ภาวะตลาดหุ้นไทย (6 – 10 พฤศจิกายน 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์สองของเดือนพฤศจิกายน SET Index ยังคงปรับตัวลงต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยปรับตัวลงแรงในช่วงปลายสัปดาห์จากแรงขายของหุ้นในกลุ่มขนาดกลางและขนาดเล็ก เช่น กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มวัสดุก่อสร้าง กลุ่มท่องเที่ยว และกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง หลังการประกาศงบการเงินไตรมาส 3 ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่าน เป็นการ Sell on Fact จากการเก็งกำไรหุ้นที่ประกาศผลประกอบการออกมาดีตามคาดและหุ้นที่ประกาศผลประกอบการออกมาต่ำกว่าคาด อย่างไรก็ตาม จากที่ ครม. เห็นชอบมาตรการช้อปช่วยชาตินำค่าใช้จ่ายมาช่วยหักภาษีได้ในวงเงิน 15,000 บาท ซึ่งเป็นผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี ทำให้มีแรงซื้อหุ้นที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว

สำหรับปัจจัยต่างประเทศ นาย แพทริค ฮาร์เกอร์ หนึ่งในคณะกรรมการ FOMC ยอมรับในการสนับสนุนการปรับดอกเบี้ยขึ้นในเดือนหน้า ถึงแม้มีความกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่ นางลอเร็ตตา เมสเตอร์ ประธาน FED สาขาคลีฟแลนด์ ยังเห็นพ้องไปในทางเดียวกันในการปรับอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้มีความมั่นใจมากยิ่งขึ้นในการปรับดอกบี้ยขึ้นในเดือนธันวาคมนี้

เงินบาทคงที่จากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 33.11 บาทต่อดอลล่าร์

Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมายังคงเป็น Net Sell ที่ 3.93 พันล้านบาท

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,689.28 จุด ปรับตัวลดลง 12.19 จุด หรือ 0.72% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

ราคาน้ำมันดิบ WTI ยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง จากนโยบายการพยุงราคาน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบีย และผู้นำอื่น ๆ ในกลุ่ม OPEC ที่ร่วมมือในการลดกำลังการผลิตลง สิ้นสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $56.74 ต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.00% จากสัปดาห์ก่อนนหน้า

มุมมองตลาดในระยะสั้น SET Index มีโอกาสปรับฐานในระยะสั้น แต่ในภาพรวม เรายังคงคาดว่า SET Index ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยได้รับแรงสนับสนุนจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและมีการกระจายตัวในหลายภาคส่วนมากขึ้น

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (6 – 10 พฤศจิกายน 2560)

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับสกุลหลักอ่อนค่าลง จากความวิตกกังวลเกี่ยวกับความล่าช้าในการผลักดันแผนการปฏิรูปภาษีของคณะทำงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หลังจากมีข่าวว่าบรรดาแกนนำพรรครีพับลิกันในวุฒิสภากำลังพิจารณาเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายปฏิรูประบบภาษีออกไปอีก 1 ปี ทางด้านการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยในวันพุธที่ผ่านมาซึ่งเป็นครั้งที่ 7 ของปีนี้ มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ตามความคาดหมายและเนื้อหาในรายงานการประชุมแทบไม่แตกต่างจากครั้งก่อน กล่าวคือ เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่าที่ประเมินไว้เดิม ตามแรงส่งจากภาคต่างประเทศ ขณะที่อุปสงค์ในประเทศขยายตัวได้ดีขึ้นต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีทิศทางปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ด้านเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี แต่มีความเสี่ยงในบางจุดที่อาจสะสมความเปราะบางในระบบการเงินในระยะต่อไป คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่เป้าหมายได้ แม้อาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้

ทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นเริ่มปรับตัวขึ้นมาจากสัปดาห์ก่อนหน้า โดยการประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยรุ่น 14 วัน อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 1.1376% อันเป็นผลมาจากแรงขายในตลาดรอง ส่วนพันธบัตรระยะยาวอัตราผลตอบแทนปรับขึ้นเล็กน้อย ตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิประมาณ 1.8 พันล้านบาท แบ่งเป็นซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น 3.8 พันล้านบาท และขายพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว 5.6 พันล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (30 ตุลาคม – 3 พฤศจิกายน 2560)

คณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐ (FOMC) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.00-1.25% ในการประชุมรอบนี้ พร้อมให้ความเห็นว่าตลาดแรงงานและภาวะเศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้น อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ การขยายตัวของการจ้างงานยังคงแข็งแกร่ง และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวแตะระดับเป้าหมายที่ 2% ได้ในปีหน้า ทั้งนี้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มีมุมมองว่า FOMC น่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในการประชุมเดือนธันวาคม นอกจากนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ ยังได้เสนอชื่อนายเจอโรม พาวเวล ให้ดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐคนใหม่ แทนนางเจเน็ต เยเลนที่จะหมดวาระในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ซึ่งนักลงทุนในตลาดมองว่านายเจอโรม พาวเวล มีความเห็นไม่ต่างจากนางเจเน็ต เยเลน มากนัก และสนับสนุนการผ่อนคลายกฎระเบียบในสถาบันการเงิน ส่วนธนาคารกลางอังกฤษ ได้มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี จาก 0.25% เป็น 0.50% และคงวงเงิน QE ไว้ที่ระดับเดิมที่ 435 พันล้านปอนด์ แต่ไม่ได้บอกเป็นนัยว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยต่อไปในระยะอันใกล้นี้ นอกจากนี้ ยังปรับลดการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ลงเหลือ 1.6% จาก 1.7% และปรับลดอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายปีหน้าลงเหลือ 2.4% จาก 2.5%

ทางด้านเงินเฟ้อของไทยที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศล่าสุด อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนต.ค. +0.86% yoy เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ +0.86% yoy ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน +0.58% yoy สูงกว่าเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่ +0.53% yoy จากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน ส่วนอัตราผลตอบแทนจากการประมูลพันธบัตรระยะสั้นยังคงต่ำกว่าระดับดอกเบี้ยนโยบายมาก โดยเฉพาะการประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยรุ่นอายุ 14 วัน ผลการประมูลอยู่ในช่วง 0.99-1.002%, อัตราผลตอบแทนเฉลี่ย 0.99991% และ Bid Coverage Ratio 1.50 ตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น 2.6 พันล้านบาท และพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว 10.9 พันล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย (30 ตุลาคม – 3 พฤศจิกายน 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์แรกของเดือนพฤศจิกายน SET Index ปรับตัวลดลง 14 จุด หรือคิดเป็น 0.85% โดยนักลงทุนเริ่มมีการขายทำกำไรเมื่อ SET Index ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 1,730 จุดได้ ประกอบกับการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ของบริษัทจดทะเบียนในสัปดาห์ที่ผ่านมาของหุ้นขนาดใหญ่ค่อนข้างต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ ยังมีการขายทำกำไรในหุ้นกลุ่ม ICT ออกมามาก และทำให้หุ้นในกลุ่มนี้ปรับตัวลงแรงและฉุดให้ SET Index ปรับตัวลง เนื่องจาก กสทช. ได้ประกาศกำหนดแผนการประมูลคลื่น 900 และ 1800 MHz ที่จะหมดสัญญาในวันที่ 15 ก.ย 2561 โดยกำหนดราคาประมูลที่ขั้นต่ำ 3.7 หมื่นล้านบาท และจะประมูลด้วยระบบ N-1 รวมทั้งการอนุญาตให้ JAS เข้าร่วมประมูลได้ เพื่อให้เกิดการแข่งขัน ทำให้นักลงทุนคาดว่าราคาคลื่นใหม่จะค่อนข้างแพงและเป็นภาระกับผู้ประมูลได้มากกว่าที่เคยประมาณการไว้

สำหรับปัจจัยต่างประเทศ ประธานาธิปดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เสนอชื่อนาย เจอโรม พาวเวล เป็นประธาน FED คนใหม่ ซึ่งต่างกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ก่อนหน้า ทั้งนี้ นาย เจอโรม มีแนวคิดคล้ายนาง เจเนต เยเลน ประธาน FED คนปัจจุบัน ทำให้คาดว่าการปรับดอกเบี้ยในสหรัฐฯจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะเป็นผลดีต่อตลาดหุ้นโดยรวม

เงินบาทกลับมาแข็งค่าที่ 33.12 บาทต่อดอลล่าร์ แข็งค่าขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า 0.51%

Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็น Net Sell ที่ 8.6 พันล้านบาท

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,701.47 จุด ปรับตัวลดลง 14.56 จุด หรือ 0.85% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

ราคาน้ำมันดิบ WTI ยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสูงสุดในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา จากการรายงานจำนวนแท่นขุดเจาะในสหรัฐฯที่ปรับตัวลดลงต่ำสุดตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และการคาดการณ์ของกลุ่มโอเปคที่จะขยายเวลาลดกำลังการผลิตไปต่ออีก 9 เดือน สิ้นสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $55.64 ต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.23% จากสัปดาห์ก่อนนหน้า

มุมมองตลาดในระยะสั้น SET Index มีโอกาสปรับฐานในระยะสั้น แต่ในภาพรวม เรายังคงคาดว่า SET Index ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยได้รับแรงสนับสนุนจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและมีการกระจายตัวในหลายภาคส่วนมากขึ้น รวมถึงคาดการณ์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะออกมาเพิ่มเติมในช่วงปลายปี เช่น มาตรการช็อปช่วยชาติ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (24 – 27 ตุลาคม 2560 )

ตลาดต่างประเทศในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐออกมาดีกว่าที่คาด เช่น GDP ไตรมาสที่ 3 เพิ่มขึ้น 3% มากกว่าที่คาดไว้ที่ 2.6% แม้ว่าจะประสบกับภัยธรรมชาติ และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อทั้งภาคการผลิตและภาคบริการที่ยังบ่งชี้ว่ามีการขยายตัว เป็นต้น นอกจากนี้ตลาดยังได้แรงหนุนจากการที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐผ่านร่างงบประมาณปี 2561 ฉบับวุฒิสภาซึ่งจะเป็นการปูทางให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เดินหน้ามาตรการปฏิรูปภาษีต่อไป ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญแข็งค่าขึ้นและ US Treasury Yield ปรับขึ้น อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐและความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศสเปน กดดันให้ US Treasury Yield ปรับลดลงจากความต้องการซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย ทางด้านการผลประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงิน และตกลงที่จะลดปริมาณ QE ลงเหลือ 3 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน ในเดือนม.ค. ไปจนถึงเดือนก.ย. ปีหน้า ซึ่งเป็นการยืดอายุยาวออกไปจากเดิม

ตลาดตราสารหนี้ไทยในรอบสัปดาห์นี้มีการซื้อขายค่อนข้างน้อย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะสั้นปรับลดลงต่อเนื่องทั้งจากการประมูลในตลาดแรกและการซื้อขายในตลาดรอง ท่ามกลางสภาพคล่องบาทที่ล้นระบบ ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวยังคงปรับขึ้นตามตลาดต่างประเทศ ตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวม 4.9 พันล้านบาท แบ่งเป็นการขายสุทธิพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น 3.4 พันล้านบาท และขายสุทธิพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว 1.5 พันล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย (23 – 27 ตุลาคม 2560)

ในสัปดาห์ที่สี่ของเดือนตุลาคม ดัชนี SET ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องหลังจากเห็นการปรับฐานในสัปดาห์ก่อนหน้าจากการเปิดทำการของตลาดหลักทรัพย์เพียง 3 วัน โดยดัชนีสามารถกลับมายืนเหนือระดับ 1,700 จุด ได้ตลอดทั้งสัปดาห์ หุ้นกลุ่มที่ปรับตัวขึ้นสูงได้แก่ กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มค้าปลีก ซึ่งเป็นผลมาจากการเก็งกำไรงบไตรมาส 3 ที่นักลงทุนคาดว่าจะออกมาดี การปรับตัวขึ้นนั้นได้กระจายไปในกลุ่มหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กมากขึ้น หลังจากที่หุ้นขนาดใหญ่ได้ขยับขึ้นในระยะก่อนหน้าแล้ว โดยดัชนี SET ได้ปรับขึ้นถึง 2.74% จากสัปดาห์ก่อนหน้า ในขณะที่ปัจจัยในประเทศอีกส่วน มาจากการคาดหวังของนักลงทุนที่รัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ในช่วงสิ้นปี

สำหรับปัจจัยต่างประเทศ ยังคงเป็นการรอประธาน Fed คนใหม่ที่คาดว่าจะรู้ผลในวันที่ 3 พฤศจิกายน และประเด็นที่รัฐบาลกลางสเปนเข้าควบคุมอำนาจของรัฐบาลแคว้น Catalonia เพื่อควบคุมสถานการณ์การแยกแคว้น โดยปัจจัยนี้ไม่มีนัยสำคัญต่อตลาดหุ้นไทย

เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องที่ 33.29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงเมื่อเปรียบเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า 0.23%

Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็น Net Sell ที่ 3.6 พันล้านบาท

ราคาน้ำมันดิบ WTI ยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากการรายงานสต็อกน้ำมันดิบของ EIA ที่ได้ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า และ ความร่วมมือของรัสเซียและซาอุดิอาระเบีย ที่ต้องการขยายเวลาการลดกำลังการผลิตจนถึงสิ้นปีหน้า สิ้นสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบ WTI ได้ปิดที่ $53.9 ต่อบาร์เรล ปรับตัวขึ้น 4.72% จากสัปดาห์ที่ผ่านมา

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,716.03 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 23.45 จุด หรือ 1.39% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

มุมมองตลาดในระยะสั้นดัชนี SET มีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อเนื่องไปทดสอบที่ 1,750 จุด โดยปัจจัยหนุนหลักมาจากเศรษฐกิจในประเทศ และการประกาศงบการเงินไตรมาส 3 ที่คาดว่าหลายกลุ่มจะออกมาดี รวมถึงเม็ดเงิน LTF ที่จะน่าจะทยอยไหลเข้าในช่วงสิ้นปี ปัจจัยที่ต้องติดตามในต่างประเทศได้แก่การแต่งตั้งประธาน Fed คนใหม่ โดยหากนโยบายทางการเงินมีความรัดกุมขึ้น อาจเห็นความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์และตลาดหุ้น

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (16 – 20 ตุลาคม 2560 )

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมาแข็งค่าขึ้น ภายหลังจากวุฒิสภาลงมติผ่านร่างกฏหมายงบประมาณประจำปี 2561 ซึ่งถือเป็นก้าวแรกสู่การพิจารณาร่างกฏหมายภาษี ในขณะที่นักลงทุนยังเฝ้ารอการประกาศว่าที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐคนถัดไป ว่าจะสืบทอดนโยบายทางการเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไปเช่นเดียวกับนางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟดคนปัจจุบันหรือไม่ ทางด้านตลาดยุโรป ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนกันยายนที่ผ่านมาทั้งประเทศอังกฤษและสหภาพยุโรปออกมาตามที่ตลาดคาดการณ์ ทั้งนี้ นักลงทุนยังคงให้ความสนใจไปที่มติธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ในการลดการซื้อสินทรัพย์ซึ่งน่าจะลดปริมาณ QE ในระดับที่น้อยกว่าคาด ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และสถานการณ์การเมืองภายในทวีปที่ยังคุกรุ่นต่อเนื่อง

ตลาดตราสารหนี้ในรอบสัปดาห์นี้มีการซื้อขายค่อนข้างน้อย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะสั้นปรับลดลงต่อเนื่องทั้งจากการประมูลในตลาดแรกและการซื้อขายในตลาดรอง ท่ามกลางสภาพคล่องบาทที่ล้นระบบ ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับขึ้นบ้างตามตลาดต่างประเทศ ตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวม 6 พันล้านบาท แบ่งเป็นการขายสุทธิพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น 7.1 พันล้านบาท และซื้อสุทธิพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว 1.1 พันล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย (16 – 20 ตุลาคม 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สามของเดือนตุลาคม ได้มีแรงขายทำกำไรออกมาหลังจากที่ SET Index ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องนานกว่า 2 เดือน ซึ่งเป็นการขายทำกำไรในแทบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะหุ้นที่มี Market Cap ขนาดใหญ่ ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่ทำให้มีการขายทำกำไร ได้แก่ การประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ที่ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ประกาศออกมาต่ำกว่านักวิเคราะห์คาดไว้ จากการตั้งสำรองหนี้เสียที่ยังอยู่ในระดับสูง และข่าวที่ PTTEP จะมีการตั้งด้อยค่าเงินลงทุนในโครงการ Oil Sand ในประเทศแคนาดาประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท และการขายทำกำไรในตลาดหุ้นเอเชียจากปัจจัยต่างประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม หุ้นกลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์มีการปรับตัวขึ้น หลังจาก กสทช. ประกาศปรับลดค่าธรรมเนียมให้ผู้ประกอบการ Digital TV ตามระดับรายได้ของผู้ประกอบการ นอกจากนี้ ในจังหวะที่หุ้นตกลงแรง ได้มีแรงซื้อกลับเข้ามาในหุ้น Mid-Small Cap ที่มีแนวโน้มเติบโตดีด้วย

สำหรับปัจจัยต่างประเทศ นักลงทุนยังติดตามข่าวการเลือกประธาน FED คนใหม่ของประธานาธิบดีทรัมป์ที่คาดว่าจะมีการตัดสินใจภายในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งการเลือกประธาน FED นี้อาจจะส่งผลให้ FED ใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวมากขึ้น และการที่วุฒิสภาสหรัฐฯผ่านร่างงบประมาณปี 2561 ซึ่งจะส่งผลให้แผนปฏิรูปภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์มีโอกาสจะเริ่มดำเนินการได้มากขึ้น จากปัจจัยดังกล่าว ทำให้มีการขายทำกำไรในตลาดหุ้นเอเชียและค่าเงิน US$ แข็งค่าขึ้น ในส่วนปัญหาการแยกตัวของแคว้นกาตาลุญญาในสเปนนั้น จะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 28 ตุลาคม ซึ่งไม่มีนัยสำคัญต่อตลาดหุ้นไทย

เงินบาทกลับมาอ่อนค่าที่ 33.18 บาทต่อดอลล่าร์ อ่อนค่าขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า 0.18%

Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็น Net Sell ที่ 7.2 พันล้านบาท

ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย โดยได้แรงสนับสนุนหลักจากการปรับลดลงของแท่นขุดเจาะในสหรัฐฯ และการรายงานตัวเลขส่งออกน้ำมันดิบในอิรักลดลง อย่าไรก็ตาม ในช่วงปลายสัปดาห์มีแรงขายทำกำไรจากการปรับตัวขึ้นสูงของราคาน้ำมันดิบ สิ้นสัปดาห์ ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $51.47 ต่อบาร์เรล ปรับเพิ่มขึ้น 0.04% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,692.58 จุด ปรับตัวลดลง 19.90 จุด หรือ 1.16% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

มุมมองตลาดในระยะสั้น เรายังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้น และคาดว่า SET Index จะสามารถกลับขึ้นไปยืนเหนือ 1,700 จุด ได้จากการเติบโตของเศรษฐกิจที่ดีขึ้นต่อเนื่อง และเม็ดเงินของ LTF ในช่วงปลายปีกว่า 3-4 หมื่นล้านบาทจะช่วยสนับสนุน SET Index อย่างต่อเนื่อง

ภาวะตลาดหุ้นไทย (9 – 13 ตุลาคม 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สองของเดือนตุลาคม SET Index ยังคงแกว่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง นำโดยหุ้นขนาดใหญ่ เช่น หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ กลุ่มพลังงาน กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ และกลุ่มการแพทย์ โดยตลาดหุ้นได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงกำหนดวันเลือกตั้ง ซึ่งเป็นช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561 ทำให้ตลาดหุ้นไทยตอบรับข่าวดี ปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 1,700 จุด เป็นครั้งแรกในรอบ 23 ปี และจากการประกาศปลดธงแดงของ ICAO สำหรับสายการบินสัญชาติไทย ซึ่งทำให้สายการบินไทยสามารถเพิ่มเส้นทางบินได้มากขึ้น

สำหรับปัจจัยต่างประเทศ IMF ปรับคาดการณ์การเติบโต GDP โลกปีนี้ขึ้นสู่ระดับ 3.6% โดยปรับเพิ่มขึ้น 0.1% จากประมาณการณ์ครั้งก่อนหน้าในเดือนกันยายน รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในสหรัฐฯ เดือนตุลาคมปรับเพิ่มขึ้นแตะ 101.1 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 ปี ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่สนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED ในเดือนธันวาคม

เงินบาทกลับมาแข็งค่าที่ 33.12 บาทต่อดอลล่าร์ แข็งค่าขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า 0.95%

Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็น Net Buy ที่ 5.1 พันล้านบาท

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,712.48 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 16.51 จุด หรือ 0.97% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับขึ้นเหนือระดับ $50 ต่อบาร์เรล หลังงจากซาอุดิอาระเบียประกาศจะปรับลดปริมาณการส่งออกน้ำมันในเดือน พฤศจิกายน ตามข้อตกลงของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) ทำให้ตลาดคลายความกังวลเรื่องน้ำมันล้นตลาด สิ้นสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $51.45 ต่อบาร์เรล ปรับเพิ่ม 4.5% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

มุมมองตลาดในระยะสั้น SET Index ยังมีแนวโน้มแกว่งตัวขึ้นได้ โดยเฉพาะหากผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่จะทยอยประกาศออกมาในสัปดาห์นี้ เป็นไปตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ และมีแนวโน้มว่าปัญหาหนี้เสียจะลดลงในระยะเวลาถัดไป ก็จะส่งผลให้นักลงทุนเข้าลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้นได้

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (9 – 12 ตุลาคม 2560)

ในสัปดาห์นี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐกลับมาอ่อนค่าลง ผลจากการแข็งค่าขึ้นของเงินสกุลยูโร เนื่องจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้แสดงความเห็นเชิงสนับสนุนให้ ECB ลดวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณตั้งแต่ปีหน้า นอกจากนี้ยังไม่มีความคืบหน้าเพิ่มเติมจากรายงานการประชุมประจำเดือนก.ย. ของคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐ (FOMC) ซึ่งกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่า การขึ้นดอกเบี้ยควรดำเนินต่อไปแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และเห็นว่าในระยะกลางภาพรวมของเศรษฐกิจสหรัฐไม่มีการเปลี่ยนแปลง

ทางด้านธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินประจำเดือนก.ย. ที่ผ่านมา โดยมีความเห็นว่า แนวโน้มเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยปรับดีขึ้นจากการประชุมครั้งก่อน ความเชื่อมั่นในตลาดการเงินโลกโดยรวมดีขึ้น ส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในหลักทรัพย์ภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง และทำให้เงินสกุลภูมิภาคส่วนใหญ่แข็งค่าขึ้น โดยค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐและการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในระดับสูง ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าในทิศทางสอดคล้องกับสกุลภูมิภาค ทำให้เงินบาทเทียบกับเงินสกุลประเทศคู่ค้าคู่แข่งไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นช้ากว่าที่ประเมินไว้ แต่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นในปี 2561 และเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี

ตลาดตราสารหนี้ในรอบสัปดาห์นี้มีปริมาณการซื้อขายเบาบาง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยโดยเฉพาะรุ่นอายุ 1 ปีขึ้นไปปรับตัวลดลง 0.01-0.07% นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิประมาณ 2 พันล้านบาท แบ่งเป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรรรัฐบาลระยะสั้น 785 ล้านบาท และซื้อสุทธิพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว 1.26 พันล้านบาท