ภาวะตลาดหุ้นไทย – กุมภาพันธ์ 2566

SET Index เดือนกุมภาพันธ์ ปิดระดับ 1,622.35 จุด (-2.9% จากเดือนมกราคม) เป็นการแกว่งตัวลงตลอดทั้งเดือน โดยรับแรงกดดันจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอก โดยปัจจัยภายนอกยังเป็นความกังวลเกี่ยวกับปัญหาเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ที่ทำให้นักลงทุนเริ่มกังวลว่า FED จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากกว่าที่คาดไว้ และส่งผลให้ดึงเม็ดเงินออกจากตลาดหุ้น Emerging Market ส่วนปัจจัยภายในเป็นเรื่องของผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่อ่อนแอกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ นำไปสู่โอกาสในการปรับประมาณการของปี 2566 ลง

สำหรับปัจจัยกดดันจากภายนอก เริ่มจากตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานของสหรัฐฯ ประจำเดือนมกราคมอยู่ที่ 6.4% และ 5.6% ตามลำดับ ลดลงจาก 6.5% และ 5.7% อย่างไรก็ตาม ก็ยังเป็นระดับเงินเฟ้อที่สูงกว่ากรอบที่ทาง FED กำหนดไว้ที่ 2% ทำให้ตลาดมีการปรับการคาดการณ์ว่า FED มีโอกาสปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีกมากกว่าที่เคยคาดการณ์ว่าจะปรับขึ้นอีกไม่เกิน 50 bps และอาจจะไม่มีการลดดอกเบี้ยในปีนี้ เนื่องจากรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯ ประจำเดือนมกราคมเพิ่มถึง 5.17 แสนตำแหน่ง ในขณะที่อัตราว่างงานปรับลดลงสู่ 3.4% จาก 3.5% ในเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ ค่าแรงเฉลี่ยรายชั่วโมงยังปรับตัวขึ้น 4.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน ตัวเลขทั้งหมดสนับสนุนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯยังมีแนวโน้มที่แข็งแกร่ง เมื่อประกอบกับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯและประเทศไทยที่ปรับขึ้นมาถึง 3% ทำให้เงินบาทมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่า ส่งผลให้กระแสเงินทุนต่างชาตินั้นพลิกไหลออกจากตลาดหุ้นประเทศไทย

สำหรับปัจจัยภายในที่แม้ว่าจะมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว และเม็ดเงินที่จะไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงการเลือกตั้ง แต่ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไตรมาสที่ 4 ที่ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยกำไรสุทธิไตรมาสที่ 4/2565 ลดลงถึง 40% YoY และทำให้กำไรสุทธิของปี 2565 เติบโตเพียง 2% โดยมีปัจจัยในเรื่องของต้นทุนการผลิตและดำเนินงานที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อในช่วงก่อนหน้า การจ่ายผลตอบแทนพิเศษให้พนักงานในช่วงปลายปี รวมไปถึงการตั้งสำรองสินทรัพย์ด้อยค่าของหลายบริษัท นอกจากนี้ GDP ในไตรมาสที่ 4 ของไทยยังขยายตัวต่ำกว่าคาด คือขยายตัวเพียง 1.4% YoY จากการหดตัวของภาคการส่งออก และการลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ทั้งหมดทำให้ตลาดต้องมีการทบทวนประมาณการการเติบโตของ GDP และกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนสำหรับปี 2566 ใหม่

สรุปในเดือนที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุดคือ กลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ +5.7% กลุ่มธุรกิจการเกษตร +2.7% และกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ +0.1% ในขณะที่กลุ่มที่ให้ผลตอบแทนน้อยที่สุด ได้แก่ กลุ่มวัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร -15.1% กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ -6.9% และกลุ่มกลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -6.7% โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิที่ 43.5 หมื่นล้านบาท นักลงทุนทั่วไปภายในประเทศซื้อสุทธิ 28.6 หมื่นล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 0.1 หมื่นล้านบาท และนักลงทุนสถาบันภายในประเทศซื้อสุทธิ 13.8 หมื่นล้านบาท

สำหรับมุมมองในการลงทุนในไตรมาสแรกของปี 2566 เรามองว่าพื้นฐานของเศรษฐกิจประเทศไทยนั้นยังมีแนวโน้มฟื้นตัว โดยได้รับการสนับสนุนจากการเติบโตของภาคท่องเที่ยว การใช้จ่ายในช่วงการเลือกตั้ง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ในขณะที่นักลงทุนน่าจะเริ่มลดความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED เมื่อคณะกรรมการ FED บางท่านเริ่มส่งสัญญาณว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป เมื่อประกอบกับแนวโน้มค่าเงินบาทที่จะมีเสถียรภาพมากขึ้นหลังจากอ่อนตัวอย่างรุนแรงในช่วงต้นปี ทำให้มีโอกาสที่ตลาดหุ้นประเทศไทยจะได้รับอานิสงค์จากกระแสเงินลงทุนที่ไหลกลับเข้าสู่ประเทศได้อีกครั้ง

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – กุมภาพันธ์ 2566

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 50bps ต่อเนื่องตามคาด พร้อมยืนยันการลดขนาดงบดุลเริ่มต้นในเดือนมีนาคม 2023 และระบุว่าแรงกดดันจากราคาพลังงานเริ่มชะลอลงบางส่วน มติในครั้งนี้เป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง โดยขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Deposit facility) จาก 2.00% ไปอยู่ที่ 2.50% อัตราดอกเบี้ย Main refinancing operations จาก 2.50% ไปอยู่ที่ 3.00% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Marginal lending facility) จาก 2.75% ไปอยู่ที่ 3.25% ในถ้อยแถลงหลังผลการประชุม ประธาน ECB ระบุว่าจะยังคงขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องด้วยขนาดการขึ้นดอกเบี้ยที่คงที่ จนกว่าเงินเฟ้อจะเข้าใกล้ระดับเป้าหมายที่ 2% จากการพิจารณาทั้งปัจจัยเงินเฟ้อและสภาวะทางการเงิน ในขณะที่เศรษฐกิจยุโรปในไตรมาสที่ 4 เบื้องต้นเติบโต 0.1% แรงกดดันจากราคาพลังงานเริ่มชะลอลงบางส่วน ความเชื่อมั่นดีขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ อัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 6.6% ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ECB มีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในการประชุมครั้งหน้า เนื่องจากเงินเฟ้อยุโรปยังอยู่ในระดับสูงที่ 8.5% ในเดือนมกราคม 2023 แม้เงินเฟ้อดังกล่าวจะชะลอลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 จากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 10.7% ในเดือนตุลาคม 2022 และภาพรวมเงินเฟ้อโดยรวมของยุโรปยังคงอยู่สูงกว่าประเทศอื่น ๆ โดยเปรียบเทียบ แรงกดดันจากราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูงจากการตรึงกำลังลดการผลิตของโอเปกพลัส ประกอบกับการเรียกร้องขึ้นค่าแรงของสหภาพแรงงานในหลายประเทศทั่วยุโรป อาจเป็นปัจจัยเร่งต่อเงินเฟ้อ (Wage price spiral) นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากท่าทีเข้มแข็งต่อการขึ้นดอกเบี้ย (Hawkish tone) โอกาสที่ ECB จะขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องอีก 50bps ในครั้งหน้า จึงมีความเป็นไปได้สูง โดยปัจจุบันตลาดคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยสูงสุดในรอบนี้ที่ราว 3.30% ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2023

รายงานการประชุมนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) ที่ประชุมเมื่อวันที่ 31 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่ง FED ชะลอการขึ้นดอกเบี้ยเป็น 25bps และตอกย้ำว่าการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเป็นสิ่งเหมาะสม จนกว่าเงินเฟ้อจะกลับสู่เป้าหมาย พร้อมยอมรับว่าการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2022 ต่ำกว่าแนวโน้มในระยะยาว และคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2023 ชะลอลงต่อเนื่อง ในขณะที่ตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง สะท้อนจากการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวปานกลาง ดังนั้น FED จึงประเมินว่าการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในระยะข้างหน้าจนกว่าเงินเฟ้อจะกลับสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% เป็นสิ่งที่เหมาะสม ทั้งนี้ ยังคงการลดขนาดงบดุลต่อเนื่องในอัตราเท่าเดิม และมีสมาชิกบางท่านที่ไม่ได้มีสิทธิลงมติในการประชุมครั้งนี้ให้ความเห็นว่า FED ควรขึ้นดอกเบี้ย 50bps คณะกรรมการฯ ระบุว่าเงินเฟ้อปัจจุบันสูงกว่าเป้าหมายที่ 2% และสูงเกินกว่าจะรับได้ พร้อมระบุว่าต้นทุนการดำรงชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะกับครัวเรือนที่มีรายได้น้อย แม้เงินเฟ้อในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาจะชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่เงินเฟ้อในวงกว้างยังไม่ได้ส่งสัญญาณมีความคืบหน้ามากนัก โดยเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงจากการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานโลกที่ผ่อนคลายมากขึ้น ในขณะที่เงินเฟ้อในตลาดบ้านอาจจะเริ่มชะลอลงในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ คณะกรรมการบางส่วนประเมินว่าค่าจ้างมีแนวโน้มปรับตัวช้ากว่าเงินเฟ้อ และอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงาน GDP ไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2022 ขยายตัว 1.4%YoY (-1.5%QoQ SA) ต่ำกว่าที่ตลาดคาดว่าจะขยายตัว 3.6%YoY และจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 4.6%YoY โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 5.7% การลงทุนรวมขยายตัว 3.9% และการส่งออกบริการขยายตัว 94.6% อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าหดตัว 10.5% และ การบริโภครัฐบาลหดตัว 8.0% โดยรวมปี 2022 GDP ไทยขยายตัว 2.6%YoY ดีขึ้นจากที่ขยายตัว 1.5%YoY ในปี 2021 สศช. คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2023 ขยายตัว 2.7-3.7% (ค่ากลาง 3.2%) โดยคาดการณ์ส่งออกหดตัว 1.6% และคาดการณ์นักท่องเที่ยวในปีนี้ที่ 28 ล้านคน พร้อมคาดการณ์ค่าเงินบาทปีหน้าที่ 32.3-33.3 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และคาดเงินเฟ้อชะลอลงเป็น 2.5-3.5%

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ โดยรวมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับเพิ่มขึ้น 1-16bps ยกเว้นพันธบัตรอายุยาวกว่า 30 ปีขึ้นไปกลับปรับลดลง ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐยังคงปรับขึ้นต่อเนื่อง โดยพันธบัตรอายุ 6 เดือนและ 1 ปีได้แตะระดับ 5% ในเดือนนี้ สูงสุดในรอบกว่า 20 ปี เนื่องจากเริ่มมีนักวิเคราะห์และนักลงทุนปรับเพิ่มระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายว่าอาจจะไปแตะ 5.00-5.25% ตลอดจนลดความกังวลลงในเรื่องที่ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเผชิญกับภาวะถดถอย การซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติเดือนนี้ เป็นการขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 2.5 หมื่นล้านบาท ขายสุทธิพันธบัตรระยะยาว 1.2 หมื่นล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว นักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรลดลงประมาณ 6.5 หมื่นล้านบาท โดยสรุปยอดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทย ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ประมาณ 1.05 ล้านล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อนประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

รายการส่งเสริมการขายสำหรับลูกค้าที่เปิดบัญชีผ่าน TalisAM E-Account Opening และสมัครหักบัญชีอัตโนมัติสำเร็จ

ระยะเวลาส่งเสริมการขาย ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2566 – 30 มิถุนายน 2566 รับบัตรกำนัล Starbucks มูลค่า 100 บาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – มกราคม 2566

BOJ คงการควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสวนทางการคาดการณ์ของตลาด ด้วยมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ -0.1%, คงควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (Yield curve control) อายุ 10 ปีที่ใกล้ 0% และการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ไม่จำกัด ที่ -0.5% ถึง 0.5%, คงการซื้อ ETFs ไม่เกิน 12 ล้านล้านเยนและ J-REITs ไม่เกิน 1.8 แสนล้านเยนต่อปี และซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชนในปริมาณใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 รวมทั้งซื้อตราสารหนี้เอกชนระยะสั้น (Commercial paper) 2 ล้านล้านเยนและหุ้นกู้เอกชน (Corporate bond) 3 ล้านล้านเยน ด้านตัวเลขเศรษฐกิจ ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ในปีงบประมาณ 2023 ลงเล็กน้อยเป็น 1.7% จากคาดการณ์เดิมในเดือนตุลาคมที่ 1.9% พร้อมคงคาดการณ์เงินเฟ้อที่ 1.6% เนื่องจากคาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้จะเผชิญการแพร่ระบาดของโควิด-19 และข้อจำกัดด้านอุปทาน อย่างไรก็ตาม แรงกดดันจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มชะลอลง ซึ่งมีแนวโน้มส่งผลให้เงินเฟ้อในปีงบประมาณ 2023 ชะลอลงด้วย จากคาดการณ์เงินเฟ้อ 3.0% ในปีงบประมาณ 2022

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 25bps เป็น 1.50% ตามคาด โดย กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศ จากการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน แม้การส่งออกจะมีแนวโน้มชะลอลง และอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ธปท. พร้อมปรับเปลี่ยนท่าทีนโยบายการเงิน หากภาพรวมเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเปลี่ยนแปลงไปจากที่ประเมินไว้ ธปท. ปรับเพิ่มคาดการณ์นักท่องเที่ยวที่ 25.5 ล้านคน ในปี 2023 และ 34.0 ล้านคน ในปี 2024 จากประมาณการเดิมในเดือนพฤศจิกายนที่ 22.0 ล้านคน และ 31.5 ล้านคน ตามลำดับ โดย ธปท. ประเมินว่าจะเป็นปัจจัยหลักสนุนเศรษฐกิจไทยและการบริโภคภายในประเทศ แม้จะทำให้เงินเฟ้ออาจจะยังคงทรงตัวในระดับสูงและมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของภาคอุปสงค์ แต่โดยรวม ธปท. คาดเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายในปีนี้ ด้านการส่งออกมีแนวโน้มชะลอลงในปีนี้ ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง

ภาวะตลาดหุ้นไทย – มกราคม 2566

SET Index เดือน มกราคม ปิดระดับ 1,671.46 จุด ทรงตัวในกรอบแคบ โดยเพิ่มขึ้นเพียง 0.17% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยช่วงสัปดาห์แรกเป็นการแกว่งขึ้นต่อเนื่องจากปลายปีที่แล้วตอบรับความคาดหวังเชิงบวกจากการที่ประเทศจีนประกาศเปิดประเทศในวันที่ 8 มกราคม เร็วกว่าที่ตลาดคาดไว้ อย่างไรก็ตาม ตลาดค่อย ๆ ปรับตัวลง จากแรงกดดันของการทยอยประกาศผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 4 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เป็นปัจจัยกดดันทำให้ SET Index ยังไม่สามารถปรับตัวเหนือ 1,700 จุดได้ในเดือนมกราคมนี้

สำหรับปัจจัยสนับสนุนจากภายนอกเริ่มที่ทางการประเทศจีนได้ตัดสินใจเปิดประเทศเร็วกว่าการคาดการณ์เดิม โดยสาเหตุหลักมาจากภาคเศรษฐกิจได้รับแรงกดดันอย่างมากจากนโยบาย Zero Covid19 ประกอบกับเริ่มมีการชุมนุมประท้วงของประชาชนที่ไม่พอใจกับนโยบายข้างต้น รวมไปถึงการที่โควิดสายพันธุ์โอไมครอนก็ไม่ได้มีความรุนแรงเหมือนสายพันธุ์ก่อนหน้าด้วย โดยนักลงทุนต่างคาดหวังว่าการเปิดประเทศของจีนจะทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวของไทยฟื้นตัวเร็วกว่าเดิม โดยนอกจากกลุ่มท่องเที่ยวที่จะได้รับประโยชน์โดยตรงแล้ว ภาพรวมการบริโภคภายในประเทศก็จะได้รับประโยชน์ทางอ้อม จากการจ้างงานของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ทยอยฟื้นตัว ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยลดผลกระทบของภาคส่งออกที่ชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจในฝั่งตะวันตกที่มีโอกาสเกิดภาวะถดถอยได้ในปีนี้

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – ธันวาคม 2565

FED มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ย 50bps ตามคาด เพื่อทำให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% ให้ได้ พร้อมดำเนินการลดงบดุลต่อเนื่องตามแผนเดิม ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 4.25%-4.50% สูงสุดในรอบ 15 ปี และยังคงประเมินการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเหมาะสมสำหรับการทำให้นโยบายการเงินตึงตัวพอที่จะทำให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้า 2% ทั้งนี้ประเมินว่าเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงจากภาวะความไม่สมดุลระหว่างภาคอุปสงค์และอุปทาน จากการระบาดของโควิด ราคาอาหารและพลังงานที่อยู่ในระดับสูง และความกดดันจากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างทั่วถึงมากขึ้น โดยสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนเพิ่มความกดดันให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นและกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก โดย FED คาดการณ์เงินเฟ้อปีหน้าปรับขึ้นจาก 2.8% ไปอยู่ที่ 3.1% ปัจจุบันมองว่านโยบายดอกเบี้ยยังไม่ตึงตัวพอ และจะทำต่อจนกว่าจะสำเร็จ โดยค่ากลาง dot plot ของสมาชิกเฟด ปรับมุมมองอัตราดอกเบี้ยปีหน้าเพิ่มขึ้นจาก 4.6% ในการประชุมเดือนกันยายนไปอยู่ที่ 5.1% โดยมีสมาชิก FED 7 คนจาก 19 คน ที่มีมุมมองว่าอัตราดอกเบี้ยควรขึ้นสูงกว่า 5.25% นอกจากนี้ ค่ากลาง dot plot ของอัตราดอกเบี้ยปี 2024 ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 4.1% จาก 3.9% ทางด้านเศรษฐกิจ ประเมินว่าปีนี้ชะลอลงมากจากปีที่แล้ว โดยถึงแม้ GDP จะขยายตัวในไตรมาสที่สาม แต่ระดับ GDP แทบไม่ต่างจากช่วงต้นปี เครื่องชี้เศรษฐกิจปัจจุบันแสดงถึงการขยายตัวได้บ้างของการใช้จ่ายและการผลิต กิจกรรมของตลาดบ้านปรับลดลงมาก จากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อซื้อบ้านที่ปรับขึ้นสูงมาก นอกจากนี้ดอกเบี้ยที่สูงและการชะลอของเศรษฐกิจ กระทบต่อภาคการลงทุน อย่างไรก็ดี ภาพรวมตลาดแรงงานยังคงตึงตัว การจ้างงานยังคงดี และอัตราการว่างงานจะยังอยู่ในระดับต่ำ FED ได้ปรับคาดการณ์ GDP ปี 2022 ขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 0.5% จาก 0.2% และปรับคาดการณ์ GDP ปี 2023 ลงไปอยู่ที่ 0.5% จาก 1.2% รวมถึงปรับคาดการณ์อัตราการว่างงานปีหน้าขึ้นจาก 4.4% ไปอยู่ที่ 4.6%

BOJ คงดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง แต่ปรับกรอบการเข้าซื้อพันธบัตร ด้วยมติเอกฉันท์ให้ คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ -0.1% คงควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (Yield curve control) อายุ 10 ปีที่ใกล้ 0% และปรับการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ไม่จำกัด ที่ -0.5% ถึง 0.5% จากเดิมที่ -0.25% ถึง 0.25% รวมถึงคงการซื้อ ETFs ไม่เกิน 12 ล้านล้านเยนและ J-REITs ไม่เกิน 1.8 แสนล้านเยนต่อปี และซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชนในปริมาณใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 รวมทั้งซื้อตราสารหนี้เอกชนระยะสั้น (Commercial paper) 2 ล้านล้านเยน และหุ้นกู้เอกชน (Corporate bond) 3 ล้านล้านเยน BOJ แสดงท่าทีเริ่มเปลี่ยนผ่านนโยบายการเงิน โดยการปรับกรอบการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี กว้างขึ้น แม้จะยังระบุอัดฉีดเงินเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจและเสถียรภาพในตลาดการเงินอย่างต่อเนื่อง จนกว่าเงินเฟ้อจะเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% อย่างมีเสถียรภาพ และพร้อมดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติมหากจำเป็น โดยในระยะข้างหน้าประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นและระยะยาวจะยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงหรือต่ำกว่าปัจจุบัน

ECB ปรับขึ้นดอกเบี้ย 50bps ตามตลาดคาด พร้อมทั้งส่งสัญญาณที่ชัดเจนในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงได้ช้ากว่าที่ประมาณการไว้เดิม ส่งผลให้ Deposit Facility Rate ขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2% พร้อมทั้งส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่าจะยังคงต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อให้มั่นใจว่านโยบายการเงินมีความเข้มงวดเพียงพอที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับมาสู่เป้าหมายในระยะปานกลางที่ 2% ได้ นอกจากนี้จะเริ่มปรับลดขนาดงบดุล ผ่านการลดการถือครองสินทรัพย์ภายใต้มาตรการ APP (Asset Purchase Program) ในเดือน มี.ค. 2023 เป็นต้นไป โดยจะเริ่มต้นปรับลดการถือครองสินทรัพย์เฉลี่ยต่อเดือนราว EUR15bn ในช่วงเดือน มี.ค.-มิ.ย. ขณะที่การลดปริมาณการถือครองสินทรัพย์หลังจากเดือน มิ.ย. นั้นจะมีการพิจารณาเมื่อเวลาผ่านไป อย่างไรก็ดี สำหรับการถือครองสินทรัพย์ภายใต้มาตรการ PEPP (Pandemic Purchase Program) จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ จนกระทั่งผ่านพ้นปี 2024 ไปเป็นอย่างน้อย ด้านตัวเลขเศรษฐกิจ ECB ได้มีการปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อขึ้น โดยคาดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 8.4% ในปี 2022, 6.3% ในปี 2023, 3.4% ในปี 2024 นอกจากนี้ ECB ยังประเมินว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 0.5% ในปี 2023 จากปี 2022 ที่คาดว่าจะขยายตัว 3.4%

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับลดลงทุกช่วงอายุ ประมาณ 4-40bps สวนทางกับตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ ที่อัตราผลตอบแทนส่วนใหญ่ยังคงปรับขึ้นตามการทิศทางการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีในเดือนนี้ ส่วนการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติเดือนธันวาคม เป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 3.3 หมื่นล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 2.2 หมื่นล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว นักลงทุนต่างชาติถือครองเพิ่มขึ้นประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาท โดยสรุปยอดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทย ณ สิ้นเดือนธันวาคมอยู่ที่ประมาณ 1.08 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดหุ้นไทย – ธันวาคม 2565

SET Index เดือนธันวาคมปิดที่ระดับ 1,668.66 จุด เพิ่มขึ้น 2.04% จากเดือนก่อน โดยเป็นการปรับลดลงในช่วงสามสัปดาห์แรกของเดือน จากสัญญาณของเศรษฐกิจถดถอย อาทิเช่น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อประจำเดือนพฤศจิกายน (PMI) ของสหรัฐฯ ได้ปรับตัวต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมในปี 2563 นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับปัจจัยกดดันจากการที่ธนาคารกลางประเทศญี่ปุ่นส่งสัญญาณการใช้นโนบายทางการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น โดยการประกาศขยายกรอบการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว อย่างไรก็ตาม ดัชนีหุ้นไทยได้ปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายเดือน โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากทั้งเรื่องที่ทางการจีนประกาศเปิดประเทศในวันที่ 8 มกราคม ซึ่งเร็วกว่าที่ตลาดคาด และความชัดเจนจากมาตรการช้อปดีมีคืน ที่จะช่วยกระตุ้นการบริโภคในไตรมาสแรกของปีถัดไป
สำหรับปัจจัยสนับสนุนจากภายนอกนั้นเริ่มจากฝั่งสหรัฐฯ ที่มีการประชุมของ FED ในช่วงต้นเดือน โดยมีมติปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 75 bps เข้าสู่ระดับ 3.75% – 4.00% และให้ภาพกับนักลงทุนว่า FED จะยังมีความจำเป็นที่จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูง ถึงแม้ว่าจะเริ่มให้สัญญาณว่าการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้นมีโอกาสชะลอปรับการเพิ่มขึ้นในครั้งถัดไป ซึ่งทั้งหมดไม่ได้ผิดไปจากที่นักลงทุนคาดการณ์ โดยนักลงทุนส่วนใหญ่มองว่า Terminal Rate ของ FED จะอยู่ที่ประมาณ 5% นอกจากนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯเริ่มอ่อนตัวลง โดยอัตราว่างงานที่เพิ่มจากระดับ 3.5% สู่ 3.7% และรายงานเงินเฟ้อ CPI และ PPI ประจำเดือนตุลาคมก็ต่ำกว่าตลาดคาด ยิ่งสนับสนุนมุมมองของนักลงทุนว่าเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ขณะเดียวกัน ในส่วนของฝั่งเอเชียเอง ประเทศจีนได้เริ่มส่งสัญญาณผ่อนคลายมาตรการ Zero Covid เนื่องจากมาตรการดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจีนอย่างมาก อีกทั้งความรุนแรงของอาการ Covid สายพันธุ์โอไมครอนก็น้อยกว่าสายพันธุ์อื่นก่อนหน้า ทำให้ทางการจีนเริ่มปรับเปลี่ยนวิธีควบคุมการระบาด

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – พฤศจิกายน 2565

FED มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ย 75bps ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 4 เพื่อทำให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% ให้ได้ พร้อมดำเนินการลดงบดุลต่อเนื่องตามแผนเดิม โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 3.75%-4.00% สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2008 FEDประเมินการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเหมาะสมสำหรับการทำให้นโยบายการเงินตึงตัวพอที่จะทำให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้า 2% ทางด้านเงินเฟ้อประเมินว่ายังอยู่ในระดับสูงจากภาวะความไม่สมดุลระหว่างภาคอุปสงค์และอุปทาน จากการระบาดของโควิด ราคาอาหารและพลังงานที่อยู่ในระดับสูง และความกดดันจากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างทั่วถึงมากขึ้น โดยสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนเพิ่มความกดดันให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก FED ให้ความสำคัญอย่างมากกับความเสี่ยงของเงินเฟ้อ ซึ่งอัตราการขึ้นดอกเบี้ยในอนาคตจะขึ้นอยู่กับผลของนโยบายการเงินที่ตึงตัวที่ผ่านมาต่อเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และตลาดการเงิน ทางด้านเศรษฐกิจ FED ประเมินเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปีนี้ชะลอลงมากจากปีที่แล้ว เครื่องชี้เศรษฐกิจแสดงถึงการขยายตัวได้บ้างของการใช้จ่ายและการผลิตในไตรมาสนี้ กิจกรรมของตลาดบ้านปรับลดลงมาก จากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อซื้อบ้านที่ปรับขึ้นสูงมาก นอกจากนี้ ดอกเบี้ยที่สูง และการชะลอของเศรษฐกิจ กระทบต่อภาคการลงทุน อย่างไรก็ดี ภาพรวมตลาดแรงงานยังคงตึงตัว การจ้างงานยังคงดี และอัตราการว่างงานจะยังอยู่ในระดับต่ำ ประธาน FED กล่าวว่าอัตราดอกเบี้ยอาจขึ้นไปสูงกว่าที่คาดไว้เดิม แต่อัตราการขึ้นอาจเริ่มชะลอลง และอาจเริ่มชะลอลงได้ตั้งแต่เดือนธันวาคม แต่ยังไม่มีการตัดสินใจในตอนนี้ และยังต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องอยู่ นอกจากนี้ ยังเร็วเกินไปมากที่จะตัดสินใจเรื่องการหยุดการขึ้นดอกเบี้ย

ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติ 7-2 ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 75bps สู่ระดับ 3.00% สูงสุดในรอบ 14 ปี ตามการคาดการณ์ของตลาด ซึ่งนับเป็นปรับขึ้นในอัตราที่มากที่สุดในรอบ 33 ปี โดยมีกรรมการ 2 ท่านที่มองว่าควรปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่น้อยกว่านั้น ทั้งนี้คณะกรรมการส่วนใหญ่ตัดสินว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมอาจมีความจำเป็นเพื่อกดให้เงินเฟ้อกลับเข้าเป้า 2% ได้อย่างยั่งยืน แต่อัตราอัตราดอกเบี้ยสูงสุด (Terminal rate) จะต่ำกว่าที่ตลาดการเงินคาดการณ์ ซึ่งนับเป็นการส่งสัญญาณที่ค่อนข้าง Dovish โดย BOE ประเมินว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ (5.25%) จะส่งกระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรง โดยจะส่งผลให้ GDP หายไป 3% และกดให้เงินเฟ้อชะลอลงแตะระดับ 0.0% ในปี 2025 ขณะที่หากอัตราดอกเบี้ยคงอยู่ที่ระดับ 3.00% ในปัจจุบัน จะทำให้ภาวะ Recession ไม่รุนแรงและยาวนานนัก และเงินเฟ้อจะชะลอเข้าใกล้เป้าหมาย 2% ได้ภายใน 2 ปี ด้านเงินเฟ้อ BOE คาดว่าจะทำจุดสูงสุดที่ราว 11% ในไตรมาส 4/2022 (จากปัจจุบันที่ 10.1% ในเดือนก.ย.) ต่ำกว่าที่เคยประเมินในเดือนส.ค. ที่ 11-13% จากผลของมาตรการ Energy Price Guarantee (EPG) ของรัฐบาล ที่ได้จำกัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของครัวเรือนที่ GBP2,500 เป็นเวลา 6 เดือน (จนถึงเดือนมี.ค. 2023) และคาด GDP ปีนี้จะขยายตัว 4.25% เพิ่มขึ้นจากประมาณครั้งก่อนในเดือนส.ค. ที่ 3.5% อย่างไรก็ดี BOE ยังคงมอง GDP จะหดตัวต่อเนื่องหลังจากนั้น โดยคาดปี 2023 จะหดตัวที่ 1.5% และปี 2024 หดตัวที่ 1.0% (เดิมคาด -0.75%) ก่อนที่จะกลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ 0.5% ในปี 2025