งยังมีประเด็นความเสี่ยงเพิ่มเติมของสถานการณ์การระบาดของไวรัส Covid-19 ในประเทศจีนที่กลับมาระบาดอีกครั้ง จนเกิดการ Lockdown ขึ้นในหลายเมืองสำคัญ อาทิเช่น เซิ่นเจิ้นและเซี่ยงไฮ้ ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของสินค้าหลายๆ ประเภท แต่ในช่วงสิ้นเดือนมีนาคม 2565 ตลาดกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้งจากประเด็นบวกของสถานการณ์ยูเครน-รัสเซียที่ดีขึ้น เนื่องด้วยการเจรจาในวันที่ 30 มีนาคม 2565 ซึ่งรัสเซียยอมตกลงที่จะถอยกำลังทหารออกจากกรุงเคียฟ เพื่อเพิ่มความไว้วางใจระหว่างทั้งสองประเทศ

ปัจจัยภายในประเทศที่ส่งผลต่อ SET Index ในเดือนมีนาคม 2565 คือตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันยังคงมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น โดยที่อัตราผู้ป่วยใหม่รายวันยังคงเพิ่มขึ้นเร็วกว่าผู้ที่หายป่วยรายวัน รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อภายในประเทศที่เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก จากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น และผู้ประกอบการเริ่มผลักภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นให้กับผู้บริโภคมากขึ้น ในขณะที่ปัจจัยบวกภายในประเทศ คือ การที่รัฐบาลออกนโยบายจะทยอยเปิดเมืองมากขึ้น ซึ่งทำให้มีความคาดหวังเกี่ยวกับการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวมากขึ้น

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนมีนาคม 2565 SET Index ปิดที่ระดับ 1,695.24 จุด เพิ่มขึ้น 10.06 จุดหรือ 0.6% จากเดือนก่อน โดยช่วงครึ่งแรกของเดือน ปัจจัยแวดล้อมเป็นไปในเชิงลบอย่างมาก เริ่มตั้งแต่สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่รุนแรงและยืดเยื้อ ทำให้สหรัฐฯและประเทศในกลุ่ม EU ตะวันตกคว่ำบาตรรัสเซีย รวมถึงความกังวลว่าจะมีการคว่ำบาตรสินค้าพลังงานจากรัสเซียด้วย ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นสูง ซึ่งจะกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อให้ปรับตัวขึ้นตามเช่นกัน สร้างความกังวลต่อนักลงทุนทั่วโลกที่ Fed มีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากกว่าคาด นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ในจีนจนเกิดการ Lockdown ในหัวเมืองต่างๆ ปัจจัยลบเหล่านี้กดดันให้ดัชนี SET Index ลดลงไปทำจุดต่ำสุดที่ 1,619 จุด ต่ำสุดในรอบกว่า 3 เดือน ก่อนที่ครึ่งหลังของเดือนมีนาคม 2565 ดัชนี SET Index จะฟื้นขึ้นจากแรงซื้อกลับหลังตลาดรับรู้ข่าวลบไปมากแล้ว และความคาดหวังการเจรจาสันติภาพระหว่างยูเครน-รัสเซีย และนโยบายการเปิดเมืองของประเทศ โดยหุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุด คือ กลุ่มการแพทย์ 8.9% กลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ 8.9% และกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 5.1% ในขณะที่กลุ่มธนาคาร -3.0% กลุ่มวัสดุก่อสร้าง -2.7% กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -2.1% ให้ผลตอบติดลบมากที่สุดในช่วงเดียวกัน

ในเดือนที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิที่ 33,530 ล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ขายสุทธิที่ 7,079 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันภายในประเทศขายสุทธิที่ 17,684 ล้านบาท และนักลงทุนทั่วไปภายในประเทศขายสุทธิที่ 8,767 ล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – มีนาคม 2565

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำตามที่ตลาดคาดการณ์ แต่ได้ส่งสัญญาณยุติการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE) ในไตรมาส 3 ซึ่งเร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ECB ได้ทำการปรับเปลี่ยนแนวทางการเข้าซื้อสินทรัพย์แบบปกติหรือ APP (Asset Purchase Program) โดยระบุจะเข้าซื้อในอัตราเดือนละ EUR40bn ในเดือน เม.ย., EUR30bn ในเดือน พ.ค. และ EUR20bn ในเดือน มิ.ย. ส่วนการเข้าซื้อในไตรมาส 3 จะขึ้นอยู่กับพัฒนาการของตัวเลขเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้คงไว้ที่ระดับต่ำในปัจจุบัน ได้แก่ Deposit Facility Rate ที่ -0.50%, Main Refinancing Rate ที่ 0.0% และ Marginal Lending Rate ที่ 0.25% และได้ส่งสัญญาณแนวโน้มของดอกเบี้ย (Forward Guidance) เพิ่มเติม โดยระบุว่าการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นหลังการเข้าซื้อสินทรัพย์ผ่าน APP สิ้นสุดลงสักระยะหนึ่งและจะดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้านแนวโน้มเศรษฐกิจ ECB ปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้ลงเป็น 3.7% จาก 4.2% ที่คาดไว้เดิมในเดือน ธ.ค. โดยหลักเป็นผลจากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนที่ส่งผลต่อราคาพลังงาน ความเชื่อมั่น และการค้า อย่างไรก็ดี GDP อาจขยายตัวลดลงเป็น 2.3-2.5% ในกรณีเลวร้ายที่มีการออกมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติม และมีการลดการนำเข้าก๊าซจากรัสเซียอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนำไปสู่ต้นทุนด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้นและการลดกำลังการผลิตในยุโรป ส่วนเงินเฟ้อ ECB ปรับเพิ่มคาดการณ์ปีนี้ขึ้นอย่างมากเป็น 5.1% จาก 3.2% ที่คาดไว้เดิม ท่ามกลางราคาพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในกรณีเลวร้าย เงินเฟ้ออาจขยายตัวสูงถึง 7.1% ทั้งนี้ ECB ยังคาดเงินเฟ้อจะชะลอลงในระยะกลางอยู่ที่ 2.1% (เดิมคาด 1.8%) ในปี 2023F และอยู่ที่ 1.9% (เดิมคาด 1.8%) ในปี 2024F

ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีมติ 8-1 ปรับขึ้นดอกเบี้ย 25bps สู่ระดับ 0.25-0.50% ตามการคาดการณ์เป็นวงกว้าง ซึ่งนับเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2018โดยแนวโน้มของดอกเบี้ยหรือ Dot plot ชี้ว่า FED จะปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องอีก 6 ครั้งในปีนี้ หรืออีก 150bps สู่ระดับ 2.0% นอกจากนี้ มีคณะกรรม 7 ท่านที่มองว่าควรปรับขึ้นสูงกว่าระดับ 2% หรือมีบางการประชุมที่ปรับขึ้น 50bpsสำหรับปี 2023 Dot plot ชี้ FED จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 3 ครั้ง สู่ระดับ 2.75% และทรงตัวที่ระดับดังกล่าวในปี 2024 ขณะที่คาดการณ์ดอกเบี้ยระยะยาว (Longer-run Rate) ปรับลดลงเล็กน้อยเป็น 2.4% จากเดิม 2.5% ทางด้านตัวเลขเศรษฐกิจ FED ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อสอดรับกับมุมมองด้านดอกเบี้ยที่ Hawkish มากขึ้น โดยปรับเงินเฟ้อ Core PCE ในปี 2022F เพิ่มขึ้นมากเป็น 4.1% (vs.