ภาวะตลาดหุ้นไทย – พฤศจิกายน 2565

ตลาดหุ้นไทยเดือนพฤศจิกายน: ดัชนีหุ้นไทยเดือนนี้ ปิดที่ระดับ 1,635.36 จุด เพิ่มขึ้น 1.65% จากเดือนก่อน แม้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนจะอ่อนตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากการปรับลงของราคาพลังงานจนทำให้ผลประกอบการของบริษัทในกลุ่มพลังงานปรับลดลง อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มชะลอตัวการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ รวมกับการที่รัฐบาลจีนเริ่มส่งสัญญาณการผ่อนคลายนโยบาย Zero Covid และประเทศไทยมีความชัดเจนในเรื่องการเลือกตั้งมากขึ้น ส่งผลให้ดัชนีหุ้นไทยสามารถกลับมาปิดในแดนบวกได้ในเดือนที่ผ่านมา

สำหรับปัจจัยสนับสนุนจากภายนอกนั้นเริ่มจากฝั่งสหรัฐฯ ที่มีการประชุมของ FED ในช่วงต้นเดือน โดยมีมติปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 75 bps เข้าสู่ระดับ 3.75% – 4.00% และให้ภาพกับนักลงทุนว่า FED จะยังมีความจำเป็นที่จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูง ถึงแม้ว่าจะเริ่มให้สัญญาณว่าการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้นมีโอกาสชะลอปรับการเพิ่มขึ้นในครั้งถัดไป ซึ่งทั้งหมดไม่ได้ผิดไปจากที่นักลงทุนคาดการณ์ โดยนักลงทุนส่วนใหญ่มองว่า Terminal Rate ของ FED จะอยู่ที่ประมาณ 5% นอกจากนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯเริ่มอ่อนตัวลง โดยอัตราว่างงานที่เพิ่มจากระดับ 3.5% สู่ 3.7% และรายงานเงินเฟ้อ CPI และ PPI ประจำเดือนตุลาคมก็ต่ำกว่าตลาดคาด ยิ่งสนับสนุนมุมมองของนักลงทุนว่าเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ขณะเดียวกัน ในส่วนของฝั่งเอเชียเอง ประเทศจีนได้เริ่มส่งสัญญาณผ่อนคลายมาตรการ Zero Covid เนื่องจากมาตรการดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจีนอย่างมาก อีกทั้งความรุนแรงของอาการ Covid สายพันธุ์โอไมครอนก็น้อยกว่าสายพันธุ์อื่นก่อนหน้า ทำให้ทางการจีนเริ่มปรับเปลี่ยนวิธีควบคุมการระบาด

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – ตุลาคม 2565

รายงานการประชุมนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) ในวันที่ 20-21 กันยายน ที่ผ่านมาเปิดเผยว่า คณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นดอกเบี้ย 75bps เนื่องจากเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง ตลาดแรงงานที่ยังตึงตัว และเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวได้ คณะกรรมการมองการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องยังคงเหมาะสมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อกลับสู่กรอบที่ 2% โดยย้ำถึงความจำเป็นของการขึ้นดอกเบี้ยไปสู่จุดตึงตัวเพื่อเสถียรภาพของราคาและสนับสนุนการจ้างงาน รวมถึงแสดงความมุ่งมั่นควบคุมเงินเฟ้อด้วยนโยบายการเงิน ซึ่งกรรมการบางท่านมองว่าการทำมากเกินไปเพื่อสู้เงินเฟ้อยังดีกว่าการทำน้อยเกินไป โดยอัตราการขึ้นในครั้งถัดไปจะขึ้นอยู่กับข้อมูลของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ที่กระทบต่อการคาดการณ์ นอกจากนี้ คณะกรรมการมองเมื่อขึ้นไปถึงจุดตึงตัวที่เหมาะสมแล้วอาจคงอัตราดอกเบี้ยระยะนึงเพื่อให้มั่นใจว่าเงินเฟ้อปรับลดลงสู่เป้าหมายที่ 2%

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 75bps เป็นครั้งที่สอง และเป็นการขึ้นดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่สาม โดยขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Deposit Facility) จาก 0.75% ไปอยู่ที่ 1.50% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Marginal Lending Facility) จาก 1.50% ไปอยู่ที่ 2.25% และอัตราดอกเบี้ย Main Refinancing Operations จาก 1.25% ไปอยู่ที่ 2.00% พร้อมส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง โดยอัตราการขึ้นดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่กับข้อมูลทางด้านเงินเฟ้อและเศรษฐกิจเป็นสำคัญ และยังคงให้ความสำคัญกับการจัดการให้เงินเฟ้อกลับมาอยู่ที่ระดับเป้าหมายใกล้เคียง 2% พร้อมกันนี้ ECB ประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยภายใต้โครงการ TLTRO III ตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายนเป็นต้นไป และมีการให้ค่าตอบแทนสำหรับเงินสำรองขั้นต่ำที่ระดับอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ECB คาดภาพรวมเศรษฐกิจชะลอลงมากในไตรมาสที่สามและจะชะลอลงในระยะข้างหน้าทั้งในไตรมาสที่สี่และต้นปีหน้า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและธุรกิจปรับลดลงอย่างรวดเร็วซึ่งกระทบต่อเศรษฐกิจ นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกขยายตัวชะลอลง ตามปัญหาทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ทางด้านเงินเฟ้อ ประเมินว่าเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงเกินรับได้และขยายในวงกว้างมากขึ้น นอกจากนี้ตลาดแรงงานยังคงแข็งแรงและเป็นแรงสนับสนุนให้ค่าจ้างปรับเพิ่มขึ้น ทางด้านความเสี่ยง ความเสี่ยงของเศรษฐกิจอยู่ในด้านลบอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในระยะอันใกล้นี้ และความเสี่ยงด้านเงินเฟ้ออยู่ในด้านสูง โดยความเสี่ยงหลักในระยะสั้นของเงินเฟ้อมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน

ในขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังคงดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง ด้วยมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ -0.1% ควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve Control) อายุ 10 ปีที่ใกล้ศูนย์ และคงการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ไม่จำกัดที่ 0.25% รวมถึงคงการซื้อ ETFs ไม่เกิน 12 ล้านล้านเยนและ J-REITs ไม่เกิน 1.8 แสนล้านเยนต่อปี และซื้อตราสารหนี้เอกชนในปริมาณใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 รวมทั้งซื้อตราสารหนี้เอกชนระยะสั้น (Commercial Paper) 2 ล้านล้านเยน และหุ้นกู้เอกชน (Corporate Bond) 3 ล้านล้านเยน โดย BOJ พร้อมดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติมหากจำเป็น ในระยะข้างหน้าคาดว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นและระยะยาวจะยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงหรือต่ำกว่าปัจจุบัน ด้านสภาพเศรษฐกิจ BOJ ประเมินว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังฟื้นตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP 2022 ขยายตัว 2.0% จากที่คาด 2.4% ในขณะที่ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อไปอยู่ที่ 2.9% จาก 2.3% ที่คาดไว้เดิม จากราคาพลังงาน ราคาอาหาร และสินค้าคงทนที่เพิ่มขึ้น ด้านความเสี่ยงของเศรษฐกิจอยู่ในทางด้านลบและความเสี่ยงของเงินเฟ้ออยู่ในด้านสูง

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยโดยส่วนใหญ่ปรับขึ้น 2-20bps ในขณะที่อัตราผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐยังคงปรับตัวขึ้นไปต่อเนื่อง 20-94bps นักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์ว่า FED จริงจังกับการสกัดเงินเฟ้อ และมีแนวโน้มจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 1.00-1.25% ในการประชุมอีก 2 ครั้งที่เหลือในปีนี้ ส่วนทิศทางการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้เป็นการขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 7 พันล้านบาทและขายสุทธิพันธบัตรระยะยาว 9.2 พันล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว คงเหลือการถือครองลดลงประมาณ 2 หมื่นล้านบาท โดยยอดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทย ณ สิ้นเดือนตุลาคมอยู่ที่ประมาณ 9.8 แสนล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อนประมาณ 3.9 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดหุ้นไทย – ตุลาคม 2565

ตลาดหุ้นไทยเดือนตุลาคม SET Index ปิดที่ระดับ 1,608.76 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 1.21% จากเดือนก่อน โดยปรับลงในช่วงครึ่งเดือนแรกตามทิศทางตลาดหุ้นโลก กดดันจากความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยมากขึ้น เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯยังปรับสูงกว่าที่ตลาดคาด และ FED จะยังคงนโยบายทางการเงินที่ตึงตัวต่อไป อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นโลกสามารถฟื้นตัวขึ้นในครึ่งเดือนหลัง จากความคาดหวังว่า FED จะเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยช้าลงหลังการประชุมเดือนพฤศจิกายน ทำให้มีเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลกลับเข้าลงทุนในตลาดหุ้น รวมถึงการคาดหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังปัญหาน้ำท่วมคลี่คลาย และรัฐอาจจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปี นอกจกนี้ ผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ที่ทยอยประกาศออกมาก็มีแนวโน้มเติบโตดี ทำให้ SET Index มีการปรับตัวขึ้นได้

สำหรับปัจจัยกดดันจากต่างประเทศนั้น หลังจากสหรัฐฯรายงานเงินเฟ้อประจำเดือนกันยายนออกมาที่ 8.3% มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ 8.1% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานนั้นอยู่ที่ 6.6% มากกว่าที่ตลาดคาดที่ 6.5% เช่นกัน โดยมีปัจจัยผลักดันหลักจากราคาอาหารและค่าเช่าบ้าน ทำให้ตลาดปรับเพิ่มโอกาสที่ FED จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งต่อไปอีก 75 bps ซึ่งจะเป็นการขึ้นที่ 75 bps ครั้งที่ 4 และตลาดคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ จะไปจบที่ 5% ในสิ้นปี 2565 จากสถานการณ์ข้างต้นสร้างความกังวลต่อนักลงทุนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะไม่สามารถหลีกเลี่ยงสภาวะถดถอยได้ นอกจากนี้ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลาย โดยทางรัสเซียได้เรียกระดมพลถึงสามแสนนาย ปรับเปลี่ยนรูปแบบการโจมตีที่เน้นไปยังโครงสร้างพื้นฐานของยูเครนมากขึ้น เพื่อตอบโต้ที่สะพานเชื่อมรัสเซีย-ไครเมียนั้นถูกทำลาย โดยความขัดแย้งที่ยังคงดำเนินต่อไปเมื่อรวมกับการลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC+ กลายเป็นปัจจัยหนุนให้ราคาพลังงานยังคงอยู่ในระดับสูง และทำให้ปัญหาเงินเฟ้อคลี่คลายได้ยาก

ภาวะตลาดหุ้นไทย – กันยายน 2565

ตลาดหุ้นไทยเดือนกันยายน SET Index ปิดที่ระดับ 1,589.51 จุด ลดลง 3.02% จากเดือนก่อน แม้จะมีปัจจัยสนับสนุนภายในประเทศจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว แต่ความกังวลเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกาที่มากกว่าคาด กลายเป็นปัจจัยกดดันสำคัญที่ทำให้ SET Index ปรับตัวลดลงในเดือนนี้

สำหรับสถานการณ์ในต่างประเทศนั้น ล่าสุดสหรัฐอเมริกาได้ประกาศตัวเลขเงินเฟ้อที่ 8.3% แม้ว่าจะน้อยกว่าเดือนก่อนที่ 8.5% แต่ยังเป็นตัวเลขที่มากกว่าตลาดที่ 8.1% นอกจากนี้ ตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐานยังไม่ปรับลดลงและคงระดับอยู่ที่ 6.3% โดยมีสาเหตุมาจากตลาดแรงงานที่ยังแข็งแกร่งประกอบกับค่าเช่าบ้านที่ปรับตัวขึ้นตามราคาที่อยู่อาศัย จึงสร้างความกังวลว่า FED จะยังคงนโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่รุนแรงเพื่อสร้างเสถียรภาพให้เศรษฐกิจ แม้จะต้องแลกมาด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงก็ตาม โดยการประชุมล่าสุด FED ยังคงประกาศการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ 75 bps และจากสถานการณ์ข้างต้น ทำให้นักลงทุนคาดว่ายังมีโอกาสที่ FED จะเพิ่มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ 75 bps ได้อีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน โดยรายงาน Dot Plot ชี้ว่า FED คาดอัตราดอกเบี้ยปี 2022 และ 2023 จะอยู่ที่ 4.375% และ 4.625% ตามลำดับ ทิศทางดังกล่าวสร้างความกังวลต่อโอกาสในการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย นำไปสู่ความผันผวนต่อตลาดพันธบัตรและสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก โดยอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐอเมริกาได้ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐได้เข้าสู่ระดับ 3.57% สูงที่สุดในรอบ 12 ปี ผลักดันให้เงินดอลล่าสหรัฐฯ แข็งค่าจนกดค่าเงินบาททะลุ 38 บาท

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยรัฐบาลไทยได้ตั้งเป้าหมายการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2565 ที่ 10 ล้านคนหรือประมาณ 25% ของจำนวนนักท่องเที่ยวในระดับก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ในปี 2019 ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ยังคงอยู่ในทิศทางสนับสนุนการฟื้นตัว ทางธนาคารแห่งประเทศไทยปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก 25 bps โดยให้ความสำคัญกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากกว่าการพยุงค่าเงินบาท โดยธนาคารแห่งประเทศไทยให้เหตุผลว่าสาเหตุการอ่อนค่าของเงินบาทนั้นเกิดจากการแข็งค่าผิดปกติของเงินดอลล่าสหรัฐฯ โดยจะสังเกตได้จากการอ่อนค่าของเงินเกือบทุกสกุล ทำให้การขึ้นดอกเบี้ยตาม FED อาจจะไม่ได้ช่วยบรรเทาปัญหาเงินบาทอ่อนลงมากนัก ในทางกลับกันเศรษฐกิจประเทศไทยยังอยู่ในช่วงการฟื้นตัว การขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากเกินไปอาจกลายเป็นการสร้างภาระให้แทน ส่วนในเรื่องความกังวลว่าค่าเงินบาทอ่อนค่านั้นจะส่งผลกระทบทางอ้อมต่อการนำเข้าที่จะต้องซื้อสินค้าจากต่างประเทศในราคาที่สูงขึ้น ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ให้เหตุผลว่าการส่งผ่านต้นทุนการนำเข้าสู่ผู้บริโภคนั้นอยู่ในระดับที่จำกัด นอกจากนี้ ประเทศจีนที่เป็นผู้ส่งออกสินค้าหลักมายังประเทศไทยก็มีค่าเงินที่อ่อนค่าใกล้เคียงกับประเทศไทย ทำให้ผลกระทบในส่วนนี้ยังคงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ จากปัจจัยเฉพาะตัวของประเทศไทยข้างต้น ส่งผลให้ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลงที่ 3.02% น้อยกว่าตลาดหุ้นในประเทศอื่น ๆ

สรุปในเดือนกันยายน หุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุด คือ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 17.1% กลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ 6.4% และกลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง 4.1% ในขณะที่กลุ่มที่ให้ผลตอบแทนเป็นลบมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มธุรกิจการเกษตร -11.6% กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -9.5% และกลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ -6.1% โดยนักลงทุนต่างชาติพลิกกลับมาขายที่ 2.4 หมื่นล้านบาท หลังจากซื้อสุทธิที่ 5.7 หมื่นล้านบาทในเดือนก่อน นักลงทุนทั่วไปภายในประเทศซื้อสุทธิ 2.6 หมื่นล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 0.3 หมื่นล้านบาท และนักลงทุนสถาบันภายในประเทศขายสุทธิ 0.5 หมื่นล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – กันยายน 2565

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศขึ้นดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยมีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 75bps โดยขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Deposit Facility) จาก 0.00% ไปอยู่ที่ 0.75% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Marginal Lending Facility) จาก 0.75% ไปอยู่ที่ 1.50% และอัตราดอกเบี้ย Main Refinancing Operations จาก 0.50% ไปอยู่ที่ 1.25% พร้อมกันนี้ได้ยกเลิกเพดานดอกเบี้ย 0% สำหรับเงินฝากภาครัฐ ประธาน ECB ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในการประชุมครั้งถัดไป พร้อมไม่ปฏิเสธโอกาสการขึ้นดอกเบี้ย 75bps ในการประชุมครั้งถัดไป โดยจะพิจารณาจากข้อมูลเป็นหลัก (Data Dependent) และยังคงให้ความสำคัญกับการจัดการให้เงินเฟ้อกลับมาอยู่ที่ระดับเป้าหมายใกล้เคียง 2% นอกจากนี้ได้คาดการณ์เศรษฐกิจชะลอลงและเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง จากประเด็นการขาดแคลนก๊าซเป็นหลัก ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าชะลอลง เงินเฟ้อยังคงเร่งตัวในระดับสูง ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ยุโรปในปีนี้ขึ้นเป็น 3.1% จากคาดการณ์ในเดือนมิถุนายนที่ 2.8% เนื่องจากเศรษฐกิจยุโรปในช่วงครึ่งปีแรกเติบโตได้ดีกว่าคาด อย่างไรก็ตาม ปรับลดคาดการณ์ปี 2023 และ 2024 ลงเป็น 0.9% และ 1.9% ตามลำดับ จาก 2.1% ท่ามกลางความเสี่ยงที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาวจากประเด็นการขาดแคลนก๊าซ ทำให้ ECB ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อเป็น 8.0% 5.5% และ 2.3% สำหรับปี 2022 2023 และ 2024 ตามลำดับ

ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ย 75bps ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 3 เพื่อทำให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% พร้อมดำเนินการลดงบดุลต่อเนื่องตามแผนเดิม ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นมาอยู่ที่ 3.0%-3.25% สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2008 ในขณะที่ค่ากลางของ Dot Plot ล่าสุดระบุว่าสมาชิก FED ส่วนใหญ่มีมุมมองต่อการขึ้นดอกเบี้ยให้ถึง 4.4% ในปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 3.4% ที่ระบุไว้รอบเดือนมิถุนายน นอกจากนี้ กรรมการยังมีมุมมองดอกเบี้ยอยู่ที่ 4.6% ในปี 2023 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 3.75% ที่คาดไว้ตอนเดือนมิถุนายน FED ประเมินว่าเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงจากภาวะความไม่สมดุลระหว่างภาคอุปสงค์และอุปทาน จากการระบาดของโควิด ราคาอาหารและพลังงานที่อยู่ในระดับสูง และความกดดันจากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างทั่วถึงมากขึ้น โดยสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนเพิ่มความกดดันให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก FED ได้ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 5.4% จากเดิมที่ 5.2% และสำหรับปีหน้าเงินเฟ้อปรับขึ้นจากคาดการณ์เดิมที่ 2.6% ไปอยู่ที่ 2.8% ทั้งนี้ ยังได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในปีนี้ลงจาก 1.7% เป็น 0.2% และปีหน้าจาก 1.7% เป็น 1.2% จากเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอตัวลงทั้งด้านการใช้จ่ายและการผลิต รวมถึงผลกระทบของเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นสูง ด้านตลาดแรงงาน ภาพรวมตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง และอัตราการว่างงานจะยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี FED ปรับเพิ่มประมาณการอัตราการว่างงานจาก 3.7% ในปีนี้ ไปอยู่ที่ 3.8% และปรับขึ้นไปอยู่ที่ 4.4% ในปีหน้า จากเดิมที่คาดอยู่ที่ 3.9%

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 25bps เป็น 1.00% จาก 0.75% ตามที่ตลาดคาดการณ์ โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง จากแรงหนุนการท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศ ในขณะที่เงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงและเริ่มเห็นการส่งผ่านทางต้นทุนที่มากขึ้น ทางด้านตัวเลขเศรษฐกิจ คงคาดการณ์ GDP ไทยปีนี้ที่ 3.3% และปรับลดคาดการณ์ปีหน้าเป็น 3.8% จาก 4.2% โดยยังประเมินว่าการท่องเที่ยวและการบริโภคเอกชนเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทยในปีนี้ และมีการปรับคาดการณ์นักท่องเที่ยวในปีนี้และปีหน้าเพิ่มขึ้นเป็น 9.5 ล้านคน และ 21.0 ล้านคนตามลำดับ ในขณะที่ปรับลดคาดการณ์อุปสงค์ในประเทศปีหน้าลงเป็น 2.5% จาก 3.0% ท่ามกลางความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอลง ซึ่ง ธปท. ประเมินว่าจะส่งผลให้การส่งออกในปีหน้าชะลอลงด้วย ด้านอัตราเงินเฟ้อ ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อปีนี้และปีหน้าเป็น 6.3% และ 2.6% จาก 6.2% และ 2.5% ตามลำดับ พร้อมปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อพื้นฐานในปีนี้และปีหน้าที่ 2.6% และ 2.4% ตามลำดับ เนื่องจากการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังมีจำกัด ทั้งนี้ ธปท. ประเมินว่าเงินเฟ้อระยะปานกลางจะยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1.0-3.0%

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวขึ้นในทิศทางเดียวกับตลาดพันธบัตรสหรัฐ โดยอัตราผลตอบแทนปรับตัวขึ้นตลอดทั้งเส้น ในช่วงอายุ 5-11 ปีปรับขึ้นมากที่สุด 60-74bps ในขณะที่พันธบัตรระยะสั้นอายุไม่เกิน 1 ปีปรับขึ้นเล็กน้อย 13-27bps ตามการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท. ส่วนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวขึ้น 37-79bps จากการคาดการณ์ว่า FED จะจริงจังกับการสกัดเงินเฟ้อ และมีแนวโน้มจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 1.00-1.25% ในการประชุมอีก 2 ครั้งที่เหลือในปีนี้ ส่วนทิศทางการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้เป็นการขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 3.9 พันล้านบาทและขายสุทธิพันธบัตรระยะยาว 13.8 พันล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว คงเหลือการถือครองลดลง 2.2 หมื่นล้านบาท ยอดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทย ณ สิ้นเดือนกันยายนอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อนประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – สิงหาคม 2565

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง ด้วยการคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่
-0.1% ควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีที่ใกล้ศูนย์ และคงการเข้าซื้อพันธบัตรไม่จำกัดที่ 0.25% ด้านมาตรการซื้อสินทรัพย์ คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงการซื้อ ETFs ไม่เกิน 12 ล้านล้านเยนและ J-REITs ไม่เกิน 1.8 แสนล้านเยนต่อปี และซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชนในปริมาณใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 โดย BOJ ยืนยันคงดอกเบี้ยนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ และเสถียรภาพในตลาดการเงิน จนกว่าเงินเฟ้อจะเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% อย่างมีเสถียรภาพ และพร้อมดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติมหากจำเป็น โดยในระยะข้างหน้าประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นและระยะยาวจะยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงหรือต่ำกว่าปัจจุบัน ทางด้านการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ BOJ ประเมินว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามรายได้ยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจ แม้จะเผชิญการแพร่ระบาดของโควิด-19 วิกฤตอุปทาน และผลกระทบจากสงครามรัสเซียยูเครน ที่ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอลง และเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ปรับลดคาดการณ์ GDP ญี่ปุ่นในปีนี้ลงเหลือ 2.4% จาก 2.9% อย่างไรก็ตาม ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปี 2023 และ ปี 2024 ขึ้นเล็กน้อยเป็น 2.0% และ 1.3% จาก 1.9% และ 1.1% ตามลำดับ ส่วนเงินเฟ้อได้เพิ่มคาดการณ์เป็น 2.3% ในปีนี้ จากเดิมที่ 1.9% พร้อมปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อในปี 2023 และ 2024 เป็น 1.4% และ 1.3% ตามลำดับ จาก 1.1% จากผลของราคาสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้น และการส่งผ่านต้นทุนพลังงานเป็นหลัก

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 50bps เป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 11 ปีและเป็นการออกจากดอกเบี้ยติดลบในรอบ 8 ปี โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Deposit facility) จาก -0.50% ไปอยู่ที่ 0.00% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Marginal lending facility) จาก 0.25% ไปอยู่ที่ 0.75% และอัตราดอกเบี้ย Main refinancing operations จาก 0.00% ไปอยู่ที่ 0.50% และส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในการประชุมต่อไป โดยจะตัดสินใจในแต่ละการประชุมบนพื้นฐานของข้อมูลขณะนั้นเป็นหลัก และอาจไม่ส่งสัญญาณล่วงหน้าถึงระดับในการปรับในรอบต่อไป นอกจากนี้ยังอนุมัติ Transmission Protection Instrument (TPI) เครื่องมือใหม่เพื่อช่วยการส่งผ่านของนโยบายการเงินอย่างราบรื่นทั่วทั้งยุโรป และเพื่อช่วยเรื่องอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ปรับขึ้นแตกต่างกันของแต่ละประเทศ การเข้าซื้อของเครื่องมือ TPI ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของแต่ละประเทศ และสามารถทำได้โดยไม่มีข้อจำกัดจากการคาดการณ์ โดยจะเข้าซื้อในสินทรัพย์ที่มีอายุ 1-10 ปี

ภาวะตลาดหุ้นไทย – สิงหาคม 2565

SET index เดือนสิงหาคม 2565 ปิดที่ระดับ 1,638.93 จุด เพิ่มขึ้น 3.97% จากเดือนก่อน กลับมาทะลุ 1,600 จุด โดยนักลงทุนต่างชาติได้เข้าซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ถึง 5.7 หมื่นล้านบาท มากกว่าเดือนก่อนหน้าที่ซื้อสุทธิเพียง 4.7 พันล้าน

สำหรับปัจจัยภายในปัจจัยแรกที่สนับสนุนการปรับตัวขึ้นของตลาด คือผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ประกาศกำไรสุทธิในไตรมาส 2 ที่ 3.41 แสนล้านบาท เติบโต 15.3% YoY 36.1% QoQ โดยกลุ่มที่มีกำไรเติบโตโดดเด่น ได้แก่ กลุ่มพลังงาน กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มอาหาร กลุ่มท่องเที่ยว และกลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ ส่วนกลุ่มที่กำไรมีการหดตัว ได้แก่ กลุ่มเกษตร และกลุ่มเหล็ก จากผลประกอบการที่ฟื้นตัวโดดเด่น ทำให้นักวิเคราะห์มีการปรับประมาณการกำไรของปี 2565 เพิ่มขึ้นอีก 6.24% ถัดมาคือเรื่องของทิศทางอัตราดอกเบี้ยของไทยที่ กนง.ส่งสัญญาณปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ภาพรวมนโยบายการเงินไทยถือว่าไม่ได้ตึงตัวมากจนส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษกิจ และท้ายที่สุดคือการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีกว่าคาดในช่วงครึ่งปีหลัง หลังจากทาง ศคบ. ได้ปรับระดับโควิด-19 จากโรคติดต่อร้ายแรงเป็นเฝ้าระวัง และผ่อนคลายมาตรการกักกันต่าง ๆ ลง ทำให้แนวโน้มการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ และมีโอกาสกลับไปสู่ระดับก่อนการระบาดเร็วขึ้นกว่าประมาณการเดิม คือจากปลายปี 2567 เป็นปลายปี 2566

ส่วนปัจจัยภายนอกที่สนับสนุนการฟื้นตัวของตลาด ได้แก่ ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ประจำเดือนกรกฎาคม ที่8.5% ปรับตัวลดลงจาก 9.1% ในเดือนมิถุนายน ทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่าสถานการณ์เงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และมองว่าการเร่งเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของ FED ที่ 75 bps จะเป็นการเพิ่มอย่างรุนแรงครั้งสุดท้ายและจะลดระดับการเพิ่มขึ้นในการประชุมครั้งต่อ ๆ ไป อย่างไรก็ตาม จากงานสัมมนาประจำปีที่ Jackson Hole กรรมการ FED ได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป จนกว่าจะมั่นใจว่าเงินเฟ้อจะปรับลดลงอยู่ในระดับที่เหมาะสมที่ 2% FED ยังคงเน้นย้ำความสำคัญของการรักษาเสถียรภาพราคามากกว่าผลต่อเศรษฐกิจ ทำให้ตลาดเริ่มกลับมามีความกังวลว่า FED อาจจะใช้นโยบายการเงินเข้มงวดนานกว่าที่ตลาดคาดไว้ ส่วนปัจจัยภายนอกที่สร้างความผันผวนต่อการฟื้นตัวในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ได้แก่ ความขัดแย้งบริเวณช่องแคบไต้หวัน หลังจากนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ของสหรัฐฯ ได้เดินทางเยือนไต้หวันโดยไม่สนใจคำเตือนของทางการจีนที่เรียกร้องให้สหรัฐฯยึดมั่นในหลักการจีนเดียว โดยทางการจีนได้ตอบโต้การเยือนไต้หวันในครั้งนี้ด้วยการซ้อมรบด้วยกระสุนจริงรอบเกาะไต้หวัน ทำให้ตลาดกังวลว่าจะไปซ้ำเติมภาวะติดขัดของห่วงโซ่อุปทาน อย่างไรก็ตาม ประเด็นความเสี่ยงดังกล่าวก็ได้คลี่คลายลงและเป็นเพียงปัจจัยระยะสั้นที่เข้ามารบกวนในช่วงเดือนที่ผ่านมา

สรุปในเดือนที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุด คือกลุ่มพลังงาน +5.3% กลุ่มการแพทย์ +5.1% และกลุ่มผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ +4.4% โดยมีกลุ่มที่ปรับตัวลง ได้แก่ กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ -1.8% กลุ่มการเงิน -1.1% และกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง -1.0% โดยนักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิถึง 5.7 หมื่นล้านบาท นักลงทุนทั่วไปภายในประเทศขายสุทธิ 3.4 หมื่นล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ขายสุทธิ 0.3 หมื่นล้านบาท และนักลงทุนสถาบันภายในประเทศขายสุทธิ 1.9 หมื่นล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย – กรกฎาคม 2565

SET index เดือนกรกฎาคม 2565 ปิดที่ระดับ 1,576.41 จุด เพิ่มขึ้น 0.52% จากเดือนก่อน ตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งแรกของเดือนเป็นไปในทิศทางปรับลง จากความกังวลเศรษฐกิจถดถอยของกลุ่มประเทศตะวันตก การกลับมาพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนต้องล็อกดาวน์บางเมืองในจีน รวมทั้งปัญหาราคาพลังงานที่ยังคงอยู่ในระดับสูง กดดันให้ SET ปรับลงไปทำจุดต่ำสุดของปีที่บริเวณ 1,517 จุดก่อนที่จะค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของเดือน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการรายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐที่ออกมาดีกว่าคาด การลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ รวมทั้งประธาน Fed สาขาต่าง ๆ เริ่มส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง

สำหรับในช่วง 3 สัปดาห์แรกของเดือนกรกฎาคม SET index ได้ปรับลงไปทำจุดต่ำสุดของปีที่บริเวณ 1,517 จุด จากแรงกัดดันจากภายนอก ได้แก่ (1) ความกังวลต่อเศรษฐกิจถดถอยทั้งในสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศในยุโรป โดยความกังวลได้สะท้อนออกมาที่ Bond Yield สหรัฐอเมริกา อายุ 2 ปี และ 10 ปี ที่มีลักษณะเป็น Inverted Yield Curve อันเนื่องมาจากความต้องการลงทุนในพันธบัตรระยะยาวเพื่อลดความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจที่อาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (2) การกลับมาเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนในจีน และทำให้จีนยังคงต้อง Lockdown บางเมือง ซึ่งนำมาสู่การชะลอตัวของการบริโภค และทำให้ปัญหาห่วงโซ่อุปทานยังไม่บรรเทาลง (3) ความกังวลต่อราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นผลจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน โดยล่าสุดทางรัสเซียได้ลดปริมาณการส่งแก๊สผ่านทางท่อ Nord Stream ลง สร้างแรงกดดันให้ประเทศในยุโรปต้องหาแหล่งพลังงานอื่นมาทดแทนเพื่อรองรับกับหน้าหนาวที่กำลังจะมาถึง

อย่างไรก็ตาม SET index ฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของเดือน โดยมีปัจจัยภายนอกเป็นแรงสนับสนุน ทั้งผลประกอบการในไตรมาสที่ 2 ของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐอเมริกาที่ออกมาดีกว่าคาด การลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ นำโดยราคาน้ำมันที่แกว่งตัวในช่วงต้นเดือนที่ประมาณ $120/Barrel ได้ปรับลดลงมาอยู่ในช่วง $100/Barrel รวมทั้งประธาน Fed สาขาต่าง ๆ เริ่มส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง เนื่องจากมีสัญญาณบวกจากความคาดหวังเงินเฟ้อระยะยาวผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกาได้ปรับตัวลดลงเหลือ 2.8% ต่ำสุดในรอบ 1 ปี โดยในการประชุมครั้งล่าสุดช่วงปลายเดือน Fed ประกาศขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.75% และนักลงทุนเริ่มมองว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงของ Fed ได้ผ่านไปแล้ว เนื่องจากในระยะเวลาต่อไป Fed คงไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึงระดับ 0.75% อีก นอกจากนี้ SET index ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการรายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ของไทย ซึ่งเท่าที่ประกาศออกมาส่วนใหญ่จะดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะ DELTA ที่รายงานผลประกอบการดีกว่าคาดการณ์ไว้มาก ส่งผลให้ SET index สามารถกลับไปปิดที่ระดับ 1,576.41 จุด เพิ่มขึ้น 0.52% จากเดือนก่อน

สรุปในเดือนที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุด คือ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ +31.6% นำโดย DELTA ที่ผลประกอบการออกมาดีกว่าตลาดคาดมาก กลุ่มการแพทย์ +4.7% และกลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค +1.1% ในขณะที่กลุ่มที่มีการปรับตัวลดลงได้แก่ กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ -7.9% กลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ -6.3% และกลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต -6.1% ในเดือนนี้ นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิอีกครั้ง ที่ 4.7 พันล้านบาท เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ขายสุทธิ 2.9 หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนทั่วไปภายในประเทศที่ซื้อสุทธิ 5.5 พันล้านบาท ในขณะที่บัญชีหลักทรัพย์ขายสุทธิ 0.4 พันล้านบาท นักลงทุนสถาบันภายในประเทศขายสุทธิ 9.8 พันล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – กรกฎาคม 2565

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง ด้วยการคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่
-0.1% ควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีที่ใกล้ศูนย์ และคงการเข้าซื้อพันธบัตรไม่จำกัดที่ 0.25% ด้านมาตรการซื้อสินทรัพย์ คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงการซื้อ ETFs ไม่เกิน 12 ล้านล้านเยนและ J-REITs ไม่เกิน 1.8 แสนล้านเยนต่อปี และซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชนในปริมาณใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 โดย BOJ ยืนยันคงดอกเบี้ยนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ และเสถียรภาพในตลาดการเงิน จนกว่าเงินเฟ้อจะเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% อย่างมีเสถียรภาพ และพร้อมดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติมหากจำเป็น โดยในระยะข้างหน้าประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นและระยะยาวจะยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงหรือต่ำกว่าปัจจุบัน ทางด้านการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ BOJ ประเมินว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามรายได้ยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจ แม้จะเผชิญการแพร่ระบาดของโควิด-19 วิกฤตอุปทาน และผลกระทบจากสงครามรัสเซียยูเครน ที่ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอลง และเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ปรับลดคาดการณ์ GDP ญี่ปุ่นในปีนี้ลงเหลือ 2.4% จาก 2.9% อย่างไรก็ตาม ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปี 2023 และ ปี 2024 ขึ้นเล็กน้อยเป็น 2.0% และ 1.3% จาก 1.9% และ 1.1% ตามลำดับ ส่วนเงินเฟ้อได้เพิ่มคาดการณ์เป็น 2.3% ในปีนี้ จากเดิมที่ 1.9% พร้อมปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อในปี 2023 และ 2024 เป็น 1.4% และ 1.3% ตามลำดับ จาก 1.1% จากผลของราคาสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้น และการส่งผ่านต้นทุนพลังงานเป็นหลัก

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 50bps เป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 11 ปีและเป็นการออกจากดอกเบี้ยติดลบในรอบ 8 ปี โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Deposit facility) จาก -0.50% ไปอยู่ที่ 0.00% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Marginal lending facility) จาก 0.25% ไปอยู่ที่ 0.75% และอัตราดอกเบี้ย Main refinancing operations จาก 0.00% ไปอยู่ที่ 0.50% และส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในการประชุมต่อไป โดยจะตัดสินใจในแต่ละการประชุมบนพื้นฐานของข้อมูลขณะนั้นเป็นหลัก และอาจไม่ส่งสัญญาณล่วงหน้าถึงระดับในการปรับในรอบต่อไป นอกจากนี้ยังอนุมัติ Transmission Protection Instrument (TPI) เครื่องมือใหม่เพื่อช่วยการส่งผ่านของนโยบายการเงินอย่างราบรื่นทั่วทั้งยุโรป และเพื่อช่วยเรื่องอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ปรับขึ้นแตกต่างกันของแต่ละประเทศ การเข้าซื้อของเครื่องมือ TPI ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของแต่ละประเทศ และสามารถทำได้โดยไม่มีข้อจำกัดจากการคาดการณ์ โดยจะเข้าซื้อในสินทรัพย์ที่มีอายุ 1-10 ปี

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – มิถุนายน 2565

การประชุมนโยบายการงินของสหรัฐฯ (FOMC) ในเดือนนี้ คณะกรรมการได้พิจารณาปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย 0.50% ทำให้อัตราดอกเบี้ยมาอยู่ที่ 0.75%-1.00% และส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ต่อเนื่องในอีกสองการประชุมข้างหน้า รวมถึงมองว่าเป็นความสำคัญที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยไปที่จุดสมดุล และอาจจำเป็นที่จะปรับขึ้นจนถึงจุดที่ตึงตัวได้ตามสถานการณ์ของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี คณะกรรมการมีความกังวลต่อความเสี่ยงของระบบการเงินและสภาพคล่องในตลาด สุดท้ายแล้ว คณะกรรมการยังได้ให้คำมั่นถึงความพยายามในการปรับลดเงินเฟ้อเข้าสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% อย่างมีเสถียรภาพ ในด้านกระบวนการลดขนาดงบดุล หรือ QT คณะกรรมการระบุจะเริ่มต้นในวันที่ 1 มิ.ย. ในอัตราเดือนละ USD47.5bn (แบ่งเป็น Treasury เดือนละ USD30bn และ MBS เดือนละ USD17.5bn) และจะทยอยปรับขึ้นในเวลา 3 เดือน สู่ระดับ USD95bn (แบ่งเป็น Treasury เดือนละ USD60bn และ MBS เดือนละ USD35bn) ตามแผนเดิมที่ได้ส่งสัญญาณไว้ โดยแถลงการณ์ระบุว่า FED ตั้งใจที่จะชะลอและยุติการลดขนาดงบดุลเมื่อดุลเงินสำรอง (Reserve Balance) อยู่เหนือระดับที่ FED มองว่าเป็นระดับที่เพียงพอ ทางด้านการประเมินเศรษฐกิจ คณะกรรมการมองว่า แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะติดลบในไตรมาสที่ 1 แต่อุปสงค์ภายในประเทศดีกว่าในไตรมาสก่อนหน้า การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวดีในไตรมาสแรก การลงทุนสินค้าคงคลังปรับลดลงหลังจากเพิ่มขึ้นสูงในไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว คณะกรรมการคาดการณ์เศรษฐกิจจะขยายตัวในไตรมาสที่ 2 รวมถึงโตต่อเนื่องสำหรับช่วงที่เหลือของปี และชะลอลงในปี 2023 และ 2024 ตามการเริ่มถอนนโยบายช่วยเหลือต่างๆ และการตึงตัวของภาคการเงิน

ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติ 6-3 ปรับดอกเบี้ยขึ้น 25bps สู่ระดับ 1% ตามคาดการณ์ของตลาด ซึ่งนับเป็นการปรับขึ้นต่อเนื่อง 4 รอบการประชุมสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2009 โดยคณะกรรมการ 3 ท่านที่เห็นต่างมองว่าควรปรับขึ้นไป 50bps สู่ระดับ 1.25% นอกจากนี้ คณะกรรมการระบุจะเริ่มพิจารณาการขายสินทรัพย์ที่เข้าซื้อในมาตรการ QE โดยคาดจะมีรายละเอียดมากขึ้นในเดือน ส.ค. BOE มีมุมมองต่อเศรษฐกิจแย่ลงอย่างมาก ท่ามกลางการเพิ่มขึ้นมากของราคาพลังงานที่หนุนเงินเฟ้อและกดดันความสามารถในการใช้จ่ายของผู้บริโภค โดยคาดเศรษฐกิจอังกฤษจะหดตัวราว -1.0% ในไตรมาส 4/2022 และคาดเศรษฐกิจปี 2023 จะหดตัว -0.25% (ลดลงจากที่คาดขยายตัว 1.25% ในเดือน ก.พ.) และจะขยายตัวเพียง 0.25% ในปี 2024 (ลดลงจากที่คาดขยายตัว 1.0% ในเดือน ก.พ.) ทางด้านเงินเฟ้อ BOE คาดจะขยายตัวทำจุดสูงสุดเหนือระดับ 10% เล็กน้อยในไตรมาส 4 สูงสุดนับตั้งแต่ปี 1982 เพิ่มขึ้นจากที่คาดไว้เมื่อเดือน ก.พ. ว่าจะขยายตัวทำจุดสูงสุดที่ 7.25% ในไตรมาส 2 โดยเงินเฟ้อเดือน มี.ค. ขยายตัว 7.0% ซึ่ง BOE คาดจะเร่งตัวขึ้นเป็น 9.1% ในเดือน เม.ย. อย่างไรก็ดี BOE คาดเงินเฟ้อจะชะลอลงอย่างรวดเร็วหลังทำจุดสูงสุด โดยคาดจะขยายตัวลดลงเป็น 2.1% ในช่วง 2 ปีข้างหน้า (ปี 2024) และลดลงเป็น 1.3% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า (ปี 2025) ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% ทั้งนี้ คณะกรรมการ BOE มีความเห็นต่างมากขึ้นในแนวโน้มของดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า โดยแถลงการณ์ระบุคณะกรรมการ ‘บางท่าน’ ตัดสินว่าการเพิ่มความเข้มงวดในนโยบายการเงินเพิ่มเติมอาจยังมีความเหมาะสมในเดือนข้างหน้า ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อเดือน มี.ค. ที่ระบุคณะกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าการเพิ่มความเข้มงวดในนโยบายการเงินเพิ่มเติมอาจมีความเหมาะสม