ภาวะตลาดหุ้นไทย (31 กรกฏาคม – 4 สิงหาคม 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมา SET Index ยังคงแกว่งตัวในกรอบแคบในช่วง 1,576 – 1,581 จุด ตลาดหุ้นไทยแทบไม่ได้มีการปรับตัวไปในทิศทางเดียวกับตลาดภูมิภาค เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่ยังรอการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ที่คาดว่าจะไม่ค่อยดีนัก และรอดูท่าทีผลกระทบจากปัจจัยการเมืองในประเทศ จากกรณีที่จะมีการตัดสินคดีการเมืองหลายคดี

แม้ว่าตลาดหุ้นต่างประเทศจะมีการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น จากการที่ FED มีแนวโน้มจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่นักลงทุนในตลาดหุ้นไทยยังคงระมัดระวังการลงทุน เนื่องจากเป็นช่วงการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าจะเติบโตลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (QoQ) และไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา (YoY) รวมทั้งบริษัทจดทะเบียนจะมีการประกาศจ่ายเงินปันผลกลางปี ที่จะมีผลให้ราคาหุ้นหลัง XD ลดต่ำลงได้ ทั้งนี้ แรงขายหลักในสัปดาห์ที่ผ่านมาจะอยู่ที่กลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่มีการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ไปก่อนหน้า และผลประกอบการยังไม่ดีนัก เนื่องจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญยังไม่มีแนวโน้มลดลง และแรงขายในกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ที่นักลงทุนกังวลว่าการแข่งขันจะรุนแรง เนื่องจาก ITD ชนะการประมูลรถไฟทางคู่ช่วงหัวหิน-ประจวบฯ ด้วยราคาต่ำกว่าราคากลางถึง 20% และการที่ PLE ซึ่งเป็นผู้รับเหมารายเล็ก จับมือกับพันธมิตรต่างชาติ บริษัท ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ชนะการประมูลงานก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรอง (อาคารแซทเทิ่ลไลท์) หลังที่ 1 ชั้น 2-4 ด้วยราคาต่ำกว่าราคากลางราว 12% รวมทั้งยังมีแรงขายในหุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเลคทรอนิคส์ ที่คาดว่าผลประกอบการจะไม่ดีจากการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าและราคาวัตถุดิบปรับตัวขึ้น โดยนักลงทุนย้ายการลงทุนไปยังกลุ่มการแพทย์ ที่ราคาหุ้นค่อนข้าง Underperform ในปีนี้ กลุ่มปิโตรเคมีและกลุ่มพลังงานที่เกี่ยวกับราคาน้ำมัน เนื่องจากราคาน้ำมันปรับตัวขึ้น และกลุ่มขนส่ง ที่คาดว่าจะได้รับผลดีจากภาคการท่องเที่ยว นอกจากนี้ นักลงทุนยังชะลอการลงทุน เพื่อรอดูผลกระทบทางการเมืองจากการตัดสินคดีการเมืองที่สำคัญ โดยเฉพาะการตัดสินคดีจำนำข้าวที่อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นผู้ถูกกล่าวหา

ในด้านปัจจัยต่างประเทศ การที่ที่ประชุม FOMC ยังไม่เร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและไม่รีบปรับลด Balance sheet ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนให้มีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก และทำให้ค่าเงิน US$ อ่อนค่า

เงินบาทยังอยู่ในทิศทางแข็งค่า อยู่ที่ 33.27 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น 0.18% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

ราคาน้ำมันดิบ WTI สิ้นสัปดาห์ปิดที่ $49.58 ต่อบาร์เรล อ่อนค่าลงเล็กน้อยหรือ 0.26% WoW ราคาน้ำมันดิบยังคงยืนอยู่ใกล้ระดับราคา $50 ต่อบาร์เรลได้ เนื่องจากความต้องการน้ำมันในช่วง Driving Season ค่อนข้างแข็งแกร่ง และปริมาณหัวเจาะ (Rig Count) ของสหรัฐฯ เริ่มคงที่

Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็น Net sell สุทธิถึง 13.32 พันล้านบาท

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,578.26 จุด ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 2.8 จุด หรือ 0.18%

มุมมองตลาดระยะสั้น คาดว่า Sentiment หลักในการกำหนดทิศทาง SET Index ยังคงเป็นการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ของบริษัทจดทะเบียน และผลกระทบทางการเมืองจากการตัดสินคดีจำนำข้าว

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (31 กรกฎาคม – 4 สิงหาคม 2560 )

คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารอังกฤษมีมติ 6-2 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.25% และมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรรัฐบาลตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณที่ระดับ 4.35 แสนล้านปอนด์และคงวงเงินซื้อหุ้นกู้ภาคเอกชนที่ระดับ 1 หมื่นล้านปอนด์ ทางด้านฝั่งสหรัฐอเมริกาในสัปดาห์ที่ผ่านมามีการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญทั้งดีและแย่กว่าที่คาดเช่น ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (PCE) เพิ่มขึ้นเพียง 0.1% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะขยายตัว 0.3% สะท้อนให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อยังห่างจากเป้าหมายเงินเฟ้อของ FED, รายงานการจ้างงานภาคเอกชน (ADP) เพิ่มขึ้น 178,000 ตำแหน่งในเดือนกรกฏาคม ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้เล็กน้อยที่ 185,000 ตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้น 209,000 ตำแหน่งในเดือนก.ค. ซึ่งดีกว่าที่คาดไว้ที่ประมาณ 183,000 ตำแหน่ง และอัตราการว่างงานที่ลดลงสู่ระดับ 4.3% จากเดือนก่อนหน้าที่ 4.4% ช่วยสร้างความหวังว่าเฟดน่าจะดำเนินการตามเป้าหมายในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและปรับลดงบดุลบัญชีต่อไปในปีนี้

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทยในรอบสัปดาห์นี้ปรับลดลงในทุกช่วงอายุ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นยังคงปรับลดลงต่อ 0.05-0.09% โดยอัตราผลตอบแทนจากการประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยเฉลี่ยรุ่น 14 วัน, 91 วัน และ 182 วัน อยู่ที่ 1.0383%, 1.094% และ 1.3195% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้าที่อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยรุ่น 14 วัน, 91 วัน และ 182 วัน อยู่ที่ 1.1182%, 1.1608% และ 1.3524% ตามลำดับ ทางด้านอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาวปรับลดลงเช่นกัน การประมูลพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุประมาณ 5 ปีได้รับความสนใจมากจากนักลงทุน และในสัปดาห์นี้นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิทั้งพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาว เป็นจำนวนประมาณ 36.5 พันล้านบาท และ 10.4 พันล้านบาท ตามลำดับ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (24 – 27 กรกฎาคม 2560 )

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ย Federal Funds Rate ที่ระดับ 1.00-1.25% ตามที่ตลาดคาดการณ์ โดย FED ยังคงให้ความเห็นว่าเศรษฐกิจมีความแข็งแกร่ง การจ้างงานขยายตัวต่อเนื่อง การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและการลงทุนเติบโตดี มีเพียงเงินเฟ้อพื้นฐานที่ปรับขึ้นได้ต่ำกว่าคาด และให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงการลดขนาดงบดุลว่าจะเริ่มต้นเร็ว ๆ นี้ ซึ่งตลาดมองว่า FED จะประกาศวันอย่างเป็นทางการในการประชุมครั้งหน้า จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้นักลงทุนในตลาดมั่นใจว่า FED จะไม่ขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งหน้า และอาจจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยอีกในปีนี้ ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าลง นอกจากนี้ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่เป็นไปตามคาดและความไม่แน่นอนทางการเมืองสหรัฐ ทำให้เกิดความต้องการซื้อสกุลเงินยูโรและสกุลเงินอื่นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ค่าเงินยูโรจึงปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1.175 ในวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยเป็นการปรับตัวขึ้น 2.8% ในเดือนนี้และประมาณ 11.7% ในปีนี้

ทางด้านเศรษฐกิจของไทย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คงการคาดการณ์ GDP ของไทยในปีนี้ว่าจะเติบโต 3.6% แม้ปรับเพิ่มประมาณการมูลค่าส่งออกเป็นเติบโต 4.7% จาก 3.3% โดยระบุว่าต้องรอดูผลการเบิกจ่ายงบกลางปี ซึ่งสศค. ปรับลดคาดการณ์อัตราเบิกจ่ายงบลงทุนปีงบประมาณ 2560 เหลือ 68.5% จากเดิม 76.9% จึงยังคงประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้ไว้ที่ระดับเดิม ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทยในรอบสัปดาห์นี้ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงนัก อัตราผลตอบแทนจากการประมูลพันธบัตรระยะสั้นปรับลดลงเล็กน้อย โดยอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยรุ่น 14 วัน, 91 วัน และ 182 วัน อยู่ที่ 1.1182%, 1.1608% และ 1.3524% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้าที่อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยรุ่น 14 วัน, 91 วัน และ 182 วัน อยู่ที่ 1.1203%, 1.1772% และ 1.3705% ตามลำดับ ทางด้านอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาวค่อนข้างคงที่ และในสัปดาห์นี้นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิทั้งพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาว เป็นจำนวนประมาณ 7.9 พันล้านบาท และ 2.1 พันล้านบาท ตามลำดับ

ภาวะตลาดหุ้นไทย (17 – 21 กรกฎาคม 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมา SET Index แกว่งตัวลงในกรอบแคบในช่วง 1,571 – 1,578 จุด เนื่องจากการชะลอการลงทุนเพื่อดูผลการประชุม ECB และ BOJ รวมทั้งการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 2/2560 ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ในช่วงปลายสัปดาห์ แม้ว่า SET Index จะได้รับแรงสนับสนุนจากการซื้อจากกลุ่ม ICT และกลุ่มพลังงาน จากปัจจัยการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐเนื่องจากประกาศผลประกอบการที่ดีและราคาน้ำมันดิบที่ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่แรงขายจากทั้งสถาบันในประเทศในหุ้นขนาดใหญ่อื่น ๆ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มธนาคารที่ประกาศผลการดำเนินงานออกมาไม่ค่อยจะดีนัก ทำให้ SET Index ยังคงแกว่งตัวในทิศทางขาลง

ในด้านปัจจัยต่างประเทศ ธนาคารกลางสหรัฐอาจชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 3 เนื่องจากดัชนีราคาผู้บริโภคในสหรัฐยังเพิ่มขึ้นต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ อันเป็นผลมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอตัวลง เนื่องจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ยังไม่สามารถดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และราคาน้ำมันในตลาดโลกยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งทำให้ค่าเงินดอลล่าร์อ่อนค่าลงด้วย อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นได้รับแรงสนับสนุนเล็กน้อยจากผลการประชุม ECB และ BOJ ที่ยังคงต่ำเน้นนโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อเนื่องต่อไป

ในด้านปัจจัยในประเทศ การประกาศผลประกอบการของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ออกมาใกล้เคียงกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ยกเว้น KTB ที่มีการตั้งสำรองหนี้เสียจากการปล่อยกู้ EARTH ทั้งจำนวน และ KBANK ที่ยังเพิ่มการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ทำให้มีแรงขายทำกำไรหุ้นธนาคารพาณิชย์ออกมา อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคาดการณ์ว่าปัญหาหนี้เสียของธนาคารพาณิชย์น่าจะเริ่มบรรเทาลงในครึ่งหลังของปี 2560 ตามการเติบโตที่เร่งตัวขึ้นของเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้มีแรงขายไม่มากนัก

เงินบาทยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง อยู่ที่ 33.44 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับ 33.85 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า ซึ่งในสัปดาห์นี้เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 26 เดือนเนื่องจากดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลหลักอื่น ๆ จากแนวโน้มการชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ

ราคาน้ำมันดิบ WTI สิ้นสัปดาห์ปิดที่ $45.77 ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 2.76% WoW เนื่องจากนักลงทุนมีการปรับสถานะการถือครองสัญญาซื้อขายล่วงหน้าราคาน้ำมัน เพื่อรอดูท่าทีการประชุมผู้นำกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันทั้ง OPEC และ Non-OPEC ที่จะประชุมร่วมกันในวันที่ 24 กรกฎาคมนี้ ที่อาจจะมีการพิจารณาเรื่องการควบคุมการผลิตน้ำมัน รวมถึงการชะลอตัวของการผลิตน้ำมันจากสหรัฐเนื่องจากเปิดแท่นขุดเจาะน้ำมันเพียง 1 แท่น ประกอบกับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มการผลิตของโรงกลั่นน้ำมันในประเทศจีน

ทิศทาง Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติยังคงเป็นบวก โดยในสัปดาห์นี้มีการซื้อสุทธิ 3.24 พันล้านบาท

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,573.51 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 4.07 จุด หรือ 0.27%

มุมมองตลาดระยะสั้น คาดว่า SET Index จะยังคงแกว่งตัวช่วงแคบ เนื่องจากนักลงทุนยังคงรอดูการประกาศผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2/2560 ของบริษัทจดทะเบียน หลังจากผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ออกมายังไม่ดีนัก

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (17 – 21 กรกฎาคม 2560 )

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในสัปดาห์ที่ผ่านมาต่างมีมติคงนโยบายการเงินเดิมตามคาด โดยประธาน ECB ได้แถลงว่า จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0% ต่อไปอีกระยะหนึ่ง แม้ว่าจะพิจารณาปรับลดวงเงินการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในอนาคต ในขณะที่ BOJ ประเมินเศรษฐกิจดีขึ้น แต่ปรับเป้าอัตราเงินเฟ้อลงซึ่งส่งสัญญาณว่าจะยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป ส่งผลให้ค่าเงินยูโรต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นสูงสุดในรอบเกือบ 2 ปี และค่าเงินเยนต่อดอลลาร์ก็แข็งค่าขึ้นเช่นกัน หลังนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นเกี่ยวกับความสามารถของรัฐบาลทรัมป์ในการผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ล่าสุดไม่ประสบความสำเร็จในการผ่านร่างกฏหมายระบบประกันสุขภาพแบบใหม่ อัตราผลตอบแทน 10-Year US Treasury ปรับลดลงต่อเนื่อง โดยในรอบสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 2.24-2.31% จากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 2.33-2.38%

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทยตลอดทุกช่วงอายุยังคงปรับลงต่อ โดยเฉพาะอัตราผลตอบแทนจากการประมูลพันธบัตรระยะสั้นลดลงต่อเนื่อง 0.01-0.10% โดยอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยรุ่น 14 วัน, 91 วัน และ 182 วัน อยู่ที่ 1.1203%, 1.1772% และ 1.3705% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้าที่อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยรุ่น 14 วัน, 91 วัน และ 182 วัน อยู่ที่ 1.1098%, 1.2693% และ 1.4110% ตามลำดับ ส่วนผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาว รุ่นอายุประมาณ 5 ปีขึ้นไปปรับลดลงไม่มากนัก ในสัปดาห์นี้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิทั้งพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาว เป็นจำนวนประมาณ 1.6 พันล้านบาท และ 454 ล้านบาท ตามลำดับ

ภาวะตลาดหุ้นไทย (11 – 14 กรกฎาคม 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมา SET Index ยังคงแกว่งตัวช่วงแคบในกรอบ 1,575 – 1,582 จุด โดย SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงกลางสัปดาห์ จากการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ของบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีเกินคาดของ TISCO และ DTAC ที่ได้ส่งผลให้มีการเข้ามาเก็งกำไรในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์และกลุ่ม ICT รวมถึงมีแรงซื้อกลับเข้ามาในกลุ่มพลังงานจากการที่ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้น แม้ว่าจะมีแรงขายในหุ้นกลุ่มพาณิชย์และกลุ่มอาหารที่คาดว่าผลประกอบการไตรมาสที่ 2 จะออกมาไม่ดีนักก็ตาม ทั้งนี้ SET Index ได้ปรับตัวลดลงในช่วงปลายสัปดาห์ จากแรงขายทำกำไรของหุ้นกลุ่มธนาคารและกลุ่ม ICT หลังจากมีการซื้อเก็งกำไรเรื่องผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ในช่วงต้นสัปดาห์

ในด้านปัจจัยต่างประเทศ ตัวเลขเงินเฟ้อและยอดค้าปลีกเดือนมิถุนายนของสหรัฐฯ ที่ออกมาน่าผิดหวัง เมื่อประกอบกับที่นางเจเน็ต เยลเลน ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ให้ถ้อยแถลงแก่คณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาว่า FED จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป และติดตามอัตราเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด ทำให้ตลาดมีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีการส่งสัญญาณจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้มีเงินทุนไหลกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นของกลุ่มประเทศ Emerging Market มากขึ้น ขณะที่จีนได้มีการรายงานตัวเลขยอดนำเข้าและส่งออกในเดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้น 17.2% และ 11.3% ตามลำดับ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนตัวเลขส่งออกไทยที่คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่อง

ในด้านปัจจัยในประเทศที่สำคัญ คือ การประกาศผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนต่าง ๆ ที่จะทยอยออกมา ซึ่งจะเป็นปัจจัยต่อหุ้นเป็นรายตัว

เงินบาทแข็งค่าขึ้นหลังจากการประกาศท่าทีของ FED ที่จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยค่าเงินบาทมาอยู่ที่ 33.85 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับ 34.08 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า

ราคาน้ำมันดิบ WTI สิ้นสัปดาห์ปิดที่ $46.54 ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 4.82% WoW เนื่องจากสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ได้ปรับขึ้นตัวเลขคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันในปีนี้ และได้มีการเปิดเผยตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐซึ่งลดลงมากกว่าคาดในสัปดาห์ที่แล้ว โดยเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดในรอบ 10 เดือน นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังดีดตัวขึ้นหลังจากบริษัทเชลล์ได้ประกาศภาวะสุดวิสัยสำหรับการส่งออกน้ำมันดิบบอนนี ไลท์ของไนจีเรีย เนื่องจากมีการปิดท่อส่งน้ำมัน 1 ใน 2 ท่อในประเทศ

ทิศทาง Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติยังคงเป็นบวก โดยในสัปดาห์นี้มีการซื้อสุทธิ 3.40 พันล้านบาท

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,577.79 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 8.35 จุด หรือ 0.53%

มุมมองตลาดระยะสั้น คาดว่า SET Index ยังคงแกว่งตัว Side Way โดยนักลงทุนยังคงติดตามการประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ของบริษัทจดทะเบียนที่จะทยอยประกาศออกมา

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (11 – 14 กรกฎาคม 2560 )

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานธนาคารกลางสหรัฐแถลงต่อสภาคองเกรส โดยยังคงมีมุมมองที่เป็นบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ เฟดจะคงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำซึ่งเฟดจะคอยเฝ้าระวัง อย่างไรก็ตาม ตลาดแรงงานที่เติบโตดีจะสามารถหนุนให้รายได้ ตลอดจนอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นได้ นอกจากนี้ ยังคงเน้นย้ำว่าจะสามารถลดงบดุลลงได้ในปีนี้ จากถ้อยแถลงดังกล่าว ไม่ได้มีนัยสำคัญใหม่ต่างไปจากที่ตลาดคาดการณ์ ทำให้อัตราผลตอบแทน 10-Year US Treasury ปรับลดลงเล็กน้อย โดยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 2.32-2.36% จากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 2.34-2.39%

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทยตลอดทุกช่วงอายุยังคงปรับลงต่อ แม้ว่านักลงทุนต่างชาติจะเป็นผู้ขายสุทธิในสัปดาห์นี้ โดยขายสุทธิทั้งพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาว (อายุมากกว่า 1 ปี) เป็นจำนวนประมาณ 665 ล้านบาท และ 10.66 พันล้านบาท ตามลำดับ อัตราผลตอบแทนจากการประมูลพันธบัตรระยะสั้นยังคงลดลงต่อเนื่อง 0.02-0.10% โดยอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยรุ่น 14 วัน, 91 วัน และ 182 วัน อยู่ที่ 1.1098%, 1.2693% และ 1.4110% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้าที่อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยรุ่น 14 วัน, 91 วัน และ 182 วัน อยู่ที่ 1.2049%, 1.3337% และ 1.4374% ตามลำดับ ส่วนผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาวเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก

ภาวะตลาดหุ้นไทย (3 กรกฎาคม – 7 กรกฎาคม 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมา SET Index แกว่งตัวช่วงแคบในกรอบ 1,565 – 1,571 จุด โดย SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นช่วงสั้นๆ ในช่วงต้นสัปดาห์ ตามทิศทางตลาดต่างประเทศ ก่อนจะค่อย ๆ ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ จากแรงขายในหุ้นกลุ่มพลังงานและกลุ่มธนาคารที่มีการคาดการณ์ว่าผลประกอบการไตรมาส 2 จะยังคงเติบโตไม่มากนัก รวมถึงแรงกดดันจากประเด็นเกาหลีเหนือประสบความสำเร็จในการทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีป ทำให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชน (UNSC) เตรียมหามาตรการตอบโต้ ส่งผลกระทบต่อภาวะตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศเอเชีย อย่างไรก็ตาม ปัจจัยดังกล่าวยังคงส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นในระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น

ในด้านปัจจัยในประเทศ กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวดีต่อเนื่อง และมีการปรับคาดการณ์การขยายตัวของ GDP จาก 3.4% มาอยู่ที่ 3.5% แรงขับเคลื่อนหลักมาจากภาคการส่งออกที่ขยายตัวดีในหลายหมวดสินค้าและขยายตัวดีในการส่งออกไปในแต่ละภูมิภาค และภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มขึ้น ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐคาดว่าอัตราการเติบโตจะชะลอตัวบ้าง หลังจากเร่งตัวขึ้นไปมากในปีที่ผ่านมา

เงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย อยู่ที่ 34.08 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับ 33.96 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า

ราคาน้ำมันดิบ WTI สิ้นสัปดาห์ปิดที่ $44.40 ต่อบาร์เรล ลดลง 3.56% WoW จากความกังวลของอุปทานน้ำมันส่วนเกินที่ยังคงเป็นแรงกดดันต่อราคาน้ำมัน และความร่วมมือในกลุ่มประเทศ OPEC ที่จะลดกำลังการผลิตอาจจะไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
ทิศทาง Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติยังคงเป็นบวก โดยในสัปดาห์นี้มีการซื้อสุทธิ 1.97 พันล้านบาท

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,569.44 จุด ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 5.3 จุด หรือ 0.34%

มุมมองตลาดระยะสั้น คาดว่า SET Index จะยังมีการแกว่งตัวช่วงแคบหรืออ่อนตัวลง โดยมีแรงกดดันจากราคาน้ำมันดิบที่ยังมีแนวโน้มปรับตัวลดลง และนักลงทุนยังชะลอการลงทุนเพื่อรอดูผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ของบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มเติบโตลดลงจากไตรมาสที่ 2 ปี 2559 เนื่องจากฐานที่สูงในไตรมาสที่ 2 ปี 2559 จากการที่ภาครัฐมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายมาตรการและราคาน้ำมันดิบอยู่ในช่วงปรับตัวขึ้น

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (3 – 7 กรกฎาคม 2560 )

ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือนมิ.ย. โดยกรรมการหลายท่านให้ความเห็นว่า การปรับลดงบดุลบัญชีของ FED จะส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินในขอบเขตที่จำกัด ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญยังแสดงถึงการขยายตัวของภาคการผลิต เช่น การจ้างงานนอกภาคเกษตรในเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 222,000 ตำแหน่ง หลังจากในเดือนพ.ค. ที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาด (เพิ่มขึ้น 138,000) ทำให้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญ ทางด้านการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยในวันพุธที่ผ่านมา มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนต่อเนื่อง จากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดีขึ้น ในขณะที่อุปสงค์ในประเทศขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปและไม่กระจายตัวเท่าที่ควร ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงและอาจต่ำกว่ากรอบเป้าหมายในบางช่วงจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก แต่มีทิศทางปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทยโดยรวมปรับตัวลงต่อ แม้ว่าในช่วงท้ายสัปดาห์จะปรับขึ้นตามตลาดสหรัฐบ้าง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนอายุน้อยกว่า 7 ปีลดลง ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวมีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง ในรอบสัปดาห์นี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิทั้งพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาว เป็นจำนวนประมาณ 1.88 พันล้านบาทและ 2.06 พันล้านบาทตามลำดับ ส่วนพันธบัตรระยะสั้นอัตราผลตอบแทนจากการประมูลยังคงลดลงต่อเนื่อง โดยอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยรุ่น 14 วัน 91 วัน และ 182 วัน อยู่ที่ 1.2049%, 1.3337% และ 1.4374% ตามลำดับ