ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (4 – 8 กันยายน 2560 )

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงนโยบายการเงินตามคาดในการประชุมเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา โดยประธาน ECB เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินจะเริ่มพิจารณาเกี่ยวกับการปรับลดวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ และไม่ได้แสดงความกังวลต่อการแข็งค่าของเงินยูโรซึ่งแข็งค่าขึ้นประมาณ 15% ในปีนี้ โดยประเมินว่าเป็นผลของเศรษฐกิจยูโรโซนที่ฟื้นตัวดี ทางด้านตลาดสหรัฐ มีกระแสการคาดการณ์เพิ่มขึ้นว่าธนาคารกลางสหรัฐอาจชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากเงินเฟ้อยังคงต่ำกว่าระดับเป้าหมาย และความเสียหายจากพายุเฮอริเคนที่ชะลอกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อีกทั้งเจ้าหน้าที่ FED หลายท่านได้แสดงความเห็นในเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้เป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลง 0.01-0.09% ตามทิศทางตลาดต่างประเทศ โดย 10-Year US Treasury แตะที่ระดับ 2.06% ในวันศุกร์ และดัชนีดอลลาร์ลดลงใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปีครึ่งจากความวิตกเกี่ยวกับความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี สำหรับมูลค่าการซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลไทยตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิเป็นจำนวนเกือบ 6.6 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 4.8 หมื่นล้านบาท และพันธบัตรระยะยาว 1.7 หมื่นล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย (4 – 8 กันยายน 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์แรกของเดือนกันยายน SET Index ยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจาก Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนสถาบันภายในประเทศที่ยังคงเข้าซื้อหุ้นขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ภาครัฐบาลก็ยังคงเดินหน้าโครงการเพื่อสร้างความมั่นใจต่อนักลงทุนต่อแนวโน้มเศรษฐกิจที่จะเติบโตดี ด้วยการเปิดประมูลงานก่อสร้างภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในสัปดาห์ที่ผ่านมามีการประมูลรถไฟทางคู่เส้นทางประจวบคีรีขันธ์–ชุมพร และ ลพบุรี-ปากน้ำโพ รวมมูลค่าโครงการทั้งหมดประมาณ 4.1 หมื่นล้านบาท และการเตรียมการต้อนรับผู้ประกอบการจากประเทศญี่ปุ่นกว่า 570 รายที่จะเข้าพบ เนื่องในโอกาสที่ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศดำเนินมาสู่ปีที่ 130

ปัจจัยต่างประเทศ ปัญหาความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลียังกดดันภาวะการลงทุนของตลาดหุ้นในภูมิภาคใกล้เคียง โดยเฉพาะเมื่อเข้าใกล้วันชาติเกาหลีเหนือ ที่นักลงทุนไม่มั่นใจว่าจะมีการยิงขีปนาวุธเพื่อแสดงแสนยานุภาพหรือไม่ นอกจากนี้ นักลงทุนยังกังวลเกี่ยวกับพายุเฮอริเคนเออร์มาที่จะพัดเข้าฝั่งรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากที่พายุเฮอริเคนฮาร์วีย์เพิ่งพัดเข้าถล่มรัฐเท็กซัสและรัฐหลุยเซียน่าเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งผลกระทบจากพายุเหล่านี้น่าจะส่งผลกระทบต่อเศรฐกิจของสหรัฐฯ ทำให้การเติบโตของ GDP ของสหรัฐฯต่ำกว่าที่คาดไว้

เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 33.01 บาทต่อดอลล่าร์ แข็งค่าขึ้น 0.24% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็น Net Buy ที่ 3.4 พันล้านบาท

ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยหลังจากพายุเฮอริเคนฮาร์วีย์ได้สงบตัวลง หลังจากได้สร้างแรงกดดันในตลาดน้ำมันดิบในสหรัฐระยะหนึ่งเนื่องจากการปิดตัวของโรงกลั่นเป็นการชั่วคราวจำนวนมาก สิ้นสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $47.48 ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.40% จากสัปดาห์ที่ผ่านมา

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,635.61 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 17.19 จุด หรือ 1.06%

มุมมองตลาดในระยะสั้น SET Index ยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นอีก โดยปัจจัยสนับสนุนหลักของ SET Index ยังคงมาจาก Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนสถาบันภายในประเทศที่ยังเข้ามาอย่างต่อเนื่อง หลังจากตลาดหุ้นไทย Laggard ในตลาดหุ้นในกลุ่มภูมิภาคเป็นเวลานาน

ภาวะตลาดหุ้นไทย (28 สิงหาคม – 1 กันยายน 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนสิงหาคม SET Index ปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบปีที่ 1,618 จุด หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจแสดงสัญญานการเติบโตที่เร่งตัวขึ้น ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการเมืองจากการที่ศาลตัดสินคดีจำนำข้าวคลี่คลายลง และการที่นักลงทุนต่างประเทศมีการย้ายเงินลงทุนกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย หลังจากหุ้นไทย Laggard ตลาดเพื่อนบ้านมาตลอดทั้งปี ซึ่งจากแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติที่เข้าลงทุนในหุ้น Big Cap ทำให้ SET Index ปรับตัวขึ้นทะลุแนวต้านจิตวิทยาที่ 1,600 จุดได้

ปัจจัยต่างประเทศ สถานการณ์ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีทำให้นักลงทุนถอนการลงทุนในตลาดหุ้นแถบคาบสมุทรเกาหลีบางส่วน และเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นกลุ่มอาเซียนแทน ซึ่งทำให้ไทยได้รับอานิสงส์ของ Fund Flow ที่ไหลเข้าภูมิภาคด้วย นอกจากนี้ การประชุมผู้ว่าการธนาคารกลางของสหรัฐฯที่ Jackson Holes ไม่มีแถลงการณ์ที่ทำให้นักลงทุนวิตกกังวล ทำให้นักลงทุนกลับเข้าลงทุนในตลาดหุ้นอีกครั้ง

เงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 33.17 บาทต่อดอลล่าร์ อ่อนลง 0.38% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็น Net buy ที่ 5.6 พันล้านบาท

ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลงต่ำสุดในรอบ 1 เดือน จากความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับผลกระทบของพายุเฮอร์ริเคน ฮาร์วีย์ ทำให้หลายโรงกลั่นในสหรัฐฯต้องปิดดำเนินการ ซึ่งทำให้ความต้องการน้ำมันดิบลดลง สิ้นสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $47.29 ต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลง 1.21% จากสัปดาห์ที่ผ่านมา

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,618.42 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 42.57 จุด หรือ 2.70%

มุมมองตลาดในระยะสั้น หลังจาก SET Index ปรับตัวขึ้นผ่านแนวต้านทางจิตวิทยาที่ 1,600 จุดแล้ว คาดว่าความเชื่อมั่นของนักลงทุนจะมีมากขึ้น และทำให้ SET Index สามารถแกว่งตัวในช่วง 1,600-1,650 จุดได้ โดยเฉพาะหากผลประกอบการไตรมาสที่ 3 กลับมาดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตมีการเร่งตัวขึ้น ก็จะช่วยให้นักลงทุนมั่นใจที่จะเข้าลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การเมืองระหว่างสหรัฐฯและเกาหลีเหนือยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องจับตามอง หากเกาหลีเหนือยังคงมีการทดลองขีปนาวุธต่อเนื่อง ก็จะยิ่งทำให้ปัญหาคาบสมุทรเกาหลีมีความตึงเครียดมากขึ้น

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (28 สิงหาคม – 1 กันยายน 2560 )

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 28 เดือน โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณ 0.4% จากเดือนก่อนหน้า และแข็งค่าขึ้นมากกว่า 7% ในปีนี้จากกระแสเงินทุนไหลเข้า เนื่องจากแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่ดีขึ้น ภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ และการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปอีกระยะหนึ่ง นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นยังเกิดจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐเอง จากความไม่มั่นใจว่าธนาคารกลางสหรัฐจะสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและลดขนาดงบดุลได้ตามแผนหรือไม่ ความไม่มั่นใจว่าประธานาธิบดีทรัมป์จะสามารถผ่านแผนเศรษฐกิจสำคัญได้ อีกทั้งยังมีภัยธรรมชาติจากเฮอริเคนฮาร์วีย์ที่ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่ฮุสตัน เท็กซัส นอกจากนี้สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี ที่เกาหลีเหนือได้ยิงขีปนาวุธข้ามประเทศญี่ปุ่นไปตกในมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้ตลาดทุนโดยรวมอยู่ในภาวะ Risk-off โดย 10-Year US Treasury ลงมาแตะที่ระดับ 2.11%

ด้านความเคลื่อนไหวของตลาดตราสารหนี้ไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามผลการประมูลในตลาดแรกที่ปรับขึ้นมา ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวลดลงตามตลาดต่างประเทศ ตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิประมาณ 13.9 พันล้านบาท แบ่งเป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 8.3 พันล้านบาท และพันธบัตรระยะยาว 5.6 พันล้านบาท โดยสรุปนักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทย ณ สิงหาคม 2560 จำนวน 762,032 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากธันวาคม 2559 ที่มีการถือครองจำนวน 634,338 ล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (21 – 25 สิงหาคม 2560 )

การประชุมผู้นำธนาคารกลางทั่วโลกที่เมืองแจ๊คสัน โฮล ที่มีขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่ได้มีนัยสำคัญในทางนโยบายการเงินใหม่ ๆ ออกมาตามที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เฝ้ารอ โดยประธานธนาคารกลางยุโรปไม่ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับเงินยูโรที่แข็งค่าขึ้น และประธานธนาคารกลางสหรัฐก็เลี่ยงที่จะระบุถึงแนวโน้มนโยบายการเงินของสหรัฐในการแถลงสุนทรพจน์ ทางด้านข้อมูลเศรษฐกิจของไทยล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รายงาน GDP ไตรมาสที่สองของปีนี้ว่าขยายตัวได้ 3.7% จากปีก่อน หรือเพิ่มขึ้น 3.3% จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยภาคต่างประเทศเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก ทั้งจากการท่องเที่ยวและการส่งออกที่เร่งตัวขึ้นตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนค่อย ๆ ฟื้นตัวจากรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้น โดย สศช. ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้เป็นขยายตัว 3.5-4.0% จากเดิม 3.3-3.8%

จากการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง จนแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 27 เดือนในสัปดาห์นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกหนังสือเวียนขอความร่วมมือให้สถาบันการเงินติดตามการทำธุรกรรมเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (Non-resident : NR) และแจ้งให้ธปท. ทราบ หากพบความผิดปกติของการโอนเงินระหว่างบัญชี Non-resident Baht Account ระหว่างวันที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นมาก หรือได้ทราบข้อมูลหรือพฤติกรรมของ NR ในตลาดเงินตราต่างประเทศในลักษณะที่เป็นการเก็งกำไรค่าเงินบาท ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดตราสารหนี้ไทย เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก ตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิทั้งพันธบัตรระยะสั้นและพันธบัตรระยะยาว ประมาณ 7.5 พันล้านบาทและ 1.7 พันล้านบาทตามลำดับ

ภาวะตลาดหุ้นไทย (21 – 25 สิงหาคม 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สี่ของเดือนสิงหาคม SET Index ยังคงแกว่งตัวในช่วงแคบ ได้รับแรงหนุนจากการประกาศ GDP ไตรมาสที่ 2 ออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาดที่ 3.7% จากภาคเกษตรที่เติบโต 7.7% และการส่งออกที่เติบโต 6.6% ทำให้ธนาคารโลกปรับประมาณการการเติบโตของ GDP ของไทยปี 2560 และ 2561 ขึ้นไปที่ระดับ 3.5% และ 3.6% ในขณะที่ข่าวการหลบหนีคดีจำนำข้าวของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากการที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดฟังคำตัดสินเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะเกิดความวุ่นวายทางการเมืองขึ้น โดยศาลฎีกาฯได้เลื่อนการฟังคำตัดสินเป็นวันที่ 20 กันยายนนี้

ทางด้านปัจจัยต่างประเทศยังมีความไม่แน่นอนของการเมืองของสหรัฐฯอย่างต่อเนื่อง ทั้งปัญหาจากการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ขู่จะไม่อนุมัติงบประมาณประจำปี หากสภา Congress ไม่บรรจุงบประมาณการสร้างกำแพงชายแดนระหว่างสหรัฐฯและเม็กซิโกไว้ในงบประมาณด้วย และประเด็นการปรับเพดานหนี้ของสหรัฐฯ เนื่องจากหนี้สาธารณะของสหรัฐฯกำลังจะชนเพดานหนี้ในเดือนกันยายนนี้ และปัญหาในคาบสมุทรเกาหลี จากการที่เกาหลีเหนือยังคงทดการลองยิงขีปนาวุธข้ามทวีป ในขณะที่สหรัฐฯกับเกาหลีใต้กำลังร่วมกันซ้อมรบอยู่

เงินบาทแข็งขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 33.02 บาทต่อดอลล่าร์ แข็งขึ้น 0.25% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็น Net Sell ที่ 6 พันล้านบาท

ราคาน้ำมันดิบ WTI ยังคงปรับตัวลงเป็นสัปดาห์ที่ 4 จากความกังวลของนักลงทุนที่พายุเฮอร์ริเคน "ฮาร์วีย์" จะพัดถล่มชายฝั่งสหรัฐในรัฐเท็กซัส และรัฐหลุยส์เซียนา จะทำให้ความต้องการการใช้น้ำมันลดลง ทั้ง ๆ ที่โดยปกติแล้วนักลงทุนจะกังวลเกี่ยวกับกำลังการผลิตที่ลดลงจากการหยุดการผลิต เนื่องจากรัฐเท็กซัสเป็นแหล่งผลิตน้ำมันสำคัญของสหรัฐ สิ้นสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $47.87 ต่อบาร์เรล ลดลง 1.32% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,575.85 จุด ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 9.32 จุด หรือ 0.59%

มุมมองตลาดในระยะสั้น SET Index มีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ หลังจากความกังวลเกี่ยวกับความวุ่นวายทางการเมืองได้คลี่คลายลงระดับหนึ่ง รวมถึงจะมีการประมูลรถไฟทางคู่เส้น ประจวบฯ – ชุมพร ในวันที่ 30 สิงหาคม และ มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ในวันที่ 1 กันยายนนี้

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (15 – 18 สิงหาคม 2560 )

รายงานการประชุมประจำเดือนก.ค. ของ FOMC ได้ระบุว่า กรรมการส่วนใหญ่มีความกังวลกับอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายและมีแนวโน้มเคลื่อนไหวต่ำกว่าระดับ 2% เป็นระยะเวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้ ดังนั้นจึงควรรอให้อัตราเงินเฟ้อส่งสัญญาณที่ดีขึ้น ก่อนที่จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งต่อไป นอกจากนี้คณะกรรมการยังเห็นความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากตลาดแรงงานสหรัฐที่อยู่ในภาวะจ้างงานเต็มศักยภาพแล้ว ทางด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้เปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือนก.ค. เช่นกัน ซึ่งคณะกรรมการ ECB เห็นว่าค่าเงินยูโรแข็งค่ามากเกินไป และเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนยังไม่ส่งสัญญาณที่ดีขึ้น โดยล่าสุดอัตราเงินเฟ้อยูโรโซนเดือนก.ค. ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 1.3% ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนมิ.ย.

ทางด้านการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยในวันพุธที่ผ่านมา มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% โดยให้ความเห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชัดเจน เงินเฟ้อชะลอตัวจากด้านอุปทาน ภาวะการเงินโดยรวมผ่อนคลาย และสภาพคล่องในตลาดอยู่ในระดับสูง คณะกรรมการจะติดตามความเสี่ยงเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจ SME และพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (Search for yield) ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงที่ต่ำเกินไป (Underpricing of risks)

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดตราสารหนี้ไทย เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล โดยเฉพาะในช่วงอายุไม่เกิน 1 ปีปรับตัวขึ้น 0.04-0.08% จากการขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในสัปดาห์นี้และผลการประมูลพันธบัตรตลาดแรกที่มีนักลงทุนสนใจน้อยลง โดยอัตราผลตอบแทนการประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยเฉลี่ยรุ่น 14 วัน, 91 วัน และ 182 วัน อยู่ที่ 1.1350%, 1.1568% และ 1.3084% ตามลำดับ เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 1.0414%, 1.0521% และ 1.2151% ตามลำดับ ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก ตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้นประมาณ 19.6 พันล้านบาท และซื้อพันธบัตรระยะยาวประมาณ 9.5 พันล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย (15 – 18 สิงหาคม 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สามของเดือนสิงหาคม SET Index ยังคงแกว่งตัวในช่วงแคบ แม้ว่าจะมีแรงขายทำกำไรหลังการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม และการขายหุ้นกลุ่มสินเชื่อรายย่อยจากข่าวลือเรื่องความเสี่ยงเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ตั๋ว B/E และการเพิ่มทุน แต่ตลาดก็ได้รับจากแรงสนับสนุนจากหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมันและปิโตรเคมีที่ปรับตัว ในขณะที่ผลการประชุมของ กนง. เป็นไปตามที่ตลาดคาด คือยังคงดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับ 1.50%

ปัจจัยต่างประเทศ จากรายงานการประชุมของ FED ที่ยังมีความกังวลเศรษฐกิจในสหรัฐฯ จากอัตราเงินเฟ้อที่อ่อนแอ ทำให้การคาดการณ์ของ Bloomberg Consensus เกี่ยวกับโอกาสในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงเดือนธันวาคมลดต่ำลงเหลือเพียง 40% แต่ยังคงมีการคาดการณ์ว่า FED จะเริ่มดำเนินการลดขนาดของ Balance Sheet ภายในปีนี้ ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง แต่ปัญหาการเมืองในสหรัฐฯ เกี่ยวกับความไม่ลงรอยในเรื่องลัทธิชาตินิยมสนับสนุนคนผิวขาว และเหตุการณ์ก่อการร้ายที่กรุงบาร์เซโลน่า ประเทศสเปน เป็นปัจจัยที่กดดันตลาดหุ้นในช่วงปลายสัปดาห์

เงินบาทคงที่จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 33.22 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ

Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็น Net Buy ที่ 1.6 พันล้านบาท

ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา จากการรายงานตัวเลขกำลังการผลิตของสหรัฐฯ นั้นแตะจุดสูงสุดในรอบ 2 ปี อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายสัปดาห์ได้ปรับแรงสนับสนุนจากการรายงานตัวเลขสต๊อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ลดลง 8.9 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ สิ้นสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $48.51 ต่อบาร์เรล ลดลง 0.6% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,566.53 จุด ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 5.26 จุด หรือ 0.33%

มุมมองตลาดในระยะสั้น SET Index ยังคงถูกกดดันจากการลดการถือสินทรัพย์เสี่ยงของนักลงทุน จากความไม่แน่นอนของการเมืองสหรัฐฯและนักลงทุนยังจับตามองการประชุมของผู้ว่าการธนาคารกลางของสหรัฐฯที่ Jackson Hole ในวันที่ 24 สิงหาคม ในส่วนของปัจจัยภายในประเทศ อาจมีแรงขายหลังจากหุ้นขึ้นเครื่องหมาย XD จากผลประกอบการในรอบครึ่งปีแรก และยังต้องติดตามการประกาศ GDP ไตรมาส 2 ของประเทศไทย ซึ่งจากตัวเลขของ Bloomberg Consensus คาดการณ์ไว้ที่ 3.4% และ การตัดสินคดีจำนำข้าวของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 25 สิงหาคม

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (7 – 11 สิงหาคม 2560 )

ในช่วงกลางสัปดาห์ มีเหตุการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและเกาหลีเหนือ โดยเกาหลีเหนือประกาศว่าจะยิงขีปนาวุธถล่มฐานทัพสหรัฐที่เกาะกวม และประธานาธิบดีทรัมป์ให้สัมภาษณ์อย่างแข็งกร้าวว่าจะตอบโต้เกาหลีเหนืออย่างที่โลกไม่เคยเห็นมาก่อน ทำให้ตลาดทุน Risk-off โดยราคาหุ้นในตลาดสำคัญปรับตัวลดลง ราคาสินทรัพย์ปลอดภัยปรับตัวขึ้น ทั้งราคาทองคำและ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ในขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเทียบกับสกุลเงินหลักปรับตัวลง นอกจากนี้ยังมีตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญประกาศ ได้แก่ จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก เพิ่มขึ้นเป็น 244,000 ราย สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะทรงตัวที่ระดับ 240,000 ราย, ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนก.ค. ลดลง 0.1% จากเดือนก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนส.ค. 2016 อันเป็นผลจากการปรับตัวลงของค่าใช้จ่ายภาคบริการ

ทางด้านตลาดตราสารหนี้ ช่วงปลายสัปดาห์ 10-Year US Treasury Yield ปรับลดลงต่ำกว่าระดับ 2.20% จากความวิตกเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือ ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทยตลอดทั้งสัปดาห์ยังคงมียอดซื้อสุทธิจากนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะพันธบัตรระยะสั้นที่อัตราผลตอบแทนจากการประมูลปรับลดลงต่อ ซึ่งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยเฉลี่ยรุ่น 14 วัน, 91 วัน และ 182 วัน อยู่ที่ 1.0414%, 1.0521% และ 1.2151% ตามลำดับ เปลี่ยนแปลงจากในสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 1.0383%, 1.094% และ 1.3195% ตามลำดับ ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวเปลี่ยนแปลงในช่วงแคบ ๆ -0.01% ถึง +0.03% ทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิทั้งพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาว เป็นจำนวนประมาณ 16.8 พันล้านบาท และ 6.2 พันล้านบาท ตามลำดับ

ภาวะตลาดหุ้นไทย (7 สิงหาคม – 11 สิงหาคม 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สองของเดือนสิงหาคมมีแนวโน้มอ่อนตัวลง จากการขายทำกำไรหลังการประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสที่ 2 โดยเฉพาะหุ้นที่มีการประกาศผลประกอบการต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม การประกาศผลการประมูลการก่อสร้างรถไฟทางคู่เส้นทางนครปฐม – หัวหิน ที่ผู้ชนะการประมูลเสนอราคาต่ำกว่าราคาประมูลเพียงประมาณ 2% ช่วยคลายความกังวลเกี่ยวกับการแข่งขันที่รุนแรงและการตัดราคาในการประมูลโครงการโครงสร้างพื้นฐานลง และทำให้มีการกลับเข้ามาลงทุนในหุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง

ตลาดหุ้นไทยยังได้รับผลกระทบตามตลาดหุ้นต่างประเทศจากความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี จากการที่เกาหลีเหนือขู่ที่จะยิงขีปนาวุธไปยังเกาะกวม ที่อยู่ภายใต้การดูแลของสหรัฐฯ และการให้สัมภาษณ์ของประธานาธิบดี สหรัฐฯ นายโดนัลล์ ทรัมป์ ที่พร้อมจะตอบโต้หากเกาหลีเหนือยังคงเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐฯ ในการทดลองยิงขีปนาวุธใกล้เกาะกวม ทำให้นักลงทุนทั่วโลกมีการเทขายสินทรัพย์เสี่ยงเพื่อลดความเสี่ยงในกรณีที่จะเกิดสงคราม

เงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 33.22 บาทต่อดอลล่าร์ อ่อนค่าลง 0.15% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็น Net Buy เพียงเล็กน้อย ที่ 921 ล้านบาท

ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลงเล็กน้อยหลังจากการรายงานการเพิ่มกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศ OPEC ในเดือนกรกฎาคม จาก 2 ประเทศหลัก คือลิเบียและไนจีเรีย สิ้นสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $48.82 ต่อบาร์เรล ปรับตัวลง 1.53% WoW
สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,561.31 จุด ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 16.95 จุด หรือ 1.07%

มุมมองตลาดในระยะสั้น ตลาดยังมีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบแคบ นักลงทุนยังคงติดตามการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ของบริษัทจดทะเบียน และติดตามการประชุมของ กนง. ในวันที่ 16 สิงหาคม ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าที่ประชุมจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยในระดับเดิม