ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – พฤศจิกายน 2566

FED มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม 5.25-5.50% ตามที่คาดการณ์กันเป็นวงกว้างในการประชุมวันที่ 31 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นการคงดอกเบี้ยต่อเนื่องเป็นครั้งที่สองอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี โดยชี้ว่าการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวในช่วงที่ผ่านมาได้ช่วยลดความจำเป็นในการขยับดอกเบี้ยขึ้นเพิ่มเติม ซึ่งเป็นไปตามที่คณะกรรมการ FED หลายท่านได้ออกมาส่งสัญญาณก่อนหน้านี้ แถลงการณ์ระบุว่า สภาวะการเงินและการปล่อยสินเชื่อสู่ครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ตึงตัวจะกดดันกิจกรรมเศรษฐกิจ การจ้างงาน และเงินเฟ้อ ซึ่งผลกระทบดังกล่าวมีความไม่แน่นอนอยู่มากและจะยังคงเฝ้าระวังต่อความเสี่ยงด้านเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด ในแง่ของเศรษฐกิจ FED ระบุว่าการจ้างงานในไตรมาส 3 ยังคงแข็งแกร่ง แม้ว่าจะชะลอลงนับตั้งแต่ช่วงต้นปี ทั้งนี้ FED ยังคงเปิดประตูการขยับดอกเบี้ยขึ้นเพิ่มเติมเอาไว้ก่อน และจะยังคงดำเนินการลดขนาดงบดุล (QT) ในอัตราเดือนละ 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐตามที่ได้ระบุไว้เช่นเดิม

BOE มีมติ 6-3 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.25% ตามที่ตลาดคาด ขณะที่คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงอย่างน้อยจนกระทั่งช่วงครึ่งแรกของปีหน้า โดยการประชุมรอบนี้มีคณะกรรมการ 3 ท่าน ที่สนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก +25Bps สู่ระดับ 5.50% ในถ้อยแถลงมีการระบุถึงการปรับขึ้นของ Bond Yield ที่สูงขึ้นในประเทศหลัก ซึ่งคล้ายคลึงกับผลประชุม FED ก่อนหน้าที่มองว่า ภาวะการเงินที่ตึงตัวจะเสมือนเป็นการกดดันกิจกรรมเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ แม้ว่าจะไม่ได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม ด้านเศรษฐกิจ BOE คาดว่า GDP จะไม่ขยายตัวในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ซึ่งอ่อนแอกว่าที่คาดไว้ในการประชุมครั้งก่อน และคาดว่า GDP จะขยายตัว 0.1% ในไตรมาสที่ 4 ซึ่งอ่อนแอกว่าการคาดการณ์ครั้งก่อนเช่นเดียวกัน สะท้อนผ่านเครื่องบ่งชี้ของผลสำรวจภาคธุรกิจบางตัว ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ก.ย. ไม่เป็นแปลงจากเดือนก่อน อยู่ที่ระดับ 6.7% YoY ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2022 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอตัวลงเล็กน้อยเป็น 6.1% YoY ทั้งนี้ BOE คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะชะลอลงมากอย่างต่อเนื่อง มาอยู่ที่ระดับ 4.75% ในไตรมาส 4 ปีนี้ และจะปรับลดลงสู่ระดับ 4.50% และ 3.75% ในไตรมาส 1 และ 2 ปีหน้า แม้ว่าเงินเฟ้อจะยังคงขยายตัวสูงกว่าระดับเป้าหมายที่ 2% อยู่มาก

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% สอดคล้องกับคาดการณ์ของตลาด พร้อมระบุว่าการตัดสินใจด้านนโยบายการเงินในระยะถัดไปขึ้นอยู่กับภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ การทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันอยู่ในระดับเหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว ธปท. ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยลงจาก 2.8% เป็น 2.4% ในปี 2023 และลดลงจาก 4.4% เป็น 3.8% ในปี 2024 และคาดการณ์เงินเฟ้อที่ 1.3% และ 2.2% ในปีนี้ และปีหน้าตามลำดับ ทั้งนี้ หากไม่รวมมาตรการดิจิทัลวอลเล็ตจากภาครัฐ ธปท. คาดการณ์ GDP ปีหน้าเติบโตที่ 3.2% และเงินเฟ้อที่ 2.0% โดย คาดการณ์เศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้แรงขับเคลื่อนยังมาไม่ครบ โดยแรงหนุนหลักมาจากภาคบริการ ธปท. คาดการณ์นักท่องเที่ยวเข้าไทย 28.3 ล้านคนในปีนี้ และ 34.5 ล้านคนในปีหน้า จากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไม่ใช่ชาวจีน แต่คาดการณ์ว่าในระยะข้างหน้าการส่งออกจะกลับมาเป็นแรงหนุนเพิ่มขึ้น และประเมินว่าเงินเฟ้อไทยจะทรงตัวในกรอบเป้าหมาย ในขณะที่ผลของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะเห็นผลทันทีหลังเริ่มดำเนินการ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับลดลงทุกช่วงอายุ 2-39Bps ตามทิศทางตลาดประเทศเศรษฐกิจหลัก หลังผลการประชุมนโยบายการเงินต่างมีข้อสรุปในแนวทางเดียวกันว่า มีความเป็นไปได้สูงที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงินจะหยุดที่ระดับนี้หรือไม่มีการขึ้นดอกเบี้ยอีก จากเงินเฟ้อที่ชะลอลงและมีแนวโน้มเข้าใกล้เป้าหมาย ตลอดจนผลของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่อยู่ในระดับสูงในช่วงที่ผ่านมาช่วยกดดันภาวะตลาดการเงินอีกด้วย และยังคาดการณ์ว่ามีโอกาสเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีหน้า ด้านการประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยรุ่นอายุ 3 เดือน ในเดือนนี้ให้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยลดลงมาอยู่ในระดับ 1.97-2.11% เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่อยู่ในระดับ 2.19-2.28% ในเดือนนี้นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิประมาณ 1 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการซื้อพันธบัตรระยะสั้นประมาณ 6.5 พันล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 1 หมื่นล้านบาท มีพันธบัตรครบกำหนด 6.4 พันล้านบาท คงเหลือนักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรประมาณ 9.6 แสนล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อนประมาณ 1.2 แสนล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดหุ้นไทย – ตุลาคม 2566

SET Index ในเดือนตุลาคม 2566 ปิดที่ระดับ 1,381.83 จุด ลดลง 6.09% จากเดือนก่อนหน้า มีปัจจัยกดดันมาจากผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐฯที่ปรับตัวขึ้นและดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น กดดันบรรยากาศการลงทุน ผนวกกับแรงกดดันด้านภูมิรัฐศาสตร์สูงขึ้น หลังจากอิสราเอลและกลุ่มฮามาสเข้าสู่ภาวะสงคราม ส่วนด้านปัจจัยภายในประเทศนั้นก็อยู่ในภาวะซบเซา โดยทิศทางการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวดูอ่อนแอกว่าที่คาด จากเหตุกราดยิงที่ห้างฯสยามพารากอนกระทบความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และความไม่ชัดเจนของแนวทางมาตรการดิจิตอลวอลเล็ต มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในเดือนตุลาคม อยู่ที่ 45,582 ล้านบาท (-4.84% MoM)

ตลาดหุ้นไทยมีปัจจัยกดดันเพิ่มมากขึ้น และยังไม่มีปัจจัยบวกที่ชัดเจนมาหักล้าง เป็นเหตุให้หุ้นหลายตัวปรับตัวลง ซึ่งนักลงทุนยังคงกังวลต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯที่ปรับตัวสูงขึ้น เป็นแรงกดดันต่อสินทรัพย์เสี่ยง เนื่องจากส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนในหุ้นกับผลตอบแทนในพันธบัตรรัฐบาลที่แคบลง โดยเฉพาะเมื่อนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ กล่าวในการประชุมที่สมาคมเศรษฐกิจแห่งนิวยอร์กว่า ตัวเลขเศรษฐกิจที่ยังแข็งแกร่งยังเป็นปัจจัยที่ทำให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อให้อัตราเงินเฟ้อเป็นไปตามเป้าหมายเงินเฟ้อระยาวที่ 2% ซึ่งหากเป็นแบบนั้นจริง บริษัทต่าง ๆ จะต้องเผชิญกับต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นและยาวนานขึ้นไปอีก ส่งผลต่อภาวะการลงทุน การจ้างงาน กำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง ซึ่งทำให้ความกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอยเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งราคาพลังงานและอัตราเงินเฟ้อที่อาจจะได้รับผลกระทบหากสงครามระหว่างกลุ่มฮามาสและอิสราเอลยืดเยื้อ นอกจากนี้ บรรยากาศการท่องเที่ยวในประเทศไทย หลังเหตุการณ์ที่ห้างฯสยามพารากอนกระทบความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ การฉีดยากระตุ้นเศรษฐกิจของไทยผ่านมาตรการดิจิตอลวอลเล็ตของรัฐบาลที่อาจจะเห็นผลดีในระยะสั้น แต่อาจจะทำให้มีผลข้างเคียงในระยะยาว ทำให้นโยบายการคลังของประเทศไทยเป็นสิ่งที่ยังต้องจับตามอง โดยมีข่าวลบทยอยออกมาทั้งเดือน ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาตัดคนรวยหรือผู้มีรายได้เกินเกณฑ์ เพื่อลดงบประมาณของโครงการ และเลื่อนกำหนดเวลาออกมาตรการเป็นช่วงเมษายน-พฤษภาคม ปี 2567 จากเดิมช่วงเดือนมกราคม รวมถึงความเสี่ยงที่ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนฯ ในไตรมาสที่ 3/2566 จะออกมาต่ำกว่าที่คาด

ในเดือนที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิเป็นเดือนที่ 9 ที่ 1.57 หมื่นล้านบาท จากเดือนก่อนหน้าที่ขายสุทธิ 2.20 หมื่นล้านบาท โดยไม่มีหุ้นกลุ่มไหนที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวก ในขณะที่กลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต -11.7% กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ -11.3% และกลุ่มยานยนต์ -11.1% ให้ผลตอบแทนติดลบมากที่สุดในช่วงเดียวกัน

สำหรับมุมมองในการลงทุนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 เรายังคงมุมมองว่าพื้นฐานของเศรษฐกิจประเทศไทยยังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว นำโดยภาคการท่องเที่ยวและภาคการบริโภคภายในประเทศ โดยเราคาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ จากภาครัฐจะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น รวมถึงการฟื้นตัวของภาคการส่งออกและการออกมาตรการลดค่าครองชีพ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อไป ทั้งนี้ เรามองว่ามาตรการฟรีวีซ่า จะช่วยสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวได้ในช่วงฤดูการท่องเที่ยวของปีนี้ อย่างไรก็ตาม เราก็ยังคงติดตามว่าผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐฯ และของไทยที่อาจจะทยอยปรับลดลงในช่วงสองเดือนสุดท้ายของปี 2566 ซึ่งในกรณีดังกล่าวจะลดแรงกดดันต่อต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจ รวมทั้งลดแรงกดดันต่อ Valuations ของสินทรัพย์เสี่ยงในภาพรวม

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – ตุลาคม 2566

FED เปิดเผยรายงานการประชุมนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) ในวันที่ 19-20 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25%-5.50% และลดขนาดงบดุลตามแผนต่อเนื่อง คณะกรรมการฯ เห็นว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 3 ขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง สะท้อนจากการใช้จ่ายของภาคเอกชนในประเทศที่ยังเพิ่มขึ้นอย่างเข้มแข็ง ด้านตลาดแรงงานยังคงตึงตัว แต่ความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานเริ่มผ่อนคลายลง คณะกรรมการฯ มองว่าอัตราเงินเฟ้อแม้ยังอยู่สูงแต่เห็นการชะลอลง โดยมองว่าความเสี่ยงเงินเฟ้อยังโน้มไปทางด้านสูง และคณะกรรมการฯ พร้อมที่จะดำเนินการอย่างระมัดระวังในการปรับดอกเบี้ยตามข้อมูลเศรษฐกิจใหม่ ๆ ที่จะเข้ามา รายงานระบุว่าสมาชิก FED ส่วนใหญ่เห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งมีความเหมาะสม ในขณะที่สมาชิกเพียงบางส่วนไม่ยืนยันว่าจะขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ อย่างไรก็ตามสมาชิกเห็นตรงกันว่ายังมีความจำเป็นที่ FED จะต้องคงดอกเบี้ยสูงไว้อีกระยะหนึ่ง เพื่อช่วยลดอุปสงค์และให้แน่ใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับเข้าใกล้เป้าหมายที่ 2% ภายในสองปีข้างหน้า

ECB มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายตามที่ตลาดคาดการณ์เป็นวงกว้างโดยนับเป็นครั้งแรกที่คงดอกเบี้ยหลังปรับดอกเบี้ยขึ้นอย่างต่อเนื่อง +450bps ตั้งแต่การประชุมเดือนกรกฎาคม 2022 ซึ่งทำให้อัตราดอกเบี้ย Deposit Facility อยู่ที่ 4.00%, อัตราดอกเบี้ย Main refinancing อยู่ที่ 4.50% และอัตรา Marginal lending facility อยู่ที่ 4.75% นอกจากนี้ จะยังทำตามแผนการลดขนาดงบดุลที่ได้เคยประกาศไว้เดิม โดยจะไม่ทำการซื้อคืนพันธบัตรครบกำหนดอายุที่เข้าซื้อผ่านมาตรการปกติหรือ Asset Purchase Program (APP) ขณะที่จะยังไม่แตะต้องพันธบัตรที่เข้าซื้อผ่านมาตรการพิเศษที่เริ่มช่วงวิกฤตหรือ Pandemic Emergency Purchase Program (PEPP) ซึ่งแถลงการณ์ยังระบุเช่นเดิมว่าจะทำการซื้อคืนพันธบัตรครบกำหนดอายุที่เข้าซื้อผ่านมาตรการ PEPP ไปจนถึงสิ้นปี 2024 เป็นอย่างน้อย อย่างไรก็ดี ประธาน ECB เปิดเผยว่า การตัดสินใจคงดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ ไม่ได้ชี้ชัดว่า ECB จะไม่ปรับดอกเบี้ยขึ้นอีกแล้ว ขณะที่ยังเร็วเกินไปอย่างมากที่จะพิจารณาถึงการปรับลดดอกเบี้ยลงตอนนี้ ซึ่งนับเป็นการส่งสัญญาณในลักษณะเดียวกับธนาคารกลางหลักอื่น ๆ ท่ามกลางเงินเฟ้อที่ยังขยายตัวเหนือเป้าหมายและยังมีความเสี่ยงโน้มไปทางด้านสูงจากสงครามทั้งที่ยูเครนและอิสราเอล รวมถึงปรากฎการณ์เอลนีโญที่อาจหนุนราคาอาหารพุ่งขึ้น

ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีมติเอกฉันท์ (9-0 เสียง) ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ -0.1%, ควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปีที่ใกล้ 0% นอกจากนี้ได้คงการซื้อ ETFs ไม่เกิน 12 ล้านล้านเยนและ J-REITs ไม่เกิน 1.8 แสนล้านเยนต่อปี และคงการเข้าซื้อตราสารหนี้เอกชนระยะสั้น (Commercial Paper) ที่ 2 ล้านล้านเยน และหุ้นกู้เอกชน (Corporate Bond) ที่ 3 ล้านล้านเยนต่อปี และ BOJ มีมติไม่เอกฉันท์ (8-1 เสียง) ให้ปรับการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี (Yield Curve Control: YCC) เป็นการยึดระดับที่ 1% จากเดิมที่กำหนดกรอบ ที่-1.0% ถึง 1.0% ด้านเศรษฐกิจญี่ปุ่น BOJ ประเมินว่ามีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นในปีนี้ แม้จะมีความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้าทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ด้านเงินเฟ้อญี่ปุ่น เร่งตัวขึ้นมาทั้งในปีนี้และปีหน้า จาก 2.5% เป็น 2.8% ในปีนี้ และจาก 1.9% เป็น 2.8% ในปีหน้า ผลจากราคาน้ำมันและราคาสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้น โดยรวมมองว่าเงินเฟ้อขยับเข้าใกล้เป้าหมายที่ 2% มากยิ่งขึ้น

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลช่วงอายุไม่เกิน 1 ปี ปรับลดลง 3-10 bps แม้ว่ากนง. จะเพิ่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปในช่วงปลายเดือนกันยายนเป็น 2.50% แต่ผลการประมูลตลาดแรกของพันธบัตรอายุประมาณ 3 เดือนในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคมให้อัตราผลตอบแทนเพียง 2.18% - 2.21% สาเหตุหนึ่งคาดว่าเกิดจากการปรับลดปริมาณการเสนอขายพันธบัตรอายุ 3 เดือนในตลาดแรกลงจากสัปดาห์ละ 6 หมื่นล้านบาท เป็น 5 หมื่นล้านบาท ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับขึ้นเล็กน้อยตามทิศทางตลาดพันธบัตรต่างประเทศ ในเดือนนี้นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิรวม 1.2 หมื่นล้านบาท โดยขายพันธบัตรระยะสั้นประมาณ 394 ล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 1.6 หมื่นล้านบาท มีพันธบัตรครบกำหนด 3.4 พันล้านบาท คงเหลือนักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรประมาณ 9.5 แสนล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อนประมาณ 1.3 แสนล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดหุ้นไทย – กันยายน 2566

SET Index ในเดือนกันยายน 2566 ปิดที่ระดับ 1,471.43 จุด ลดลง 6.04% จากเดือนก่อนหน้า จากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ ผลกระทบนโยบายภาครัฐ และ Bond Yield ที่ปรับตัวสูงขึ้น มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในเดือนกันยายน อยู่ที่ 47,907 ล้านบาท (-15.73% MoM)

ตลาดกังวลนโยบายเศรษฐกิจซึ่งจะกระทบต่อบางอุตสาหกรรม เช่น นโยบายลดค่าไฟฟ้า การตรึงราคาขายปลีกน้ำมัน และราคาน้ำมัน WTI ที่ปรับตัวขึ้นตามแนวโน้มอุปทานตึงตัวจากการลดกำลังการผลิต 1 ล้านบาร์เรล/วันของซาอุฯ โดยในช่วงต้นเดือน กกพ. มีมติปรับลดค่าไฟ Ft งวดเดือนกันยายน - ธันวาคม 2566 จากมติเดิม 4.45 บาท/kWh เหลือ 4.10 บาท/kWh เป็น Sentiment เชิงลบต่อหุ้นโรงไฟฟ้า ต่อมารัฐบาลได้ประกาศลดค่าไฟ Ft ลงอีกจาก 4.10 บาท เหลือ 3.99 บาท ทำให้กลุ่มโรงไฟฟ้ามีแรงขายต่อเนื่อง ซึ่งดัชนีอุตสาหกรรมพลังงานคิดเป็นสัดส่วน 20% ของมูลค่าตลาดรวมของ SET Index จึงมีอิทธิพลต่อการปรับลดลงของภาพรวมตลาดหุ้นไทย อีกทั้งผลกระทบจากการดำเนินการนโยบาย Digital Wallet ในเรื่องการจัดหาเงินทุน ที่ยังไม่มีความชัดเจนจะมาจากทางใด ประกอบกับประเด็นความกังวลเกี่ยวกับการปรับลด Credit Rating ของไทย หลังจากสถาบัน Moody’s ออกมาเตือน เป็นปัจจัยที่กระทบต่อบรรยากาศการลงทุนในเดือนที่ผ่านมา

ด้านผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และไทย 10 ปีปรับตัวสูงขึ้นทำจุดสูงสุดในรอบ 16 ปี และ 11 เดือน ตามลำดับ ในขณะที่ผลตอบแทน (Bond Yield) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.6% และ 3.23% ตามลำดับ ทั้งนี้ กนง. ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็น 2.50% ในการประชุมครั้งล่าสุดช่วงปลายเดือนกันยายน ส่งผลให้ความน่าสนใจตลาดหุ้นโดยรวมลดลงโดย Forward Earning Yield Gap ของ SET ปรับตัวลดลงเหลือ 2.92% ต่ำสุดในรอบ 11 เดือน ซึ่งผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระดับสูงจะเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นไทยและโลกในช่วงนี้

สำหรับปัจจัยสนับสนุน คือ นโยบายฟรีวีซ่าจีน-คาซัคสถาน มีผลตั้งแต่ 25 กันยายน 2566 - 29 กุมภาพันธ์ 2567 โดยททท. คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนทั้งปี 2566 ได้ 4-4.4 ล้านคน เป็นปัจจัยบวกกับกลุ่มท่องเที่ยวในระยะกลาง

ในเดือนที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิเป็นเดือนที่ 8 ที่ 2.20 หมื่นล้านบาท จากเดือนก่อนหน้าที่ขายสุทธิ 1.54 หมื่นล้านบาท โดยหุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุด คือ กลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต +5.0% ในขณะที่กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -21.4% กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ -13.9% และกลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง -12.1% ให้ผลตอบติดลบมากที่สุดในช่วงเดียวกัน

สำหรับมุมมองในการลงทุนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 เรายังคงมุมมองว่าพื้นฐานของเศรษฐกิจประเทศไทยยังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว นำโดยภาคการท่องเที่ยวและภาคการบริโภคภาคเอกชน โดยเราคาดว่าหลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ จากภาครัฐ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อไป โดยเรามองว่ามาตรการฟรีวีซ่า ที่จะช่วยลดความยุ่งยากให้แก่นักท่องเที่ยวจีน จะช่วยสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวได้ในช่วงฤดูการท่องเที่ยวของปีนี้ อย่างไรก็ตาม เราก็ยังคงติดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะปัญหาของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อาจจะลุกลามไปยังภาคส่วนอื่น ๆ นอกจากนี้ หากมาตรการแจกเงินดิจิตอล 10,000 บาทมีความชัดเจนมากขึ้น ก็จะเป็นปัจจัยสนันสนุนสำคัญในการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศได้

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – กันยายน 2566

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% โดยประธาน ECB เผยว่าคณะกรรมการส่วนใหญ่เห็นชอบกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ ขณะที่ส่วนที่เหลือเห็นชอบให้คงอัตราดอกเบี้ย ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Deposit Facility) ขึ้นไปอยู่ที่ 4.00% อัตราดอกเบี้ย Main Refinancing Operations ไปอยู่ที่ 4.50% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Marginal Lending Facility) ขึ้นมาอยู่ที่ 4.75% พร้อมทำตามแผนเดิมของการลดขนาดงบดุลที่เคยประกาศไว้ ECB ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2023 ลงเหลือ 0.7%YoY จาก 0.9%YoY และปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2024 ลงเหลือ 1.0%YoY จาก 1.5%YoY นอกจากนี้ ECB ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อสำหรับปี 2023 และ 2024 ขึ้นมาอยู่ที่ 5.6%YoY และ 3.2%YoY จากที่คาดไว้เดิมที่ 5.4%YoY และ 3.0%YoY ตามลำดับในเดือนมิถุนายน จากปัจจัยด้านราคาพลังงานที่สูงขึ้นเป็นหลัก แต่ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2024 – 2025 เนื่องจากผลของการขึ้นดอกเบี้ยจะยังถูกส่งผ่านไปยังเศรษฐกิจทำให้เงื่อนไขทางการเงินจะเข้มงวดมากขึ้นและอุปสงค์รวมถึงการปล่อยสินเชื่อปรับลดลงต่อเนื่อง ECB ส่งสัญญาณว่าอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงเพียงพอแล้ว

FED มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.25-5.50% ตามที่ตลาดคาด โดย FED ยังคงแสดงความกังวลต่อเงินเฟ้อที่อาจใช้ระยะเวลากว่าจะบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% พร้อมมองเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความแข็งแกร่ง แม้ตลาดแรงงานตลาดแรงงานจะชะลอลงบางส่วน แต่ยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี นอกจากนี้ ยังคงแผนการลดงบดุล (QT) ต่อเนื่องตามเดิมที่ 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ทั้งนี้ FED ส่งสัญญาณคงดอกเบี้ยในระดับสูงยาวนานต่อเนื่องสะท้อนผ่าน Dot Plots ที่แม้จะคงคาดการณ์ดอกเบี้ยไว้ที่ 5.625% ในปีนี้ แต่มีการปรับคาดการณ์ดอกเบี้ยในปี 2024 และ 2025 เพิ่มสูงขึ้นเป็น 5.125% และ 3.875% จากคาดการณ์ในเดือนมิถุนายนที่ 4.625% และ 3.375% ตามลำดับ FED มีมุมองที่ดีขึ้นต่อทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเงินเฟ้อในปีนี้และปีหน้า โดยปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีนี้และปีหน้าดีขึ้นมาก เป็น 2.1% และ 1.5% จาก 1.0% และ 1.1% ตามลำดับ และคาดการณ์อัตราการว่างงาน ลดลงเหลือ 3.8% ในปีนี้จากเดิมที่ 4.1% และสำหรับมุมมองเงินเฟ้อ FED มองเงินเฟ้อจากดัชนีรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลสหรัฐฯ (PCE) เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อพื้นฐานลงเหลือ 3.7% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.9%

ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติ 5-4 ในการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.25% สวนทางกับตลาดที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น +0.25% เป็น 5.50% แถลงการณ์ได้ระบุว่ายังคงมีความกดดันของเศรษฐกิจโดยรวม ทั้งด้านตลาดเเรงงานที่ยังตึงตัว อัตราการเติบโตของค่าจ้างที่ยังไม่ชะลอตัวลง และเงินเฟ้อภาคบริการที่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งการดำเนินโยบายการเงินของ BOE นั้นต้องเข้มงวดเเละใช้ระยะเวลาที่เพียงพอจึงจะทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับมาสู่เป้าที่ 2% อย่างยั่งยืน ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ส.ค. ชะลอตัวลงเป็น 6.7% YoY จาก 6.8% ในเดือนก่อน ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2022 เและต่ำกว่าตลาดคาดเล็กน้อยที่ 7.0% ทั้งนี้ เงินเฟ้อยังคงสูงกว่าเป้าหมายอยู่มาก ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอตัวลงเป็น 6.2% YoY จาก 6.9% ในเดือนก่อน

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายการเงินผ่อนคลายตามเดิมต่อไป โดยมีมติเอกฉันท์ในการคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ -0.1% สำหรับเงินสำรองส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ (Excess Reserve) เเละคงเป้าหมายอัตราผลตอบเเทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี (Yield Curve Control: YCC) ไว้ที่ประมาณ “0%” เเละกรอบการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี (Yield Curve Control: ไว้ที่ -1.0 ถึง +1.0 ในถ้อยเเถลงได้ระบุถึงการที่อัตราเงินเฟ้อ Core CPI มีการชะลอตัวลงจากช่วงก่อนหน้า เนื่องจากเเรงหนุนของมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐในด้านพลังงาน เเละมองว่าอัตราเงินเฟ้อ Core CPI จะชะลอตัวลงในระยะข้างหน้าจากผลของการส่งผ่านต้นทุนของผู้ผลิตไปยังผู้บริโภคที่ลดลง ก่อนที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังจากนั้น จากเเรงหนุนของค่าจ้าง การคาดการณ์เงินเฟ้อ เเละเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย +25bps สู่ระดับ 2.50% เพื่อให้มั่นใจว่าขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) มีเพียงพอภายใต้แนวโน้มที่ไม่แน่นอน แม้ว่า กนง. ได้มีการลดคาดการณ์ส่งออก GDP และเงินเฟ้อในปีนี้ลง โดยมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวแตกต่างไปจากที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่สำคัญไปกว่านั้น กนง. ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า “อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันอยู่ในระดับเหมาะสม” ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่าอัตราดอกเบี้ยดอกเบี้ยได้สู่ระดับอัตราดอกเบี้ยสูงสุด (Terminal Rate) แล้วภายใต้การประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในปัจจุบัน

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับเพิ่มขึ้นตลอดทุกช่วงอายุ 24-45Bps จากความกังวลปริมาณพันธบัตรออกใหม่ของสำนักบริหารหนี้สาธารณะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปีงบประมาณ 2567 ซึ่งเป็นไปตามแผนงบการคลังระยะปานกลาง และภายใต้การบริหารของรัฐบาลใหม่ที่เร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้ค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐมีทิศทางอ่อนประมาณ 5% ในเดือนนี้ จากการส่งสัญญาณของ FED ว่าจะยังคงดำเนินนโยบายในทิศทางเข้มงวดอย่างต่อเนื่อง และการอ่อนค่าลงของเงินหยวนภายหลังเศรษฐกิจจีนขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ประกอบกับปัจจัยการเมืองภายในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอนซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทำให้ในเดือนนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 1.2 หมื่นล้านบาท ขายสุทธิพันธบัตรระยะยาว 1 หมื่นล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว นักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรลดลงประมาณ 3.4 หมื่นล้านบาท โดยสรุปยอดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทย ณ สิ้นเดือนกันยายนอยู่ที่ประมาณ 9.4 แสนล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อนประมาณ 1.4 แสนล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดหุ้นไทย – สิงหาคม 2566

SET Index ในเดือนสิงหาคม 2566 ปิดที่ระดับ 1,565.94 จุด เพิ่มขึ้น 0.63% จากเดือนก่อน โดยปัจจัยภายนอกกดดันในช่วงต้นเดือน แต่ปัจจัยภายในเรื่องการเมืองได้มาช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวในช่วงครึ่งเดือนหลัง

สำหรับปัจจัยกดดันจากภายนอก ได้แก่ การที่ Fitch Ratings ปรับลด Credit Rating สหรัฐฯลง 1 notch ไปอยู่ที่ AA+ สร้างความกังวลว่าจะส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมเพิ่มสูงขึ้นเพื่อชดเชยความเสี่ยง นอกจากนี้ ตัวเลขทางเศรษฐกิจของประเทศจีนที่ถูกประกาศออกมาก็อ่อนแอกว่าคาด และประเทศจีนยังถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ หลังจาก Country Garden ที่เป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่สุดของจีน ได้ผิดนัดชำระหนี้ ทำให้นักลงทุนมองว่าประชาชนชาวจีนจะยังหลีกเลี่ยงการจับจ่ายใช้สอย รวมไปถึงการออกมาท่องเที่ยว เนื่องจากมีความกังวลในความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ

สำหรับปัจจัยสนับสนุนภายในประเทศ คือ ประเด็นการเมืองที่มีความคืบหน้าในการจัดตั้งรัฐบาล โดย นายเศรษฐา ทวีสิน ได้รับคะแนนเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี เกินกึ่งหนึ่งจากการประชุมสภาฯ ประกอบกับความชัดเจนของการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีกับพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้นักลงทุนเริ่มคลายความกังวลจากสภาวะสุญญากาศทางการเมือง และเริ่มคาดหวังกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล อาทิเช่น การแจกเงินหนึ่งหมื่นบาทผ่าน Digital Wallet และมาตรการ Free Visa สนับสนุนภาคการท่องเที่ยว เป็นต้น

สรุปในเดือนที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุด คือ กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ +10.9% กลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง +9.2% และกลุ่มยานยนต์ +6.6% ในขณะที่กลุ่มที่ให้ผลตอบแทนติดลบมากที่สุดในช่วงเดียวกัน ได้แก่ กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -8.6% กลุ่มธุรกิจการเกษตร -6.4% และกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -2.3% สำหรับปริมาณการซื้อขายตามกลุ่มนักลงทุนในเดือนสิงหาคมนั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิที่ 1.5 หมื่นล้าน นักลงทุนทั่วไปภายในประเทศซื้อสุทธิ 0.2 หมื่นล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 0.4 หมื่นล้านบาท และนักลงทุนสถาบันภายในประเทศซื้อสุทธิ 0.9 หมื่นล้านบาท

สำหรับมุมมองในการลงทุนในช่วงครึ่งหลังปี 2566 เรายังคงมุมมองว่าพื้นฐานของเศรษฐกิจประเทศไทยยังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว นำโดยภาคการท่องเที่ยวและภาคการบริโภคภาคเอกชน โดยเรามีความหวังว่าหลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ จากภาครัฐ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อไป โดยเรามองว่ามาตรการ Free Visa ที่จะช่วยลดความยุ่งยากให้แก่นักท่องเที่ยวจีนจะช่วยสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวได้ในช่วงฤดูการท่องเที่ยวของปีนี้ อย่างไรก็ตาม เรายังคงติดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะปัญหาของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อาจจะลุกลามไปยังภาคส่วนอื่น ๆ นอกจากนี้ หากเมื่อมาตรการแจกเงิน 10,000 บาทมีความชัดเจนมากขึ้น ก็จะเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญในการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศได้

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – สิงหาคม 2566

ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติ 6-3 ปรับดอกเบี้ยขึ้นในอัตรา 25Bps สู่ระดับ 5.25% ตามคาดการณ์ โดยนับเป็นการปรับขึ้นในอัตราที่ลดลงจากการประชุมครั้งก่อนที่มีมติปรับขึ้นในอัตราสูง 50Bps โดยในการประชุมรอบนี้มีคณะกรรมการ 2 ท่านที่มองว่าควรปรับดอกเบี้ยขึ้นในอัตราสูง และมีคณะกรรมการ 1 ท่านที่มองว่าควรคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม สะท้อนถึงแนวโน้มของดอกเบี้ยในระยะข้างหน้าที่มีความไม่แน่นอนมากขึ้นและอาจเข้าใกล้จุดจบของการปรับขึ้นดอกเบี้ยในวัฏจักรนี้ ด้านเศรษฐกิจ BOE ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปีนี้ขึ้นเล็กน้อยเป็น 0.5% (vs.